อนาคต “กม.จริยธรรมสื่อ” ไปต่อหรือจอดป้าย? 

กองบก.จุลสารราชดำเนิน  

--- 

“ร่างพรบ.จริยธรรมสื่อ” หรือร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ….. ถูกหยิบยกเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา การอภิปรายเป็นไปอย่างเข้มข้นหลากหลายใช้เวลาหลายชั่วโมง แต่ที่สุดก็ยังไม่มีบทสรุปว่า ร่างกฎหมายนี้จะผ่านหรือถูกตีตก เพราะปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ ทำให้ต้องรัฐสภายุติการพิจารณากลางคัน อย่างไรก็ตามหากติดตามการอภิปราย มีแนวโน้มที่ร่างพรบ.จริยธรรมสื่อ จะไม่ผ่านในสภาชุดนี้ เพราะสส.พรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างไม่เห็นด้วย มีเพียง ส.ว.ที่สนับสนุน

ร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอโดยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ในช่วงท้ายอายุรัฐบาล แต่กว่าจะเดินทางมาถึงรัฐสภามีเส้นทางความเป็นมาถึง 13 ปีตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์  ท่ามกลางมุมมองที่แตกต่าง ฝ่ายคัดค้านเห็นว่า นี่เป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่ต้องออกกฎหมายเพื่อควบคุม จัดการสื่อ เนื่องจากสมัยรัฐบาลคสช. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้แปลงสารเปลี่ยนเนื้อหาไปรอบหนึ่งให้มีการ “ตีทะเบียน” เพื่อควบคุมสื่อมวลชน ขณะที่ ฝ่ายสนับสนุนเห็นว่า ร่างกฎหมายได้มีการปรับปรุงใหม่ มีการสร้างกลไกตรวจสอบแก้ปัญหาจริยธรรมสื่ออย่างเป็นระบบ  

อนาคตของกฎหมายจริยธรรมสื่อที่ยังค้างเติ่งในรัฐสภา จะเป็นอย่างไรต่อยังคงถูกจับตา ขณะที่การคัดค้านยังคงเข้มข้น พร้อมกับคำถามที่ว่า แล้วกลไกใดที่จะตรวจสอบจริยธรรมสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ กฎหมายที่มีอยู่ หรือ พลังสังคมมีความเข้มแข็งพอหรือไม่?

ผลักดันต่อได้แต่อย่ากลืนน้ำลายตัวเอง

อย่าสูญเปล่า หนุนถกระบบตรวจสอบ

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทร่วมยกร่างกฎหมายฉบับนี้มาตั้งแต่ยุคแรกเมื่อปี 2553  วิเคราะห์ว่า สุดท้ายแล้วร่างพรบ. จริยธรรมสื่อน่าจะไม่ผ่านในสภาชุดนี้เพราะเวลาที่เหลือของสภามีไม่มากจึงไม่น่าพิจารณาทัน  ขณะที่รัฐบาลก็ไม่ได้จริงจังที่จะผลักดัน เพียงแค่ต้องการทำตามวาระการปฏิรูปประเทศ แต่ประเมินไม่ได้ว่า ที่สุดแล้วกฎหมายนี้จะถูกปัดฝุ่นมาเสนอเข้าสภาในรัฐบาลหน้าหรือไม่ ยืนยันว่า หากมีการหยิบยกมาพิจารณาหรือไม่จะไม่ให้ใครเอามาแปลงสารเป็นเครื่องมือจัดการสื่อแน่ ถ้าเป็นอย่างนั้นจะขอคัดค้านถึงที่สุด 

“ไม่ว่าพรรคใดจะหยิบกฎหมายมาพิจารณาในอนาคต มันก็คงไม่สามารถพิจารณาให้มันเลวร้ายกว่านี้ได้  ความจริงกฎหมายนี้มีที่มาตั้งแต่ปี 2553 ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ที่เราร่วมกันทำกฎหมายนี้ไว้แต่แรก  พอรัฐบาลยิ่งลักษณ์มา กฎหมายมันก็คาอยู่ที่กฤษฎีกา แต่ถามว่า ทำไมเราไม่ไปผลักดันกฤษฎีกาให้เสนอต่อ ก็เพราะเราไม่ไว้พรรคเพื่อไทยกลัวว่า  ถ้าเอาเข้าสภาแล้ว เขาจะแก้แล้วเลวร้ายขึ้นหรือไม่  เราจึงปล่อยให้มันหายไปกับสายลม แต่หลังจากนี้ไม่ว่า ใครมาเป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้ง แล้วถ้าทำกฎหมายให้มันแย่กว่านี้คงไม่ได้ เพราะเป็นการกลืนน้ำลายตัวเองจากที่อภิปรายในรัฐสภาไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้กัน”  

ชวรงค์ กล่าวว่า  หากกฎหมายไม่ผ่านรัฐสภาก็ไม่มีปัญหา แต่อย่างน้อยทำให้เกิดการถกเถียงว่า ปัญหาของการกำกับกันเองด้านจริยธรรมสื่อมันมีอยู่หรือไม่ ดังนั้น เพื่อไม่ให้สูญเปล่า ผู้ที่เกี่ยวข้อง และสังคม ควรมาคิดว่า ถ้าเราไม่ได้กฎหมายแล้วจะเอาแบบไหนที่จะให้ระบบการกำกับดูแลกันเองมีความเข้มแข็งมากขึ้น แต่น่าเสียดาย ถ้าการคัดค้านกฎหมายนี้เป็นการคัดค้านอย่างเดียว ไม่ได้มาช่วยกันแก้ปัญหาที่มีอยู่จริง

การอภิปรายในรัฐสภาที่ผ่านมา ผู้ที่พูดได้ดีสุดคือ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เพราะเคยเป็นสื่อและเป็นผู้นำองค์กรวิชาชีพสื่อมาก่อนจึงเข้าใจปัญหาการกำกับดูแลกันเองของสื่อเป็นอย่างไรมีการเสนอให้รัฐสภารับหลักการไปก่อนและฟังความเห็นในขั้นตอนตั้งคณะกรรมาธิการให้รอบคอบตามที่ท้วงติง  และให้รัฐบาลใหม่ตัดสินใจว่า จะหยิบยกกฎหมายนี้มาพิจารณาภายใน 60 วันหรือไม่ ตรงนี้ถือเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ 

อย่างไรก็ตามเห็นว่า มีหลายเรื่องที่พูดกันไปใหญ่ เช่น  ที่มาของงบประมาณในการก่อตั้งองค์กรสภาวิชาชีพสื่อ มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า การก่อตั้งองค์กร ต้องไปรับเงินจากรัฐมา ซึ่งเปิดช่องให้รัฐเข้ามาแทรกแซงสภาวิชาชีพ แต่ในร่างกฎหมายเขียนว่า รัฐต้องจ่ายเงินขั้นต่ำที่ทำให้องค์กรสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มันทำหน้าที่ในระยะเริ่มแรกได้เท่านั้น อีกประเด็น รัฐบาลจะเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งคณะกรรมการในสภาวิชาชีพสื่อฯ ซึ่งมีโอกาสน้อยมาก ส่วนที่กำหนดให้กรมประชาสัมพันธ์มาเป็นกรรมการสรรหานั้นก็แค่ชั่วคราว ลักษณะอำนวยความสะดวก เข้าใจได้ว่า เมื่อเอ่ยชื่อกรมประชาสัมพันธ์ก็ เชื่อกันว่ารัฐจะเข้าไปแทรกแซง  

“มีหลายเรื่องที่พูดกันแล้วเข้าใจผิด  ผมก็เห็นใจผู้บริหารกรมประชาสัมพันธ์ยังมาตัดท้อว่า ที่จริงเขาไม่อยากยุ่ง แต่เราเองเป็นคนบอกเขาให้เข้ามาช่วยชั่วคราวเรื่องการตั้งหน่วยธุรการ คนที่คัดค้านก็ไม่ผิด มีสิทธิ์ที่จะคิดและไม่ไว้วางใจกรมประชาสัมพันธ์ มันนานาจิตตัง กระแสคัดค้านบางเรื่องเกี่ยวข้องความคิดความเชื่อทางการเมืองก็น่าเสียดาย ทำให้เรามองข้ามสาระของเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้เรามีกำกับกันเองอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

หากกฎหมายไม่ผ่านรัฐสภาก็ไม่มีปัญหา แต่อย่างน้อยทำให้เกิดการถกเถียงว่า ปัญหาของการกำกับกันเองด้านจริยธรรมสื่อมันมีอยู่หรือไม่ ดังนั้น เพื่อไม่ให้สูญเปล่า ผู้ที่เกี่ยวข้อง และสังคม ควรมาคิดว่า ถ้าเราไม่ได้กฎหมายแล้วจะเอาแบบไหนที่จะให้ระบบการกำกับดูแลกันเองมีความเข้มแข็งมากขึ้น แต่น่าเสียดาย ถ้าการคัดค้านกฎหมายนี้เป็นการคัดค้านอย่างเดียว ไม่ได้มาช่วยกันแก้ปัญหาที่มีอยู่จริง

คนยกร่างไม่ต้องการตำแหน่ง

ระบบกำกับกันเองมีปัญหา

อีกเรื่องที่น่าเสียใจคือ มีการมองว่า คนที่ยกร่างกฎหมายเพื่อต้องการให้ตัวเองเข้าไปเป็นกรรมการในองค์กรใหม่นี้ ซึ่งไม่เป็นความจริง ตอนยกร่างก็ปิดรูตรงนี้ไว้แล้วว่า กรรมการชั่วคราวไม่สามารถมาเป็นกรรมการถาวรได้  นายมีชัย ฤชุพันธ์ ในฐานะประธานกรรมการกฤษฎีกา  ยังทักท้วงเองว่า ถ้าคนรู้เรื่องไม่มีโอกาสเข้ามาทำงาน และจะทำอย่างไร เจตนารมณ์อาจถูกบิดเบือนไป 

ประเด็นที่ว่า ทำไมองค์กรวิชาชีพสื่อถึงเสียงแตกไม่เป็นเอกภาพต่อท่าทีกฎหมายจริยธรรมสื่อ ชวรงค์ ชี้แจงว่า จุดยืนของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติชัดเจนมานานแล้วว่า ไม่คัดค้าน เพราะเราได้เข้าไปร่วมร่างกฎหมายฉบับนี้แต่แรก และคิดว่ามันออกมาเป็นร่างกฎหมายที่ดีที่สุดแล้ว ดังนั้นถ้ามีกฎหมายฉบับนี้ออกมาก็ไม่เป็นปัญหาและถือว่า เป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพสื่อ แต่ถ้าไม่มีเราก็ทำหน้าที่ของเราต่อไปได้    

“การที่องค์กรวิชาชีพสื่ออื่นๆ ออกมาคัดค้านแล้วทำไมสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติไม่คัดค้านด้วย เราเองก็เข้าใจ ความจริงองค์กรสื่อที่ค้าน 3-4 องค์กรก็มีส่วนในการร่างกฎหมายฉบับนี้เหมือนกัน เพียงแต่ตัวแทนขององค์กรที่เคยมาร่าง อาจไม่ได้เป็นผู้บริหารขององค์กรสื่อนั้น หรือ อาจยังอยู่แต่ไม่สามารถอธิบายให้ กรรมการองค์กรวิชาชีพสื่อที่คัดค้านเข้าใจว่า เนื้อหากฎหมายเป็นอย่างไร ทำให้เขาอาจเห็นประเด็นที่น่ากังวล ซึ่งเราก็เคารพในความเห็นต่าง เพียงแต่เราเชื่อว่า ร่างกฎหมายนี้ไม่ได้มีปัญหามากมายอย่างที่มีการท้วงติงกัน แต่ก็ยอมรับได้ในบางจุดที่ว่า มันร่างไว้นานแล้ว บริบทสื่อก็อาจเปลี่ยนไปบ้าง”  

ส่วนที่ว่า ร่างกฎหมายนี้ไม่ได้นำมารับฟังความเห็นในองค์กรวิชาชีพสื่ออย่างกว้างขวางนั้น ชวรงค์ ยืนยันว่า ไม่จริง มีการรับฟังมาตลอดและลงตัวตั้งแต่ปี 2562  ตอนนั้น วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้องค์กรวิชาชีพคุยกันเองว่าจะเอาอย่างไร  เราก็ถามกลับไปทุกองค์กร ไม่มีใครว่าอย่างไร จึงยืนยันตามร่างนั้นและส่งให้รัฐบาลเพราะคิดว่ามันดีที่สุดเท่าที่ทำได้แล้ว ไม่มีจุดที่รัฐจะมาใช้อำนาจปิดสื่อ หรือ กลั่นแกล้งสื่อ  อย่างไรก็ตามยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการยกร่าง แต่ที่เขาต้องการผลักดันเพราะอยากให้มีร่างกฎหมายเป็นวาระในการปฏิรูปประเทศ

