รายงานกิจกรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ประจำปี 2549

ในช่วงปีที่ผ่านมาเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เพราะวิกฤตการณ์บ้านเมือง เป็นระยะเปลี่ยนผ่านซึ่งสื่อมวลชนก็จะมีบทบาทที่สำคัญ คณะกรรมการบริหาร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมัยที่ ๗ ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๙-๔ มีนาคม ๒๕๕๐ จึงได้ร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางการบริหารงาน ซึ่งมีสาระสำคัญครอบคลุม ๒ ส่วน คือ ๑. การปฏิรูปองค์กร คือการบริหารจัดการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปส่วนที่ ๒ คือ การกำหนดภาระกิจให้สมาคมนักข่าวฯ เป็นหัวรถจักรในการขับเคลื่อนขบวนการปฏิรูปสื่อมวลชน

โดยจะมีทิศทางในการทำงาน ๔ ทิศทางคือ

๑. ขับเคลื่อนการปฏิรูปสมาคมฯ เพื่อให้มีโครงสร้างและการจัดการที่สามารถรองรับเป้าหมายดังกล่าวทั้งในระยะสั้น และสามารถพัฒนาต่อไปได้ในระยะยาวโดยสอดคล้องกับสภาพการณ์ของแวดวงสื่อมวลชนและสังคม

๒. ผลักดันโครงสร้างใหม่ๆ ที่ได้ริเริ่มทดลองมาให้เป็นระบบ ผลักดันโครงสร้างใหม่ๆ เช่นงานด้านเครือข่าย ให้มีการจัดทีมลงไปโรดโชว์ (Road Show) เพื่อขยายเครือข่ายให้กว้างขึ้น

๓. ใช้รูปแบบใหม่ๆ ในการเชื่อมต่อพลังต่างๆ ในสังคมและเครือข่ายสื่อมวลชนต่างๆ เพื่อเป็นแรงดันให้การปฏิรูปได้ผลอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น และ ๔. ร้อยรัด ระดมพลังสมาชิกเพื่อให้ดำเนินการตามเป้าหมายอย่างมีส่วนร่วม เชื่อมโยงสมาชิกรุ่นเก่า กับรุ่นปัจจุบัน เพื่อเข้ามีส่วนร่วมในการทำงาน เพื่อแก้ปัญหารอยขาดระหว่างรุ่น

ในช่วงระยะเวลาการบริหารงานของคณะกรรมการบริหารชุดนี้ สมาคมฯมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านการบริหารครั้งสำคัญใน ๒ เหตุการณ์ คือครั้งที่ ๑ เมื่อนายประพันธ์ สุขทะใจ กรรมการบริหาร สมาคมฯ สังกัดหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันขอลาออกโดยให้เหตุผลว่ามีภาระกิจมาก จนต้องมีการประชุมใหญ่วิสามัญเลือกตั้งกรรมการบริหารคนใหม่ ซึ่งที่ประชุมใหญ่วิสามัญก็ได้เลือกนายตุลสถิตย์ ทับทิม สามัญสมาชิก สมาคมฯ สังกัดหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น เป็นกรรมการบริหาร สมาคมฯ และมีสำรองกรรมการ ๒ คือ นายเขมชาติ ชวนะธิต สมาชิกสมาคมสังกัดหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และนายสมศักดิ์ ศรีกำเนิด สมาชิกสมาคมสังกัดหนังสือพิมพ์บ้านเมืองเป็นสำรองกรรมการตามลำดับ

และเหตุการณ์ที่ ๒ ความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เข้าเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ก็ได้ส่งผลกระทบนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยด้วยเช่นกัน เนื่องจากนายภัทระ คำพิทักษ์ นายกสมาคมฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณฯ โปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และในที่สุดได้ลาออกจากตำแหน่งนายกสมาคมฯ เมื่อ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๙ โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ครั้งที่ ๑๑ สมัยที่ ๗ ประจำปี ๒๕๔๙ เมื่อ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ได้แต่งตั้งนางสาวนาตยา เชษฐโชติรส อุปนายกและเหรัญญิก สมาคมฯ ทำหน้าที่รักษาการนายกสมาคมฯ แทน

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริหาร สมาคมฯ ก็ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามภารกิจและทิศทางที่ได้กำหนดไว้โดยมีรายละเอียดดังนี้

๑.แผนงานด้านความสัมพันธ์กับสมาคมนักข่าวต่างประเทศ

๑.๑.โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนไทย-ลาว สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับสมาคมนักข่าวแห่งสปป.ลาว มาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๓๐ โดยได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางด้านวิชาชีพ การข่าวสารข้อมูลและเยี่ยมเยือนกันอย่างต่อเนื่อง ในปี ๒๕๔๙ คณะสื่อมวลชนจากประเทศลาวจำนวน ๙ คน นำโดยท่านสมสนุก อุปนายกสมาคมนักข่าวแห่งสปป.ลาว มาเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ได้เข้าพบนายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมกิจการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์มติชน ช่อง ๑๑ กรมประชาสัมพันธ์ทั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์และสถานีวิทยุกระจายเสียง และหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ จังหวัดเชียงใหม่ เยี่ยมชมงานราชพฤกษ์ พืชสวนโลก รวมทั้งมีการสัมมนาร่วมสื่อมวลชนไทย-ลาวในหัวข้อ “ความอ่อนไหวทางวัฒนธรรมไทย-ลาว”

๑.๒ โครงการ Book Rally ทอดผ้าป่าหนังสือให้ห้องสมุดสมาคมนักข่าวแห่ง สปป.ลาว ในปีที่ผ่านมาสมาคมนักข่าวแห่ง สปป.ลาว ได้จัดสร้างห้องสมุดของสมาคมฯ ขึ้นโดยการสนับสนุนของสมาคมนักหนังสือพิมพ์ประเทศเวียตนาม เพื่อเป็นศูนย์กลางขององค์ความรู้ด้านสื่อมวลชนในประเทศลาว และเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าของสื่อมวลชน นักศึกษาและประชาชนลาว แต่ห้องสมุด สมาคมฯ ยังขาดหนังสือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอยู่บางส่วน สมาคมนักข่าวฯ ไทย จึงได้ช่วยรณรงค์รับบริจาคหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์กับวงการสื่อมวลชนให้ ได้มีการมอบหนังสือให้สมาคมนักข่าวลาวเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๐ โดยหนังสือที่ได้นั้น ได้รับการบริจาคจากศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักพิมพ์เนชั่น, บางกอกโพสต์, นักข่าวจากประจำกระทรวงเกษตรฯ, นักข่าวกระทรวงคมนาคม และหนังสือจากผศ. สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ เป็นต้น

๑.๓ โครงการจัดทำหนังสือคู่มือการทำข่าวความสัมพันธ์ไทย-ลาว“ไทยไม่รู้ซาว ลาวบ่ฮู้ยี่สิบ” เป็นโครงการต่อเนื่องที่ริเริ่มทำตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจด้านความสัมพันธ์ ลาว-ไทยมากขึ้นแก่สื่อมวลชนทั้ง ๒ ประเทศ เป็นเครื่องมือในการทำข่าวเกี่ยวกับประเทศทั้งสอง ให้ถูกต้องแม่นยำ และครบถ้วน และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสื่อมวลชน ๒ ประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งเนื้อหาของหนังสือจะประกอบด้วย ๑) ประวัติความสัมพันธ์ไทย-ลาว ๒) ความเป็นมาของความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ สมาคม และที่มาของหนังสือคู่มือ ๓) ระบอบการปกครอง ไทย-ลาว ๔) ระบบโครงสร้างสื่อมวลชนไทย-ลาว ๕) ทำเนียบสื่อมวลชนไทย-ลาว ๖) คำศัพท์-วลีที่ใช้โดยไม่เข้าใจแล้ว อาจนำไปสู่ความเข้าใจผิด ๗) ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองชายแดนไทย-ลาว ๘) ประเพณีสำคัญของไทย-ลาว ๙)ระเบียบการเข้าเมืองของสื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป โดยคาดว่าจะจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้แล้สวเสร็จในเดือนเมษายน ๒๕๕๐

๑.๔ โครงการอบรมการจัดทำเวบไซต์ให้นักข่าวลาว จัดเมื่อ ๑๕- ๑๗ กันยายน ๒๕๔๙ เพื่อเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านไอทีให้กับนักข่าวลาว โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าวฯ กับสมาคมนักข่าวแห่ง สปป. มีนักข่าวลาวเข้าร่วมอบรมจำนวน ๓๐ คน

๑.๕ โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนไทย-จีน เป็นโครงการที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี ๒๕๔๒ โดยในปี ๒๕๕๐ สมาคมนักข่าวฯ จะเป็นเจ้าภาพต้อนรับคณะสื่อมวลชนจีนจำนวน ๘ คน ที่จะมาเยือนในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งนอกจากจะมีการดูงานองค์กรสื่อสารมวลชนแล้วยังจะมีการดูงานที่เกี่ยวข้องกับปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ด้วย

๒. แผนงานฝ่ายวิชาการ แบ่งออกเป็นแผนงานต่างๆ ดังนี้

๒.๑ แผนงานด้านการอบรม ในปีนี้มีการจัดอบรมเพื่อการเพิ่มพูนทักษะจำนวน ๓ ครั้ง

๒.๑.๑ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพิราบน้อย ๙ จัดเมื่อวันที่ ๖-๙ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ณ โรงแรมริ เวอร์วิวเพลส จังหวัดอยุธยา เป็นโครงการที่จัดต่อเนื่องมาเป็นรุ่นที่ ๙ มีนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาจำนวน ๗๙ คน โดยคุณสมบัติของนักศึกษาที่สนใจเข้าอบรมต้องเรียนด้านหนังสือพิมพ์ ในชั้น ปีที่ ๓ หรือปีที่ ๔ หรือเป็นนักศึกษาที่กำลังอยู่ในระหว่างการทำหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติและจะต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยผ่านการอบรมนักข่าวพิราบน้อยมาก่อน และในปีนี้สมาคมฯ ได้ขอให้นักศึกษาที่สมัครเข้าอบรมเขียนเรียงความ “หากเป็นนักข่าว ๓ วัน จะทำอะไร ” มาประกอบการสมัครเข้าอบรมด้วย ส่วนเนื้อหาการอบรมก็ยังคงเน้น เรื่องเทคนิควิธีการทำข่าวทั้งการเขียน การสัมภาษณ์ การคิดระเด็น และได้เพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนของเทคนิคการถ่ายภาพ โดยช่างภาพมืออาชีพอีกด้วย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท

๒.๑.๒ การอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวประจำปี ๒๕๔๙ จัดเมื่อวันที่ ๑๒-๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๙ ณ จุลดิสรี สอร์ทเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ได้รับมีนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ ศูนย์ข่าวและสำนักข่าวเข้าร่วมจำนวน ๒๙ คน จาก ๑๓ หนังสือพิมพ์ ๑ สำนักข่าว(สำนักข่าวประชาไท) และ ๑ ศูนย์ข่าว (ศูนย์ข่าวอิศรา) ในจำนวนดังกล่าวเป็นนักข่าวผู้หญิง ๑๔ คนและนักข่าวชาย ๑๕ คน เนื้อหาการอบรมประกอบด้วย ปาฐกถาพิเศษ เรื่องปรากฏการณ์การต่อสู้ของสื่อในสังคมไทย” โดย คุณบัญญัติ ทัศนียเวช ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, ความรู้เรื่อง “เศรษฐศาสตร์ทางเลือกในยุคทักษิณ” โดย ดร. ปกป้อง จันวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์และบทเรียนจากการเป็นนักการเมือง โดยดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ และการฝึกปฏิบัติการลงพื้นที่ทำข่าวในสนามจริง

๒.๑.๓ การอบรมเชิงปฏิบัติการ “การปฏิบัติงานและการรายงานข่าวทางด้านมนุษยธรรมในภาวะ

สงครามและความขัดแย้ง” จัดวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๙ โดยสมาคมนักข่าวฯ ร่วมกับ คณะกรรมการกาชาดสากล สำนักงานภูมิภาคกรุงเทพฯ เนื้อหาหลักมีประเด็นบทบาทสื่อในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งและในภาวะสงคราม, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และการดำเนินงานด้านมนุษยธรรมและการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกาชาดสากล มีนักข่าวที่สนใจเข้าร่วมอบรม ๒๐ คน

๒.๒ แผนงานวิชาการสาธารณะ

๒.๒.๑ โครงการขยายความร่วมมือเครือข่ายนักวิชาการและวิชาชีพได้มีการจัดประชุมร่วมระหว่าง นักวิชาการทางด้านนิเทศศาสตร์และนักวิชาชีพสื่อสารมวลชนขึ้น เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๙ เป็นโครงการที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ ๒ มีอาจารย์ผู้สอนด้านนิเทศศาสตร์จำนวน ๒๕คน จาก ๒๑ สถาบัน เข้าร่วม โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าจะให้ความร่วมมือในด้านการวิจัย, การจัดส่งนักวิชาชีพสื่อเข้าร่วมสอนในชั้นเรียน,การแลกเปลี่ยนประสบการณ์วิชาการและวิชาชีพและการจัดตั้งเครือข่ายนักวิชาการสื่อสารมวลชน ๕ ภาค เป็นต้น

