“ส่องสื่อออนไลน์ไทยกับการทำงานข่าว ก่อน-หลังยุคโควิด”

ข้อดีของโควิดภายใต้ข้อจำกัด ทำให้เจอจุดอ่อนของตัวเอง แล้วต้องหาแนวทางใหม่ๆ ในการนำเสนอข่าวกับคอนเทนท์ ซึ่งได้คุยกับทีมงานแล้วว่า เมื่อพบข้อจำกัดและปัญหา ก็ต้องสลายข้อจำกัดนี้....

การทำข่าวของสื่อมวลชนไทยเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ต้องปรับตัวในการทำงานแบบมีระยะห่างได้ไว  สอดรับนิวนอร์มัล (New Normal)  ซึ่งรายการ "ช่วยกันคิดทิศทางข่าว" มีโอกาสพูดคุยกับ พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บก.อาวุโส สำนักข่าวออนไลน์ The MATTER  ถึงมุมมอง “ส่องสื่อออนไลน์ไทยกับการทำงานข่าว ก่อน-หลังยุคโควิด” ว่า 

ได้นำเทคโนโลยี โปรแกรมต่างๆ มาทำงานแทนการทำงานแบบเห็นหน้ากัน พอใช้จริงไปพักหนึ่ง ก็มองเห็นปัญหาแล้วว่า เทคโนโลยีใช้แทนได้ประมาณหนึ่ง เพราะการทำงานข่าวต้องเจอคน ต้องสัมภาษณ์แหล่งข่าว  ซึ่งการแถลงข่าวในช่วงโควิดระบาดใหม่ๆ จะทำผ่าน “ซูม”  ไม่เหมือนการไปฟังแถลงข่าวปกติ  ซึ่งคนทำข่าวจะเข้าใจว่าข่าวเด็ดๆหลายครั้ง ได้จากบนเวทีแถลงข่าวไม่เยอะ แต่จะได้จากการถามตอบหลังแถลงข่าวเยอะกว่า ถ้าเป็นไปได้เราจะพยายามทำงานให้ได้เจอคนมากที่สุด ซึ่งการทำงานช่วงโควิดระบาด หากต้องยกหูโทรศัพท์ หรือพูดคุยผ่านซูม หรือคุยผ่านโปรแกรมวิดีโอคอล กับแหล่งข่าวที่สนิทสนมกัน ก็จะได้ข้อมูลเหมือนเจอตัวจริง  แต่ถ้าสัมภาษณ์แหล่งข่าวที่ไม่สนิท การเจอะเจอกันก็จะได้ข่าวที่ดีกว่า

 บก.อาวุโส สำนักข่าวออนไลน์ The MATTER  บอกว่า ช่วงโควิดระบาดรอบแรก The MATTER  ได้ Work From Home  ก่อนที่รัฐบาลจะมีคำสั่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินออกมา  เพราะประเมินแล้วว่าสถานการณ์โรคติดต่อนี้ค่อนข้างที่จะรุนแรง และเมื่อเกิดโควิดละลอกใหม่ The MATTER  ได้ Work From Home  ตั้งแต่ต้นปีนี้  ให้มาทำงานที่ออฟฟิศเฉพาะวันประชุม พอเดือนที่ 2 ก็ให้กลับมาทำงานที่ออฟฟิศมากขึ้น เพราะ Work From Home  มีข้อจำกัดในการทำงาน ซึ่งพงศ์พิพัฒน์  บอกว่า เท่าที่คุยกับเพื่อนสื่อออนไลน์หลายที่ก็พบปัญหาเดียวกัน

“การประชุมผ่านซูมหลายครั้ง อาจมีข้อจำกัดในเรื่องของเทคโนโลยี เช่น บ้านของบางคน wi-fi ไม่ดี หรือ wi-fi ค้างค่อนข้างบ่อย  หรือเป็นธรรมเนียมที่ต้องรอให้คนหนึ่งพูดจบก่อน แล้วอีกคนค่อยพูดต่อ ซึ่งถ้าการประชุมได้เจอหน้ากันก็จะพูดสื่อสารกันได้ดีกว่า หรือการแถลงข่าว จะไปแย่งเขาพูดก็ไม่ได้ จะไปสอบถามเขา ก็อาจจะไม่อ่านคำถามของเรา  ก็ถือเป็นการทำงานรูปแบบใหม่  ความจริงคนชอบมองว่าสื่อออนไลน์น่าจะมีความไฮเทคมากกว่าสื่อกระแสหลักดั้งเดิม และสื่อพิมพ์วิทยุแต่วิธีการทำข่าว ทำคอนเทนต์จริงๆก็ยังเป็นการทำงานกับมนุษย์ ไม่ว่าเราจะหาข่าวจากแหล่งข่าวหรือเราจะสื่อสารข่าวที่ได้มากับคนดังนั้นการที่เราได้เจอหน้ากันค่อนข้างสำคัญ ในช่วงโควิด ต้นปี  2563 เหมือนเป็นช่วงทดลองทำงานรูปแบบใหม่  ส่วนปลายปีมีสถานการณ์การชุมนุม  เราก็ต้องลงพื้นที่ไปทำงานจะ Work From Home  ไม่ได้ แต่ก็ถือว่าเราได้เครื่องมือเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีโควิด ทำให้ได้ใช้โปรแกรมในการประชุมออนไลน์ ใช้โปรแกรมในการสัมภาษณ์ออนไลน์”

