รายงานกิจกรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ประจำปี 2547

คณะกรรมการบริหาร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมัยที่ 5ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 5 มีนาคม 2547-4 มีนาคม 2548 ได้ร่วมกันกำหนดนโยบายในการดำเนินงานดังนี้

  1. ส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ยึดมั่นในจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และดำรงไว้ซึ่งความ เป็นกลาง เพื่อให้เกิดการยอมรับ และน่าเชื่อถือของวิชาชีพต่อสังคม
  2. ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และผลักดันให้มีการปฏิรูปสื่อสารมวลชนให้เป็น ไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญโดยเร็ว
  3. พัฒนาศักยภาพการประกอบวิชาชีพด้วยการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้นำทางความคิด
  4. สร้างและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกสมาคม องค์กรผู้ประกอบธุรกิจสื่อมวลชน และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ

จากนโยบายในการทำงานดังกล่าว คณะกรรมการบริหารได้แบ่งการทำงานออกเป็นคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ จำนวน 6 คณะ ดังนี้

1. คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ แบ่งการจัดทำกิจกรรมต่าง ๆ ออกเป็น 2 แผนงาน ดังนี้

1.1 แผนงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างสมาคมฯกับองค์กรต่างประเทศในระดับนานาชาติ

1.1.1 การประชุมใหญ่ของ IFEX สมาคมฯ ได้มอบหมายให้นางสาวบุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์ อุปนายกฝ่าย ต่างประเทศ สมาคมฯ เข้าร่วมการประชุมใหญ่ของ International Freedom of Expression Exchage –IFEX เมื่อวันที่ 14-20 มิถุนายน 2547 ณ เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจัน ในฐานะที่สมาคมนักข่าวฯเป็นสมาชิกก่อตั้งของ IFEX ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรด้านสื่อมวลชนที่ทำงานรณรงค์ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศแคนาดา 1.1.2. การสัมมนาเรื่องการบริหารสหภาพแรงงาน สมาคมฯ ได้มอบหมายให้นายอนุชา เจริญโพธิ์ อนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมฯ เข้าร่วมการสัมมนาเรื่องการบริหารสหภาพแรงงาน (Managing Journalists’ Union for Chage) ณ ประเทศศรีลังกา ตามคำเชิญของ Internation Federation of Journalists เมื่อ 21-23 สิงหาคม 2547 1.1.3 การให้กำลังใจบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Tempo ประเทศอินโดนีเซีย สมาคมฯ มอบหมายให้นาง สาวบุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์ อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมฯ เข้าร่วมให้กำลังใจนาย Bambang Harymurti บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Tempo ของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งถูกพิพากษาให้จำคุก 1 ปีในคดีหมิ่นประมาท ณ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อ15-17 กันยายน 2547

1.2 แผนงานด้านความสัมพันธ์กับสมาคมนักข่าวต่างประเทศ 1.2.1.การต้อนรับสื่อมวลชนกัมพูชา หลังจากที่ห่างเหินจากการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกันมาเป็นเวลานาน ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของการกลับมามีกิจกรรมด้านการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกันอีกครั้ง โดยสมาคมฯ ได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิฟรีดริค เอแบรท์ สนับสนุนค่าเดินทางให้กับนักข่าวกัมพูชาที่มาเยือนประเทศไทย เมื่อ 16-22 สิงหาคม 2547 โดยมีนักข่าวกัมพูชามาเยือนจำนวน 6 คน จาก 2 สมาคมฯในประเทศกัมพูชา คือ the League of Cambodia Journalists (LCJ) และ Cambodian Association for Protection of Journalists (CAPJ) และได้มีการสัมมนาร่วมกันในหัวข้อ “Role of Media in Enhancing Thai-Cambodia Relation”

1.2.2 โครงการต้อนรับสื่อมวลชนจาก สปป. ลาว เป็นโครงการที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องภายในระยะเวลากว่า 10 ปี โดยในปีนี้ผู้แทนจากสมาคมนักข่าวแห่ง สปป. ลาว(Lao Journalists Association) มาเยือนจำนวน 11 คน เมื่อ 21-28 สิงหาคม 2547 โดยในการมาเยือนครั้งนี้ได้มีการสัมมนาร่วมกันระหว่างนักข่าวไทยและนักข่าวลาวในหัวข้อ “บทบาทสื่อมวลชนกับการส่งเสริมความเข้าใจวัฒนธรรมไทย- ลาว” และในปีเดียวกันนี้ได้ให้การต้อนรับนักข่าวและเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2547 พร้อมทั้งจัดการสัมมนาร่วมกันในหัวข้อ “ก้าวย่างใหม่ ความสัมพันธ์สื่อมวลชนไทย-ลาว”