ถามถึง การตรวจสอบกันเองของสื่อที่ผ่านมาพอใจหรือไม่เพราะถูกวิจารณ์ค่อนข้างมาก  ชวรงค์ ยอมรับว่า ยังมีปัญหาอยู่เพราะระบบที่เราใช้กำกับกันเองแบบสมัครใจ ถ้าสื่อใดไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิก หรือ เป็นแล้วเกิดไม่พอใจลาออกไปมันก็ไม่มีกลไกที่จะตรวจสอบจริยธรรมการทำหน้าที่ของสื่อนั้น  และการที่บอกว่า สังคมก็ตรวจสอบสื่ออยู่ แต่มันทำได้ระดับหนึ่ง สังคมไทยไม่เหมือนประเทศตะวันตก หรืออย่างอเมริกา เขาไม่มีสภาวิชาชีพสื่อก็จริง แต่ประชาสังคมเขาเข้มแข็งมากในกำกับดูแลสื่อ หรือแม้แต่ประเทศอังกฤษ ยังมีกฎหมายมาเกี่ยวข้องในการกำกับกันเองด้วย แม้ไม่ได้โดยตรง กล่าวคือ เขาใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์เข้ามาเกี่ยวข้องในลักษณะนิติกรรมสัญญา ถ้าสมาชิกไม่เข้าร่วม หรือ เข้าร่วมแล้วไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกบังคับโดยกฎหมายแพ่งฯ 

“พลังสังคมบ้านเราตรวจสอบสื่อได้ระดับหนึ่ง แต่รวมๆ ยังไม่น่าพอใจเพราะยังมีสื่อที่ออกนอกลู่นอกทาง แต่เราก็ยังไม่มีอะไรไปตรวจสอบเขาได้  เราก็ได้แต่บ่น ตรงนี้มันเป็นเรื่องความรู้สึกแล้วบางคนก็พอใจ สังคมตรวจสอบได้ บางคนก็ยังไม่พอใจ ถ้าสังคมไทยเข้ามากำกับสื่อได้จริง ผมก็ดีใจแสดงว่า สังคมไทยพัฒนาไปถึงขั้นอเมริกาแล้ว แต่สภาพความเป็นจริงมันยังไม่ถึงขั้นนั้น”

ชวรงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า  สังคมวันนี้มาไกลในเรื่องข้อมูลข่าวสาร การวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ อยากให้ความสำคัญกับสาระมากกว่าใช้อารมณ์ ความรู้ ความเชื่อทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเรื่องเสรีภาพของสื่อมันมีพัฒนาการ อยากให้ศึกษากันอย่างจริงจัง ไม่อยากให้คิดแบบฉาบฉวย และคัดค้านโดยไม่พยายามแก้ปัญหา ทุกคนทราบดีปัญหาอะไร ไม่ควรดีแต่วิจารณ์โดยไม่ทำอะไรเพื่อให้สื่อในประเทศได้ทำหน้าที่โดยมีเสรีภาพและความรับผิดชอบควบคู่กันไป

กม.กลั่นกรองรอบคอบ

สื่อต้องรับผิดชอบจริยธรรม

มงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า  ทางที่ดีรัฐบาลควรถอนร่างกฎหมายจริยธรรมสื่อออกจากวาระ เพราะยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่เพื่อจะได้นำมาหารือให้เป็นทิศทางเดียวกันว่า จุดประสงค์ของการมีกฎหมายนี้คืออะไรโดยเฉพาะสื่อยุคใหม่ สื่อโซเชียลที่บอกว่า ไม่เคยมีส่วนร่วมในการออกแบบกฎหมาย ก็จะได้มามีส่วนร่วมและปรับปรุงเนื้อหากฎหมายให้เข้ากับยุคสมัย

“ผมเห็นว่า กฎหมายจริยธรรมสื่อ จะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้ารัฐสภา หรือ รัฐบาลต้องการผลักดันขออย่าให้มันผิดเพี้ยนจากร่างปัจจุบันหรือสอดไส้อะไรไป เพราะกระบวนการเสนอร่างกฎหมายได้ผ่านการตรวจสอบ ตัดทอนอำนาจ ป้องกันฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงสื่อ  สื่ออาวุโสหลายคนที่ต่อสู้เรื่องเสรีภาพได้เข้าไปกลั่นกรองเนื้อหาให้มันดีขึ้นกว่าเดิมแล้ว”   

มงคล กล่าวว่า  กฎหมายจริยธรรมสื่อฉบับนี้ ถูกตีความแตกต่างกันไปคนละบริบท ฝ่ายที่สนับสนุนเห็นว่าเป็นเรื่องปฏิรูปสื่อ ฝ่ายไม่เอาก็มองในมุมการเมืองมากกว่าเนื้อหากฎหมาย และตีความแบบท่อนๆ แม้แต่การอภิปรายในรัฐสภา ก็ไม่มองภาพรวม จึงเห็นแต่ปัญหา ทั้งที่กฎหมายนี้ถามหาความรับผิดชอบของสื่อด้วยการวางมาตรการด้านจริยธรรม  ขณะที่บทลงโทษกรณีสื่อละเมิดจริยธรรมก็เบามาก แค่ตำหนิ ไม่ได้โทษปรับ หรือ ทำให้จอดับ ซึ่งถ้าสำนักข่าวไหนถูกติเตียน ถ้าไม่มีเหตุผลจริงยุคสมัยนี้มันก็ถูกทัวร์ลงอยู่แล้ว 