ส่วนการผลิตคอนเทนต์ที่มานำเสนอในช่วงวิกฤติโควิด เป็นช่วงที่เกิดผลกระทบด้านต่างๆจากโควิดค่อนข้างเยอะ ก็ต้องใช้พลังงานมากหน่อยในการทำคอนเทนท์  เนื่องจากจำนวนคนข่าวในสนามของ The MATTER  ไม่เยอะเท่าสื่อกระแสหลัก ถ้าเป็นข่าวในเมืองไทยเราจะเป็นสื่อแถวสอง คือ อ้างอิงจากสื่อกระแสหลักแล้วไปคิดประเด็นต่อ แต่สิ่งที่นำมาทดแทน คือข่าวต่างประเทศ ซึ่งเรารู้สึกว่าสื่อไทยทุกที่ก็จะเป็นแถวสองเหมือนกัน เพราะข่าวมาจากต่างประเทศ ดังนั้นสิ่งที่เราพยายามนำมาทดแทน คือ 1. แง่มุมใหม่ใหม่เราต้องคิดให้ต่างจากสื่อที่มีจำนวนนักข่าวเยอะกว่าเรา 2. เรื่องความครีเอทีฟ หยิบมุมต่างๆขึ้นมา ซึ่งใช้ได้ในเรื่องแง่มุมที่แตกต่างและความครีเอทีฟนำความสนุกเข้าไปใส่ บอกเล่าเรื่องแบบไม่ต้องซีเรียสมาก

พงศ์พิพัฒน์ บอกว่า ถ้าย้อนกลับไปช่วงแรกๆในการ Work From Home  อยู่ที่บ้านมันจะสนุกมีอะไรใหม่ๆให้ทำตลอดเวลา มีหม้อทอด มีเต้น TikTok หรือทำสวนหรือกิจกรรมใหม่เปิดโลกมาก แต่พอไปช่วงเดือนที่สองที่สามเมื่อมีการเวิร์คฟอร์มโฮม ความรู้สึกมันจากค่อนข้างหนืด คนเบื่อการอยู่บ้านทำงานกับบ้านหลาย ครั้งจะต้องใช้พลังงานเยอะกว่า ทำให้ช่วงท้ายๆก็จะตัน ก็จะต้องวิ่งคุยกับแหล่งข่าวบ้างเท่าที่เขาจะยอม 

พงศ์พิพัฒน์ มีมุมมองถึงข้อดีของโควิดภายใต้ข้อจำกัด ทำให้เจอจุดอ่อนของตัวเอง แล้วต้องหาแนวทางใหม่ๆ ในการนำเสนอข่าวกับคอนเทนท์ ซึ่งได้คุยกับทีมงานแล้วว่า เมื่อพบข้อจำกัดและปัญหา ก็ต้องสลายข้อจำกัดนี้ ซึ่งการทำข่าวออนไลน์ของ The MATTER ต้องเอาความสนุกใส่มุกเข้าไป บางอย่างต้องใส่ครีเอทีฟเข้าไปและต้องบาลานซ์ข่าว เพื่อไม่เสียท่าทีในการนำเสนอข้อเท็จจริง ที่เราอยากบอกทุกคนว่านั่นคือข้อเท็จจริง ซึ่งในปี 2564 นี้ The MATTER มีเครื่องมือในการนำเสนอคอนเทนท์ออนไลน์หลายอย่างออกมา ที่เป็นประโยชน์และข่าวมีมุมสนุกได้มากยิ่งขึ้น 

ติดตามรายการ"ช่วยกันคิดทิศทางข่าว" ได้เป็นประจำทุกวันอาทิตย์  เวลา11.00-12.00 น.โดยความร่วมมือของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  และ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5

#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว #โควิด19

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation