เสียงสะท้อนจาก “พิราบน้อยรุ่น 10”

พิราบน้อย... กระพือปีก

เป็นครั้งที่ 10 สำหรับโครงการ “พิราบน้อย” หรือการอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพิราบน้อย ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม – 2 กันยายน 2550 ในปีนี้มีนักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ ทั่วประเทศเข้าร่วมคับคั่งเป็นจำนวนถึง 85 คน

นักศึกษานิเทศศาสตร์ชั้นปีที่ 3 – 4 ที่เข้าร่วมโครงการมาจาก 2ส่วน คือ สถาบันการศึกษาส่งตัวแทนมาแห่งละไม่เกิน 2 คน  และอีกกลุ่มเป็นนักศึกษาที่ได้รับคัดเลือกจากการส่งบทความเรื่อง “วิเคราะห์การต่อสู้ทางการเมืองผ่านสื่อของเอเอสทีวีกับพีทีวี” โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ตลอด 3 คืน 4 วัน ในการเก็บตัวที่ภูเขางาม รีสอร์ท จ.นครนายก  มีบรรยากาศครบทุกอรรถรส  เสียงหัวเราะ น้ำตาแห่งมิตรภาพใหม่ การจากลา ความรู้สึกที่ได้จากรุ่นพี่ที่นำประสบการณ์ภาคสนามมาถ่ายทอดอย่างครบถ้วนเท่าที่เวลาเอื้ออำนวยให้

แต่เมื่อต้องการทำหนังสือพิมพ์ (ฉบับตัดแปะ) จำนวน 4 หน้า ภายใต้ข้อจำกัดที่จำลองเหมือนสถานการณ์จริงคือ มีเวลาเพียง 1 วัน 1 คืน สำหรับการสัมภาษณ์ ทำสกู๊ป รอบ ๆ ชุมชนบริเวณน้ำตกวังตะไคร้ ก่อนจะหอบข้อมูลนำมาเขียนข่าวกับแบบหามรุ่งหามค่ำ  จึงเกิดความกดดันเพราะเกรงจะผลิตหนังสิพิมพ์ไม่ทัน  แต่แล้วทุกกลุ่มก็เสร็จอย่างเส้นยาแดงผ่าแปด  ขณะที่บางกลุ่มส่งเสียงแฮลั่นตอนเทียงตรงพอดี ตามชื่อหัวหนังสือพิมพ์ “เที่ยงตรง” ด้วยความโล่งใจ

วันแรกของการฝึกอบรม 85 ชีวิตที่เข้าร่วมโครงการ  ได้พูดถึงความฝันของตัวเอง ทั้งที่เป็นจริง บ้างก็หลุดโลก เช่น อยากเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ประธาน คมช. นายกรัฐมนตรี  บางรายก็เครียดกับสถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่ นักศึกจาก ม.ธรรมศาสตร์ รายหนึ่งบอกว่า อยากให้ประเทศไทยเลิกปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยไปเลย ที่สุดกว่านั้นเด็กจุฬาฯ ที่บอกว่า “อยากเห็นทักษิณ ติดคุก” เล่นเอาแบบพี่ ๆ นักข่าว ซี้ดกันเป็นแถว !!!

ส่วนนักศึกษาจาก สามจังหวัดภาคใต้ อยากเห็นสันติภาพกลับคืนมา  สร้างความประทับใจให้กับเพื่อน ๆ จนเรียกเสียงปรมมือเพื่อเป็นกำลังใจ ให้

แต่ฝันของพิราบน้อยส่วนใหญ่ก็ยังทำงานด้านสื่อ  ไม่ว่าการเป็นผู้ประกาศ คอลัมนิสต์ชื่อดัง นักเขียนชื่อก้อง รวมถึงอยากอยู่ใต้ชายคาทีวีบูรพาเพื่อนำเสนอเรื่องราว “คนเล็กในสังคม” ที่น่าใจหาย คือน้อยคนนักที่ฝันอยากเป็นนักหนังสือพิมพ์...!!!

นอกจากการฝึกทำหนังสือพิมพ์แล้ว พี่ ๆ ที่ร่วมเป็นพิธีกร ยังติวเข้มเรื่อง “จริยธรรมสื่อ” ด้วยการออกโจทย์ทดสอบเบื้องต้น  ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนตอบสนองกับ “สำนึกจริยธรรมขั้นพื้นฐาน” ของการเป็นคนข่าวที่ดี แต่ขณะฝึกอบรมอยู่นั้น ปรากฏว่า บริเวณชั้นล่าง กระทรวงใหญ่แห่งหนึ่งได้จัดทริปแถลงข่าวเชิญสื่อมวลชนจากส่วนกลาง พร้อมงานเลี้ยงสังสรรค์ในค่ำคืนอย่างครึกครื้น   ก่อนจะเปิดห้องให้ครอบครัวได้ผักผ่อนอย่างครบวงจร

