ในรอบปีสื่อมวลชนไทย ประจำปี 2551

ในรอบปีสื่อมวลชนไทย ประจำปี 2551

 

ศูนย์ข้อมูลสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

 

ศูนย์ข้อมูลสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้รวบรวมเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนที่เกิดขึ้นในรอบปี พ.ศ. 2551 ที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อเว็บไซด์ โดยแบ่งหัวข้อออกเป็น สื่อมวลชนกับรัฐบาล (สมัคร สุนทรเวชกับสื่อ, จักรภพกับสื่อ ),  อสมท., ช่อง 11, กลุ่มนปช.กับสื่อ, กลุ่มพันธมิตรฯกับสื่อ, ทีวีไทย, คุกคามสื่อ , สื่อออนไลน์ , คดีความ และอื่นๆ

สมัคร สุนทรเวช กับ สื่อ

ภายใต้รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี มีบรรยากาศของการ “คุกคาม บิดเบือน ชวนทะเลาะ” ต่อว่าสื่อมวลชนมาโดยตลอด ซึ่งถือเป็นการคุกคามรูปแบบใหม่ด้วยคำพูดที่ก้าวร้าว หยาบคาย การตอบโต้การทำหน้าที่สื่อมวลชนผ่านสื่อของรัฐโดยเฉพาะในรายการสนทนาประสาสมัคร ที่มักโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนเข้าใจผิดในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน รวมทั้งการชวนทะเลาะ กับสื่อมวลชน คอลัมนิสต์ รายการบางรายการของวิทยุและโทรทัศน์ ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งสวนทางกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง เหตุการณ์ต่อไปนี้เป็นเพียงบางส่วนที่ปรากฎเป็นข่าวเท่านั้น

20 กุมภาพันธ์ 2551 “สมัคร" งดตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่อดีตคนเดือนตุลาฯออกมาเรียกร้องให้ขอโทษประชาชนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2516 หลังออกมาเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวเพียง 1 คน

"...ผมบอกไปแล้วว่ามีคนตั้งรางวัลไว้ให้ ใครทำให้ผมตบะแตกน้อยก็ให้หมื่นบาท ตบะแตกมากก็ให้ 5 หมื่น แต่รับรองไม่มีใครได้รางวัลหรอก ส่วนใครเป็นคนตั้งรางวัลนั้นไม่ขอบอก แต่เป็นข้อมูลที่มีคนกระซิบบอกมาก็มาเล่าต่อให้ฟัง..."

อย่างไรก็ตาม "สมัคร" ไม่ยอมเฉลยที่มาของ "ข่าววงใน" หลังผู้สื่อข่าวจี้ถามว่า "ผู้ส่งข่าว" เป็นผู้มีอิทธิพลและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปหรือไม่..?

โดยนายกฯเอาแต่หัวเราะ ก่อนตอบว่า "มีอิทธิพลหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่เมื่อเอ่ยชื่อมาก็รู้จัก"

30 เมษายน 2551 "สมัคร" ประกาศยุติการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทุกวันอังคารและวันศุกร์ โดยให้เหตุผลว่า "คนใหญ่ๆ เขาว่ารุนแรงเลย ว่าเกิดมาไม่เคยเห็นนายกฯ คนไหนพูดจาหยาบคาย" ทั้งนี้ นายกฯได้ขยายรายละเอียดเพิ่มเติมว่า "... เขาต่อว่า 2 วันที่ให้สัมภาษณ์สื่อ พูดพร่ำทำเพลง พูดจาหยาบคาย ผมเลยถามว่า เช่นคำว่าอะไรบ้าง เขาบอกว่า เช่น เฮงซวย ทำหอกอะไร และกระเหี้ยนกระหือรือ..."

แม้ต่อมาจะมีคำเฉลยจาก "พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า "คนใหญ่ๆ" ที่ว่าหมายถึง "คุณหญิงสุรัตน์" ศรีภริยานายกฯ แต่หลายฝ่ายก็ยังไม่อยากเชื่อตามนั้น

4 กรกฎาคม 2551 "สมัคร" ตอบคำถามผู้สื่อข่าวหลังเดินทางกลับจากประเทศบรูไนถึงกรณีที่ออกมาพูดถึงขบวนปลิดออกจากตำแหน่งนายกฯ ด้วยการวางแผนจับกุมตัวคาสนามบินสุวรรณภูมิ ว่า "...ไม่ได้พูดอย่างนั้นว่าจะจับตัว หรือกลัวถูกจับ แต่ตอนอยู่ทางโน้น (บรูไน) มีคนโทร.ไปบอกไปแสดงความวิตก ซึ่งไม่ค่อยมีเหตุผล บอกว่าจะถูกศาลออกหมายจับและศาลจะตัดสินคดีความต่างๆ ผมจึงบอกไปว่าจะออกข่าวลือให้แนบเนียนหน่อย..."

เมื่อผู้สื่อข่าวซักว่าใครปล่อยข่าวให้ฟัง นายกฯกลับบอกว่า "ไม่ปล่อยหรอก คนที่เป็นนักข่าวถามว่าทราบข่าวนี้หรือเปล่า ผมเลยบอกว่าถ้าจะเอาข่าวนี้มาปล่อยกับผม ผมป่วนดีกว่า"

(หนังสือพิมพ์มติชน 8 ก.ค.  2551)

27 มีนาคม 2551 นายสมัคร สุนทรเวช กล่าวว่า "ผมอ่านหนังสือพิมพ์แล้วรำคาญใจจริงๆ มาว่าผมมันเหลิงอำนาจ อยากได้อำนาจ บ้าอำนาจ ตั้งรัฐตำรวจ ปัดโธ่ ว่าสมคบคิดกับ ผบ.ทบ. ใช้คำว่าหนีบไปต่างประเทศ ไอ้คำนี้มันแสลงใจจริงๆ โตๆ กันขนาดนี้แล้ว ท่านเดินกับผม เอามือไว้ข้างหน้า ผมก็บอกให้เอามือไว้ข้างหลัง คนโตๆ ด้วยกัน อายุห่างกันหนึ่งรอบ แต่ผมถือว่าท่านช่วยงานผม ท่านไม่ทำการเมือง ผมทำการเมือง ไปแล้วได้สัมผัสกัน ผมชอบไปตลาด แต่ท่านไม่เคยไป แต่ไปต่างประเทศก็ไปตลาดด้วยกันทุกครั้ง ท่านก็บอกว่า ชีวิตท่านมีความสุขเล็กน้อย ก็ตอนไปเดินตลาดกับผม แล้วมาว่าพาไปต่างประเทศด้วยเพราะกลัวถูกปฏิวัติ ไม่หรอก เราเข้าใจกันดี วันนี้บ้านเมือง รัฐบาลกับทหารเข้าใจกันดี อยู่กันมีความสุข" และว่า ไอ้คำว่าหนีบไปด้วย เลิกพูดเสียที เพราะมีเหตุผลที่จะต้องไป

"ตำแหน่งนายกฯไม่ได้ใหญ่โต เห่อเหิม และไม่ได้คิดจะเป็น แต่ผมเป็นแล้วคิดว่าทำงานได้ ไม่ได้อวด มีคนบอกว่าผมทำงานได้ดีกว่านายกฯที่ผ่านๆ มา เขาดีใจที่ผมได้มาทำหน้าที่นี้ ก็ขอบคุณ แต่ไม่ได้สนุกที่มาทำ แต่ผมทำได้ แต่บางอย่างก็ทำไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นคนเก่งวิเศษมาจากไหน งานที่เราทำมาตลอดชีวิต ปลายชีวิตจะเลิกทำ ก็ยังอุตส่าห์ยังได้มาทำ" นายสมัครกล่าว

(มติชนออนไลน์ 28 มี.ค. 2551)

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ แสดงความเป็นห่วงกรณีนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับคำพูดที่พาดพิงสถาบันว่า ตนไม่คิดอะไรหรอก ตนคิดแบบตน คนอื่นจะคิดอย่างไรก็เรื่องคนอื่น ตนไม่มีความเห็นเรื่องนี้ เมื่อถามว่า กรณีที่นายจักรภพตกเป็นเป้าถูกโจมตีในขณะนี้ จะส่งผลให้เสถียรภาพรัฐบาลสั่นคลอนไปด้วยหรือไม่ นายสมัครย้อนถามว่า 'ใครเป็นคนทำข่าว เสนอข่าวเรื่องนี้ๆ หา ที่พาดหัวว่าคนไทยไม่ยอม คนไทยคนไหน ก็เรื่องนี้คนทำผิดก็ให้ตำรวจเข้าจัดการ ถ้าตำรวจบอกว่าไม่ผิด นายจักรภพก็ต้องไม่ผิด แล้วมันจะไม่ตรวจสอบกันเลยเชียวหรือ มันบ้านเมืองยุคไหนกัน มีพรรคการเมืองยื่นมาบอกว่า มีพฤติการณ์ใช้ไม่ได้ต้องออกเลย แล้วผมมีเครื่องวัดอยู่ที่ไหน'

เมื่อถามว่า แสดงว่า นายกฯยังให้โอกาสนายจักรภพทำงานในตำแหน่งต่อไปใช่หรือไม่ นายสมัครกล่าวว่า ไม่ต้องให้โอกาสหรอก มันเป็นสิทธิของนายจักรภพ คนกล่าวหาก็กล่าวหามา ตนให้ตำรวจจัดการ ก็สู้กันในเรื่องคำแปล ไม่เชื่อก็ไปเอาอินเตอร์เนชั่นแนลทรานสเลชั่น(การแปลตามหลักสากล) มาแปลให้ตำรวจอ่าน ถ้าตำรวจบอกไม่เป็นไรก็โอเคปลอดภัย แต่ถ้าบอกเป็นก็ดำเนินคดี

(มติชนออนไลน์ 21 พ.ค. 2551)

19 มิ.ย. ที่สโมรสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ในฐานะผอ.รมน. เป็นประธานการประชุมชี้แจงการปฏิบัติงานและมอบนโยบายตามกรอบแนวทางการดำเนินงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)และมีตอนหนึ่งได้กล่าวถึงสื่อมวลชนว่า  “ทำไมผมถึงต้องเป็นปฏิปักษ์กับสื่อสารมวลชน ผมพูดได้ตรงๆเพราะไอ้คนพวกนี้วิจารณญานมันต่ำ ไม่รู้ว่าอะไรควรทำอะไรควรเว้น พลอยเกลียดแค้นชิงชังไปกับเขาด้วย พอคนเขามีอำนาจก็ถีบหัวส่ง ก็สันดานมันเป็นอย่างนี้แหละ ผมพูดกับท่านตรงนี้ใช้ถ้อยคำรุนแรงหน่อย เพื่อจะบอกว่าอย่าไปหวัง อย่าไปห่วงว่า ผอ.รมน.จะใช้อำนาจที่ได้รับมาไปฟาดฟัน เรื่องนี้ไม่หรอก ผมทนได้ ผมเฝ้าดูได้ "นายสมัคร กล่าวและว่า

สิ่งที่ต้องพูดกันวันนี้ก็เพื่อให้รู้ว่านี่คือบ้านเมืองของเรา ท่านจะทำอะไรต้องใช้วิจารณญานของทุกคนมาช่วยกันดูแล บ้านเมืองเป็นของเรา กอ.รมน.เป็นหน่วยงานที่คนดูกลายๆภายนอก นึกว่าเป็นอำนาจของคนที่มีอำนาจในบ้านเมืองจะใช้เป็นเครื่องมือ ตนจะพิสูจน์ให้เห็นว่าตนเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร แต่จะไม่ใช้อำนาจนี้เป็นเครื่องมือ หน้าที่ของเราต้องทำให้คนในบ้านเมืองเข้าใจว่ามันต้องมีคนรับผิดชอบ ถ้ามีสถานการณ์ไม่เรียบร้อยพอมีเรื่องตำรวจก็จะออกมาทันที แต่ไม่ใช่ว่าจะให้ทหารออกมา มันยังไม่ถึงเวลา

(คมชัดลึก  19 มิ.ย. 2551)

29 มิ.ย. นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ออกรายการ “สนทนาประสาสมัคร” ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีและสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่าพรรคร่วมรัฐบาลกดดันนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ให้ปรับ ครม.หลังเสร็จสิ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งนายสมัครได้ประกาศกลางที่ประชุมสภาฯ ระหว่างที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณว่าเรื่องนี้เป็นข่าวลวงทั้งเพนั้น และก่อนจบรายการ นายสมัครกล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมคงทำงานให้บ้านเมืองได้อีกยาวพอสมควร เรื่องอื่นไม่คุยหรอก ท่านก็รู้ว่าทำไมถึงไม่คุย ไม่จำเป็นต้องคุย รวมทั้งเรื่องปรับ ครม. ผมพูดในสภาฯไว้แล้วจะไม่มาพูดซ้ำที่นี่ พาดหัวกันเอิกเกริกใหญ่โต พรรคร่วมรัฐบาลสั่งบีบให้ปรับอะไรต่างๆ ผมก็บอกคอยดู แล้วเป็นอย่างไร มันสาระแนกันจริงๆ ไอ้เรื่องเสี้ยมให้มันเกิดอย่างโน้นอย่างนี้ คนที่เป็นรัฐมนตรีรู้ว่าข้างในเป็นอย่างไร แต่ไอ้การออกข่าวพาดหัวกัน ผมไม่ให้หนังสือพิมพ์มาสั่งว่าอะไรเป็นอะไรหรอก ผมจะไม่ให้หนังสือพิมพ์มาพาดหัวสั่ง แล้วรัฐมนตรีก็ทำด๊กๆๆๆ ไม่หรอก ดูสิใครจะแน่กว่ากัน ทำนายกันสิจะปรับจะปรุงจะเปลี่ยนอย่างไร ทำนายกันเลย หน้าแหกแล้วก็อายคนที่ซื้ออ่านบ้างก็แล้วกัน”

(ไทยรัฐออนไลน์  30 มิ.ย. 2551)

20 ก.ค.-นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าววันนี้ (20 ก.ค.) ในรายการ "สนทนาประสาสมัคร" ทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็นบีที ว่า จากการติดตามการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คืนที่ผ่านมา ได้ทราบเป้าหมายของการชุมนุมชัดเจนว่า ในวันที่ 28 ก.ค. เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาคดีสลากพิเศษเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว หรือ หวยบนดิน 3 รัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมจะใช้ยุทธการดาวกระจายยึดศาลากลางทั้ง 73 จังหวัดทั่วประเทศ หรืออาจจะรวมอีก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เพื่อให้ทหารออกมาอีกครั้ง เพื่อล้มรัฐบาลนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งระหว่างตอบคำถามของผู้ชมทางบ้าน ประเด็น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกอากาศโจมตีรัฐบาลผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี ว่า เพื่อไม่ให้เป็นการกล่าวหาด้านเดียว ตนจะใช้เวลาของสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็นบีที ชี้แจงตอบโต้ทุกวันๆละ1 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 22.00-23.00 น.

(ไทยรัฐออนไลน์   20 ก.ค. 2551)

29 ก.ค. นางสาวศุภรัตน์ นาคบุญนำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ว่า ครม.อนุมัติในการมอบหมายให้นายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในกรณีไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือมีแต่มิอาจปฏิบัติหน้าที่ได้ นอกจากนี้ ครม.ยังรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 180/2551 โดยนายสหัสได้กำกับการบริหารราชการ และสั่งและปฏิบัติราชการของกระทรวงการต่างประเทศ แทนนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ดูแลอยู่เดิม แต่มีการโยกสำนักเลขาธิการ ครม. ซึ่งเดิมอยู่ในการกำกับดูแลของนายสหัสไปให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการดูแล อย่างไรก็ตาม นายกฯได้มอบหมายให้นายมิ่งขวัญกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ (กปส.) ด้วย จากเดิมที่เป็นงานในกำกับดูแลของนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ ครม.อนุมัติแต่งตั้งนายมนัสพาสน์ ชูโต เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย

(มติชนออนไลท์ 30 ก.ค.  2551)

4 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  ไปออกรายการ 'สนทนาประสาสมัคร' ที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที เมื่อเช้าวันที่ 3 สิงหาคม ได้เลี่ยงเดินขึ้นรถกลับออกไปทันที เพื่อไม่ต้องการตอบคำถามผู้สื่อข่าว จากนั้น เมื่อออกจากสถานีฯ ได้แวะซื้อของที่ร้านเซเว่นฯ บริเวณโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี ก่อนที่จะเดินทางไปที่ตลาด อ.ต.ก.

