ขอเชิญเข้าร่วมงาน ประชุมเครือข่ายนักวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน ประจำปี ๒๕๕๘

 

 

 

 

 

ลงทะเบียนออนไลน์

https://docs.google.com/forms/d/1ieTnOFYYpwd46SlyNf_G0phlcf9eWpCR8qadUCQHUBI/viewform?c=0&w=1

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

 

ที่ สขนท.นว. ๒๐๐ / ๑๖ / ๒๕๕๗

๙  มีนาคม  ๒๕๕๘

เรื่อง     ขอเชิญเข้าร่วมงาน ประชุมเครือข่ายนักวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน ประจำปี  ๒๕๕๘

เรียน    นักวิชาการ และนักวิชาชีพ ด้านสื่อสารมวลชนทุกท่าน

สิ่งที่แนบมาด้วย   ๑ ใบลงทะเบียนเข้าร่วมงาน  ๒ กำหนดการและโครงการ

 

เนื่องด้วยครบวาระ ๖๐ ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  จึงร่วมกับ  สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และโปรแกรมนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม จัดประชุมเครือข่ายนักวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน ประจำปี  ๒๕๕๘ “สัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์” ครั้งที่ ๙ หัวข้อ  “ปฏิวัติคนข่าว : ทิศทางการพัฒนาบุคลากรสื่อ”ขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  สะท้อนมุมมองเชิงวิชาชีพและวิชาการด้านสื่อมวลชน ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสื่อใหม่ และเพื่อให้เกิดการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันระหว่างภาควิชาการและวิชาชีพ วันที่ ๓ - ๔ เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๓๐ น. ณ  ห้องจันทร์ประภัสสร์ อาคารอธิการบดี ชั้น ๕ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ในการนี้  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  จึงเรียนมาเพื่อขอเชิญท่านหรือผู้แทนเข้าร่วมงานประชุมเครือข่ายนักวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน ประจำปี  ๒๕๕๗ ในวัน-เวลาดังกล่าว และขอความกรุณาแจ้งยืนยันการเข้าร่วมประชุมลงทะเบียนออนไลน์ www.tja.or.th หรือที่ คุณพีรพัฒน์  ดิลกกัลยากุล มือถือ ๐๘๖-๐๗๔-๐๐๐๕   โทรสาร ๐๒–๖๖๘-๗๕๐๕   e - mail: tjareporter@gmail.com ภายในมีนาคม ๒๕๕๘

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับเกียรติ จากท่านในครั้งนี้และขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

 

ขอแสดงความนับถือ

(นางสาวชุติมณฑ์ ศรีขำ)

เลขาธิการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

หมายเหตุ สำหรับผู้ร่วมการประชุมจากต่างจังหวัด ทางสถาบันอิศราฯจะสนับสนุนค่าพาหนะเดินทางไป – กลับตามจริง  สำหรับค่าน้ำมันรถยนต์ กิโลเมตรละ ๔ บาท  แต่ไม่เกินท่านละ ๑,๐๐๐ บาท  พร้อมทั้งจัดเตรียมห้องพักคู่สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมจากต่างจังหวัด โดยจะจ่ายค่าพาหนะเดินทางให้เฉพาะผู้เข้าร่วมตลอดกิจกรรมเท่านั้น

 

ดาวโหลด  จดหมายนักวิชาการ /   จดหมายนักวิชาชีพกำหนดการและโครงการ

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

กำหนดการ ประชุมเครือข่ายนักวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน ประจำปี ๒๕๕๘

ยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ ๙

ปฏิวัติคนข่าว: ทิศทางการพัฒนาบุคลากรสื่อ

วันที่ ๓ - ๔ เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๓๐ น.

ณ  ห้องจันทร์ประภัสสร์ อาคารอธิการบดี ชั้น ๕ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

 

วันศุกร์ที่ ๓ เมษายน  ๒๕๕๘

๐๘.๓๐ – ๐๙.๓๐ น.   ลงทะเบียน

๐๙.๓๐ – ๐๙.๔๕ น. อรุณสวัสดิ์ และบรรยายพิเศษ พัฒนาคนพัฒนาสื่อ’ - รศ.ดร.สุมาลี ไชยศุภรากุล

อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

๐๙.๔๕ – ๑๐.๐๐ น. ปฏิวัติคนข่าว: ทิศทางการพัฒนาบุคลากรสื่อ

- นายวันชัย วงศ์มีชัย

นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

๑๐.๐๐ – ๑๐.๑๕ น. พิธีมอบรางวัล ดาวประกายพรึก

๑๐.๑๕ – ๑๐.๓๐ น.    อาหารว่าง

๑๐.๓๐ – ๑๒.๓๐ น.    เสวนา ‘ปัญหาการพัฒนาบุคลากรสื่อ’

- ผศ. ดร. วรัชญ์ ครุจิต

ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

- นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์

ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

- ดร. สุรศักดิ์ จิระวัสต์มงคล

อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

- ดร. กนกรัตน์ ยศไกร

มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ดำเนินรายการ

๑๒.๓๐ – ๑๓.๓๐ น.    อาหารกลางวัน

๑๓.๓๐ – ๑๕.๓๐ น.    กรณีศึกษา: การพัฒนาคนเข้าสู่วิชาชีพ (นำเสนอคนละ ๒๐ นาที)

‘หลักสูตรการพัฒนาสื่อมวลชนขององค์กรวิชาชีพ’

- นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี

เลขาธิการ มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

‘สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะไทยพีบีเอส’

- นายอโณทัย อุดมศิลป์

ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ

‘โครงการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะเฉพาะทาง’

- นายขจร พีรกิจ

Adobe Community Professional (ACP)

๑๕.๓๐ – ๑๖.๐๐ น.    ปุจฉา วิสัชนา

- ดร. กนกรัตน์ ยศไกร ดำเนินการสนทนา

๑๖.๐๐ – ๑๖.๓๐ น.    สรุปประเด็นสัมมนาวันแรก

- อาจารย์มนัชนก  สุรชัยกุลวัฒนา

คณะนิเทศศาสตร์  มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

- นายฐิติชัย อัฏฏะวัชระ

รองประธานฝ่ายวิชาการ ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมนักข่าวฯ

 

เสาร์ที่ ๔ เมษายน  ๒๕๕๘

๐๘.๓๐ – ๐๙.๐๐ น.      ลงทะเบียน

๐๙.๐๐ – ๐๙.๐๕ น. อรุณสวัสดิ์

- ดร. สุรศักดิ์  จิรวัสตร์มงคล

อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

๐๙.๐๕ – ๑๐.๐๐ น. ‘Work-based Education สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์’

- ดร. สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล

คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

๑๐.๐๐ – ๑๐.๑๕ น.      อาหารว่าง

๑๐.๑๕ – ๑๑.๐๐ น.    บรรยายพิเศษ ปฏิวัติคนข่าวฯ: ทำไมต้องปฏิรูปหลักสูตร’

- รศ. มาลี บุญศิริพันธ์

นักวิชาการด้านวารสารศาสตร์

๑๑.๐๐ – ๑๒.๐๐ น.  ‘ทิศทางการพัฒนาหลักสูตร ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ’

(ร่วมปฏิรูปหลักสูตรเพื่อปฏิวัติคนข่าว ตอนที่ ๒)

- อาจารย์บรรยงค์ สุวรรณผ่อง

กรรมการควบคุมจริยธรรม  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

๑๒.๐๐ – ๑๓.๐๐ น.      อาหารกลางวัน

๑๓.๐๐ – ๑๔.๔๕ น.      ระดมสมอง ร่วมปฏิรูปหลักสูตร เพื่อปฏิวัติคนข่าว’ ตอนที่ ๒ (ต่อ)

- อาจารย์บรรยงค์  สุวรรณผ่อง

- ดร. สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล

๑๔.๔๕ – ๑๕.๐๐ น.      อาหารว่าง

๑๕.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. นำเสนอผลการระดมสมองแต่ละกลุ่ม

๑๖.๐๐ – ๑๖.๑๕ น.      สรุปประเด็นสัมมนาวันที่สอง

- อาจารย์ภัทราวดี ธีร์เลอร์

คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

- นางสาวอศินา พรวศิน

บรรณาธิการ Social Media หนังสือพิมพ์ The Nation

๑๖.๑๕ – ๑๖.๓๐ น.      ก้าวต่อไป อภิวัฒน์สื่อ

- นายภัทระ คำพิทักษ์    ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

ประชุมเครือข่ายนักวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน ประจำปี ๒๕๕๘

ยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ ๙

หัวข้อ ‘ปฏิวัติคนข่าว: ทิศทางการพัฒนาบุคลากรสื่อ’

วันที่ ๓ - ๔ เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๓๐ น.

ณ  ห้องจันทร์ประภัสสร์ อาคารอธิการบดี ชั้น ๕ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

จัดโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

และมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

หลักการและเหตุผล

เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์วารสารศาสตร์ก้าวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน  อันเป็นผลมาจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว  การเพิ่มปริมาณและประเภทของสื่อใหม่ๆ ที่เป็นทางเลือกให้แก่ผู้รับสาร นอกเหนือจากสื่อดั้งเดิมที่เคยเป็นสื่อหลักของสังคม   รสนิยมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้รับสาร  การลดลงของผู้อ่านหนังสือพิมพ์ งบประมาณโฆษณาที่เคลื่อนตัวไปยังสื่อใหม่ๆ ที่สามารถเข้าถึงผู้รับสารได้ตรงกว่า  องค์กรข่าวกำลังอยู่ระหว่างการปรับตัว  การเคลื่อนย้ายทุนจากการเน้นลงทุนที่คนและคุณภาพของเนื้อหา ไปยังการลงทุนด้านเทคโนโลยี (Technology Investment) และการดำเนินการทางการตลาด ความพยายามเข้าใจกลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นระบบและเข้าถึงอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการปรับเนื้อหา ลีลาและรูปแบบการนำเสนอ รวมทั้งเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผู้รับสารมากขึ้น

ปัจจุบันเรากำลังก้าวสู่ภาวะ ‘การหลอมรวมกันของสื่อ’ (Media Convergence) นั่นหมายถึงทั้งในแง่ของเทคโนโลยี ที่ใช้องค์กรสื่อที่ขยายครอบคลุมธุรกิจสื่อหลายประเภทในเวลาเดียวกัน การร่วมมือกันระหว่างองค์กรในลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน และงานข่าวที่มีเนื้อหาออกหลากหลายช่องทาง แนวโน้ม Convergent Journalism  ถูกมองว่าเป็นวารสารศาสตร์แห่งอนาคต  การรายงานข่าวเน้นข่าวเดียวออกหลากหลายช่องทาง  (One Content , Multiple Platforms) เพื่อตอบสนองผู้รับสารที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นผู้ที่ต้องการบริโภคข่าวทุกที่ ทุกเวลาที่ต้องการ

นอกจากการปรับตัวของสื่อหนังสือพิมพ์ที่เคลื่อนเข้าหาสื่ออื่นๆ สื่อโทรทัศน์ก็กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านไปยังระบบดิจิทัล ความไม่แน่นอนเชิงโครงสร้างและนโยบาย การแย่งชิงความสนใจจากผู้รับสารที่บริโภคผ่านหลากหลายแพลตฟอร์ม ทั้งสื่อดั้งเดิมที่เคยมีอยู่และสื่อใหม่มากมาย นั่นหมายถึงเม็ดเงินโฆษณาที่เพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่มีจำนวนผู้ต้องการส่วนแบ่งมากขึ้นเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ ในขณะเดียวกันสังคมก็กำลังตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของสื่อ ความสามารถในการกำกับดูแลกันเองตามอุดมคติของวิชาชีพสื่อ  และเรียกหาจริยธรรมและความรับผิดชอบจากสื่อเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้แก่สังคม

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวงการสื่อ และกระบวนการผลิตสื่อวารสารศาสตร์ทำให้  สถาบันการศึกษา  และสมาคมวิชาชีพวารสารศาสตร์ ที่เป็นองค์กรบ่มเพาะนักวารสารศาสตร์จำเป็นต้องนำมาพิจารณา ปรับปรุง และประกอบสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สามารถเป็นแนวทางในการพัฒนาบุคลากรวิชาชีพวารสารศาสตร์แห่งอนาคต โดย ‘เครือข่ายวิชาชีพและวิชาการวารสารศาสตร์’ ได้จัดประชุมเครือข่ายในรูปแบบการสัมมนา“ยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์” ด้วยการนำเสนอและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในแง่มุมต่างๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาวิชาการและวิชาชีพทางด้านวารสารศาสตร์ แล้วทั้งสิ้น ๘ ครั้ง ดังนี้

  • ครั้งที่ ๑ หัวข้อ ‘ทิศทางสื่อ ทิศทางวารสารศาสตร์’ ณ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
  • ครั้งที่ ๒ หัวข้อ ‘Convergence Newsroom’ ณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  • ครั้งที่ ๓ หัวข้อ ‘การตรวจสอบในยุคหลอมรวมสื่อ (Monitoring  Media  in  the  Convergence  Era)’ ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
  • ครั้งที่ ๔ หัวข้อ ‘ทิศทางวารสารฯ ในยุคสงครามแพลตฟอร์ม’ ณ มหาวิทยาลัยเนชั่น   จังหวัดลำปาง
  • ครั้งที่ ๕ หัวข้อ ‘คนเปลี่ยน สื่อปรับ รุก-รับ อย่างไร’ ณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  • ครั้งที่ ๖ หัวข้อ ‘ASEAN Journalism & Education’ ณ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
  • ครั้งที่ ๗ หัวข้อ ‘ตำราวารสารศาสตร์ คอนเวอร์เจ้นซ์’ ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
  • ครั้งที่ ๘ หัวข้อ ‘ปฏิวัติคนข่าว อภิวัฒน์สื่อ ปฏิรูปหลักสูตร’ ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ ๖๐ ปีแห่งการก่อตั้งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะทำงานจะจัดสัมมนา ยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ ๙ ภายใต้หัวข้อ ‘ปฏิวัติคนข่าว: ทิศทางการพัฒนาบุคลากรสื่อ’ วันที่ ๓ - ๔ เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๓๐ น. ณ  มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

วัตถุประสงค์ของโครงการ

๑. เพื่อเป็นเวทีนำเสนอข้อมูล แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องข่าวสาร และความก้าวหน้าทางวิชาการวิชาชีพสื่อมวลชน

๒. เพื่อสนับสนุน หรือเป็นสื่อกลางในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาควิชาการและวิชาชีพ ในการบริหารจัดการหลักสูตรการเรียนการสอนสาขาวิชาวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ทั้งในส่วนของสถาบันการศึกษาและโครงการพัฒนาบุคลากรในวิชาชีพให้ทันสมัย  สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงในปัจจุบัน

รายละเอียดของโครงการ/กิจกรรม/วิธีดำเนินการ

กลุ่มเป้าหมาย

นักวิชาการ นักวิชาชีพ สื่อมวลชน นักศึกษา จำนวน ๘o คน

รูปแบบดำเนินการ

การบรรยายพิเศษ  การเสวนา และประชุมระดมความคิดเห็น

ระยะเวลาในการดำเนินงาน

วันที่ ๓ - ๔ เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๓๐ น. ณ  มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

สถานที่จัดงาน

มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

๑. ได้เผยแพร่องค์ความรู้ที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนา องค์กรทางด้านวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน

๒. สามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดในการจัดทำหนังสือ ตำรา คู่มือในประเด็นต่าง ๆ ภายใต้โครงการวารสารศาสตร์แห่งอนาคต โดยความร่วมมือระหว่างนักวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน

๓. สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาควิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน

๔. สร้างสังคมที่มีสุขภาวะที่ดีจากการมีสื่อที่คุณภาพ

ผู้รับผิดชอบโครงการ

๑. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

๒. สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

๓. สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

๔. คณะทำงานวารสารศาสตร์แห่งอนาคต

๕. มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ผู้สนับสนุนโครงการ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

๑. ได้เผยแพร่องค์ความรู้ที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาวิชาการวิชาชีพสาขาวารสารศาสตร์

๒. สามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดในการจัดทำหนังสือ ตำรา คู่มือในประเด็นต่าง ๆ ภายใต้โครงการวารสารศาสตร์แห่งอนาคต อันเป็นความร่วมมือระหว่างนักวิชาการและวิชาชีพ

๓. สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาควิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน

ตัวบ่งชี้ความสำเร็จของโครงการ

๑. จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ ของจำนวนผู้ลงทะเบียนทั้งหมด

๒. ผู้เข้าร่วมประชุมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก