“สิทธิบัตรทอง ปัญหางูกินหาง” 

            “เรื่องนี้ควรจะไปถึงนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย เพราะแต่ละคนก็ต่างสังกัด และผู้ประกอบการเองก็เป็นเอกชนเป็นคลินิก ดังนั้นทุกคนควรต้องพบกัน”

            ภัทราพร ตั๊นงาม ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ให้มุมมองถึงการลงพื้นที่ “ส่องปัญหาสิทธิบัตรทอง สั่นคลอนระบบหลักประกันสุขภาพจริงหรือ!!” กับ “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า ตอนนี้สำนักงานหลักประกันคุณภาพแห่งชาติ ( สปสช.) ปรับเปลี่ยนระบบจ่ายเงินแต่มีปัญหามาถึงประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยได้รับผลกระทบไปเต็มๆ จากเดิมที่กลุ่มผู้ป่วยมีใบส่งตัวก่อนวันที่ 1 มีนาคม จะมีการกำหนดระยะเวลาอาจจะ 6เดือนหรือ  1 ปี จึงจะหมดอายุ 

“ตามติดหาข้อมูลทุกกลุ่ม” 

            ภัทราพร บอกว่า จากการที่ได้ติดตามทีละกลุ่ม คือ 1.ผู้ป่วยและญาติที่ได้รับผลกระทบ 2. สปสช. 3.นพ.ชลน่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ไปพบด้วยตัวเอง 4. กลุ่มผู้ประกอบการคลินิก 5. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ( ผว.กทม.) และรองผู้ว่าฯกทม. ที่ดูแลสำนักอนามัยสำนักการแพทย์ ทราบว่าทุกกลุ่มยังไม่ได้พบกัน ทำให้ต่างคนต่างพูด

            ปัญหาปัจจุบันที่เกิดขึ้น ตั้งแต่มีการปรับระบบ  ทำให้ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยเดือดร้อนมากขึ้น หากไปโรงพยาบาลต้องไปขอใบส่งตัว ที่โรงพยาบาลและคลินิกเท่านั้น ทั้งนี้ใบส่งตัวมีระยะเวลาสิ้นสุด คือ หาหมอวันไหนหมดอายุวันนั้น หรือหมดอายุเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งถือว่าสั้นมาก  ผู้ป่วยบางคนต้องไปหาหมอวันเว้นวันหรือเป็นรายสัปดาห์ 

“ความเดือดร้อนของประชาชนสำคัญที่สุด

            ภัทราพร บอกว่า ต้องเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการหนักเท่านั้นจึง จะเข้าโรงพยาบาลได้ ถ้าเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหนักไปคลินิก หรือศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.ก็จบ ทั้งนี้กลุ่มผู้ป่วยที่จะต้องไปโรงพยาบาล เช่น รักษาโรคไต ต้องไปฟอกไต หรือโรคหัวใจหรือไปเอ็มอาร์ไอ ทีซีสแกน จะต้องไปฟอลโล่กับหมอ บางคนไปพบหมอรักษาโรคต่อเนื่อง 7 -8 ปีแล้ว 

            “สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องหันมามองในมุมของประชาชนที่เดือดร้อน จะเห็นว่าหลังจากปรับเปลี่ยนไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มีนาคม  1 เดือนที่ผ่านมาประชาชนยังเกิดผลกระทบหนักอยู่  แม้ว่า สปสช.จะบอกว่าดูเหมือนผลกระทบจะน้อยลง แต่ถ้าดูเฉพาะรายกรณีถือว่ารุนแรงมาก

             เช่น มีอยู่เคสหนึ่งที่ได้ไปพบเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วผู้ป่วยอายุ 91 ปี ติดเตียงมี 4 โรค  ญาติต้องลาหยุดงานเพื่อที่จะพาคุณพ่อไปรักษาที่โรงพยาบาล 4 โรค 4 วันเพราะโรงพยาบาลไม่ได้นัดพบหมอได้ภายในวันเดียว แล้วต้องไปขอใบส่งตัวอีก 4 วัน  เพราะไม่สามารถขอใบส่งตัวได้ล่วงหน้านานหรือพร้อมกันได้ แต่ได้แค่ล่วงหน้าเพียง 3 วันแปลว่า ต้องลาหยุดงานอีก 4 วันเพื่อไปขอใบส่งตัว 4 ครั้ง 4 โรคเท่ากับว่าต้องหยุดลางาน 8 วัน ในการพาพ่อไปโรงพยาบาล ซึ่งแน่นอนว่าผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง  การรักษาต้องยืดเยื้อและระยะการรักษาต้องต่อเนื่อง  ฉะนั้นการลาหยุดงานเกือบ 10 วัน จึงเป็นความเสี่ยงต่อคนทำงาน ที่เป็นกำลังหลักของครอบครัวซึ่งสถานการณ์แบบนี้ เกิดขึ้นกับผู้ป่วยหลายคนมากและญาติผู้ป่วยหลายคนมาก

“นายกฯเศรษฐา ต้องนำทุกฝ่ายถกปัญหาจริงจัง” 

            ภัทราพร บอกว่า ตอนนี้ควรต้องมีวงเพื่อที่จะแก้ไขปัญหา ให้ยุติได้โดยเร็ว ขอให้ทุกคนมีวงที่ได้สื่อสื่อสาร อธิบายรับฟังไปพร้อมกัน คิดว่าองคาพยพเหล่านี้จะแก้ไขปัญหาได้

            “เรื่องนี้ควรจะไปถึงนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย เพราะแต่ละคนก็ต่างสังกัด และผู้ประกอบการเองก็เป็นเอกชนเป็นคลินิก ดังนั้นทุกคนควรต้องพบกัน คือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี  2. สปสช. 3. ผู้ที่ได้รับผลกระทบ คือ ประชาชนที่เป็นผู้ป่วย ต้องไปหาใบส่งตัวกันทุกวันทุกสัปดาห์ ก็อาจจะเกิดวิกฤติกับผู้ป่วยด้วย เพราะมีปัญหาสุขภาพกาย แล้วยังมาหนักกับสุขภาพทางใจด้วย 4. กระทรวงสาธารณสุขหรือกรมการแพทย์ และ 5. โรงพยาบาลในสังกัด กทม. ที่ดูแลเรื่องของหน่วยปฐมภูมิ คือ ศูนย์บริการสาธารณสุข ในกรุงเทพฯมีทั้งหมด 69 แห่ง

“เปลี่ยนระบบกระทบปัญหา 1-2-3 ตามมา” 

            ภัทราพร บอกว่า การเปลี่ยนระบบนี้ทำให้ 1. ผู้ป่วยไม่ได้รับความสะดวกสบาย 2. ชื่อของผู้ป่วยบางคนหรือสิทธิ์ของบางคนหายไป จากคลินิกหรือโรงพยาบาลเดิม เพราะตอนที่ยังไม่ได้เข้าโรงพยาบาล ก็ไม่รู้ว่าสิทธิ์หายไป เมื่อต้องไปโรงพยาบาลหรือคลินิก ถึงได้รู้ว่าสิทธิ์นั้นหายไปจากระบบ จากปัญหาของโควิด-19 เมื่อ 2-3 ปีก่อนทำให้คลินิกเกือบ 200 แห่งปิดตัวไป คนก็ไม่รู้ว่าชื่อของตนเองหายไปจากคลินิกหรือโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยต้องวิ่งไปหาประวัติการรักษา จากโรงพยาบาลเดิมหรือคลินิกเดิมที่ปิดไปแล้ว  เพื่อนำประวัติการรักษาไปให้คลินิกหรือโรงพยาบาลใหม่ 

             3. เฉพาะในกทม. ที่มีปัญหาเพราะโรงพยาบาลที่สังกัด และตั้งอยู่ในกทม. หลากหลายสังกัดมาก เฉพาะที่สังกัดกทม.ดูแล โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมี 11 แห่ง  แต่ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครแต่สังกัดกทม. เช่น สังกัดกระทรวงสาธารณสุข สังกัดกรมการแพทย์  โรงเรียนแพทย์ สังกัดอว.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ฉะนั้นฐานข้อมูลเหล่านี้ของคนไข้จึงไม่ได้เชื่อมต่อกัน