การทำหนังสือพิมพ์ฝึกหัดครั้งนี้แบ่งเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มที่ชนะเลิศคือ “นสพ.เที่ยงตรง” ที่เสนอข่าวพาดหัวเรื่อง “8ปีเขื่อนท่าด่านยังไร้ที่ทำกิน”  พร้อมซิวรางวัล “ภาพข่าวดีเด่น” กับภาพเด็กนักเรียนคัดแยกขยะด้วยแววตาใสซื่อ กระนั้น  กระนั้น มาตรฐานของเหล่าพิราบน้อยทั้ง 5 ฉบับ กลุ่มที่เหลือไม่ว่า กรีนนนิวส์(สีเขียว) สาลิกาโพสต์(สีม่วง) เขางามนิวส์(สีชมพู) โลมานิวส์(สีฟ้า) และพิราบขาว รีคอร์ดเดอร์(สีขาว) จัดอยู่ในระดับใกล้เคียงกันและหลายคนก็ฉายแววให้รุ่นพี่ได้อุ่นใจไม่น้อย

ที่ปรากฏน่าคิดคือ “โลมานิวส์” นำเสนอข่าวพาดหัวเรื่อง “ทรู” สปอนเซอร์หลักในงานที่ถูกมองว่า มีโฆษณาแอบแฝงมากเกินไป นับว่าถ้าทายหลักคิดพอควร เนื้อหาข่าว  มีการสัมภาษณ์นักศึกษาที่ไม่เห็นด้วย  รวมทั้งมุมมองจากสมาคมนักข่าวฯ และคำชี้แจงจากฝั่งทรู คือ เสาวนีย์ ลิมมานนท์ รองผู้อำนวยการและหัวหน้าสายงานสื่อสารองค์กร กลุ่มบริษัท ทรู ซึ่งวันสุดท้ายที่ปิดโครงการ เสาวนีย์ ฝากข้อคิดว่า สื่อมีปากกาที่เขียนคำตำหนิ หรือชมใครก็ได้ ดังนั้น การทำหน้าที่ของสื่อจึงต้องระวัง อย่างกล่าวหาใครโดยไม่มีข้อมูล

ความเห็นจากนักศึกษาที่ร่วมอบรม น.ส.สุวิมล จินะมูล “เม็ดฝ้าย” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาหนังสือพิมพ์ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกองบก.หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ “อ่างแก้ว” บอกว่าสิ่งที่ได้รับคือความรู้และประสบการณ์จากการฝึกปฏิบัติจริง แม้ว่าเพื่อน ๆ จากหลายสถาบันจะได้เรียนมาแล้วในห้องเรียน  แต่ครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นอีกบรรยากาศที่หลายคนไม่เคยเจอ นั้นคือ การทำงานข่าวจริงที่ต้องแม่ยำ ละเอียดครบถ้วนและต้องทำแข่งกับเวลา

เม็ดฝ้าย บอกว่า สิ่งที่ได้ คือ มิตรภาพจากเพื่อนพ้องน้องพี่ทุกคน และการได้พูดคุยกับพี่ ๆ นักข่าวถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก  คือทำให้ความรู้สึกดี ๆ ที่เคยมีต่อวิชาชีพนักข่าวกลับมา  เพราะเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า “การเป็นนักข่าวจะช่วยสร้างสรรค์สังคมได้จริงหรือ” เนื่องจากประสบการณ์อันน้อยนิดของตัวเอง ทำให้มองโลกด้วยมุมแคบ ๆ ว่าท้าทายที่สุด นักข่าวก็ต้องมีปัจจัยอื่นมาเป็นตัวกำหนดแนวทางการทำงาน มากกว่าการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง  แต่ท้ายที่สุดก็ได้รู้ว่า การเป็นนักข่าวยังจรรโลงและสร้างสรรค์สังคมให้ดีงามได้โดยไม่ต้องทรยศต่ออุดมการณ์ของตัวเอง

ขณะที่ น.ส. อัจฉรา มีดี “แนน” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาการจัดการ และนายกสโมสรนักศึกษาคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต บอกว่า การได้เข้าร่วมโครงการนี้ทำให้ได้ประสบการณ์ทำงานเป็นทีม วิธีการเขียนข่าว การจัดเรียงรูปแบบในการนำเสนอข่าว การสัมภาษณ์แหล่งข่าว และประโยชน์นานัปการ

“กิจกรรมมากมายที่พี่ ๆ นักข่าวจัดขึ้นนั้นเป็นการคลายเครียดได้ดีกับน้อง ๆ ที่เหน็ดเหนื่อยจากการทำหนังสือพิมพ์ไปแล้ว  แต่เวลาที่อยู่ด้วยกันช่างสั้นเหลือเกิน  ดังนั้นจึงอยากให้พี่ ๆ เพิ่มวันกิจกรรมให้มากขึ้นเป็นหนึ่งอาทิตย์จะดีกว่า ความรู้จะได้ซึมซาบเข้าไปในสมองมากขึ้น”

ประสบการณ์ดี ๆ จากเวทีพิราบน้อยเป็นแค่สนามจำลองเล็กๆ เมื่อวันนี้ การเป็นนักข่าวดูจะไม่ยาก แต่ “นักข่าวที่ดี” นี่สิยากกว่าเยอะ!!!

 

#

ข้อมูลจากจุลสารราชดำเนิน เล่ม 13