100 ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ อุดมการณ์ไม่มีวันตาย

100 ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ อุดมการณ์ไม่มีวันตาย100 ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ อุดมการณ์ไม่มีวันตาย

 

“100 ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ อุดมการณ์ไม่มีวันตาย” จัดพิมพ์โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง 100 ปี ชาตกาลของกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา อีกทั้งในโอกาสที่ยูเนสโก  ประกาศยกย่องให้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก  และกำหนดให้ปี 2548 เป็นปีแห่งการเฉลิมบุคคลที่ได้รับการยกย่อง

สมาคมนักข่าวปรารถนาให้อุดมการณ์ของนักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งใหญ่  เช่น  ท่านกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รับการสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุนหนึ่ง  เพื่อให้อุดมการณ์ของนักหนังสือพิมพ์ต้นแบบไม่จางหายไปจากใจคน  ยิ่งในยุคทุนนิยมครอบงำสื่อ เงินตรากลายเป็นพระเจ้าองค์ใหม่อุดมการณ์ถูกเก็บใส่ลิ้นชัก  ทุกวันนี้ หนังสือพิมพ์ยิงหาชื่อเสียงและเงินทอง ราวกับนายหน้า หรือนักการเมือง

หนังสือ 100 ปี กุหลาบ  สายประดิษฐ์  อุดมการณ์ไม่มีวันตาย เพียงต้องการจุดประกายให้สื่อมวลชนในยุค “ แดกด่วน” กลับมาตั้งคำถามกับ ตนเองว่า  “คุณยังสบายดีหรือ และครั้งสุดท้ายที่คุณต้องเลือกระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับอุดมการณ์ คุณเลือกอะไร? ”

เนื้อหาในหนังสือเล่มเล็ก ๆ นี้แบ่งเป็น 5 ภาคด้วยกัน ประกอบด้วย

ภาคแรก ประวัติของ กุหลาบ สายประดิษฐ์

ภาคสอง คมอุดมการณ์ สุภาพบุรุษนักหนังสือพิมพ์  ตัวอย่าง สาระสำคัญของเนื้อหาตอนหนึ่งว่า "...ถ้ารับบาลไม่ชอบให้ใครพูดถึงรับบาลในสิ่งที่ไม่ดี รัฐบาลก็จะต้องไม่ทำในสิ่งนั้น  รัฐบาลต้องแก้การกระทำของรัฐบาล ไม่ใช่มาเรียกร้องให้เราแก้การเขียนหนังสือของเราที่เขียนตามความเป็นจริง"

ภาคสาม สัมผัส "กุหลาบ สายประดิษฐ์" โดย สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ นักหนังสือพิมพ์ที่มีชีวิตร่วมสมัยกับ "กุหลาบ สายประดิษฐ์" เล่าถึงช่วงเวลาที่ติดคุกกับสุภาพบุรุษนักหนังสือพิมพ์

ภาคสี่ เมื่อหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยเขียนถึงศรีบูรพา "แด่คุณ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ผู้ต่อสู้เพื่อเอกราชประชาธิปไตย จากเพื่อนนักหนังสือพิมพ์"

ภาคห้า รางวัลเชิดชูเกียติ 100 ปี ศรีบูรพา 3 สาขา

 

หนังสือเล่มนีีได้เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 อันเป็นวาระโอกาสที่สมาคมนักข่าวฯจัดงานรำลึก 100 ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ และที่สำคัญ คุณลุงสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ เล่าว่า วันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 เป็นวันสิ้นอิสรภาพของกุหลาบสายประดิษฐ์  เนื่องจากเผด็จการทหารจับท่าน กุหลาบกักขังในข้อหากบฏสันติภาพ

"ศักดิชัย บำรุงพงศ์ มองอุดมการณ์ในแง่ชีวิตนักหนังสือพิมพ์ ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ อย่างเด่นชัด  ผมเห็นว่า ท่านเป็นนักหนังสือพิมพ์จริง ๆ ไม่มีอาชีพอื่น นอกจากการประพันธ์ เพราะสมัยนั้นนักหนังสือพิมพ์กับนักประพันธ์อยู่ในคนคนเดียวกัน  ข้อเขียนของกุหลาบจึงไม่มีวันตาย ท่านเขียนหนังสือทุกอย่างในหนังสือพิมพ์ เช่น คอลัมน์ผู้หญิง แต่งกลอน  หรือในนวนิยายแทบทุกเรื่องที่ท่านเขียน เนื่องจากท่านยึดถือมาตรฐานชีวิตในการปฏิบัติต่อบุคคลทั้งหลายด้วยความสุภาพ บุรุษ

อุดมการณ์ที่โดดเด่นมากคือ การต่อสู้กับยุคเผด็จการทหารทั้ง ๆ ที่มีความสุ่มเสี่ยงอย่างมากนับตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ชีวิตท่านผ่านการสุ่มเสี่ยงมาตลอด เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ท่านกุหลาบมีส่วนสำคัญมากในการพัฒนาประชาธิปไตยในยุคสมัยของท่าน การทำให้ฝ่ายค้านหรือนักหนังสือพิมพ์เงียบเสียงมีความน่ากลัวมาก  การแทรกแซงทำได้โดยไม่ต้องบอกกล่าว  ใช้อำนาจทำกันดื้อ ๆ เช่น สั่งปิดหนังสือพิมพ์  ใช้โซ่ล่ามแท่นพิมพ์ต่าง ๆ นานา แต่ช่วงหลังการแทรกแซงสื่อมักใช้วิธีที่ซ่อนเร้นมากกว่าในอดีตมาก  ท่านกุหลาบและนักหนังสือพิมพ์ในสมัยก่อนจึงมีความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา ที่เกิดกบฏแทบทุกครั้ง  ต้องมีการจับกุมนักหนังสือพิมพ์เพื่อจะทำให้เห็นว่าเป็นกระบวนการที่ใหญ่

อุมดมการณ์ของท่านกุหลาบที่นักข่าวรุ่นหลังควรเอาเยี่ยงอย่างก็คือ การไม่ยอมก้มหัวให้กับเผด็จการหรือรับบาลใด ๆ ที่ใช้อำนาจไม่ชอบ เรียกง่าย ๆ คุณกุหลาบ ยอมอดอย่างเสือ และยึดมั่นในอุดมการณ์และเสรีภาพมาก แม้กระทั่งบางอย่างที่รู้ว่าสู้ไม่ได้  หรือเรียกได้ว่าเป็นการรบที่ไม่มีวันชนะเลย  ท่านกุหลาบก็ไม่ยอม นอกจากนี้ ท่านกุหลาบยังมีความตั้งใจและขยันในการทำงานมาก  เช่นเดียวกับการขยันอ่านหนังสือ   เมื่อสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดทำหนังสือ “ 100 ปี กุหลาบ  สายประดิษฐ์ อุดมการณ์ไม่มีวันตาย” ผมจึงของแสดงความยินดี"

หนังสือเล่มนี้จะสำเร็จไปมิได้ ถ้ามิได้รับความช่วยเหลือและเกื้อกูลจากคุณลุงสัมผัส พึ่งประดิษฐ์  คุณชมัยภร แสงกระจ่าง คุณชาติ สวัสดิ์ศรี และคณะจัดงาน 100 ปี ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ซึ่งคอยให้คำแนะนำ พร้อมสนับสนุนหนังสือข้อมูล รูปภาพประวัติศาสตร์  และที่สำคัญคือ คุณลุง คุณน้า และคุณพี่ทั้งหลาย  ได้มอบกำลังใจให้แก่คณะทำงานสมาคมนักข่าวฯด้วยดีตลอดมา  ขอบคุณ คุณปรีดา เตียสุวรรณ ประธานกรรมการ บริษัทแพรนด้า จิวเวลลี่ จำกัด(มหาชน) ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้

#

สามารถศึกษาข้อมูลหนังสื่อเล่มนี้ได้ที่ ห้องสมุดสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

เปิดทำการ  วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00-18.00 น.

538/1 ถ.สามเสน ดุสิต กรุงเทพฯ 10300

โทร 0-2668-9422