กวี จงกิจถาวร

นักข่าวคือ อาชีพที่ดีที่สุด

เสถียร วิริยะพรรณพงศา

ด้วยจุดยืนอันแน่วแน่ ทำให้วันนี้  กวี จงกิจถาวร  ในวัย 51 ปี ในฐานะผู้ช่วยบรรณาธิการเครือเนชั่น ยังคงทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ทั้งในและต่างประเทศ อย่างไม่มีการเหน็ดเหนื่อย ได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหว กระทั่งเป็นหัวหอกของขบวนการปกป้องเสรีภาพของสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นหัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตย อย่างจริงจัง มาตลอดชีวิตการทำงานของเขา

เกือบ 30 ปีบนถนนนักข่าว  กวี  ได้เล่าเรื่องความไม่เป็นธรรม ความไม่เสมอภาค สะท้อนถึงเสียงกรีดร้องของประชาชนจากการถูกกดขี่ ข่มเหงจากความไม่เป็นธรรมในรูปแบบต่างๆทั่วทุกมุมโลก ผ่านตัวอักษร ทั้งข่าว บทความ บทวิเคราะห์ อย่างต่อเนื่อง นับพันๆชิ้น คมปากกาที่เฉียบแหลมทำให้ชื่อ  กวี  เป็นที่รู้จักดีของบรรดาผู้มีอำนาจในประเทศต่างๆโดยเฉพาะผู้นำประเทศเผด็จการ

กวี บอกว่า การเขียนบทความต่อต้านเผด็จการทหารพม่า ขณะเดียวกันก็สนับสนุนพลังประชาธิปไตยในพม่าทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษต่อต่อกันอย่างน้อย 19 ปี ทำให้เขาถูกแบนห้ามเข้าพม่ามาตั้งแต่ปี 1988 จนถึงปัจจุบัน

เส้นทางนักข่าวนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเขา ได้ถูกการันตีด้วยรางวัล Democracy Award 2007 ที่สภาคองเกรส สหรัฐฯ มอบให้กับผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างประชาธิปไตยของโลก ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ ยังไม่นับอีกหลายรางวัลที่องค์กรประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศมอบให้เขา ประจำปี

ปฐมบท นักข่าว นักสู้

บ้านเกิดของ  กวี  อยู่ในอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา บ้านเดียวกับ  สุทธิชัย หยุ่น  กวี  ปรมาจารย์ของนักข่าวอีกคนหนึ่ง และด้วยความที่มีภูมิลำเนาอยู่ในดินแดนที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซียซึ่งส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ทำให้ ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็กๆ ผ่านสื่อโทรทัศน์ที่ส่งสัญญาณข้ามประเทศเข้ามายังประเทศไทย

จวบจนวันนี้  กวี  มีความรอบรู้ด้านภาษาอย่างน่าทึ่ง เขาสามารถสื่อสารได้อย่างน้อย 5 ภาษา ทั้ง อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และกัมพูชา ทั้งๆที่เขาไม่ใช่ลูกเศรษฐีมีโอกาสร่ำเรียนหนังสือที่ต่างประเทศตั้งแต่เล็กๆ เพียงแต่เคยได้ทุนไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงเวลาสั้นๆเท่านั้น

การที่มีบิดาเป็นนักหนังสือพิมพ์ ทำให้  ด.ช.กวี  ซิน เสียะ เย้อะ เป้า  ที่นั่นเองเป็นเหมือนประตูบานน้อยๆที่เปิดให้ ด.ช.กวี ได้ก้าวเข้าสู่ไปโลกการข่าว โลกของหนังสือพิมพ์ โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ต้องใช้ชีวิตวัยเด็กส่วนใหญ่อยู่ในโรงพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ภาษาจีนในประเทศไทย

เขา ย้อนความทรงจำกลับไปกว่า 40 ปีก่อน ตอนที่อายุราวๆ 8 ขวบ ว่าความสนใจข่าวโดยเฉพาะข่าวต่างประเทศเริ่มต้นขณะนั้น ขณะที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ต เอสเอ็มเอส หรือการสื่อสารระบบดิจิทัล ใดๆทั้งสิ้น

 กวี  เล่าว่า ตั้งแต่จำความได้ก็มีชีวิตขลุกอยู่ในโรงพิมพ์แล้ว ได้อ่านข่าวในโรงพิมพ์ตั้งแต่เด็กโดยเฉพาะข่าวรอยเตอร์จะสนใจเป็นพิเศษ อ่านแล้วทำให้รู้สึกชอบข่าวต่างประเทศมาตั้งแต่นั้น เพราะเวลาอ่านข่าวต่างประเทศทีไร อีก 2-3 วันเรื่องนั้นมากระทบกับประเทศไทยทุกทีไป เห็นได้ชัดว่าข่าวนั้นไม่มีพรมแดนจริงๆ ดูอย่างข่าวการก่อการร้าย ข่าวโรคซาร์ ข่าวโรคเอดส์ ไข้หวัดนก ข่าวเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่งแต่จะเกี่ยวเนื่องกันไปทั่วโลก

{xtypo_quote} นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คิดว่า  ข่าว  ไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง หรือเป็นของประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะข่าวเป็นเหมือนผ้าผืนใหญ่ที่เย็บต่อกันทั้งผืน ไม่ใช่ผ้าชิ้นเล็กๆที่แยกจากกันไม่ติดต่อกัน ไม่เกี่ยวกับใคร จริงๆแล้วอย่าเรียกว่าข่าวประเทศเลยเพราะคนทั่วไปรู้สึกว่าไกลตัว เรียกว่าข่าวนอกบ้านดีกว่า เป็นข่าวนอกบ้านที่พร้อมจะเข้ามาเกิดในบ้านเราเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าคุณสนใจข่าว ได้อ่านหนังสือพิมพ์ทั่วโลก เรารู้เลยว่าจะมีข่าวนี้เกิดขึ้นในเมืองไทยอย่างแน่นอน และทำให้รู้ว่าข่าวบางข่าวเป็นข่าวใหม่ในเมืองไทย แต่เป็นข่าวเก่าของสหรัฐฯที่เขารายงานมาแล้ว 5 เดือน {/xtypo_quote}

ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เสรีภาพ 

วันเวลาล่วงไปกระทั่งเข้าสู่วัย 20 ต้นๆ บทชีวิตนักข่าวนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ก็เปิดฉากขึ้นที่นี่

หนังสือพิมพ์ The Nationในปีแรกของการทำงาน กวี ได้รับมอบหมายให้เกาะติดข่าวอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ ขณะนั้นสถานการณ์ในอาเซียนยังระอุไปด้วยไอสงครามโดยเฉพาะสงครามในกัมพูชา เขาจึงต้องรับหน้าที่รายงานข่าวสงครามจากกัมพูชาเพื่อมาตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ The Nation ทุกวันๆ

ตั้งแต่นั้นเขารายงานข่าวสถานการณ์ในอาเซียนและกัมพูชา เป็นเวลาติดต่อกันนานถึง 14 ปี

ในปี 2533-2534 เขาได้รับมอบหมายจากทางหนังสือพิมพ์ให้ปักหลักรายงานข่าวอยู่ในกัมพูชา จนกระทั่งได้เผชิญหน้ากับประสบการณ์อันเลวร้าย ซึ่งเหตุการณ์นั้นต่อมาเป็นแรงบันดาลใจให้ก่อตั้งองค์กรขึ้นมาปกป้องดูแล  นักข่าว  กันเอง ไม่ให้ถูกคุกคาม จากอำนาจเถื่อนต่างๆ

{xtypo_quote} ตอนนั้นผมเขียนเรื่องการคอร์รัปชั่นในกัมพูชาลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Nation พอข่าวออกปุ๊ป วิทยุสหรัฐฯก็แปลไปเป็นภาษากัมพูชา ไปออกอากาศ เท่านั้นแหล่ะ ทหารของรัฐบาลกัมพูชา 7 นายมาถึงที่บ้าน มาบอกให้ออกจากประเทศไป ผมเลยต้องกลับเมืองไทย {/xtypo_quote}

จุดนั้นเองทำให้เขาคิดว่าจะต้องทำอะไรซักอย่าง ไม่เช่นนั้นนักข่าวที่รายงานความจริงแต่ไปกระทบกระทั่งผู้มีอำนาจจะต้องถูกข่มขู่ คุกคาม หรือใช้ความรุนแรง ตามอำเภอใจต่อไปไม่รู้จบ