1.2.3 โครงการจัดทำหนังสือคู่มือการทำข่าวความสัมพันธ์ไทย-ลาว “ไทยไม่รู้ซาว ลาวบ่ฮู้ยี่สิบ” โดยเป็น ความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยกับสมาคมนักข่าวแห่ง สปป.ลาว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจด้านความสัมพันธ์ ลาว-ไทยมากขึ้นแก่สื่อมวลชนทั้ง 2 ประเทศ รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการทำข่าวเกี่ยวกับประเทศทั้งสอง ให้ถูกต้องแม่นยำ และครบถ้วน และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสื่อมวลชน 2 ประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสมาคมไทย-ลาวและสถานฑูตไทย ณ นครเวียงจันทร์

1.2.4 โครงการความร่วมมือทางวิชาการไทย-ลาว จากการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนไทย-ลาวมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้เกิดความร่วมมือทางด้านวิชาการในการพัฒนาคุณภาพการรายงานข่าวร่วมกัน โดยสมาคมฯ ได้ร่วมกับองค์กรเครือข่ายต่าง ๆ จัดการอบรมและสัมมนาให้กับสื่อมวลชนในประเทศลาว 3 หลักสูตรคือการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการทำข่าวสิ่งแวดล้อมระหว่างนักข่าวไทย-ลาว จัดโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม (21-23 พฤษภาคม 2547 ณ แขวงบ่อลิคำไซย สปป. ลาว) การอบรมเชิงปฏิบัติการการทำข่าวโทรทัศน์ลาว (23-25 กรกฎาคม 2547 ณ กรุงเวียงจันทร์ สปป.ลาว) และการอบรมเรื่องการใช้ไอทีในงานข่าวโดยชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ (24-26 กันยายน 2547 ณ กรุงเวียงจันทร์ สปป. ลาว)

2. คณะอนุกรรมการพิจารณาบทบาทสมาคม ฯ ในสถานการณ์เร่งด่วน สมาคมฯ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการชุดนี้ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาบทบาทของสมาคมฯ เมื่อเกิดสถานการณ์เร่งด่วนเฉพาะหน้า โดยในปีที่ผ่านมาได้มีการออกแถลงการณ์และจดหมายเตือนในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

2.1 แถลงการณ์เรื่อง การยุติคดีเหตุเกิดที่ชั้น 28 ระหว่างหนังสือพิมพ์มติชนและพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เมื่อ 14 เมษายน 2547

2.2. แถลงการณ์เนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วม กับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยออกแถลงการณ์เนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม2547 เรียกร้องไปยังรัฐบาล นักการเมือง ข้าราชการ เพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อมวลชนตลอดจนประชาชนคนไทยที่ประกอบอาชีพอื่นๆ ในฐานะผู้บริโภคข่าวสาร ให้ร่วมกันตระหนักถึงประเด็นปัญหาทางด้านกฎหมายและนโยบายของรัฐบาลที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้เสรีภาพในการแสวงหาความจริงและแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2540

2.3 แถลงการณ์เตือนกรณี บ.เอ็น.อาร์.ที. เชิญนักข่าวร่วมแถลงข่าวแล้วมีการจับรางวัล โดยสมาคมฯ ได้ ออกแถลงการณ์ดังกล่าวเพื่อตักเตือนเรื่องการกิจกรรมในลักษณะดังกล่าว เมื่อ 15 มิถุนายน 2547

2.4 จดหมายเตือนกรณีการนำเสนอข่าว ภาพข่าว ของสื่อมวลชนในกรณี “น้องแน็ท” ซึ่งอาจก้าวล่วงไปใน เรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล รวมถึงจริยธรรมในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เมื่อ 30 กรกฎาคม 2547

2.5.จดหมายเตือนกรณีมีกลุ่มบุคลแอบอ้างชื่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ต่างๆเรียกร้องเงินจากแหล่งข่าว (5 กรกฎาคม 2547)

2.6 แถลงการณ์ข่าวผลการหาข้อเท็จจริงกรณีการติดตั้งไมโครโฟนในห้องนักข่าวกระทรวง ICT (13กรกฎาคม 2547

2.7. จดหมายเตือนเรื่อง เรื่องความระมัดระวังในการเสนอภาพเหตุการณ์คลื่นยักษ์ “สึนามิ” (27 ธันวาคม 2547)

3. คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ ได้แบ่งการจัดทำกิจกรรมต่าง ๆ ออกเป็น 5 แผนงาน คือ

3.1. แผนงานด้านการอบรม ต่าง ๆ ในปีนี้มีการจัดอบรมเพื่อการเพิ่มพูนทักษะจำนวน 10 ครั้ง

3.1.1 การอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพิราบน้อยรุ่น 7 เป็นกิจกรรมที่สมาคมฯ จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพสื่อสารมวลชนด้านสิ่งพิมพ์ (Professional Development) ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อจริยธรรมในวิชาชีพ (Ethics Responsibility) และเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะองค์กรเพื่อสังคม (Organizational Social Responsibility) โดยมีนักศึกษาที่เรียนด้านวิชาการหนังสือพิมพ์จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วมการอบรมจำนวน 80 คน เมื่อวันที่ 1 – 4 กรกฎาคม 2547 ณ บ้านสวนสาริการีสอร์ท ตำบลสาริกา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท ทรู คอปอร์เรชั่น จำกัด มหาชน

3.1.2 การอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพิราบน้อยภูมิภาค เป็นโครงการที่สมาคมฯ ริเริ่มจัดขึ้น เป็นปีแรกเพื่อเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ตรงในวงการสื่อมวลชนไปยังนักศึกษาที่เรียนด้านนิเทศศาสตร์ในสถาบันการศึกษาในภูมิภาคต่าง ๆ ใน 3 ภูมิภาค คือ การอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพิราบน้อยภาคอีสานเป็นการจัดร่วมกับเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคอีสานและมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (15-17 ตุลาคม 2547 ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) การ อบรมเชิงปฏิบัติการ “Journalists Cybernate” ให้กับนักศึกษานิเทศศาสตร์ ภาคเหนือ เป็นการจัดร่วมกับเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคเหนือและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (22-24 ตุลาคม 2547 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) และการอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพิราบน้อยภาคใต้ เป็นการจัดร่วมกับเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (17-19 ธันวาคม 2547 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การยูนิเซฟ มีนักศึกษาเข้าร่วมการอบรมภาค ละ 40 คน รวมมีนักศึกษาผ่านการอบรมจำนวน 120 คน

3.1.3 การอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวใหม่ สมาคมฯ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวใหม่ขึ้นเพื่อ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการทำข่าวของสื่อมวลชน โดยเนื้อหาการอบรมประกอบด้วยเทคนิคการทำข่าวสืบสวนสอบสวน การใช้ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร เมื่อ 23-25 กรกฎาคม 2547 ณ ไร่กุสุมารีสอร์ท จังหวัดสระบุรี ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ธนาคารกสิกรไทย และบริษัท ปูนซิเมนต์ จำกัด มหาชน มีนักข่าวรุ่นใหม่เข้าร่วมการอบรม 30 คน

3.1.4 การอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น 4 ภาค สมาคมฯ ตระหนักในความสำคัญของนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอเรื่องราวความเป็นไปของชุมชนท้องถิ่น ใกล้ชิดกับข้อมูลและมีความรู้ความเข้าใจในสภาพปัญหาอย่างลึกซึ้ง สมาคมฯ จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่องควบคู่กับไปการจัดการประกวดข่าวยอดเยี่ยมของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น โดยในปีนี้ ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจำนวน 4 ครั้ง คือการสัมมนานักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคกลาง-ภาคตะวันออก (21-23 พฤษภาคม 2547 ณ โรงแรมพินนาเคิล จังหวัดชลบุรี) การสัมมนานักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (4-6 มิถุนายน 2547 ณ โรงแรมภูคำ สถาบันราชภัฏเลย จังหวัดเลย ) การสัมมนานักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคเหนือ (18-20 มิถุนายน 2547 ณ โรงแรมเกาะลอยโกลเด้นท์ปาร์ค จังหวัดตาก ) และการสัมมนานักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคใต้ (26-27 มิถุนายน 2547 ณ จังหวัดภูเก็ต)

3.1.5 การอบรมหลักสูตรกำหนดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อการเป็นวิทยากรหลักสูตรข่าวสืบสวนสอบสวน (Train the Trainers) สมาคมฯ จัดการอบรมหลักสูตร Train the Trainers ขึ้นเมื่อ 22 – 25 มีนาคม 2547 โดยได้คัดเลือกนักข่าวที่ผ่านการอบรมการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน (ข่าวเจาะ) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปลายปี 2546 จำนวน 6 คนเข้าอบรมโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการทำข่าวสืบสวนสอบสวนจากประเทศแคนาดา Ms. Madelaine Drohan และ Mr. Bernard Simon เป็นวิทยากร ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก Canadian International Development Agency (CIDA) โดยความร่วมมือจาก Canadian Journalists for Free Expression (CJFE)

3.2 แผนงานด้านวิชาการสาธารณะ

3.2.1 โครงการสัมมนาทางวิชาการติดตามนโยบายสาธารณะ เรื่อง “4 ปีประเทศไทย : ภาพจริง- ภาพลวง ?” เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรซึ่งเป็นสถาบันวิชาการและองค์กรสาธารณะ 9 องค์กร คือคณะนิติศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ และศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยการพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ศูนย์สาธารณะประโยชน์และประชาสังคม นิด้าและเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบนโยบายรัฐบาลในเชิงลึก เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายประชานิยมต่อการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เพื่อหาข้อสรุปในการหาทางออกและเสนอญัตติสาธารณะให้สังคมได้เรียนรู้ร่วมกัน ในโอกาสของการครบรอบ 4 ปีรัฐบาล โดยมีการจัดสัมมนาในเนื้อหาต่าง ๆ ถึง 10 หัวข้อ ระหว่างวันที่10 พฤศจิกายน – วันที่ 12 ธันวาคม 2547

3.2.2 . เปิดตัวงานวิจัยเรื่อง Safe Sex and the media in Southeast Asia สมาคม ฯ ร่วมกับ สมาคมเอดส์แห่งฟิลิปปินส์ (AIDS Society of the Philippines) และสถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดงานเปิดตัวหนังสือชุด 7 เล่ม ซึ่งเป็นผลจากการวิจัยเรื่องสื่อมวลชนกับการเสนอข่าวการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อ 13 กรกฎาคม 2547 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการจัดประชุมนานาชาติเรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 15

3.3 แผนงานเสาร์เสวนา ได้มีการจัดกิจกรรมเสาร์เสวนาต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6 โดยในปีนี้ยังคงเน้นเนื้อหาที่จะ ช่วยพัฒนาองค์ความรู้ของนักข่าว รวมทั้งการติดตามสถานการณ์ประเด็นปัญหาเฉพาะหน้าเช่นเดิม โดยได้จัดกิจกรรมเสาร์เสวนาไปจำนวน 15 ครั้ง ดังนี้ ”ทางออกวิกฤตภาคใต้” (9 พฤษภาคม 2547), “วิกฤตพลังงานกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ” (15 พฤษภาคม 2547), “เจาะลึกเงื่อนงำช่อง 5 ,ช่อง 9 และ ช่อง 11” (30 มิถุนายน 2547), “FTA” (1 กรกฎาคม 2547) “บทเรียนจากโรคซาร์สถึงไข้หวัดนก : ระบบเฝ้าระวังโรคบกพร่องหรืออย่างไร ?” (15 กรกฎาคม 2547), “บทบาทอย่างที่ควรจะเป็นของ สสส.?” (วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม 2547), วิกฤตน้ำมัน : ทางตันหรือทางออก” (14 สิงหาคม 2547), “การคุมคามสิทธิเสรีภาพในการตรวจสอบอำนาจรัฐ” (6 กันยายน 2547), เสวนาเรื่อง “โพลล์ เป็นพิษ?” (8 กันยายน 2547), “อำนาจ กกต. กับสื่อในแง่มุมกฎหมาย” (5 ตุลาคม 2547), “บทบาทของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในอนาคตโดย ดร. ฉลองภพ สุสังกรกาญจน์” ( 12 ตุลาคม 2547), เปลี่ยนขุนพล ปรับยุทธศาสตร์ ดับไฟใต้ได้จริงหรือ?” (13 ตุลาคม 2547), “การรัฐประหารในพม่ากับผลกระทบต่อธุรกิจการเมืองไทย” (21 ตุลาคม 2547), เสวนาเรื่อง “วิกฤตองค์กรอิสระ:อนาคต สตง.” ( 31 ตุลาคม 2547)และการเสวนาเรื่อง “การเมืองภาคพลเมืองเรื่องหมากัดกัน” (30 มกราคม 2548)

3.4 คณะทำงานบัญญัติศัพท์การเสนอข่าวประเด็นผู้หญิงในสื่อมวลชน สมาคมนักข่าวฯ ร่วมกับมูลนิธิสร้าง ความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง ได้จัดทำโครงการพัฒนาแนวทางการเสนอข่าวประเด็นผู้หญิง โดยได้มีการจัดตั้งคณะทำงานบัญญัติศัพท์การเสนอข่าวประเด็นผู้หญิงในสื่อมวลชน โดยมีนักหนังสือพิมพ์ และนักวิชาการด้านสตรี เป็นคณะทำงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางการเสนอข่าวและคำศัพท์ทางเลือกในประเด็นผู้หญิงที่มีความละเอียดอ่อนต่อมิติเรื่องเพศ รวมทั้งเพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ปัญหาที่พบในการนำเสนอประเด็นปัญหาผู้หญิงด้วยกรอบวิเคราะห์เรื่องเพศและสิทธิมนุษยชน โดยที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือเพื่อนำเสนอประเด็นปัญหาไป 4 ประเด็นปัญหา คือ ประเด็นเรื่องเพศกับวัยรุ่น, ประเด็นข่มขืน, ประเด็นความรุนแรงในครอบครัวและประเด็นความไม่พร้อมในการตั้งครรภ์ การทิ้งลูกและการทรมานเด็ก ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง

3.5 แผนงานจัดรายการวิทยุช่วยกันคิดทิศทางข่าว สมาคมนักข่าวฯ ร่วมกับสำนักข่าวไทยและบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) จัดรายการวิทยุ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทางสถานีวิทยุ อสมท. FM 100.5 Mhz ทุกวันอาทิตย์ เวลา 15.00-16.00 น. โดยเป็นรายการที่เน้นการพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ข่าวในรอบสัปดาห์ และการรายงานเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมฯ โดยมีนักจัดรายการที่เป็นกรรมการ อนุกรรมการ สมาคมฯ รวมทั้งนักข่าวที่อยู่ในสนามข่าว

4. คณะอนุกรรมการฝ่ายส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ แบ่งการทำกิจกรรมออกเป็นด้านต่าง ๆ 3 แผนงาน คือ

4.1 แผนงานด้านกฎหมาย สมาคมฯ จัดทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องด้านกฎหมาย ดังนี้

4.1.1 โครงการศึกษาวิจัยกลไกตามมาตรา 41 ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาวิจัยกลไกตาม มาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 โดยจะมีการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามมาตราดังกล่าวจาก 3 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศสและเยอรมัน และจะมีการจัดประชุมเพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็นต่อผลการศึกษาดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การจัดทำกลไกที่สอดคล้องกับมาตรา 41 ต่อไป

4.1.2 โครงการติดตามของ กกต. เรื่องการห้ามทำโพล จากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีคำสั่งห้ามเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน (โพล) จากคำสั่งห้ามดังกล่าว สมาคมฯ เห็นว่าน่าจะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติขัดขวางการพัฒนางานทางด้านวิชาการ และเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล สมาคมฯ จึงได้ประชุมระดมความคิดเห็นต่อคำสั่งห้ามเผยแพร่ผลการสำรวจดังกล่าว เมื่อ 8 กันยายน 2547 และต่อมาได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดการเสวนาเรื่อง “อำนาจ กกต. กับสื่อในแง่มุมกฎหมาย” เมื่อ 5 ตุลาคม 2547 โดยจากการเสวนาระดมความเห็นครั้งนี้ ทำให้สมาคมฯ ได้ข้อสรุปในการทำจดหมายถึง กกต. ขอให้ยกเลิกประกาศห้ามทำโพล โดยยืนยันว่า กกต. มีอำนาจออกได้เพียงประกาศ “อันจำเป็น” แก่การปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น มิใช่มีอำนาจออกประกาศได้ทุกเรื่อง ซึ่งประกาศห้ามดังกล่าวนั้นเป็นการขัดต่อหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพทางวิชาการของประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม กกต. ก็ได้มีจดหมายแจ้งยืนยันประกาศห้ามดังกล่าวมายังสมาคมฯ เมื่อ 27 มกราคม 2548

4.1.3 การโฆษณาอาหารและยาในหน้าหนังสือพิมพ์ สมาคมฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิกกรณีการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาอาหารและยาในหน้าหนังสือพิมพ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ลงโทษเปรียบปรับหนังสือพิมพ์โดยอ้างมาตรา 88 ทวิ (4) และมาตรา 88 (5) และ (6) ข้อหาโฆษณาขายยาโดยมิได้รับอนุญาต ซึ่งจากข้อร้องเรียนดังกล่าว สมาคมฯ จึงได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2547 และหลังจากนั้น อ.ย. ก็ได้มีจัดประชุมร่วมกับผู้แทนหนังสือพิมพ์ทั้งหมดเพื่อหาข้อสรุบแนวทางการโฆษณาอาหารและยาร่วมกัน จากการประชุมครั้งนี้ทำให้เกิดคณะทำงานร่วมระหว่าง อ.ย. กับสมาคมฯ ซึ่งจะทำหน้าที่ร่วมกันพิจารณาแนวทางดังกล่าวให้เกิดเป็นข้อตกลงในการปฏิบัติต่อไป

4.2 แผนงานด้านเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ 4 ภาค สมาคมฯ ได้มอบหมายให้กรรมการและอนุกรรมการของสมาคมฯ ประสานงานกับเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ 4 ภาค ดังนี้ มอบหมายนางสาวอรุณี เอี่ยมสิริโชค เป็นผู้ประสานงานกับเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคเหนือ, นางสาวอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ เป็นผู้ประสานงานกับเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคตะวันออก, นายวัสศ งามขำ เป็นผู้ประสานงานกับเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคอีสานและนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ เป็นผู้ประสานงานกับเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้ ในปีที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้สนับสนุนให้ทุกเครือข่าย จัดตั้งเวบไซด์ของเครือข่ายฯ โดยสมาคมฯ ได้ประสานงานหางบประมาณจัดซื้อคอมพิวเตอร์ให้จากมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท รวมทั้งได้มีการร่วมกันจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น 4 ภาค และการอบรมเชิงปฏิบัตินักข่าวพิราบน้อย 3 ภาค และได้สนับสนุนให้เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้จัดการสัมมนาเชิงธุรกิจหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคใต้ เมื่อวันที่ 29-30 ตุลาคม 2547

4.3 แผนงานด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ สมาคมฯ มีกิจกรรมด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ดังนี้

4.3.1 โครงการจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในรอบปี 2546 สมาคมฯ ได้มอบหมายให้ดร. วิลาสินี พิพิธกุล อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะ ร่วมกันจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในรอบปี 2546 ซึ่งได้รวบรวมปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน โดยมุ่งเน้นไปที่สื่อหนังสือพิมพ์ มีกรณีศึกษาของหนังสือพิมพ์ 3 กรณี คือ กรณีของเครือเนชั่น เครือผู้จัดการ และหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ นอกจากนี้ รายงานยังได้ทบทวนสถานการณ์ของวิทยุชุมชน ซึ่งเป็นกลไกของการเรียนรู้สิทธิเสรีภาพแห่งสื่อภาคประชาชน และได้ประเมินประสิทธิภาพของพรบ.ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งโดยหลักการแล้วน่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยคุ้มครองการแสวงหาข่าวสารของสื่อมวลชนและประชาชน มีการเผยแพร่รายงานฉบับนี้ตั้งแต่ปลายปี 2547 เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก South East Asian Press Aliance

4.3.2 โครงการสัมมนาเนื่องในวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) สมาคมฯ ร่วมกับ SEAPA และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดการสัมมนาเนื่องในวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เมื่อ 3-4 พฤษภาคม 2547 โดยในปีนี้เน้นเนื้อหาเรื่อง “สิทธิ เสรีภาพ ในการสื่อสารของประชาชนและสื่อมวลชน : จากรัฐธรรมนูญสู่ความเป็นจริง” มีการประชุมระดมความคิดเห็น ประเมินสถานการณ์และวิเคราะห์สาเหตุสภาพของสิทธิและเสรีภาพในการสื่อสารตาม รัฐธรรมนูญของประชาชน และสื่อมวลชนในสังคมไทย รวมทั้งการวิเคราะห์นโยบายและแผนการดำเนินงานด้านการสื่อสาร การโทรคมนาคมและการสื่อสารมวลชน ของหน่วยงานภาครัฐกับผลต่อสิทธิและเสรีภาพการสื่อสารตาม รัฐธรรมนูญของประชาชนและสื่อมวลชน

4.3.3 โครงการจัดทำ Alert สมาคมฯ จัดทำโครงการ Alert ขึ้นเพื่อเผยแพร่ปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพสื่อในประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก South East Asian Press Aliance

4.3.4 การจัดทำรายงานสถานการณ์สื่อมวลชนในรอบปี 2547 เป็นกิจกรรมที่สมาคมฯ จัดทำมาอย่างต่อเนื่องเพื่อสะท้อนภาพสถานการณ์ของสื่อมวลชนในแต่ละปี ทั้งในด้านที่สื่อมวลชนถูกคุกคามและในด้านที่สื่อมวลชนต้องปรับปรุงตัวเอง ปกติสมาคมฯ จะเผยแพร่รายงานดังกล่าวในช่วงปลายปี เพื่อเป็นการสรุปรายงานของรอบปี แต่เนื่องจากปีนี้ประเทศไทยต้องประสบภัยพิบัติคลื่นยักษ์ “สึนามิ” จึงได้เลื่อนการเผยแพร่รายงานดังกล่าวเป็นปลายเดือนมกราคม 2548

5. คณะอนุกรรมการฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ แบ่งการทำกิจกรรมออกเป็นด้านต่าง ๆ 2 ด้าน คือ

5.1 แผนงานด้านสมาชิกสัมพันธ์ สมาคมฯ ให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมด้านสมาชิกสัมพันธ์มาก เนื่อง จากต้องการเห็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างสมาชิกทุกรุ่น ทุกวัย ในปีนี้จึงได้จัดกิจกรรมสมาชิกสัมพันธ์ ดังนี้

5.1.1 การจัดตั้งชมรมนักข่าวอาวุโส จากการที่สมาคมฯ ได้พยายามประสานงานกับบรรดาผู้สื่อข่าว อาวุโสทั้งที่ยังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานและผู้ที่เกษียณอายุไปแล้วก็ตาม ได้พบปัญหาว่าในการติดตามผู้อาวุโสที่นอกประจำการนั้นค่อนข้างจะติดตามได้ยาก และเป็นห่วงว่าหากสมาคมฯ จัดกิจกรรมต่างๆ ให้กับผู้อาวุโสโดยไม่ได้ปรึกษาหารือกับผู้อาวุโส อาจจะทำกิจกรรมที่จัดขึ้นไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้อาวุโส จึงมีการปรึกษาหารือกับบรรดานักข่าวอาวุโส ซึ่งก็มีความเห็นพ้องตรงกันว่าควรจะมีการจัดตั้งชมรมมนักข่าวอาวุโสขึ้นมา ซึ่งได้มีการจัดตั้งขึ้นเรียบร้อยแล้วเมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2547 โดยมีนายพิศาล พ้นภัย เป็นประธานก่อตั้ง คงเหลือแต่การร่วมกันผลักดันให้ชมรมฯ สามารถเดินหน้าไปได้ โดยมีสมาคมฯ ช่วยทำหน้าที่ในการสนับสนุน

5.1.2 โครงการค่ายรักการอ่าน กระจิบ กระจาบ พิราบน้อย สมาคมฯ ร่วมกับสโมสรนักอ่าน ห้าง สรรพสินค้าพาต้าและบริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด จัดทำโครงการ "ค่ายรักการอ่านกระจิบ กระจาบ พิราบน้อย" ให้กับบุตร-ธิดานักข่าว ที่มีช่วงการเรียนในระดับตั้งแต่ ป.1-ป.6 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการจัดสวัสดิการแก่สมาชิก เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและผู้ปกครองตระหนักถึงคุณค่าของการอ่าน รวมทั้งเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านของเด็กตั้งแต่เล็กๆให้เป็นคนที่อ่านเป็นจับใจความ สรุปความได้อย่างเหมาะสมกับวัย สำหรับเนื้อหาของหลักสูตรพัฒนาการอ่านนั้นควบคุมการสอนโดย อาจารย์พรสิทธิ ทรวงสุรัตนกุล ผู้อำนวยการสโมสรรักการอ่าน ซึ่งนอกจากจะมีการเรียน-การสอนในชั้นเรียนแล้ว ยังมีการทัศนศึกษานอกสถานที่ ณ พิพิธภัณฑ์เด็กด้วย จัดเมื่อ 16-20 ตุลาคม 2547 มีบุตร-ธิดานักข่าวเข้าค่ายจำนวน 35 คน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด

5.2 แผนงานด้านการประชาสัมพันธ์ สมาคมฯ ทำกิจกรรมด้านการประชาสัมพันธ์ผ่าน 3 กิจกรรม

5.2.1 จุลสารราชดำเนินราย 3 เดือน เป็นจุลสารราย 3 เดือน ที่ปีนี้มีการปรับปรุงเนื้อหา ให้มีความเป็นวิชาการมากขึ้น โดยจะเน้นการสรุปองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ในการทำงานข่าว ให้มีหลักวิชาการที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึง และเข้าใจได้อย่างง่าย โดยในปีที่ผ่านมาได้จัดทำจุลสารราชดำเนิน 2 ฉบับ เนื้อหาหลักเน้นเรื่องจริยธรรมและความรับผิดชอบของสื่อกรณีตัดต่อตกแต่งภาพ และการฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาท

5.2.2 การจัดทำจดหมายข่าวรายเดือน เพื่อเป็นการสื่อสารระหว่างสมาคมฯ กับสมาชิก สื่อมวลชนและผู้สนใจ สมาคมฯ ได้จัดทำจดหมายข่าวรายเดือนเพื่อรายงานผลการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมฯ ได้มีการเผยแพร่จดหมายข่าวรายเดือนไปจำนวน 2 ฉบับ

5.2.3 www.tja.or.th สมาคมฯ ได้พัฒนาสื่อเวบไซด์ www.tja.or.th โดยให้มีข้อมูลกิจ กรรมของสมาคมฯ ให้มีความทันสมัย และได้พยายามเพิ่มเติมเนื้อหาพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับวงการสื่อสารมวลชนให้มากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามยังอยู่ในขั้นตอนของการปรับปรุงและพัฒนา คาดว่าจะได้เห็นรูปโฉมใหม่และเนื้อหาที่แน่นและครบถ้วนกว่าเก่าภายมในกลางปี 2548

5.3 แผนงานด้านสวัสดิการสมาชิก สมาคมฯ ยังคงมอบสวัสดิการด้านต่างๆ ให้กับสมาชิกมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมาได้จัดสวัสดิการด้านต่างๆ ให้กับสมาชิกตามระเบียบสวัสดิการสมาชิก 4 ประเภท ดังนี้

5.3.1 สวัสดิการคลอดบุตรคนแรก สมาคมฯ มอบสวัสดิการคลอดบุตรคนแรกเป็นเงินช่วยเหลือ จำนวน 3,000 บาท โดยในปีที่ผ่านมาได้มอบสวัสดิการคลอดบุตร จำนวน 1 ราย รวมเป็นเงิน 3,000 บาท

5.3.2 สวัสดิการทุนการศึกษาบุตร – ธิดาสมาชิก ในปีนี้สมาคมฯ ได้มอบทุนการศึกษาให้กับบุตร – ธิดาสมาชิกที่ยื่นขอรับทุนครอบครัวละ 1 ทุน จำนวน 114 ทุน ทุนละ 4,000 บาท รวมเป็นเงิน 456,000 บาท โดยมีพิธีมอบทุนเมื่อ 27 เมษายน 2547

5.3.3สวัสดิการรักษาพยาบาล สมาคมฯ มอบสวัสดิการรักษาพยาบาลให้กับสมาชิกทั้งการรักษา พยาบาลแบบผู้ป่วยในและการรักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยนอก โดยในปีนี้สมาคมฯ ได้มอบสวัสดิการผู้ป่วยในให้กับสมาชิกจำนวน 4 ราย รวมเป็นเงิน 9,654 บาทและสวัสดิการผู้ป่วยนอกจำนวน 5 ราย รวมเป็นเงิน 5,849 บาท

5.3.4 สวัสดิการมรณกรรม สมาคมมอบสวัสดิการมรณกรรมให้กับสมาชิกโดยแบ่งเป็น 2 กรณีคือ การจัดทำประกันชีวิต ซึ่งในปีนี้สมาคมฯ ได้จัดทำประกันชีวิตให้กับสมาชิกจำนวน 726คน รวมเป็นเงิน 380,997.13 บาท ซึ่งในรอบปี 2547 มีสมาชิกที่ร่วมทำประกันชีวิตเสียชีวิตจำนวน 4 คน ได้รับเงินค่าสินไหมมรณกรรมรวมเป็นเงิน 500,000 บาทและยังมีสวัสดิการสวดอภิธรรมศพจำนวน 7 ราย รวมเป็นเงิน 18,800 บาท

6.คณะอนุกรรมการฝ่ายกิจกรรมพิเศษ เป็นคณะอนุกรรมการที่ทำหน้าที่ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อหารายได้ และจัดกิจกรรมพิเศษในวาระต่าง ๆ โดยในปีที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรม ดังนี้

6.1 การจัดงานรวมพล...ฅนข่าว (Thailand Press Fair 2004) สมาคมฯ ร่วมกับ บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) และศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค จัดกิจกรรม“รวมพล…ฅนข่าว” หรือ THAILAND PRESS FAIR 2004 ขึ้นเมื่อ 2-5 กันยายน ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี สมาคมฯ และเพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานและกิจกรรมของสมาคมฯ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้และทำความเข้าใจในวิธีการทำงานของสื่อมวลชน มีองค์กรสื่อมวลชนทั้งไทยและสื่อนานาชาติเข้าร่วมจัดนิทรรศการกว่า 40 องค์กร มีผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการและการแสดงต่าง ๆ ตลอดงานกว่า 200,000 คน และสมาคมฯมีรายได้จากการจัดงานดังกล่าวกว่า 3.5 ล้านบาท โดยได้มีการจัดสรรเงินรายได้ดังกล่าวเพื่อบริจาคเข้ากองุทนการศึกษาเพื่อบุตร-ธิดานักข่าว 2 ล้านบาท บริจาคให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ 300,000 บาท และมูลนิธิสถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย 200,000 บาท และนำส่วนที่เหลือใช้จ่ายในกิจการของสมาคมฯ

6.2 โครงการสื่อข่าว คลายทุกข์ สมาคมฯ ได้จัดทำโครงการสื่อข่าว คลายทุกข์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับ ผลกระทบจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์ “สึนามิ” พัดถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย โดยสมาคมฯ มีความเห็นว่าในฐานะสื่อมวลชน ซึ่งมีบทบาทในการเผยแพร่ข่าวสารความทุกข์ของประชาชน ควรจะทำหน้าที่ในการนำความทุกข์ ความเดือดร้อนและผลกระทบของประชาชนมาเผยแพร่เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทั้งในระดับปฏิบัติและระดับนโยบายต่อไป รวมทั้งสื่อมวลชนเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลาง จึงน่าจะทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการประสานงานให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนได้พบกับประชาชนผู้ทุกข์ร้อนได้อย่างดี จึงได้ริเริ่มจัดทำโครงการ “สื่อข่าว คลายทุกข์” ขึ้นเพื่อเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ซึ่งมีกิจกรรมที่ได้จัดทำไปแล้ว ดังนี้

6.2.1 การจำหน่ายหนังสือ“สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ” ซึ่งเขียน โดยนางสาววิมลพรรณ ปีตธวัชชัย อุปนายกฝ่ายกิจกรรมพิเศษ สมาคมฯ เพื่อนำรายได้จากการจำหน่ายหนังสือมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ได้มีการจัดงานเปิดตัวหนังสือเมื่อ 10 มกราคม 2548 โดยธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ประเดิมซื้อหนังสือดังกล่าวในมูลค่า 1.5 ล้านบาท และยังมีหน่วยงานต่าง ๆ และประชาชนผู้สนใจสั่งซื้อหนังสือเป็นจำนวนมาก

6.2.2 การจัดทำกิจกรรมศูนย์ประสานงาน (One Stop Service) เป็นกิจกรรมที่สมาคมฯ ได้ ประสานงานผลักดันให้กระทรวงการคลังจัดกิจกรรม One Stop Service ขึ้นโดยการระดมความร่วมมือหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านการเงินและการประกันภัยลงพื้นที่จังหวัดพังงาและภูเก็ตเพื่ออำนวยความสะดวกด้านสินเชื่อและประกันภัยให้กับประชาชนผู้ประสบภัย เมื่อ 14 มกราคม 2548

6.2.3 กิจกรรมอาสาสมัครสื่อข่าว “ชีวิตหลังภัยสึนามิ” เป็นกิจกรรมที่สมาคมฯ ร่วมกับเครือข่าย บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคใต้ เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ กลุ่มเพื่อนนักเขียน มหาวิทยาลัยสถาบันราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ และวิทยาลัยเทคนิคตรัง นำอาสาสมัครนักศึกษา นักพัฒนาเอกชนและนักข่าวท้องถิ่นลงพื้นที่ประสบภัยเพื่อเก็บข้อมูลผลกระทบจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อ 21-23 มกราคม 2548

จากกิจกรรมที่ได้รายงานมาข้างต้น สะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดียิ่งว่านอกจากความพยายามในการพัฒนาคุณภาพวงการสื่อมวลชนภายใต้กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ รวมทั้งการผลักดันให้เกิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแล้ว สมาคมฯ ยังตระหนักถึงบทบาทและภาระกิจของสมาคมฯ ในฐานะองค์กรของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งต้องร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ ช่วยกันพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมที่น่าอยู่ อีกต่อไปด้วย