คำประกาศเกียรติคุณภาพข่าวยอดเยี่ยม

ประกาศเกียรติคุณรางวัล “อิศรา อมันตกุล”

ประเภท ภาพข่าวยอดเยี่ยม ขอมูลนิธิอิศรา อมันตกุล ประจำปี 2549

 

ตามที่มูลนิธิอิศรา อมันตกุล จัดให้มีการประกวดภาพข่าวยอดเยี่ยม ประจำปี 2549 โดยมอบหมายให้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการและได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

โดยในปีนี้มีหนังสือพิมพ์ส่งผลงานเข้าประกวด 112 ภาพ

คณะกรรมการได้พิจารณาโดยอาศัยหลักเกณฑ์ ภาพข่าวยอดเยี่ยม ดังนี้

  1. จะต้องเป็นภาพมีลักษณะที่เรียกว่า ภาพข่าว เป็นภาพที่มีความสมบูรณ์ในตัวทำให้ผู้อ่านทราบได้ว่าเกิดอะไรขึ้นโดยไม่จำ เป็นต้องอธิบายใต้ภาพ(Pictorial) และมีเทคนิคที่ดี มีองค์ประกอบครบสมบูรณ์
  2. เป็นภาพข่าวที่ได้มีการตีพิมพ์ในสิ่งพิมพ์จริง
  3. เป็นภาพที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของผู้อ่านทุกวัย
  4. ไม่เป็นภาพที่จงใจสร้างขึ้นโดยอาศัยเทคนิคของการถ่ายภาพ
  5. ต้องเป็นภาพข่าวที่แสดงถึงศักยภาพและทักษะในการถ่ายภาพ รวมทั้งแนวความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอ ทั้งด้านเนื้อหาและศิลปะการถ่ายภาพ
  6. ถ้าเห็นว่าไม่มีภาพข่าวใดดีเด่น คณะกรรมการอาจจะให้รางวัลชมเชยหรือไม่ให้รางวัลเลยก็ได้

รางวัล ภาพข่าวยอดเยี่ยม ได้แก่

ภาพ หมายเลข 108

แผ่นดินเดือด

เป็นภาพเหตุการณ์ระหว่างที่ชาวไทยมุสลิมกว่า 300 คน มีทั้งเด็กและผู้หญิง แห่ศพนายมะรอดี กาเราะ อายุ 26 ปีที่ถูกยิงเสียชีวิตแห่ไปตามถนนสาย 410 ธารโต-บันนังสตา เพื่อนำไปฝัง ขณะผ่านจุดตรวจทหารและตำรวจ ได้มีการปะทะกัน เนื่องจากความไม่เข้าใจกัน

ถ่ายโดย
จรูญ ทองนวล
หนังสือพิมพ์
คม ชัด ลึก
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2549

เหตุผล ถือ เป็นภาพข่าวที่สมบูรณ์ บอกเรื่องได้ดี โดยไม่ต้องหาคำบรรยาย และในอยู่ที่ตำแหน่งที่สามารถสื่อความเห็นได้อย่างชัดเจน ถือเป็นความสามารถของช่างภาพ ซึ่งสามารถถ่ายภาพได้ฉับไวทันเหตุการณ์ มีไหวพริบ แม้จะทำงานในภาวะอันตรายและเสี่ยงต่อชีวิต

 

รางวัล ภาพข่าวชมเชย 2 รางวัล ได้แก่

ภาพแรก เป็นภาพที่ไม่มีชื่อภาพ

เป็นภาพที่ไม่มีชื่อภาพ

เป็นภาพทหารเฝ้ารักษาการณ์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังจากคณะปฏิรูปการปกครองฯ ทำการยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

ถ่ายโดย
ณัฏฏ์ฐิติ อำไพวรรณ
หนังสือพิมพ์
โพสต์ ทูเดย์
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2549

เหตุผล ภาพ ยอดเยี่ยมในเนื้อหาภาพ องค์ประกอบ แสงเงา และความคิดสร้างสรรค์ของช่างภาพ ถือเป็นภาพข่าวที่สะท้อนข่าวการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญของประเทศ ไทย ในปี 2549 โดยเนื้อหาในภาพสามารถสื่อออกมาในเชิงสัญญลักษณ์ สิ่งที่ทำให้ภาพพิเศษกว่ารูปอื่นๆ คือ นกพิราบตัวเล็กๆ ที่ยืนอยู่ตรงปลายปืน

 

ภาพ หมายเลข 28 “เหินเวหา”

เหินเวหา

วินาที ที่เจ้าหน้าที่ตัดสินใจขึ้นไปกระชากตัวนายบุญสิน หยกทิพย์ ที่ปีนขึ้นไปบนยอดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนที่นายบุญสินจะลอยละลิ่วตกลงบนเบาะที่รองรับอยู่ด้านล่าง หลังเกลี้ยกล่อมข้ามวันข้ามคืน แต่ไม่ยอมลงมา

ถ่ายโดย
วิชาตรี ทับดวง
หนังสือพิมพ์
ไทยรัฐ
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2549

เหตุผล มีองค์ประกอบภาพดีเยี่ยม มีการทิ้ง “ช่องว่าง” ไว้ด้านซ้าย เพื่อให้ความรู้สึกสื่อถึงเหตุการณ์ดี ภาพมีแอคชั่น เป็นภาพที่ใช้ความสามารถของช่างภาพ รู้จักหามุมภาพที่แตกต่างจากภาพอื่น