“บี แหลมสิงห์” เปิดเบื้องหลังคนทำข่าว “กีฬา” ในวันที่โควิดระบาดชัตดาวน์กีฬาทุกประเภท

“บี แหลมสิงห์” ยอมรับ ผลกระทบจาก โควิดและล็อกดาวที่ผ่านมา ทำแผนงานพัง เหตุ ตั้งการ์ดไม่ทัน รอดูปี 64 จะพังต่อหรือไม่ แนะ ประชาชน กลั่นกรองข่าวสารรอบด้าน จากแฟนเพจข่าวกีฬาบนโซเชียล  - สื่อ ถก ศบค.แนะ หลายเรื่องที่ต้องรับไปพิจารณาปรับปรุง

นายสยามพงษ์ ผลมาก รองบรรณาธิการข่าวกีฬาหนังสือพิมพ์แนวหน้า นามปากกา  “บี แหลมสิงห์” ให้สัมภาษณ์ใน รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม 2564” เป็นรายการความร่วมมือดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คลื่นข่าว FM 100.5  MCOT News Network ถึงการเจาะลึกเบื้องหลังคนทำข่าวกีฬาในวันที่โควิดระบาดชัตดาวน์กีฬาทุกประเภท

นายสยามพงษ์ บอกว่า ผมมีบทเรียนจากการล็อกดาวครั้งที่แล้วมารอบหนึ่ง ถือว่ามาแบบไม่ทันตั้งตัวและตั้งการ์ดไม่ทัน แผนงานที่วางไว้เดือนมกราคมมาพังในเดือนมีนาคม และยังไม่ทราบว่าปี 2564 นี้ จะพังต่อหรือไม่ ต้องยอมรับว่าทำงานที่สุดแห่งความยากลำบาก เนื่องจากผมทำสกู๊ปข่าวจะต้องอยู่ในทัวร์นาเมนต์แต่เป็นทัวร์นาเมนต์ที่ไม่มีกีฬาแข่งขัน ซึ่งยากมากเพราะจะต้องหาเรื่องเขียนทุกวัน

จุดหนึ่งที่ผมมองว่าเมื่อยากแล้วเราต้องไปต่อให้ได้ในเรื่องของกฎการแข่งขัน ผมถือว่าโควิดช่วยให้แฟนกีฬาชาวไทย ได้รับทราบถึงกฎกติกาเยอะมากเพราะมีการเปลี่ยนแปลงกฎอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  ซึ่งทุกปีในการแข่งขันกีฬาจะต้องมีการเขียนกฎขึ้นมาทุกครั้ง แต่ครั้งนี้คนไม่ได้ดูที่กฎกลับไปดูที่ผลของการแข่งขันมากกว่า

กีฬาหลายประเภทต้องเปลี่ยนรูปลักษณ์ ตามแบบฉบับของโลกเราที่ไม่เหมือนเดิม ต้องมีการปรับค่อนข้างเยอะมากแต่สิ่งที่ต้องรับมือเมื่อโควิดระบาดรอบใหม่ คือ ต้องจับตามองการฝึกซ้อมของนักกีฬา ตีแผ่ออกมาให้เห็น เพราะบางคนไม่ได้ฝึกซ้อมอย่างเต็มที่เนื่องจากได้รับผลกระทบ เรื่องนี้ไม่ได้หนักเฉพาะคนเขียนข่าวแต่หนักตรงนักกีฬาผู้แข่งขันด้วย

ส่วนการแข่งขันใหญ่ เช่นโอลิมปิกที่จะต้องมีการจัดการแข่งขันแต่ไม่สามารถทำข่าวได้จะทำให้เสียโอกาสกับตัวนักข่าวและประเทศด้วยหรือไม่นั้น ยอมรับว่า เสียโอกาส โดยเฉพาะเรื่องประสบการณ์ทำงาน

“สำหรับตัวผมผ่านการทำข่าวโอลิมปิกเกมส์มา 5 สมัย โดยไปทำข่าวที่สนามจริงมา 2 ครั้ง ที่อังกฤษ และที่สุดในชีวิตคือที่บราซิล ถือ เป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่ามาก ดังนั้นเมื่อโควิดระบาดรอบใหม่ จึงถือว่าเป็นการสูญเสียนอกจากเรื่องของประสบการณ์ในการทำงาน ยังรวมไปถึงการสูญเสียของฝ่ายจัดการแข่งขันและคนที่จะไปร่วมแข่งขันหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง สำหรับผมแล้วมันคือเกียรติยศส่วนตัว ว่ากันว่าการไปทำข่าวโอลิมปิกคือการจบปริญญาเอกของนักข่าวกีฬา ซึ่งผมกำลังจะได้ใบที่ 3 ที่โอลิมปิกโตเกียว แต่เสียดายยังไม่ได้”

ส่วนกรณีที่มีหลายคนเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจข่าวกีฬาค่อนข้างมาก ทั้งคนข่าวตัวจริงมืออาชีพ และมือสมัครเล่นในฐานะนักข่าวมืออาชีพมีความเห็นอย่างไร

สยามพงษ์ มองว่า “นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุคก่อนหน้านี้ เช่นของจริงเป็นของปลอม ของปลอมเป็นของจริง สิ่งที่น่ากลัวคือเมื่อคนอ่านชอบแบบไหนเขาก็จะเชื่อแบบนั้น และก็จะไปเชื่อในสิ่งที่บางทีผู้นำเสนอผิดๆมา ซึ่งมันไม่มีทางแก้แล้วไม่มีใครย้อนกลับมาอ่านความเป็นจริงอีก หรือถ้าอ่านก็น้อยมาก ที่จะต้องกลับมากลั่นกรองจากหลายเพจ นี่คือความน่ากลัวในโลกยุคปัจจุบันซึ่งทำให้ข้อมูลแท้ๆ หรือคนเขียนข้อมูลจริงๆสู้ข้อมูลไม่ถูกต้องไม่ได้ นี่คือปัญหา ยากมากจริงๆต้องขอฝากผู้ปกครองหรือฝากเยาวชนเดือนผู้ปกครองด้วย เพราะเนื้อหาในโซเชียลมาเร็วไปเร็วครับ”

ติดตามรายการ"ช่วยกันคิดทิศทางข่าว" ได้ทุกวันอาทิตย์  เวลา 11.00-12.00 น. ทางวิทยุและ Facebook live FM 100.5  MCOT News Network และ Facebook สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว #สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย