ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

ผู้ไม่ละทิ้ง สัจธรรม เสรีภาพภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

 วิญญาณของนักหนังสือพิมพ์ คือ สัจธรรม และสาธารณประโยชน์ สิ่งใดที่ไม่มีสัจธรรม และไม่มุ่งหวังสาธารณประโยชน์ สิ่งนั้นก็ไม่มีวิญญาณของหนังสือพิมพ์  (คอลัมน์ปัญหาประจำวัน หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ประจำวันที่ 24 เมษายน 2500) โวหารที่คมเฉียบและท้าทาย แฝงด้วยปรัชญาข้างต้น น้อยนักที่บรรดานักหนังสือพิมพ์ยุคนั้น จะไม่รู้ว่าเป็นโวหารของใคร ท่านผู้นี้ได้รับความเคารพ นับถือในฐานะ  ปราชญ์  ทั้งบทบาทของนักหนังสือพิมพ์ และนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของประเทศไทย (มีนาคม 2518)หัวหน้าพรรคกิจสังคม  ผู้ปลุกกระแสความสำคัญของเสรีภาพ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย  ผ่านงานเขียนนับร้อยชิ้น และการบริหารประเทศ

 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ด้วยความเป็นอัจฉริยภาพด้านภาษาและการสื่อสาร โดยได้สั่งสมประสบการณ์ด้านหนังสือพิมพ์ตั้งแต่เรียนอยู่ประเทศอังกฤษจากความถนัดและชอบเขียนหนังสือพิมพ์เคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ สามัคคีสาร  ของสมาคมนักเรียนไทยในประเทศอังกฤษสมัยหนึ่ง ด้วยสำนวนโวหารและการจัดรูปเล่มของวารสารฉบับนี้ เป็นที่กล่าวขวัญถึงเป็นอย่างมาก และเมื่อกลับมาเมืองไทย ได้เขียน สักวา ลงหนังสือพิมพ์ เกียรติศักดิ์  และร่วมงานทำหนังสือพิมพ์ ลิเบอร์ตี้  ของส.เสถบุตรก่อนที่จะร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์  สยามรัฐ  กับ  สละ ลิขิตกุล  เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2493 มีม.ร.ว. คึกฤทธิ์เป็นผู้อำนวยการ และ  สละ  เป็นบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ขณะนั้นมีเพียง 8 หน้า ไม่มีโฆษณา โดยม.ร.ว. คึกฤทธิ์ได้เขียนบทความเรื่องยาวประจำฉบับทุกๆ วันรวมหลายเรื่อง และหลายปี จนเป็นที่นิยมของผู้อ่านอย่างแพร่หลาย อาทิ เรื่องสามก๊กฉบับนายทุน ตอนโจโฉต่อด้วย ฮวนน้ำ เรื่อง นายกฯ ตลอดกาลเรื่อง บทความคือบทเขียนของบรรณาธิการ เรื่องเก็บเล็กผสมน้อย และสี่แผ่นดิน

โดยเฉพาะคอลัมน์  ปัญหาประจำวัน  หนังสือพิมพ์สยามรัฐ เป็นข้อเขียนหนึ่งที่สะท้อนความปรีชาฉลาด และความรับผิดชอบในหน้าที่นักหนังสือพิมพ์ของผู้เขียน คอลัมน์นี้ นอกจากอธิบายไขข้อข้องใจของผู้อ่านในปัญหาต่างๆ ที่เขียนมาแล้ว ยังสอนผู้อ่านให้เข้าใจถึงความหมายของหนังสือพิมพ์และความสำคัญของ  เสรีภาพ ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ผู้อ่านได้รับพร้อมกันไปด้วย คือ ความสนุกหรือความขบขัน จากโวหารที่คมเฉียบ และท้าทาย อาทิ ตอบปัญหาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2500(ซึ่งเป็นวันเลือกตั้ง กล่าวกันว่าสกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย)

ถาม : ให้พระพุทธเจ้ามาตรัสว่า การเลือกตั้งคราวนี้ บริสุทธิ์จริงๆ ผมก็ไม่เชื่อ นี่ฝั่งธนยังเป็นอย่างนี้แล้ว เลือกตั้งทั่วประเทศก็คือกันละ ผมขอยืนยันว่า ไม่ยอมเชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้บริสุทธิ์ ถ้าแม้เจ้าหน้าที่จะสะอาดก็จริง แต่เหตุการณ์อุบาทว์วันนี้ มันทำลายความบริสุทธิ์แห่งการเลือกตั้งเสียแล้ว โธ่... ผมจะต้องทนทรมาน

ทรกรรมไปกับผู้แทนที่มีเสียงมาจากอันธพาลไปชั่วลูกชั่วหลานเสียแล้วหรือ  

ตอบ : ครับ ผมจะสู้ต่อไปด้วยกำลังสองมือ สองแขนและด้วยกำลังใจ กำลังปัญญาทั้งหมดที่มีอยู่ จนกว่าชีวิตนี้จะดับไปด้วยคมหอกคมดาบ หรือจนกว่าตัวผมเองจะหลุดพ้นจากการปกครองของคนพาล มาอยู่ใต้การปกครองของประชาชนโดยแท้จริงใครมีความคิดบ้าบิ่นอย่างผม ก็น่าจะหาทางรู้จักกันไว้เสียแต่บัดนี้ วันหลัง

จะได้กอดคอกันตายเพื่อบ้านเมืองของเราเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ ผมได้ใช้เวลาทั้งกลางวัน กลางคืน ไปตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ได้เห็นน้ำใจของนักศึกษาและประชาชนผู้หวังความบริสุทธิ์แล้ว ทำให้ผมเห็นว่าตนเองเลวไปถนัดใจที่แยกออกมาอยู่ต่างหาก ขณะนี้ผมเปลี่ยนไปเป็นคนละคนไม่ใช่คนเก่าอย่างแน่นอน

ถาม : ไหนๆ หม่อมก็ได้เขียนในสยามรัฐเป็นเวลานานแล้ว ก็ยังไม่ได้ผลดีอะไรขึ้นมา เพราะท่านผู้กว้างขวางไม่ยอมเห็นด้วย งดเสียไม่ดีกว่าหรือ อย่าไปแกว่งเท้าหาเสี้ยน ใช้วิธีเข้าเมืองตาหลิ่ว  

ตอบ : หากทุกคนแกว่งเท้าหาเสี้ยนให้พร้อมเพรียงกัน เสี้ยนก็จะราบไปเอง ถึงแม้จะตำเท้าเจ็บในตอนแรก ก็บ่งออกทีหลังได้ ส่วนเมืองไทยมิใช้เมืองตาหลิ่วเป็นแน่นอนแต่เป็นเมืองของคนที่มีนายตาตรงๆ ไม่มีหลิ่ว ฉะนั้นการที่คนตาหลิ่วไม่กี่คน จะมาบังคับคนทั้งเมืองนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้และไม่มีวันที่จะสำเร็จ (ตอบปัญหาวันที่ 17 เมษายน 2500)

 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ยังได้ปลูกฝังความตื่นตัวเรื่องการเมืองแก่ผู้อ่านอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันได้สะท้อนอุดมการณ์การทำงานของหนังสือพิมพ์กับความเป็นประชาธิปไตยทางการเมืองต่อรัฐบาล โดยไม่เกรงกลัวต่อกลุ่มอำนาจ สีเทา- ดำ  และผลกระทบที่เกิดขึ้น แสดงทัศนะในประเด็น  หนังสือพิมพ์กับรัฐบาล  เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 ว่า ถ้าหากรัฐบาลนั้นดี ไม่ประพฤติชั่วเป็นอาจิณอยู่แล้ว ก็ไม่น่าจะต้องวิตก ไม่น่าจะต้องคอยระมัดระวังให้หนังสือพิมพ์เสนอข่าวอะไรเกี่ยวกับรัฐบาลเป็นการปิดปากหนังสือพิมพ์รัฐบาลหลายรัฐบาลที่พยายามปิดปากหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์กลับกลายเป็นโจทก์ฟ้องรัฐบาล

{xtypo_quote} ยิ่งรัฐบาลใดพยายามที่จะปิดปากหนังสือพิมพ์มาก ก็เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลนั้นทำชั่วมากถ้าหากว่าหนังสือพิมพ์และรัฐบาลต่างฝ่ายต่างเข้าใจหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเอง แล้วก็ปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างเคร่งครัด ไม่พยายามทำลายกัน ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับหนังสือพิมพ์นั้น ก็จะเป็นไปในทางที่ไม่มีความบาดหมางอะไรข้อสำคัญหนังสือพิมพ์นั้น ถ้าหากกลมเกลียวเป็นพวกเดียวกับรัฐบาลขึ้นมาเมื่อไรแล้ว ชาวบ้านก็แย่...{/xtypo_quote}

อนาคตของหนังสือพิมพ์ในเมืองไทยเราพูดถึงเสรีภาพของหนังสือพิมพ์อยู่เสมอ แต่ก็อยากจะตั้งปัญหาถามว่า เมื่อหนังสือพิมพ์ยังนิยมเขียนข่าวและบทความที่ไม่ยึดความจริง เอาแต่อารมณ์ เอาแต่จะสร้างข่าวโด่งดัง เพื่อแย่งกันขายหนังสือพิมพ์ให้มากๆ โดยใช้หัวข่าวเป็นเครื่องมือล่อให้คนซื้ออย่างนี้ ความเชื่อถือในหนังสือพิมพ์ก็จะลดน้อยลงไป แล้วพอเราเรียกร้องเสรีภาพกันขึ้นมา ใครเขาจะให้ และใครเขาจะสนับสนุนข้อเรียกร้องของเรา

 ธรรมดาเสรีภาพนั้น เขาจะให้กันแต่กับคนที่เชื่อถือไว้วางใจได้ (คอลัมน์ข้างสังเวียน วารสารสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ประจำปี 2523)

นี่คือ มรดกทางอุดมการณ์ ที่  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราชญ์แห่งวงการนักหนังสือพิมพ์ ฝากไว้เป็นแนวทางข้อคิด หลักการทำงาน และการต่อสู้ สำหรับนักหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่ที่มือทั้งสองข้างต้องถืออุดมการณ์ และประชาชนเป็นที่ตั้ง เฉกเช่นตัวอย่างนักหนังสือพิมพ์รุ่นเก่าที่ฝากคราบน้ำหมึกไว้เป็น  วิญญาณของหนังสือพิมพ์