บนฐานความคิดที่ว่า เสรีภาพของสื่อนั้นไม่มีใครเป็นเจ้าของ นักข่าวไม่ว่าที่ไหนต้องได้รับการคุ้มครองในมาตรฐานเดียวกัน ทำให้เขาเริ่มประสานงานกับองค์กรสื่อในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ร่วมกันก่อตั้ง South East Asian Press Alliance (SEAPA) ขึ้นมาเพื่อเป็นปากเสียงให้กับผู้สื่อข่าวที่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาแต่ถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งทันทีก่อตั้งได้สำเร็จ  ซีป้า  ก็ทำหนังสือขอคำชี้แจงรัฐบาลชวน หลีกภัย ที่ปล่อยให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นรังแกสื่อไทย ทำให้นายชวน ถึงกับต้องเขียนจดหมายชี้แจงกลับมา

ข่าวใหญ่ที่สุดในชีวิต

การทำข่าวกัมพูชา นอกจากจะจุดประกายให้เขาลุกขึ้นต่อสู้กับการคุกคามสื่อแล้ว กัมพูชาทำให้เขาได้ทำข่าวชิ้นใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งเป็นข่าวที่เขาภูมิใจที่สุดในชีวิต

นั่นคือข่าวการลาออกของกษัตริย์สีหนุ ซึ่งเป็นข่าวเอ็กคลูซีพของหนังสือพิมพ์ The Nation

กวี เผยให้ฟังถึงที่มาที่ไปของข่าวชิ้นนี้ ว่า ผมได้เรื่องนี้มาจากกระทรวงการต่างประเทศ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งเอาโทรเลขซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศสมาให้ พอเห็นก็รู้ว่าสีหนุลาออกพอเช็คไปเช็คมาจากหลายแหล่ง ก็ยืนยันตรงกัน ทำให้มั่นใจว่าข่าวถูกต้อง จึงตัดสินใจตีพิมพ์ แต่พอพิมพ์ออกมาปรากฎว่าไม่มีใครเชื่อ ทุกคนคิดว่าเป็นข่าวลือ ถูกต่อว่าว่าไม่เป็นจริง และตอนนั้นก็ไม่มีใครพูดยืนยันอย่างเป็นทางการให้เราได้ เพราะเจ้าสีหนุอยู่ที่เมืองเปียงยาง เกาหลีเหนือ กว่าทุกคนจะรู้ความจริง ต้องรอถึง 1 สัปดาห์

{xtypo_quote} สำหรับนักข่าวที่เขียนข่าวที่ต้องรอการยืนยันถึง 1 สัปดาห์หนึ่งมันเจ็บปวดมาก แต่สุดท้ายก็เป็นจริงเช่นนั้น ถือว่าภูมิใจที่สุดแล้ว {/xtypo_quote}

ไม่มีวันไหนที่ผมไม่ได้เป็น  นักข่าว 

การเป็นนักข่าวประจำกระทรวงต่างประเทศ ทำให้  กวี  ได้เดินทางไปทำข่าวในหลายประเทศ และทำให้มีโอกาสได้สัมภาษณ์ผู้นำประเทศต่างๆมาแล้วมากมาย ตั้งแต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ฝรังเศส เกาหลี อินโดนีเซีย หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีอินเดีย

และแล้ววันเวลาก็หอบหิ้ว  กวี  ให้ต้องเข้ามานั่งอยู่ในสำนักงานในตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการเครือเนชั่น ถ้าเปรียบกับกองทัพทหารก็เรียกว่าอยู่ในส่วนบัญชาการไม่ใช่ปฎิบัติการอีกต่อไป

แต่หัวโขนที่สวมอยู่นั้นก็ไม่อาจหยุดยั้งความกระหาย ในการไล่ล่าข่าวในตัวของเขาลงได้ ทุกวันนี้เขาก็ยังคงทำงานเหมือนนักข่าวใหม่ที่ตื่นตัวกับทุกข่าวในสนามตลอดเวลา เขาออกพบปะกับแหล่งข่าวเพื่ออัพเดตข้อมูลอยู่เสมอ

กวี บอกว่า ทุกวันนี้ผมยังต้องออกพื้นที่เพื่อเจอคน ต้องไปทำข่าวเอง ต้องไปนั่งฟังเองว่าแหล่งข่าวพูดอะไร เพื่อเติมเต็มข้อมูลเป็นฐานในการเขียนข่าว และเพื่อการวิเคราะห์ที่แม่นยำที่สุด

บางทีก็แปลกใจ เวลาออกไปข้างนอก น้องๆนักข่าวถามว่า โอ้โห ! พี่กวีมาเองเลยหรือ เราก็บอกว่า อ้าว ถ้าผมไม่มาแล้วใครจะมาหล่ะ ถ้ามัวแต่รอคนอื่นฟังให้อย่างเดียวก็ตายสิ เชื่อมั้ยว่านักข่าวในสหรัฐคนหนึ่งอายุ 56 ปี เป็นบรรณาธิการใหญ่ ที่ดังมาก ยังนั่งเฝ้าข่าวอยู่ที่ทำเนียบขาว เมืองไทยก็เหมือนกันกองบรรณาธิการควรจะส่งนักข่าวที่เก๋าที่สุด ระดับบรรณาธิการเพื่อเข้าไปรับมือกับนักการเมืองที่เคี่ยวๆอย่างนี้

{xtypo_quote} เรายังมองตัวเองเป็นนักข่าวอยู่ และไม่มีวันไหนที่ผมไม่ได้เป็นนักข่าว ดังนั้นผมจึงต้องออกไปทำข่าว ไปหาข่าว ไม่อย่างนั้นตาย โดยเฉพาะถ้าคุณต้องเขียนคอลัมน์ด้วย เพราะถ้าไม่ออกไปจะไม่มีทางเลยที่จะได้รับความเห็นที่หลากหลาย ขณะที่บางคนนั่งอยู่ในออฟฟิศสบายๆ แต่ผมออกมาลุยข้างนอก ผมถึงคิดว่าชีวิตอย่างผมมันจะเหนื่อยนะ {/xtypo_quote}

นักข่าว-อาชีพที่ดีที่สุดในโลก

เส้นทางที่ทอดยาวได้พิสูจน์ให้เห็นว่า  กวี  ไม่ใช่แค่นักรายงานข่าวแล้วจบไปวันๆ เดือนๆหรือปีๆ แล้ววันดีคืนดีก็ได้รับเกียรติให้เป็น  นักข่าวอาวุโส  แต่บทบาท  นักข่าว  ของเขาผนึกแนบแน่นด้วยฉากชีวิตการต่อสู้ที่เข้มข้น เป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของเพื่อนร่วมวิชาชีพที่จะสามารถรายงานความเป็นจริงต่อสังคมได้อย่างอิสระ ปราศจากการข่มขู่ คุกคาม

สิ่งเหล่านี้ได้สร้างคุณูปการให้กับผู้ที่เดินตามหลังบนเส้นทางเดียวกันเหลือคณานับ

 กวี  มีความภาคภูมิใจ และศรัทธาในอาชีพนักข่าวอย่างแรงกล้า เขาบอกว่า  นักข่าว  นั่นเองทำให้เขายืนหยัดอยู่ได้จวบจนทุกวันนี้ อย่างไม่มีเหนื่อยล้า หรือท้อแท้ แต่บางทีเขารู้สึกแปลกใจที่ผู้คนจำนวนหนึ่งมักจะตำหนินักข่าวว่าเป็นพวกสร้างความแตกแยกทั้งที่นักข่าวคือผู้ที่รายงานความจริงที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง นักข่าวคือผู้ที่พยายามจะบอกกล่าวกับสังคมให้เห็นถึงความหวัง ให้รู้จักความกลัว ถ้าคนในสังคมเคารพความจริงทุกคนก็จะเข้าใจบทบาทของนักข่าว คืออาชีพที่ดีที่สุดในโลก

{xtypo_quote} ผมไม่เข้าใจว่าทำไมคนต้องว่านักข่าวด้วย ทั้งๆที่ นักข่าวคือผู้สร้างความหวัง ทำให้คนรู้จักความกลัว คนไม่รู้ว่านักข่าวเนี่ย เวลาเจอหน้ากันจะถามว่า วันนี้ได้ข่าวรึยัง บางทีถามก่อนกินข้าวรึยังด้วยซ้ำ เพราะนักข่าวพยายามจะรายงานข้อมูลต่อประชาชนอยู่ตลอดเวลา ลองคิดดูถ้าไม่มีนักข่าวสังคมจะเป็นอย่างไร คนจะไม่รู้จักความกลัว ไม่มีความหวัง ถ้าไม่มีนักข่าวคนไม่รู้จะเชื่อมโยงข้อมูลกับสังคมนอกเหนือจากตัวเราอย่างไร และที่สำคัญถ้าไม่มีนักข่าวเราจะไม่รู้จักมิตรหรือศัตรูที่แท้จริง นั่นเป็นเหตุผลที่ผมคิดว่านักข่าวเป็นอาชีพที่ดีที่สุดในโลก {/xtypo_quote}

กวี กล่าวด้วยรอยยิ้มและประกายในแววตา เป็นการทิ้งท้าย