“ระบบใช้ได้จริงเดือนตุลาคม แต่คนเจ็บ-ป่วยรอไม่ได้”

            ภัทราพร บอกว่า นพ.ชลน่าน ตอบคำถามกลุ่มผู้ป่วยและญาติที่ไปยื่นเรื่องเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ว่าระบบออนไลน์เหล่านี้ จะใช้ได้ก็ประมาณเดือนตุลาคม โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ เข้าโรงพยาบาลทุกสังกัดได้ แต่อย่าลืมว่าสถานการณ์ผู้ป่วยตอนนี้จำเป็นต้องหาหมอ หลายคนเป็นผู้ป่วยติดเตียงไม่ได้เดินทางง่ายดาย บางคนป่วยยืดเยื้อรุนแรงเรื้อรัง จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลวันเว้นวัน ดังนั้นถ้าไม่เร่งแก้ไขปัญหาฐานข้อมูลเหล่านี้  จะยิ่งส่งผลกระทบต่อญาติและกลุ่มผู้ป่วยต้องวิ่งหาใบส่งตัว

 “ปัญหาใน กทม.สิ้นสุด แต่นอกสังกัด กทม.ยังเป็นปัญหาใหญ่”     

            ภัทราพร บอกว่า กทม.โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีนโยบายชัดเจนว่าใบส่งตัวที่เดิมตั้งแต่ปีที่แล้ว  จะไปสิ้นสุดในปลายปีนี้ให้นำมาใช้ได้ก่อนเลย ในโรงพยาบาลสังกัด กทม.ทั้ง 11 แห่ง  ถือว่าตอนนี้เคลียร์ปัญหาเรื่องดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

            แต่ปัญหาใหญ่นอกสังกัด กทม. คือ สังกัดกรมการแพทย์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ และเท่าที่ไปคุยกับอธิบดีกรมการแพทย์บอกว่า ยังจำเป็นต้องใช้ใบส่งตัวใหม่อยู่ ถึงแม้ว่าจะเห็นใจทั้งผู้ป่วยและญาติมาก แต่เรื่องใบส่งตัวจำเป็นเพราะว่าใบส่งตัว คล้ายเป็นหลักฐานที่เข้ารับการรักษา หากส่งจากคลินิกแปลว่าโรงพยาบาลจะมีใบการันตี ว่าสามารถเบิกจ่ายได้จากคลินิก แต่ถ้าโรงพยาบาลรับผู้ป่วยเอง โดยไม่มีใบส่งตัวก็ไม่มั่นใจว่าจะเอาเงินได้จากไหน

            เพราะตอนนี้ สปสช.เปลี่ยนรูปแบบ ซึ่งเดิมก่อนวันที่ 1 มีนาคมบัตรทอง 30บาทจะอยู่ที่กองกลางสปสช. ถ้าเข้าโรงพยาบาลก็สามารถทำเบิกจากสปสช.ได้โดยตรง  แต่ปัจจุบันหลังวันที่ 1 มีนาคมเงินกองกลางจากสปสช. ไปโยนให้คลินิกบริหารจัดการ ฉะนั้นโรงพยาบาลก็ไม่แน่ใจว่า ไปเบิกจากคลินิกได้หรือไม่ ถ้าไม่มีใบส่งตัวแล้วคลินิกจะจริงใจในการจ่ายหรือไม่

“คลินิก หวั่น ขาดทุน ไม่มั่นใจเรื่องเบิกจ่ายเงิน

            ภัทราพร บอกว่า ได้ไปพูดคุยกับผู้ประกอบการคลินิก ก็ไม่มั่นใจว่าเงินก่อนหน้านี้ที่ไปอยู่ที่สปสช. ก่อนวันที่ 1 มีนาคมหรือช่วงหลังโควิด-19 เขาไปขอเงินจาก สปสช.ได้ประมาณ 60% เท่านั้น ขณะที่สปสช.จ่ายให้โรงพยาบาลครบ 100%  ในมุมของคลินิกเขาบอกว่าขาดทุน จึงจะขอเงินจากสปสช.มาดูแลเอง จึงเป็นที่มาของการปรับเปลี่ยนระบบตั้งแต่วันที่ 1มีนาคมเป็นต้นมา

            คลินิกยังบอกอีกว่านำผู้ป่วยบางโรคมาให้เขาดูแล และรักษาเองก็ได้ไม่ต้องไปโรงพยาบาล  เพราะคลินิกมองว่าถ้าผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเขาก็ต้องตามไปจ่าย นั่นแปลว่าเขาอาจจะมีความเสี่ยงในการขาดทุน  และถ้าโรงพยาบาลเก็บเงินแบบปลายเปิด คือ รักษาไปเรื่อยๆหรือมีส่วนต่างที่ต้องจ่ายเพิ่ม คลินิกก็ต้องตามไปจ่ายจึงเสี่ยงขาดทุน

 “เข้าไปดูศูนย์สายด่วน 1330 ของ สปสช.ด้วยตัวเอง” 

            ภัทราพร บอกว่า ได้เข้าไปดูศูนย์สายด่วน 1330 ของสปสช.ด้วยตัวเอง ซึ่งมีคนโทรศัพท์เข้ามาช่วงแรก ตั้งแต่เปลี่ยนผ่านวันที่ 1 มีนาคม เฉลี่ยวันละ 400 ถึง 600 ราย แต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม  ตัวเลขที่โทรเข้าไปสายด่วนดังกล่าว เหลือวันละประมาณ 100 สายเท่านั้น ซึ่งประเด็นนี้อาจจะลดลงจริงหรือไม่ตามที่ สปสช. บอกหรือว่าคนเหนื่อยเพราะต้องวิ่งหาใบส่งตัว จนไม่มีเวลาไปโทรศัพท์ร้องเรียนผ่านทางสายด่วน

            คุณหมอบอกว่าระบบที่ผ่านเข้าสู่ การร้องเรียนสายด่วน สปสช. เป็นการร้องเรียนแบบมีผลทางกฎหมาย ก็จะใช้วิธีไปเจรจากับทางคลินิก ถ้าเจรจาแล้วเจอคลินิกที่ไม่ฟังและไม่แก้ไขปัญหา คุณหมอบอกว่าก็จะใช้มาตรการยกระดับคือกฎหมาย เข้ามาดำเนินการกับคลินิก แต่คุณหมอบอกว่าไม่อยากจะไปห้ามขนาดนั้น เพราะคลินิกเป็นกลุ่มสำคัญสำหรับประชาชน ที่จะไปพบหมอใกล้บ้าน หากไม่มีคลินิกหรือคลินิกบอยคอร์ดปิดขึ้นมา 200 - 300แห่งระบบสาธารณสุขในกรุงเทพคงจะรวนมาก

“ประชาชน ขอ สปสช.ขยายเวลาออกใบส่งตัว

            ในมุมของประชาชนฝากบอกไปถึง สปสช. ว่า เงื่อนไขที่ออกใบส่งตัวมาโดยกำหนดระยะเวลา ควรที่จะขยายเวลาออกไปถึง 6 เดือนหรือ 1 ปีได้หรือไม่ เพราะใบส่งตัวถือว่าจำเป็น  เนื่องจากเป็นใบที่บอกว่า มีการไปหาหมอที่โรงพยาบาลและมีการส่งตัวออกจากคลินิก หรือระบบรักษาพยาบาลปฐมภูมิ หรือศูนย์บริการสาธารณสุขออกไปที่โรงพยาบาล  ฉะนั้นการไปโรงพยาบาลการันตีว่า ผู้ป่วยจำเป็นอยากขยายระยะเวลา  เพราะเป็นแบบนี้ถึงได้เป็นเหมือนงูกินหางกันอยู่” ภัทราพร กล่าวทิ้งท้าย 

            ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5