เสรีภาพ “สื่อไทย” พูดได้แค่ไหน ยังมีอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลง?

“3 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” (World Press Freedom Day)เวลายาวนานร่วม 32 ปี ที่ตอกย้ำเจตนารมณ์ หลักการทำงานของสื่ออย่างมีเสรีภาพ เพื่อทบทวนบทบาท สิทธิในการ “พูด” ของคนทำงานข่าว และเพื่อรำลึกถึงการจากไประหว่างปฏิบัติหน้าที่อย่างทุ่มเทของเพื่อนร่วมวิชาชีพ ให้คนที่ยังอยู่ ได้ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง ให้สื่อมีเสรีภาพในอย่างที่ควรจะเป็น

นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึง “เสรีภาพสื่อ” ในอุดมคติว่า คำนี้มีอุดมคติอยู่ 3 ข้อหลัก ๆ คือ 1.พูดได้โดยปราศจากความกลัว (Free From Fear) อย่างที่เคยได้ยินมุกชวนหัวเราะ ว่า ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่คนพูดความจริงจะตาย ฉะนั้น นอกจากสื่อจะมีเสรีภาพในการพูดแล้วยังต้องมีความปลอดภัยและไม่มีผลกระทบจากการโดนข่มขู่ หรือคุกคาม 2.ทำงานได้โดยปราศจากอิทธิพล (Free From Influence) ซึ่งไม่ใช่เฉพาะจากรัฐ แต่ยังหมายรวมถึงผู้มีอิทธิพลในสังคม กลุ่มทุน ไปจนถึงผู้สนับสนุนและคนในองค์กร และ 3.ข้อมูลที่ปราศจากความเท็จ (Free From Falsehood) เพราะระยะหลังเริ่มมีการถกเถียงกันเรื่องความพยายามใช้สื่อมวลชน เผยแพร่ข่าวเท็จเพื่อชี้นำสังคมให้เกิดความเข้าใจที่บิดเบือน

“ตลอดชีวิตการทำงานสื่อของผม ได้สังเกตการณ์เสรีภาพสื่อของไทย ได้เห็นพัฒนาการด้านเสรีภาพที่ดีขึ้น ทุกวันนี้สื่อสามารถพูดได้หลายๆ เรื่อง ที่เมื่อก่อนไม่สามารถพูดได้แน่ๆ หรือจะดูจากมาตรวัดที่เป็นสากลทั่วโลกอย่าง องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders, RSF) ได้มอบลำดับเสรีภาพไทยในทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ถ้าถามว่า สถานการณ์สื่อไทยใกล้เคียงกับอุดมคติทั้ง 3 ข้อหรือไม่ ก็ยังถือว่าห่างไกลอยู่มาก ดูได้จากการที่สื่อยังต้องระวังการรายงานข่าวการเมืองที่จะไปกระทบต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ หรือรายงานข่าวสถาบันบางสถาบัน รวมถึงยังต้องระวังอิทธิพลจากกลุ่มทุนที่สนับสนุนองค์กร ทำให้บางข่าวอาจต้องถูกลบทิ้ง หรืออิทธิพลทางธุรกิจ ทำให้นักข่าวถูกกดดันให้ทำคอนเทนต์เพื่อช่วยองค์กร ถูกทำให้เรื่องไม่ปกติกลายเป็นเรื่องปกติ หรือการนำเสนอข่าวที่หยิบยกมาจากโซเชียลมีเดียโดยปราศจากการตรวจสอบข้อมูล ก็ทำให้เกิดประเด็นการโจมตี ความดราม่า นี่จึงเป็นปัญหาที่เกิดความท้าทายในปัจจุบัน” ธีรนัย กล่าว

It takes two to tango ... ต้องมีสองคน ถึงจะเต้นแทงโก้ได้

ธีรนัย อธิบายว่า นอกจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ในบางครั้ง สื่อเองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระทบต่อเสรีภาพสื่อ แต่ก็ยังเชื่อมโยงถึงกันอยู่ ซึ่งประเด็นที่เห็นได้ชัดเจนคือ การเอากฎหมายมาปิดปากสื่อ ความกลัวที่จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ทำให้สื่อไม่สามารถรายงานข่าวได้อย่างตรงไปตรงมา ก็ทำให้ไม่สามารถบรรลุอุดมคติได้ ประเด็นต่อมาคือ การที่สื่อยังต้องพึ่งพาผู้สนับสนุน ก็เป็นการบีบให้สื่อต้องยอมทำเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ และประเด็นการต่อสู้เพื่อผลักดันเพดานเสรีภาพสื่อในไทยยังน้อย เกิดจากทั้งองค์กรที่ไม่ได้ให้ความสำคัญรวมถึงตัวของสื่อเองก็ไม่ได้แสดงพลังนั้นออกมา

สะท้อนภาพสถานการณ์เสรีภาพสื่อในต่างประเทศ

เมื่อมีการเปรียบเทียบเสรีภาพสื่อไทยกับต่างประเทศ ธีรนัย บอกว่า เข้าใจว่าคงต้องเทียบกับสื่อทางตะวันตก ประเทศที่มีเสรีประชาธิปไตย คงไม่เปรียบเทียบกับประเทศที่มีสถานการณ์ไม่สู้ดีกว่าไทย ซึ่งสอดคล้องกับความจริงว่าในภูมิภาคอาเซียน ไทยถือเป็นประเทศที่มีสถานการณ์เสรีภาพสื่อที่ดีกว่าหลายประเทศเพื่อนบ้าน แต่หากเราไปเทียบกับประเทศที่มีวัฒนธรรมเสรีภาพสื่อ (Free Press) ก็ทำให้เห็นจุดอ่อนชัดเจน ซึ่งมองว่าการนำมาเปรียบเทียบกันเฉยๆ จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร ดังนั้น เป็นเรื่องที่ควรนำมาถอดบทเรียน จุดแข็ง-จุดอ่อน เพื่อให้เห็นว่า ยังมีตรงไหนที่ต้องแก้ไข นำไปสู่การเสริมสร้างจุดแข็ง ลดจุดอ่อนให้สื่อไทย

ปัจจัยภายนอกที่ทำให้สื่อในประเทศที่มีวัฒนธรรมเสรีภาพสื่อต่างจากไทยเรา คือ กลไกการเมืองการปกครอง ที่เอื้อต่อเสรีภาพมากกว่า ทำให้การปิดปากสื่อเกิดน้อยกว่า หรือหากมีการคุกคาม ปิดกั้นสื่อขึ้นมาก็มีช่องทางที่ร้องเรียกความเป็นธรรมคืนมาได้ ส่วนปัจจัยภายในคือ เขารักในศักดิ์ศรีในการเป็นสื่อ มีความเป็นมืออาชีพ ให้ความสำคัญกับบทบาทของสื่อว่าเป็นผู้นำแห่งความคิดของสังคม เป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน จึงเป็นที่มาว่าทำไมเขาถึงมีข้อดีมากกว่าเรา” ธีรนัย อธิบาย

บทบาทสื่อไทยในปัจจุบัน กับ เสรีภาพที่เข้าถึงได้

ธีรนัย กล่าวว่า จากภาพการทำงานของสื่อปัจจุบันที่สามารถตั้งกล้องถ่ายทอดสดรายงานสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างทันท่วงที นับว่าเป็นข้อดีที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นสื่อใหม่ๆ ที่ไร้ข้อจำกัด เรียกได้ว่า “สื่อพลเมือง”ต่างจากสื่อกระแสหลักที่ยังต้องคำนึงถึงจรรยาบรรณ จริยธรรมและความเป็นมืออาชีพ เพราะถ้าการสื่อสารด้วยภาษาพูดในขณะถ่ายทอดสดเป็นชั่วโมง แต่เกิดขึ้นจากความคิดเห็นของฝ่ายเดียว นั่นไม่ใช่การทำงานในวิชาชีพสื่อ อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวก็พบได้ในสื่อกระแสหลักด้วย ดังนั้น ทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อพลเมืองจะต้องใช้เสรีภาพที่มี ให้เกิดประโยชน์และลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด

3 พฤษภาคม "วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก" (World Press Freedom Day)

ธีรนัย บอกว่า วันเสรีภาพสื่อ ได้กำหนดให้จำนวนผู้สื่อข่าวทั่วโลกที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ เป็นมาตรวัดระดับเสรีภาพสื่อ อย่างที่ทราบดีว่าหลายสถานการณ์ทำให้สื่อตกอยู่ในอันตราย เช่น ประเทศที่มีกลุ่มอิทธิพลมืด ประเทศที่มีปัญหาคอรัปชั่น ก็ยังเห็นตัวเลขผู้สื่อข่าวเสียชีวิตรายปี แต่ล่าสุด ก็มีความท้าทายใหม่เกิดขึ้น อย่างเช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ทำให้มีผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งบาดเจ็บจนถึงเสียชีวิตจากการไปรายงานข่าว อย่างไรแล้ว ก็พบว่า มีการวิจารณ์กรณีการนับเฉพาะผู้เสียชีวิต ซึ่งอาจไม่สามารถบอกภาพรวมของสถานการณ์เสรีภาพสื่อทั้งหมดได้ 

“เพราะจริงๆ แล้ว การคุกคามเสรีภาพที่ไม่ถึงแก่ชีวิต การสร้างความหวาดกลัวก็ถือเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งในประเทศไทยมักพบปัญหานี้มากที่สุด ยกตัวอย่าง การสลายการชุมนุมม็อบเอเปค เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน2565 ส่งผลให้มีคนทำงานสื่ออย่างน้อย 4 คน ได้รับบาดเจ็บ ขณะเดียวกัน การถูกคุกคามจากผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น มักจะเกิดขึ้นบ่อยกับนักข่าวภูมิภาค หรือ สตริงเกอร์ (stringer) หลายคนถูกล้อมรถขณะเข้าพื้นที่ทำข่าว ถูกยึดโทรศัพท์ เพียงแต่ไม่ค่อยเป็นข่าว ฉะนั้น การคุกคามเสรีภาพคนทำงานสื่อในบ้านเรายังมีให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ” ธีรนัย กล่าวย้ำ

กฎหมายคุ้มครองเสรีภาพสื่อไทย จำเป็นแค่ไหน?

ธีรนัย กล่าวด้วยว่า สื่อถือเป็นประชาชนคนหนึ่ง ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน” จึงยังใช้ได้อยู่ ซึ่งกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนป้องกันไม่ให้ถูกคุกคามก็เพียงพอต่อการคุ้มครองสื่อ แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่ากฎหมาย คือ การเอาจริงเอาจังกับผู้กระทำผิดต่อสื่อ จะต้องมีการลงโทษให้เป็นเยี่ยงอย่าง ไม่ให้เกิดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด (Culture of Impunity)

“เป็นสิ่งที่อยากฝากรัฐบาล หรือฝ่ายค้านในสมัยหน้า ที่ใกล้เข้ามาถึงทุกที ทุกคนจะต้องจริงจังกับเรื่องนี้ จะต้องเห็นการสอบสวนผู้ที่คุกคามหรือทำร้ายสื่อ ฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายเสรีภาพสื่อโดยเฉพาะ แต่ต้องสร้างการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้เข้มแข็งและใช้ได้จริง เพื่อให้สื่อปลอดภัยจากการทำงาน” อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ กล่าว

สิ่งที่อยากทิ้งท้ายในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

ธีรนัย บอกว่า เมื่อพูดถึงเสรีภาพสื่อ สิ่งที่สะท้อนกลับมาอย่างเห็นได้ชัดจากประชาชน คือ สื่อมีเสรีภาพแต่ไม่มีความรับผิดชอบ ไร้จริยธรรม จึงอยากสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจว่า คำวิจารณ์ดังกล่าวก็มีทั้งส่วนที่ถูกและผิด แต่สื่อจำเป็นต้องมีเสรีภาพในการทำงาน ซึ่งจะต้องมาคู่กับจริยธรรมการทำงานด้วย พูดอีกนัยหนึ่งได้ว่า หากสนับสนุนให้สื่อมีจริยธรรม ก็จะต้องสนับสนุนให้สื่อมีเสรีภาพด้วย เพราะ 2 เรื่องนี้ ไม่สามารถแยกจากกันได้ ส่วนที่อยากฝากจริงๆ คือ ฝากถึงคนทำงานสื่อ ขอส่งกำลังใจให้ทุกคน ทุกแขนง ไม่ว่าจะสื่อกระแสหลัก กระแสรอง สื่อรุ่นใหม่ รุ่นเก่า เพราะไม่อยากเห็นการแบ่งแยกของคนในองค์กรวิชาชีพสื่อด้วยกันเอง แม้ว่าจะมีความแตกต่างทางอุดมการณ์ หรือแตกต่างที่แพลตฟอร์มการนำเสนอข่าว แต่เราต่างมีจุดยืนร่วมกันในการเป็นองค์กรวิชาชีพ

“เราจะต้องสามัคคีกันไว้ เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของสื่อ ไม่ให้ถูกลิดรอนได้ ในทางเดียวกัน เราก็ต้องร่วมกันตอบโต้ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผมจึงอยากฝากทิ้งท้ายด้วยคำของรุ่นพี่ในวงการสื่อที่ผมเคารพ ว่า อาชีพสื่อเราแปลก โดยธรรมชาติของเราเชื่อในความเป็นธรรม จึงเรียกร้องความเป็นธรรมให้ทุกคนในสังคม แต่ทางกลับกัน เรากลับไม่เคยเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเอง ทั้งในเรื่องสวัสดิภาพแรงงาน ค่าจ้างค่าตอบแทน การถูกเลิกจ้าง และอื่นๆ ที่สื่อเป็นปากเสียงให้ทุกคน แต่เรากลับเงียบเมื่อสื่อถูกลิดรอนสิทธิ ฉะนั้น ถึงเวลาที่เราต้องตระหนักในเสรีภาพ และเป็นปากเสียงให้กับองค์กรวิชาชีพ” ธีรนัย กล่าวทิ้งท้าย