คาดไตรมาสสุดท้ายทีวีดิจิทัลเปลี่ยนมือ ใน 5 ปี กลับสู่ยุคผูกขาดทุนไม่กี่ราย

 

นักวิชาการชี้ซื้อกิจการควรมีกระบวนการสกรีนให้สาธารณชนรับรู้ใน 180 วัน ด้านอดิศักดิ์ชี้ การแข่งขันไม่สมบูรณ์ และขาดการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลชัดเจน คาดไตรมาสสุดท้ายทีวีดิจิทัลเปลี่ยนมือ ใน 5 ปี กลับสู่ยุคผูกขาดทุนไม่กี่ราย กระทบผู้บริโภคขาดทางเลือกรับสื่อหลากหลาย

ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการวิจัยเรื่องโทรทัศน์ดิจิทัลในประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ”การครอบงำ ครอบครองธุรกิจสื่อ?”ว่า ในยุคที่มีแนวโน้มการควบรวมกิจการมากขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ รวมถึงธุรกิจสื่อก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ปรากฏในเมืองไทยได้เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ เช่นกรณีที่สื่อธุรกิจสหรัฐอเมริกาพยายามเข้าไปซื้อกิจการสื่อในประเทศอังกฤษ รวมถึงสื่อสหรัฐอเมริกา ก็มีสื่อยักษ์ใหญ่เพียงประมาณ 6 รายสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจสื่ออยู่ภายใต้กลุ่มทุน แต่เนื่องจากระบบการป้องกันการซื้อกิจการทั้งเป็นมิตรและไม่เป็นมิตรมีกระบวนการที่ชัดเจนในการเข้าซื้อกิจการ ที่ใช้เวลาในการแจ้งให้สาธารณชนให้ได้รับทราบข้อเท็จจริงในทุกๆ ด้านจากทุกฝ่ายภายใน 180   วัน เป็นกระบวนการปกป้องการเข้าครอบครองกิจการธุรกิจสื่อให้สังคมได้รับทราบก่อนจะเกิดการเข้าซื้อกิจการ เพื่อป้องกันการครอบงำธุรกิจ

ทั้งนี้มีหลายกรณีศึกษาในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกาที่มีการวางมาตรฐานกกระบวนการด้านการครอบงำสื่อไว้อย่างชัดเจน เพราะการควบรวมกิจการในธุรกิจสื่อนั้นส่งผลร้ายมากกว่าผลดีทางด้านต่อประโยชน์ของประชาชน เนื่องจากส่งผลทำให้เจ้ากลุ่มทุนธุรกิจเป็นเจ้าของทุนทั้งหมดย่อมส่งผลต่อการผลิตเนื้อหาที่ขาดความหลากหลาย

สำหรับการกำกับดูแลการครอบงำกิจการในไทย พบว่า การเข้าซื้อกิจการ หรือการเป็นเจ้าของขาดกระบวนการที่ชัดเจน การพึ่งพากสทช.เพียงหน่วยงานเดียวนั้นไม่เพียงพอ กับการพิจารณาอำนาจที่ค่อนข้างมาก แต่การดูแลรูปแบบกิจการสื่อมวลชนนั้นมีความซับซ้อน ขณะที่ในสหรัฐอเมริกามีหน่วยงานอื่นเข้ามาถ่วงดุลหน่วยงานที่กำกับดูแล  ที่สามารถยับยั้ง ตอบโต้ กลไกการเข้าซื้อกิจการสื่อได้

โดยเฉพาะการตัดสินของกสทช.ในวันนี้(20 พ.ค.58) เป็นวันที่ชี้ชะตาเนื่องจากเป็นการเลื่อนชำระเงินค่าสัมปทาน

ทุนนั้นสร้างประโยชน์นัยสำคัญกับฝ่ายใด สำหรับกลุ่มทุนธุรกิจทีวีดิจิทัลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบัน 10  บริษัท  และอีก 7 บริษัทจำกัด ภาพที่ชัดเจนคือมีกลุ่มทุนที่ขนาดใหญ่ทีได้ประโยชน์เพียงไม่กี่ราย

ดังนั้นกสทช.ควรยอมรับว่าการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกเข้าสู่ดิจิทัลต้องอาศัยระยะเวลาอย่างเช่นเดียวกันโมเดลในต่างประเทศไม่สามารถเร่งรัดให้เกิดขึ้นได้ภายใน 3 ปีอย่างน้อยต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5ปี การที่คาดการว่าโฆษณาจะเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าอาจจะเป็นเพียงแค่ฟองสบู่ที่เข้ามาลงทุนแต่ท้ายที่สุดก็เกิดการแข่งขันจนต้องหายไปจากตลาด

“จะเห็นหลายช่อง เลือกอาบ คาดผิดขนาดไหนหากไม่เลื่อนการจ่ายเงิน เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่แท้จริงมากขึ้น ไม่มองในโลกมายาพบว่า มีข้อมูลหลายอย่างที่ยังเป็นข้อสงสัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลนั้นเติบโตจริงหรือไม่รวมถึงเรตติ้งที่แท้จริงหรือเทียม “

ดร.สิขเรศ การเป็นเจ้าของสื่อของกลุ่มทุนเพียงไม่กี่รายที่มีอำนาจทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ ยกตัวอย่างเช่นในอังกฤษได้สร้างมาตรฐานป้องกันสื่อสหรัฐอเมริกาเข้ามาซื้อกิจการสื่อในประเทศอังกฤษ เพราะนั่นหมายถึงการครอบงำวัฒนธรรม เนื่องจาหกสื่อมวลชนเป็นเจ้าของเดียวกันก็ส่งผลทำให้ข่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันขาดความหลากหลายของเนื้อหา

ด้านนายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลกำลังตกอยู่ในภาวะแข่งขันสูง เนื่องมาจากการกำกับดูแลของกสทช.มีการควบคุมการดูแลและขาดการส่งเสริมกิจการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการนำเงินที่ได้จากการประมูลควรนำมาพัฒนาการเปลี่ยนผ่านระบบอนาล็อกเข้าสู่ดิจิทัล ขณะเดียวกันยังปล่อยให้มีการเข้าซื้อกิจการโดยขาดการกำกับดูแลที่ชัดเจน จึงทำให้ประกอบการที่เข้ามาทำทีวีดิจิทัลมีทั้งมีผลดำเนินงานดีเกินคาดและต่ำกว่าคาด ที่สูงเกินคาด อาทิ อาร์เอส ไทยรัฐ ทรู โมโนและเวิร์คพอยท์ แต่ที่ต่ำเกินคาดก็มีหลายรายที่ไม่สามารถแย่งชิงเรตติ้งได้ ทำให้ผลประกอบการตกต่ำกว่าที่ประเมินไว้ เพราะไม่สามารถดึงเม็ดเงินโฆษณามาได้  สะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมนี้ค่อนข้างลำบากในการต้องจ่ายค่าสัมปทานและการแข่งขันจากรายได้เข้ามาต่ำกว่าความเป็นจริง

กลุ่มผู้ผลิตสื่อที่เข้ามาทำทีวีดิจิทัล เพราะคาดหวังว่าจะมีโอกาสเปลี่ยนผ่านทางสร้างเลือกการแข่งขัน ที่จะเปลี่ยนผ่านจากยุคผูกขาดเพียงผู้ประกอบการเจ้าของรายการโทรทัศน์เพียงไม่กี่ราย มาสู่การสร้างความหลากหลายช่องทางเข้าถึงผู้ชม แต่ปรากฏว่าการกำกับดูแลของกสทช.ไม่เอื้อต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม

ธุรกิจสื่อที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ถึง 10  บริษัท ที่มีวาทกรรมเกี่ยวกับการเข้าซื้อกิจการได้อย่างอิสระเสรี แต่ก็ควรมีหลักเกณฑ์เฉพาะไม่เช่นนั้นก็เกิดการผูกขาดในกลุ่มธุรกิจ อย่างเช่น ผู้ได้รับสัมปทานสร้างทางด่วนก็สามารถเข้าซื้อกิจการทางด่วนบริษัทอื่นได้หรือแม้แต่กลุ่มธุรกิจธนาคารก็สามารถซื้อกลุ่มธนาคารด้วยกันได้ โดยเฉพาะธุรกิจสื่อเป็นกลุ่มธุรกิจเฉพาะ

“ผลประกอบการไตรมาสแรกส่วนใหญ่ทีวีดิจิทัลมีผลประกอบการติดลบไม่เพียงแต่ผู้เข้าประมูลแต่รวมถึงคนทำสื่อที่ประมูลไม่ได้แต่ต้องการผลิตสื่อป้อนก็เช่นเดียวกัน อุตสาหกรรมนี้จึงไม่เติบโตอย่างที่คาดหมาย ตกต่ำที่สุดเกินคาดมากกว่า 50% อุตสาหกรรมนี้แม้แต่แบงก์ที่ทำผลศึกษาก็ยังไม่มีแบงก์การันตี แต่ที่เข้ามาแข่งขันในดิจิทัลนั้นดีกว่าเสี่ยงต่อการถูกถอดถอนรายการจากผังเช่นเดียวกันกับในยุคอนาล็อก”

