การนำเสนอข่าวของสื่อหนังสือพิมพ์ออนไลน์ในอินเตอร์เน็ต กรณีศึกษาแพทยสภา-นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ

เรื่อง : การนำเสนอข่าวของสื่อหนังสือพิมพ์ออนไลน์ในอินเตอร์เน็ต กรณีศึกษาแพทยสภา
ผู้ศึกษา :        นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ
กรรมการที่ปรึกษา :    ดร.สุรศักดิ์   จิรวัสตร์มงคล
ปี :            ๒๕๕๒

บทคัดย่อ


การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในประเทศไทยในยุคปัจจุบันมีความสำคัญมากต่อการรับรู้ และเรียนรู้ของประชาชนโดยเฉพาะด้านสุขภาพ เนื่องจาก การรักษาพยาบาลในปัจจุบันมีความสลับซับซ้อนและลึกซึ้งเกินกว่าจะเข้าใจได้โดยคิดเองแบบง่ายๆท่ามกลางปัญหาการให้บริการของระบบสาธารณสุขโดยภาครัฐที่มีงบประมาณจำกัดในการจัดสรรทรัพยากร มีแพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ ต่อประชากรที่อายุยืนยาวขึ้น และการวิวัฒนาการของทั้งตัวโรครวมถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เปลี่ยนไป มีผลต่อประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลทั้งในทุกภาค เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดความผิดพลาด ท่ามกลางกระแสของการคุ้มครองผู้บริโภคและการตรวจสอบจากสื่อมวลชน  ทำให้การนำเสนอข่าวที่เป็นช่องทางหลักในการกลั่นกรองความรับรู้ของประชาชน มีผลกระทบมาก ต่อความคิด ความเข้าใจต่อระบบ โดยเฉพาะหากเลือกนำเสนอที่ไม่ถูกต้องทางวิชาการ ไม่ครอบคลุมข้อเท็จจริง อาจชี้นำสังคมไปในทิศทางที่ไม่เหมาะสมได้

การวิจัยนี้ทำขึ้นเพื่อศึกษาการนำเสนอข่าวของสภาวิชาชีพแพทย์ในสื่อมวลชนประเภทหนังสือพิมพ์ออนไลน์ที่มีการนำเสนอในอินเตอร์เน็ต โดยนำมาแยกแยะหัวข้อ รายละเอียด วิธีการนำเสนอและพื้นที่ของสื่อมวลชนในหัวข้อข่าวที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปและนำเสนอปัญหา ผลกระทบตลอดจนแนววิเคราะห์ทางแก้ไขโดยการเก็บข้อมูลหนังสือพิมพ์ออนไลน์จำนวน ๑๒ ฉบับ เป็นเวลา ๓ เดือน ตั้งแต่ ๑ ม.ค. ๒๕๕๒ ถึง ๓๑ มี.ค. ๒๕๕๒ โดยใช้เครื่องมือสืบค้นในอินเตอร์เน็ต เพื่อจัดหัวข้อหมวดหมู่และจำนวนของหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวนั้นๆ เปรียบเทียบน้ำหนักของข่าวตามช่วงเวลาในประเภทหัวข้อข่าวเดียวกันและศึกษาผลกระทบ

จากการศึกษาพบว่าข่าวซึ่งได้รับเลือกโดยสื่อมวลชนให้นำเสนอมักอยู่ในกลุ่มข่าวที่น่าสนใจ มีประเด็นแตกหักและความขัดแย้ง โดยมีการพาดหัวที่ชี้นำเชิงความเห็น อาจมากกว่าเนื้อหาที่เป็นข้อเท็จจริง สัดส่วนของข่าวซึ่งนำเสนอความรู้หรือเตือนสังคมด้านสุขภาพมีน้อย เมื่อเทียบกับข่าวเชิงปัญหาขัดแย้งระหว่างคู่กรณี ต่างๆ ตลอดจนข่าวที่เป็นที่สนใจของประชาชนด้วยความแปลก โอกาสเกิดน้อย ไม่เกิดประโยชน์ในเชิงความรู้กลับได้รับความสำคัญและได้รับพื้นที่ข่าวมากกว่าที่ควรเป็น นอกจากนั้นพบว่าการลงข่าวของโรคใหม่ๆ ที่มีความลึกซึ้งและละเอียดอ่อนจะมีข้อเท็จจริงทางวิชาการของโรคน้อยกว่าความคิดเห็น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะองค์ความรู้เหล่านี้ยังเข้าถึงผู้มีข้อมูลได้ยาก และในหลายกรณีที่เกิดความขัดแย้งและความสูญเสียนั้น มักมีข้อมูลเฉพาะความเห็น ด้านผู้เสียหาย มากกว่าข้อเท็จจริงจากนักวิชาการที่เชื่อถือได้

ข้อเสนอแนะจากผู้วิจัยคือ เสนอให้มีการพัฒนาระบบการนำเสนอข้อมูลข่าวสารทางสุขภาพ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อการรับรู้ของประชาชน ให้เกิดเนื้อหาเกิดประโยชน์และบทสรุปที่นำไปใช้ให้ได้จริง เสนอให้มีการเพิ่มพื้นที่ของข่าวที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชน เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจต่อสุขภาพตัวเองมากขึ้น  เสนอให้มีการติดตามวิเคราะห์ข่าวสุขภาพ เพื่อวางมาตรฐานการนำเสนอให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน โดยหน่วยงานอิสระ เช่น มีเดียมอนิเตอร์ที่ทำในข่าวประเภทอื่น  และ เสนอให้มีการจัดหลักสูตรร่วมระหว่างวงการแพทย์และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ เพื่อให้เรียนรู้ปัญหาโรคและสุขภาพเบื้องต้นที่พบบ่อย เพื่อจะได้นำข้อเท็จจริงเสนอต่อสังคมไปในทิศทางที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อสังคม.

(ดาวโหลดไฟล์ต้นฉบับได้ที่นี้)