นักข่าวกับสิ่งที่หวังจะให้เป็น-เรียนความพิราบน้อยรุ่น13

นักข่าวกับสิ่งที่หวังจะให้เป็น

นางสาวกมลรัตน์ อู่อรุณ เอกวารสารศาสตร์ สาขาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ดิฉันเลือกเรียนวารสารศาสตร์เพราะอยากเป็นผู้สื่อข่าวสายสิ่งแวดล้อม  สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุดและมีผลกระทบต่อคนทั้งโลก  แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมมักถูกคนส่วนใหญ่ในสังคมมองข้าม หรือถูกมองว่าเป็นปัญหาเล็กๆไม่จำเป็นต้องแก้ไขเร่งด่วน เมื่อเทียบกับข่าวการเมือง  หรือข่าวอาชญากรรม  เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมมักจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ หรือความรู้เฉพาะทางเข้ามาเกี่ยวข้อง และผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยทันทีทันใด  แต่จะค่อยๆสะสมความรุนแรง  เราจึงได้เห็นข่าวสิ่งแวดล้อมในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ต่อเมื่อเกิดผลกระทบที่รุนแรงขึ้นแล้วเป็นส่วนใหญ่  ฉะนั้นการเป็นผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อมจึงถือได้ว่าเอาตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งของทุกชีวิตในสังคม เป็นตัวแทนนำเสนอปัญหาที่คนในสังคมมองข้าม โดยเฉพาะปัญหาสภาวะโลกร้อนที่ทั่วโลกกำลังประสบ

ดิฉันจะเลือกรายงานข่าวเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนในแง่มุมที่มีคุณค่าเรื่องข่าวเรื่องความใกล้ชิด โดยรายงานให้เห็นความเชื่อโยงของภาวะโลกร้อนกับการเกิดภัยแล้งและการจัดการน้ำ  ดิฉันอยากค้นหาความจริงว่าเหตุใดอีสานจึงแล้ง ทั้งๆที่มีเขื่อนหลายแห่งในภาคอีสาน ปัญหาอยู่ที่มีเขื่อนไม่พอในการกักเก็บน้ำหรืออยู่ที่การจัดการน้ำที่ไม่มีประสิทธิผลกันแน่ เพราะเดิมก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อน ภูมิภาคนี้ก็ประสบปัญหาความแห้งแล้งอยู่แล้ว จึงเกิดภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำโดยไม่ทำลายระบบนิเวศน์ขึ้น เช่น ฝายหินทิ้ง การสร้างระหัดวิดน้ำ หรือแม้แต่การสร้างบาราย(บ่อน้ำ)ในปราสาทหินต่างๆโดยจะสัมภาษณ์ ปราชญ์ชาวบ้านว่า เมื่อก่อนที่จะมีเขื่อนเข้ามา ชาวบ้านมีการจัดสรรน้ำไว้ใช้ในการเกษตรอย่างไรจึงพอใช้ตลอดฤดูแล้ง  และขณะนี้ภาคอีสานกำลังประสบปัญหาภัยแล้งเราสามารถน้ำภูมิปัญญาเดิมมาประยุกต์ใช้ได้ไหม  ถ้าได้จะนำมาใช้อย่างไร   เนื่องจากเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก