“การทำงานข่าวโศกนาฏกรรม และข่าวอาชญากรรม มีความละเอียดอ่อน เพราะเป็นการสูญเสียแบบกระทันหัน การปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนักข่าวและองค์กรสื่อ ควรคำนึงถึง จรรยาบรรณเป็นหลัก ต้องแยกแยะคำว่า จรรยาบรรณกับการตลาด”
สื่อเป็น 1 ในอาชีพที่มักจะถูกจับจ้องและวิพากษ์วิจารณ์ทุกครั้ง ในการทำหน้าที่เผยแพร่ข่าว โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุโศกนาฏกรรม สูญเสียครั้งใหญ่ วัชรินทร์ กลิ่นมะลิ อดีตรองนายกสมาคมนักข่าว และช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย เล่าถึงประสบการณ์ในสนามข่าว 20 ปี ใน“รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า
ตนเองได้มีโอกาสเป็นวิทยากรขององค์กรยูนิเซฟ และวิทยากรของสมาคมนักข่าวฯ เกี่ยวกับเรื่องสิทธิเด็ก จริงๆแล้วการทำงานในข่าวโศกนาฏกรรมนี้ สื่อสามารถมีวิธีในการหาข้อมูล ทำอย่างไรไม่ให้ละเมิดสิทธิ หรือยังคงอยู่ในกรอบจริยธรรมได้ เช่น มุมของภาพถ่าย มีนามสมมติ ชื่อเล่น วิธีการสัมภาษณ์ หรือหว่านล้อมอย่างไร ต้องเข้าไปคุยในลักษณะ ผู้โอบอ้อมอารี ไม่ใช่ถามชี้นำ
โดยก่อนลงพื้นที่ต้องทำการบ้าน หาข้อมูลมากพอสมควร เพราะการสูญเสีย มีผลกระทบต่อจิตใจ ทั้งผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต สังคมแวดล้อม แม้กระทั่งผู้กระทำผิด ญาติผู้ก่อเหตุ สิ่งแรกที่สำคัญ คือ ต้องทำให้เขาไว้วางใจเราก่อน เพราะเขาเป็นผู้ที่ได้รับความกระทบกระเทือน ถ้าข่าวออกไป เราจะการันตีได้แค่ไหน ว่าไม่กระทบกับการใช้ชีวิตในอนาคตของเขา สื่อจะต้องตระหนัก ว่าตรงไหนควรถาม ไม่ควรถาม ควรเจาะลึก ไม่เจาะลึก เป็นเซนส์พื้นฐานที่ควรมีในการสื่อสาร
สิ่งสำคัญต้องให้เกียรติสถานที่ และทุกภาคส่วนที่ปฏิบัติงาน หากเจ้าหน้าที่สั่งห้าม ตรงไหนเข้าไม่ได้ หรือสุ่มเสี่ยงที่จะไปเก็บภาพ และหาข้อมูล อาจกระทบการทำงานของเจ้าหน้าที่ หรือเกิดการกระทบกระเทือนจิตใจ เป็นภาพไม่เหมาะสม ที่จะมาประชาสัมพันธ์หรือออกอากาศ ก็ต้องไตร่ตรองได้ว่าไม่ควรทำ
“ปัจจุบันโลกโซเชียลไปไกล ทีวีและสื่อออนไลน์มีจำนวนมาก และแข่งขันกันทุกวินาที อาจทำให้นักข่าวในพื้นที่ ไม่มีเวลากลั่นกรองหรือทบทวน จนมีการหาวิธีในการเจาะประเด็นสัมภาษณ์ หรือหาข้อมูลจากข่าว ผมเชื่อว่าเมื่อถึงเวลานั้น คำว่าจรรยาบรรณทำให้เขาคิดไม่ทัน เมื่อเอาไมค์จ่อปากแล้ว อีก 3 ช่อง 5 ช่อง ก็ต้องไปจ่อตามช่องนั้น
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรการทำงานของสื่อ ต้องพัฒนามากกว่าในอดีต เพราะปัจจุบันคนเสพข่าว จากโซเชียลว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ผมคิดว่าสื่อไม่ควรขยายความสิ่งที่เลยเถิดเกินคำว่าข่าว ซึ่งละเอียดอ่อนมากจนเกินไป เพราะล่วงเกินทั้งผู้เสียชีวิต ญาติผู้เสียชีวิตหลายมุม อาจจะอยากได้เรทติ้งดี หรืออยากชนะคู่แข่งทางการตลาด ทำให้ลืมจรรยาบรรณไป”
วัชรินทร์ยังเล่าว่า บางครั้งเราไม่ทราบว่าตรงนั้นถูกหรือผิด แต่สื่อหลักกลับเกาะกระแส นำประเด็นจากโซเชียลไปแตกยอด สุดท้ายผิดเยอะมากเกือบทุกข่าว ที่เป็นคดีใหญ่ๆ มีพฤติกรรมซ้ำซ้อน หรือคดีอาชญากรรมที่มีเงื่อนงำ เช่น กรณีของคุณแตงโม ที่สื่อหลักไปตามโซเชียล ทำให้คดียืดยาว 2-3 เดือน
“การทำงานข่าวโศกนาฏกรรม และข่าวอาชญากรรม มีความละเอียดอ่อน เพราะสูญเสียแบบกระทันหัน การปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนักข่าวและองค์กรสื่อ ควรคำนึงถึง จรรยาบรรณเป็นหลัก ต้องแยกแยะคำว่า จรรยาบรรณกับการตลาด ผมเชื่อว่านักข่าวทุกคนมีจรรยาบรรณพอ เพราะเรียนมาหรือสั่งสมจากประสบการณ์ แต่ต้นสังกัดบอกว่า อยากได้ประเด็นนี้แบบนี้ ทำให้นักข่าวจำใจทำส่งงานขึ้นไป”
สิ่งสำคัญคือการกลั่นกรองของกองบรรณาธิการ ว่าจะหยิบตรงไหนมาเล่น บางประเด็นละเมิดและเกินกว่าเหตุหรือไม่ บางประเด็นไม่ควรทำหรือไม่
ทุกคนควรรู้หน้าที่ และสิทธิของตัวเอง โดยไม่ละเมิดกัน ทั้งแหล่งข่าวและสื่อ หากละเมิดก็คงต้องใช้กฎหมาย เป็นตัวกลางในการจัดการ เช่น แหล่งข่าวเมื่อให้ข่าวไปแล้ว ภายหลังมาบอกว่าสื่อละเมิด ก็ต้องใช้กฎหมาย เป็นตัวขับเคลื่อนจะง่ายกว่า เพราะนักข่าวก็มีข้อบังคับ ที่สามารถควบคุมดูแลอยู่
หากมองย้อนไปถ้าเปรียบเทียบในยุคเก่า นักข่าวจะได้ข้อมูลที่แท้จริง จากปากของเจ้าหน้าที่ หรือจากแหล่งข่าวในคดีนั้นๆ แต่ยุคนี้ทุกคนเป็นสื่อหมด มีพื้นที่ลงสื่อของตัวเองในโซเชียล แม้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่าง ขั้นตอนการตรวจสอบ เมื่อพิสูจน์แล้วว่า ตรงนั้นผิดตรงนี้ถูก กลับไม่เป็นประโยชน์กับผู้เสพข่าว เพราะสื่อโซเชียลนำสื่อหลัก เล่นข่าวไปตามเรทติ้ง หากไม่เล่นก็ตกข่าว เพราะคู่แข่งหยิบไปนำเสนอ
“คนไทยเสพข่าวด้วยความมัน สนุก หรือเอาความสะใจ เราอ่านพฤติกรรมคนเสพข่าว แล้วนำเสนอ สมมุติว่าผมรู้ว่า คนชอบเสพข่าวแบบนี้ เราก็จะขยี้ข่าวใหญ่เลยตรงประเด็นนั้นๆ กลายเป็นว่าพอข้อเท็จจริง ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่พิสูจน์ ออกมาแล้วว่า ไม่ใช่อย่างที่สื่อโซเชียล หรือสื่อหลักนำไปเล่น แต่เขาไม่สนใจเพราะสื่อโซเชียล ปั่นประเด็นขึ้นมาทุกชั่วโมง”
การสมัครเข้ามาเป็นนักข่าว ทุกสายงาน ไม่ใช่แค่ข่าวอาชญากรรม แต่ละองค์กรจัดการฝึกอบรมทำข่าว เพราะเป็นวิชาชีพเฉพาะ ไม่ใช่ว่าใครจะทำก็ได้ อายุงานผม 20 ปีอยู่มา 3 บริษัท ไม่มีบริษัทไหนสอนเรื่องจริยธรรม หรือจรรยาบรรณสื่อกับนักข่าวใหม่ จะมีก็แต่สมาคมนักข่าวฯ หรือองค์กรอิสระ ที่จัดอบรมสัมมนาทุกปี คอร์สละ 40 - 50 คน ขณะที่จำนวนนักข่าวมีมาก ควรอบรมทุกคนหรือไม่ เพราะจรรยาบรรณสื่อ ต้องอยู่กับนักข่าวทุกคน ไม่ใช่สายอาชญากรรมอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้ต้องมองย้อนไปที่ต้นสังกัดของนักข่าวด้วย ที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันในการปลูกฝังและสร้างมาตรฐานในการทำงานข่าว
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5