เกาะติดชีวิตนักข่าวลงพื้นที่เสี่ยงโควิด19 ป้องกันตนเองอย่างไร

"ดูแลตัวเองทำความสะอาดฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทุกครั้ง ทำให้ทีมงานอยู่รอดปลอดภัยทุกวันนี้ เพราะเราไม่การ์ดตก"

“เวลาเจอแรงงานข้ามชาติก็จะเอ่ยทักทายไปก่อนเลยว่า “มิงกะลาบา” ความจริงแล้วในการทำข่าวเราคุยกันมาใน กองบรรณาธิการของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ก่อนที่จะเดินทางซึ่งทีมข่าวคุยกันหนักมาก ว่าลงพื้นที่หาข่าวจะเป็นรูปแบบไหน เพราะจังหวัดสมุทรสาคร เป็นพื้นที่เสี่ยงสูงสุดที่มีการควบคุม  เราสามารถเจอกลุ่มเสี่ยงได้ทุกเมื่อเวลาอยู่ในพื้นที่ ฉะนั้นการเตรียมตัว ทางออฟฟิศจะซัพพอร์ตอุปกรณ์มาเยอะมาก เช่น ให้แอลกอฮอล์มาเป็นแกลลอนใหญ่ หน้ากากอนามัย N95  อุปกรณ์เฟซชีลด์ และชุด PPE สำหรับเข้าพื้นที่เสี่ยงสูงสุด”

 เป็นคำพูดของ ภัทราพร  ตั๊นงาม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส  ซึ่งถ่ายทอดผ่าน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ร่วมกับ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5   ซึ่งภัทราพรได้รับมอบหมายจากกองบรรณาธิการไทยพีบีเอส  ให้ลงพื้นที่เกาะติดทำข่าวในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ตั้งแต่ วันที่ 25 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา  ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงสุดของประเทศไทยขณะนี้ จากการกลับมาระบาดรอบใหม่ของโควิค-19 ที่เกิดจากแรงงานข้ามชาติ   

กองบรรณาธิการข่าวไทยพีบีเอสคุยกันว่า จะไปทำข่าวในจังหวัดสมุทรสาครหรือไม่ เมื่อติดตามสถานการณ์แล้วคิดว่าน่าจะยืดเยื้อ และไทยพีบีเอสก็เป็นสื่อสาธารณะ ดังนั้นการลงพื้นที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผู้คนตื่นตระหนก การทำหน้าที่ของเราก็เพื่อลดความตื่นตระหนกนั้น และให้ข้อมูลที่ถูกต้องของแพทย์ ของทางจังหวัดและหลายฝ่าย เพื่อให้เห็นว่าจังหวัดสมุทรสาครกำลังจะมีอะไรเกิดขึ้น กำลังมีการจัดการปัญหาอย่างไร นำไปสู่การแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะเรื่องของโรคระบาดอย่างไร ท่ามกลางความตื่นกลัวของข้อง

ภัทราพร  บอกว่า เคยทำข่าวโควิดช่วงแพร่ระบาดรอบแรก เมื่อต้นปี 2563 ที่เครื่องบินได้นำคนไทยจากนครอู่ฮั่น ประเทศจีน มาที่สนามบินอู่ตะเภา อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ดังนั้นทีมข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจึงมีประสบการณ์ ทำข่าวโควิชมาเป็นระยะและต่อเนื่องในหลายพื้นที่  

เมื่อเป็นพื้นที่หนักอย่างสมุทรสาคร เราก็คุยกันชัดว่าต้องช่วยกันดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพราะการลงพื้นที่นั้น ทั้งผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ผู้ช่วยช่างภาพเป็นทีมเดียวกัน ต้องนั่งอยู่ในรถด้วยกันตลอดทั้งวันไปยังพื้นที่ต่างๆ  มีการใช้จุดสัมผัสร่วมในรถ เราจะมีฟ็อกซ์กี้ซึ่งเป็นกระบอกน้ำผสมแอลกอฮอล์ ฉีดพ่นเป็นระยะ เพื่อให้รู้สึกว่าเราได้ทำความสะอาดแล้ว ส่วนเวลากลางคืนก็จะให้ผู้ช่วยช่างภาพฉีดพ่นอุปกรณ์ในตัวรถเพื่อฆ่าเชื้อทิ้งไว้  นอกจากนี้มีการใช้โทรศัพท์มือถืออัดคลิปเสียงและใช้ไมล์ลอยในการสัมภาษณ์แหล่งข่าวเท่านั้น เมื่อสัมภาษณ์แล้วเสร็จ ต้องทำความสะอาดฆ่าเชื้อขาตั้งกล้อง การดูแลตัวเองจึงทำให้ทีมงานทั้งสามคนอยู่รอดปลอดภัยมาจนทุกวันนี้ แน่นอนว่าเราไม่การ์ดตก 

“การนำของพวกนี้มา ทำให้ทุกอย่างเกิดความมั่นใจว่าเราไม่มาเป็นภาระของสังคมที่นี่ เพราะในแง่ของพื้นที่เสี่ยง การหาอุปกรณ์ของเหล่านี้เชื่อว่าทุกคนอยากจะได้ อยากจะมีแต่เราเป็นคนนอกพื้นที่และเราเข้ามาในพื้นที่นี้ ก็อาจจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับเขา สมมุติว่าเราไม่รู้ว่าหน้างานจะเป็นอย่างไร จะขาดแคนอุปกรณ์หรือไม่ ถ้าเรามีความพร้อมในการเตรียมอุปกรณ์มา เราก็จะไม่ต้องแย่งคนที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งเขาลำบากอยู่แล้ว ประเด็นเหล่านี้ได้มีการพูดคุยถามความคิดเห็นกันมาเยอะ จึงเป็นการทำข่าวอยู่บนหลักของความปลอดภัยมากที่สุด”

ภัทราพร  บอกอีกว่า เรื่องของภาษาที่ใช้ในการสื่อสารนั้นมีความสำคัญ เพราะมีทั้งแรงงานเมียนม่าร์ที่พูดภาษาไทยได้ ก็จะตะโกนพูดคุยกันเพื่อสื่อสาร หรือถ้าพูดภาษาไทยไม่ได้ และพูดไทยได้น้อยก็เจ้าหน้าที่ภาคสนาม ที่ทำงานร่วมกันกับชาวเมียนม่าร์ล่ามมาช่วยแปลให้อีกทีหนึ่ง   

กองบรรณาธิการเวบไซต์สมาคมฯ มองว่า หลากหลายอาชีพต้องทำงานพบปะใกล้ชิดกับคนจำนวนมากท่ามกลาง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิค -19  ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ อาชีพนักข่าวภาคสนาม เป็นอาชีพเสี่ยงที่ต้องป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัดให้ปลอดภัยจากโรคระบาดนี้   

ติดตามรายการ #ช่วยกันคิดทิศทางข่าว ได้ทุกวันอาทิตย์  เวลา 11.00-12.00 น. ทางวิทยุและ Facebook live FM 100.5  MCOT News Network และ Facebook สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 

#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว #โควิด19

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation