ทีวีดิจิทัล หลัง2572 ใบอนุญาตหมดอายุ ยังมีอนาคต อีกหรือไม่?

“ปัญหาหนึ่งที่เรามองเห็นในปัจจุบันคือ เรามีจำนวนช่องหรือผู้เล่นในตลาดมากเกินไปซึ่งต้องมาแข่งขันแย่งส่วนแบ่งค่าโฆษณาที่มีแนวโน้มลดลง ถ้ามองภาพนี้ คิดว่าผู้เล่นในปัจจุบันก็คงคิดหนักและไม่อยากประมูล

เท่าที่ทราบ มีผู้รับใบอนุญาตที่ประกอบกิจการในปัจจุบัน เรียกร้องอยากให้มีการต่อใบอนุญาตของกลุ่มนี้ต่อไป เรียกว่าให้ต่ออายุให้ฟรี โดยบอกว่าจะเปิดรับให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาประมูลอีกก็ได้ จากภาพที่ว่ามา คิดว่าผู้เล่นรายใหม่ก็อาจจะคิดหนัก อย่างไรก็ตาม สื่อทีวียังคงมีความสำคัญและมีบทบาทอยู่ในสังคม อาจจะมีผู้เล่นรายใหม่ที่มีศักยภาพเข้ามาแข่งในตลาดก็ได้ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. พิรงรอง รามสูต 

                                 กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์   

ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้คนในแวดวงสื่อสารมวลชน ได้รับทราบข่าวสาร เกี่ยวกับการเลิกจ้าง-ปลดพนักงานที่อยู่ในฝ่ายผลิต-กองบรรณาธิการข่าว -ฝ่ายรายการของทีวีดิจิทัลหลายช่อง ทั้งที่เป็นข่าวรวมถึงที่ไม่เป็นข่าวแต่เป็นที่รู้กันในแวดวงที่ออกมาหลายระลอก ตลอดจนการเลิกธุรกิจของกิจการสื่อโทรทัศน์ดาวเทียมบางแห่ง 

อันเป็นสิ่งที่สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์และการตั้งคำถามจากผู้คนในแวดวงสื่อมวลชนและคนภายนอกวงการไม่น้อยว่า “กิจการทีวี-ข่าวทีวี”ยังมีอนาคตอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะอีกประมาณ ห้าปีหลังจากนี้ เมื่อใบอนุญาตประกอบการทีวีดิจิทัลจะหมดอายุทั้งหมดทุกช่องในปี พ.ศ. 2572 

“ทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย”ได้นำสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับวงการทีวีดิจิทัล ในช่วงปัจจุบันไปสอบถามความเห็น “ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์”เพื่อให้พอเห็นภูมิทัศน์สื่อทีวีดิจิทัลต่อจากนี้ว่าจะเดินต่อไปอย่างไร และกิจการสื่อทีวีดิจิทัล -คนข่าวทีวีดิจิทัล ต้องปรับตัวอย่างไร หลังจากนี้ 

โดยเมื่อเราถามถึงความเห็นต่อภูมิทัศน์ กิจการสื่อโทรทัศน์ดิจิทัล ในช่วงนี้ ไปจนถึงช่วงที่จะหมดใบอนุญาตในปี 2572 สถานการณ์สื่อทีวีดิจิทัล ภาพรวม ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ จะเป็นอย่างไร เพราะจะพบว่าในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวว่าธุรกิจทีวีดิจิทัล เริ่มมีข่าวเรื่องการลดต้นทุนการผลิต ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน มีการปลดนักข่าว -กองบก. อะไรกันอีกครั้งในหลายสถานี ในส่วนของกสทช.เอง มีการศึกษาผลกระทบของกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินบนแพลตฟอร์มดิจิทัล อย่างไรบ้าง หลังพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ?

ขอบคุณภาพจาก: Facebook ดร.พิรงรอง รามสูตร

            “ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. พิรงรอง-กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์”ให้ทัศนะว่า ภาพของภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อาจมองได้เป็น 4 ส่วนคือ device, service, platform และ network 

1.Device เครื่องรับโทรทัศน์ จากการใช้เสา หนวดกุ้งก้างปลา หรือกล่อง เปลี่ยนเป็นอุปกรณ์เคลื่อนที่ tablet มือถือ ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแน่นอน นั่นคือ ดูรายการทีวีที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ และแยกกันดู ไม่ใช่ต้องนั่งดูด้วยกันที่บ้าน

2.Service ปัจจุบัน เนื้อหาดูได้ 24 ชั่วโมง ช่องรายการเองก็ใช้ platform ซึ่งมีการตอบสนอง interactivity กับผู้ชมได้ เมื่อก่อนนี้ต้องดูตามผังรายการ เดี๋ยวนี้ ผู้ชมเลือกได้ Any time anywhere any device 

3.Platform ให้ service ผ่าน device มีผู้เล่นเก่า ผู้เล่นใหม่ การปรับให้เข้ากับผู้บริโภคแต่ละคน มี algorithm (สมัยเก่า จะเก็บข้อมูลผู้ชมต้องอาศัย Nielsen สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค) เดี๋ยวนี้แพลตฟอร์จะมี feed suggest นำเสนออัตโนมัติโดยดูจากพฤติกรรม นำเสนอเนื้อหาในแนวเดียวกับที่ผู้ชมเคยดู

4.Network โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ตอนนี้เราจะเห็นการหลอมรวมที่ชัดเจนขึ้นระหว่างสื่อดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์ กับโครงข่ายโทรคมนาคม เพราะเรารับชมผ่านอินเทอร์เน็ต ดูเหมือนไกลตัวผู้บริโภคที่สุด แต่ก็อาจจะเป็นตัวควบคุมทั้งหมดก็ได้ ถ้าเน็ตล่ม เราจะดูอะไรได้บ้าง 

ขอบคุณภาพจาก: Facebook ดร.พิรงรอง รามสูตร

            “ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. พิรงรอง”มองว่า นอกจากนี้ เรายังเห็นว่าตลาดกว้างขึ้น มีผู้ให้บริการจากต่างชาติ นำเสนอเนื้อหาจากหลากหลายประเทศ หลายภูมิภาคทั่วโลก 

...เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้บริโภคมีช่องทางการรับสื่อเพิ่มมากขึ้นคือทางแพลตฟอร์มต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต บวกกับการที่แพลตฟอร์มขายของออนไลน์และ social media ต่างๆ ต่างก็ทำหน้าที่เป็นสื่อโฆษณาด้วย เงินค่าโฆษณาที่เป็นรายได้หลักของสื่อดั้งเดิมจึงลดลงและกระจายไปที่สื่ออื่น สื่อดั้งเดิมก็ต้องมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเพื่อแย่งชิงสัดส่วนค่าโฆษณาที่มีแนวโน้มลดลง

...ผลกระทบอีกประการหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หากผู้ชมต่างก็ไปเลือกรับสื่อที่ตัวเองชอบ สิ่งที่เรียกว่า ความเป็นพื้นที่สาธารณะของสื่อ อาจน้อยลงหรือหายไป ผู้คนจะขาดความรู้ ความสนใจในประเด็นร่วม ขาดสิ่งที่ยึดโยงให้อยู่ร่วมกันเป็นสังคม

“มองภาพไปในอนาคต การแข่งขันก็จะยังคงดำเนินต่อไป แต่ กสทช. ก็ได้มีมาตรการต่างๆ ที่จะมาช่วยรักษาสมดุลระหว่างการส่งเสริมการแข่งขันและตลาดกับการพัฒนาของอุตสาหกรรม รวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภค”

“ดร. พิรงรอง-กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์”ให้ข้อมูลว่า กสทช.ได้จัดทำ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ว่าด้วยการแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยมีหลักการและวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแล OTT สอดคล้องกับ พ.ร.ฎ. แพลตฟอร์มดิจิทัลฯ คือเพื่อประกันความโปร่งใส ความเป็นธรรม และมีมาตรฐานการประกอบธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็ต้องการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย มีการปกป้องข้อมูลความเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ เรายังต้องส่งเสริมการแข่งขันของผู้ให้บริการในตลาดให้มีความเป็นธรรมและเอื้ออำนวยให้เกิดการพัฒนาบริการยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย ดังนั้น ต้องย้ำว่า กสทช. ไม่ได้มุ่งจำกัดการแข่งขัน แต่เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมและการแข่งขันที่เป็นธรรม พร้อมๆ ไปกับการคุ้มครองผู้บริโภค การจะออกกฎระเบียบต่างๆ จึงเป็นในลักษณะ "กำกับเท่าที่จำเป็น" (light touch) เท่านั้น แต่ให้เพียงพอที่จะรองรับวัตถุประสงค์อย่างที่กล่าวมา 

            ความท้าทายอาจจะอยู่ที่การออกแบบกฎหมาย (ว่าอย่างไรจึงจะเป็นธรรมและเอื้อต่อการแข่งขันไปพร้อมๆ กัน) และการสร้างอำนาจต่อรองหรือการทำให้ได้มาซึ่งความร่วมมือของแพลตฟอร์มข้ามชาติยักษ์ใหญ่ด้วย เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคก็นับว่าเป็นวิวัฒนาการที่เป็นประโยชน์ ในฐานะองค์กรกำกับดูแล มองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและได้รับบริการที่มีคุณภาพ

ในขณะเดียวกันปฏิเสธไม่ได้ในเรื่องการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรม เพราะเชื่อว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของบริการยิ่งๆ ขึ้นไป และเอื้อต่อเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

หลักการกำกับดูแลในยุคของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ควร “กำกับดูแลเท่าที่จำเป็น” (light touch) โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเข้มแข็ง ผ่านการส่งเสริม สนับสนุนจากองค์กรกำกับดูแล โดยให้ตั้งอยู่บนมาตรฐานของจริยธรรมด้านการสื่อสารที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ต้องมีการประสานความร่วมมือกับผู้ให้บริการ OTT ทั้งผู้ประกอบการภายในประเทศและผู้ให้บริการต่างชาติ เพื่อให้อุตสาหกรรมด้านการสื่อสาร (ภาพและเสียง) สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นระบบ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการเงินหรือ e-commerce

ดร.พิรงรอง”ยกตัวอย่างการส่งเสริม สนับสนุน ที่ กสทช.ดำเนินการ/ผลักดัน สำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการฯ ในปัจจุบัน เช่น กสทช. มีแนวทางส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง มี (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนเกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เพื่อการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมฯ (ผ่านการรับฟังความเห็นสาธารณะเรียบร้อยแล้ว รอบรรจุเข้าวาระการประชุม กสทช.)

สำหรับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระดับโลกก็เช่นกัน เรามีการพูดคุยถึงแนวทางความร่วมมืออยู่เรื่อยๆ และรวมไปถึงคุยเรื่องการใช้ Community Standards ของแพลตฟอร์มเหล่านั้น กับความร่วมมือในการสร้างสังคมที่รู้เท่าทันสื่อ ปลอดภัยและสร้างสรรค์

เรื่องความสร้างสรรค์ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ กสทช. สนับสนุน หากมองว่า ผู้ประกอบการภายในประเทศ ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่แข่งกับผู้ประกอบการระดับโลก แต่สามารถร่วมมือกันได้ด้วย และมีการพัฒนาคุณภาพ ยกระดับมาตรฐานของการผลิต และเนื้อหา รวมถึงพัฒนาบริการยิ่งๆ ขึ้นไป ก็ถือว่า win-win

...เราได้จัดทำ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ (กองทุน กทปส.) ซึ่งหนึ่งในกลุ่มรายการที่เราสนับสนุนคือรายการที่มีศักยภาพในการร่วมผลิตกับต่างประเทศ (4 กลุ่มรายการที่เป็น priority สำหรับการสนับสนุนฯ ได้แก่ 1.รายการสำหรับเด็กและเยาวชน 2.รายการที่มีเนื้อหาส่งเสริมเอกลักษณ์ความเป็นท้องถิ่นหรือมีคุณค่าเชิงวัฒนธรรม 3.รายการที่มีเนื้อหาส่งเสริมความหลากหลายในสังคมในมิติต่างๆ เช่น ชาติพันธุ์ เพศสภาพ ศาสนา วัฒนธรรม วิถีชีวิต และ 4.รายการที่มีการริเริ่ม กระบวนการผลิต พัฒนา หรือมีการดำเนินการต่อเนื่องกับผู้ผลิตรายการที่มีศักยภาพในระดับนานาชาติ (ร่าง) ประกาศฯ นี้ ผ่านการรับฟังความเห็นสาธารณะเรียบร้อยแล้ว รอบรรจุเข้าวาระการประชุม กสทช. เช่นกัน

            สำหรับการศึกษาของ กสทช.นั้น นอกจากการติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดแล้ว ก็มีการจ้างที่ปรึกษาศึกษาฉากทัศน์กิจการแพร่ภาพกระจายเสียงในอนาคตของไทยภายใต้สภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ดำเนินการโดยทีมที่ปรึกษาทั้งต่างชาติและนักวิชาการชาวไทย ศึกษาสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมทั้งระดับโลก สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ และในประเทศไทย จะมีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และมีข้อเสนอแนะ ซึ่งทางสำนักงาน กสทช. เอง ก็จะต้องนำผลการศึกษามาวิเคราะห์อีกรอบหนึ่ง และใช้ประกอบในการตัดสินใจวางนโยบายก่อนจะถึงปี 2572 

         -จากข้อมูลที่กสทช.มีอยู่ พบว่าปัจจุบัน พฤติกรรมผู้บริโภคสื่อโทรทัศน์ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากน้อยอย่างไร เช่นไปรับชมผ่านแพลตฟอร์ม ยูทูป มากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญอย่างไร และเม็ดเงินโฆษณา-รายได้ของกิจการทีวีดิจิทัลในช่วงหลังเป็นอย่างไร มีมากน้อยหรือน้อยลงอย่างไร บริษัทโฆษณาต่างๆ หันไปลงโฆษณาในสื่อแพลตฟอร์มอื่นแทนโทรทัศน์ มากขึ้นอย่างไรบ้าง?

