“ปัญหาของพระไม่มีใครรู้ดีเท่ากับพระด้วยกันเอง ไม่ว่าจะเป็นนายกฯหรือคนอื่นนอกวงการสงฆ์ พระสงฆ์ต้องแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่อย่างทุกวันนี้ ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆวัดใครวัดมัน ต่อให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 10 ชุด 100 ชุดก็แก้ไขปัญหาไม่ได้”
ศาสนา เป็น 1 ในสถาบันหลักที่สำคัญของสังคมไทย นอกเหนือไปจาก สถาบันชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่อยู่คู่กับคนไทยมาตลอดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แต่ยังคงมีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับพระ ปรากฎต่อสาธารณชนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าประเทศไทยเป็นเมืองแห่งพุทธศาสนา ในอดีตมีหลายกรณีที่เป็นเรื่องราวใหญ่โต และสังคมไทย วิพากษ์วิจารณ์อย่างครึกโครม
เกรียงไกร ภู่ระย้า ผู้สื่อข่าว นสพ.ไทยรัฐ ที่ติดตามทำข่าววงการพระสงฆ์ มา 30 ปี บอกใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”ว่า ข่าวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ถ้าเทียบกับอดีตแล้วถือว่าธรรมดา เพราะเรื่องของพระเป็นเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธา คนทั่วไปมองด้วยสายตาที่ไม่เข้าใจ โลกของพระกับโลกของคนที่เชื่อมั่น ในสิ่งที่เขาเคารพศรัทธาคนละอย่างกัน
พระสงฆ์อยู่ภายใต้กฎหมาย และพระธรรมมาวินัยมากกว่าคนทั่วไป ปัญหาของพระสงฆ์ ก็อยู่ภายใต้การดูแลโดยกรมการศาสนา ซึ่งขณะนั้นเป็นกรมใหญ่มาก สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนที่จะมีการปฏิรูปในสมัยรัฐบาลทักษิณ ปี 2545 จึงกลายมาเป็นสำนักพุทธศาสนา มีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาของสงฆ์ ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูง และกรรมการมหาเถระสมาคม สมัยก่อนข่าวพระสงฆ์ จะมีแหล่งใหญ่ๆ อยู่ที่กรมการศาสนา
ในอดีตพระสงฆ์มีเรื่องร้องเรียนเหมือนกับปัจจุบัน ซึ่งสื่อจะประจำอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ , อยู่ในวัด , อยู่ในมหามงกุฎ , มหาจุฬาฯ มีทั้งพระสงฆ์ เอ็นจีโอทางด้านสงฆ์ อยู่ที่สมาคมศิษย์เก่า มหามงกุฎ , มหาจุฬาฯ เป็นแหล่งข่าวชั้นดี คนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพระสงฆ์ หรือพระนอกรีต จะมาร้องเรียนที่กรมการศาสนา มีแผนกต่างๆ เช่น รับเรื่องราวร้องทุกข์ แผนกตรวจสอบ สมัยก่อนกรมการศาสนาทำงานเข้มแข็งมาก เจ้าหน้าที่ของกรมการศาสนา ร่วมกับพระวินยาธิการหรือตำรวจพระ ที่เข้าไปพิสูจน์และตรวจสอบอย่างจริงจัง ในกรุงเทพฯมีตำรวจพระทุกเขต คอยสอดส่องดูแลพระที่กระทำการไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมตามพระธรรมวินัย
ปัจจุบันตำรวจพระยังมีอยู่ แต่บทบาทความเข้มข้น ตรวจสอบลดลง เนื่องจากปัจจุบันคณะสงฆ์เจอวิกฤตหลายเรื่อง , รูปแบบโครงสร้างการปกครอง ที่เปลี่ยนไป อำนาจพระธรรมมาวินัยไม่เหมือนเดิม คือ ไม่ได้อยู่ที่คณะสงฆ์ และการปกครองก็ลดน้อยลง สมัยก่อนตำรวจพระอยู่ที่ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ “พระธรรมสุธี” ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะกรุงเทพมหานครท่านเข้มข้นมาก
แต่ตอนนี้กลับไปอยู่กับญาติโยม พอไม่มีแรงจูงใจต่างๆ ตำรวจพระก็เฉยๆ บางทีไม่รู้ว่าจะไปจับทำไม เพราะถ้าจับกันจริงๆก็ผิดเยอะ ขณะที่มีเรื่องร้องเรียนไปยังสำนักพุทธ แต่สำนักพุทธคนก็ออกไปเยอะ ติดคุกก็เยอะ คดีเงินทอนวัดทำให้กำลังล้าไปหมดในตอนนี้ และโครงสร้างการทำงานของระบบราชการ อย่างสำนักพุทธ ก็ไม่เอื้อต่อโลกสมัยใหม่ ในการจัดการกับปัญหาวัด และพระสงฆ์นอกรีต
ทั้งนี้เมื่อมีข่าวเกี่ยวกับวงการสงฆ์ ในอดีตทุกยุคทุกสมัย จะมีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ขึ้นมาตรวจสอบ หาแนวทางในการทำนุบำรุงพระศาสนา และป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ขึ้นมาติดตามเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ท้ายที่สุดไม่มีอะไร การจะให้สถาบันสงฆ์กลับมาเข้มแข็งได้นั้น ต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ เพราะสงฆ์เป็น 1 ใน 3 สถาบันหลัก คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
“ปัญหาของพระไม่มีใครรู้ดีเท่ากับพระด้วยกันเอง ไม่ว่าจะเป็นนายกฯหรือคนอื่นนอกวงการสงฆ์ พระสงฆ์ต้องแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่อย่างทุกวันนี้ ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆวัดใครวัดมัน ต่อให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 10 ชุด 100 ชุดก็แก้ไขปัญหาไม่ได้ ตอนนี้พระสงฆ์อ่อนแอมาก แทบจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐเลย”
ส่วนใหญ่พระที่เป็นข่าว ขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ กับคนใกล้ชิดแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพระยันตระ ที่เรื่องค่อนข้างสลับซับซ้อนมีสีสันเยอะ และมีต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เป็นคดีดังมากในปี 2537 สื่อทุกฉบับตรวจสอบขุดคุ้ย ขณะที่พระยันตระได้รับการปกป้องจากคณะสงฆ์มาก เป็นพระดังสายธรรมยุต หน้าตาดีบารมีมหาศาล ปี 2535 และ 2536 เคยมาบิณฑบาต ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คนมืดฟ้ามัวดิน จู่ๆใครจะคิดว่าปี 2537 จะมีเรื่อง เพราะคนใกล้ชิด คือ สีกา มาร้องเรียนที่กรมการศาสนา ว่าท่านมีลูก คือ เด็กหญิงกระต่าย ตอนนั้นคนก็งงว่ามีลูกจริงหรือไม่
หรือกรณีพระณิกรก็มาจากญาติโยมใกล้ชิด ไม่มีทางที่คนนอกจะเข้าไปล่วงรู้ได้เลย เมื่อเขามาร้องที่กรมการศาสนาถึงได้รู้ แต่การร้องเรียนต้องมีที่มาที่ไปด้วย มีหลายคดีใหญ่ๆที่เกิดขึ้นในวงการสงฆ์มากมาย กรมการศาสนาไปตรวจสอบ และเป็นธรรมดาที่ผู้สื่อข่าวต้องไปกับเจ้าหน้าที่ด้วย เพื่อคุยกับชาวบ้าน ทำข่าว ถ่ายรูป ตรวจสอบพร้อมกับเจ้าคณะปกครอง
หากพูดถึงบทบาทการทำหน้าที่สื่อ และนำเสนอข่าวเรื่องวงการสงฆ์ ในอดีตเทียบกับปัจจุบัน ค่อนข้างแตกต่างกัน ในอดีตการหาข่าวยากทุกกรณี ต้องลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ กรมการศาสนา ว่าเป็นจริงตามที่ถูกร้องเรียนหรือไม่ ไม่ใช่ว่าร้องเรียนมาแล้วจะจริงทุกเรื่อง ปัจจุบันเน้นเรื่องความไว ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์และออนไลน์เป็นหลัก ดังนั้นสื่อต้องมีความรู้ในเรื่องที่เราไปทำข่าว เราจะไปเอาผิดพระรูปไหน เราต้องมีเอกสารหลักฐานข้อมูล ตรวจสอบยืนยันข้อมูลว่าจริงหรือไม่ เพราะความจริงจะช่วยปกป้องนักข่าว
“นักข่าวคือคนที่ต้องเหนือกว่าคนอื่น ต้องรู้ความจริง รู้ให้ลึกรู้ให้มาก ทำการบ้านให้มากและตรวจสอบประเด็น แสวงหาความจริง ตรวจสอบบุคคลที่เราจะไปดำเนินการกับเขา เพราะถ้าพลาดไปก็เหมือนกับว่า เราไปทำลายชีวิตของคนๆหนึ่ง ซึ่งเป็นบาปติดตัวเราไป เราต้องรู้ว่ากำลังทำหน้าที่อะไรอยู่ ถึงจะไม่ไปละเมิดผู้อื่น นำเสนออย่างรอบด้าน ก่อนนำเสนออะไรต้องมีสติให้มากๆ เพราะถ้าเสนออะไรผิดไป ถ้าเจอพระเก่งๆก็อาจจะโดนคดีฟ้องร้อง เราจึงหมั่นอ่าน ศึกษาหาความรู้จากสังคมที่เป็นอยู่”
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น. โดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5