ติดอาวุธไม่ลับให้ สำนักข่าวขนาดเล็ก พัฒนาเพื่อความยั่งยืน

รายงานพิเศษ 

โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ

.................................................

ปลายปี 2566 ที่ผ่านมา We are social ดิจิทัลเอเจนซี่ เผยแพร่รายงานประจำปี Digital 2023 ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก โซเชียลมีเดีย สื่อโฆษณาออนไลน์ ตลอดจนประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 

รายงานดังกล่าว เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์การเข้าถึง Internet ของคนไทยโดยมีการระบุตัวเลขที่น่าสนใจไว้ว่า คนไทยเข้าถึงการใช้งาน Internet มากถึง  61.2 ล้านคน และยังมีจำนวนการใช้โซเชียล มีเดีย มากถึง 52.3 ล้านคนด้วย 

โดย Facebook ยังเป็นแอพพลิเคชั่นที่คนไทยใช้งานมากที่สุด 93% รองลงมาคือ ไลน์ Line 88% และTiktok มีอัตราผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นจากปี 2563 จนถึงปัจจุบัน จากสัดส่วน 36%  มาอยู่ที่เกือบ 80% 

ด้วยพฤติกรรมการใช้งาน Internet และการเข้าถึงแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่มากขึ้นของคนไทย ทำให้ สื่อใหญ่หลากหลาย สำนักปรับตัวในการนำเสนอและปรับปรุงเทคนิคการทำข่าวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งาน Internetและการเข้าใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ ของคนไทยให้มากยิ่งขึ้น

  แต่สำหรับสื่อขนาดเล็กแนวทางการปรับตัวจะเป็นเช่นไรท่ามกลางมรสมุมการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วขนาดนี้  

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย”จึงได้ร่วมกับ”สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์”ภายใต้การสนับสนุนของ”กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จัดอบรมเสริมสร้างจริยธรรมและพัฒนาสำนักข่าวขนาดเล็กเพื่อความยั่งยืนขึ้นเมื่อช่วงวันที่ 26-28 ม.ค.2567ที่ผ่านมา ณ  โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น พลัส แวนดา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ จ.นนทบุรี 

โดยการจัดงานในครั้งนี้มีสำนักข่าวขนาดเล็กและสื่อพลเมืองกว่า 20คนเข้าร่วมการอบรม

ชำนาญ ไชยศร อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯในฐานะที่ปรึกษาโครงการบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการว่า “ด้วยเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สมาคมนักข่าวฯจึงได้ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ในการพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์สอดรับสถานการณ์สื่อที่เปลี่ยนไปนี้ นำมาสู่การจัดกิจกรรมอบรมเสริมสร้างจริยธรรมและพัฒนาศักยภาพสำนักข่าวขนาดเล็กเพื่อความยั่งยืนปีที่ 2 ขึ้นเพื่อผู้เข้าอบรมจะได้มีเทคนิคการผลิตคอนเทนต์ในด้านเนื้อหา การสร้างรูปแบบแพลตฟอร์มให้สามารถดำเนินธุรกิจในด้านการผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์ เพิ่มพูนประโยชน์ให้ผู้บริโภครับข้อมูลข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างรายได้ให้อยู่รอดอย่างยั่งยืนในอนาคตภายใต้ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในการจัดอบรมครั้งนี้”

ขณะที่”จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง อุปนายกด้านมาตรฐานวิชาชีพสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์” ระบุถึงเหตุผลในการจัดงานครั้งนี้เช่นกันว่า“ตลอด 3 วันของการจัดอบรมสัมมนาที่ผ่านไป มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาที่มีชื่อเสียงมาถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่างๆ ให้ผู้เข้าอบรมเรียนรู้ทักษะ และประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับการทำงานด้านสื่อมวลชน รวมถึงการผลิตคอนเทนต์ตอบโจทย์ผู้บริโภค การตั้งต้นและการบริหารจัดการสำนักข่าวขนาดเล็ก เพื่อการบริหารสื่อออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จ สามารถหารายได้ในการผลิตเนื้อหาข่าวบนแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดียที่เปลี่ยนไปนี้”อุปนายกด้านมาตรฐานวิชาชีพสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์กล่าว

สำหรับกิจกรรมที่เกิดขึ้นในการอบรมทั้งสามวันดังกล่าว มีความน่าสนใจที่ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถนำไปปรับใช้กับงานของตนเองได้ 

อย่างในวันแรกของการอบรม มีการบรรยายในหัวข้อ “2024 ภูมิทัศน์สื่อ คนทำสื่อปรับ” โดย”ชุตินธรา วัฒนกุล บรรณาธิการบริหารข่าวออนไลน์ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส” และยังได้รับแนวทางในการตั้งต้นและการบริหารจัดการสำนักข่าวขนาดเล็ก โดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters 

นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมการอบรมสัมมนา ยังได้เรียนรู้การบริหารสื่อออนไลน์และการหารายได้ โดย นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าว Today  ตลอดจน ได้เรียนรู้เรื่องกฎหมายที่ควรรู้สำหรับสำนักข่าวออนไลน์โดย อ.ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากฎหมายสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ด้วย 

ส่วนในการอบรมวันที่ 2 ผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้การผลิตเนื้อหาข่าวบนแพลตฟอร์ม TikTok และทำ Workshop การใช้งานแอพพลิเคชั่น Tiktok กับสำนักข่าวขนาดเล็กของตนเองอีกด้วย 

โดยประเด็นการอบรมดังกล่าว “ พนัย บุญบัณฑิต Lifestyle & Education Partnership Managerของ Tiktok”  ได้มาบรรยายและจัดทำ Workshop ให้ผู้เข้าร่วมอบรมด้วยตนเอง  นอกจากนี้ยังได้รับฟังการบรรยายการปรับตัวเพื่อนำเสนอเนื้อหาข่าวบนสื่อใหม่ โดย สุวิตา จรัญวงศ์ CEO & Co Founder Tellscore Co.,Ltd.Success Model และได้เรียนรู้การเขียนขอทุนเพื่อผลิตสื่อคุณภาพกับคุณ Detty SalulingSenior Manager for Rainforest Journalism Fund, Pulitzer Center

และไฮไลท์สำคัญในการอบรมครั้งนี้ “ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “ได้บรรยายรูปแบบ Business Model ที่สำนักข่าวขนาดเล็กจะสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจของตนเองได้ด้วย ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรบทุกคนยังได้ร่วมกันทำ Workshop นำเสนอผลงาน Business Model สำนักข่าวขนาดเล็กเพื่อความยั่งยืนของตนเองด้วย และปิดท้ายด้วยการเรียนรู้กลไกการกำกับดูแลของสื่อมวลชน โดย ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

ภายหลังการอบรมตลอดทั้งวันสามวันเสร็จสิ้น ผู้เข้าร่วมอบรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นสำนักข่าวขนาดเล็กได้บอกเล่าความรู้สึกที่มีกับการอบรมในครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

โดยชนิตา งามเหมือน  จากเว็บไซด์ข่าว online newstime บอกเล่าความรู้สึกของตนเองหลังการอบรมว่า “ขอบคุณที่มีโอกาสได้มาเรียนในคอร์สนี้อยากมาส่วนตัวแล้วอยากมาเติมเต็มในการบริหารจัดการสำนักข่าวขนาดเล็กของตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาเราทำแต่คอนเท้นต์แต่เราขายไม่เป็น ความรู้ที่ได้ในทุกๆ หัวข้อการอบรมจะเอากลับไปใช้ เพราะทุกหัวข้อในการอบรมครั้งนี้ มันสามารถเติมเต็มในสิ่งที่ตัวเราขาดไปได้เยอะมาก ขอบคุณที่จัดงานดีๆแบบนี้ให้สำนักข่าวขนาดเล็กของพวกเราได้พัฒนาได้มีอาวุธทางความคิดเพิ่ม

ขณะที่ “ศิริทรัพย์ พืชโพธิ์งาม จากเพจข่าวเม้าส์มอยระยอง กล่าวว่า ตอนแรกที่เห็นหัวข้อของงานอบรมครั้งนี้รู้สึกสนใจและอยากเข้าร่วมอบรมมาก เพราะเป็นการพัฒนาศักยภาพของสื่อขนาดเล็ก เพราะที่ผ่านมาแม้ตนจะมีเพจข่าวเป็นของตนเองแต่ยังรู้สึกว่ามันยังไม่มีศักยภาพที่ไม่เต็มร้อย รู้สึกดีใจมากที่ได้เข้ามาร่วมอบรมในครั้งนี้ 

“ได้ความรู้กลับไปบริหารจัดการสื่อของตนเองอีกเพียบ และคิดว่าต้องกลับไปรื้อเพจข่าวของตัวเองออกใหม่หมด เรื่องของธุรกิจก็ได้โมเดลที่จะไปหาแหล่งทุนมาเพิ่ม และจะสร้างคนใหม่ๆ ให้เข้ามาช่วยในการทำงานเพิ่มมากขึ้นด้วย” 

ขณะที่ปรัชญา ไชยแก้ว  จากสำนักข่าว Laner  กล่าวว่า ตอนที่เห็นหัวข้อต่อท้ายของงานอบรมเรื่องการพัฒนาศักยภาพของสำนักข่าวขนาดเล็กเพื่อความยั่งยืนก็เห็นจุดร่วมอะไรบางอย่างในการเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาสำนักข่าวของตนและทีมก็จะประสบปัญหาเรื่องของเงินทุน ที่เข้าให้มาในแต่ละปีพอจบปีก็หมดลง เราจะทำอย่างไรให้เราอยู่อย่างยั่งยืนได้ มันจะมีรูปแบบแบบไหนที่จะเราจะสามารถทำได้ พอได้เข้ามาร่วมอบรมก็เห็นลู่ทางที่มันจะบริหารสื่อของตนเองต่อไปได้ นอกจากนี้ในการอบรมครั้งนี้ยังมีผู้เข้าร่วมอบรมที่มีความหลากหลาย จึงเห็นปัญหาของสำนักข่าวต่างๆ ที่หลากหลายด้วยเช่นกัน พอเรามาอบรมด้วยกันก็ได้เชื่อมกัน และนำจุดอ่อนและจุดแข็งของแต่ละคนไปปรับใช้กับสำนักข่าวของตนเองได้ด้วย การอบรมในครั้งนี้จึงมีประโยชน์มาก ๆและมีโมเดลที่เป็นรูปธรรมที่เราสามารถนำไปปรับใช้กับสำนักข่าวขนาดเล็กของเรา

 ขณะที่ จักรกฤชณ์ แววคล้ายหงษ์ บรรณาธิการบริหารและเจ้าของหนังสือพิมพ์ ประชามติตราดกล่าวถึงความรู้สึกหลังเข้ารับการอบรมในครั้งนี้ว่า ตอนเข้ามาในห้องอบรมครั้งแรกรู้สึกแปลกๆ เพราะผู้เข้าร่วมอบรมส่วนใหญ่จะเป็นเด็กๆ วัยรุ่นแล้วก็มีผู้สูงอายุอย่าวพวกตนด้วย แต่พอได้ทำกิจกรรมได้อบรมด้วยกันก็เห็นมุมมองเห็นแนวคิดของแต่ละคนที่เราสามารถเรียนรู้และนำไปปรับใช้ได้ รวมถึงวิทยากรแต่ละท่านก็เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องทีเป็นประโยชน์กับพวกเรามาก

“ หลังอบรมทำให้ผมได้ปรับมายเซ็ตความคิดใหม่ทั้งหมด ผมทำสื่อท้องถิ่นมานานเห็นการเปลี่ยนแปลงในทุกยุคทุกสมัย แต่พอมีเทคโลยีเข้ามาการเปลี่ยนแปลงมันไปแบบก้าวกระโดดไปไวมาก เลยอยากมาเรียนนรู้ให้มากที่สุดเพื่อนำไปปรับใช้กับสื่อของตัวเอง ซึ่งทั้งสามวันที่ผ่านมาความรู้ที่ได้มีประโยชน์มาก ๆ และจะนำกลับไปใช้แน่นอน” 

งานอบรมเสริมสร้างจริยธรรมและพัฒนาสำนักข่าวขนาดเล็กเพื่อความยั่งยืนรุ่นที่ 2 จบลงไปแล้วอย่างสวยงาม ซึ่งหลักสูตรในการอบรมครั้งนี้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ออกแบบมาเพื่อให้ตอบรับกับสถานการณ์และภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  

ทางคณะผู้จัดงานอบรมฯ คาดหวังว่าการอบรมครั้งนี้ สำนักข่าวขนาดเล็กทั่วประเทศไทยจะเติบโตขึ้นได้อย่างยั่งยืนเพื่อเป็นกระบอกเสียงในการทำหน้าที่สื่อมวลชนและเป็นตะเกียงเพื่อชี้นำทางสว่างให้กับสังคมต่อไป