เอเปค 2022 เวทีรวมดาวมหาอำนาจ กับวาระใหญ่ที่ต้องจับตา

“เวทีเอเปกเปรียบเสมือนรวมดาวมหาอำนาจ ที่จะมาพูดคุย ลุ้นอยู่ว่า ประธานาธิบดีของรัสเซีย จะเดินทางร่วมประชุมด้วยตัวเองหรือไม่ ถ้ามากันครบจะน่าจับตามาก แน่นอนว่ามหาอำนาจ ย่อมมาคู่กับความมั่นคง หลักๆจะเป็นความร่วมมือ ที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจ”

.

.

.

การจัดประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค 2022 ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน ซึ่งรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เชิญชวนคนไทยร่วมเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ “นันทิดรา พวงทอง ผู้สื่อข่าวอาวุโส สายต่างประเทศ กรุงเทพธุรกิจ” พูดคุยใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า การเตรียมพร้อมของรัฐบาลไทย เพื่อเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค 2022 ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน ขณะนี้เกือบเต็ม 100 %

ปีนี้กลับมาประชุมแบบพบหน้าค่าตา ตัวต่อตัวร่วมกันครั้งแรก หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งในปี 2563 และ 2564 เป็นการประชุมแบบออนไลน์ ปี 2565 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร มีความสำคัญในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะมีประเทศเขตเศรษฐกิจมหาอำนาจ มาพบกันจึงเป็นการรวมไฮไลท์ของโลก

“เวทีเอเปกเปรียบเสมือนรวมดาวมหาอำนาจ ที่จะมาพูดคุย ลุ้นอยู่ว่า ประธานาธิบดีของรัสเซีย จะเดินทางร่วมประชุมด้วยตัวเองหรือไม่ ถ้ามากันครบจะน่าจับตามาก แน่นอนว่ามหาอำนาจ ย่อมมาคู่กับความมั่นคง หลักๆจะเป็นความร่วมมือ ที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจ หลังพ้นโควิด-19 ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า จะนำเรื่องความขัดแย้งในระดับภูมิภาค , รัสเซีย-ยูเครนขึ้นมาพูดคุย เพราะมีผลกระทบและแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจ ปัญหาการขาดแคลนพลังงาน สถานการณ์ห่วงโซ่อุปทาน ที่กำลังท้าทายโลก ซึ่งเขตเศรษฐกิจนี้มีสัดส่วนขนาดใหญ่”

นั่นเพราะ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค มีมูลค่าการค้ารวมกัน อยู่ที่ประมาณ 3.85 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนของทั้งโลกประมาณ 71.5 มีประชากรรวมกันประมาณ 3,000 ล้านคนหรือ 38% เกือบครึ่งหนึ่งของคนทั้งโลก ซึ่งถือว่าใหญ่มาก ประเทศไทยส่งออกไปยังเอเปก มีมูลค่าประมาณ 1.95 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 72% ของการส่งออกรวมของไทย ขณะเดียวกันการนำเข้าของเอเปกมีมูลค่า 1.9 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยไทยนำเข้าสินค้าระหว่าง กลุ่มสมาชิกเศรษฐกิจเอเปกค่อนข้างสูงเช่นกัน

สำหรับประเทศไทย มีประเด็นสำคัญของสารัตถะ จะเสนอต่อที่ประชุม อาทิ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พลังงาน ความมั่นคงทางอาหาร สิ่งสำคัญที่สุดคือสถานการณ์เงินเฟ้อ ที่ทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่ และเป็นปัญหาที่หนักหนาหน่วงมาก เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศสมาชิก ค่อนข้างตื่นตัวมากพอสมควร

การพูดคุยทวิภาคีระหว่างกันใน 21 เขตเศรษฐกิจ เป็นการหารือแบบคู่ขนานในการประชุม นอกเหนือจากธีมหลัก ที่ประเทศไทยพยายามผลักดันในเรื่องของ การ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” และสนับสนุนให้โมเดลเศรษฐกิจ เรื่องการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม (BCG) เป็นแนวคิดพื้นฐาน ให้การดำเนินธุรกิจใน 21 เขตเศรษฐกิจ มีเป้าหมายด้านการพัฒนา ที่ยั่งยืนร่วมกันในมิติต่าง ๆ

ออกมาเป็นร่างเป้าหมายที่เรียกว่า Bangkok Goals on BCG Economy ซึ่งผู้นำจะรับรองร่วมกัน ทางกระทรวงต่างประเทศ ร่างเป้าหมายดังกล่าว ให้สมาชิกปฏิบัติเป็นไกด์ไลน์ เพื่อบรรลุเป้าหมายง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนี้จะเน้นให้โอกาส กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขาย ระหว่างสมาชิกเอเปค จะได้เติบโตไปพร้อมกัน ในเรื่องของภาคเศรษฐกิจทุกระดับ

สำหรับสีสันที่จะเกิดขึ้น ระหว่างการประชุมในครั้งนี้ ประเทศไทยได้เตรียมความพร้อม เรื่องการแสดงศิลปะวัฒนะธรรม ของที่ระลึกสำหรับผู้นำและคู่สมรส และแขกพิเศษ โดยจะเน้น เอกลักษณ์ความเป็นไทย และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ส่วนเรื่องอาหารได้มอบหมายให้ เชฟอันดับแนวหน้าของไทย มาเป็นผู้ปรุงอาหารเสิร์ฟ และจะมี “เมนูอาหารอนาคต” จากกลุ่มเยาวชน ที่เข้าร่วมประกวดแข่งขันเมนูอาหารไทย ภายใต้โครงการ “เอเปค ฟูเจอร์ ฟู๊ด ฟอร์ ซัสเตนนะบิลิตี้” (APEC Future Food for Sustainability) ที่ผู้เข้าร่วมแข่งขัน จะถูกคัดเลือก ให้มีโอกาสไปนำเสนอเมนูแก่ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจ ที่เข้าร่วมประชุมเอเปค 2022

ขณะที่มาตรการรักษาความปลอดภัย เตรียมไว้อย่างเข้มข้นมาก เช่น รถที่ใช้รับรองผู้นำและคณะ ได้ร่วมมือกับค่ายรถ BMW เป็นรถซีดานอีวีหุ้มเกราะ คันแรกของ BMW ซึ่งต่างประเทศมีความนิยม จะนำมาใช้ในงานนี้โดยเฉพาะ เป็นรถกันระเบิด กันกระสุน กันแรงกระแทก ทุกอย่างเพื่อความปลอดภัย ของบรรดาผู้นำสูงสุด จะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความตั้งใจมาก ในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

คงต้องลุ้นและติดตามดูว่าแต่ละประเทศ จะมีกำหนดการของตัวเอง ที่เตรียมมาเสนอต่อที่ประชุมอย่างไร แต่หวังว่าจะเป็นในเรื่องของความร่วมมือ มากกว่าจะเป็นเรื่องของการเมือง จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนเฝ้าจับตา และติดตามอย่างใกล้ชิดว่า เมื่อมหาอำนาจโลกซึ่งแบ่งขั้ว ต้องมาพบกันในประเทศไทย ผลการประชุมครั้งนี้จะเป็นอย่างไร

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น. โดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5