เสวนา”พัฒนาบุคลากรสื่อ” ในงานประชุมเครือข่ายนักวิชาการและวิชาชีพสื่อ ประจำปี 58

 

 

เสวนา"พัฒนาบุคลากรสื่อ" ในงานประชุมเครือข่ายนักวิชาการและวิชาชีพสื่อ ประจำปี 58
รายงานโดย ศศิชา อิสระศรีโรจน์

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดให้มีการประชุมเครือข่ายนักวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน ประจำปี 2558 เรื่อง "ยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์" ครั้งที่ 9 ปฏิวัติคนข่าว ทิศทางการพัฒนาบุคลากรสื่อ วันที่ 3-4 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา ณ ห้องจันทร์ประภัสสร์ อาคารอธิการบดี ชั้น 5 มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ทั้งนี้ การประชุมวันแรก (3 เม.ย.) รศ.ดร.สุมาลี ไชยศุภรากุล อธิการบดี มหาลัยราชภัฎจันทรเกษม ได้กล่าวเปิดงานช่วงเช้า บรรยายพิเศษหัวข้อพัฒนาคนพัฒนาสื่อ โดยมีบุคลากรทางวิชาชีพสื่อ นักวิชาการ คณาจารย์ สื่อมวลชน และนักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ ม.จันทรเกษม เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก ตามต่อด้วยนายวันชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เป็นผู้บรรยายหัวข้อ ปฏิวัติคนข่าว ทิศทางการพัฒนาบุคลากรสื่อ

จากนั้นได้มีการประกาศพิธีมอบรางวัลดาวประกายพรึกให้แก่นักวิชาการ นักวิชาชีพด้านนิเทศศาสตร์ ที่มีมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณดีเด่น เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติ สร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน โดยรายชื่อผู้ที่ได้รับรางรางวัล ดาวประกายพรึก มีดังต่อไปนี้

1.สถาบันอิศรา (ISRA Institute) มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย Thai Press Development Foundation ได้รับรางวัลดาวประกายพรึก องค์กรเกียรติคุณ ด้านนิเทศศาสตร์
2.นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง บรรณาธิการที่ปรึกษา หนังสือพิมพ์อีคอนนิวส์ ได้รับรางวัลดาวประกายพรึก นักนิเทศศาสตร์เกียรติคุณ
3.ดร.สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ได้รับรางวัลดาวประกายพรึก นักวิชาการนิเทศศาสตร์ ด้านผลงานวิชาการ สาขาวิชาวารสารศาสตร์และสื่อออนไลน์
4.นายศิวนารถ หงษ์ประยูร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ และหัวหน้าภาควิชาวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้รับรางวัลดาวประกายพรึก นักวิชาการนิเทศศาสตร์ดีเด่น ด้านผลงานวิชาการ สาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
5.ศ.ดร.สุรพงษ์ โสธนะเสถียร ศาสตราจารย์ ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลดาวประกายพรึก นักวิชาการนักนิเทศศาสตร์ดีเด่น ด้านผลงานวิชาการ สาขาโฆษณาและการประชาสัมพันธ์
6.ดร.มานะ ตรีรยาพิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้รับรางวัลดาวประกายพรึก นักวิชาการนิเทศศาสตร์ดีเด่น ผู้ชี้นำแก่สังคม
7.ผศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฏีบัณฑิต คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ร้บรางวัล ดาวประกายพรึก นักวิชาการนิเทศศาสตร์ดีเด่น ผู้ชี้นำแก่สังคม
8.นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิจัยชำนาญการ และนักวิชาการด้านสื่อ สถาบันวิชาการสื่อสาร (สวส.) องค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ แห่งประเทศไทย (Thai PBS) ได้รับรางวัลดาวประกายพรึก นักวิชาการนิเทศศาสตร์ดีเด่น ผู้ชี้นำแก่สังคม

นอกจากนั้นแล้วภายในงานได้จัดให้มีการเสวนา หัวข้อ"ปัญหาการพัฒนาบุคลากรสื่อ" โดยมีผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ดร.สุรศักดิ์ จิระวัสต์มงคล อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ดร.กนกรัตน์ ยศไกร มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