นายสมัครเดินทางถึงตลาด อ.ต.ก. เวลา 10.10 น. และเมื่อเห็นว่ามีกลุ่มผู้สื่อข่าวติดตามมาเป็นจำนวนมาก นายสมัครเดินหลบเข้าไปยังห้องสุขาด้านข้างร้านกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ผู้สื่อข่าวและช่างภาพจึงได้ปักหลักรออยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามห้องสุขา ซึ่งเป็นส่วนของตลาด อ.ต.ก. เนื่องจากมีข่าวว่า นายกรัฐมนตรีอาจจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ปราสาทพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ โดยนายสมัครได้ใช้เวลาอยู่ในห้องสุขาเป็นเวลานาน ขณะที่คนขับรถยนต์ส่วนตัวของนายกฯขับรถออกจากตลาด อ.ต.ก. ทำให้ผู้สื่อข่าวคิดว่านายสมัครอาจจะเดินทางกลับไปแล้ว แต่ผู้สื่อข่าวชายคนหนึ่งเดินเข้าไปในห้องสุขาดังกล่าว กลับพบว่า ห้องสุขาด้านในสุดมีตำรวจรักษาความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรี 2 นาย ยืนเฝ้าอยู่บริเวณหน้าห้อง

จนกระทั่งเวลา 10.50 น. นายสมัครเดินออกมาจากห้องสุขา พร้อมส่งเสียงต่อว่ากลุ่มช่างภาพและผู้สื่อข่าวอย่างรุนแรงว่า ''เกิดมาไม่เคยเห็นใครเลวทรามอย่างกับคนพวกนี้เลย ทุเรศจริงๆ คนจะเข้าห้องน้ำ ก็มายืนเฝ้า มันบ้าหรือเปล่า ให้สมาคมหัดอบรมสั่งสอนเสียบ้าง คนเป็นนายกรัฐมนตรีประเทศไทยจะเข้าห้องน้ำ ก็มายืนเฝ้า'' เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามอธิบายว่า ก็นายกฯเป็นคนดัง เป็นถึงนายกรัฐมนตรีก็ต้องติดตาม นายสมัครก็ยังคงต่อว่าต่อว่า ''มันเป็นความบ้าส่วนบุคคล มันทุเรศ''

จากนั้น นายสมัครได้เรียกให้พ่อค้าแม่ค้าในตลาด อ.ต.ก.ดูหน้านักข่าวและช่างภาพ พร้อมบอกว่า ''มันทุเรศมั้ย ไม่รู้เป็นอย่างไร ผมเกิดมาก็ไม่เคยเห็น ทั้งช่อง 3 ช่อง 7 ช่อง 9 เอ็นบีทีก็เอากับเขาด้วยหรือ จะเอาอย่างนั้นหรือ เอาแล้วก็ไปออกด้วย ผมไม่เคยเห็นอะไรที่มันทุเรศอย่างนี้'' เมื่อนายสมัครพูดมาถึงช่วงนี้ ก็มีพ่อค้าแม่ค้าบางคนได้แสดงความเห็นด้วยกับนายสมัคร พร้อมกับต่อว่าผู้สื่อข่าวว่า ''ที่บ้านเมืองเกิดปัญหาขณะนี้ ก็เป็นเพราะผู้สื่อข่าว''

นายสมัครยังคงระเบิดอารมณ์ด่าว่า สื่อมวลชนอย่างต่อเนื่องว่า วันไปปาฐกถาวันภาษาไทย 2 ชั่วโมง ก็เห็นถ่ายรูปแต่ไม่นำเสนอเป็นข่าว พอมาเข้าห้องน้ำก็มาเฝ้าถ่ายกัน น่าเกลียด น่าชัง น่าไม่อาย อย่างไรก็ตาม เมื่อนายสมัครใช้เวลาต่อว่าบรรดาช่างภาพและผู้สื่อข่าวประมาณ 15 นาที กลุ่มช่างภาพและผู้สื่อข่าวก็เริ่มกระจายตัวออกห่าง แต่เหลือช่างภาพของสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งที่ยังคงถ่ายภาพอยู่ นายสมัครจึงได้หันไปต่อว่าอย่างรุนแรงว่า ''ยังหน้าด้านถ่ายอยู่อีกหรือ ต่อว่าขนาดนี้แล้ว ยังมาถ่ายอยู่ได้ มาเลยๆ มาถ่าย '' ทั้งนี้ ระหว่างที่นายสมัครกำลังต่อว่าช่างภาพนายสมัครก็ได้เดินเข้าหาช่างภาพตลอด และท้าทายว่า '' ทำไมไม่ถ่ายกันอีกล่ะ ''

(มติชนออนไลน์   4 ส.ค. 2551)

2 ก.ย. เมื่อเวลา 07.00 น. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพฯ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรับมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการประกาศใช้พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน ในขตกรุงบเทพมหานครว่า จะใช้ไม่นาน เพียงไม่กี่วัน เดี๋ยวก็ต้องยกเลิกแล้ว และวันนี้จะไม่ตอบคำถามเรื่องอื่นใดทั้งสิ้น นอกจากเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เท่านั้น ทั้งนี้ ตนไม่ได้นอนตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา เนื่องจากติดตามสถานการณ์บ้านเมืองอยู่โดยตลอด

นายกฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กทม.

เมื่อเวลา 06.50 น. สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย รายงานว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีกลุ่มบุคคลดำเนินการให้เกิดความวุ่นวาน กระทบความเรียบร้อยต่อประชาชนและความมั่นคงของรัฐ กระทบต่อพัฒนาการประชาธิปไตย จึงต้องแก้ไขปัญหาให้สิ้นสุดโดยเร็ว

พร้อมมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้ผบ.ทบ.เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบตามพ.ร.ก. จนกว่าสถานการณ์จะสงบ นอกจากนี้ ยังห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนเป็นต้นไปหรือกระทำอันยุยงขัดต่อความสงบ ห้ามเผยแพร่ข้อความให้ประชาชาเกิดความหวากกลัวจนกระทบความมั่นคงของรัฐ และ ความสงบทั่วราชอาญาจักร ห้ามใช้เส้นทางบคมนาคม ยานพานหะ ตามที่กำหนดห้ามใช้อาการ และ ให้อพยพประชาชนออกจากอาหารหรือให้ไปอยู่อาคารตามที่กำหนด

"ใช้อำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อันเป็นกฎหมายที่เป็นมีบทบัญญัติบางประการ เกี่ยวกับการจัดการสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งตามมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 , 33 , 34 , 36 , 38 , 41 , 43 , 45 , และมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายกรัฐมนตรีจึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ บัดนี้ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 2 กันยายน 2551 ลงชื่อนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี"

นอกจากนี้ นายสมัคร ยังได้มีคำสั่งแต่งตั้งรัฐมนตรีที่ 194/2551 เรื่องแต่งตั้งหัวหน้าผู้รับผิดชอบ และมอบหมายอำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีใจความว่า “ตามที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพฯ ไปก่อนหน้านี้นั้น จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้ ให้ผู้บัญชาการทหารบก รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
ส่วนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และแม่ทัพภาคที่ 1 ให้เป็นรองหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน มีอำนาจในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตามที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ดังนี้  1.บังคับบัญชา และสั่งการส่วนราชการ และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด 2.ดำเนินการอื่นๆ ตามที่นายกรัฐมนตรี กำหนด หรือมอบหมาย ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2551 ลงชื่อนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี"

(มติชนออนไลน์  2 ก.ย. 2551)

8 กันยายน ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดไต่สวนนายสมัคร และกรรมการผู้จัดการบริษัท เฟซ มีเดีย เป็นครั้งสุดท้ายและนัดวินิจฉัยเวลา 14.00 น. วันที่ 9 กันยายน โดยล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายสมัครมีการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267  นายสมัครต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเฉพาะตัวทันทีทันทีและทำให้คณะ รัฐมนตรีทั้งคณะต้องสิ้นสุดลงด้วยโดยยังสามารถรักษาต่อได้จนกว่าคณะรัฐมนตรี ชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่

อย่างไรก็ตาม การพ้นจากตำแหน่งนายกฯตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182(7) ไม่มีบทลงโทษใดๆ เช่น การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือการห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง

(มติชนออนไลน์  9 ก.ย. 2551)

จักรภพ เพ็ญแข กับ สื่อ

นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายที่จะจัดระเบียบสื่อของรัฐ วิทยุกระจายเสียง  และวิทยุโทรทัศน์โดยได้ใช้อำนาจเข้าไปเปลี่ยนแปลงสื่อที่อยู่ภายใต้สังกัดของกรมประชาสัมพันธ์  กดดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน อสมท. และล่าสุดได้จัดโครงการทดลองพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและวิทยุชุมชนขึ้น โดยเสนอว่าจะเจรจากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ละเว้นการจับกุมสถานีวิทยุชุมชนที่จัดสรรเวลาออกอากาศแก่รายการของรัฐบาล ซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ บีบบังคับทางอ้อมให้สถานีวิทยุชุมชนเข้ามาเป็นพวกพ้อง เพื่อรายงานข่าวของรัฐบาลเป็นหลัก กีดกันผู้มีความเห็นที่แตกต่างและปฏิเสธความหลากหลายของสื่อ ทั้งการต่อรองว่าจะไม่จับกุมนั้นก็หมิ่นเหม่ต่อการฝ่าฝืนกฎหมายและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย มีเนื้อหาข่าวต่างๆดังนี้

"จักรภพ"ยกเครื่องสื่อรัฐ-ฟื้นไอทีวี

นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รับหน้าที่ดูงานด้านสื่อ ดูยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ภาครัฐที่สำคัญ เพราะที่ผ่านมาเราเป็นเหยื่อของการแบ่งข้าง จึงต้องเข้าไปสร้างความเป็นกลางให้สื่อ

"วันนี้สื่อยังเลือกข้างแม้แต่สื่อรัฐก็ตามยังคงมีการวิจารณ์ด้านเดียว ยังยึดอยู่ในเกมการเมืองที่ผ่านมา ผมต้องเข้าไปประเมินว่าสื่อรัฐได้ให้ข้อมูลที่สมดุลและเป็นกลางจริงหรือไม่ ซึ่งตรงนี้กระทบการเปลี่ยนแปลงของบุคลากรในองค์กร ดังนั้น สื่อของรัฐทุกสื่อ รัฐบาลก็ต้องเข้าไปประเมิน และภายใน 1 เดือน ในส่วนที่ผมรับผิดชอบจะมีการวางทิศทางชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กรมประชาสัมพันธ์ (กปส.) และไทยพีบีเอส ซึ่งความจริงอยากจะเรียกว่าไอทีวีมากกว่า"

จัดระเบียบทีวีดาวเทียม-วิทยุชุมชน

นายจักรภพกล่าวว่า นอกจากนี้จะจัดระบบสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและวิทยุชุมชน โดยให้มีการเปิดวงสัมมนาเอาผู้มีส่วนได้เสียมาคุยกันว่าเป็นดาบ 2 คมอย่างไร และรวมถึงวิทยุชุมชนด้วย รวมถึงที่ไม่ใช่สื่อ เช่น เอสเอ็มเอสมือถือ ซึ่งจะไปหารือกับนายมั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) รวมถึงจะผลักดันให้เกิดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ให้ได้ ที่ผ่านมา กสช.กลายเป็นเหยื่อของความขัดแย้งในวงการสื่อเอง หักกันไม่ลง เพราะสื่อแต่ละค่ายต่างมีประโยชน์ของตัวเอง

(มติชนออนไลน์ 8 ก.พ. 2551)

'อธิบดีฯ'แข็งขืนเปิด'ทีวีเสรี'-ยันเปลี่ยน'ทีไอทีวี'ตามกม.

นายปราโมช รัฐวินิช อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า แนวคิดการเปิดทีวีเสรีอีกช่องหนึ่งของรัฐบาล ซึ่งนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ระบุว่าอาจจะเปิดขึ้นและรับพนักงานทีไอทีวีเดิมกลับเข้ามาทำงานนั้น เรามีกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ที่กำหนดตามรัฐธรรมนูญ ให้มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) จึงจะสามารถทำได้ แม้วันนี้จะมีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) แล้ว แต่ก็ยังเป็นการจัดการทางด้านเทคนิคเท่านั้น ยังอนุญาตให้จัดตั้งสถานีไม่ได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2543 ยังบังคับใช้อยู่ คือ มอบหมายให้หน่วยราชการที่รับผิดชอบดำเนินการไปตามกฎหมายในระหว่างที่ยังไม่มี กสช.ซึ่งในมาตรา 80 นั้น ห้ามอนุญาตให้จัดตั้งสถานีใหม่ ห้ามอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และห้ามอนุญาตให้ขยายบริการเพิ่มเติม โดยเป็นอำนาจของ กสช.ซึ่งกฎหมายประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาแล้ว กำลังอยู่ในขั้นของการลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯ จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในการดำเนินการ และหากมีการแก้ไขกฎหมายก็ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร

'อย่างเรื่องของการทำงานของสื่อสาธารณะ ระหว่างทีไอทีวีมาเป็นสื่อสาธารณะก็ได้เน้นย้ำไปแล้วว่าในวันนั้นกฎหมายมีผลบังคับใช้ เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา เจ้าหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย' อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าว

(มติชน 11 ก.พ. 2551)

"จักรภพ"ดัน อสมท.ผนึก2ช่องใหม่ ห่วงประสิทธิภาพแข่งขันหารายได้

5 มี.ค. - นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) พร้อมให้นโยบายการทำงานแก่ผู้บริหาร อสมท. เมื่อวันที่ 5 มีนาคม โดยมีนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้อำนวยการ และคณะให้การต้อนรับ โดยให้นโยบายกว้างๆ เกี่ยวกับการพัฒนา พร้อมเสนอให้ อสมท.ควรจะมีส่วนร่วมกับช่องทีวีอาเซียนและช่องกีฬาที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างไร อสมท.อาจเสนอโครงการเข้ามาทำเองหรือเข้ามาลงทุนกับช่อง 11 ก็ได้ โดยช่องทีวีอาเซียนและช่องกีฬาอาจใช้คลื่นสัญญาณที่มีอยู่เดิมของ อสมท. และช่อง 11 เนื่องจากกฎหมายยังไม่อนุญาตให้จัดสรรคลื่นใหม่ จนกว่าจะมีคณะกรรมการ กสทช. โดยอาจใช้วิธีบีบอัดสัญญาณดิจิตอลเพื่อเพิ่มช่องสัญญาณที่มีอยู่ หรือใช้ช่องสัญญาณระบบเอ็มเอ็มดีเอสที่กรมประชาสัมพันธ์มีอยู่

ได้ฝากข้อกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขัน เพราะดูจากรายได้แล้วปรากฏว่ากำไร 50% ขององค์กรมาจากค่าสัมปทานช่อง 3 และทรูวิชั่นส์ อสมท.ต้องหาสมดุลระหว่างความรับผิดชอบต่อสังคมและรายได้ให้ไปด้วยกันได้ ส่วนการตั้งคณะกรรมการบริหารแทนที่ลาออกนั้น น่าจะทราบผลในวันที่ 24 เมษายน ซึ่งเป็นวันประชุมผู้ถือหุ้น สำหรับความคืบหน้าของสถานีช่อง 11 หรือ "โมเดิร์น อีเลฟเว่น" เริ่มเฟสแรกในวันที่ 31 มีนาคม และเฟส 2 ในวันที่ 11 กรกฎาคม

(มติชนออนไลน์ 6 มี.ค. 2551)

ช่อง11กลายร่างเป็นสถานีNBT

"จักรภพ"แถลงข่าวเตรียมเปิดตัวโมเดิร์น 11 สถานี NBT เริ่มออนแอร์ 1 เม.ย.นี้ เน้นข่าวเต็มรูปแบบสู้ช่องอื่น ดึงผู้ผลิตรายการจาก Titv ร่วมสร้างสีสัน พร้อมอ้างแขนรับผู้ผลิตหน้าใหม่

นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมเปิดสถานีโทรทัศน์ NBT สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ โดยจะเริ่มออกอากาศวันแรก 1 เมษายนนี้ เป็นต้นไป มีการปรับปรุงด้านข่าวให้เข้มข้น เพิ่มชั่วโมงรายการข่าว และวิเคราะห์ข่าวจากเดิมเป็น 9 ชั่วโมง 30 นาทีต่อวัน

โดยนำทีมข่าวมืออาชีพ พร้อมเสริมทีมผู้ประกาศข่าวจากไอทีวีเดิม และช่องอื่น ๆ เข้าร่วมกว่า 40 ชีวิต มีการปรับปรุงรูปแบบรายการใหม่ทั้งหมด ทั้งข่าวภาคเช้า ภาคเที่ยง และภาคค่ำ

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ความมั่นใจว่า NBT จะไม่เป็นกระบอกเสียงให้รัฐเหมือนอย่างในอดีต

(ww.mcot.net  24 มีนาคม พ.ศ. 2551)

ตร.พหลโยธินแจ้งกองปราบดำเนินคดี“จักรภพ”หมิ่นเบื้องสูง

วันนี้ ที่กองปราบปราม พ.ต.ต.วัฒนศักดิ์ มุ่งกิจการดี พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางมด ช่วยราชการสน.พหลโยธินเข้าแจ้งกองปราบปรามให้ดำเนินคดีกับนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ข้อหาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 พร้อมนำหลักฐานซีดีบันทึกแถลงข่าวและคำแปลภาษาไทย จากกรณีที่นายจักรภพ ฐานะหนึ่งในแกนนำ นปก.แถลงข่าวต่อสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ FCCT เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2550 ซึ่งมีถ้อยคำที่เข้าข่ายแสดงความไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

(แนวหน้าออนไลน์ 24 มี.ค. 2551)

'จักรภพ'ปัดข่าวแบ่งเค้ก คืน5คลื่นกปส.ชี้ปรับด้านบริหาร

นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ (กปส.) ยังกล่าวถึงการยึดคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม 5 คลื่นคืนมาให้ กปส.ดำเนินการเอง ว่า หากกปส.มีความสามารถเพียงแค่ให้เช่าช่วงสัมปทาน แล้วคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ยังไม่เกิด ดังนั้น นโยบายของตน คือ ควรให้กปส. นำคลื่นกลับมาทำเอง ส่วนจะมีการร่วมผลิตกับเอกชนรายใด จะเป็นรายใหม่หรือรายเดิม ต้องทำอย่างโปร่งใสและต้องแจ้งต่อสาธารณชนให้ทราบถึงเหตุผลในการดึงใครเข้ามาร่วมงานกับ กปส. ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่มีการแบ่งเค้ก แบ่งผลประโยชน์ เพราะทั้งหมดนี้เป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพในด้านการบริหาร และถ้าคลื่นอื่นๆ หมดสัญญากับ กปส.ก็จะพิจารณาโดยใช้แนวทางเดียวกับ 5 คลื่นนี้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวการนำคลื่นวิทยุที่ยึดคืนมาให้วิทยุประชาทรรศ์ดำเนินการต่อ นายจักรภพกล่าวด้วยน้ำเสียงไม่พอใจว่า 'อย่านำประเด็น เอามาจากไหนๆ กระแสนี้เป็นกระแสเลอะเทอะ'

(มติชนออนไลน์  25 มี.ค. 2551)

“จักรภพ'ขีดเส้นตาย'วสันต์ ภัยหลีกลี้'ให้เวลาถึงพ.ค. ขอนั่งปธ.สอบผลงาน'อสมท'เอง

'จักรภพ'สั่นเก้าอี้'วสันต์'ให้เวลาพิสูจน์ตัวถึงพ.ค.

25 มีนาคม นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการให้เวลานายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท อสมท พิจารณาตนเอง ภายหลังจากที่ผลประกอบการขาดทุนเป็นเงิน 27 ล้านบาทว่า เวลาในการประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนเมษายน หรือเดือนพฤษภาคม จะตัดสินตรงนั้น เพราะผู้ถือหุ้นต้องรับทราบผลการประกอบการ หากผู้ถือหุ้นใหญ่คือรัฐบาลเสนอความคิดว่าอย่างนี้คงจะไปลำบาก ที่ประชุมผู้ถือหุ้นก็อาจจะพิจารณาแนวความคิดตรงนั้น และอาจตัดสินใจปรับเปลี่ยนในตอนนั้น ดังนั้น หากถามว่าเวลามีแค่ไหนก็คงจะถึงเดือนเมษายน หรือเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนตัวกรรมการผู้อำนวยการใหญ่เป็นอำนาจของบอร์ด

นั่งปธ.สอบผลงานอสมท-เสนอ 9 ชื่อเป็นบอร์ด

นายจักรภพ ยังกล่าวอีกว่า จะแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวสอบและประเมินผลการทำงานของบริษัท อสมท โดยมีตนเป็นประธาน ซึ่งในเบื้องต้นได้รับทราบข้อมูลขั้นต้นว่ามีผลประกอบการขาดทุนเป็นเงิน 27 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 10 ปี ตรงนี้เป็นที่กังวลใจของผู้ถือหุ้นพอสมควร ในฐานะที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และตนดูแลงานของ อสมท ด้วย จึงจำเป็นต้องดูแลตรงนี้ว่าเหตุผลอะไรที่นำไปสู่การขาดทุน ผู้บริหารชุดปัจจุบันมีความคิดในการแก้ไขปัญหาอย่างไร เพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ผลประโยชน์ของรัฐบาล และผลประโยชน์ของประเทศ

(มติชนออนไลน์  25 มี.ค. 2551)

หุ้น'อสมท'ร่วงลงกว่า1% หลัง'จักรภพ'สั่นเก้าอี้'วสันต์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หุ้นบมจ.อสมท (MCOT) เช้าวันนี้ (26 มี.ค.) ลดลง 0.25 บาท มาที่ 28.75 บาท หลังลงแตะต่ำสุดที่ 28.50 บาท ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยเช้านี้ลดลง 0.07% ภายหลังจากที่นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ถึงการให้เวลานายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท พิจารณาตนเอง จากการที่ผลประกอบการขาดทุน 27 ล้านบาท รวมถึงการเตรียมแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวสอบและประเมินผลการทำงานของบริษัท อสมท โดยตั้งตนเองเป็นประธาน

(มติชนออนไลน์  26 มี.ค. 2551)

'จักรภพ'ย้ำเอ็นบีทีจะไม่มีโฆษณาเชิงพาณิชย์แน่นอน

วานนี้ (17 เม.ย.) นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็นบีที ว่า จะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทั้งระบบในวันที่ 11 ก.ค.นี้ โดยเอ็นบีทีจะปรับเปลี่ยนทั้งรูปแบบของรายการใหม่ รวมทั้งรายการข่าวที่จะมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยจะยังคงความเป็นสื่อสาธารณะอย่างแท้จริง ไม่มีการโฆษณาในเชิงพาณิชย์อย่างแน่นอน และจะไม่มีการออกกฎหมายเพื่อให้เอื้อต่อการมีโฆษณาด้วย อย่างไรก็ตาม หากจะมีการโฆษณา สามารถทำได้เฉพาะในเชิงภาพลักษณ์ขององค์กรเท่านั้น

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า จะเข้าไปดูแลและจัดระเบียบการบริหารงานของแต่ละองค์กรที่รัฐกำกับดูแลอยู่ เช่น สถานีวิทยุโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และสถานีวิทยุโทรทัศน์ทรูวิชั่นส์ โดยเฉพาะการดูแลด้านการโฆษณา เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบต่อไป

(ไทยรัฐออนไลน์ 18 เม.ย. 2551)

ผู้ถือหุ้น ITV บุกเรียกร้องรัฐบาลหวังรับชดเชย อ้างเงินลงทุนหายหมื่นล.

22 เม.ย.- กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย ITV บุกทำเนียบ เรียกร้องให้รัฐบาลหาแนวแก้ไขปัญหา กรณีที่หุ้น ITV หายไปจากตลาดหลักทรัพย์ฯ มูลค่านับหมื่นล้านบาท ด้านนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมารับหนังสือดังกล่าวด้วยตัวเอง พร้อมกับยืนยันว่า ตนเองจะมีการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว และรื้อ พ.ร.บ.ทีวีสาธารณะ เนื่อจากเป็นกฎหมายในยุคเผด็จการ

(ผู้จัดการออนไลน์ 22 เมษายน 2551)

'บอร์ดอสมท'ออกประท้วงถูกแทรกแซง-'จักรภพ'ไม่เอาปลัดสปน.เป็นปธ.ใหม่
24 เมษายน การประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท อสมท จำหกัด(มหาชน) จำกัด เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทใหม่จำนวน 9 คนจากทั้งหมด 13 คน ว่า ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์  กรรมการ บริษัท อสมท และกรรรมการสรรหากรรมการบริษัม อสมท ใหม่ตัดสินใจที่จะยื่นใบลาออกจากการเป็นกรรมการ อสมทในวันนี้ เนื่องจากรับไม่ได้กับการแทรกแซงการแต่งตั้งกรรมการ อสมท ชุดใหม่จากฝ่ายการเมือง โดยนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เสนอรายชื่อกรรมการบริษัทชุดใหม่ทั้งชุด โดยไม่ยอมให้คณะกรรมการสรรหาเสนอรายชื่อบุคคลอื่นเข้าเป็นกรรมการ อสมท ใหม่แต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการบริษัท เมื่อค่ำวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา กรรมการสรรหาบางคนต้องการเสนอรายชื่อบุคคลภายนอกเป็นกรรมการบริษัทแข่งกับรายชื่อที่นายจักรภพเสนอ เช่น นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอดีต ส.ส.ร.ปี 2550 นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นพ.พลเดช ปิ่นประทีบ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่นางอรัญรัตน์ อยู่คง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหาได้ทักท้วง และเห็นว่าไม่ควรเสนอรายชื่อใหม่แข่งกับรายชื่อที่มีอยู่เดิม ต้องใช้เวลาในการพิจารณานับชั่วโมง ในที่สุดกรรมการสรรหาซึ่งมีอยู่ 3 คน ประกอบด้วย นายสหัส ตรีทิพยบุตร นายวิทยาธร ท่อแก้ว และนางวิลาสินี อดุลยานนท์ ยอมที่จะทำตามข้อเสนอของนางอรัญรัตน์โดยไม่มีการบันทึกในการประชุมแต่อย่างใด
(มติชนออนไลน์-24เมษายน2551)
ปชป.ยื่นสตง.สอบกรมกร๊วก ส่อฮั้วจัดหาผู้ผลิตข่าว
29 เม.ย.- นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  ยื่นหนังสือถึง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อขอให้สอบสวนความไม่โปร่งใสการทำสัญญาของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ โดยมี นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะปฏิบัติราชการแทน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รับเรื่องไว้

(ไทยรัฐออนไลน์  29 เม.ย. 51)

'จักรภพ'รับมอบเสื้อ “คุกคามสื่อ คุกคามประชาชน” จากเลขาธิการสมาคมนักข่าวฯ

2 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  เข้ามอบเสื้อรณรงค์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกแก่นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเสื้อดังกล่าวมีสัญลักษณ์ด้านหน้าเป็นนกพิราบถูกขังในกรอบสีดำ พร้อมข้อความด้านหลังว่า 'คุกคามสื่อ คุกคามประชาชน' เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี

หลังจากนั้นนายจักรภพได้กางเสื้อมาชูให้ช่างภาพบันทึกภาพทุกมุม ก่อนกล่าวว่า แม้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกมองในเรื่องสื่อ อย่างไรก็ตาม แต่ไม่อาจอยู่ได้ หากไม่มีสื่อมวลชนที่เป็นกลางและสร้างสรรค์ ในการนำสารไปสู่ประชาชน เป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย สื่อมวลชนมีหน้าที่ในการเชิดชูสิทธิเสรีภาพของตน หากมองเห็นอุปสรรคขัดขวางก็ขอให้บอกมา แต่เมื่อบอกแล้วก็ต้องรับฟังกันด้วย เพื่อให้ทำความเข้าใจกันได้ทั้งสองฝ่าย

(2 พ.ค. 2551 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย)

10 พ.ค. นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในฐานะที่นายสมัคร สุรทรเวช นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ดูแลงานสื่อภาครัฐ ได้แก่กรมประชาสัมพันธ์(กปส.) ซึ่งตนได้มุ่งหน้าปรับปรุงเป็นสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที กปส.มีหน้าที่ คือ งานสร้างความสัมพันธ์อันดี สิ่งแรกที่เข้าไปคือไปมองหาเชื้อโรคที่ทำลายประชาธิปไตยอยู่ตรงไหนบ้าง และไปทำลายส่วนนั้นก่อน ส่วนข้าราชการ ยืนยันว่า เป็นคนรักอาชีพ ทำงานเพื่อประชาชน แต่ในความจำเป็น ตนต้องให้นโยบายโดยในสัปดาห์หน้า กปส.จะมีการปรับกฎระเบียบกฎเกณฑ์ภายในกรม ถือเป็นครั้งแรกปรับ คือ ข้าราชาการ พนักงานราชการ ลูกจ้างของ กปส. ที่มีโอกาสได้ออกสื่อทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง ระเบียบใหม่จะออกมาชัดเจนว่า สนับสนุนการรัฐประหารไม่ได้ นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป การที่สื่อมวลชนภาครัฐเชียร์ทั้งทางตรงทางอ้อมให้มีรัฐประหาร ถือว่ามีความผิดทั้งทางตรงและทางวินัย ต้องขีดเส้นนี้ไว้เป็นไงก็เป็นกัน
(มติชนออนไลน์ วันที่ 10 พ.ค. 2551)

'จักรภพ-อธิบดีกปส.'โบ้ยกันอุตลุดล็อกสเปกผลิตข่าวสถานี NBT -ดิจิตอลฯปัดโยงประชาทรรศน์
20 พ.ค. นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรปีระจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมกรณีที่ข่าวว่า กรมประชาสัมพันธ์ล็อคสเป็คในการคัดเลือกบริษัท ดิจิตอล มีเดีย โอลดิ้ง เข้าร่วมผลิตรายการข่าวประจำในสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.)11 เป็นเวลา 2 ปีและแปลงโฉมเป็น NBTว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่า ซึ่งนายอภิชาติ ศักดิเศรษฐ  ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้ตั้งกระทู้ถามตนแล้ว  
เมื่อถามว่า ทราบหรือไม่ว่า มีเบอร์โทรสาร(แฟกซ์)ของบริษัท ดิจิตอลมีเดียฯเป็นของบรรณาธิการนิตยสารประชาทรรศน์  บริษัทสำนักข่าวประชาทรรศน์ นายจักรภพ กล่าวว่า ไม่ทราบ ขอให้ไปถามนายเผชิญ ขำโพธิ์ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม นายเผชิญ ขำโพธิ์ รักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ (กปส.) กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีปัญหา แต่รายละเอียดต้องถามนายจักรภพ 
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตถึงความรวดเร็วผิดปกติในการทำสัญญาเพียง 7 วัน นายเผชิญกล่าวว่า ต้องเร็วอยู่แล้ว เพราะการทำข่าวไม่เร็วไม่ได้ ยืนยันว่า การดำเนินการเป็นไปด้วยความโปร่งใสทุกประการ
ส่วนกรณีบริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง และบริษัท เคแอลทีเอ็ม มีเดีย ซึ่งเป็นคู่แข่งเสนอตัวเข้าร่วมผลิตรายการและหนังสือในเครือประชาทรรศน์มีที่ตั้งอยู่ที่เดียวกันนั้น นายเผชิญกล่าวว่า ในอาคารบางแห่งมีถึงร้อยบริษัทอยู่ร่วมกันได้
เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า งบประมาณ 45 ล้านบาท ที่กรมประชาสัมพันธ์ไม่นำส่งคลัง มีการนำไปจ่ายแทนให้บริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง ในการผลิตรายการต่างๆ นายเผชิญกล่าวว่า รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ตนจำไม่ได้ ต้องถามผู้รับผิดชอบ แต่เรื่องนี้ได้คุยกับกรมบัญชีกลางมาก่อน รวมทั้งได้ส่งร่างระเบียบการใช้เงินให้กรมบัญชีกลางเรียบร้อยแล้ว
(มติชนออนไลน์  21 พ.ค. 2551)

'จักรภพ'แถลงไขก็อก! มีผลสัปดาห์หน้า ขอโทษผู้สนับสนุน

สำนักข่าวต่างประเทศเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ว่า นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศลาออกแล้ว ภายหลังถูกกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบันเบื้องสูง โดยกล่าวแถลงข่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า เขาไม่ได้ทำสิ่งใดผิด แต่จำเป็นต้องลาออก เพราะมีแรงกดดันต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลอย่างสูงให้เขายอมลาออก พร้อมทั้งยืนยันว่า เขาไม่มีเจตนาที่จะหมิ่นสถาบันเบื้องสูง และจะพิสูจน์เรื่องนี้ผ่านกระบวนการศาล

เอเอฟพีรายงานระบุว่า นายจักรภพถูกกล่าวหาว่ากล่าวคำพูดหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ระหว่างการแถลงปาฐกถาต่อสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เมื่อปี 2007 เกี่ยวกับเหตุการณ์รัฐประหารที่ล้มอำนาจพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และทำให้กองทัพผงาดขึ้นมาบริหารประเทส ขณะที่เอเอฟพีระบุว่า การลาออกของนายจักรภพถือเป็นความเสียหายอีกครั้งของพรรคพลังประชาชน ซึ่งกำลังเผชิญเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่าจะเกิดเหตุการณ์ปฎิวัติรอบใหม่

ด้านเอพีรายงานว่า การลาออกของนายจักรภพมีขึ้นก่อนที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีกำหนดจะชุมนุมประท้วงใหญ่ในวันศุกร์นี้ โดยกลุ่มพยายามกดดันให้รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช ลาออก ฐานพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 นอกจากนี้ กลุ่มยังได้โจมตีนายจักรภพอย่างหนักว่าหมิ่นสถาบันเบื้องสูง

(มติชนออนไลน์  30 พ.ค. 2551)

อสมท.

