บรรจบ ลิ้มจรูญ

ปั้นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นยอดขายสูงสุดในประเทศไทย

หนังสือพิมพ์  ไทยรัฐ  และหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์  ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า  บรรจบ ปิ๊งไอเดียเลยจับเอาคำว่า ไทย บวก  นิวส์ เป็นหนังสือพิมพ์  ไทยนิวส์ แทนหัวหนังสือพิมพ์เดิมที่ชื่อโยนก เขาผู้นี้แหละเป็นผู้สร้างและบุกเบิก  ไทยนิวส์ จนกลายเป็นหนังสือพิมพ์รายวันยักษ์ใหญ่ภูธร

เขาเข้าสู้วงการหนังสือพิมพ์ฉบับเล็ก ฉบับหนึ่งในจ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2513 ขณะนั้นมีหนังสือพิมพ์รายวันเกิดขึ้นก่อนหน้านี้หลายฉบับ พร้อมกับขวากหนามว่า  ไม่นานก็เจ๊ง 

แต่วันนี้  ไทยนิวส์ เดินฝาขวากหนาม และพิสูจน์ได้แล้วว่า เป็นหนังสือพิมพ์ที่มียอดจำหน่ายวันละ 30,000 ฉบับ ครอบคลุมผู้อ่านภาคเหนือ 17 จังหวัด ถือได้ว่าเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายวันที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศไทย

การแจ้งเกิดของหนังสือพิมพ์ภูธรไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าที่จะมียอดจำหน่ายได้สูงขนาดนั้น  ไทยนิวส์ ต้องมีจุดขาย โดยยึดมั่นแนวทางการเสนอข่าวสารด้วยเนื้อหาของท้องถิ่นเป็นหลัก เริ่มต้นพิมพ์แค่ 8 หน้า บางวันไม่มีเงินซื้อกระดาษมาพิมพ์ บางวันกว่าจะได้พิมพ์ได้ก็ล่าช้ามาก แต่เขาไม่ยอมที่จะหยุด ถ้าวันใด ไทยนิวส์ ไม่มีวางจำหน่าย นั้นหมายถึงเขา  ทรยศต่อวิชาชีพ 

25 ปีที่ผ่านมา ไทยนิวส์  ได้ผ่านการทดสอบ และพิสูจน์แล้วว่า ไม่เคยหยุดลมหายใจ ไม่มีวันหยุดราชการ และยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากพิมพ์ป้อนมือ เปลี่ยนเป็นระบบแท่นลม และยกระบบเป็นพิมพ์ออกเซต เรียงพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ จากขาวดำเป็นสี่สีสวยงาน และน่าอ่านมากขึ้น จากต้องวิ่งอ้อนหาโฆษณาเป็นรอรับโฆษณาอยู่ที่สำนักงาน

ตลอดชีวิตเป็นนักหนังสือพิมพ์แล้ว เขายังมีความใฝ่ฝันเข้าสู่เวทีการเมืองระดับชาติ โดยกระโดดลงสมัครส.ส. แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงเปลี่ยนไปลงสนามการเมืองท้องถิ่น โดยได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ ปี 2517 และได้รับเลือกตั้งทุกสมัย เขายังได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภาจังหวัดเชียงใหม่ติดต่อกัน 9 สมัย และยังได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภาจังหวัดอีกเป็นสมัยที่ 12 เมื่อเดือนสิงหาคม 2537

ก่อนที่เขาจะก้าวสู้ความสำเร็จได้เดินหน้าฝ่าฟันอุปสรรคมาไม่น้อย จากเด็กผู้ชายชายชนบทครอบครัวยากจน แม่พาไปอาศัยอยู่กับเศรษฐีเมืองกรุง โดยทำงานบ้านทดแทนอาหาร ที่พัก และแลกกับโอกาสการศึกษาที่โรงเรียนพระนครวิทยาลัย และที่โรงเรียนวัดราชบพิธ

เริ่มเข้าสู่วงการสิ่งพิมพ์เมื่ออายุเพียง 20 ปี โดยรับจ้างทำบล็อก ตรายาง แม่พิมพ์ และป้ายโฆษณา ธุรกิจที่ทำสัมพันธ์โดยตรงกับบรรดานักหนังสือพิมพ์ จนทดสาบกลิ่นน้ำหมักไม่ได้ ต้องกระโจนเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ โดยจับมือร่วมกับเพื่อนเริ่มบุกเบิกหนังสือพิมพ์ที่กรุงเทพฯหลายฉบับ ทั้งรายปักษ์ รายสัปดาห์ และรายวัน แต่ธุรกิจไปไม่รอด มีหนี้สะสม จนปี 2505 ต้องหนี้ขึ้นไปแสวงโชคที่เชียงใหม่ โดยเริ่มต้นธุรกิจตามที่ตัวเองมีประสบการณ์จากกรุงเทพฯ ทำบล็อก แม่พิมพ์ ตรายาง และป้ายโฆษณา ก่อนตั้งต้นใหม่ทำหนังสือพิมพ์อีกครั้ง และเปลี่ยนชื่อหัวเป็น ไทยนิวส์ จวบจนถึงปัจจุบัน

วันที่ 8 มกราคม 2538 เจ้าพ่อหนังสือพิมพ์ภูธรรายวัน ได้ลาจากโลกไปอย่างสงบในวัย 64 ปี