“ดร. พิรงรอง”-ข้อมูลจากการสำรวจที่เป็นความร่วมมือของสำนักงาน กสทช. กับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในช่วงปลายปี 2566 ระบุว่า คนไทยรับชม TV ผ่านโทรทัศน์ภาคพื้นดิน 38%  ดูผ่านดาวเทียม 47% และ ดูผ่านอินเทอร์เน็ตหรือแอปพลิเคชั่น 43% มี IPTV ซึ่งก็ผ่านอินเทอร์เน็ตเช่นกัน 9% และเคเบิล 4%

ส่วนข้อมูล Cross-platform Rating ของ Nielsen ปลายปีที่แล้วก็ระบุว่า คนดู TV offline 64% และดู streaming 36% โดยในปี 2023 ในคนที่ดู streaming ดู YouTube 14% และดูจาก TikTok 7% กับ 6% ดูจาก Facebook

ส่วนข้อมูลไตรมาสแรกของปีนี้ 16% บอกว่าดู YouTube 7% ดู TikTok 6% ดู Facebook และ 5% ดู True ID ในขณะที่ดูสตรีมมิ่งอื่นๆ 11%

และ Nielsen เองก็บอกว่า TV มีการปรับตัว คนไทย 34% รับชมทีวีผ่านแอปของผู้ประกอบการ คือแอปของช่องทีวี

แม้ว่าทั้งหมดในการสำรวจนี่ ผู้ตอบสามารถเลือกได้มากกว่า 1 ข้อ คือ บางคนดูทั้งทีวีปกติ และไปดูย้อนหลังในแอปด้วยก็ได้ แต่เราก็อาจจะมองเห็นพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ว่า มีการรับชมรายการผ่าน streaming ด้วย และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ 

ตามที่นักการตลาดและนักโฆษณาพูดกันเสมอ ว่า ค่าโฆษณา หรือรายได้จะตามผู้บริโภค ผู้บริโภคอยู่ที่ไหน โฆษณาตามไปที่นั่น ก็จะเห็นได้ว่า งบโฆษณากระจายจากสื่อทีวีไปยังสื่อออนไลน์มากขึ้น และตาม trend ที่ Nielsen บอก สื่อนอกบ้าน (Out-of-home) ก็เป็นอีกสื่อที่มาแรง เพราะไม่ได้เน้นโฆษณาแต่กับคนไทยแล้ว แต่เล็งกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวด้วย 

ข้อมูลจาก Nielsen ยอดค่าโฆษณา ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วนิดหน่อย โดยประมาณการณ์กันว่า เป็นงบประมาณที่ใช้ในสื่อโทรทัศน์ 18,922 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% งบโฆษณาในสื่ออินเทอร์เน็ต 10,519 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% สื่อนอกบ้าน 5,666 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เช่นกัน โรงภาพยนตร์ 1,125 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 35% วิทยุลดลง 2% เหลือ 1,099 ล้านบาท ในขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ ลดลง 33% เหลือ 588 ล้านบาท 

ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจาก MI (Media Intelligence) Group ที่เผยแพร่ในสื่อมวลชน ก็ระบุว่า รายได้จากการโฆษณา ทางทีวี เมื่อ 10 ปีที่แล้ว 73,000 ล้าน เหลือ 34,000 ล้านในปีนี้ ลดลง 53% ใน 10 ปี ส่วนเงินโฆษณาในสื่ออินเทอร์เน็ต จาก 6,000 ล้าน เป็น 30,000 กว่าล้านบาท โต 521%

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบัน นักโฆษณา นักการตลาด เจ้าของผลิตภัณฑ์ จะแบ่งเงินจากการลงโฆษณาในสื่อดั้งเดิมไปสู่สื่อออนไลน์และสื่อนอกบ้านมากยิ่งขึ้น โดย Nielsen ใช้คำว่า “fragmented media world” คือโลกของสื่อที่มีการแตกแยกย่อยออกไปมากมาย ไม่เป็นองคาพยพเดียวกัน แต่เขาก็ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า การลงเงินที่ตรงกลุ่มเป้าหมายและได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการด้วย ซึ่ง ณ ขณะนี้ โดยเฉพาะในประเทศไทย สื่อโทรทัศน์ยังเป็นสื่อที่ลงโฆษณาแล้วสามารถส่งสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด ค่าโฆษณาก็ยังแพงที่สุด จึงมองได้ว่า ยังเป็นสื่อที่มีบทบาทสำคัญทั้งต่อการรับรู้ข่าวสารของสังคม และบทบาทในฐานะธุรกิจ 

            -คิดว่า สื่อทีวีดิจิทัล จะต้องปรับตัวอย่างไรหลังจากนี้ ในช่วงก่อนที่จะถึงปีพ.ศ.  2572 เพื่อให้กิจการอยู่รอด ไม่มีการปลดหรือเลิกจ้างพนักงาน ขณะเดียวกัน การทำรายการหรือทำข่าวของกองบรรณาธิการ  ก็ยังคงสามารถทำข่าวได้อย่างมีคุณภาพ เป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่ได้มุ่งหวังแต่เรื่องเรตติ้งหรือรายได้จากการโฆษณาทั้งตรงและทางอ้อมเพื่อความอยู่รอด? 

ขอบคุณภาพจาก: Facebook ดร.พิรงรอง รามสูตร

            “ดร.พิรงรอง-กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์”-ในฐานะ กสทช. ที่มีบทบาททั้งในการส่งเสริมการแข่งขันและตลาด รวมถึงการพัฒนาของอุตสาหกรรมและการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย อยากให้ผู้ประกอบกิจการให้ความสำคัญกับการผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพให้มากๆ เพราะสามารถตอบสนองได้ทั้งตลาดและผู้บริโภค อีกทั้งจะสามารถนำไปต่อยอดสร้างรายได้และจะทำให้ไปต่อได้ในระยะยาว เช่น การร่วมผลิต และ/หรือขายลิขสิทธิ์ไปเผยแพร่ในตลาดที่กว้างขึ้น ไม่ใช่อยู่แต่ในประเทศ

            ทั้งนี้ เนื้อหาที่เป็นข่าว อาจมีข้อจำกัดด้านเวลาที่ต้องมีความสดใหม่ และส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนในประเทศมากกว่า นำไปเสนอในต่างประเทศได้ยาก เมื่อเป็นแบบนี้ บางทีคนจะสนใจติดตามจาก social media เลยด้วยซ้ำ แต่ในทางกลับกัน หากเป็นการนำเสนอเนื้อหาที่ลึกขึ้น จะสามารถยืดอายุของเนื้อหาและคนต่างชาติก็อาจจะสนใจด้วยเช่นกัน 

            ส่วนเรื่องเทคโนโลยีและช่องทางการเผยแพร่ก็เป็นสิ่งที่มีพัฒนาการไปเรื่อยๆ เช่นกัน ผู้ประกอบกิจการควรศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการผลิตและเผยแพร่ 

            อย่างไรก็ตาม ความอยู่รอดของกิจการสื่อมีหลายปัจจัย คงจะไม่ได้สามารถรับประกันได้ว่าจะไม่มีมีการปลดหรือเลิกจ้างพนักงาน ในธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องปรับตัวตามสภาพเศรษฐกิจและปัจจัยที่เกี่ยวข้องก็อาจมีความเปลี่ยนแปลงในการจ้างพนักงานด้วยเช่นกัน

         -ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2566 ที่กสทช.ได้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับการจัดให้มีต้นแบบของแพลตฟอร์มดิจิทัล สำหรับการเข้าถึงกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลนั้น ได้เชิญผู้บริหารของทีวีดิจิทัลของ แต่ละช่องมาร่วมปรึกษาหารือ เช่น Nation TV, Mono29, PPTV, Mcot, Thaipbs, TNN รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แนวทางการพูดคุยหารือ มีการต่อยอด หลังจากนั้นอย่างไรบ้าง และประเด็นหลักๆ ที่ได้จากการพูดคุยดังกล่าว มีอะไรบ้าง? 

            มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเหมาะสมและแนวทางการจัดให้มีช่องทางการเข้าถึงกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินบนแพลตฟอร์มดิจิทัล คณะทำงานนี้จะต้องจัดทำรายงานผลการศึกษาแนวทางการส่งเสริมหรือจัดให้มีช่องทางการเข้าถึงกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมถึงแผนการดำเนินโครงการในระยะสั้นและระยะยาว โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและคุ้มค่า

            ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นเบื้องต้นจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล สมาคมโฆษณา ผู้ให้บริการโทรคมนาคมและผู้ผลิตสมาร์ททีวี และผู้ให้บริการ OTT ทั้งในและต่างประเทศ 

            คณะทำงานทั้งระดมความคิดเห็น ศึกษาข้อมูลแนวทางปฏิบัติ เช่น จะให้แพลตฟอร์มต้นแบบนี้มี function อะไรบ้าง จะมีเงื่อนไขทางเทคนิคและต้นทุนเท่าไหร่ จะให้ประโยชน์และกระทบกับใครบ้าง ความเป็นไปได้ที่กลุ่มเป้าหมายจะนำไปใช้ประโยชน์มีแค่ไหน ในแง่ของกฎหมายทำได้หรือไม่ จะใช้เวลาดำเนินการเท่าไหร่ และประเมินทั้งหมดทั้งมวลแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ 

            อย่างที่ได้บอกไปว่า โครงการนี้คือการจัดให้มีต้นแบบ เพราะตามกฎหมาย รัฐจะมาแข่งขันกับเอกชนไม่ได้ ในเมื่อเราอยากช่วยให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งก็เริ่มมาระยะหนึ่งแล้ว เป็นไปได้อย่างราบรื่นและใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพที่สุด เราก็มาศึกษาแนวทาง สิ่งที่เราต้องการให้ได้ประโยชน์จากโครงการนี้คือ อย่างน้อย ผู้ชมจะสามารถดูทีวีในช่องทางที่เขาสะดวกได้มากขึ้น เช่น คนที่ดูทีวีผ่านอุปกรณ์ออนไลน์ ฝั่งผู้ประกอบการก็มีช่องทางที่ช่องทีวีดิจิตอลของไทยจะมารวมกันอยู่ที่นี่ เปิดทีวีมาก็เจอเลย เหมือนกับที่ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มต่างชาติฝังโปรแกรมไว้กับเครื่องทีวี เปิดมาก็เจอเลย

 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถเก็บข้อมูลการรับชมของผู้ชมได้ ว่าคนเปิดมาดูรายการใดมากน้อยแค่ไหน เวลาใด อีกอย่างที่แพลตฟอร์มดิจิทัลมีศักยภาพที่จะทำได้คือระบบโฆษณา หากแพลตฟอร์มต้นแบบที่สร้างขึ้น รวมการเก็บเนื้อหาของสื่อ ข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภค และการโฆษณาเอาไว้ด้วยกันได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการมากขึ้น จากที่ปัจจุบันนี้ ข้อมูลเหล่านี้อยู่ในมือแพลตฟอร์มต่างชาติเป็นหลัก และผู้ประกอบการก็ต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ไปให้เขาตามโมเดลธุรกิจ ซึ่งถือว่าอำนาจอยู่ในมือผู้ประกอบการต่างชาติอยู่มากในระดับหนึ่ง

            อย่างไรก็ตาม ในการจะทำโครงการขึ้นมา เราต้องมองถึงประโยชน์และความคุ้มค่าด้วย คณะทำงานจะต้องศึกษาให้รอบด้าน ปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็มีแอปพลิเคชั่นของตัวเองแล้ว แต่ก็ยังมีการเอาเนื้อหาไปออกในแพลตฟอร์มอื่นๆ รวมถึงของต่างชาติด้วย 

หลัง2572 ใบอนุญาตทีวีดิจิทัล

ถ้าจะปรับเปลี่ยนกฎกติกา

ต้องมาจากพื้นฐานที่มีการกลั่นกรอง

ไม่ใช่คิดจะเปลี่ยนอย่างไรก็ได้

-มองว่า หลังกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ใบอนุญาตหมดอายุปีพ.ศ. 2572 จะมีกิจการสื่อโทรทัศน์ทั้งที่ทำอยู่ปัจจุบันและรายใหม่ เข้ามาประมูลหรือไม่ และทางกสทช.ได้มีการวางแผนงานเรื่องการประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล รอบหน้าไว้บ้างหรือยัง มีแนวทางอย่างไรบ้าง สัญญากี่ปี 

ปัญหาหนึ่งที่เรามองเห็นในปัจจุบันคือ เรามีจำนวนช่องหรือผู้เล่นในตลาดมากเกินไปซึ่งต้องมาแข่งขันแย่งส่วนแบ่งค่าโฆษณาที่มีแนวโน้มลดลง ถ้ามองภาพนี้ คิดว่าผู้เล่นในปัจจุบันก็คงคิดหนักและไม่อยากประมูล

เท่าที่ทราบ มีผู้รับใบอนุญาตที่ประกอบกิจการในปัจจุบัน เรียกร้องอยากให้มีการต่อใบอนุญาตของกลุ่มนี้ต่อไป เรียกว่าให้ต่ออายุให้ฟรี โดยบอกว่าจะเปิดรับให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาประมูลอีกก็ได้ จากภาพที่ว่ามา คิดว่าผู้เล่นรายใหม่ก็อาจจะคิดหนัก อย่างไรก็ตาม สื่อทีวียังคงมีความสำคัญและมีบทบาทอยู่ในสังคม อาจจะมีผู้เล่นรายใหม่ที่มีศักยภาพเข้ามาแข่งในตลาดก็ได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย และการปรับเปลี่ยนกฎกติกาก็ต้องมาจากพื้นฐานที่มีการศึกษาและกลั่นกรองมาอย่างดี ไม่ใช่คิดจะเปลี่ยนอย่างไรก็ได้

ส่วนตัวไม่ได้เห็นด้วยกับการประมูล เพราะกิจการสื่อโดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ซึ่งจะมีผลต่อความรู้ความคิดของคนในสังคมถือว่าเป็นบริการที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ ไม่ควรจะใช้เงินเป็นตัวตั้ง แต่ตามกฎหมายปัจจุบัน ก็ยังจะต้องใช้การประมูลอยู่ 

หากจะเปลี่ยนก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อเลือกแนวทางที่ดีที่สุด โดยคำนึงถึงผู้เล่นทั้งหมดรวมถึงผลประโยชน์ของสาธารณะ และต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย

ระหว่างนี้ นอกจากการติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดแล้ว ก็มีการจ้างที่ปรึกษาศึกษาฉากทัศน์กิจการแพร่ภาพกระจายเสียงในอนาคตของไทยภายใต้สภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ดำเนินการโดยทีมที่ปรึกษาทั้งต่างชาติและนักวิชาการชาวไทย ศึกษาสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมทั้งระดับโลก สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ และในประเทศไทย จะมีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และมีข้อเสนอแนะ ซึ่งทางสำนักงาน กสทช. เอง ก็จะต้องนำผลการศึกษามาวิเคราะห์อีกรอบหนึ่ง และใช้ประกอบในการตัดสินใจวางนโยบาย 

         -กิจการสื่อทีวีดิจิทัล ยังไปต่อได้หรือไม่ ยังมีอนาคตหรือไม่ และมีข้อเสนอแนะทิ้งท้ายอย่างไร 

            ความจำเป็นประการหนึ่งซึ่งเป็นบทบาทของทีวีดิจิทัล คือ การเป็นบริการพื้นฐานให้คนเข้าถึงได้ และเป็นพื้นที่กลางยึดโยงคนในสังคมเอาไว้ด้วยกัน เราได้รับรู้ข่าวสารข้อมูลที่จำเป็น ทราบความเคลื่อนไหวในสังคมที่มีผลกระทบ เช่น นโยบายสาธารณะ ได้มีการแสดงความคิดเห็นร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างดูในอุปกรณ์ รับแต่เนื้อหาที่ตัวเองสนใจแล้วไม่มีความเชื่อมโยงกับคนรอบข้างหรือคนในสังคมเลย

            และดังที่กล่าวไปข้างต้น แม้แต่ Nielsen เองก็มองว่าสื่อทีวีเป็นสื่อโฆษณาที่มีประสิทธิภาพ มีศักยภาพ จึงมองว่า หากมีการวางแผนและการจัดการที่ดีพอ ไม่ว่าอย่างไร ทีวีดิจิทัลก็ยังมีความสำคัญและน่าจะดำเนินต่อไปได้ในฐานะธุรกิจ 

            ส่วนจะดำเนินการอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เช่น จะมีการจัดสรรอย่างไร มีกี่ช่อง แบ่งประเภทอย่างไร มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง 

            อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว หัวใจสำคัญอยู่ที่เนื้อหา การที่นำเสนอเนื้อหาที่ดี ทั้งมีความน่าสนใจและมีคุณค่า จะดึงดูดผู้ชมได้และสามารถนำไปต่อยอดได้ในระยะยาว 

ข้อเสนอแนะที่อยากทิ้งท้าย ทุกวันนี้จะเห็นภาพการแข่งขันด้วยต้นทุนที่ลดลง กระทบคุณภาพเนื้อหาของผู้ผลิตจำนวนมาก (กระทบแต่ไม่ใช่ว่าคุณภาพทั้งหมดจะแย่ลง บางสื่อก็พัฒนาให้ดีขึ้นได้) 

สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ สื่อจำนวนมากแข่งกันแย่ง rating ยอดผู้ชมด้วยสิ่งที่เร้าอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นข่าว ละคร เกมโชว์ เนื้อหาที่มีความลึกและเสริมความรู้ สติปัญญาของผู้ชมมีน้อยลง ข่าวจำนวนมากเอาเนื้อหามาจาก social media เป็นเรื่องชาวบ้านที่นำเสนอแล้วอาจจะไม่ได้มีความลึกซึ้งอะไร ไม่ได้นำไปสู่ความเข้าใจหรือการแก้ปัญหาอะไร

 แต่ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือ การขยี้ข่าวละครที่มีฉากเร้าอารมณ์หรือใช้ความรุนแรงก็เช่นกัน จริงอยู่ว่า วิถีชีวิต วัฒนธรรม ความรับรู้ของคนที่เปิดกว้างขึ้นทำให้เนื้อหาก็มีกรอบที่กว้างขึ้นได้ แต่ทั้งหมดก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีขอบเขตเลย ทาง กสทช. ก็มีหน้าที่กำกับดูแลตามกฎหมาย แต่ตอนนี้ก็เห็นได้ว่า สื่อบางสื่อไปอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย เอาเนื้อหาไปออกในรายการทางอินเทอร์เน็ตหรือแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีระดับการกำกับดูแลหรือการตรวจสอบที่แตกต่างออกไป

ถามว่าความเปลี่ยนแปลงกระทบอะไรกับสังคม ในแง่ดี ผู้ชมมีทางเลือกมากขึ้น ก็สามารถเลือกที่จะรับชมเนื้อหาที่ดีๆ เปิดกว้างและเป็นประโยชน์ได้มากขึ้น

แต่ในแง่ลบ คือ การมีทางเลือกมากขึ้นไม่ได้แปลว่าเป็นทางเลือกที่ดีขึ้นทั้งหมดและย่อมมีผลกระทบตามมาแน่ๆ ยกตัวอย่างจาก การสัมมนาที่สำนักงาน กสทช. จัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เรื่อง รายการขยี้ข่าว สะท้อนหรือซ้ำเติมปัญหาสังคม คุณหมอวรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิตท่านก็บอกว่า การที่คนรับสื่อที่มีความรุนแรงบ่อยๆ อาจทำให้เกิดความชาชินต่อความรุนแรง รวมถึงอาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ อาจทำให้ผู้ชมเผลอไปใช้ความรุนแรงกับคนอื่นหรือยอมให้คนอื่นใช้ความรุนแรงกับตนเองเพราะเข้าใจผิดไปว่าเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องอย่างนี้ เราก็เห็นได้ว่าจะนำไปสู่ปัญหาสังคม แล้วสำหรับคนที่ไม่ชอบดูรายการแบบนี้ล่ะ ก็หันหนีไปหาสื่อทางเลือกอื่นๆ ถ้าเข้าถึงได้ หากรายการทีวีมีแต่รายการแบบนี้เยอะๆ เขาก็ไม่ดู คนดูทีวีก็น้อยลงไปอีก รายได้ของทีวีก็น้อยลงไปอีก ปัญหาก็วนลูป 

ทางแก้ของปัญหานี้ จะต้องขับเคลื่อนไปด้วยกันทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งผู้ผลิตเนื้อหา ผู้ประกอบการสื่อ ภาครัฐไปจนถึงภาคธุรกิจ ผู้โฆษณา และประชาชน ที่จะบอกว่า เราอยากบริโภคสื่อคุณภาพ เราไม่ต้องการสื่อที่สร้างผลร้ายต่อสังคม

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ สื่อจำนวนมากแข่งกันแย่ง rating ยอดผู้ชมด้วยสิ่งที่เร้าอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นข่าว ละคร เกมโชว์ เนื้อหาที่มีความลึกและเสริมความรู้ สติปัญญาของผู้ชมมีน้อยลง ข่าวจำนวนมากเอาเนื้อหามาจาก social media เป็นเรื่องชาวบ้านที่นำเสนอแล้วอาจจะไม่ได้มีความลึกซึ้งอะไร ไม่ได้นำไปสู่ความเข้าใจหรือการแก้ปัญหาอะไร

 แต่ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือ การขยี้ข่าวละครที่มีฉากเร้าอารมณ์หรือใช้ความรุนแรงก็เช่นกัน จริงอยู่ว่า วิถีชีวิต วัฒนธรรม ความรับรู้ของคนที่เปิดกว้างขึ้นทำให้เนื้อหาก็มีกรอบที่กว้างขึ้นได้ แต่ทั้งหมดก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีขอบเขตเลย ทาง กสทช. ก็มีหน้าที่กำกับดูแลตามกฎหมาย แต่ตอนนี้ก็เห็นได้ว่า สื่อบางสื่อไปอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย เอาเนื้อหาไปออกในรายการทางอินเทอร์เน็ตหรือแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีระดับการกำกับดูแลหรือการตรวจสอบที่แตกต่างออกไป”