โดยภายในวงเสวนาได้มีการพูดถึงการผลิตบุคลากรสื่อควรเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ ที่สถาบันหรืออาจารย์ผู้สอนควรปรับหลักสูตรให้นักศึกษานิเทศฯ มีแรงจูงใจในการเรียน สนับสนุนให้มีห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย และออกแบบเนื้อหาการสอนที่ให้ความรู้เฉพาะทาง เพื่อให้สามารถทำข่าวได้หลากหลายยิ่งขึ้น อีกทั้งองค์กรสื่อเองก็ควรเพิ่มศักยภาพบุคลากร ในสังกัด โดยการส่งตัวนักข่าวเข้าร่วมอบรม เพื่อเพิ่มศักยภาพ ทั้งตัวนักข่าวเองก็ควรมีจิตวิญญาณในการทำข่าว โดยเฉพาะสำนึกด้านจริยธรรม และการเปลี่ยนวิธีคิดในการรายงานข่าว ให้มีความเป็นมืออาชีพ อย่างแท้จริง

นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่านักข่าวเปรียบเสมือนหาเพชรจากเม็ดทรายนั้นยาก เพราะนักข่าวไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ซึ่งหัวหน้าข่าวหรือ บ.ก.ต้องแนะนำวิธีการตั้งคำถาม ต้องมอบหมายประเด็นให้แก่นักข่าวภาคสนาม ไปสอบถามเพิ่มเติม

นักข่าวประจำทำเนียบฯบางคนทำข่าวมา 5 ปี 10 ปี ไม่เคยถามแหล่งข่าวสักคำถามเดียว นี่เป็นปัญหา จะหาเพชรจากเม็ดทรายยาก เพราะไม่มีใครกล้าเสี่ยง

"ส่วนต้นน้ำที่เป็นสถาบันการศึกษา ก็ต้องมีการออกแบบเนื้อหาวิชาที่สอนเช่น เรื่องกฏหมาย เรื่องเศรษฐศาสตร์ เรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ควรให้ความสำคัญ รวมถึงสร้างแรงจูงใจ จิตวิญญาณในการทำข่าว ให้นักศึกษาได้ทำเว็บไซต์หนึ่งขึ้นมา ซึ่งต้นทุนถูกมาก เมื่อเว็บไซต์ทำแล้วมีชื่อเสียง ก็อาจไม่จำเป็นต้องมีหน่วยกิต นั่นก็อาจจะเป็นแรงจูงใจหนึ่ง ให้นักศึกษาซึ่งเป็นต้นน้ำนักข่าว อยากจะเข้าร่วม หรือมีห้องปฏิบัติการที่ทำให้เขารู้สึกสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
> ต้นสังกัดองค์กรสื่อเองก็ต้องให้ความร่วมมือ สนับสนุนการฝึกอบรม โดยเฉพาะหัวหน้าข่าวบางคนทึ่ทำงานมา20-30ปี ยังไม่เคยฝึกอบรม นายประสงค์กล่าวว่า หากไม่ส่งนักข่าวเข้าฝึกอบรมโลกทัศน์ก็จะไม่เปิดกว้าง

"สถาบันอิศรามีอบรมหลักสูตรระยะสั้น อบรมฟรี ไม่ต้องเสียสตางค์ แต่ไม่ค่อยมีใครมาอบรม มองว่าการอบรมเป็นเรื่องไร้สาระ คุณต้องใจกว้าง ผมมองว่านี่คือความน่าอนาถ ทึ่สถานประกอบการต้องใหัความสำคัญ

และสำหรับตัวนักข่าวเอง ในการรายงานข่าวต้องรู้สึกว่าเราทำเพื่อวิชาชีพ ต้องสร้างให้สื่อมวลชนมีจิตสำนึก ว่าเป็นวิชาชีพอย่างแท้จริง ต้องมีจริยธรรมในการทำข่าว

"มีข่าวชิ้นหนึ่ง เป็นข่าวที่นักการเมืองผู้หญิงคนหนึ่ง พาเด็กที่ถูกพ่อข่มขืน พามาร้องเรียน แล้วก็เขาสอบสวนเด็ก สื่อก็ตามไปถ่ายภาพผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ผมพูดไม่รู้กี่หนแล้ว ภาพอย่างนี้ ไม่ต้องส่ง อย่างไทยพีบีเอชก็มีเข้มงวด มันควรเป็นนโยบายไปเลย ต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการทำข่าว
> อย่างทีวี 24 ช่อง ไม่มีเลยช่องไหน ที่ทำให้เราอยากตามดูมัน กรณีการทำข่าวเรื่องนักการเมืองหญิง ก็คิดประเด็นใหม่สิ เช่น เอาอีกแล้ว พาเด็กมาโชว์อีกแล้ว ที่ไม่ใช่ประเด็นพ่อข่มขืนลูกยังไง ซึ่งเราต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการทำข่าว หรือเวลาตำรวจจับเยาวชนที่เป็นผู้ต้องหา มาแถลงข่าว ก็บอกเอาอีกแล้วผู้บัญชาการกำลังละเมิดกฏหมาย พาเด็กมาแถลงข่าว"

นอกจากตัวนักข่าวจะต้องมีสำนึกจริยธรรม ในการรายงานข่าวแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือนักข่าวเองต้องมีความภูมิใจในวิชาชีพ และนักข่าวต้องมีความสนใจ ติดตามข่าวกระบวนการยุติธรรม คือการทำข่าวเชิงสืบสวน อย่าให้ความสำคัญเฉพาะข่าวดารา เพราะขายได้ ที่นักข่าวต้องมีการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา

ดร.สุรศักดิ์ จิระวัสต์มงคล อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้บรรยายในวงเสวนาต่อมาว่านักข่าวสมัยนี้มาสมัครงานหนังสือพิมพ์ เมื่อหนังสือพิมพ์เปลี่ยนไปเยอะ ต้องมีการปรับตัว ไม่อย่างนั้นจะอยู่ยาก อย่างเวลาที่รับเด็กใหม่เข้ามาทำงาน จะถามเลยว่า เล่นสมาร์ทโฟนไหม เล่นเฟซบุ๊กไหม ถ้าไม่เล่น ไม่รับเลยนะ เพราะไม่มีการเรียนรู้สิ่งใหม่

"เด็กบางคนที่จบออกมาแล้วมาทำงานข่าวที่เป็นปัญหาอีกข้อหนึ่งก็คือ เขียนข่าวไม่ได้ เพราะอาจารย์ผู้สอนไม่มีความถนัด รวมถึงกราฟฟิคดีไซต์ ฝ่ายวิชาการทำได้น้อย ไม่มีความเชี่ยวชาญ พอเด็กจบออกมา ก็ทำงานไม่ได้

เรื่องของการพัฒนาบุคลากรก็ควรให้ความสำคัญ หาความรู้ใหม่ๆให้ตัวเอง แล้วมันจะทำให้เรามีการพัฒนา อย่างช่วงวิกฤตปี 40 ผมเลือกที่จะหนีไปเรียนเพิ่ม ไล่ไปขายของได้เงิน ผมไม่เอา เขาบอกสอบได้ก็ออกทุนให้ ตอนนั้นผมก็ไปเรียนนิด้า จบนิด้า เข้าหลักสูตรอบรมเพิ่มอีก อบรมทั้งหลักสูตร บยส7.ปปร.16 วพน.6 การเมืองการปกครองระดับสูง โครงการเสาหลักเศรษฐกิจพอเพียง กฏหมายระดับสูงของสื่อมวลชนบริการสื่อสาร ก็เรียน เป็นคนที่เรียนเยอะ แต่สิ่งที่ได้ก็คือประโยชน์ในการทำข่าว ที่เราได้คอนเน็กชั่น อย่างเวลานั่งอยู่ มีเพื่อนเป็นตำรวจ เขาเล่าให้เราฟัง เราได้เปรียบกว่านสพ.ฉบับอื่น คือสิ่งที่เขาเล่ามันอินไซด์ และเราไปเพิ่มเติมในข่าวได้ ทำให้เราทำข่าวสะดวกขึ้น

ดร.สุรศักดิ์ยังเน้นย้ำว่านักข่าวควรปรับตัวเรื่องภาษา ที่กำลัวก้าวเข้าสู่เออีซี ถ้านักข่าวไม่ปรับตัว ภาษา พม่า ลาว ไม่ได้เรียน ข่าวจะไม่มีความหลากหลาย เพราะสังคมเราจะมีความกว้างขึ้นในด้านวัฒนธรรม

รวมถึงเรื่องข้อกฏหมาย ที่นักข่าวต้องศึกษา ทำความเข้าใจ ต้องจัดให้มีการอบรม เพราะเคยเกิดกรณีตัวอย่างมาแล้ว

"มีการเอาข่าวพระราชสำนัก รู้ว่าเป็นหมายปลอม แต่เอาขึ้นเว็บ ก็ทำให้ถูกดำเนินคดีตามมา ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น ควรจะจัดให้มีการอบรมดูหมายข่าวพระสำนัก ก็อยากให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้กัน

ถ้าไม่มีการพัฒนาตัวเอง องค์การก็จะไม่พัฒนา เราสามารถจัดสรรเวลาได้ เสาร์-อาทิตย์มาเรียนได้ อย่างที่สมาคมนักข่าวฯ ก็มีฝึกอบรมภาษาจีน และมีอบรมภาษาอินโดนีเซียแล้ว อยากให้เห็นเสน่ห์การเรียนรู้ และได้ฝึกอบรมกัน เพื่อปรับให้เข้ากับทิศทางการปฏิรูปสื่อ"

ด้านผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่าเราคุยกันมา ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 9 โลกออนไลน์ได้ทำให้เรากลับมาที่ศูนย์กลางที่ทุกอย่างต้องเริ่มต้นที่ตัวคน พัฒนาคน ทิศทางสื่อ ทิศทางวารสารศาสตร์ โดยเฉพาะวิธีคิด ซึ่งปัญหาปัจจุบันสื่อก่อให้เกิดความสร้างสรรค์ก็ได้ ทำลายก็ได้

"ที่เห็นว่าทุกวันนี้ให้ความสำคัญกับยอดไลค์ ซึ่งบางทีก็เป็นปัญหาที่ว่า บ.ก.ดูทำไมคนตามแฟนเพจนี้เป็นแสนคน เป็นล้านคน แต่ทำไมของเราไม่ถึง ก็ทำให้เกิดการลงข่าวที่เรียกเรตติ้ง พวกข่าวความรุนแรง เด็กมีอะไรกับใคร ดีไหม ได้ไลค์เยอะดี

"เราควรจะจับความเคลื่อนไหวตรงนี้ และพัฒนาบุคลากรให้ไปในทางเดียวกัน มีการจัดให้มีหลักสูตรใหม่ที่ควรมีการแบ่งฮาร์ดสกิลกับซอฟสกิล อย่างการเขียนข่าว การทำสกู๊ป การตัดต่อ ที่เป็นฮาร์ดสกิลควรที่จะให้ความสำคัญกับซอฟสกิลควบคู่กันไปด้วย คือ เรื่องทัศนคติ เรื่องของจริยธรรม มารยาททางสังคม ที่นักข่าวไม่ด่วนตัดสินใจ โดยเฉพาะเรื่องความรู้รอบตัว ที่ต้องรู้ให้หลากหลายด้าน

และนักข่าวต้องเช็กข่าวให้ถี่ถ้วน ไม่ใช่ลงข่าววันนี้ พรุ่งนี้ตรวจสอบ เพิ่มเติมอีกที เพราะกลัวตกขบวน นักข่าวต้องมีความสงสัย ใคร่รู้ มันต้องคิดต่อ จะโฆษณาแอบแฝงหรือไม่ การคิดต่อในประเด็นสืบสวนก็เช่นกัน มันสำคัญมาก"

ในส่วนหลักสูตรวารสารศาสตร์ ป.โท ผศ.ดร.วรัชญ์กล่าวทิ้งท้ายว่า นักข่าวที่จบป.ตรี ควรเรียนป.โทพัฒนาศักยภาพ และไม่ใช่เป็นแค่บทบาทนายทุน แต่ให้รู้สึกว่าเป็นวิชาชีพ และต้องจัดให้มีการวัดผลดำเนินงาน (KPI) ปีหนึ่งส่งคนไปอบรมเท่าไหร่ ต้องมีข้อตกลงร่วมกัน