 

๒.๒.๒ โครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์วิชาขีพ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากการประชุมร่วมกันระหว่าง นักวิชาการและนักวิชาชีพเมื่อ ๕ สิงหาคม ซึ่งได้มีข้อเสนอให้จัดทำโครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์วิชาขีพขึ้นเพื่อให้อาจารย์ผู้สอนหนังสือพิมพ์ได้มีประสบการณ์ในเชิงวิชาชีพหนังสือพิมพ์ โดยการเข้าฝึกงานในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ซึ่งจะดำเนินการในช่วงเดือนเมษายน ๒๕๕๐

๒.๒.๓ คณะทำงานพัฒนาแนวทางเสนอข่าวประเด็นผู้หญิง สมาคมฯ ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมสุขภาพ ผู้หญิง จัดทำโครงการพัฒนาแนวทางเสนอข่าวประเด็นผู้หญิง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้สื่อมวลชนมีความรอบคอบระมัดระวังในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับผู้หญิง โครงการเริ่มต้นตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ มีการแบ่งการทำงานออกเป็น ๒ ส่วน คือทั้งในส่วนของผู้เชี่ยวชาญและในส่วนของคณะทำงาน ซึ่งได้ผลิตออกเป็นหนังสือคู่มือเรียบร้อยแล้ว เนื้อหาประกอบด้วยประเด็นทำไมต้องมีแนวทางเสนอข่าวเรื่องเพศ, เรื่องเพศของวัยรุ่น, ข่าวข่มขืน,ข่าวความรุนแรงในชีวิตคู่, ท้องไม่พร้อมและทำแท้ง,คนรักเพศเดียวกัน เป็นต้น

๒.๒.๔ แผนงานราชดำเนินเสวนา นับเป็นกิจกรรมที่สมาคมนักข่าวฯ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องอีกกิจกรรม หนึ่ง ปีนี้ถือเป็นปีที่ ๘ ของการจัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนาต่อ ซึ่งยังคงเน้นเป้าหมายในการที่จะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ของนักข่าว รวมทั้งการติดตามสถานการณ์ประเด็นปัญหาเฉพาะหน้าเช่นเดิม โดยได้จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนาไปจำนวน ๒๖ ครั้ง

๒.๓ แผนงานจัดรายการวิทยุช่วยกันคิดทิศทางข่าว สมาคมนักข่าวฯ ร่วมกับสำนักข่าวไทยและบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) จัดรายการวิทยุ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทางสถานีวิทยุ อสมท. FM ๑๐๐.๕ Mhz ทุกวันอาทิตย์ เวลา ๑๐.๐๐-๑๑.๐๐ น. เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักข่าวรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมของสมาคมฯ รวมทั้งเป็นแหล่งข้อมุลในการสื่อสารเรื่องราวที่เกี่ยวกับข่าวให้กับสาธารณชน

๓. แผนงานสมาชิกสัมพันธ์และสวัสดิการสมาชิก

๓.๑ แผนงานสมาชิกสัมพันธ์

๓.๑.๑ กิจกรรมสัญจรพบปะองค์กรสมาชิก คณะกรรมการบริหาร สมาคมฯ ได้เดินสายพบปะกับผู้บริหารของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ แนวหน้า บ้านเมืองและฐานเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๔๙ ประเด็นที่หารือเน้นเรื่องความร่วมมือระหว่างองค์กรสื่อกับสมาคมฯ เช่น กรณีการคุกคามสื่อ รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นต่อการทำงานของสมาคมฯ

๓.๑.๒ กิจกรรมค่ายกระจิบ กระจาบ พิราบน้อย รุ่น ๓ เป็นโครงการต่อเนื่องจัดเป็นปีที่ ๓ สำหรับบุตร-หลานนักข่าวที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษา ระหว่างวันจันทร์ที่ ๑๖- วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๙ ณ พิพิธภัณฑ์เด็ก โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท ไทยออลย์ จำกัด มหาชน และ บริษัท ยูนิลิเวอร์ จำกัด และได้รับความร่วมมือจากสยามอเชี่ยนเวิลด์ เปิดโอกาสให้เข้าเยี่ยมชมฟรี

๓.๑.๓ กิจกรรมทัวร์วัฒนธรรมสานสัมพันธ์สื่อมวลชน เป็นกิจกรรมเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนักข่าวอาวุโส นักข่าวที่อยู่ระหว่างการปฏิบัติการและนักศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 โดยเป็นการล่องเรือท่องเที่ยวจากกทม. – เกาะเกร็ด โดยในระหว่างการล่องเรือมีการทำกิจกรรร่วมระหว่างนักข่าวอาวุโสกับนักข่าวรุ่นใหม่ รวมทั้งมีกิจกรรมผ่อนคลายด้วยการนวดแผนไทย มีนักข่าวอาวุโสเข้าร่วมคับคั่งอาทิ ลุงแห้ว-พิศาล พ้นภัย, น้าหอม-เชลง กัทลีรดะพันธ์, อาจารย์สุวัฒน์ ทองธนากุล, พี่ชุ-ชุติมา บูรณรัชดา, เจ๊ผุส-ผุสดี คีตวรนาฏ, พี่รุ่ง-รุ่งมณี เมฆโสภณ, พี่วสันต์ –วสันต์ ภัยหลีกลี้,พี่นาต-นาตยา เชษฐโชติรส, น้าบุตรดา-บุตรดา ศรีเลิศชัย เป็นต้น

๓.๒ แผนงานสวัสดิการสมาชิก สมาคมฯ ยังคงมอบสวัสดิการด้านต่างๆ ให้กับสมาชิกมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมาได้จัดสวัสดิการด้านต่างๆ ให้กับสมาชิกตามระเบียบสวัสดิการสมาชิก ๖ ประเภท ดังนี้

๓.๒.๑ สวัสดิการคลอดบุตรคนแรก สมาคมฯ มอบสวัสดิการคลอดบุตรคนแรกเป็นเงินช่วยเหลือ จำนวน ๓,๐๐๐ บาท โดยในปีที่ผ่านมาได้มอบสวัสดิการคลอดบุตร จำนวน ๓ ราย รวมเป็นเงิน ๙,๐๐๐ บาท

๓.๒.๒ สวัสดิการทุนการศึกษาบุตร – ธิดาสมาชิก ในปีนี้สมาคมฯ ได้มอบทุนการศึกษาให้กับบุตร – ธิดาสมาชิกที่ยื่นขอรับทุนครอบครัวละ ๑ ทุน จำนวน ๑๓๒ ทุน ทุนละ ๔,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๕๒๘,๐๐๐ บาท โดยมีพิธีมอบทุนเมื่อ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๙

๓.๒.๓ สวัสดิการรักษาพยาบาล โครงการ เพื่อดวงตาสดใส....จากใจรัตนิน “รักษาต้อกระจก”สมาคมฯ มอบสวัสดิการรักษาพยาบาลให้กับสมาชิกทั้งการรักษา พยาบาลแบบผู้ป่วยในและการรักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยนอก โดยในปีนี้สมาคมฯ ได้มอบสวัสดิการผู้ป่วยในให้กับสมาชิกจำนวน ๑ ราย รวมเป็นเงิน ๖,๐๐๐ บาทและสวัสดิการผู้ป่วยนอกจำนวน ๑๑ ราย รวมเป็นเงิน ๑๐,๗๔๗ บาท

๓.๒.๔ สวัสดิการมรณกรรม สมาคมมอบสวัสดิการมรณกรรมให้กับสมาชิกโดยแบ่งเป็น ๒ กรณีคือ การจัดทำประกันชีวิต ซึ่งในปีนี้สมาคมฯ ได้จัดทำประกันชีวิตให้กับสมาชิกจำนวน ๖๗๐ คน รวมเป็นเงิน ๓๗๒,๘๐๖.๙๗ บาท และยังมีสวัสดิการสวดอภิธรรมศพจำนวน ๒ ราย รวมเป็นเงิน ๓,๕๐๐ บาท

๓.๒.๕ สวัสดิการรักษาต้อกระจก โครงการ เพื่อดวงตาสดใส....จากใจรัตนิน “รักษาต้อกระจก” สมาคมฯ ร่วมกับโรงพยาบาลจักษุรัตนินจัดทำโครงการรักษาต้อกระจกฟรีภายใต้ชื่อ “เพื่อดวงตาสดใส....จากใจรัตนิน” โดยจะให้การรักษาต้อกระจกฟรีแก่สมาชิกของสมาคมจำนวน ๒ ดวงตาต่อปี เป็นระยะเวลา ๓ ปี ซึ่งในปีที่สองนี้สมาคมฯ ได้ส่งนายนิตย์ โลหิตคุปต์ วิสามัญสมาชิกสมาคม เข้ารับการรักษา ๒ ดวงตา

๓.๒.๖ สวัสดิการกองทุนเหยี่ยวปีกหัก เป็นกองทุนสำหรับให้ความช่วยเหลือนักข่าวอาวุโส

๓.๓ แผนงานด้านการประชาสัมพันธ์

๓.๓.๑แผนงานจุลสารราชดำเนิน ในวาระกรรมการบริหารชุดนี้ ได้มีการผลิตจุลสารราชดำเนินออกมาจำนวน ๕ ฉบับ เนื้อหาประกอบหลักของแต่ละฉบับเป็นที่สนใจของนักข่าวทั้งในส่วนของผู้บริหารและนักข่าวภาคสนาม เช่น ย้อนรอยการทำข่าวสมัย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี, บทรายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมของนักข่าวที่ไปเป็นที่ปรึกษานักการเมือง, นักข่าวกับภัยมืดด้านสุขภาพ,สิทธิและสวัสดิการนักข่าวและการปฏิรูปสื่อ เป็นต้น

๓.๓.๒ www.tja.or.th สมาคมฯอยู่ระหว่างการพัฒนาเวบไซต์ของสมาคมฯ ให้เป็นเวบไซต์ที่เป็นศูนย์รวมของข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับแวดวงวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งในแง่ของงานวิจัย ข้อเขียนที่เกี่ยวเนื่องกับข่าว ที่มาที่ไปของข่าวนั้น เบื้องหลังมุมมองการคิด ประเด็นข่าว ประวัติคนในวงการหนังสือพิมพ์

๔. แผนงานฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ

๔.๑ แผนงานด้านกฎหมาย

๔.๑.๑ โครงการวิจัยกลไกตามมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ เป็นโครงการต่อเนื่อง ที่สมาคมฯ ได้มอบหมายให้คณะนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ โดยมีรศ. ดร. บรรเจิด สิงคะเนติ เป็นหัวหน้าคณะผู้ศึกษาวิจัย ส่วนผู้ศึกษาวิจัยประกอบด้วยรศ. ดร.วิษณุ วรัญญู ,ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, อาจารย์วนิดา แสงสารพันธ์ ทำการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามมาตราดังกล่าวจาก ๓ ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศสและเยอรมัน ซึ่งได้มีการนำเสนอผลการศึกษาต่อคณะกรรมการบริหาร สมาคมฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะได้มีการจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นต่อผลการศึกษาต่อไป

๔.๒ แผนงานด้านสิทธิเสรีภาพ

๔.๒.๑ โครงการสัมมนาเนื่องในวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) สมาคมฯ ร่วมกับ SEAPA และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย โดยการสนับสนุนนงบประมาณจากUNESCO โดยในปีนี้ได้มารจัดกิจกรรมต่อเนื่องถึง ๒ วัน คือวันที่ ๒พฤษภาคม ได้มีการเดินรณรงค์ให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพสื่อบริเวณสยามเซ็นเตอร์,สยามสแควร์,สยามพารากอน,และมาบุญครอง และมีการจัดกิจกรรมทางวิชาการในวันที่ ๓ พฤษภาคม โดยมีการสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ“อาการกลายพันธ์การคุกคามสื่อในประเทศไทยและประสบการณ์ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้” รวมทั้งได้มีการเปิดตัวกลุ่ม Friend of Press และการจัดทำแถลงการณ์ร่วมเนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

๔.๒.๒ โครงการเวทีนโยบายสาธารณะ “ปฏิรูปสังคมและการเมือง ครั้งใหม่” จัดเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๙ โดยความร่วมมือระหว่างสมาคมฯ กับ ๕ องค์กรคือ ๑. คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ๓. องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ๔. มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และ๕. สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันสร้างเวทีสาธารณะ กระตุ้นให้สังคมร่วมกันคิดในเรื่องการปฏิรูปสังคมและการเมือง ทบทวนแนวทางการปฎิรูปสังคมและการเมืองอันจะนำไปสู่ข้อเสนออย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อผลักดันข้อเสนอ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสังคมและการเมืองให้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในการจัดงานได้รับเกียรติจากฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน ประธานองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ปาฐกถานำในประเด็น “ปฏิรูปสังคมและการเมือง ครั้งใหม่”

๔.๒.๓ การให้ความช่วยเหลือนักข่าวท้องถิ่น จากกรณีที่นายจักรกฤชณ์ แววคล้ายหงษ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชามติ จังหวัดตราด ถูกตำรวจบุกค้นสำนักงาน

๔.๒.๔ โครงการรณรงค์ “ต้านคุกคามสื่อ” จากกรณีที่เกิดเหตุการณ์กลุ่มคาราวานคนจนปิดล้อมสำนักงาน

หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น, กรณีกลุ่มม็อบมอเตอร์ไซต์ล้อมสำนักงานหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ทำให้บรรดาผู้ประกอบวิชาชีพสื่อทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ ได้มาร่วมตัวกันกว่าพันคนที่สมาคมนักข่าวฯ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๙ โดยใช้ข้อความรณรงค์ “หยุดคุกคามสื่อ คุกคามประชาชน” พรอ้มทั้งใช้สัญญลักษณ์กำปั้นเผด็จการไล่ทุบนกพิราบ พร้อมทั้งมีการอ่านบทกวี, การประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการคุกคามสื่อมวลชน และการจัดทำบทบรรณาธิการร่วม

๕. แผนงานกิจกรรมพิเศษ เป็นแผนงานที่มีภารกิจด้านการหาทุนเพื่อจัดทำกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมฯ เป็นหลัก โดยในคณะกรรมการบริหาร สมาคมฯ ชุดปัจจุบัน ได้จัดกิจกรรม ดังนี้

๕.๑ การจัดงานวันนักข่าว ๒๕๕๐ กาล่าดินเนอร์ โดยในปีนี้เป็นการจัดครั้งที่ ๒ สมาคมฯ ได้รับเกียรติจาก พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “คิดเพื่อประเทศไทย” และในวโรกาสครบรอบ ๘๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมาคมฯ ยังได้จัดนิทรรศการภาพถ่าย “คิดตามพ่อ” เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสดังกล่าว รวมทั้งมีการประกาศผลรางวัลการประกวดข่าวประเภทต่างๆ ด้วย

๕.๒ โครงการสร้างอาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยส่วนต่อขยาย เนื่องจากที่ทำการสมาคมฯ ปัจจุบันมีความคับแคบไม่เพียงพอต่อการใช้งาน จึงมีแนวความคิดว่าจะใช้พื้นที่ด้านข้างสมาคมฯ บริเวณที่ติดกับสถานีตำรวจสามเสน สร้างอาคารส่วนต่อขยาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้และขอคำปรึกษาหารือจากผู้เกี่ยวข้อง

๕.๓ โครงการจัดพิมพ์หนังสือ “เบื้องแรกประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมบทสัมภาษณ์,บทความและบทบันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์สมัย พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๕๐๐ ซึ่งดำเนินการจัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ โดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย(นายโชติ มณีน้อย เป็นนายกสมาคมฯ) และอุปถัมภ์การจัดพิมพ์โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คณะกรรมการบริหาร สมาคมฯ เห็นว่าเป็นหนังสือที่ดี มีคุณค่า จึงมีมติให้จัดพิมพ์หนังสือ “เบื้องแรกประชาธิปไตย” เพื่อจำหน่ายหารายได้เข้าสมาคมฯ ซึ่งอย่ในระหว่างการดำเนินการ

๖. แผนงานสถาบันข่าวอิศรา จากการทำงานของศูนย์ข่าวอิศรา “โครงการสื่อสันติภาพ : โต๊ะข่าวภาคใต้” ประสบความสำเร็จ จนได้รับการยกระดับเป็นสถาบันข่าวอิศรา เมื่อ ๕ มีนาคม ๒๕๔๙ สถาบันข่าวอิศรา ได้พัฒนาโครงการด้านข่าวออกเป็น ๒ โครงการ ดังนี้

๖.๑ โครงการโต๊ะข่าวภาคใต้ www.tjanews.org เป็นโครงการต่อเนื่องที่สมาคมนักข่าวฯ ร่วมกับหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ลงพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งได้รับการสนับสนุนในการดำเนินงานเป็นอย่างดีจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย, นักวิชาการ สื่อมวลชนท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ จากเดิมที่โครงการโต๊ะข่าวภาคใต้ จะสิ้นสุดโครงการประมาณปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ก็มีการปรับเปลี่ยนบุคลากรและปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเขียนโครงการหาทุนมารองรับการทำงานของโต๊ะข่าวภาคใต้

๖.๒ โครงการโต๊ะข่าวประชาธิปไตย www.politic.tjanews.org เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากการที่สมาคมฯ ตระหนักถึงความวิกฤตทางการเมือง ซึ่งสื่อมวลชนน่าจะมีส่วนร่วมในการหาทางออกจากวิกฤตและร่วมสร้างการเมืองใหม่ จึงได้ริเริ่มจัดทำโครงการโต๊ะข่าวประชาธิปไตย ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในรายงานข่าวสารและข้อมูลด้านการปฏิรูปการเมือง รวมทั้งเป็นการเผยแพร่แนวคิดของนักคิดและนักวิชาการคนสำคัญของประเทศ

๖.๓ โครงการจัดทำหนังสือคู่มือการทำข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง (๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้) จากการทำงานของศูนย์ข่าวอิศรา ซึ่งดำเนินการมากกว่า ๒ ปี สมาคมฯ เห็นว่าเพื่อเป็นประโยชน์และเพื่อการพัฒนาศักยภาพของสื่อมวลชนในการทำข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง จึงได้จัดทำหนังสือคู่มือการทำข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งขึ้น โดยเป็นการถอดบทเรียนของทีมงานผู้สื่อข่าวที่ลงพื้นที่ทำข่าวใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้จะได้เป็นคู่มือประกอบการทำข่าวท่ามกลางความขัดแย้งให้ได้ดียิ่งขึ้น นำไปสู่การสื่อสารเพื่อสร้างสันติภาพของสังคมไทย คาดว่าจะแล้วเสร็จต้นเดือนมีนาคม ๒๕๕๐

๖.๔ โครงการเสวนาภาคประชาชน เรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทวีมากขึ้นส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ตกอยู่ภายใต้ความกลัว เกิดการแบ่งพวก แยกกลุ่ม มีแนวโน้มที่จะเกิดความเกลียดชังซึ่งกันและกัน รวมทั้งการใช้ความรุนแรงทำร้ายซึ่งกันและกันได้ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างการเรียนรู้ให้กับสื่อมวลชนและภาคประชาชน ในการร่วมกันทบทวนสถานการณ์ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาความแตกแยกที่เกิดขึ้นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สมาคมฯ จึงได้จัดทำโครงการฯขึ้นโดยการพานักข่าวลงพื้นที่เมื่อวันที่ ๓-๔ มกราคม ๒๕๕๐ และได้มีการจัดเสวนาเรื่อง “การสื่อสารเพื่ออนาคต ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้” เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

๖.๕ โครงการปรับปรุงโครงสร้างการทำงานของสถาบันข่าวอิศราและสถาบันพัฒนาสื่อสารมวลชน เพื่อให้การทำงานขององค์กรสื่อมีความเป็นเอกภาพ เปี่ยมประสิทธิภาพและมีพลังมากขึ้นนั้น คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ และคณะกรรมการบริหาร สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้มีมติร่วมกันในหลักการให้ปรับโครงสร้างการทำงานของสถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยและสถาบันข่าวอิศรา ให้เป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้โครงสร้างเดียวกันในนาม “สถาบันอิศรา” เพื่อเป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านงานการฝึกอบรมและการวิจัยและพัฒนาในวิชาชีพสื่อมวลชน โดยจะมีภารกิจงานด้านการพัฒนาวิชาชีพสื่อมวลชน งานด้านการฝึกอบรม การวิจัยและพัฒนาทางวิชาชีพและการส่งเสริมการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน

บทสรุป : อุปสรรคที่ท้าทาย ต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากทุกภาคี

ในระยะเวลาเพียง ๑ ปีที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวฯ ได้พบอุปสรรคใหญ่ๆ และอุปสรรคใหม่ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นแรงกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง, คำถามจากพ้องเพื่อนในวงการสื่อต่อบทบาท, ภารกิจที่เปลี่ยนแปลงแต่ท้าทาย, การเข้าไปมาส่วนร่วมทางการเมือง, การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานในบางภารกิจ, การต่อสู้จากการคุกคามของกลุ่มคน

สมาคมฯ สามารถก้าวข้ามผ่านพ้นอุปสรรคเหล่านี้ ได้ด้วยแรงสนับสนุน ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นและความร่วมมือของเพื่อนสื่อมวลชนไม่ว่าจะเป็นสมาชิก หรือไม่เป็นสมาชิก อยู่ในระดับปฏิบัติการหรือระดับบริหาร รวมทั้งแรงสนับสนุนจากภาคี,พันธมิตร ทั้งนักวิชาการ, นักธุรกิจ นักคิดและนักพัฒนาสังคม จึงขอขอบคุณและหวังว่าจะได้ร่วมมือกันสร้างสรรค์เพื่อวงการสื่อสารมวลชนและประชานต่อไป