เขา กล่าวว่า  เนื้อหาที่มีประโยชน์ แต่กลับไม่ค่อยมีใครพูดถึง คือ รัฐธรรมนูญกำหนดให้เกือบทุกวิชาชีพต้องมีการมาตรฐานจริยธรรมกลาง สื่อมวลชนเรามีจริยธรรมของวิชาชีพ แต่ก็มีปัญหาเมื่อคนอยากจะทำผิด จึงไม่มาเป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพที่ควบคุมกันเองเพราะไม่สนใจจริยธรรม ส่วนจริยธรรมกลางจะมีเนื้อหาแบบใด เป็นเรื่องที่คุยกันได้ แต่จะมาบอกว่า ไม่เอากฎหมาย แล้วเมื่อสังคมด่าสื่อเรื่องการนำเสนอข่าวละเมิดจริยธรรม เอาโฆษณาไปแทรกแซงเนื้อหา สื่อเองกลับไม่เคยมีคำตอบให้สังคม 

จากนี้องค์กรวิชาชีพควรเดินอย่างไร? ..... มงคล บอกว่า คนที่จะผลักดันกฎหมาย คือ รัฐบาลที่จะเป็นเจ้าภาพ ไม่ใช่องค์กรสื่อ และสื่อเองก็ไม่มีใครจะเอากฎหมายนี้ และสุดท้ายถ้าไม่ผ่านในวาระรับหลักการ ทุกอย่างก็จบแล้ว  รอรัฐบาลหน้า ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อก็คงเดินหน้า ถ้าเป็นฝ่ายค้านมาเป็นรัฐบาล ไม่แน่ใจว่า จะเอากฎหมายนี้มาเปลี่ยนแปลงเล่นแร่แปรธาตุเพื่อแทรกแซงสื่อหรือไม่ ฉะนั้นถ้ารัฐบาลไหนจะหยิบกมาพิจารณาต่อ ต้องทำเวทีมาพูดคุยกับองค์กรสื่อ รวมถึงสังคมด้วย

นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวว่า บรรดาสื่อยุคใหม่ ต้องมาคุยกันว่า ถ้าไม่เอาการกำกับด้านจริยธรรมแบบนี้ แล้วจะกำกับตัวเองอย่างไร เช่น ถ้าคุณแฝงโฆษณา คุณไปหมิ่นเหม่ยุยงปลุกปั่น นำเสนอข่าวไม่ครบถ้วน กฎหมายทั่วไปไม่มีอะไรมาจัดการอะไรตรงนี้ได้เพราะเป็นเรื่องจริยธรรมโดยตรง   ส่วนกฎหมายหมิ่นประมาท หรือการละเมิด กรณีนี้เป็นเรื่องที่กฎหมายต้องทำ และจริงๆ กฎหมายก็ไม่ได้จัดการได้เด็ดขาดด้วย ส่วนที่สังคมตรวจสอบทัวร์ลง แต่ถามว่า กี่ครั้งที่คดีพลิก ซึ่งทัวร์มันก็ไม่ได้สติ เหตุผลเสมอไป 

“บ้านเรา คำตอบให้สังคมก็ไม่มี กฎหมายก็ไม่เอา ก็ไม่รู้จะเอาอย่างไร ปัญหาสื่อโซเชียลก็สร้างความเสียหายรุนแรงมากกว่าในอดีต สิ่งเหล่านี้ทุกคนก็เห็นอยู่ และที่พวกสื่อออนไลน์มาระแวงว่า  คนในองค์กรสื่อที่ร่วมยกร่าง ทำเพื่อตัวเอง เพื่อมามีตำแหน่ง อยากไปเป็นบอร์ดในสภาวิชาชีพ ผมบอกเลยว่า ผมไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวใดๆ ทั้งสิ้น ผมจะเกษียณไปเป็นชาวบ้านธรรมดาและวันข้างหน้าก็อาจได้รับผลกระทบจากสื่อมวลชนที่ไร้จริยธรรมก็ได้”  นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวยืนยัน