ประกาศรายชื่อผู้ชนะกิจกรรมประกวดภาพถ่าย “วันเสรีภาพสื่อโลก” ประจำปี 2565

สืบเนื่องจากที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดการประกวดภาพถ่ายในหัวข้อ “กว่าจะมาเป็นข่าว” สำหรับผลงานจากสื่อมวลชน และหัวข้อ “อยากเห็นภาพนี้เป็นข่าว” สำหรับผลงานจากประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นกิจกรรมเนื่องในโอกาส “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” (World Press Freedom Day) ประจำปี 2565 นั้น 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2565 นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฎิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ระบุว่าการตัดสินภาพถ่ายได้เสร็จสิ้นลงแล้ว คณะกรรมการตัดสินภาพได้คัดเลือกภาพถ่ายที่ชนะรางวัลประเภทละ 8 ภาพ และมีภาพถ่ายที่ชนะรางวัล “Popular Vote” ในประเภทสื่อมวลชนด้วย 1 ภาพ โดยนับจากยอดแชร์-ไลค์อันดับสูงสุดในโซเชียลมีเดีย ซึ่งความพิเศษของปีนี้คือภาพชนะเลิศที่คณะกรรมการคัดเลือก ปรากฏว่าเป็นภาพเดียวกันที่ได้ Popular Vote ด้วย

“เรียกได้ว่าเป็นผลงานที่เข้าตาทั้งกรรมการ-เข้าตาทั้งคนดูเลยทีเดียว” นายธีรนัยกล่าวเสริม

ทั้งนี้ องค์การยูเนสโก (UNESCO) เป็นผู้ริเริ่มให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี มีสถานะเป็น “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2534 เป็นต้นมา เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพสื่อ และย้ำเตือนรัฐบาลทั่วโลกให้เคารพและสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก อันเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 

สำหรับผู้ชนะการประกวดภาพถ่ายในกิจกรรม “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ในปีนี้ได้แก่:

ประเภทสื่อมวลชน “กว่าจะมาเป็นข่าว” 

หลักเกณฑ์การตัดสิน: (1) องค์ประกอบภาพและความสวยงาม (2)ภาพสื่อความหมายตรงโจทย์ 

(3) ความยากลำบากในการทำงาน และเบื้องหลังการทำงานสื่อที่คนทั่วไปมักไม่ค่อยได้เห็น

1. รางวัลชนะเลิศ (เงินรางวัล 10,000 บาท) 

และ รางวัล Popular Vote (เงินรางวัล 5,000 บาท)

ผลงานโดย Patipat Janthong / Voice

ความเห็นของกรรมการ: ประชาชนที่รับชมข่าวสารทางบ้าน คงคุ้นเคยกับภาพการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อผลักดันให้กลุ่มผู้ชุมนุมสลายตัว แต่ก็อาจจะไม่ทราบถึงความแรงของน้ำที่ฉีดออกมา (บางคนคิดว่าเหมือน "เล่นน้ำสงกรานต์" ก็มี) ถ้าหากสังเกตจากภาพนี้ เราเห็นเศษไม้ที่แตกกระจายฟุ้งขึ้นเมื่อน้ำปะทะกับต้นไม้ ไม่ต้องพูดถึงแรงปะทะกับร่างกายคนถ้าหากโดนเข้าจังๆ ขณะที่นักข่าว-ช่างภาพต้องรีบหลบกันจ้าละหวั่น บางคนก้มลงสุดตัวเพื่อปกป้องกล้องถ่ายภาพจากละอองน้ำ แต่บางคนก็ยกกล้องขึ้นมาเพื่อถ่ายภาพสถานการณ์ตรงหน้า นับเป็นภาพถ่ายที่สื่อให้เห็นเหตุการณ์จริง "กว่าจะมาเป็นข่าว" ได้อย่างยอดเยี่ยม


2. รางวัลรองชนะเลิศ (เงินรางวัล 5,000 บาท)

ผลงานโดย Taweechai Chantawong

ความเห็นของกรรมการ: เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติใดๆก็ตาม นอกจากหน่วยกู้ภัยแล้ว สื่อมวลชนมักเป็นกลุ่มคนที่รีบไปถึงที่เกิดคนแรกๆเสมอ ถึงแม้บางครั้งจะเป็นสถานที่เสี่ยงหรือน่าหวาดเสียวว่าปลอดภัยแข็งแรงดีหรือไม่ อย่างเหตุอาคารถล่มในภาพนี้ แต่สื่อก็ต้องพร้อมเสี่ยงเพื่อรายงานข่าวเหตุการณ์ให้ประชาชนได้รับทราบ

3. รางวัลรองชนะเลิศ (เงินรางวัล 5,000 บาท)

ผลงานโดย เอกลักษณ์ ไม่น้อย

ความเห็นของกรรมการ: หลายคนอาจเข้าใจว่าสื่อมีหน้าที่เพื่อเก็บภาพความรุนแรงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงหน้างานบางครั้ง ถ้าหากมีผู้บาดเจ็บต่อหน้าต่อตา สื่อมวลชนก็ยื่นมือช่วยเหลือผู้บาดเจ็บด้วยหลักมนุษยธรรมด้วยเช่นกัน

4. รางวัลชมเชย (2,500 บาท)

ผลงานโดย Pod Nathaphob

ความเห็นของกรรมการ: สื่อต้องเดินทางไปทุกที่เพื่อเอาข่าวมารายงานให้ประชาชนได้รับทราบ แม้จะไกลหรือลำบากขนาดไหนก็ตาม อย่างภาพการทำข่าวเหมืองหินเขาโต๊ะกรัง จ.สตูลในรูปนี้ เหมือนท่อนหนึ่งของเพลงที่ร้องว่า “ไม่ว่าจะสูงแค่ไหนจะไปถึง”

5. รางวัลชมเชย (2,500 บาท)

ผลงานโดย Kun Jumpa

ความเห็นของกรรมการ: สื่อมวลชนเป็นอาชีพที่แข่งขันกันสูง แต่คนทำงานสื่อไม่ได้แข่งขันกันอย่างเดียว เมื่อสื่ออยู่ในสถานการณ์เสี่ยงหรือรุนแรง เรามักจะเห็นสื่อมวลชนเกาะกลุ่มกัน เพื่อช่วยดูแลซึ่งกันและกันอย่างในภาพนี้เสมอ

6. รางวัลชมเชย (2,500 บาท)

ผลงานโดย Varuth Pongsapipatt / SOPA images / PLUS SEVEN

ความเห็นของกรรมการ: สื่อมวลชนต้องประสบกับความเสี่ยงและอันตรายในอาชีพหลากหลายรูปแบบ บางครั้งก็เป็นกระสุนยางหรือวัตถุของแข็งต่างๆในพื้นที่ชุมนุม บางครั้งก็เป็นเชื้อโรคที่มองไม่เห็น ดังเช่นการทำข่าวผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในภาพนี้

7. รางวัลชมเชย (2,500 บาท)

ผลงานโดย Pornprom Satrabhaya

ความเห็นของกรรมการ: ถ้าหากประชาชนทั่วไปเห็นไฟไหม้หรือควันขโมงน่ากลัวขนาดนี้ คงรีบวิ่งหลบออกจากพื้นที่อย่างรวดเร็ว แต่สื่อมวลชนกลับทำตรงข้าม ต้องเข้าใกล้พื้นที่เกิดเหตุให้มากที่สุด หรือยืนจังก้าต่อหน้าภัยอันตราย เพื่อรายงานข่าวให้ประชาชนได้รับทราบ

8. รางวัลชมเชย (2,500 บาท)

ผลงานโดย Nattapol Lovakij

ความเห็นของกรรมการ: การทำงานภาคสนาม เกิดเหตุไม่คาดฝันได้เสมอ ดูจากรูปนี้ที่ผู้ชุมนุมคนหนึ่งกำลังถูกจับกุมตัว แต่ก็คว้าสายกล้องจากสื่อในบริเวณนั้นไว้ด้วย ช่างภาพหลายคนเห็นรูปนี้คงใจหายแทนเจ้าของกล้องอย่างแน่นอน แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็สะท้อนภาพเชิงสัญลักษณ์เช่นกันว่า สื่อมวลชนมักเป็นกลุ่มคนแรกๆที่ประชาชนหวังพึ่งเสมอ เมื่อประชาชนถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังหรือดำเนินคดี

ประเภทประชาชนทั่วไป “อยากเห็นภาพนี้เป็นข่าว” 

หลักเกณฑ์การตัดสิน: (1) องค์ประกอบภาพ และ ความสวยงาม (2)ภาพสื่อความหมายตรงโจทย์ (3) สะท้อนปัญหาสังคมในเรื่องราวที่คนทั่วไปมักไม่ค่อยเห็น หรือไม่เคยเป็นข่าว

1. รางวัลชนะเลิศ (10,000 บาท)

ผลงานโดย Glomyoo Chumphon

ความเห็นของกรรมการ: ปัญหาขยะและมลพิษในทะเลยังเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและหน่วยงานต่างๆเท่าที่ควร ภาพนี้ชวนสะท้อนใจว่า ขยะที่ลอยออกจากเมืองกรุงมักจะกลายเป็นมลพิษในชายหาดที่ห่างไกลจากสายตาหลายคน เป็นปัญหาที่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ต้องมา “ตามล้างตามเช็ด” เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของตน

2. รางวัลรองชนะเลิศ (5,000 บาท)

ผลงานโดย Chana La

ความคิดเห็นของกรรมการ :ตอนนี้สถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายแล้ว แต่ภาพประชาชนช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีที่พึ่ง และภาพการให้กำลังใจในยามที่โรคระบาดคร่าชีวิตผู้คนนับร้อยๆรายในแต่ละวัน ควรได้รับการจดจำจากสังคมไทยเป็นอนุสรณ์ตลอดไป

3. รางวัลรองชนะเลิศ (5,000 บาท)

ผลงานโดย อำพล ทองเมืองหลวง(feelphoto)

ความเห็นของกรรมการ: ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เป็นภาพที่เราเห็นกันทุกวี่วัน แต่สื่อมวลชนจะสามารถมีบทบาทเพื่อช่วยเป็นปากเสียงให้ประชาชนผู้ยากไร้ได้อย่างไรบ้าง? นับเป็นโจทย์อมตะที่สื่อทุกสมัยย่อมต้องขบคิด

4. รางวัลชมเชย (2,500 บาท)

ผลงานโดย Songphol Thesakit

ความเห็นของกรรมการ: ปกติเรามักจะเห็นแต่ภาพพระบิณฑบาทจนคุ้นตา แต่รูปนี้เป็นภาพพระสงฆ์นำเอาสิ่งของและอาหารไปช่วยเหลือประชาชน นับเป็นภาพที่แปลกตาและไม่ค่อยเห็นกัน

5. รางวัลชมเชย (2,500 บาท)

ผลงานโดย Siriwan Ruksat

ความเห็นของกรรมการ: การเดินทางในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครฯ ยังถือว่าค่อนข้างลำบาก เพราะไม่มีระบบขนส่งสาธารณะครอบคลุม ถ้าหากเจอฝนตกขึ้นมาระหว่างทาง ผู้ใช้ถนนก็ต้องหลบกันตามมีตามเกิดเสมอ

6. รางวัลชมเชย (2,500 บาท)

ผลงานโดย รุจน์ สิงหกลางพล

ความเห็นของกรรมการ: การเผาในที่โล่งเป็นปัญหาที่หน่วยงานรัฐประกาศกร้าวว่าจะ "เอาจริง" อยู่เสมอๆ แต่ก็ยังเป็นภาพที่เห็นกันจนชินตา สื่อมวลชนจะเอาภาพเหล่านี้มานำเสนอให้บ่อยขึ้นเพื่อตอกย้ำปัญหาคาราคาซังเพื่อช่วยกระตุ้นให้สังคมแก้ไขได้หรือไม่?

7. รางวัลชมเชย (2,500 บาท)

ผลงานโดย Ruslee Yea-na

ความเห็นของกรรมการ: เมื่อพูดถึงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายคนอาจจะนึกแต่ภาพความรุนแรงและความขัดแย้งที่สื่อนำเสนอ แต่ในความเป็นจริงก็มีภาพการอยู่รวมกันกลมกลืนทางศาสนาและวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน

8. รางวัลชมเชย (2,500 บาท)

ผลงานโดย Rahat Kijjariyapoom

ความเห็นของกรรมการ: ภาพนี้อธิบายปัญหาและความท้าทายในกรุงเทพฯ ได้หลายมิติภายในรูปเดียว ไม่ว่าจะเป็นโจทย์เรื่องความสมดุลย์ระหว่าง "สิทธิคนเดินเท้า" กับพื้นที่ทำมาค้าขายของผู้ประกอบการอาหารริมทาง สมดุลย์ระหว่างความมีระเบียบกับวัฒนธรรมอาหารที่เป็นจุดเด่นของกรุงเทพ และปัญหาสายไฟสายสื่อสารพะรุงพะรัง ซึ่งได้แต่หวังว่าสื่อมวลชนจะนำเสนอเรื่อยๆ เพื่อตอกย้ำให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนต่อไปเร่งแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม