ปิดทองหลังพระฯ โชว์ผลงานปี 2563 มีส่วนร่วมบรรเทาวิกฤติของประเทศ

อ.ค.ต.ป. สำนักงาน ก.พ.ร.  ถอดบทเรียนการทำงานของปิดทองหลังพระ ทำรายงานเสนอต่อรัฐบาลให้เร่งจัดสรรงบประมาณให้กับท้องถิ่นเพื่อพัฒนาชนบทและแก้ไขปัญหาว่างงาน ขณะที่ผลงานของปิดทองหลังพระปี 2563 สร้างรายได้ให้เกษตรกร 14,260 ครัวเรือนใน 12 จังหวัด รวม 426 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์จากน้ำรวม 33,171 ไร่

นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า ปิดทองหลังพระฯ ในฐานะหน่วยงานหนึ่งที่น้อมนำแนวพระราชดำริมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับชุมชนท้องถิ่น ได้มีการระดมทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งองค์ความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ บุคลากร กับงบประมาณ ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงชาวบ้านที่เห็นประโยชน์จากการทำงานของปิดทองหลังพระ ที่ช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นได้จนเกิดความสำเร็จที่เห็นเป็นรูปธรรม และวัดผลสำเร็จได้

การดำเนินงานของปิดทองหลังพระฯ เฉพาะในปี 2563 ในพื้นที่ดำเนินการ 12 จังหวัด สามารถเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์จากน้ำ 33,171 ไร่ ให้กับเกษตรกร 14,260 ครัวเรือนเพื่อทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี ช่วยสร้างรายได้รวม 426 ล้านบาท รายได้เหล่านี้มาจากการส่งเสริมอาชีพ การปลูกพืชหมุนเวียนตลอดปีและการท่องเที่ยววิถีท้องถิ่นของพื้นที่ต้นแบบ 69 ล้านบาท โครงการทุเรียนคุณภาพสามจังหวัดชายแดนใต้ 140 ล้านบาท และรายได้ที่เป็นผลจากการพัฒนาแหล่งน้ำและส่งเสริมอาชีพจากโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานรากเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะว่างงานจากปัญหาโควิด-19 อีก 217 ล้านบาท

ปีที่ผ่านมามีสถานการณ์ของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ ร่วมถึงปัญหาภัยแล้ง ฯลฯ ปิดทองหลังพระ ได้เพิ่มความเข้มข้นในการทำงานเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ ปัญหา และวิกฤติของประเทศด้วยการดำเนินงานโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานรากเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะว่างงานจากปัญหาโควิด-19  เริ่มจาก 3 จังหวัดภาคอีสาน คือกาฬสินธุ์ ขอนแก่น และ อุดรธานี จำนวน 107 โครงการ ที่จ้างงานคนว่างงาน 369 คน ทำให้มีรายได้ระหว่างว่างงาน และได้เรียนรู้แนวพระราชดำริในเรื่องเกษตรทฤษฏีใหม่ เพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพ และชุมชนยังได้รับประโยชน์จากแหล่งน้ำที่เพิ่มขึ้น

ผลจากการดำเนินงานโครงการทำให้ชาวบ้านมีแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น 23.7 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 30,900 ไร่ คำนวณแล้วคนในพื้นที่ 5,320 ครัวเรือน จะมีรายได้เพิ่มขึ้นรวม 217 ล้านบาทและปัจจุบันนี้ได้ขยายผลดำเนินการออกไปอีก 9 จังหวัดพื้นที่ต้นแบบรวม 543 โครงการ

นายการัณย์ กล่าวต่ออีกว่าคณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผล ภาคราชการกลุ่มกระทรวง คณะที่ ๑ (อ.ค.ต.ป.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ ได้ทำการประเมินผลเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับแรงงานคืนถิ่นในชนบท ของโครงพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานรากเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะว่างงานจากปัญหาโควิด-19 มีความคิดเห็นเชิงนโยบายว่า เป็นโครงการที่เกิดจากชุมชนเป็นผู้คัดเลือกและลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง โดยคัดเลือกแหล่งน้ำที่ชำรุด ทรุดโทรม ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้และซ่อมแซมด้วยตนเอง ส่งผลให้เกิดประโยชน์ร่วมกันภายในชุมชนอย่างยั่งยืน

อ.ค.ต.ป.จึงเสนอรัฐบาลควรเร่งรัดให้หน่วยงานที่ถ่ายโอนโครงการแหล่งน้ำร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายโอน สำรวจโครงสร้างพื้นฐานที่ชำรุด ไม่สามารถใช้การได้ในปัจจุบัน เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือขอรับการจัดสรรงบกลาง เพื่อดำเนินการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำให้มีแหล่งน้ำพอเพียงกับการเพาะปลูกมากขึ้นต่อไป

“ผลการดำเนินงานกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิด ประโยชน์กับราษฎร จำนวน 82,486 ครัวเรือน ในพื้นที่ดำเนินการ 12 จังหวัด เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์จากน้ำ 308,886 ไร่มีรายได้เพิ่มขึ้นรวม 3,102 ล้านบาทจาก การเกษตร พัฒนาอาชีพ การรวมกลุ่มและเชื่อมโยงการตลาด”นายการัณย์กล่าวทิ้งท้าย

ขอขอบพระคุณที่ช่วยเผยแพร่ข่าว
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ :
ฝ่ายสื่อสารสาธารณะและภาคีสัมพันธ์
สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ
โทรศัพท์ 02-6115009 มือถือ 080-0688433