คำชี้แจงและประกาศผลการตัดสินรางวัลพิราบน้อย ปี 2554

ผลการประกวดรางวัลพิราบน้อย และรางวัลริต้า ปาติยะเสวี

“หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษา” ประจำปี 2554

ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการจัดประกวดหนังสือพิมพ์ฝึกปฎิบัติ ข่าวหนังสือพิมพ์ฝึกปฎิบัติ  และข่าวสิ่งแวดล้อมดีเด่น ในสถาบันอุดมศึกษารางวัล “พิราบน้อย” และประกวดสารคดีเชิงข่าว “รางวัลริต้า ปาติยะเสวี” เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการจัดทำหนังสือพิมพ์และการทำข่าวของนิสิตนักศึกษาวิชานิเทศศาสตร์และวารสารศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ โดยจะมีการประกาศเกียรติคุณและมอบรางวัล “พิราบน้อย” และรางวัล “ริต้า ปาติยเสวี” เป็นประจำทุกปี การตัดสินรางวัลพิราบน้อยประจำปี 2554 ปรากฎผล ดังนี้

รางวัลพิราบน้อย ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนการจัดประกวดและเงินรางวัลโดย  บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในปีนี้มีผลงานหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติส่งเข้าประกวดจำนวน 15 ฉบับ จาก 15 มหาวิทยาลัย  ผลงานหนังสือพิมพ์ที่ได้รับรางวัลดีเด่น ได้แก่  หนังสือพิมพ์อ่างแก้ว ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลเงินสด 20,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ  รางวัลชมเชยอีก 2 รางวัล ได้แก่หนังสือพิมพ์หอข่าว ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และหนังสือพิมพ์ลานมะพร้าว ของมหาวิทยาลัยบูรพา ได้รับรางวัลเงินสด รางวัลละ 10,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ

รางวัลพิราบน้อยประเภทข่าวฝึกปฏิบัติดีเด่น ในปีนี้มีผลงานข่าวส่งเข้าประกวดจำนวน 24 ข่าว จาก 13 มหาวิทยาลัย ผลงานข่าวที่ได้รับรางวัลดีเด่นได้แก่ ข่าวผุดเว็บผลิตเอเยนต์หวยใต้ดิน หวังดึงวัยโจ๋สร้างเครือข่าย    โดยหนังสือพิมพ์หอข่าว จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้รับรางวัลเงินสด 15,000 บาท  พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ  รางวัลชมเชยอีก 2 รางวัล  ได้แก่  ข่าวแฉขบวนการขโมยข้อมูลส่วนตัว หลอกเผยประวัติเร่ขายรายชื่อโดยหนังสือพิมพ์หอข่าว จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ข่าวป.ตรี 8 พันป.โท 3 หมื่น แฉ มช.รับจ้างทำตัวจบอี้อ โดยหนังสือพิมพ์อ่างแก้ว จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลเงินสด รางวัลละ 7,500 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ

รางวัลริต้า ปาติยะเสวี ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นรางวัลที่จัดประกวดเพื่อรำลึกถึงนางสาวริต้า ปาติยะเสวี อดีตนักหนังสือพิมพ์ผู้ล่วงลับ  มอบให้สำหรับสารคดีเชิงข่าวฝึกปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษา ในปีนี้มีผลงานสารคดีเชิงข่าวส่งเข้าประกวดจำนวน 22  ชิ้น จาก 10 มหาวิทยาลัย ในปี 2554 คณะกรรมการตัดสินรางวัล ได้เพิ่มรางวัลให้จากเดิมที่มีเพียงรางวัลดีเด่นเพียงรางวัลเดียว เป็นรางวัลชมเชยอีก 2 รางวัล  ผลงานสารคดีเชิงข่าวที่ได้รับรางวัลดีเด่นได้แก่   สารคดีเชิงข่าว “คนลาวไร้รัฐ”  โดย หนังสือพิมพ์สื่อมวลชน  จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับรางวัลเงินสด 5,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ รางวัลชมเชยอีก 2 รางวัล  ได้แก่ สารคดีเชิงข่าว “Bikexenger อาชีพพิทักษ์โลก”  โดย หนังสือพิมพ์บัณฑิตย์โพสต์  จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และสารคดีเชิงข่าว “ชาวบ้านอ.บ้านค่าย รวมกลุ่มต้านโครงการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี”  โดย หนังสือพิมพ์ลานมะพร้าว  จากมหาวิทยาลัยบูรพา ได้รับใบประกาศเกียรติคุณ

รางวัลข่าวสิ่งแวดล้อมในสถาบันอุดมศึกษาดีเด่น มีผลงานข่าวส่งเข้าประกวดจำนวน 13 ข่าว จาก 7  มหาวิทยาลัย ปีนี้ไม่มีผลงานใดได้รับรางวัลดีเด่น แต่มีรางวัลชมเชย 1 รางวัล ผลงานข่าวสิ่งแวดล้อมที่ได้รับรางวัลชมเชย ได้แก่ ข่าว “คดีฟ้องโรงงานน้ำตาลวังขนายคดีเงียบ5ปีชาวบ้านโวยแต่โรงงานยังเดินเครื่องฉลุย” หนังสือพิมพ์อินทนิล  จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับรางวัลเงินสด 5,000 บาท  พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ

โดยจะมีพิธีมอบรางวัลผลการประกวดดังกล่าวในวันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม 2555 ณ ห้องอิศรา อมันตกุล ชั้น 3  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยในช่วงเช้าก่อนพิธีมอบรางวัลจะมีการประชุมชี้แจงผลการตัดสินดังกล่าว จึงขอเชิญชวนสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนทางด้านนิเทศศาสตร์เข้าร่วมฟังประชุมชี้แจงดังกล่าวตั้งแต่เวลา 09.00  น. เป็นต้นไป รายละเอียดโทร. 02-668-9422

/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

 

วิพากษ์งานหนังสือพิมพ์พิราบน้อยประจำปี 2554

มหาวิทยาลัยต่างๆได้ส่งหนังสือพิมพ์ส่งเข้าประกวดประจำปี 2554 มีจำนวน 15 ฉบับ คณะกรรมการตัดสินได้พิจารณาด้วยความรอบคอบ โดยใช้หลักเกณฑ์ดูเนื้อหาสาระ บทความ รายงาน ส่องลงไปดูความหลากหลายของสาระ ภาพรวม การใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ความถูกต้อง เหมาะสม การจัดวางเนื้อหา หลักการบรรณาธิกรณ์ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ภายใต้นำหลักวิชาการมาประยุกต์ใช้ ที่ทิ้งไม่ได้ต้องดูแนวคิดรูปเล่ม มีแนวคิดหลัก มีเอกลักษณ์ มีรูปเล่มเพื่อการสื่อสารดึงดูดผู้อ่านแค่ไหน ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ออกแบบรูปเล่มเป็นอย่างไร ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้กรอบกติกาห่อหุ้มด้วยจริยธรรมและจรรยาบรรณ รับผิดชอบต่อหน้าที่ สังคม เพื่อแสดงถึงความพร้อมเตรียมบินเข้าสู่โลกวิชาชีพ บนเป้าหมาย และบรรลุวัตถุประสงค์ทางการศึกษา ตอบสนองความต้องการของนักศึกษาเอง

ภาพรวมหนังสือพิมพ์พิราบน้อยหลายฉบับเข้าขั้นมืออาชีพ หลายฉบับไล่จี้ตามมาติด และมีอีกหลายฉบับต้องปรับปรุงคุณภาพรูปเล่ม เนื้อหาสาระ น้องๆอย่าได้ตกใจหรือเสียกำลังใจ เพราะหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆที่วางจำหน่ายอยู่ทั่วประเทศ ทางกองบรรณาธิการ นักข่าว ได้ปรับปรุงและพัฒนากองบรรณาธิการ ตัวนักข่าวทุกวันไม่มากก็น้อย แม้ผู้อ่านจะมองไม่เห็นถึงสิ่งที่ได้พัฒนาหรือปรับปรุงไป แต่กองบรรณาธิการ นักข่าวจะรู้ดีว่าโลกแห่งเทคโนโลยีพัฒนาทุกเสี้ยววินาที กองบรรณาธิการ นักข่าวคนไหนหยุดพัฒนาและปรับปรุงตัวเอง หยุดสังเกต หยุดซักถาม หยุดสงสัย หนังสือพิมพ์ฉบับนั้น นักข่าวคนนั้นก็จะต้องแห้งเหี่ยวอับเฉาตายไปในโลกแห่งวิชาชีพ

การวิพากษ์งานของพิราบน้อยของคณะกรรมการตัดสินรางวัลพิราบน้อยก็เช่นเดียวกัน ต้องการให้พิราบน้อยได้นำข้อคิดไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนา เพราะกรรมการแต่ละท่านได้ใช้ประสบการณ์ทางวิชาชีพ ผสมผสานประสบการณ์ทางวิชาการด้วยการค่อยๆพิจารณาจุดเด่น จุดด้อยของแต่ละฉบับ โดยเมื่อได้พิจารณาและอภิปรายกันแล้ว จะเสนอแนะในภาพรวม หนังสือพิมพ์หลายฉบับมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นโทนสี แบบตัวอักษร การนำเสนอข่าว ตัวย่อในการเขียนข่าว เป็นต้น แต่ต้องปรับในเรื่องการใช้คำภาษาอังกฤษประกอบการพาดหัว เขียนข่าว ข่าวหลายชิ้นใช้ไทยคำอังกฤษคำ หากหลีกเลี่ยงได้ ให้ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก เช่น facebook เป็น เฟซบุ๊ก แต่หากเป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษใหม่อาจเขียนเป็นภาษาไทยและวงเล็บภาษาอังกฤษต่อท้ายก็ได้ การเขียนตัวเลขต้องเลือกให้เป็นเอกลักษณ์ไปเลยใช้เลขไทยหรือเลขอารบิก ไม่ใช่ทั้งฉบับมีตัวเลขไทย อารบิกสลับกัน ภาพก็พบว่ามีปัญหากันเยอะมาก การบรรยายใต้ภาพสำคัญมาก ภาพประกอบข่าวต้องมีเนื้อในข่าวด้วย การใช้กราฟฟิกมีหลายฉบับที่โดดเด่น หลายฉบับยังขาด ข่าวบางข่าวนอกจากมีภาพจริงแล้ว โดยเฉพาะเหตุการณ์ใหญ่ เช่น ถูกวางระเบิด ก็นิยมใช้ภาพกราฟฟิกประกอบ จะช่วยดึงดูดผู้อ่านได้อีกด้วย

ที่สำคัญขาดไม่ได้นักข่าวมืออาชีพต้องแยกการเขียนข่าวออกจากความคิดเห็น การแยกความคิดเห็นออกจากข่าวต้องชัดเจน มีผลต่อความสมดุลของข่าวนั้นเป็นอย่างมาก และหลักการพาดหัว เขียนโปรย ประเด็นต้องมีในเนื้อข่าวด้วย

1.หอข่าว

เอกลักษณ์หนังสือพิมพ์มีเนื้อหาแสดงตัวตนของคนเมืองหลวง แม้การเดินข่าวยังไม่มีเอกลักษณ์เด่นชัด เฉพาะการพาดหัวข่าว โปรยข่าว เนื้อข่าว หัวยักษ์มีเฉพาะหัวข่าว โปรยข่าว หัวข่าวรองมีหัวข่าว โปรยข่าว เนื้อข่าวนำเสนอบนหน้า 1 ด้วย ขณะที่หัวข่าวตัวเล็กไปหน่อย ลดความดึงดูดลงไป ข่าวพาดหัวส่วนใหญ่ได้ประเด็นจากแหล่งโลกออนไลน์ เกือบทุกข่าวขึ้นต้นด้วยผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหมือนนักข่าวไปเปิดทุกเรื่อง บางเรื่องสามารถเปิดโดยใช้การเผชิญเหตุหรือให้แหล่งข่าวเปิดสลับบ้าง มันดูเฝือไปเหมือนกัน เป็นอีกฉบับที่ใช้ภาพกราฟฟิกมาประกอบข่าว แต่กราฟฟิกหน้า 1 ดูเวอร์ไปหรือเปล่า มันใหญ่มาก ข่าวหัวขุดแก๊งค้าข้อมูล พลิกอ่านเนื้อในไม่พบเนื้อหาตรงไหนขุดถึงแก๊งนี้

เปิดอ่านหน้าในพบว่าหน้า 2 “ขอที่ว่างแด่เด็กพิเศษ” เนื้อหาชวนอ่าน แต่สกรีนลายไม่น่าอ่าน     อ่านยาก คอลัมน์รุกฆาต พูดถึงรถโดยสารตู้ แต่มีการพูดถึงผู้โดยสารตีตั๋วยืน รถตู้คันไหนยืนได้บ้าง น่าจะเขียนผิด รูปภาพประกอบเป็นตึก แต่ไม่ได้บ่งบอกอะไรมากมาย หน้า 4 ข่าวคำหยาบ เปิดเผยชื่อจริงเด็กม. 2  หน้า 5 รูปขยะเน่าปรับไปอยู่หน้า 1 พื้นที่น่าจะพอขยับกราฟฟิกสกู๊ปลงมาอีกหน่อย หน้า 7 รูปเว็บไซต์อบรมเจ้ามือหวยดูเล็กมาก น่าจะปรับใหม่ใหญ่ชัดเจน หน้า 11 มีคำผิด “เซ็กซ์” หน้า 12 คอลัมน์ “หลิวนักเลงคุมซอย”ขายได้ แต่จัดหน้าไม่ดึงดูด หากจัดเหมือนหน้ากลางจะดูดีทีเดียว และอยู่ดี รูป “ฮ้องเรียน”โผล่ขึ้นมา ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อข่าวในหน้าตรงไหน หน้ากลาง “เยาวชนจันทร์เสี้ยว” การเขียนถึงเรื่อง “ฮิญาบ” เกี่ยวกับศาสนาที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องระวังพอกับเรื่องสถาบัน

2.กำแพงแดง

รูปแบบการจัดหน้าอัดแน่นมากบนหน้าปก ภาษาพาดหัวข่าวยาวเกินไป  โปรยข่าวไม่ย่อหน้าก่อน ตัวอักษรโปรยข่าวตัวใหญ่เกือบเท่าตัวอักษรพาดหัวข่าว ดูเรียบร้อยแต่ไม่โดดเด่น  ไปลดคุณค่าพาดหัวข่าวลงไป บรรยายใต้ภาพหน้า 1 เขียนลากยาวเกินไปเสมือนเป็นข่าวอีก 1 ข่าว ข่าวต่างๆภาพรวม เขียนยาวพรืดไม่ชวนอ่าน บางข่าวเขียนโดยไม่มีย่อหน้า

หากปรับปรุงหน้า 1 โดยพาดหัวให้กระชับ โปรยข่าวชัดเจน บรรยายใต้ภาพกระชับ จะดึงดูดให้น่าอ่าน ช่วยขับประเด็นข่าวที่ดีให้กลุ่มเป้าหมายสนใจ เช่นข่าว กองทุน 30 ล้านสั่นสะเทือน ข่าวนี้ประเด็นดีมาก แต่ขาดการนำเสนอที่ดี ภาพประกอบข่าวหน้าต่างๆ เช่น หน้า 2 มีแหล่งข่าวมองต่างมุมในประเด็นเดียวกันถ้าทำมุมภาพหรือใช้มาประกบคู่หันหน้าชนกันจะทำให้ชวนอ่านมากขึ้น ที่ทำอยู่ก็ไม่ผิดอะไร แต่ไม่น่าสนใจ

3.jri news feed

เข้าข่ายรูปแบบเป็นจดหมายข่าวมากกว่าหนังสือพิมพ์  รูปแบบเป็นฉบับที่ใช้ไทยคำอังกฤษคำชัดเจน เช่น หากพูดถึงเฟซบุ๊กต้องใช้คำนี้แทนภาษาอังกฤษ เขียนติดกันไม่มีเว้นวรรค ทำให้ความหมายผิดเพี้ยนไป ศัพท์อังกฤษที่เขียนเป็นคำไทยต้องสะกดให้ถูกต้อง เช่น “แอพพลิเคชั่น”

4.ร่มเสลา

เอกลักษณ์ของฉบับหาไม่พบ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบตัวอักษร โทนสีของฉบับหัวข่าวหัวยักษ์หาไม่เจอ เพราะตัวพาดหัวยักษ์มีขนาดใหญ่กว่าพาดหัวข่าวรองไม่มาก และข่าวหัวยักษ์ใช้ตัวย่อพาดหัว 1 แถว ไม่ทราบว่าหมายถึงอะไร น่าจะใช้คำว่าตร.พิษณุโลก ตร.เมืองสองแคว แทน “ผบก.ภ.จว.พล. หรือข่าว สั่งอ.เสี่ยงภัยเตรียมรับมือภัยแล้งพิดโลก คำว่า “พิดโลก”ไม่เหมาะนำมาใช้ และหัวข่าวนี้ไม่จำเป็นต้องใช้คำนี้ด้วย เพราะในโปรยข่าวมีตัวบ่งชี้จากกผวจ.พิษณุโลกว่าต้องรับมือภัยแล้งในจังหวัดพิษณุโลก ภาพประกอบหน้า 1 ไม่จำเป็นต้องมีรายละเอียดภาพว่าใครเข้าประชุมบ้างจนไม่เห็นหน้าผวจ.พิษณุโลก

พลิกไปดูหน้าในจัดหน้าแบบเป็นพรืดไปหมด หน้า 3 เขียนโดยไม่มีเว้นวรรค ความหมายเปลี่ยน พบเลขไทยเลขอารบิกสลับกันอีกแล้ว หน้า 4ก็พบการใช้ตัวเลขไทยสลับตัวเลขอารบิก คอลัมน์แรกเกี่ยวกับโครงการภาพยนตร์รักพิษณุโลก บรรทัดที่ 3 จากท้ายคอลัมน์ บันทุกประวัติศาสตร์ตกสระอึไปใส่สระอุแทน คอลัมน์สื่อออนไลน์  เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ เขียนผิด หน้า 6 ข่าว สองคอลัมน์ติดกัน  การเดินเนื้อหาแหล่งข่าวสลับไปมาโดยนายก.ขึ้น ตามด้วยนายข. ตามด้วยนายก.อีก คนอ่านจะงงและไม่สวยงาม หน้า 7 วางรูปไม่เต็มคอลัมน์ทั้ง 2 ภาพ เรื่องธรรมกำลังใจเว้นวรรคจนอ่านกระโดด ต่อจากหน้า 8 ที่เป็นโฆษณาของอธิการบดีมหาวิทยานเรศวร ชื่อตำแหน่งอธิบการบดีเขียนผิด “ศ.ดร.สุจินต์ จินายน” “ผศ.ดร” ที่ลงโฆษณานะ สรุปเป็นอะไรกันแน่ โฆษณาหน้าถัดไป “รศ.ดร.สุจินดา เจียมศรีพงษ์” คณบดีคณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ เป็นชื่อที่เขียนถูก แต่ข่าวที่ลงเป็นชื่อ “รศ.ดร.สุจิน” หน้า 13 หน้าพยากรณ์ปล่อยให้พื้นที่เยอะมากและยังมีพื้นที่ว่างเปล่าอีก กลับไปหน้า 9 หน้าพยากรณ์ช่วง “16 ธ.ค.-16 ม.ค. 2555” ต้องใส่พ.ศ.หลัง 16 ธ.ค. 2554 ด้วย

5. ณ เกษม

ฉบับนี้ไร้เอกลักษณ์ ไร้จุดเด่น จัดหน้าเป็นแท่ง โทนสีม่วง น้ำตาลไปด้วยกันไม่ได้ ไม่สมดุล แบบตัวอักษร “Tahoma”อ่านยาก แนะเปลี่ยนแบบตัวอักษรดีกว่า  ภาพหน้า 1 เยอะมาก ข่าวพาดหัวไม่มีจุดขาย โปรยข่าวหน้า 1 มีแค่ 1 ข่าว  นอกนั้นไม่มีทำให้หากข่าวมีโดนใจคนอ่านจริงยากที่จะติดตามเข้าไปดูเนื้อใน พาดหัวอังกฤษคำไทยคำ ข่าวอุบัติเหตุพาดหัวตกสระอุ ข่าวขับขี่รถย้อนศรประเด็นนี้เป็นปัญหาในตัวเมืองใหญ่ สามารถนำไปสู่การเขียนข่าวใหญ่ขึ้นได้

พลิกอ่านหน้าในพบว่าคนเขียนบทบก.ต้องเป็นคนรุ่นเก่า เพราะวรรค 2 ปัจจุบันไม่มีคำว่ากรมตำรวจแห่งชาติ หลังเปลี่ยนจากขึ้นตรงต่อมหาดไทยไปเป็นขึ้นตรงต่อสำนักนายกฯกลายเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

หน้า 3 ข่าวเด่น มีคอลัมน์พักสายตาสอดแทรกเข้ามา ตั้งใจหรืออย่างไร และยังมีวิธีแนะรอดเขี้ยวพิทบูลอย่างรู้วิธี หากโดนกัด ให้บีบลงไปที่ลำคอของสุนัขส่วนที่เป็นคอหอยให้แรงที่สุดทำให้มันเกิดอาการสำลัก ขาดอาการหายใจ จากนั้นวิ่งไปให้ไกลที่สุด น่าจะให้ผู้เชี่ยวชาญมาพูดและนักข่าวมาเขียนดีกว่า ระวังเรื่องพฤติกรรมทำตามจิ้มคอหมาตามที่ได้อ่าน หน้า 4 ยังมีพบการใช้ไทยคำอังกฤษคำในข่าวไวไฟ เดินข่าวก็มีการสลับแหล่งข่าวไปมา ภาพหน้า 5 นักศึกษาดูดบุหรี่ถ่ายมาโดยธรรมชาติหรือจัดฉากอย่างตั้งใจ หน้า 6 วิถียุติธรรมชาวบ้าน มีโฆษณาแล็คตาซอยเข้ามา และมีข่าวต่อท้ายโฆษณา ใครอ่านผ่านต้องคิดว่าเนื้อข่าวที่ต่อท้ายเป็นถ้อยคำของโฆษณา คำผิดก็มีหลายจุด เช่น หน้า 12 คอลัมน์ที่ 3 วรรคแรก บรรทัด7 คำว่าหากแต่เขียนเป็นหาย และทำไม “การบูรณะโบราณ”หัวตอนข่าวโผล่ขึ้นมา

6.ลานมะพร้าว

รูปเล่มมีกลิ่นอายหนังสือพิมพ์ โทนสีมีเอกลักษณ์ หน้า 1 หลวมไปทั้งการพาดหัวข่าว การใช้พื้นที่ โปรยข่าวตัวใหญ่ไป ระวังการตัดคำพาดหัวข่าวด้วย เช่น “ศธ.ประกาศนโยบายนักเรียนพูด” อีกบรรทัด “อังกฤษวันจันทร์ต้อนรับอาเซียน” รูปภาพยาแคปซูลดูใหญ่โตเหมือนหม่อนไหม สารคดีเชิงข่าวทำไมต้องเป็นรูปผู้ใหญ่บ้านมาลง  ลงภาพผู้ใหญ่บ้านใหญ่เกินไป น่าจะมีภาพอื่นมาประกอบมากกว่านี้ ข่าวต่อจากหน้า 1 ไปกองรวมกันอยู่หน้า 14 ง่ายต่อผู้อ่านติดตามไปอ่าน มีลูกเล่นกรอบคำว่า“อ่านต่อ”

พลิกอ่านหน้าใน หลายภาพไม่มีบรรยายใต้ภาพ ต้องมีบรรยายใต้ภาพด้วย เช่น หน้า 12 รูปลูกฟุตบอลแน่นิ่งอยู่ในประตูตาข่ายหมายความว่าอะไร หน้า 4 ภาพเด็กไม่คาดหน้า หน้า 7 มีคาดหน้า หน้า 5 ข่าวศึกชิงบัลลังก์นายกองค์การนิสิต รูปรองอธิบดีการบดีเล็กหน่อยจะสวยงามและนำภาพผู้ท้าชิงประกบกัน จะทำให้ชวนอ่านมากกว่า

ข่าวกลูต้าฯต่อหน้า 14 มีหลายย่อหน้าไม่มีคนพูด อยู่ดีมีเนื้อหาโผล่ขึ้นมา การเขียนชื่อ นามสกุลแหล่งข่าว ครั้งแรกต้องเขียนเต็ม ย่อหน้าถัดไปเขียนเฉพาะชื่อแหล่งข่าวก็พอ ยกเว้นในข่าวเดียวกันมีคนชื่อเหมือนกันหรือออกเสียงคล้ายกัน จำเป็นต้องใส่ชื่อและนามสกุลในทุกย่อหน้า โดยเฉพาะประเด็นข่าวใหม่ ชื่อแหล่งข่าวที่ไม่เคยเป็นข่าวมาก่อน

สารคดีเรื่องช้าง รูปผู้ใหญ่บ้านใหญ่มาก เล็กกว่านี้ก็ได้ และไม่มีภาพช้างประกอบฉากเลย หลักง่ายหากไม่สามารถถ่ายภาพได้ต้องหาขอภาพจากเจ้าหน้าที่ และอ้างอิงภาพที่มาประกอบด้วย เพื่อให้สารคดีเชิงข่าวมันสมบูรณ์มากขึ้น อาจจะมีกราฟฟิกประกอบด้วย ในเนื้อสารคดีมีประเด็นช้างเพิ่งตายจากกระแสไฟฟ้าช็อต แต่เจ้าหน้าที่ปิดข่าว ประเด็นนี้ต้องตามขยายต่อจะดีมาก

หน้า 16 มี 2 คอลัมน์คนเขียนคนเดียวกัน น่าจะแบ่งปัน กระจายงานให้คนอื่นบ้างนะ และมีคำผิด 1 คำ คอลัมน์สุดท้าย คำว่า “เวิร์คช็อป” ผิดอย่างไรไปดูเอาเอง

7.อ่างแก้ว

ส่องดูหน้า 1 มีเอกลักษณ์ชัดเจน สีสันหนังสือ การใช้ตัวเลขไทยตั้งแต่หัวจดเท้า กลิ่นอายตัวหนังสือพิมพ์แรง การจับประเด็นข่าวไม่เป็นรองใครในสนามพิราบน้อย จัดหน้าตามหลักการ สมดุล ใช้ได้เลย ตัวอักษรดูเป็นฟอนด์รูปแบบเดียวกัน แต่เมื่อเปิดไปดูหน้าหลังๆพบใช้ฟอนด์รูปแบบที่แตกต่างกันไปดูเสน่ห์ลดลงเล็กน้อย

แต่ต้องติงถึงการพาดหัวข่าวยักษ์ใช้จำนวนตัวอักษรเกินความจำเป็น ดูพาดหัวเหมือนโปรยข่าว อาจจะเป็นพาดหัวยักษ์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยก็ได้ ไม่เชื่อก็ลองนับตัวอักษรดู “ข้อบังคับมช.ชี้คณบดีแมสคอมไม่มีสิทธิลาพัก รองอธิการฯเผย 20 ส.ค.รู้ผลข้อร้องเรียน”

รายงานพิเศษล่างสุดซ้ายมือหน้า 1 ไม่มีหัวเรื่องรายงาน

พลิกอ่านหน้าในต้องระมัดระวังการใช้ภาษาไทยคำ ภาษาอังกฤษคำ เช่น หน้า 4หัวคอลัมน์ “Mega Project:ฟื้นเศรษฐกิจเชียงใหม่” ในเนื้อข่าวบรรยายใต้ภาพก็มี “ภาพแบบจำลองโครงการพรอมเมนาดา(ซ้าย)และโครงการCNX WOOD(ขวา)” หน้า 9 หัวคอลัมน์ “Brain-based Learning ทางเลือกใหม่การศึกษาไทย” หน้า 19 มีให้อีก คอลัมน์”จับตาASEAN Exchanges” คำผิดต้องระวัง หน้า 15 พาดหัว “กว่างโซ้งระเห็จพึ่งสนาม700 ปี บิ้กฮั่นชี้แอลกอฮอล์เป็นเหตุ” ระเห็ดใช้ “ด”สะกด “บิ๊กใช้ไม้ตรี หน้า 16 คอลัมน์ถึงเวลาสตรีนิยมในสังคมไทย ทางกองบก.น่าจะให้ความสำคัญมากกว่านี้ โดยอาจเขียนเป็นรายงาน จัดหน้าให้สอดคล้องกับเรื่องที่นำเสนอ ไม่จำเป็นต้องเป็นอาจารย์คนๆเดียว คอลัมน์ “ความขัดแย้งทางสังคมวัฒนธรรม ภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ” กองบก.น่าจะเขียนเป็นรายงานชวนให้ติดตามอ่านมากกว่า ดูเนื้อหามันหนักไป

ตามไปดูหน้า 17  การเขียนถึง “ผึ้งบำบัด”ต้องอ้างอิงข้อมูล หากไปคัดลอกหรือนำข้อมูลจากแหล่งอื่นมาอาจผิดได้ ประเด็นเชิงวิทยาศาสตร์ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูล  หากดึงมาจากเว็บไซต์ต้องพึงระวัง เพราะเว็บไซต์ขยะมีจำนวนมากในโลกออนไลน์

ทิ้งท้ายกันที่หัวข่าวต่อจากหน้า 1ใช้สีสกรีนพื้นเข้มเกินไป

8.บัณฑิตย์โพสต์

รูปลักษณ์ดูสวยน่าอ่าน แต่กลิ่นอายหนังสือพิมพ์แผ่วเบา  หัวข่าวประเทศไทย 2554จะไปทางไหนดี เนื้อหานำเสนอไม่ตอบโจทย์ เมื่อพลิกเข้าไปอ่าน เช่น  หน้า 11 สัมภาษณ์ประเด็นเศรษฐกิจของประเทศอยู่ดีๆ ทำไมคำถามหักมุมเรื่องนโยบายช่วยเหลือด้านการเงินแก่นักศึกษา มันกระโดดไป

การตั้งคำถามสำคัญมากเป็นศิลปะให้การสัมภาษณ์เชื่อมโยงเป็นประเด็น โดยหลักต้องมีคำถาม 7-8 คำถามหลักร้อยให้เป็นเรื่องเดียวกัน แหล่งข่าวตอบมาอย่างไรก็ต้องใช้ความรู้รอบตัวถามเพิ่ม ก่อนที่จะเดินหน้าไปคำถามที่เราตั้งไว้ต่อไป หลักง่ายๆทำการบ้าน ตั้งคำถามไว้ล่วงหน้า ก่อนไปสัมภาษณ์

ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว สกู๊ป ที่ทางบก.ส่งนักข่าวไปสัมภาษณ์มาควรถ่ายภาพมามากกว่านี้ เพื่อมาประกอบการเขียนข่าวเพิ่มน้ำหนักว่าเราไปสัมภาษณ์มาเอง และทางที่ดีเขียนไปเลยว่าแหล่งข่าวให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ของเรามา หน้า 6 รายงายเรื่องฟุ้งเฟ้อ แต่มีราคาไอโฟนเปรียบเทียบจูงใจคนอ่านให้เลือกซื้อ ชื่อนามสกุล นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ในเนื้อข่าวเขียนผิด ทำไมกองบก.เน้นสัมภาษณ์นักศึกษาต่างมหาวิทยาลัย น่าจะเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยของเราเองดีกว่า ใกล้ชิดกับผู้อ่านคือกลุ่มเป้าหมายมากกว่า หน้า 10 สาวเชียร์เบียร์ แหล่งข่าวเป็นอาจารย์ทำไมต้องใช้นามสมมติ การเดินเรื่องหากใช้แหล่งข่าวเป็นอาจารย์น่าจะเอาไว้ตบท้าย ต้องนำแหล่งข่าวที่เป็นนักศึกษาเชียร์เบียร์หลายๆร้านมาร้อยเป็นเรื่อง และนักศึกษาน้องธนันดา ไม่เกี่ยวกับสาวเชียร์เบียร์ไปขอสัมภาษณ์น้องเขาทำไมกัน

9.อินทนิล

ต้องยอมรับเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับที่ร่ำรวยที่สุด มีโฆษณา 31 ตัว มีโทนสีเป็นเอกลักษณ์ ตัวแบบตัวอักษรไม่เป็นเอกลักษณ์ ตัวเล็กไปหน่อย  โปรยข่าวใช้ขนาดตัวอักษรไม่เท่ากัน หมดความสวยงามเปิดประเด็นหัวข่าวใหญ่ “ขึ้นค่าปรับลงทะเบียนช้า” มีภาพประกอบดี แต่เปิดไปอ่านข่าวต่อ ชื่ออธิการบดีมหาวิทยามหาสารคาม ไม่ทราบ ข่าวลักษณ์นี้ขึ้นต้นด้วยวันที่จะดูสมบูรณ์แบบ การเดินข่าวข้ามไปมาก เช่น สมควรเอาการรายงานข่าวพบนักศึกษาถูกถอนผลการลงคะแนนมาขึ้นก่อน ถึงตามด้วยแหล่งข่าวที่สำคัญลำดับถัดไปที่สอดคล้องกับประเด็นข่าวที่ขึ้นไว้ ส่วนแหล่งข่าวที่ชี้แจงต้องเอาไว้ต่อจากนั้น งานข่าวชิ้นนี้น่าจะขาดการวางแผนการทำข่าวที่ดี คอลัมน์ที่  3 วรรคสุดท้าย ใครกล่าว ไม่มีบุคคล หรือเป็นผีบอก ภาพการ์ตูนใหญ่ไป บดบังดับข่าวใหญ่หน้า 1 ลงไป ประเด็นยังไม่รอบด้าน สามารถขยายขยี้ประเด็นให้แตกละเอียดได้อีก

ประเด็นข่าวโรงงานน้ำตาลเดินข่าวดูดี สมดุล ติดที่การจัดหน้าต้องให้จบในหน้าที่ต่อข่าว แต่ไปต่อข่าวอีกหน้าด้านบนด้วย ทำให้เสียเนื้อที่ทอง ปกติการต่อข่าวไปอีกหน้าหากมีข่าวใหญ่อยู่แล้วจะต้องมาต่อท้าย เพื่อเปิดพื้นที่ข่าวใหญ่ของหน้านั้นได้อยู่ข้างบน เพื่อเป็นจุดขาย ข่าวน้ำตาลที่เป็นประเด็นรอง แต่มีเนื้อหาข่าวยากกว่าข่าวใหญ่มาก

ข่าว “ประสาทสายฟ้าเปิดตัวไอโมบายสเตเดียมสุดแจ่มถล่มกว่างโซ้งมหาภัยกระจุย” มีโปรยข่าวผลการแข่งขัน แต่ในเนื้อข่าวไม่การรายงานผลการแข่งขัน นักข่าวท่านใดจะพาดหัว โปรยข่าว ประเด็นต้องมีอยู่ในเนื้อข่าวด้วย

หน้า 8 การ์ตูนตัดต่อล้อเรียนไม่เหมาะสม เป็นลายเส้นจะดีกว่า หน้า 19 รูปมาตินบางมาก ไม่เห็นหน้าคน ชื่อสะกดผิด ต้องเป็น “มาร์ติล” สะกด “ล” ไม่ใช่ “น” มีเขียนผิดบ้างเล็กน้อยในหน้านี้ เช่น คอลัมน์2 วรรคสุดท้าย บรรทัดที่ 6 คำว่าดำรงชีวิต “ง”ขาดตกไป คอลัมน์ที่ 3 บรรทัดที่ 2 คำว่าบุหรี่ ไม่มี “ห”

ข่าวพนมดงรักพนมดงเลือด กองบก.นี้มีความพยายามสูงมาก มีเรื่องพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง และเรื่องภายในมหาวิทยาลัย หน้า 12-13 เป็นสารคดีทำดีสวยมากในการจัดวางรูป แต่ตัวปราสาทหินกินตัวอักษร อ่านไม่ค่อยเห็น

มีเรื่องสั้นในฉบับด้วย และเนื้อหาดีชื่อเรื่อง “แค่เสียใจเท่านั้นหรือ” มีคอลัมน์ให้กำลังใจหน้า 15 แต่นำข้อมูลมาจากแหล่งไหน ต้องปรับวิธีการนำเสนอจากการไปพูดคุยกับพระสงฆ์ คนที่ผ่านประสบการณ์มาเยอะก็ได้หรือมีชีวิตที่ต่ำสุดแล้วได้ดี น่าจะดีกว่า ความคิดดีที่มีมุมคุณธรรม หัวข่าวหน้า 6 ยาวมากเหมือนโปรยข่าวมากกว่า

10.ลูกศิลป์

รูปเล่มหนังสือพิมพ์มองเป็นนิตยสารเป็นส่วนใหญ่ เป็นหนังสือพิมพ์หรือแม็กกาซีนกันแน่ ไม่ได้ทำกติกาอะไร แต่ปล่อยให้มีพื้นที่แต่ละหน้าว่างจำนวนมาก ไล่ดูตามแถวคอลัมน์จะมีช่องเว้นขาวจั๋วไว้ ตอนแรกก็นึกว่าเป็นเอกลักษณ์ของลูกศิลป์ เมื่อไล่ดูทั้งเล่มแล้วมันไม่ใช่ เพราะข่าวที่สัมภาษณ์คำต่อคำไม่ช่องเว้นขาว ข่าวนศ.สาวเสียวถูกปล้นกลางมหาวิทยาลัยก็ไม่มีช่องขาวนะ ภาพหน้า 1 ก็ไม่เข้าองค์ประกอบ หน้าจะนำภาพเล็กหน้า 5 ท้ายคอลัมน์มาขึ้นหน้า 1 แทนดูแล้วองค์ประกอบของภาพดูการจราจรมีวุ่นวายเสียงกว่า การจัดหน้าสวย แต่ภาพหลายภาพไม่ได้บ่งบอกอะไร เช่น ภาพหน้า 1 เนื้อหาส่วนใหญ่สัดส่วนกระจายพื้นที่กลุ่มเป้าหมายน้อยไป เสนอเอียงไปทางวิทยาเขตที่เพชรบุรี นครปฐมหากลงรายละเอียดอีก  “เด็กทับแก้วเผยชีวิตรอบรั้วเสี่ยง” แค่ข่าวหัวไม้ ไม่ได้ดึงดูดให้คนเสพ หลักพาดหัวข่าวคนเสพอ่านแล้วต้องรู้เลย ข่าวนี้คืออะไร เช่น ข่าวเดียวกันนี้พาด “โจรปล้นนศ.สาวกลางม.ศิลปากร”  หรือ “โจรฮิตดักปล้นนศ.สาวศิลปากร”เพราะในเนื้อข่าวมีการพูดถึงโจรทำเป็นขบวนการนั่งซ้อนท้ายถีบรถให้ล้มหรือขับจอดเทียบแล้งชิงทรัพย์ไปทันที หรือ ตำรวจก็พูดว่านักศึกษาสาวเป็นเป้าหมายของโจรวิ่งราวทรัพย์ และเมื่อพูดถึงความเสียงจากเหตุถูกดัก ชิง วิ่ง ปล้น การจราจรบริเวณหน้ามหาวิทยาลัย นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัยต้องเสียงภัยทุกวันที่จะถูกรถชน เหตุผลก็ว่ากันไป….

การเดินข่าวที่ดีต้อง โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์รายเดือน รายปักษ์ รายสัปดาห์  ต้องบอกกรณีช่วงที่เกิดเหตุล่าสุดก่อน และนำเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นที่เกิดขึ้นมาสรุปลงไปด้วย ถามว่าจะเอามาจากไหน ในเนื้อข่าวบอกว่ามีการแจ้งความ แต่เรื่องเงียบ เราก็หาวิธีไปเอาข้อมูลบันทึกประจำวันมาดูหรือคุยกับนักศึกษาสาวที่โดนปล้น โดนชิงทรัพย์

ข่าวนี้เน้นเฉพาะประเด็นฉก ชิง วิ่ง ราว กลางมหาวิทยาลัยก็ชวนติดตามแล้ว โดยต้องขยี้ประเด็นให้ละเอียดแตกคาครกไปเลย  ทางมหาวิทยาลัยว่าอย่างไร ทำไมไม่มีมาตรการที่ดีออกมาป้องกัน เกิดถี่แค่ไหน ขบวนการเป็นคนในคนนอก เป็นนักศึกษาหรือเป็นใคร ต้องตามแกะลอยให้ได้

หากไม่ชอบข่าวแนวนี้ก็เปลี่ยนมุมนำเสนอก็ได้ “อ.เรณู เวชรัตน์พิมล”บอกห้อยติ่งไว้นิด “กล้องวงจรปิดมีการทุจริตเยอะ ใช้ของจีนแดง” ไปรื้อโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดของเทศบาลว่าโปร่งใสแค่ไหน

“ซัดนโยบาย “แจกแท็บเล็ตป.1” เป็นข่าวรอง เมื่อกวาดสายตาดูในโปรยข่าว และเนื้อข่าว ต้องไล่เกริ่นก่อนเลยว่า รัฐบาลมีนโยบายแจกแท็บเล็ตให้เด็กโดยมีตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการสักคนสองคนก็ได้มาพูดถึงที่มาของโครงการ ตัวเครื่อง เครื่องใช้แล้วพังทำอย่างไร เด็กหรือผู้ปกครองรับผิดชอบต่อเครื่องแค่ไหน หายแล้วขอเครื่องใหม่หรือต้องซื้อใหม่ หากผู้ปกครองไม่มีเงินซื้อทำอย่างไร  และเนื้อหาที่จะยัดลงไปในแท็บเล็ตมีอะไรบ้าง เด็กได้อะไรจากตรงนี้ จากนั้นก็เป็นฝ่ายที่เห็นด้วยมาสนับสนุน ถึงเดินข่าวด้วยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย หรือจะขึ้นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และตามด้วยฝ่ายที่เห็นด้วยก็ดำเนินการได้ตามสะดวก

“นศ.แพ้น้ำ!” ศิลปากรแจงผลิตน้ำตามขั้นตอนการประปา พาดหัวข่าวรอง มันยังไม่ใช่นะ คิดเล่นลองพาดแบบนี้ดูสบายตากว่าหรือเปล่า “ผงะน้ำประปาไหลสีตกตะกอนดำ” นศ.โวยแพ้น้ำโสโครกมือลอก

โปรยข่าวก็ว่ากันไป เข้าสู่เนื้อข่าว วันเวลาน.หายอีกแล้ว เนื้อข่าวรายงานให้ภาพหนองจิกหน่อย ตั้งอยู่แห่งหนตำบลอะไรว่ากันไป มีหอพักชาย-หญิงกี่อาคาร นักศึกษาเข้าพักอาศัยเช่าเต็มหรือเปล่า ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนปีไหนมาเรียน เช่าเดือนเท่าไหร่ น้ำประปาไฟฟรี ระบบประปามหาวิทยาลัยผลิตเอง เหตุเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ถึงเมื่อไหร่ นักศึกษาที่พักหอได้รับผลกระทบเยอะเปล่า  ขณะที่ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาเป็นนายช่างก็ชี้แจงทำตามมาตรฐานไอเอสโอของการประปาตลอด

ข่าวยังเดินต่อไปได้อีก เพราะยังไม่สิ้นสุด กระบวนการผลิตจริงเชิญนักวิชาการฯมาตรวจสอบหรือแสดงความเห็นมันเป็นไปอย่างที่นายช่างว่าหรือ เป็นอุทานของนักศึกษาหาคนที่เชี่ยวชาญสรุปให้ชัดเจน

สำหรับการใช้ภาษา ไล่เปิดหน้าหนังสือพิมพ์ตั้งแต่หน้า 1 จนหน้าสุดท้ายพบเครื่องหมายเขาควายเยอะมากในเนื้อข่าว   ไปดูหน้า 6 หน้าการศึกษา เรื่อง”รับน้องจำเป็นหรือไม่” ในเนื้อหากำลังบอกว่าสนับสนุนการรับน้อง แต่เนื้อหาที่เขียนเหมือนไม่พูดให้เต็มปากเต็มคำ เป็นภาษาพูดเยอะมาก เช่น ย่อหน้าที่ 2 เพื่อกันงงก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักคำว่า “sotus” อย่างคร่าวๆกันเสียก่อน หรือการใช้ภาษาอังกฤษคำนี้น่าจะบอกคำว่าโซตัส(sotus) หน้านี้เป็นตัวอย่างที่ดีมองให้เห็นว่าใช้ไทยคำ ภาษาอังกฤษคำเยอะมาก

หน้า 10 เที่ยวเมืองเพชร ร้านโชว์ห่วย คำว่าโชไม่มีวอแหวนการัน ห้อง“บรรทมใหญ่”คำนี้เขียนถูกต้อง ถัดไปห้อง “บรรณทมเจ้าฟ้า ห้องบรรณทมพระราชินี” คำว่า บรรทมไม่มี ณ ถึงจะถูกต้อง หน้า 14 “ศิลป์ พีระศรี” ศาตราจารย์แห่งศิลป์ ตกสอเสือ หน้าเดียวกันรูปภาพประกอบคอลัมน์โขน หน้าต้องแอ๊คชั่นหน่อยจะสวยงามมาก ภาพข่าวต่อหน้า1ที่หน้า 5 ภาพถูกบีบยาว เมื่อเป็นข่าวหน้า 1 สมควรจะต้องให้ความสำคัญกับภาพ ไม่ใช่แค่ประกอบข่าว แต่ต้องอธิบายความในข่าวได้ด้วย ขณะเดียวกันภาพหน้า 9 คุยกับป๋าหน่อย ภาพป๋าหน่อยเหมือคนหมดเรียวแรง ภาพหน้า 10 เที่ยวเมืองเพชร ไม่จำเป็นต้องไปถ่ายป้ายให้คนอ่านรู้ว่าไปเมืองเพชร แต่น่าจะเป็นภาพที่มองแล้วเป็นสัญญาลักษณ์ของเมืองเพชรน่าจะดูสวยกว่า

11.จันทร์เกษมโพสต์

ลงพื้นที่จ.กาญจนบุรีทีเดียวเก็บเนื้อหามาถ่ายทอดได้หมด รูปเล่มสวยดึงดูดคนอ่าน จัดหน้าลงตัว การออกแบบจัดหน้าและความคิดนำเสนอไปด้วยกันชัดเจน เป็นเอกลักษณ์ของจันทร์เกษมโพสต์ มีคิวอาร์โคสนำเทคโนโลยีมาใช้ด้วย เมื่อพลิกเล่มไปดูหน้าสุดท้ายไม่เหมือนฉบับอื่นที่ส่วนใหญ่วางเป็นโฆษณา แต่ฉบับนี้ยกเอาเนื้อหาข่าวหน้า 1ลงในพื้นที่ที่มีคุณค่าเกือบเท่าหน้า1 เปิดไปดูหน้าต่อไปมีภาพดึงดูดสายตา หน้า 2 หน้า 3 มีเกือบทุกหน้า  โดยเฉพาะภาพหน้า 1 ดึงดูดความสนใจมาก

เมื่อเจาะลงไปดูเนื้อหาข่าวหน้า 2 หัวใหญ่ลอง “จังหวัดดันโครงการนี้เต็มตัว” ทำไมไม่บอกเป็นโครงการอะไรไปเลย ย่อหน้าที่ 2 บรรทัดสุดท้าย คำว่า”พลัก” ที่ถูกต้องเป็น “ผลัก” หน้า 2 เรื่องคนมอญพลัดถิ่น คอลัมน์ที่2  จำนวนประมาณ 5,594 คน ตัวเลขระบุชัดเจนตัดคำว่าประมาณทิ้งไปได้เลย เปิดไปที่หน้า 4ข่าวประชาสัมพันธ์ ทำไม่มีข่าว “สุดอนาถสองย้ายทิ้งลูก”อยู่ด้วย ข่าว“เชิดชูสุดยอดชุมชนฉลองครบ 50 ปี” เป็นข่าวๆเดียวกับ “พัฒนาชุมชนกาญจน์จัดงานใหญ่ครบ 50ปี ข่าว”แรงงานจังหวัดเดินสายอุ้มคนว่างงาน” อยู่ดีๆ “ฉลาด ขามช่วง” ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร มาอยู่ในข่าวนี้ได้อย่างไร  ข่าวมันกระโดด บรรยายใต้รูปภาพหน้า 6 “กร่อย” คำว่า “เนื่อง”ตกสระอือไป ข่าว “ยกระดับด่านบ้านน้ำพุร้อน”บรรยายภาพเป็นด่านบ้านพลุน้ำร้อน ต้องใช้คำว่า “พุ” ในข่าวคำว่า “ลำเรียง” เขียนถูกต้อง เป็น “ลำเลียง” หน้า 7 ข่าว “ต้านไม่เลิกสร้างมูลนิธิกวนอิมบังสะพานแม่น้ำแคว” น่าจะพาดหัวเป็น “ต้านไม่เลิกสร้างรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม” ในเนื้อข่าวคำว่าก่อสร้าง “เลื่อมล้ำ”ในส่วนพื้นที่สาธารณะ ต้องใช้คำว่า “รุกล้ำ”

ข่าวหน้า 8 ต่างด้าวเถื่อนนับหมื่นเกลื่อนจ่ายส่วยข้ามด่านขนคนรายวัน โปรยข่าวคำว่า “งับส่วย” “ไร้เสียงรัฐเห่า” ใช้ภาษาแรงมาก และที่บอกไร้เสียงรัฐเห่า ใครเป็นคนบอก ในข่าวไม่เห็นมีเนื้อข่าวตรงนี้เลย และสถิติแรงงานประจำปี 2444 น่าจะเป็น 2544มากกว่า  หน้า 9 ข่าวทั่วไป “พลอยหมดนิลราคากระฉูดชาวบ้านแห่ซื้อขายเก็งกำไร” คอลัมน์ที่ 2 วรรค 2 และคอลัมน์ 3 วรรค 3 เนื้อซ้ำกัน หน้า 13 การใช้ตัวเลขไทยและอารบิกผสมกันในข่าวเดียวกันก็มี ต่างข่าวก็มี  ผิดเกือบยกหน้า หน้า 15 กีฬา สัมภาษณ์พิเศษ เจ้าของหมายเลข 10 แต่รูปเป็นหมายเลข 9 “ค้าวคาวมหากาญจน์” น่าจะเป็น “ค้างคาวมหากาญจน์”

คำว่าเมือง “กาญฯ” ปกติใช้คำนี้ “กาญจน์” ในเล่มใช้สลับกันไปมาก

12.รังสิต

หน้าตาดีหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ จัดหน้าเรียบร้อยลงตัวแบ่งแยกชัดเจน ภาษาคงเส้นคงวา คำผิดน้อยมาก  มีเอกลักษณ์ในตัว

แต่การเขียนข่าวตัวเลขไทย อารบิกผสมผสานกันในหลายหน้า ข่าวหน้า 1 อย.ห้ามขายกาแฟลดอ้วน แค่อ้างอย.เผยแพร่อันตรายของสารไซบูทรามีน แต่วรรคต่อไปไม่รู้เป็นอย.หรือแหล่งข่าวคนไหน ไม่มีใครพูดมีเนื้อข่าวได้อย่างไร ถือว่าไม่มีแหล่งข่าอ้างอิง และทีมงานบก.ลงไปสำรวจบอกสำรวจพบกาแฟที่ถูกขายยี่ห้อดังกล่าว มันยี่ห้ออะไร

หน้า 4 โพลนศ.หวั่น  เขียนข่าวสลับกันไปมาระหว่างผลโพลกับคำให้สัมภาษณ์ของคณบดี คอลัมน์แรก บรรทัดที่ 4 จากท้าย ผลสำรวจนักศึกษา จำนวนเท่าไหร่ไม่บอก แต่ไปบอกไว้ในภาพแสดงผลสำรวจ ความจริงต้องใช้ไว้ในเนื้อข่าวด้วย วรรคที่ 2 มีชื่อคุณทักษิณ ฮุนเซน  สองคนนี้เป็นใคร เป็นเทวดาหรือเป็นมนุษย์พันพิเศษ ไม่รู้จักบอกยศ ชื่อ แซ่ ตำแหน่งด้วย ข่าว “เปิดซุ้มอาหารตึกนิเทศฯ” เนื้อที่มีอยู่หยิบมือเดียว มีชื่อแหล่งข่าวคนเดียวกันถึง 4 ครั้งดูแน่นไป เต็มที่แค่ 2 ก็พอแล้ว และยังมีคำว่า “ส่วนของสุริยเทพ”ที่จะก่อสร้าง มันน่าจะเป็น “สวนของสุริยเทพ”หรือไม่

ข่าวหน้า 18 ต่อข่าวมาจากหน้า 3 คอลัมน์ที่สอง วรรคสอง ผมโดนไล่ออกมาวันที่ 28 ส.ค. ไม่ได้ใส่ปีพ.ศ.มานะ คอลัมน์ที่ 3 วรรคแรก ผิดกับรัฐบาลช่วงที่ผ่านมาของ”คุณชวน บรรหาร ชวลิต” พวกนี้เป็นใครคนอ่านไม่รู้จัก หน้า 19 รูปภาพล่างสุด ไม่มีเนื้อข่าว กลับมีภาพนศ.รังสินเสียงตาย บรรยายภาพเหมือนเป็นเนื้อข่าว มันยาวไป ปกติมีภาพข่าวต้องมีข่าวเป็นส่วนควบกันและกัน

 

14.สื่อมวลชน

กรรมการหลายท่านชื่นชมกระดาษปรุ๊ฟ  อ่านง่าย ประหยัด แต่ไม่ได้มาเป็นองค์ประกอบของการให้คะแนน รูปเล่มก็สวยใช่ได้ เด่นจัดลำดับเป็นหมวดหมู่เป็นระบบ แต่การจัดหน้ามีพื้นที่ว่างเป็นสนามให้วิ่งเล่นได้ หนังสือพิมพ์ต้องใช้พื้นที่ให้คุ้มค่า และเมื่อกวาดสายไปดูภาพรวมไม่พบเอกลักษณ์ฉบับของตัวเอง โทนสีไม่ไปในทิศทางเดียวกัน การใช้ตัวเลขเลือกใช้เลขไทยหรืออารบิกกันแน่ การใช้คำย่อไม่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ตำแหน่งต่างๆใช้คำเต็มหรือคำย่อ ใช้คำซ้ำกันบ่อยมาก เฉพาะแค่หน้า 1 ข่าวจีนบุกสำรวจ โปรยข่าว “บ.จีนเล็งพื้นที่ 1.8 แสนไร่” ระยะห่างกันแค่ 5 บรรทัด คำนี้มาอีกแล้ว “บ.จีนเล็งสำรวจแร่อุดรธานี 1.8 แสนไร่” โปรยข่าวคำว่าบริษัทไม่สมควรย่อแค่ “บ.” พาดหัวข่าวยักษ์ถูกกำแพงแผนที่กั้นโปรยข่าว ดูเหมือนเป็นคนละข่าวกันเลย คำว่า “โพแทชอุดร”ต้องเขียนผิดแน่ เพราะคำที่ใช้อยู่หน้าที่ 1 เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ไปอ่านที่บทบก.ใช้ “โปแทช” ภาพประกอบหน้า 1 น่าจะมีภาพจริงในพื้นที่ก่อน ไม่น่าจะเป็นภาพแผนที่โชว์โดดเดี่ยวและนำกราฟฟิกมาประกอบ พร้อมใช้สัญญาลักษณ์บอกว่าสีส้มคืออะไร สีเขียวคืออะไร “มาตรา 6 ทวิ” คอลัมน์ 3 หน้า 1 เป็นกฎหมายอะไร ไม่มีบอกไว้

เมื่อพลิกไปอ่านข่าวต่อหน้า 15 วรรค2 บรรทัดที่สี่จากท้าย การยื่นขอต้องผ่านขั้นตอน”สักพัก” เป็นภาษาพูด

รูปภาพหน้า 1 ยังมาใช้ประกอบหน้า 15 ดูไม่เด่น ภาพใช้หน้าใดหน้าหนึ่งส่วนใหญ่ไม่นำมาใช้อีก และยังมีภาพมันฟ้องนำมาลงปิดท้าย เป็นภาพที่ไม่เกี่ยวข้องกับข่าวนี้ เดาเอาว่า หาข้อมูลมาไม่พอกับพื้นที่ข่าวบนหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ ต้องเอารูปมาลงบนพื้นที่ว่าง  หน้า 7 ข่าวล้อมกรอบอันล่างหน้าสนใจ “ศึกษาศาตร์ถูกเชิด”  ประเด็นนี้ขยายเป็นข่าวขึ้นหน้า 1 ได้สบาย เสียดายข่าว

คำผิดมีทิ้งคราบให้เห็นเป็นระยะ เฉพาะที่บทบก. “ห้า” “5”ล้านตัน

หนังสือพิมพ์ส่วนที่ 2 นำเสนอดี มีลูกเล่น หน้าอ่าน มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ควรเชื่อมโยงให้เห็นว่าหนังสือพิมพ์ส่วนที่2อยู่กับหนังสือพิมพ์ส่วนที่ 1 การนำเสนอข่าวพลังงานทางเลือกกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ภาพรวมดี แต่ยังมีจุดต้องปรับ ภาพเปิดควรชัดคม คอลัมน์สุดท้ายมีพื้นที่วางเปล่า

15.ช่อบุนนาค

ลำดับความสำคัญการพาดหัวข่าวหน้า 1 วางข่าว การให้สี ต้องเน้นเป็นพิเศษ แต่ช่อบุนนาครูปเล่มหลากหลายสีลายตา ไม่มีเอกลักษณ์หนังสือพิมพ์เป็นของตัวเอง สมควรต้องเลือกแบบจัดหน้าเน้นเลือกสี่ให้สอดคล้องกับหนังสือพิมพ์ของตัวเอง การวางรูปสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มีตัวหนังสืออยู่เหนือพระเศียรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง พาดหัวข่าว โปรยข่าวขนาดตัวอักษรต่างกันนิดหน่อย ลดความสำคัญพาดหัวข่าว บรรยายภาพหน้า 1 แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าจับแก๊งอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร ลวงเงินประชาชนไปเท่าไหร่ มีหัวข่าว ไม่มีโปรยข่าว ไม่มีว่าอ่านต่อหน้าอะไรด้วย ข่าวขวดพลาสติกไม่มีแหล่งข่าว มีเนื้อข่าวขึ้นมาเลย มองไม่เป็นหนังสือพิมพ์ แยกแยกอะไรเป็นข่าว อะไรเป็นสกู๊ป

เปิดไปดูข่าวเฉพาะหน้า 2 มีข้อพกพร่องเยอะมาก บทบก.ย่อหน้าไม่มีเขียนลากยาวไม่ชวนอ่าน ข่าวเปิดงานพืชสวนโลก คอลัมน์แรก บรรทัดที่3ประชาชนรับเสด็จใคร ไม่มีบอกในเนื้อข่าว พร้อมข้าราชการต้องมีวรรคก่อนเขียนคำว่าประชาชน อ่านต่อไปเรื่อยในข่าวนี้ก็มีขอพกพร่องไม่ยอมย่อหน้า ข่าวแก๊งคอเซ็นเตอร์ใช้ไทยคำอังฤษกคำ แก๊งเขียนผิด มี”ค์” ใช้ “เลขแปดบ้าง” นี้แค่ตัวอย่างในความพกพร่อง ยังมีอีกเยอะเลย

หน้า 3 อ.กีรติ ไร้นามสกุล หน้า 4 โฆษณามูลนิธิช่วยเหลือชนบท เบอร์แฟ็กซ์ 653193 ไม่มีหมายเลขจังหวัด คือ 053 ขอนำเสนอแค่จุดเดียว ยังมีจุดอื่นอีกนะหน้านี้ หน้า 5 ข่าวเปิดอาคารใหม่รองรับบริการประชาชนในพื้นที่ ตำแหน่งนายพายัพ ชินวัตร ผิดชัดเจน ตำแหน่งเต็มๆ ประธานคณะกรรมการบริหารภาคอีสาน พรรคเพื่อไทย หน้า 6 ผิดพลาดหลายจุด แทบไร้ย่อหน้า เขียนติดกันไม่มีเว้นวรรค หัวข่าวคอลัมน์ที่ 4 วรรคแรกทับเนื้อหาอีกข่าวหนึ่ง หน้า 7 หัวข่าววันเด็กคอลัมน์แรกไม่มี ข่าวแด่ร่างไร้วิญญาณอาจารย์ใหญ่ หัวคอลัมน์ทับข่าววันเด็ก คอลัมน์สุดท้าย รายงานโดยสายอุษากำไล ชื่อ นามสกุลคนรายงานยังไม่เว้นวรรค ขอข้ามไปหน้า 16 ดูโฆษณากาแฟก็ผิด  เป็น “การแฟดอยช้าง” สาขา 2เขียนเบอร์โทรฯผิดซ้ำซาก ถนนวู๊ปเปอร์ไฮเวย์”

ในฐานะผ่านประสบการณ์อบรมพิราบน้อยมาหลายรุ่น มั่นใจว่าทุกกองบก.ทำงานกันอย่างหนัก แม้ผลงานหลายฉบับออกมายังไม่ดี เชื่อว่าประสบการณ์ครั้งนี้จะช่วยรุ่นต่อไปพัฒนาขึ้น ขอยืมคำคมสโลแกนของช่อบุนนาคมาใช้ที่ระบุว่า ทำไม่ได้ให้ถาม แต่ถ้าไม่ทำคือทุกอย่างจบ”

 

////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

รางวัลพิราบน้อยประเภทข่าวฝึกปฏิบัติดีเด่น

ในปีนี้มีผลงานข่าวส่งเข้าประกวด 24 ข่าว จาก 13 มหาวิทยาลัย  ภาพรวมที่ควรปรับปรุงแก้ไข มีดังนี้

-การ ใช้ภาษาในข่าวมีการใช้ภาษาอังกฤษปนอยู่ด้วย คำบางคำแปลเป็นภาษาไทย หรือ เขียนทับศัพท์ไปเลยก็ได้ แต่ที่ปรากฏเยอะคือ เขียนเป็นภาษาอังกฤษ หรือ เขียนภาษาไทยแต่เป็นภาษาอังกฤษ พบทั้งในพาดหัวข่าวและเนื้อข่าว

-เขียนข่าวยาว เยิ่นเย้อ ตัวหนังสือเล็กไปทำให้ปวดตา

-พาดหัวข่าวยาว อ่านแล้วไม่สื่อความหมาย

-การขึ้นย่อหน้าใหม่ไม่มีชื่อ หรือตำแหน่งของแหล่งข่าว ทั้งนี้เมื่อเขียนนามสกุลในย่อหน้าแรกแล้วไม่ควรเขียนอีกในตอนท้าย

-มีการใช้นามสมมุติมากจนขาดความน่าเชื่อถือ แหล่งข่าวบางคนไม่ต้องใช้นามสมมุติก็ได้

-มีการใช้อักษรย่อจนงง มีการใช้เครื่องหมายต่างๆ โดยไม่จำเป็น

-การใช้ตัวเลขอารบิคและเลขไทยปนกัน แต่ละฉบับควรจัดทำสไตล์บุ๊คให้ชัดเจน

-บางข่าวขาดแหล่งข่าวที่สำคัญ หรือ แหล่งข่าวต้นตอ

-ประเด็นสัมภาษณ์ไม่รอบด้าน ครอบคลุมแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้อง

-ข่าวที่นำเสนอส่วนใหญ่เป็นการแสดงความคิดเห็น  ขาดหลักฐานเชิงประจักษ์

-เขียนข่าวโดยใส่ความคิดเห็น หรือ ความรู้สึกลงไป

-ขาดการวางแผนในการทำข่าว

-ภาพข่าวที่นำเสนอยังไม่น่าสนใจ

-ฯลฯ

 

ข้อดี

-มีการนำเสนอข่าวหลากหลาย

-มีการนำเสนอเรื่องใกล้ตัว

-หลายฉบับมีการวางแผนในการทำข่าว มีการสัมภาษณ์แหล่งข่าวรอบด้าน

-มีการนำเสนอข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน

-มีการใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกเข้ามาช่วย

-มีการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในการหาประเด็นข่าว

-มีการลงพื้นที่จริง หรือแฝงตัวเข้าไปหาข้อมูล

-ฯลฯ

หลังจากพิจารณาแล้วคณะกรรมการตัดสินมีความเห็นว่า “ข่าวผุดเว็บผลิตเอเยนต์หวยใต้ดิน หวังดึงวัยโจ๋สร้างเครือข่าย” หนังสือพิมพ์หอข่าว จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  รู้จักมองประเด็น ใกล้ตัว  มีวางแผนการทำข่าวเป็นระบบ  เป็นการเปิดประเด็นใหม่ เป็นข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ที่เกิดผลกระทบตามมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีการปิดเว็บไซต์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาจริงเอาจังกับปัญหา

ส่วนผลงานข่าวที่ได้รับรางวัลชมเชยอีก 2 ข่าว คือ  “แฉขบวนการขโมยข้อมูลส่วนตัว หลอกเผยประวัติเร่ขายรายชื่อ” โดยหนังสือพิมพ์หอข่าว จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  มีการวางแผนในการทำข่าวเป็นระบบ เป็นเรื่องใกล้ตัว ที่คนมองข้ามเรื่องสิทธิส่วนบุคคล และสร้างความตระหนัก

ในขณะที่ “ข่าวป.ตรี 8 พัน ป.โท 3 หมื่น แฉ มช.รับจ้างทำตัวจบอี้อ”  โดยหนังสือพิมพ์อ่างแก้ว จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เป็นเรื่องใกล้ตัวในแวดวงการการศึกษาไทย นำไปสู่การป้องปรามและเฝ้าระวังของผู้ที่เกี่ยวข้อง.

 

 

///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ความเห็นเรื่องข่าวประกวดพิราบสิ่งแวดล้อม

เป็นที่น่าสังเกตว่าข่าวที่ส่งประกวดในปีนี้ แทบทุกข่าว มีแต่การเปิดประเด็นข่าวขึ้นมา แต่ไม่มีการติดตามทำข่าวเพื่อเก็บรายละเอียดของข่าวให้ครบถ้วน แหล่งข่าวไม่มีความหลากหลาย และหลายข่าวในกระบวนการทำข่าวไปไม่ถึงทำข่าวได้ไม่สุด คือ มีการเปิดประเด็น แต่ไม่ตามให้จบว่าสุดท้ายแล้วเรื่องราวจะเป็นอย่างไร บางข่าวเปิดประเด็นแล้วหายไปเฉยๆ รวมทั้งการเรียบเรียงข่าวที่สับสน พาดหัวเรื่องหนึ่ง เนื้อข่าวเป็นอีกเรื่อง

นอกจากนี้ยังพบว่าบางข่าว ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับความเป็นข่าว นำเสนอข่าวเพียงด้านเดียว จึงเป็นที่มาของเหตุผลว่าทำไม ข่าวที่ส่งเข้ามาในปีนี้ ถึงไม่ได้รับรางวัลดีเด่น แต่ได้รับรางวัลชมเชยแทน ส่วนหนี่งเป็นเพราะจุดอ่อนในการการตั้งประเด็น ความสับสนว่าอะไรคือ ข่าวสิ่งแวดล้อม เพราะบางข่าวที่ส่งเข้ามามีความเป็นข่าวสังคมมั้ง ข่าวประชาสัมพันธ์มั้ง สำหรับข่าว คดีฟ้องโรงงานน้ำตาลวังขนาย ของ อินทนิล ซึ่งได้รับรางวัลชมเชยในครั้งนี้นั้น ถึงแม้จะเป็นประเด็นเก่าแต่มีการตามประเด็นที่ค่อนข้างครบถ้วนรอบด้านที่สุดในการนำเสนอเป็นข่าว โดยพยายามโยงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมไปเรื่องสุขภาพด้วย รวมทั้งมีการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลจากชาวบ้าน และแหล่งข่าวมีความหลากหลาย

นอกเหนือจากข่าวที่ได้รับรางวัลแล้วบางข่าว ถ้าได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง ก็สามารถเป็นข่าวที่ดีได้ เช่น ข่าวชาวบ้านอ.บ้านค่าย ของลานมะพร้าว ซึ่งแม้ว่าข่าวชิ้นนี้จะไม่สมบูรณ์นัก แต่เด่นในแง่ฝีมือการเขียน การเก็บข้อมูลก็ถือว่าละเอียดในระดับหนึ่ง  มีการหาข้อมูลที่หลากหลายแง่มุม  ที่สำคัญคือการเสนอเรื่องการเปลี่ยนสีผังเมือง  แต่น่าเสียดายที่ไม่มีการศึกษาที่ลึกลงไป แต่ก็น่าไปตามข่าวมาเสนอต่อเพื่อให้เกิดความสืบเนื่องได้   และเน้นเสนอแง่มุมการต่อต้านมากจนเกินไป ซึ่งก็ไม่ผิดถ้าสิ่งที่ต่อต้านเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่การให้น้ำหนักไปในด้านหนึ่งเป็นพิเศษจะทำให้เรื่องขาดความหลากหลายในมุมมองและอาจทำให้คนอ่านตั้งคำถามในความเป็นกลางได้

สิ่งหนึ่งที่ควรระวัง ในการนำเสนอข่าว คือ ความเป็นธรรมในข่าว ข้อมูลที่นำเสนอในข่าวต้องครบถ้วน รอบด้าน ให้ความรู้และข้อมูลกับคนอ่านให้มากที่สุด ไม่ควรตัดสินแทนคนอ่านโดยการนำเสนอข่าวเพียงด้านเดียว ถูกหรือผิด ควรให้ผู้อ่านเป็นคนตัดสิน ไม่ใช่เราตัดสินใจแทนผู้อ่านด้วยการให้ข้อมูลเฉพาะฝ่ายที่เราเห็นว่าถูกต้อง จุดหนึ่งที่สำคัญคือการเปิดประเด็นขึ้นมาแล้วไม่ตามให้จบ พออ่านข่าวจบจะทำให้เกิดคำถามกับคนอ่าน ว่าข่าวนี้เป็นอย่างไรต่อ ส่งผลกระทบอะไรอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะข่าวสิ่งแวดล้อม การเสนอข่าวควรต้องมีข้อมูลที่ทำให้เห็นว่าวัตถุในข่าวนั้นสร้างผลกระทบอย่างไรกับสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำเน่า เน่าแล้วส่งผลกระทบอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ หรือ อย่างข่าวช้างป่าที่ถูกฆ่า ถ้าเป็นข่าวสิ่งแวดล้อม ต้องตั้งคำถามต่อไปว่า การตายของช้างหนึ่งตัวส่งผลอย่างไรต่อระบบนิเวศในธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมในป่า ไม่ใช่รายงานแค่ว่าช้างตายแล้วก็จบ เป็นต้น

 

 

 

///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

สารคดีเชิงข่าวรางวัลริต้า ปาติยะเสวี

การประกวดสารคดีเชิงข่าว “รางวัลริต้า ปาติยะเสวี” มีผลงานส่งเข้าประกวด 22 ชิ้น จาก 10 ฉบับ (มหาวิทยาลัย)  ผลงานส่วนใหญ่ฝีมือสูสีกันมาก กรรมการต้องใช้เวลาในการอภิปรายถกเถียงให้เหตุผลกันเป็นเวลานานนับชั่วโมง หมดยาแก้ปวดพาราเซตามอลไปหลายเม็ด กว่าจะได้ลงคะแนน หากใช้ภาษาของการแข่งขันกรีฑา ก็ต้องบอกว่าตัดสินกันด้วยภาพถ่าย

ประเด็นของสารคดีที่นิสิตนักศึกษาสนใจให้ความสำคัญนำเสนอในปีนี้มีประเด็นที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ประเด็นสิ่งแวดล้อมและชุมชน ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องจากโลกออนไลน์ และประเด็นที่เกี่ยวกับชายแดน

ผลงานส่วนใหญ่แสดงถึงความตั้งใจในการทำงานมาเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม กรรมการมีข้อสังเกตต่อภาพรวมของสารคดีเชิงข่าวที่ส่งเข้ามาประกวด ดังนี้

งานเขียนสารคดีเชิงข่าวทำหน้าที่เตือนภัยได้ดี แต่ในการเข้าถึงแหล่งข่าวบางชิ้นมีข้อชวนสงสัยว่าเข้าถึงแหล่งข่าวจริงหรือไม่โดยเฉพาะแหล่งข่าวที่มีตำแหน่ง

สำหรับการอ้างอิงแหล่งข่าวมีการอ้างอิงแหล่งข่าวชั้นสอง หรือใช้แหล่งข่าวไม่ตรงกับประเด็น บางกรณีควรเป็นความเห็นผู้เชี่ยวชาญแต่กลับไม่ได้อ้างอิงผู้เชี่ยวชาญ หรือการใช้ข้อมูลล้อมกรอบที่ไม่ตอบโจทย์

ในการสัมภาษณ์แหล่งข่าวตามปกติวิสัยเราจะสัมภาษณ์หนึ่งคนแล้วเขียนว่านายนั้น นางสาวนี้กล่าวว่า แยกเป็นรายคนไป แต่กลับปรากฏกรณีที่มีการสัมภาษณ์ทั้งสองคน หรือบอกว่าสัมภาษณ์กลุ่มนักศึกษาซึ่งเป็นไปไม่ได้ ที่คนหลายคนจะพูดออกมาเหมือนกัน หากสัมภาษณ์เป็นกลุ่มควรแยกแยะ แจกแจงประเด็นให้แต่ละคนพูดกันไปคนละประเด็น ไม่ใช่เขียนว่านาย ก.และนางสาว ข. กล่าวว่า

พบว่าไม่มีการอ้างอิงผู้พูด หรือโค้ทคำพูดไม่ชัดเจนว่าใครเป็นคนพูดในสารคดีบางเรื่อง นอกจากนี้ข้อมูลบางอย่างเป็นการกล่าวถึงลอย ๆ  หรือเป็นเพียงคำบอกเล่า ผู้สื่อข่าวหรือนักเขียนสารคดีควรตามไปดูให้เห็นจริงหรือหาคนที่ศึกษาข้อมูลนั้นมาให้ข้อมูล

การเขียนถึงคนที่เป็นจำเลยในสังคม ต้องระวังเรื่องการตกหลุมตัวเองคือไปยืนเข้าข้างเสียแล้ว แต่ควรตระหนักว่าในประเด็นที่เขียนถึงนั้น ควรทำอย่างไรให้ปัญหาได้รับการแก้ไข ไม่ใช่ไปยืนเถียงแทน

สำหรับบางเรื่องที่ยังยืนยันไม่ได้ด้วยความเห็นแต่สามารถสร้างความกระจ่างได้ด้วยความรู้ แต่กลับไม่ค่อยใช้กัน หนังสือพิมพ์ต้องทำหน้าที่ค้นหาความรู้ด้วย ไม่เช่นนั้นจะได้เพียงความสะใจแต่ไม่ได้ทางแก้

ในเรื่องการแฉ หรือเปิดเผยขั้นตอนควรมีความระมัดระวัง เช่น เว็บชอบโชว์ก็จะมีชื่อเว็บไซต์นั้น หรือการขายบริการทางเพศต้องระวังให้ดี เป็นการแฉ หรือให้คนไปตามต่อ

การเรียบเรียงนำเสนอเรื่องควรคำนึงถึงการเชื่อมโยงแบบต่อเนื่อง มีงานบางชิ้น นำเสนอเป็นห้วง ๆ ไม่เชื่อมโยง คนอ่านจะต่อไม่ถูก เข้าใจว่าเป็นเรื่องของนักศึกษาสมัยนี้ที่เป็นกันมาก ควรเรียบเรียงให้เห็นเหตุผล ตรรกะของเรื่อง

ควรคำนึงว่าในการเขียนหนังสือนั้น หากเขียนได้ดีและใช้คำได้ถูกต้อง ไม่เขียนคำผิดสะกดผิดก็จะแสดงถึงตัวตนผู้เขียนได้ในอีกทางหนึ่ง แม้ว่างานที่ส่งมาจะมีข้อดีอยู่ไม่น้อย แต่กรรมการพบคำผิดจำนวนมากในแทบทุกสารคดี มีทั้งการสะกดคำผิด และการใช้คำผิดความหมาย เช่น รอยเท้าของสงคราม กับร่องรอยของสงคราม คำว่า “กฎ” กับ “กฎหมาย” ต้องใช้ ฎ.ชฎา ไม่ใช่ ฏ คำว่า “นานา” ไม่ควรเขียนว่า “นา ๆ”

การเขียนชื่อและนามสกุลของบุคคลต้องเขียนให้ถูกต้องเพราะเป็นชื่อเฉพาะของเขาและเธอเหล่านั้น ต้องตรวจสอบให้ละเอียดรอบคอบ

การใช้ภาพประกอบ พบว่าไม่ค่อยมีภาพประกอบที่เหมาะสม ซึ่งอาจทำให้คิดได้ว่าไม่มีความพยายามหาภาพประกอบ หรือกรณีที่ไปสัมภาษณ์แหล่งข่าวก็ควรมีภาพผู้ให้สัมภาษณ์ด้วย เพื่อแสดงความน่าเชื่อถือว่าไปสัมภาษณ์มาจริง

ข้อสังเกตเรื่องการอ้างกฎหมาย ควรบอกให้ชัดเจนว่ามาตราที่เท่าไร จากกฎหมายอะไร ไม่ควรอ้างเลขมาตราเฉย ๆ โดยไม่ระบุชื่อกฎหมาย เช่น กล่าวถึงมาตรา 67 โดยไม่ระบุว่ามาจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ (ในสารคดีชาวบ้านบ้านค่ายรวมกลุ่มต้านโครงการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี) และต้องมีการโค้ทข้อความในกฎหมายมาอย่างระมัดระวัง

ความครอบคลุมและสมดุลย์ในเนื้อหา ผู้เกี่ยวข้องในข่าวต้องสมดุลย์ด้วย  บางชิ้นองค์ประกอบไม่ครบ มีการใช้ภาษาวกวน โดด บางชิ้นมีลักษณะคล้ายบทความมากกว่าสารคดี เช่น เรื่องสิ่งที่ควรรู้บนโลกออนไลน์

สารคดีต้องมีสีสันบวกข้อเท็จจริง แต่หลายชิ้นงานมีลักษณะของข้อมูลตัดปะ ว่าคนนั้นกล่าวคนนี้กล่าว   แล้วนำมาเรียง ๆ กัน เหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

การใช้ภาษาในการเขียนสารคดีต้องพิถีพิถัน แต่ดูเหมือนงานส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก บางเรื่องใช้คำซ้ำซ้อน เช่น มหาอุทกภัยน้ำท่วม เขียนวนเวียนไปมา มีทั้งคำว่ามหาอุทกภัยน้ำท่วม และน้ำท่วมรวม 7 คำ ใน 2 ย่อหน้าแรก กว่าจะเข้าเรื่องได้ อนึ่ง คำว่า มหาอุทกภัย แปลว่าน้ำท่วมใหญ่อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้คำว่าน้ำท่วมต่อท้ายอีก (ในเรื่อง การพัฒนาระบบระบายน้ำอุโมงค์ยักษ์ฯ)  หรือในเรื่องสิ่งที่คุณไม่รู้บนโลกออนไลน์ ก็มีลักษณะการเขียนซ้ำวนไปวนมา ใน 2 ย่อหน้าต้นเช่นกัน  อีกทั้งยังมีความเข้าใจผิดระหว่างคำว่าอินเทอร์เน็ต กับโปรแกรมบราวเซอร์ IE Internet Explorer ว่าเป็นสิ่งเดียวกัน

หลังจากพิจารณาแล้วมีคณะกรรมการตัดสินมีความเห็นว่าสารคดีเชิงข่าวฝึกปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษา ในปี 2554 มีผลงานที่น่าสนใจ ฝีมือใกล้เคียงกันอยู่หลายรายการ จึงเห็นสมควรเพิ่มรางวัลจากเดิมมีเพียงรางวัลดีเด่นเพียงรางวัลเดียว เป็นรางวัลชมเชยอีก 2 รางวัล

ผลงานสารคดีเชิงข่าวที่ได้รับรางวัลดีเด่น ได้แก่ สารคดีเชิงข่าวคนลาวไร้รัฐโดย หนังสือพิมพ์สื่อมวลชน จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับรางวัลเงินสด 5,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ

คณะกรรมการมีความเห็นว่าสารคดีเชิงข่าว คนลาวไร้รัฐ มีการเลือกประเด็นที่นำเสนอได้ดี เป็นประเด็นที่คนอื่นมองข้าม การนำเสนอข้อมูลครอบคลุมรอบด้านจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นระบบ อ่านแล้วเข้าใจถึงความทุกข์ยากของคนลาวไร้รัฐ แม้ว่าภาษาจะแข็งไปบ้างก็ตาม งานชิ้นนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความยากลำบากและความพยายามในการทำงานลงพื้นที่เพื่อเข้าถึงแหล่งข่าวด้วย

ผลงานสารคดีเชิงข่าวที่ได้รับรางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ สารคดีเชิงข่าว “Bikexengerอาชีพพิทักษ์โลกโดยหนังสือพิมพ์บัณฑิตย์โพสต์ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และ สารคดีเชิงข่าวชาวบ้านอ.บ้านค่าย รวมกลุ่มต้านโครงการอุตสาหกรรมไออาร์พีซีโดยหนังสือพิมพ์ลานมะพร้าว จากมหาวิทยาลัยบูรพา ได้รับใบประกาศเกียรติคุณ

คณะกรรมการมีความเห็นว่าสารคดีเชิงข่าว “Bikexengerอาชีพพิทักษ์โลก นำเสนอประเด็นจุดประกายความคิด เป็นเรื่องใหม่ที่มีความน่าสนใจ เป็นเรื่องจิตอาสาและทำเป็นอาชีพได้ด้วย พร้อมกันนั้นยังให้รายละเอียดของการคิดโครงการ

ส่วน สารคดีเชิงข่าวชาวบ้านอ.บ้านค่าย รวมกลุ่มต้านโครงการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี แสดงถึงประเด็นชักจูงเข้าเรื่องที่มีศิลปะในการนำเสนอด้วยการขึ้นต้นด้วยกลอน รูปแบบการนำเสนอมีเหตุและผลเรียบเรียงดี มีความพยายามที่จะเข้าถึง แหล่งข่าวระดับชุมชน การนำเสนอเข้าใจง่าย ภาษาไม่ซับซ้อน ชัดเจน

 

/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////