ดังนั้นจึงมองเห็นว่าภายใน 5 ปีข้างหน้าจะเกิดการคืนกลับสู่การเป็นเจ้าของทุนเพียงไม่เกิน 5 ราย ผูกขาดเช่นเดียว โดยเริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่ 2 ไตรมาสสุดท้ายของปี เริ่มทยอยแบ่งเวลาและเปลี่ยนมือเจ้าของกิจการ สุดท้ายกลุ่มธุรกิจสื่อก็กลับอยู่ในรูปแบบการผูกขาดความเป็นเจ้าของกิจการเพียงไม่กี่ราย โดยอาจจะ1รายมีสื่อในเครือประมาณ 4-5 ช่อง

“หากผู้บริหารสื่อไม่รีบตัดสินใจแก้ปัญหาเช่นนี้ ภายใต้ระบบการกำกับดูแล และปล่อยให้เกิดการพัฒนาไม่เป็นธรรมเช่นนี้ เช่น กลต. และ กสทช. ขาดความรับผิดชอบ อาศัยเฉพาะดุลพินิจ ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการโทรทัศน์ต้องช่วยเหลือตัวเอง ในสภาพธุรกิจที่ตกต่ำเช่นนี้ โดยใช้เฉพาะในประเทศไทยผู้ประกอบการต้องช่วยตัวเอง แม้แต่หวังพึ่งศาลปกครองก็ไม่ได้ อุตสาหกรรมนี้ผูกขาดมานานกว่า 50 ปี ผู้เข้ามาผลิตเพื่อหวังว่าจะเปลี่ยนผ่านจากยุคผูกขาด แต่หากเป็นเช่นนี้ไม่เปิดให้เกิดการแข่งขันที่สมบูรณ์ ก็อาจจะทำให้บางรายค่อยๆ หายไปจากตลาดเหลือเพียงไม่กี่ราย ส่งผลให้ประชาชนขาดทางเลือกจากเดิมที่หวังกันว่าดิจิทัลจะทำให้คนมีทางเลือกมากขึ้น ”

ด้านนายพัชระ สารพิมพา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักข่าวสปริงนิวส์ กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจที่คาดกันว่าเม็ดเงินโฆษณาแสนล้านแต่ในความเป็นจริงบางรายได้รับค่าโฆษณาต่ำมากเพียงหลักพันล้านบาท เนื่องจากมีการแข่งขันกันสูงผู้ประกอบการทุกรายจึงอยู่ในภาวะลำบาก

โดยเฉพาะหลังการประมูลที่บริหารจัดการโดยกสทช.แล้วผลสุดท้ายยังต้องจ่ายเพิ่มให้กับกลุ่มผู้ประกอบการเคเบิลที่มีอำนาจในการจัดเรียงช่องเข้าถึงกลุ่มคนดู เนื่องจากกลุ่มผู้ประมูลถูกจัดลำดับให้อยู่ท้ายต่อจาก 10   ช่องแรกของเคเบิ้ลและกล้องดาวเทียม  กลุ่มผู้ประมูลจึงมีตัวเลขไม่ตรงกับที่ประมูลได้ส่งผลต่อความเสียเปรียบในการวัดเรตติ้ง เพราะผู้ชมมักเลือกชมเพียง 10   ช่องแรกที่ค้นหาได้ง่ายกว่า

สำหรับการครอบงำกิจการมี 2 ด้านคือ ด้านโครงสร้างและเนื้อหา แต่ที่กังวลใจคือการครอบงำด้านเนื้อหา เนื่องจากทำให้โอกาสการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชนขาดความหลากหลาย ซึ่งนิยามการครอบงำกิจการแตกต่างไปในแต่ละยุค เช่น บางยุคห้ามเป็นเจ้าของกิจการข้ามสื่อ ฉะนั้นต้องพิจารณาด้านโอกาสการรับข้อมูลข่าวสาร ส่วนด้านโครงสร้าง มีผลต่อเนื้อหาเช่นกัน แต่หากมีการแบ่งกำแพงระหว่างความเป็นเจ้าของกับกองบก.ชัดเจนฝ่ายการตลาดไม่สามารถครอบงำได้