บอร์ด อสมท บีบ วสันต์ ออก แต่ยังทำงานต่อ 30 วัน

13 พฤศจิกายน คณะกรรมการบริหารบริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) แถลงมติการประชุมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการมีมติร่วมกันให้นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ยุติบทบาทการทำงาน แต่จะยังให้ทำงานต่อไปอีก 1 เดือนข้างหน้า และให้มอบหมายงานทั้งหมดให้นายชิตณรงค์ คุณะกฤดาธิการ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รักษาการแทน หลังจากนี้จะมีการสรรหากรรมการผู้อำนวยการคนใหม่

นายวิทยาธร ท่อแก้ว กรรมการอิสระ บมจ. อสมท กล่าวว่า คณะกรรมการบอร์ดได้หารือร่วมกับนายวสันต์ เพื่อยุติบทบาทการทำหน้าที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท เนื่องจากแนวทางการทำงานไม่ตรงกัน แต่ตามข้อสัญญาว่าจ้าง นายวสันต์ สามารถทำงานต่อไปอีก 30 วัน หลังจากนั้น นายวสันต์ก็จะพ้นสภาพการเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่

นายธงทอง จันทรางศุ รองประธานกรรมการ บมจ. อสมท กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการบริหาร อสมท.ว่า ทุก ฝ่ายเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึง นายวสันต์ เองก็เห็นด้วย ที่จะยุติบทบาทการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ซึ่งจะมีผลนับจากนี้ไปอีก 30 วัน

"ได้ชี้ แจงถึงเรื่องการยุติการทำงานของนายวสันต์ว่า แท้จริงแล้วนายวสันต์เป็นคนดี ทำงานเก่ง ซื่อสัตย์ เพียงแต่มีทิศทางในการทำงานที่แตกต่างกัน มีความเห็นที่ไม่ตรงกันบ้างในบางเรื่อง" นายธงทอง กล่าว

(ไทยรัฐ 13 พ.ย. 2551)

 

ช่อง 11

พนักงานช่อง 11 ลุกฮือ! ให้เปลี่ยนโลโก้ “เอ็นบีที”

พนักงานช่อง 11 สุดทน! แก๊งธุรกิจการเมืองแฝงตัวเข้ามาหากิน โฆษณาชวนเชื่อทำลายภาพลักษณ์ป่นปี้ รวมพลังลุกฮือครั้งใหญ่บี้ฝ่ายบริหารให้เปลี่ยนโลโก้ใหม่ให้ลบทิ้งเอ็นบีที พร้อมทั้งเรียกร้องให้ปรับปรุงสวัสดิการให้ได้มาตรฐาน

16 ก.ย.-ที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อตอนเช้าที่ผ่านมาพนักงานช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีทั้งฝ่ายช่าง ฝ่ายเทคนิค รวมทั้งพนักงานฝ่ายข่าวจำนวนนับร้อยคนได้ก่อหวอดประท้วงฝ่ายบริหารที่นำเอา ช่อง 11 ไปรับใช้การเมืองจนทำให้เสียภาพลักษณ์ สูญเสียความน่าเชื่อถือจากสังคม อีกทั้งทำให้การทำหน้าที่มีความยากลำบาก และรู้สึกไม่ปลอดภัย ทั้งนี้ พนักงานเหล่ายังได้เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงสัญลักษณ์ใหม่จากเอ็นบีทีกลับไป เป็นช่อง 11 ตามเดิม ขณะเดียวกัน ได้เรียกร้องให้มีการปรับปรุงสวัสดิการของพนักงานให้ดีขึ้นด้วย

มีรายงานว่า ล่าสุด นายสุริยงค์ บุณฑสาร รักษาการผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ได้เรียกพนักงานทุกฝ่ายเข้าชี้แจงภายในห้องประชุมชั้น 8 ซึ่งบรรยากาศการชี้แจงเป็นไปอย่างเคร่งเครียดและยังไม่ได้ข้อยุติ

สำหรับสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที เปลี่ยนแปลงมาจากช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ โดยอ้างความทันสมัย ในยุคที่ นายจักรภพ เพ็ญแข เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน ได้ให้บริษัทเอกชนภายใต้ชื่อบริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานและกลุ่มทุนจากไอทีวีเดิมในยุคที่บริษัทชินคอร์ ปซึ่งเป็นบริษัทครอบครัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเจ้าของ

ทั้งนี้ บริษัทดิจิตอล มีเดียฯ ดังกล่าวได้มาเช่าช่วงเวลาในการทำรายการข่าว และหารายได้ ขณะเดียวกัน ได้ลดบทบาทของพนักงานช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์เดิมลงเกือบจะสิ้นเชิง

นอกจากนี้ กระแสความไม่พอใจจากสังคมได้เพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่มีการให้ นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ มาจัดรายการ “ความจริงวันนี้” โดยลักษณะรายการเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ และบิดเบือนข้อเท็จจริง โจมตีฝ่ายตรงข้ามอยู่ตลอดเวลา โดยล่าสุดได้โจมตีกระบวนการยุติธรรม เช่น ตุลาการรัฐธรรมนูญ และก่อนหน้านี้ได้โจมตี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาอย่างต่อเนื่อง

(ผู้จัดการออนไลน์             16 ก.ย. 2551)

 

กสช.

กทช.เผยสื่ออิสระเกินไป ในระหว่างที่กม.จัดตั้งกสทช.ยังไม่เกิด

17 มี.ค. -คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กทช.) จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ Summit Conference on Telecommunications Regulatory Practices  โดยการสัมมนาครั้งนี้ได้มีการเชิญผู้ทรงความรู้ และผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมระดับโลกมานำเสนอและอภิปราย

ทั้งนี้ นายสุธรรม อยู่ในธรรม คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่า ปัจจุบันการเปิดเสรีโทรคมนาคมในประเทศไทยยังเปิดเสรีได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากเพิ่งมีการก่อตั้ง กทช.มาปฏิบัติหน้าที่ได้เพียง 3 ปี แต่ในต่างประเทศการเปิดเสรีโทรคมนาคมมีมากว่า 20 ปีแล้ว โดยสาเหตุที่กิจการโทรคมนาคมไทยยังไม่สามารถเปิดเสรีได้เต็มที่ เนื่องจากยังติดสัญญาสัมปทานเดิมที่กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังให้สิทธิคุ้มครองให้สัญญาคงอยู่จนกว่าจะสิ้นอายุสัญญาสัมปทาน

อย่างไรก็ตาม นายสุธรรมกล่าวว่า จากการออก พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ส่งผลให้กฎหมายที่มีผลบังคับใช้ฉบับเดิมและกฎหมายลูกที่ออกโดยกรมประชาสัมพันธ์เป็นจำนวนกว่า 30 ฉบับ ต้องถูกยกเลิกไปทำให้กฎหมายฉบับใหม่เกิดช่องโหว่ทำให้ผู้ประกอบการดำเนินการได้อย่างเสรี ไม่มีกฎเกณฑ์เข้ามาควบคุมจนกว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่จะเป็นผู้ร่างกฎเกณฑ์เพื่อมาบังคับใช้

สำหรับบทบาทหน้าที่ของ กทช.ในขณะนี้ตามจากมาตรา 78 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ให้ กทช. มีอำนาจตามกฎหมายระหว่างที่ไม่มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งจะมีหน้าที่เพียงการออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถออกกฎหมายฉบับลูกหรือมีหน้าที่กำกับดูแลอย่างอื่น เพราะต้องรอ กสทช.ที่คาดว่าจะสามารถตั้งได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน

(มติชนออนไลน์  18 มี.ค. 2551)

18 องค์กรรุกคว่ำร่าง"กสทช."

17 มิถุนายน ที่สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย พันธมิตรสื่อ นักวิชาการ และเครือข่ายภาคประชาชน 18 องค์กร ร่วมแถลงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการวาระแรกเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมานั้น ถือว่าไม่ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 จึงจำเป็นต้องยื่นหนังสือขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ออกมา เพราะเกรงว่าจะพิจารณารวบรัดวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 18 มิถุนายน

นายสุรสิทธิ์ วิทยารัฐ รองประธานสภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนฯ กล่าวว่า ร่างถูกเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง อาทิ 1.ที่มาของ กสทช.แทนที่จะคัดเลือก คัดสรร หรือสรรหา กลับให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง 2.ตัดสิทธิภาคประชาชนที่จะได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ไม่น้อยกว่า 20% ออกไป 3.เปิดช่องให้วิทยุชุมชนเป็นเครื่องมือแสวงหาผลกำไร 4.ให้อภิสิทธิ์กระบวนการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ไม่ต้องฟังคำวินิจฉัยของศาล เพราะหาก กสช.รับจดทะเบียนองค์กรหรือสถาบันใดแล้วศาลพิจารณาภายหลังว่าผิดก็ไม่ต้องรับผลกระทบใดๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การทิ้งทวนสัมปทานคลื่นครั้งใหญ่ ในเช้าวันที่ 18 มิถุนายน จะไปยื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร, ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสิทธิเสรีภาพ และองค์การคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และจะล่ารายชื่อนักวิชาการทั่วประเทศเพื่อเคลื่อนไหวคัดค้านต่อไป

(มติชนออนไลน์  18 มิ.ย. 2551)

“มั่น” ลั่นแก้ กม.คลื่นฮุบ กสช.เพื่อชาติ

17 มิ.ย. นายมั่น พัธโนทัย รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า กระทรวงไอซีทีพร้อมเปิดรับฟังข้อเสนอแนะของนักวิชาการทุกแขนงที่ต้องการให้คำแนะนำการแก้ไข พ.ร.บ.องค์การจัดสรรคลื่นความถี่ฯ รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสช.) ซึ่งจะเป็นองค์กรอิสระเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด

“ไอซีทีพร้อมรับฟังคำแนะนำของทุกฝ่ายในที่ประชุมกรรมาธิการ แต่ก็ต้องชี้แจงให้ทุกฝ่ายเข้าใจเช่นกันว่าที่กระทรวงไอซีทีต้องการคือการทำงานควบคู่ไปกับ กสช. เพื่อให้การขับเคลื่อนธุรกิจวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคมไป ในทิศทางเดียวกัน ส่วนการแต่งตั้งคณะกรรมการ กสช.นั้นได้เอาบทเรียนในอดีตที่ไม่สามารถแต่งตั้งกรรมการ กสช.ได้ หรือตั้งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (กทช.) ก็ใช้เวลาหลายปี ดังนั้น การคัดเลือกจากสมาคมตัวแทนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิน่าจะเป็นผลดีและสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว”

พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยกรณีที่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จะทำหนังสือสอบถาม กทช.เรื่องการโอนคลื่นความถี่ย่าน 1900 ที่ได้รับการจัดสรรร่วมกันว่า กทช.ยังไม่ได้รับหนังสือจากทั้ง 2 หน่วยงาน แต่โดยหลักการแล้วทั้งทีโอทีและ กสท ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ สามารถโอนสิทธิ์ในการบริหารจัดการกันได้อยู่แล้ว

“สิ่งสำคัญที่ทีโอที และ กสท ควรทำคือการตกลงกันเรื่องการซื้อขายหุ้นให้เรียบร้อย โดยเฉพาะรัฐบาลที่เป็นผู้กำกับดูแลทั้งสองหน่วยงานควรจะมีนโยบายที่ชัดเจน ไม่ใช่เตะถ่วงกันเอง ปล่อยให้เอกชนเดินหน้าโครงการโทรศัพท์มือถือ 3 จี ไปก่อน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นทีโอทีและ กสท ก็จะเสียหายเสียโอกาสทางธุรกิจไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็จะประสบปัญหาการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง”

(ไทยรัฐออนไลน์   17 มิ.ย. 2551)

23 มิ.ย. นายมั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารพร้อมตัวแทนฝ่ายกฎหมาย ได้เดินทางไปพบผู้แทนองค์กรสื่อ วิชาการและภาคประชาชน 22 หน่วยงาน ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง  วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ....ซึ่งองค์กรต่างๆ ได้คัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวและยื่นข้อเสนอ 2 ประเด็นหลักคือ 1.ให้ถอนร่างออกจากวาระในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเปิดโอกาสให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าว โดยรับฟังความเห็นอย่างทั่วถึงทุกภาคทั่วประเทศ และมีตัวแทนของฝ่ายต่างๆ เข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการรับฟังความเห็น  2.ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ฯ โดยมีสัดส่วนตัวแทนคณะกรรมการปรับปรุงร่างกฎหมายนอกเหนือจากตัวแทนภาครัฐ ดังนี้ นักวิชาการ   ด้านกฎหมาย  ด้านโทรคมนาคม และด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์  ผู้ประกอบการโทรคมนาคม วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ องค์กรวิชาชีพสื่อที่เกี่ยวข้องทั้งระดับชาติและท้องถิ่น   ผู้แทนสื่อภาคประชาชน และวิทยุชุมชน  ผู้แทนองค์กรผู้บริโภค ทั้งด้านโทรคมนาคมและวิทยุโทรทัศน์ ผู้แทนภาคประชาสังคม  และองค์กรภาคเอกชนที่ติดตามกระบวนการปฏิรูปสื่อ รวมทั้งกลุ่มสื่อ เยาวชน เด็ก ครอบครัว ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส

(กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารฯ 23 มิ.ย. 2551)

รัฐบาลรับเลื่อนพิจารณาร่างพรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ออกไป หลังเครือข่ายคัดค้านฯ ยื่นหนังสือให้แก้ไข

6 ส.ค. เครือข่ายคัดค้านร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ยื่นหนังสือประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวิปฝ่ายค้าน เรียกร้องให้แก้ไขสาระสำคัญของร่างกฎหมายที่บิดเบือนเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ พร้อมส่งมอบสรุปรายงานรับฟังความเห็นประกอบการแก้ไข เตรียมจัดทำร่างฉบับประชาชนเสนอประกบ

เครือข่ายคัดค้านร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.... ประกอบด้วยตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพสื่อวิทยุโทรทัศน์ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น อาทิ นายประกาศิต คำพิมพ์ อุปนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย รวมทั้งนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชน อาทิ ผศ.สุรสิทธ์  วิทยารัฐ สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ได้เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่าน รองประธานสภาฯ คนที่ 2 และนายสาธิต วงศ์หนองเตย ประธานวิปรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่าสาระสำคัญหลายประการได้บิดเบือนไปจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งฉบับ พ.ศ. 2540 และพ.ศ. 2550 พร้อมกับส่งมอบสรุปรายงานการไปจัดเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชนในต่างจังหวัดรวม 4 ภาค เพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขในขั้นกรรมาธิการฯ

โดยสิ่งที่เครือข่ายเรียกร้องคือต้องการให้รัฐบาลถอนการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ออกจากสภาผู้แทนราษฎร  เพราะหลายประเด็นขัดกับเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ

ก่อนหน้านี้ เครือข่ายคัดค้านร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ได้พบปะและเจรจากับดร.มั่น พัทธโนทัย รมต.ไอซีทีเพื่อชี้แจงประเด็นที่เป็นปัญหา ทำให้รมต.ไอซีที ยอมชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ในสมัยประชุมที่แล้ว แต่ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ถอนการพิจารณากฎหมายจากสภาฯ  พร้อมเปิดการรับฟังความเห็นในกทม.หนึ่งครั้ง   เครือข่ายคัดค้านฯ จึงได้ไปดำเนินกระบวนการและจัดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชนในต่างจังหวัดกันเอง รวม 4 ครั้ง  และสรุปสาระสำคัญเพื่อมายื่นหนังสือคัดค้านพร้อมส่งมอบความเห็นต่างๆ ให้กับประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวิปฝ่ายค้าน เพื่อให้ใช้กลไกในสภาฯ ผลักดันให้มีการแก้ไขสาระสำคัญที่เป็นปัญหาต่อไป

ส่วนร่างกฎหมายฉบับประชาชน ขณะนี้อยู่ระหว่างการประมวลข้อมูลในขั้นสุดท้าย คาดว่าจะนำเสนอให้กรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายฯ นี้ ได้ในสัปดาห์หน้า

พันเอกอภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง กล่าวหลังจากรับหนังสือจากเครือข่ายคัดค้านร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ว่า ขณะนี้การดำเนินงานร่างพรบ.องค์กรจัดสรรฯ อยู่ระหว่างการประสานงานกับดร.มั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร โดยจะชะลอการพิจารณากฎหมายดังกล่าวออกไป เพื่อรอผลสรุปจากการทำประชาพิจารณ์ให้เรียบร้อยก่อน พร้อมรับปากจะทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนสูงสุดและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

ทั้งนี้น.ส.สุภิญญา กลางรณงค์ ผู้แทนจากเครือข่ายภาคประชาชนและคณะได้เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ  ด้วยเช่นกัน

รายชื่อ 18 องค์กรเครือข่ายคัดค้านร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ

1. สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย 2. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 3. สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย 4. สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย (วทท.) 5. สมาคมนักบริหารสถานีวิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษา 6. สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษา 7. สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (สสมท.) 8. ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ 9. สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน 10. เครือข่ายสื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว 11. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) 12. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) 13. เครือข่ายวิทยุเด็กและครอบครัว 14. เครือข่ายเพื่อสื่อสาธารณะ 15. เครือข่ายอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชน 16. สมาคมองค์กรสาธารณะประโยชน์เพื่อสังคมไทยเข้มแข็ง 17. ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD) 18. สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

อนุกรรมาธิการวุฒิสภา เสนอตั้ง11กสช.-ตัดสิทธิ์กทช.เดิมชิงตำแหน่ง ร่าง พรบ. กสช

ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ-"กสช." ฉบับคณะอนุกรรมาธิการสมาชิกวุฒิสภามีสาระสำคัญได้เพิ่มกรรมการ กสช.จาก 10 คน เป็น 11 คน โดยเป็นกรรมการผู้มีความเชี่ยวชาญด้านความมั่นคง 1 คน นอกเหนือจากผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วิทยุโทรทัศน์ โทรคมนาคม ด้านละ 2 คน และจากกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค 1 คน มีวาระ 6 ปี อยู่ได้วาระเดียว โดยมี "วุฒิสภา" เป็นผู้คัดเลือก

และแก้ไขให้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่แทนสำนักงาน กสช. ในการเริ่มต้นกระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการสรรหา กสช.ชุดแรก จากเดิมให้สำนักงาน กทช.ทำหน้าที่ และ กทช.ปัจจุบันมีอำนาจหน้าที่จนกว่าจะมี กสช. ให้พิจารณาจัดสรรคลื่นและออกใบอนุญาตได้เฉพาะที่จำเป็นเพื่อไม่ให้เกิด การชะงักงัน

ด้านนายมั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้เร่งเสนอร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. .... (กสช.) เป็นวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว เนื่องจากเป็นกฎหมายที่คุมธุรกิจเป็นแสนล้านบาทจึงต้องดำเนินการให้ดีและ เร็วที่สุด

รายงานข่าว แจ้งว่า กรรมการ กทช. โดยศาสตราจารย์เศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ กรรมการ กทช. และทีมงานได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.เช่นกัน โดย รมต.ไอซีทีได้ยินดีที่จะรับร่างฉบับดังกล่าวไว้พิจารณาด้วย

(ประชาชาติธุรกิจ 9 ต.ค. 2551)

 

สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นเสนอข่าวทักษิณ

สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นเสนอข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร กรณีนายกฯบาฮามาสเสนอให้ลี้ภัยทางการเมืองมาอยู่ที่ประเทศของตน รวมทั้งประเทศโบลิเวีย และแชด-โตกด้วย จำนวน 13 ข่าว และทางด้านพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็นำข่าวเหล่านี้ไปอ้างในการโฟนอินปลุกเร้าม็อบเสื้อแดงเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 ที่สนามกีฬาราชมังครา ฯ

มติชนออนไลน์ได้ดำเนินการตรวจสอบข่าวดังกล่าว  ทำให้ทราบว่าทาง แกรนท์ เพ็ค แห่งสำนักข่าวเอพีประจำประเทศไทย ได้มอบหมายให้ผู้สื่อข่าวประจำภาคพื้นอเมริกา ทั้งในบาฮามาส และ เบอร์มิวดา เดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จ และทำให้ทราบว่าไม่เคยมีข่าวเรื่องที่ทั้ง 2 ประเทศยินดีให้พ.ต.ท.ทักษิณลี้ภัยและจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น และหนังสือพิมพ์"เดอะ ทริบูน" ที่สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นอ้างแหล่งที่มาก็ไม่เคยนำเสนอรายงานข่าวดังกล่าว

(มติชนออนไลน์, 17,18, 20 พ.ย. 51)

สหภาพฯเนชั่นประชุมตั้งบอร์ด

27 ต.ค. สหภาพแรงงานสื่อสารมวลชนไทยได้จัดประชุมใหญ่สามัญครั้งแรก หลังจากกระทรวงแรงงานอนุมัติให้พนักงานบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด จดทะเบียนสหภาพดังกล่าวแล้ว ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ 1.นายเสด็จ บุนนาค บรรณาธิการข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์คมชัดลึก เป็นประธานสหภาพฯ 2.นายผดุงศักดิ์ เหล่ากิจไพศาล รองประธาน 3.น.ส.ปราณี ศรีกำเหนิด เลขานุการ 4.น.ส.จุฬารัตน์ แสงปัสสา ผู้ช่วยเลขานุการ 5.นายไพโรจน์ วาสนโกมุท เหรัญญิก 6.นายชาย ซีโฮ่ ผู้ช่วยเหรัญญิก 7.นายเสถียร กองโส นายทะเบียน มีวาระ 2 ปี

นายเสด็จกล่าวถึงสาเหตุที่จดทะเบียนในชื่อดังกล่าวว่า บริษัทเนชั่นฯมีกิจการในเครือทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ออนไลน์ และโรงพิมพ์ จึงต้องจดทะเบียนในประเภทกิจการงานสำนักข่าว ซึ่งสามารถดูแลพนักงานได้ครอบคลุม ขณะนี้สหภาพมีสมาชิกเพียง 40 คน จะเปิดรับสมาชิกเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้ และว่า ก่อนหน้านี้บริษัทมีคณะกรรมการฝ่ายลูกจ้างทำหน้าที่ดูแลสิทธิและสวัสดิการให้พนักงานทั้งหมด แต่ยังไม่สามารถดูแลสมาชิกได้อย่างเต็มที่ จึงได้หารือกับผู้บริหารบริษัท และตัดสินใจจัดตั้งสหภาพฯดังกล่าว

(มติชนรายวัน  28 ต.ค.  2551)

 

แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปช.) กับ สื่อ

2 ก.ย.- นายสุเมธ สมคะเน อายุ 33 ปี ผู้สื่อข่าวและช่างภาพส่วนกลาง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดินทางเข้าแจ้งความต่อ ร.ต.ท.พรเลิศ รัตนคาม ร้อยเวร สน.ชนะสงคราม ว่า ขณะที่กำลังทำข่าวบริเวณท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นที่ตั้งเวทีเสียงประชาชนของกลุ่ม นปช.ก็ถูกชายฉกรรจ์ในกลุ่ม นปช.ทำร้ายร่างกาย

นายสุเมธ ระบุว่า ก่อนเกิดเหตุตนเห็นชายหนึ่งคนถูก นปช.ลากตัวเข้าไปทำร้ายร่างกายที่ด้านหลังเวที ทราบชื่อภายหลังว่า นายทอง ดาเชิงเขา อายุ 33 ปี ซึ่งเป็นผู้ชุมนุม นปช.ด้วยกัน ตนจึงปีนแผงเหล็กที่กั้นเอาไว้เพื่อถ่ายภาพและทำข่าว แต่ก็ถูกกลุ่ม นปช.เข้ามายืนบังไม่ให้ถ่ายภาพ เมื่อตนถามว่าทำไมมายืนบังแบบนี้ กลุ่ม นปช.ก็ยังไม่ให้ถ่ายภาพจนเกิดการโต้เถียงกัน จากนั้นชายคนที่โต้เถียงกับตนก็ใช้มือผลักที่หน้าอกจนหงายหลังล้มลงมาจากแผงเหล็กหลังกระแทกพื้น เมื่อล้มลงไปแล้วก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมอีกหลายคนพยายามตามเข้ามาทำร้าย

(ผู้จัดการออนไลน์  2 ก.ย. 2551, มติชนออนไลน์   3 ก.ย. 51)

1 พ.ย. ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ หรือ ไทยพีบีเอส นำเสนอข่าวการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปช.) ในงาน “ความจริงวันนี้สัญจร” ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งตอนหนึ่งของการรายงานข่าว ได้ระบุว่า นักการเมืองท้องถิ่นเชียงใหม่ให้ข้อมูลกับทีวีไทย ว่า คนเชียงใหม่ที่ไปชุมนุมได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 500 บาท และค่าอาหารอีกวันละ 200 บาท ส่วนค่าเดินทาง และที่พักผู้ดำเนินรายการจะรับผิดชอบให้ทั้งหมด และกำหนดค่าเบี้ยเลี้ยงให้เป็นเวลา 5 วัน เพื่อจูงใจให้ไปชุมนุม

(ผู้จัดการออนไลน์ 3 พ.ย. 2551)

3 พ.ย. กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 จำนวนร่วม 200 คนมาปิดล้อมและบุกเข้าไปในที่ตั้ง ศูนย์ข่าวภาคเหนือของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส. ที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งข่มขู่ว่าจะตัดน้ำ ตัดไฟ เพื่อไม่ให้ออกอากาศ

ถึงแม้ว่าความไม่พอใจของกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 จะมาจากการเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส. แต่เรื่องนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการชี้แจงข้อเท็จจริงซึ่งสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสย่อมต้องให้เวลาและโอกาสอยู่แล้วเนื่องเพราะเป็นหลักปฏิบัติสากล ที่สื่อทุกแขนงจะต้องเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ถูกพาดพิงชี้แจงอย่างรอบด้านและเป็นธรรม

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ ขอเรียกร้องให้ใช้ช่องทางที่ถูกต้องเหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อลดการเผชิญหน้ากันในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศชาติกำลังเผชิญกับความแตกแยกอย่างรุนแรง ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะกระทำการใดอันจะเป็นการเพิ่มปัญหามากขึ้นไปอีก

(แถลงการณ์ร่วมองค์กรสื่อ 3 พ.ย. 2551)

4 พ.ย.-"ทีวีไทย"ยื่นนายกฯขอคุ้มครอง ระบุถูกคุกคามหลังศูนย์ข่าวที่เชียงใหม่โดนล้อมอีกจนต้องอพยพเจ้าหน้าที่ออก โฆษกรัฐบาลย้อนให้สื่อดูเป็นบทเรียน ด้านปชป.หวั่นเกิดเหตุรุนแรงหลังพระราชพิธี กลาโหมล้างไพ่วิทยุชุมชนใหม่

(มติชนออนไลน์   4 พ.ย. 2551)

กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  กับ สื่อ

16 ก.ย. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้เดินมายังห้องผู้สื่อข่าว เพื่อแจ้งให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแถลงข่าวประจำวันว่า จะให้ผู้สื่อข่าวไปถามคำถามที่เวทีปราศรัยต่อหน้าผู้ชุมนุม แทนที่จะเป็นห้องผู้สื่อข่าวเหมือนปกติ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากสื่อมวลชนถามแกนนำแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมแสดงความไม่พอใจด้วยการโห่ร้องจะทำอย่างไร พล.ต.จำลองตอบว่า คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ที่ผ่านมาตน และนักข่าวก็ถามกระทบกระทั่งกันอยู่แล้ว ถามแล้วตอบ ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เป็นเรื่องปกติ หากผู้สื่อข่าวเกรงว่าจะถูกจับตามองจากการ์ดพันธมิตรฯ ก็เป็นธรรมดา

ภายหลัง พล.ต.จำลองเดินออกจากห้องผู้สื่อข่าวไป ทางสื่อมวลชนได้หารือกันมีข้อสรุปว่า จะทำข่าวเฉพาะเนื้อหาที่แกนนำพันธมิตรฯพูดบนเวทีเท่านั้น แต่จะไม่ขึ้นเวทีเพื่อถาม

จากนั้น พล.ต.จำลองได้กล่าวบนเวทีพันธมิตรฯว่า ได้บอกกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ว่า จะขอ อาสารับบริจาคเงินจากพันธมิตรฯทั่วประเทศ เพื่อนำมาเป็นเงินเดือนของพนักงานเอเอสทีวี หากใครอยากบริจาคเงินให้เอเอสทีวี ขอให้ส่งเงิน เช็ค หรือธนาณัติถึง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ตู้ ป.ณ.100 ราชดำเนิน ที่ผ่านมาก็เคยขอบริจาคเงินในลักษณะนี้ ช่วยเอเอสทีวีมาแล้วครั้งหนึ่ง ได้เงินบริจาคถึง 12.5 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ พล.ต.จำลองและนายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตรฯ ขึ้นเวทีและกล่าวปราศรัยบนเวทีเสร็จ สื่อมวลชนก็เดินทางกลับทันที โดยไม่มีใครซักถาม ระหว่างที่สื่อมวลชนเดินกลับห้องผู้สื่อข่าว บรรดาผู้ชุมนุมรอบๆ เวทีต่างพากันโห่ร้อง และหัวเราะเยาะเย้ย พร้อมกับตะโกนถามว่า ทำไมไม่กล้าถามคำถาม ในขณะที่นายสมศักดิ์ก็ตะโกนไล่หลังมาว่า ทำไมไม่กล้าถามเหมือนตอนอยู่ที่ห้องผู้สื่อข่าวล่ะ

(ไทยรัฐออนไลน์  17 ก.ย. 2551)

26 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 05.30 น. ผู้สื่อข่าวสาวจากเครือเนชั่น ได้ขับรถมาฝั่งสะพานอรทัย เพื่อเข้ารายงานข่าวภายในทำเนียบฯ แต่ถูกรปภ.ของพันธมิตรฯปิดทางเข้า โดยนักข่าวพยายามเจรจาขอให้เปิดเส้นทางเพื่อเข้ามาทำข่าว ซึ่งระหว่างเจรจา กับหัวหน้า รปภ.พันธมิตรฯ ก็มีการ์ดของพันธมิตรฯเดินเข้ามาใช้มือทุบที่ประตูรถหน้าด้านซ้าย นักข่าวสาวจึงลงจากรถไปต่อว่าทำพฤติกรรมเช่นนี้ไม่ได้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์และทำลายทรัพย์สิน ส่วนบุคคล

ทางด้านนายกิตติ สิงหาปัด พิธีกรรายการ 3 มิติ ทางสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 ถูกคนในม็อบโห่และการ์ดพันธมิตรฯเห็นท่าไม่ดีเลยคล้องแขนกันออกไป มีหลายคนพยายามต่อยผ่านวงล้อมของการ์ด ระหว่างที่ไปดูเหตุการณ์กลุ่มม็อบพันธมิตรปิดล้อมสถานีโทรทัศน์ เอ็นบีที

ปฏิบัติการ เป่านกหวีดยึดไทยคู่ฟ้า ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เข้ายึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีเช้าตรู่วันที่ 26 สิงหาคม พร้อมยึดหน่วยงานราชการอีกหลายแห่ง อาทิ ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม

(คมชัดลึก  26 ส.ค. 2551)

นายชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์  ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ แนวหน้า ได้เดินดูบรรยากาศ เพื่อรายงานสถานการณ์โดยรอบทำเนียบรัฐบาล ขณะเดินผ่านบริเวณแยกสวนมิกสกวัน ได้มีชายรูปร่างสูงใหญ่ ผิวดำแดง มีผ้าพันคอสีเหลือง เขียนว่า กู้ชาติ และแขนเสื้อติดคำว่า สรส. หรือ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้เดินเข้ามาต่อว่าด้วยคำหยาบคาย แต่นายชัยรัตน์  ไม่สนใจ และพยายามเดินหนี เข้าหาตำรวจที่ปฎิบัติหน้าที่อยู่บริเวณดังกล่าว แต่กลับชายดังกล่าวไม่ยอมเลิกรา ยังเดินตามหลังมาตลอด และด่าว่าด้วยคำหยาบคายอย่างรุนแรง นายชัยรัตน์  จึงได้หยุดเดิน เพื่อพยามยามสอบถามถึงสาเหตุ และแสดงตัว พร้อมทั้งยืนบัตรประจำตัวสื่อมวลชนให้ชายดังกล่าวดู แต่ยิ่งทำให้ชายดังกล่าวเกิดความฉุนเฉียวรุนแรงมากขึ้น  และทำท่าจะเข้ามาทำร้ายร่างกาย

(หนังสือพิมพ์แนวหน้า  28 ส.ค. 2551)

13 ต.ค. นายสนธิ ลิ้มทองกุล ประกาศบนเวทีพันธมิตรบอยคอตหนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน และมติชนสุดสัปดาห์กล่าวหาว่าบิดเบือนข่าว กรณีหนังสือพิมพ์ดังกล่าวเสนอข่าวบทสัมภาษณ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงร่วมงานประชุมด้านการศึกษาระหว่างสหรัฐ-ไทย ที่รัฐคอนเน็กติกัต สหรัฐอเมริกา “ทรงไม่เชื่อพันธมิตรฯประท้วงเพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นการทำสิ่งต่างๆ เพื่อพวกตัวเอง...”

(ผู้จัดการออนไลน์ 13 ต.ค. 2551 , ข่าวสด  11 ต.ค. 2551)

24 พ.ย. การ์ดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ปิดประตูด้านหน้าอาคารรัฐสภาฝั่งตรงข้ามเขาดิน โดยห้ามผู้สื่อข่าวออกนอกอาคารรัฐสภา และไม่ให้ผู้สื่อข่าวด้านนอกเข้ามาภายในอาคารรัฐสภา ทั้งนี้ มีกลุ่มผู้สื่อข่าวพยายามต่อรองเพื่อขอเข้าออก แต่การ์ดพันธมิตรฯ อ้างว่าได้รับคำสั่งจากผู้ใหญ่ไม่ให้คนในออก คนนอกเข้า จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

(มติชนออนไลน์ 24 พ.ย. พ.ศ. 2551)

26 พ.ย. นายสุทิน วรรณบวร  ผู้สื่อข่าวอาวุโส สำนักข่าวต่างประเทศ ประกาศบนเวทีเคลื่อนที่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ว่า ขอลาออกจากความเป็นนักข่าว โดยขอเข้าร่วมเป็นแนวร่วมพันธมิตรฯ ทั้งนี้ ให้เหตุผลการลาออกครั้งนี้ว่า เพราะไม่พอใจการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน

(ASTVผู้จัดการออนไลน์  26 พ.ย. 2551)

28 พ.ย. พิธีกรบนเวทีทำเนียบรัฐบาล น.ส.อัญชลี ไพรีรัก และนายกิตติชัย ใสสะอาด หัวหน้าทีมรักษาความปลอดภัย (การ์ด) พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เชิญผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีออกจากพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลโดยด่วน โดยให้เวลาเก็บของภายใน 20 นาที โดยกล่าวหาว่าสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีเสนอข่าวบิดเบือน สร้างภาพลบ ใส่ร้ายป้ายสีพันธมิตรฯตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อวานนี้เอาเพลงของแอ๊ด คาราบาว ยังมีประเทศไทย มาตัดต่อใส่ภาพวิดีโอ เรื่องนั้นเรายอมรับไม่ได้

(ASTVผู้จัดการออนไลน์  28 พ.ย. 2551)

30 พ.ย. นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวถึงกรณีรถผู้สื่อข่าวสำนักข่าวทีเอ็นเอ็นถูกลอบยิง และการคุกคามการทำงานของผู้สื่อข่าวว่า กลุ่มพันธมิตรฯ ไม่เคยพกพาอาวุธร้ายแรงในที่ชุมนุมสนามบินสุวรรณภูมิ เพราะมีการคุมเข้มตรวจค้นอาวุธผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมอย่างละเอียด การปฏิบัติภายในพื้นที่ชุมนุมต้องเป็นไปตามมติของแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ อย่างเคร่งครัด ไม่มีการใช้ความรุนแรง แต่ขณะนี้อยู่ในภาวะสงครามคงไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ และบางครั้งอาจเกิดจากความคลั่งแค้นของผู้ชุมนุม คงไม่สามารถรับรองความปลอดภัยของทุกคนได้

เกิดเหตุพันธมิตรฯ ใช้อาวุธปืนยิงรถถ่ายทอดสัญญาณสถานีโทรทัศน์ข่าวทีเอ็นเอ็น ของสถานีเคเบิลทีวี ยูบีซี ทรูวิชชั่น โดยนายภานุมาศ ใจหอก เจ้าหน้าที่อุปกรณ์สัญญาณไมโครเวฟและพนักงานขับรถคันเกิดเหตุ กล่าวว่า ก่อนเกิดเหตุพร้อมเพื่อนร่วมงานอีก 1 คน ขับรถยนต์กระบะติดสติกเกอร์ยูบีซี และโลโก้สำนักข่าวทีเอ็นเอ็น หลังคาติดตั้งจานส่งสัญญาณไมโครเวฟ หลงทางอยู่ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ จึงจอดรถที่จุดตรวจกลุ่มพันธมิตรฯ บริเวณทางขึ้นทางยกระดับเข้าสู่อาคารผู้โดยสาร เพื่อสอบถามทาง ขณะเดียวกันเกิดเสียงระเบิดขึ้น จากนั้นการ์ดพันธมิตรฯ รีบไล่ให้ขึ้นรถเพื่อขับเข้าไปยังอาคารผู้โดยสาร แต่เมื่อมาถึงจุดตรวจที่ 2 ปรากฏว่าเกิดเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด จึงรีบขับรถหนีกระทั่งถึงอาคารผู้โดยสาร เมื่อลงไปตรวจสอบพบรอยกระสุนปืนที่บริเวณ ฝากระบะท้ายรถ มุมประตูท้ายรถ และหลังคารถ โชคดีที่ไม่มีผู้รับบาดเจ็บ

ต่อมานายอมร อมรรัตนานนท์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ มาขอโทษพร้อมแจ้งว่า เป็นการเข้าใจผิดของการ์ดในจุดตรวจที่ 2 เนื่องจากหลังเกิดเสียงระเบิดขึ้นที่จุดตรวจที่ 1 รถยนต์คันดังกล่าววิ่งฝ่ามาด้วยความเร็วคิดว่าเป็นรถของผู้มาโยนระเบิดก่อกวน จึงยิงสวนไปเพื่อสกัดรถ

ด้าน นายณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ที่ถูกผู้ร่วมชุมนุม 2 ราย บังคับให้ถอดเสื้อ "ยุติความรุนแรง" จึงยอมเปลี่ยนเสื้อสีอื่นมาสวมแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แม้แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ จัดพื้นที่เฉพาะให้สื่อมวลชน แต่ยังมีผู้ชุมนุมจำนวนมากเดินตามมามุงดูและถ่ายภาพการทำงานของสื่อมวลชนทั้งหมดตลอดเวลา ทั้งยังมีการ์ดพันธมิตรฯ หลายกลุ่มเข้ามาสอบถามตลอดเวลา กระทั่งนายศรัญยู ที่ยืนคุยกับผู้สื่อข่าวในบริเวณดังกล่าวต้องให้การ์ดประจำตัวไปแจ้งให้ผู้ที่ชุมนุมอยู่แยกย้ายกันไป

นอกจากนี้เมื่อกลางดึกคืนที่ผ่านมา มีผู้สื่อข่าวสตรีสำนักข่าวแห่งหนึ่งถูกกลุ่มผู้ชุมนุมล้อมกรอบข่มขู่ให้ถอดเสื้อขาวปักข้อความ “ยุติความรุนแรง” ออกเช่นกัน และยังมีคนตามประกบพร้อมภ่ายภาพสื่อมวลชนทุกคนที่อยู่ในสนามบินสุวรรณภูมิ เหมือนพยายามสร้างแรงกดดันให้สื่อมวลชนต้องรายงานเฉพาะข่าวด้านดีของการชุมนุมเพียงอย่างเดียว เป็นเหตุให้สื่อมวลชนทั้งหมดต้องคอยดูแลกันเป็นพิเศษ และรวมกลุ่มกันไว้ตลอดเวลา

(มติชนออนไลน์  30 พ.ย. 2551)

1 ธันวาคม ช่างภาพช่อง 3 ถอดสัญลักษณ์ออกจากเสื้อผ้า ช่างภาพช่องสาม ถอดสัญลักษณ์ออกจากเสื้อผ้าและอุปกรณ์อย่างเร่งด่วน หลังผู้ชุมนุมพันธมิตรฯสุวรรณภูมิ ไม่พอใจพิธีกรรายการเรื่องเล่าเช้านี้ได้มีการดำเนินรายการ โดยการเอาข่าวที่มีเนื้อหาโจมตีกลุ่มพันธมิตรฯ มาออกอากาศซึ่งสร้างไม่พอใจให้ผู้ชุมนุมเป็นอย่างมากจน น.ส.อัญชลี ไพรรีรัตน์ แนวร่วมกลุ่มพันธมิตรได้ประกาศบนเวทีปราศรัยที่ทำเนียบรัฐบาลว่า จะดาวกระจายไปปิดล้อมสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

http://www.innnews.co.th/politic.php?nid=145508

1 ธันวาคม 2551

คุกคามสื่อ

9 ม.ค.-คนร้ายเผารถยนต์นายสำเริง คำสนิท อายุ 39 ปี ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชน และหนังสือพิมพ์ข่าวสด ประจำจังหวัดอ่างทอง  เบื้องต้นสาเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นการที่นำเสนอข่าวที่ตรงไปตรงมาในท้องถิ่น โดยเหตุการณ์นี้ถือเป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกนักข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ก็ถูกคนร้ายดักทำร้ายร่างกาย และปากระจกบ้านจนแตก แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่สามารถจับกุมคนร้ายได้ แม้จะมีพยานเห็นคนร้ายก็ตาม

ล่าสุดเหตุการณ์คนร้ายสาดน้ำกรดใส่รถยนต์ของนายเจตนา จนิษฐ ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว หนังสือพิมพ์มติชนได้รับความเสียหาย  เบื้องต้นนายเจตนากล่าวว่าน่าจะมาจากการเขียนคอลัมน์ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงในกระทรวงยุติธรรม และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเชื่อว่าอาจมีผู้ไม่หวังดีก่อเหตุดังกล่าว

12 ก.พ. -รายการวิทยุซึ่งออกอากาศทางคลื่น 105 วิสดอม เรดิโอ ซึ่งเป็นคลื่นในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ พิธีกรรายการได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นถึงกรณี 6 ตุลาคม 2519 สร้างความไม่พอใจให้รัฐมนตรีในรัฐบาลของนายสมัครที่ดูแลด้านสื่ออย่างมาก และขู่ว่าจะโละทิ้งผังรายการทั้งหมดของคลื่นวิทยุวิสดอม ทำให้เจ้าของคลื่นวิทยุวิสดอม ซึ่งได้สัมปทานมาจากกรมประชาสัมพันธ์ ต้องไปพูดคุยกับผู้จัดรายการดังกล่าว ในที่สุดพิธีกรรายการได้ขอถอนตัวเองออกจากการจัดรายการเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เพื่อบรรเทาความเสียหายให้คลื่นวิทยุวิสดอม

กระแสข่าวรัฐบาลแทรกแซงรายการ "มุมมองของเจิมศักดิ์" ของนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ออกอากาศสถานีวิทยุคลื่น 105 เมกกะเฮิรซ์  นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้ออกมายืนยันไม่มีรัฐมนตรี หรือคนของรัฐบาลเข้าไปแทรกแซง หรือส่งสัญญาณทางตรงและทางอ้อม เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่นโยบายรัฐบาล วันนี้ตนจะให้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และเจ้าของสถานีวิสดอมเรดิโอ 105 เมกกะเฮิรซ์ มาแถลงข้อเท็จจริงว่า มันเกิดอะไรขึ้นเพื่อให้ประชาชนรับทราบ

(กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, มติชนออนไลน์  14 ก.พ. 2551)

25 ก.พ. -พ.ต.อ.ระยอง ยังอยู่ ผกก.สน.ห้วยขวาง ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ถึงความคืบหน้าคนร้ายสาดน้ำกรดใส่รถยนต์ยี่ห้อเมอร์เซเดส เบนซ์ รุ่น 190 อี สีดำ ทะเบียน ชท 8502 กทม. ของนายเจตนา จนิษฐ ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว หนังสือพิมพ์มติชน ว่า ได้รายงานเรื่องให้ผู้บังคับบัญชา ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 (บก.น.1) แล้ว เพราะเป็นคดีที่ผู้บังคับบัญชาให้ความสนใจ และกำชับให้ดูแลเป็นพิเศษ โดยขณะนี้ได้ให้ฝ่ายสืบสวน สน.ห้วยขวาง ติดตามหาข่าวเพื่อสืบสวนจับกุมคนร้ายแล้ว

(มติชนออนไลน์  25 ก.พ. 2551)

นายเดี่ยว คงสินธ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และไทยทีวีสีช่อง 3 ประจำจังหวัดสมุทรปราการ ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์สวมชุดดับเพลิงของเทศบาลตำบลบางเมือง อ.เมืองสมุทรปราการ รุมทำร้ายร่างกาย จนได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากไม่พอใจที่เข้าไปทำข่าวและถ่ายภาพอุบัติเหตุรถดับเพลิงของเทศบาลตำบลบางเมือง เฉี่ยวชนกับรถเก๋งภายในซอยหลังร้านอาหารดีดี คาเฟ่ ต.บางเมือง เมื่อบ่ายวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ต่อหน้าตำรวจจราจร และภายหลังได้หลบหนีไป ซึ่งมีภาพวีดีโอบันทึกเหตุการณ์ไว้ได้ โดยในเบื้องต้น นายเดี่ยวได้เข้าแจ้งความที่ สภ.เมืองสมุทรปราการไว้แล้วนั้น

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการทำร้ายร่างกายผู้สื่อข่าวที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต จึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เกิดความกระจ่างและความเป็นธรรมโดยเร็ว

(สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  27 ก.พ. 2551)

10 เม.ย.ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาได้ออกแถลงการณ์ เพื่อแสดงจุดยืนการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนภายหลังจากเกิดเหตุการณ์คุกคาม ข่มขู่ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา    ทั้งนี้ในแถลงการณ์ระบุว่า นับตั้งแต่เกิดบรรยากาศเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในปัจจุบัน สังคมไทยเกิดความขัดแย้ง แบ่งข้างกันอย่างรุนแรง  ส่งผลกระทบต่อทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่สื่อมวลชน ที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำรัฐสภา ล่าสุดได้เกิดกรณีการข่มขู่คุกคามผู้สื่อข่าว ทั้งทางวาจา ทางโทรศัพท์ ตลอดจนมีความพยายามบันทึกภาพผู้สื่อข่าวขณะปฏิบัติหน้าที่ซักถาม ด้วยเหตุที่ตั้งคำถามไม่ถูกใจ รวมถึงการส่งบุคคลติดตาม คุกคาม ตลอดจนกลุ่มมวลชนที่มาสนับสนุนพรรคการเมืองที่แสดงพฤติกรรมข่มขู่  จนทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตและเป็นธรรม เพื่อนำเสนอข่าวทั้งสองด้านอย่างเท่าเทียมกัน

สื่อมวลชนประจำรัฐสภาขอยืนยันว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ได้ตระหนักถึงจรรยาบรรณในวิชาชีพอย่างเคร่งครัด และเปิดโอกาสให้ฝ่ายรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)ได้ใช้เวทีแถลงข่าวประจำรัฐสภา โดยไม่เคยเลือกปฏิบัติ หรือมีอคติในการรับฟังการแถลงข่าวแต่อย่างใด

การตั้งคำถามในประเด็นต่างๆ ถือเป็นการซักถามข้อสงสัยที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงอย่างถูกต้อง รอบด้าน ไม่ให้เกิดความคลุมเครือ ในการเสนอข่าวสารไปสู่ประชาชน ขณะที่ผู้แถลงข่าวมีสิทธิ์ในการตอบคำถามหรือไม่ก็ได้ ถือเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของแต่ละฝ่าย

เพียงแต่สื่อมวลชนมิใคร่อยากเห็นบรรยากาศแห่งความขัดแย้งจากผลของการใช้เวทีแถลงข่าว จนเริ่มมีการข่มขู่คุกคามผู้สื่อข่าวทางวาจาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งซึ่งกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนอย่างมากดังนั้นผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาขอเรียกร้องให้เคารพสิทธิ์ในการทำหน้าที่ซึ่งกันและกัน

(นักข่าวสภา ออกแถลงการณ์ 10 เม . ย. 51)

26 เม.ย. กลุ่มม็อบต้านพันธมิตรปะทะกัน โดยยิงหนังสติ๊กและปาสิ่งของใส่กันนั้น เป็นเหตุให้มีขวดจากมือมืดโดนเข้าที่ใบหน้า นายเสรี อูมา ช่างภาพสถานีโทรทัศน์ กองทัพบก ช่อง 7 จนเลือดไหลอาบ (INN News   26   เมษายน   2551)

26- พ.ค นายสุรยุทธ์ ยงชัยยุทธ นักข่าวมติชน ประจำ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถูกคนร้าย 2 คนดักยิงหน้าบ้านระหว่างจอดรถ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 26 พฤษภาคม 2551 แม้ว่านายสุรยุทธ์ไม่ได้รับอันตราย แต่ทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย  ซึ่งสาเหตุของการลอบทำร้ายดังกล่าวอาจสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ที่นายสุรยุทธ์นำเสนอข่าวที่ไปกระทบต่อกลุ่มผลประโยชน์ทั้งนายทุนและนักการเมืองท้องถิ่น

15 มิ.ย. -กรณีที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ถูกขว้างระเบิดปิงปองเข้าใส่สำนักงานซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านพระอาทิตย์ เลขที่ 98/2-10 ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กทม. จนเกิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหว จำนวน 2 ครั้ง สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์เรื่อง ประณามการขว้างระเบิดใส่สำนักงานหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำที่อุกอาจ มุ่งหวังข่มขู่การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

( www.tja.or.th 16 มิ.ย. 2551)

28 มิ.ย -ASTV ถูกยิงระเบิดเอ็ม 79 พร้อมปืนกลมือใส่ตึกบ้านเจ้าพระยา กระจกสตูดิโอแตกยับ ผู้ประกาศหลบกระสุน รอดหวุดหวิด คาดคนร้ายมาทางเรือ เป้าระเบิดอยู่ที่จานดาวเทียมบนหลังคาตึก แต่ถูกตาข่ายดักที่ชั้น 4 จึงระเบิดขึ้นก่อน กระจกห้องทำงานชั้น 4 แตกเล็กน้อย

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. เวลาประมาณ 03.40 น. เกิดเหตุคนร้ายยิงระเบิดเข้าใส่สำนักงานเอเอสทีวีจากทางแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 2 ลูก แต่ระเบิดถูกตาข่ายกั้นจึงตกลงในแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ได้สร้างความเสียหายแต่อย่างใด หลังจากนั้นได้มีการยิงปืนและประทัดยักษ์ก่อกวนมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการยิงระเบิดและอาวุธปืนเข้าใส่อีกครั้งในวันนี้

(ผู้จัดการออนไลน์ 28 พ.ย. 2551)

23 ก.ค. นางยุวดี ธัญญสิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาล กล่าวถึงกรณีกองงานโฆษกทำเนียบฯ ขอร้องสื่อทำเนียบฯ อย่าสวมเสื้อสกรีนข้อความ"คุกคามสื่อ คุกคามประชาชน"ว่า รู้สึกแปลกใจที่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น โดยไม่รู้เหตุผลของเจ้าหน้าที่เลย เมื่อถาม น้องๆ เพื่อนๆ เขาก็บอกว่า เจ้าหน้าที่ขอร้องมาจริง นักข่าวก็เลยสงสัยว่า ผู้ใหญ่ที่ขอร้องมาเป็นใคร ถ้าติดใจคำว่า"คุกคามสื่อฯ"เราก็อยากให้ทุกฝ่ายมองด้วยใจเป็นกลาง เพราะไม่ได้เป็นการกล่าวหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะขณะนี้สื่อเองก็ทำหน้าที่อยู่ในช่วงบ้านเมืองสับสนวุ่นวาย เปลี่ยนผ่านทางการเมือง การที่สื่อใส่เสื้อสโลแกนอย่างนั้น เขาก็เสี่ยงอยู่แล้ว เพราะหลายครั้งที่ถูกด่าทออย่างไม่เป็นธรรมและถูกกล่าวหาอยู่ตลอด

(แนวหน้าออนไลน์  24 ก.ค. 2551)

1 ส.ค.- นายอภิวัฒน์ ชัยนุรัตน์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชนและสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ถูกคนร้ายบุกยิงเสียชีวิตภายในบ้าน ตำบลชัยมนตรี อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช  เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบปากคำภรรยาผู้ตายแล้ว โดยเบื้องต้นเชื่อว่า มีสาเหตุจาก 2 ประเด็น คือ 1.การลงข่าวข้าราชการระดับสูงมีส่วนพัวพันกับมือปืน และ 2.การทำข่าวทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ ที่ผ่านมานายอภิวัฒน์เคยถูกข่มขู่เอาชีวิต จึงระวังตัวตลอดเวลา

(มติชนออนไลน์ 2 ส.ค. 2551)

นายชาลี บุญสวัสดิ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐประจำ จ.นราธิวาส ที่เพิ่งเสียชีวิตจากเหตุระเบิดครั้งรุนแรงที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส

21 ส.ค. ได้เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำในท้องที่ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ทำให้มีนักข่าวไทยรัฐเสียชีวิตไปอีก 5 คน ประกอบด้วย นายเทพณรงค์ วิริยะกุล บรรณาธิการศูนย์ข่าวไทยรัฐภาคใต้  (อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา) น.ส.สุมลรัตน์ วิริยะกุล ผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำหาดใหญ่ น.ส.สุดใจ จิตตกาญจน์ ผู้สื่อข่าวไทยรัฐ ประจำหาดใหญ่ นายณัฐพันธุ์ แสงแก้ว ผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำ จ.ตรัง และ นายทวนทอง สุขเมือง ผู้สื่อข่าวไทยรัฐ ประจำ จ.ภูเก็ต ส่วนผู้บาดเจ็บ 5 ราย ประกอบด้วย นายบรรณรักษ์ จิระนันทประวัติ  ผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำ จ.พังงา ปราโมทย์ กุลฑลวัชระ ผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำ จ.สงขลา นายเปรมชาญ ไชยทวีวงศ์  ผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำ จ.ตรัง น.ส.กนกวรรณ พรหมทอง จาก จ.พังงา และ นายปอง ศรีชัย คนขับรถ ทั้งหมดถูกส่งไปที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นราธิวาส

(โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา 26 สิงหาคม 2551)

26 ส.ค. กลุ่มชายฉกรรจ์พร้อมด้วยอาวุธที่อ้างตัวว่า เป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้บุกรุกเข้าไปในสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือ NBT ช่วงเช้ามืด โดยบังคับให้พนักงานของสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวยุติการทำหน้าที่และได้ตัดสัญญาณการออกอากาศเพื่อปิดกั้นไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปยังประชาชนโดยให้เหตุผลว่าสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล

จากนั้นสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยร่วมกันออกแถลงการณ์ ถือเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนอย่างรุนแรงและอุกอาจที่สุดครั้งหนึ่งเพราะมีการคุกคาม ข่มขู่และขัดขวางการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

27 ก.ย นายจารึก ลังเจริญ ผู้สื่อข่าวมติชน ประจำจ.สุพรรณบุรี ถูกมือปืนสังหารเสียชีวิต ผู้ว่าฯเผยเสนอข่าวขัดแย้ง"ขรก.-นักการเมืองท้องถิ่น-เอกชน" เคยมาบอกถูกจ้องทำร้าย ยันคดีไม่เป็นมวยล้ม

(มติชนออนไลน์ 28 ก.ย. 2551)

2 ต.ค.- นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หมายเลข 8 ได้ก่อเหตุชกต่อย นายวิศาล ดิลกวณิช ผู้ดำเนินรายการข่าวเที่ยงวันทันเหตุการณ์ ของสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3 ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์ออกรายการ โดยล่าสุด นายวิศาล ได้เดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจทองหล่อแล้ว ซึ่งในขณะนี้ อยู่ระหว่างการให้ปากคำกับตำรวจ ขณะเดียวกัน เมื่อสอบถามไปยัง นายชูวิทย์ คู่กรณี ระบุว่า ในเวลา 15.00 น.จะมีการแถลงข่าวเรื่องราวที่เกิดขึ้นด้วยตนเองที่สวนชูวิทย์

http://www.innnews.co.th/politic.php?nid=135852  (2   ต.ค.  51)

7 ต.ค. นายกิตตินนท์ แก่นสาร ผู้สื่อข่าวจส.100 ได้รับบาดเจ็บสาหัส จากการสลายการชุมนุมของตำรวจ กล่าวเมื่อเวลา 09.00 น. โดยได้รับบาดเจ็บที่หลังด้านขวา เป็นแผลกว้างรักษาอาการอยู่ที่โรงพยาบาลวชิระ ซึ่งตอนนี้มีอาการดีขึ้นและ รู้สึกตัวแล้ว ที่แผ่นหลังมีเป็นรอยไหม้ อย่างไรก็ตาม แพทย์ยังไม่สามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับอาการได้มากนัก เนื่องจากมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

(มติชนออนไลน์  7 ต.ค.  2551)

 

 

คดีความ

ศาลยกฟ้องคอลัมนิสต์ 'มติชน' หมิ่น นักเขียนซีไรท์'วาณิช จรุงกิจอนันต์ '

ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง นายพิเชียร คุระทอง บรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์มติชน, นายสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน และ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร และละเมิด เรียกค่าเสียหาย 30 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในคดีที่นายวาณิช จรุงกิจอนันต์ นักเขียนรางวัลซีไรท์ ยื่นฟ้อง กรณีที่นายพิเชียร เขียนบทความลงใน คอลัมน์ 'ทวนน้ำ ขวางโลก' หน้า 2 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 เรื่อง 'มิตรแท้-มิตรเทียม'  ทำนองว่าโจทก์เป็นมิตรเทียม กินบนเรือน ขี้บนหลังคา และเป็นไส้สึก-หนอนบ่อนไส้

(มติชนออนไลน์  28 ม.ค. 2551)

"หมวดเจี๊ยบ"แจ้งเอาผิด"เว็บผู้จัดการ"เปิดโพสข้อความหมิ่น

14 พ.ค. ร.ท.(หญิง)สุณิสา เลิศภควัต อายุ 33 ปี หรือ “หมวดเจี๊ยบ” เจ้าของพ๊อกเก็ตบุ๊คชื่อดัง “ทักษิณ แวร์อาร์ยู” อยู่บ้านเลขที่ 514/85 แขวงและเขตทุ่งครุ กทม. เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.ไพรินทร์ แจ่มจำรัส พงส.(สบ3) บก.ป. เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ และผู้ที่โพสขอความแสดงความคิดเห็นลงในเว็บไซต์ดังกล่าว ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และหมิ่นประมาท ตามความผิดใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

(หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  14 พ.ค. 2551)

จำคุกสนธิ 3ปีคดีหมิ่นทักษิณ ใช้เงินซื้อปชช.

ศาลอาญาถ.รัชดาภิเษกศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มอบอำนาจให้ นายชาตรี ถริปภัสสโร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายขุนทอง ลอเสรีวานิช บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เป็นจำเลยที่ 1 และ2 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาโดยเมื่อเดือนมีนาคม 2549 นายสนธิได้จัดชุมนุมกลุ่มพันธมิตรและกล่าวคำปราศรัยพาดพิงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้เงินซื้อประชาชนให้รักตัวพ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมทั้งกล่าวหาพ.ต.ท.ทักษิณ หมกหมุ่นเรื่องไสยศาสตร์ พิพากษาสั่งจำคุกสนธิ ลิ้มทองกุล 3 ปีไม่รอลงอาญา คดีหมิ่น ทักษิณ ด้าน สนธิ เตรียมยื่นอุทธรณ์ ยันทำเพื่อชาติ ลั่นไม่กลัวถูกเช็กบิลหากพลังประชาชน เป็นรัฐบาล พร้อมเรียกร้องอดีตนายกฯ กลับมาพิสูจน์ความจริง

(เกาะกระแส "พันธมิตร" 15 ส.ค. 2551)

จำคุก1ปี"ประสงค์"หมิ่นศาลฯวิจารณ์ตัดสิน"ทักษิณ"ไม่ผิดซุกหุ้น

9 ก.ย. ศาลอาญารัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติกับพวก รวม 5 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยการโฆษณาจากกรณีเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2542 จำเลย ร่วมกันลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แนวหน้า และร่วมกันดูหมิ่นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในการตัดสินให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ้นผิดในคดีซุกหุ้น

ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นเวลา 1 ปี ปรับ 7,000 บาท ส่วนโทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปี ศาลอุทธรณ์ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 และ 2 จง ใจเขียนบทความหมิ่นประมาทตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้เสียชื่อเสียงจริง แต่บทความดังกล่าวไม่หยาบคาย และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง ศาลชั้นต้น พิพากษานั้นชอบแล้ว แต่เห็นควรให้เพิ่มการกำหนดโทษรอลงอาญา จาก 1 ปี เป็น 2 ปี คงจำคุกจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นเวลา 1 ปี ปรับ 7,000 บาท ส่วนโทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี

ส่วนตัวเลิกเขียนคอลัมน์ “ ประสงค์พูด” ใน นสพ.แนวหน้า นานแล้ว อีกทั้งขณะนี้ก็พ้นเวลาการลงอาญา 1 ปีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปแล้ว ซึ่งที่ศาลอุทธรณ์สั่งให้เพิ่มเวลาการรอการลงโทษนั้นก็จะเริ่มนับเวลาใหม่อีก 1 ปีตั้งแต่วันศาลที่มีคำพิพากษา ก็คือวันนี้ไปจนครบกำหนด

(แนวหน้าออนไลน์ 9 ก.ย. , ไทยรัฐออนไลน์ 10 ก.ย. 2551)

ศาลให้ประกันตัว 2 น.ศ. ร่วมนักรบศรีวิชัยบุก NBT

9 ก.ย -ศาลอาญามีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ต้องหาที่ 13 และ นายนัสเซอร์ ยีหมะ  ผู้ต้องหาที่ 14 โดยศาลพิเคราะห์แล้ว แม้พฤติการณ์ตามคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน จะเป็นการกระทำที่ร้ายแรงดังที่ได้วินิจฉัยไว้ในคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาที่ 13 และ 14 ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาที่ 13 และ 14 ได้ความว่าขณะนี้ ผู้ต้องหาที่ 13 และ14 เป็นนักศึกษาและมีความจำเป็นต้องกลับไปศึกษาเล่าเรียนต่อโดยสัญญาว่าจะไม่หลบหนีหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น และจะมาตามกำหนดนัดของศาลทุกนัดแล้ว เห็นว่าเพื่อให้โอกาสผู้ต้องหาที่ 13 และ14 ได้มีโอกาสกลับไปศึกษาเล่าเรียนต่อ ประกอบกับทนายผู้ต้องหาระบุในคำร้องว่าผู้ต้องหาที่ 13 และ 14 จะไม่หลบหนีเชื่อว่าหากปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาจะไม่หลบหนีหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่นจึงเห็นควรอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาที่ 13 และ 14 โดยตีราคาประกัน 200,000 บาท ทำสัญญาประกัน ยึดหลักประกัน แจ้งบริษัทประกันภัยทราบ และเห็นควรมีข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ต้องหาที่ 13 และ 14 ไปก่อเหตุอันตรายประการใดในลักษณะเดียวกับคดีนี้อีก มิฉะนั้นศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนสัญญาประกัน

(มติชนออนไลน์   9 ก.ย. 2551)

วีระมอบตัวคดีหมิ่นสถาบัน สส.ใช้ตำแหน่งยื่นประกันตัว

พ.ต.ท.สุเมธ จิตต์พานิชย์ รองผู้กำกับการสืบสวนสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม กล่าววันนี้ (20 ส.ค.) ถึงความคืบหน้า ศาลอาญาอนุมัติออกหมายจับกุมตัว นายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) และพิธีกรรายการ "ความจริงวันนี้" ทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็นบีที ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และองค์รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า หลังจากที่ทางพนักงานสอบสวนได้เสนอคำร้องต่อศาลเพื่อขออนุมัติออกหมายจับนายวีระ มุสิกพงศ์ เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา นายวีระ ผู้ต้องหา ได้เดินทางเข้ามามอบตัวรับทราบข้อกล่าวหากับ พ.ต.อ.รังสรรค์ ประดิษฐผล ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม และทำเรื่องขอยื่นประกันตัวโดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์รายหนึ่งเป็นผู้ใช้ ตำแหน่งประกันขอประกันตัวไปในวงเงิน 200,000 บาท

รองผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม กล่าวต่อว่า ประมาณ 1 สัปดาห์พนักงานสอบสวนจะเรียกนายวีระมาพบเพื่อทำการสอบสวนเพิ่มเติม คาดว่าคดีนี้พนักงานสอบสวนจะสรุปสำนวนส่งฟ้องศาลได้ไม่เกิน 1 เดือน

สำหรับคดีหมิ่นพระราชวงศ์ ของนายวีระ ก่อนหน้านี้  เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2530 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำคุกนายวีระ  ในข้อหาหมิ่นพระราชวงศ์เป็นเวลา 6 ปี ต่อมานายวีระยื่นฎีกา เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2531 ซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษายืนให้จำคุกจำเลย 2 กระทงๆละ 2 ปี รวม 4 ปี ตามกฎหมายผู้ต้องคำพิพากษาจำคุก 2 ปีขึ้นไปต้องถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี นายวีระต้องโทษอยู่ในเรือนจำบุรีรัมย์เป็นเวลา 1 เดือน จนกระทั่งวันที่ 22 กรกฎาคม 2531 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษ

(ไทยรัฐออนไลน์  20 ส.ค. 51)

"ทักษิณ"แจ้งจับ"สนธิ"-เอเอสทีวี

นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล และนายวัชระ แสงประทุม ทีมทนายความของพ.ต.ท.ทักษิณ ชิณวัตร อดีตนายกฯ เข้าแจ้งความกับพ.ต.ท.เอกพล ทวิชวงศ์ไชยกุล พนักงานสอบสวน (สบ.2 )สน.ดุสิต ให้ดำเนินคดีกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และเอเอสทีวี ข้อหาหมิ่นประมาท ด้วยการโฆษณา ด้วยเอกสาร พร้อมเอกสารหนังสือพิมพ์ผู้จัดการฉบับวันที่ 15 ต.ค.51 และแผ่นซีดีถอดเทปการปราศัยของเอเอสทีวี เมื่อวันที่ 14 ต.ค.51

นายวัชระเปิดเผยว่า หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ฉบับวันที่ 15 ต.ค.51 ตีพิมพ์ข้อความหมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณว่าจ้องล้มสถาบันเบื้องสูง กล่าวหาอดีตนายกฯให้เสียหาย ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณเกินจะรับได้ และไม่ควรดึงสถาบันเบื้องสูงมายุ่งกับการเมือง จึงมอบหมายทีมทนายความเข้าแจ้งความพร้อมหลักฐาน

นายวัชระกล่าวว่า ก่อนหน้านี้พ.ต.ท.ทักษิณเคยฟ้องต่อศาลแพ่ง ซึ่งศาลแพ่งมีคำสั่งเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ห้ามนายสนธิพูดถึงพ.ต.ท.ทักษิณให้เสียหาย แต่นายสนธิยังฝ่าฝืนคำสั่งศาล ถือว่าไม่ให้ความเคารพคำสั่งศาล โดยหลังแจ้งความที่สน.ดุสิต ตนจะไปยื่นร้องต่อศาลแพ่งที่มีคำสั่งห้ามนายสนธิกล่าวโจมตีใส่ร้าย พ.ต.ท.ทักษิณต่อไป ส่วนจะเรียกร้องค่าเสียหายเท่าไหร่นั้น จะพิจารณาอีกครั้ง

(ข่าวสดรายวัน 18 ตุลาคม 2551)

21 พ.ย. 2551-จดหมายจากเอเอสทีวี(ประเทศไทย)จำกัด ส่งถึงสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

เนื่องจากบริษัทเมเนเจอร์ มีเดียกรุ๊ปจำกัด (มหาชน) เจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน หนังสื่อพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายเดือน ถูกศาลล้มละลายกลางสั่งส้มละลาย จึงไม่สามารถดำเนินการออกหนังสือพิมพ์ได้ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2551

บัดนี้ทีมงานหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายเดือน ได้เข้าสังกัดบริษัทใหม่คือ บริษัทเอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด ได้จดแจ้งการพิมพ์และได้ออกหนังสือพิมพ์ในชื่อใหม่ ชื่อหัวหนั้งสือว่า นสพ.ASTVผู้จัดการรายวัน, นสพ.ASTVผู้จัดการรายสัปดาห์ และASTVผู้จัดการรายเดือน

บริษัทเอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของหนังสือพิมพ์ทั้ง สามฉบับ มีนายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาทั้งสามฉบับ จึงขอสมัครเป็นสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

 

สื่อออนไลน์

ปิดฉากเว็บไฮ-ทักษิณ

เว็บไฮ-ทักษิณ ประกาศปิดตัวเอง หลังจากที่ได้ นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา โฆษกส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีออกมาแถลงเมื่อวันที่ 26 เมษายนว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ต้องการให้มีการนำชื่อของ ไปกล่าวอ้าง เพื่อเคลื่อนไหวใดๆ ที่มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ทางการเมืองอีกต่อไป เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแล้ว  เว็บไซต์ดังกล่าวดำเนินการมาเป็นเวลานาน 1 ปี กับ 1 เดือน แล้วระบุว่า เข้าใจความต้องการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ต้องการให้มีการนำชื่อของ ไปกล่าวอ้าง เพื่อเคลื่อนไหวใดๆและยินดีที่จะปฏิบัติตามความต้องการเพื่อความสบายใจของ พ.ต.ท.ทักษิณ

เว็บไซต์ไฮ-ทักษิณอ้างว่า ท้ายสุด เว็บไซต์นี้ก็ถูกประทับตราว่าเป็นเว็บไซต์ที่มีเป้าหมายทางการเมือง เป็นเครื่องมือทางการเมือง ของพ.ต.ท.ฯทักษิณ และของพรรคพลังประชาชน ทั้งๆ ที่ ไม่เคยได้รับการสนับสนุนใดๆ จากนายกฯทักษิณ และ พรรคพลังประชาชน

(มติชนออนไลน์  28 เม.ย. 2551)

 

ยลโฉม'29 เว็บไซต์' สุ่มเสี่ยง!

นายเทพไท เสนพงศ์' ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า เป็นเว็บไซต์อันตราย ที่ส่อเค้าหมิ่นเบื้องสูง พร้อมทั้งจี้ให้ 'รัฐบาล' และ 'เจ้ากระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ' ออกมาแสดงความรับผิดชอบ โดยทั้ง 29 เว็บไซต์ดังกล่าว 1.http://www.youtube.com/StopleseMajeste มีเนื้อหาที่กล่าวถึงสถาบันเป็นภาษาอังกฤษ มีคลิปวิดีโอและรูปภาพที่มีการตัดต่อที่ไม่เหมาะสม,  2.www.2519me.com เว็บไซต์ของ "คนเดือนตุลา" ภาคเหนือตอนบน มีเนื้อหาการปลุกระดมมวลชนให้สร้างเครือข่ายคอมมิวนิสต์ทำลายสถาบัน ภายใต้ชื่อ "สำนักคิดไทยใหม่" (ส.ค.ม.) , 3.http://hello-siam.blogspot.com บล็อคส่วนตัวบนโลกไซเบอร์ ของ "เจ้าน้อย ณ สยาม" ที่เปิดให้คนที่อยากโชว์วิทยายุทธ์การเขียนทุกรูปแบบ, 4.http://rukchard.blogspot.com บล็อคที่เขียนถึงระบบศักดินาไทย, http://chakridynasty.googlepages.com เว็บไซต์ที่จดทะเบียนโดเมนในสหรัฐอเมริกา มีทั้งภาคภาษาอังกฤษและภาษาไทยพูดถึงการบริหารแผ่นดินของราชวงศ์ไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน,  5.http://www.midnightuniv.org/ (เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน), 6.http://www.serichon.com/ (เว็บไซต์เสรีชน), 7.http://www.prachatai.com/05/th/home/ (เว็บไซต์ประชาไท)

8.http://www.sapaprachachon.blogspot.com/ เว็บไซต์สภาประชาชน ที่ยืนยันว่าเป็นเว็บไซต์ของประชาชน ไม่ได้ถูกจัดตั้งจากพรรคการเมืองใด ก่อนหน้านี้ เคยลงเนื้อหาที่มีลักษณะต่อต้านเผด็จการ,  9.http://s125.photobucket.com/albums/p73/nicolejung99/? เว็บไซต์ที่รวบรวม "ภาพการ์ตูนการเมือง" ที่เนื้อหาบางส่วนโจมตีผู้ใหญ่ในบ้านเมือง

เว็บไซต์ที่เหลือ ได้แก่  10.http://www.weloveudon.net/ (เว็บไซต์กลุ่มคนรักอุดร) http://www.tlt-global.com/web/ (เว็บไซต์ไทยรักประเทศไทย ในสหรัฐอเมริกา),  11.http://www.secondclass111.com/index.php?option=com_frontpage&Itemid=1 (เว็บไซต์บ้านเลขที่ 111 คนถูกตัดสิทธิ แต่มีสิทธิห่วงใหญ่บ้านเมือง) และ 12.http://thai-journalist-democratic-front.com/ (ทวงคืนรัฐธรรมนูญ 2540),13.http://www.sameskybooks.org/, 14. http://www.newskythailand.com , 15.http://www.chupong.net/ , 16.http://www.sapaprachachon.blogspot.com/ , 17.http://www.pcc-thai.com/web2/ , 18.http://www.datopido.newsit.es/ , 19. http://thai-journalist-democratic-front.com , 20.http://www.Sapaprachachon.org/index.thml , 21.http://www.mvnews.net/home.php , 22.http://www.cptradio.com/ , 23.http://www.thaipeoplevoice.org/ , 24.http://www.nationsiam.com/frontpage/Itemid,1/, 25.http://www.arayachon.org/ , 26.http://www.siamreview.net/ , 27.http://www.warotah.blogspot.com/ , 28.http://www.killerpress.wordpress.com/ และ, 29.http://www.gunner2007.wordpress.com/

(หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน 21 พ.ค.  2551)

ตำรวจฟันธง พ.ร.บ.คอมฯไม่ช่วยทำอาชญากรรมออนไลน์ลดลง

พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา  ผู้กำกับการศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี  (ศตท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า  5 อันดับแรกของการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์มากที่สุดคือ 1.การหมิ่นประมาททางออนไลน์  2.การพนันออนไลน์   และเว็บไซต์ลามกอนาจาร 3.การฉ้อโกงออนไลน์ 4.การทุจริตในการทำธุรกรรมทางการเงิน  5.การเจาะระบบและการโจมตีคอมพิวเตอร์ ซึ่งจากที่กล่าวมาข้างต้นมีอัตราสูงเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว  เช่น จากปี  2548 มีอัตราการกระทำความผิด 200 คดี ปี 2549 มี 400 คดี เป็นต้น

ทั้งนี้ ในวันที่ 24 ส.ค.2551 นี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จะมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายหลังจากที่ผ่อนผันระยะเวลาให้ 1 ปี แต่ก็เชื่อว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวจะบังคับใช้อย่างจริงจัง แต่ตนเชื่อว่าอัตราการกระทำความผิดจะไม่ลดน้อยลง   เนื่องจากมีปัจจัยจากสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง กฎหมายที่ออกมาไม่ทันเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยมากขึ้น  สิ่งเหล่านี้จึงเป็นตัวแปรสำคัญทำให้มีคนหันมากระทำความผิดกันมากขึ้น

(MailScanner has detected a possible fraud attempt from "www.thaipost.net" claiming to be ww.thaipost.net 23 ก.ค. 2551)

ไอซีทีลุยปิดเว็บหมิ่นสถาบันกว่า 2 พันเว็บไซต์

ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าววานนี้ (5 ม.ค. 2552) ว่า ขณะนี้กระทรวงไอซีทีได้ปิดเว็บไซต์หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ไปแล้วกว่า 2,000 เว็บไซต์ และยังประกาศเดินหน้าปราบปรามอย่างเข้มข้นกว่าเดิม เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ว่า จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยหลังจากนี้จะเพิ่มอำนาจให้แก่เจ้าหน้าที่กระทรวงไอซีที ด้วยการผลักดันกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว เพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รับบทลงโทษจำคุก นอกเหนือจากการปรับและปิดเว็บไซต์ ขณะเดียวกันจะเร่งสร้างจิตสำนึกแก่เยาวชนไทยให้รู้ว่า การหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสมและผิดกฎหมาย

ร.ต.หญิงระนองรักษ์ กล่าวอีกว่า เตรียมเดินสายตรวจเยี่ยมหน่วยงานในสังกัด ส่วนปัญหาที่รัฐวิสาหกิจหลายแห่งมีผลประกอบการลดลง ส่งผลต่อรายได้เข้ารัฐน้อยลงนั้น จะเรียกดูข้อมูลว่าผลประกอบการส่วนใดที่ลดลง และจะเร่งแก้ไขเพื่อเพิ่มรายได้ ขณะที่คณะกรรมการแต่ละรัฐวิสาหกิจ ขณะนี้ยังให้ดำเนินงานไปตามปกติ

(ไทยรัฐออนไลน์  6 ม.ค. 2552)

เว็บหมิ่นเบื้องสูงมีนับหมื่น ปิดได้แค่2พัน

ศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2552 ให้จำคุกนายแฮรี่ นิโคลายส์ อายุ 41 ปี ชาวออสเตรเลีย อดีตนักข่าวและคอลัมนิสต์ จำเลยในคดีหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และรัชทายาท เป็นเวลา 6 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ สมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 3 ปี แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่เป็นผู้แต่งและประพันธ์หนังสือ ซึ่งมีข้อความหมิ่นประมาท และดูหมิ่นพระมหากษัตริย์และรัชทายาท มีการนำไปเผยแพร่จนทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ อันเป็นพฤติการณ์ที่มีความผิดร้ายแรง จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

ข่าวแจ้งว่า นายแฮรี่ เคยเป็นนักข่าวและคอลัมนิสต์ มีงานเขียนในด้านการท่องเที่ยว เข้ามาทำงานในประเทศไทย เมื่อปี 2546 โดยเป็นผู้บรรยายวิชาจิตวิทยาสังคม ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากนั้นได้ย้ายไปที่เป็นผู้บรรยายวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โดยนายแฮรี่ ถูกจับกุมเมื่อเดือนกันยายน 2551 ขณะจะเดินทางออกนอกประเทศ และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ขณะนี้มีเว็บไซต์เข้าข่ายหมิ่นสถาบันเบื้องสูงเกือบ 10,000 เว็บไซต์ แต่กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที) สามารถปิดได้เพียง 2,000 เว็บไซต์ โดยกลุ่มผู้กระทำผิด มีทั้งคนหลงผิด เข้าใจผิด สติไม่ดี เจตนาไม่ดี และได้รับอามิสสินจ้างทำงานเป็นเครือข่าย

(มติชนรายวัน 20 ม.ค. 2552)

ท้ายสุดนี้ศูนย์ข้อมูลสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ต้องขอขอบคุณเว็บไซด์จากหน่วยงานด้านสื่อที่ประเภทที่เผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆเหล่านี้ ทำให้สามารถรวบรวมข้อมูลอย่างกว้างขวางได้สะดวกมากขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อย หากมีข้อผิดพลาดประการใดผู้จัดทำต้องขออภัยไว้ โอกาสนี้ด้วย