ปาฐกถาพิเศษ “ปลอกเปลือกคอร์รัปชั่น”

 

ปาฐกถาพิเศษ “ปลอกเปลือกคอร์รัปชั่น”

โดย      ศ.ดร.อัมมาร์  สยามวาลา

นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  และ

พลตำรวจเอกวศิษฐ์  เดชกุญชร

รองประธาน องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย

โครงการสัมมนาทางวิชาการติดตามนโนบายสาธารณะเรื่อง“4 ปีประเทศไทย:ภาพจริง-ภาพลวง ?”

วันพฤหัสบดี ที่ 9 ธันวาคม  2547 ณ  โรงแรมวินเซอร์สวีท

.ดร.อัมมาร์  สยามวาลา

หัวข้อที่ผมจะพูดอาจจะเลยเกินความจริงไปนิดนึง ผมเพียงแต่ต้องการพูดเรื่องที่ค่อนข้างจะแห้งๆ นิดหน่อย แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่เราจะต้องเคลียร์สมองของเรา เวลาที่เราใช้ถ้อยคำว่า คำต่างๆที่เราใช้มันหมายความว่ายังไง มีขอบเขตมากน้อยแค่ไหน ผมคิดว่าในแง่หนึ่งแล้วการที่จะนิยามคำว่าคอร์รัปชั่นนั้น หลายคนอาจจะคิดว่ามันไม่จำเป็นทีเดียวนัก เพราะว่าประเทศไทย พวกเราทุกคนคุ้นเคยกับคอร์รัปชั่นอยู่ตลอดเวลา มันเป็นปรากฏการณ์เปรียบเสมือนอากาศที่เราหายใจเช้าเย็นๆ มีอยู่ในบรรยากาศตลอดเวลา แต่ว่าบางครั้งเราก็ต้องมีการแยกแยะศึกษาให้แน่นอน เพื่อว่าเราจะได้ก้าวต่อไปได้ ทำอย่างไรที่บรรยากาศกลิ่นคาว กลิ่นเหม็นต่างๆที่เรามีอยู่จนกระทั่งเราชินจมูกไปแล้ว มันจจะได้ค่อยๆ ลดลง เราจะได้มีบรรยากาศที่สดชื่นขึ้น

สิ่งที่เราคุ้นเคยใช้และกันจนกลายเป็นภาษาไทยแล้ว พจนานุกรมฉบับราชบัญฑิตยสถานก็มีเป็นภาษาไทยคำหนึ่ง คือ "คอรัปชั่น" คอร์รัปชั่นนั้นมันติดตลาดมาก บางครั้งผมก็อยากใช้คำว่าคอร์รัปชั่น แต่เผอิญมีคำไทยที่ผมชอบมากกว่าซึ่งมันสื่อความหมายได้ดีเช่นกันคือ "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" แต่ที่นี้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตบัญญัติไว้ค่อนข้างแตกต่างไป คือค่อนข้างจะแคบตรงตัวเป๊ะ คือ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่เก็บเงินจากราษฎรแล้วไม่ส่งหลวงหรือเบียดบังเงินหลวง อันนี้คือความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัญฑิตซึ่งผมก็คิดว่ามันค่อนข้างจะแคบเอามากๆ ความจริงแล้วเราน่าจะใช้ให้สอดคล้องกันกับคำว่าคอร์รัปชั่น หรือเพราะว่าคนไทยอาจจะชอบคำว่าคอร์รัปชั่นเพราะมันสั้นกว่า

แต่ผมสังเกตอย่างหนึ่งคือ สิ่งอะไรที่ไม่ดีไม่งามนั้นพวกเราจะรักษาภาษาอังกฤษไว้ สิ่งอะไรที่ดีงามเราจะหาคำบาลี สันสกฤตเข้ามา แต่ผมคิดว่าเราควรจะแยกแยะอะไรหลายๆ อย่าง อันนึงก็คือว่า "การติดสินบน" นั้นมีการแลกเปลี่ยนกันโดยชัดเจน แต่บางครั้งกระบวนการแลกเปลี่ยนมันไม่มีความชัดเจนผมก็เลยจะพยายามนิยามคำว่าฉ้อราษฎร์บังหลวงขึ้นมา แล้วผมก็ขอเสนอแบบง่ายๆคือ

"การกระทำหรือละเว้นการกระทำใดๆ ที่เจตนาก่อความเสียหรือเสี่ยงต่อความเสียหายแก่สาธารณประโยชน์"  ในระบบการเงินปัจจุบันนี้การโอนความเสี่ยงต่างๆ มันมีผลกระทบอย่างมาก มันยังไม่จำเป็นต้องเกิดความเสียหาย แต่โอนความเสี่ยงไปเฉยๆ และสิ่งที่ตามมาคือ เมื่อก่อความเสียหายแล้วเบี่ยงเบนต่อผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นมาให้แก่ผู้ที่กระทำ แต่อันนี้ต้องมีเจตนา เจตนานั้นสำคัญเพราะว่ามันมีหลายคดี ผมนึกถึงคดีหนึ่งที่ตอนนี้กำลังอยู่ในศาลก็คือ ความเสียหายนั้นอาจเกิดจากการรู้เท่าไม่ถึงการ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่มีปัญหา เพราะว่าผลประโยชน์สาธารณะเสียหายนั้นมีปัญหาแน่ แต่อาจไม่ได้เกิดจากการเจตนา เพราะอาจจะมีปัญหากฏหมายด้านอื่น หรือว่ามีวิธีการแก้ปัญหาทางด้านอื่นเหมือนกับความประมาท เพราะฉะนั้นมันมีปัญหาหลายอย่างก็คือว่า

สำคัญ ก.นั้นทำอะไรอยู่ แล้วมันเกิดเหตุการณ์ ข.ขึ้น การที่จะมีตัวเชื่อมโยงระหว่างข.และก. ต้องดูตรงเจตนาว่าจงใจให้เกิด ข. ขึ้น ตรงนี้ผมพยายามให้นิยามที่กว้างกว่าในพจนานุกรมฯได้ให้ไว้

ที่นี้ในหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน เราจะไม่ค่อยกล้า หรือแม้กระทั่งนักวิชาการที่ลุกขึ้นพูด เพราะกฏหมายเรื่องการหมิ่นประมาทค่อนข้างรุนแรงพอสมควรในเมืองไทย เราจะไม่กล้าพูดตรงๆ ว่า คนนั้นคอร์รัปชั่นหรือคนนั้นฉ้อราษฎร์บังหลวง เราจะเลี่ยงไปบอกว่า "ไม่โปร่งใส" ที่ค่อนข้างจะป๊อปปุล่าร์ขึ้นมาในระยะหลัง แล้วหลายคนก็เข้าใจว่าองค์กรเพื่อความโปร่งใสนั้นมีไว้เพื่อปราบปรามคอร์รัปชั่น   องค์กรเพื่อความโปร่งใสบางครั้งก็พยายามยืดแขนยืดขา ออกไปคุมคอร์รัปชั่นในมุมกว้าง แต่ผมมองว่า ความโปร่งใสนั้นเป็นแต่เครื่องมืออันหนึ่งในการป้องกันมากกว่าการปราบปรามคอร์รัปชั่น เป็นเครื่องมือเฉยๆ ก็คือว่า การกระทำทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ สาธารณะจะต้องได้รับทราบรับรู้ ประเด็นปัญหามันอยู่ตรงนั้น

ตัวอย่างที่ผมกล้ายกว่าไม่โปร่งใสโดยไม่ได้กล่าวหาว่าฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือไม่ ก็คือ บริษัทที่รับซื้อหนี้ไปจากสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งเวลานี้ดำเนินการอยู่ เป็นการให้ข้อมูลที่จำกัดจำเขี่ยมาก และเราก็ไม่รู้ว่ากระบวนการเป็นอย่างไร ได้ดำเนินการไปมากน้อยแค่ไหน มีผลมากน้อยแค่ไหน อันนี้เป็นเรื่องที่แสดงถึงว่าไม่โปร่งใส แต่ก็ยังไม่ได้ยืนยันว่าฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือเปล่า ถือว่าเป็นเรื่องที่แยกแยะก่อน

และมีข้อสังเกตนะครับว่า จากการที่ผู้มีอำนาจไม่โปร่งใส ก็อาจจะชวนให้สังคมสรุปได้และมันเป็นการสรุปที่ผมคิดว่าสังคมอ้างได้เสมอว่า ถ้าคุณบิดพลิ้วไม่ยอมโปร่งใสก็หมายความว่าคุณมีเจตนาอะไรบางอย่างที่จะไม่โปร่งใส อันนั้นก็เป็นการกระทำอันหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ได้หมายถึงว่า ได้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงขึ้น

"การมีส่วนได้เสีย" ก็เป็นอีกอันหนึ่งหรือบางทีก็เรียกกันว่า "ผลประโยชน์ทับซ้อน" อันนั้นก็เป็นการนิยามปรากฏการณ์อันหนึ่งที่อาจนำไปสู่การฉ้อราษฎร์บังหลวงแต่ยังไม่ได้เป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวง เวลาที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบางครั้งมีบทบาทพร้อมกัน 2 บทบาทใน 2 ตำแหน่ง และบางครั้งเรื่องของกฏหมายไม่ดีพอและทำให้คนๆเดียวกันมีอำนาจพร้อมกันหลายอย่าง ซึ่งขัดกันอีก อันนี้ก็เป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่อาจจะก่อให้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงขึ้น

และนี่เป็นกรณีที่ผมจะยกตัวอย่างขึ้นมา ที่ยังไม่เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงและค่อนข้างจะยืนยันได้ว่าไม่มี แต่ว่ามันสร้างปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ ก็คือ "กองทุนเพื่อการฟื้นฟูสถาบันการเงิน"อะไรทำนองนี้ เรียกกันสั้นๆว่า "กองทุนฟื้นฟู" ในธนาคารแห่งประเทศไทย  ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงิน กฏหมายธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า แบงก์ชาติไม่มีหน้าที่ไปตั้งเป็นบอร์ดของสถาบันการเงินต่างๆ ได้ แต่ในกฏหมายธนาคารแห่งประเทศไทยมีหมวดที่ว่าด้วยกองทุนฟื้นฟู ตั้งกองทุนฟื้นฟูขึ้นมา เพื่อฟื้นฟูสถาบันการเงิน

อย่าลืมว่าสถาบันการเงินแห่งประเทศไทยเป็นสถาบันที่กำกับ แต่กองทุนฟื้นฟูตั้งขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูสถาบันการเงิน ซึ่งหมายความว่า เมื่อสถาบันการเงินมีปัญหา ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีสิทธิ์ไปแทรกแซงได้หลายอย่าง และสิ่งต่างๆ ที่กฏหมายธนาคารแห่งประเทศไทยอ้างไม่ให้ทำ หมวดนี้เกือบจะเป็นข้อยกเว้นที่ลดละทั้งหมด เพราะกองทุนฟื้นฟูนั้นตั้งขึ้นมาเป็นทีว่า เป็นนิติบุคคลที่แยกออกมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นคนละนิติบุคคล และมีสิทธิ์ทำอะไรหลายๆ อย่างที่ธปท.ทำไม่ได้

เช่นไปเป็นบอร์ด เป็นกรรมการ เป็นเจ้าของ เป็นผู้ถือหุ้นในสถาบันการเงินที่เข้าไปแทรกแซง แล้วผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นอย่างไร ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้กำกับสถาบันการเงินและบกพร่องในหน้าที่หรือว่าทำงานไม่ดีพอ ไม่มีประสิทธิภาพ สถาบันการเงินตกไปเป็นปัญหา เมื่อตกไปเป็นปัญหากองทุนฟื้นฟูจำเป็นที่จะต้องเข้าไปแทรกแซง

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในหลายกรณีคือ การเข้าไปแทรกแซงนั้นบางครั้งเพื่อกลบหรือปกปิดการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพแต่ดั้งเดิม และอย่าลืมนะครับว่า กองทุนฟื้นฟูมีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธานกรรมการ กองทุนฟื้นฟูมีสำนักงานอยู่ในธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ทำงานเป็นลูกจ้างของกองทุนฟื้นฟู กินเงินเดือนกองทุนฟื้นฟู ก็เป็นคนที่เลื่อนตำแหน่งมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย แล้วเมื่อทำอยู่ระยะหนึ่งก็กลับไปอยู่ธนาคารแห่งประเทศไทย เพระฉะนั้นก็อยู่ในกระบวนการของธปท. เรียกว่าแทบจะแยกกันไม่ออก แยกออกเฉพาะในทางกฏหมาย แต่โดยพฤตินัยแล้วถือว่าเป็นแผนกหนึ่งในธปท.และจะใกล้ชิดกับฝ่ายกำกับของธปท. เพราะฝ่ายกำกับของธปท.จะเป็นคนกำหนดว่า ให้กองทุนฟื้นฟูเข้าไปแทรกแซง

สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นปัญหาในการออกแบบกฏหมาย ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน อันนี้ผมเอาตัวอย่างที่มันค่อนข้างยาก ระหว่างการฉ้อราษฎร์บังหลวงและการไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่ว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นคือ ผลประโยชน์สาธารณะเสียหายอย่างแน่นอน แล้วก็เกิดปัญหาในหลายกรณี อย่างน้อยมีอยู่ 1-2 กรณีที่มีกลิ่นคาวอยู่พอสมควร ว่าอาจจะมีผลประโยชน์ตกแฝงอยู่กับบางคน จากการกระทำและละเว้นการกระทำต่างๆ ทั้งเกิดขึ้นจากการออกแบบกฏหมาย แต่ผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย นอกจากกรณีที่ค่อนข้างยากอันนี้ ยังมีหลายอย่างที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา ก็คือว่าเอาคนที่เป็นพวกพ้องของตนเข้าไปอยู่ในตำแหน่ง สร้างให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน คนๆเดียวกันอาจจะมีผลประโยชน์ในภาคเอกชน แต่เข้ามากำกับดูแลในภาครัฐ

ฉะนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเฝ้ามองและก็ดูแลเป็นอย่างมาก ฉะนั้นสิ่งที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ผมคิดว่าทุกคนคงคุ้นเคย เพียงแต่ผมอยากให้คำจำกัดความของ ศัพท์ต่างๆที่เราใช้เพื่อให้มันเคลียร์ และเพื่อจะได้รู้ว่า การเฝ้ามองอันไหนก่อให้เกิดปัญหาอย่างไร เราต้องเฝ้ามองอย่างไรและเมื่อเฝ้ามองแล้วจะต้องคอยจ้องว่ามันเกิดปัญหาต่อไปอย่างไร ผลประโยชน์ทับซ้อนต่างๆ เหล่านี้เป็นปัญหาที่ผมคิดว่า เราคงจะต้องดูแลกันอย่างใกล้ชิด

อีกคำนึงที่ผมยังไม่ได้เขียน แต่คิดว่าเป็นศัพท์ที่เกิดขึ้นในระยะหลังๆ ก็คือที่เรียกกันว่า "คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย" ซึ่งเป็นวิวัฒนาการ หรือการพัฒนาคอร์รัปชั่นขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ผมเคยพูดกับเพื่อนหลายคนว่า ประวัติศาสตร์ของการพัฒนาเศรษฐกิจก็คือการพัฒนาคอร์รัปชั่น

สหรัฐไม่ใช่ว่าไม่มีคอร์รัปชั่น แต่ผมยังอยากบอกว่ามันน้อยกว่าที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ที่แน่นอนคือโจ๋งครึ่มน้อยกว่า แต่ว่ามีผลกระทบต่อสาธารณชนมากหรือน้อยยังไม่สามารถประเมินได้ แต่ในสหรัฐนั้นมักจะเกิดคอร์รัปชั่นตั้งแต่ออกกฏหมาย ศูนย์กลางของการคอร์รัปชั่นนั้นอยู่ที่รัฐสภา แต่ในประเทศไทยนั้นการออกกฏหมายยังไม่ค่อยมีคอร์รัปชั่น แต่กำลังจะคลืบไปสู่จุดนั้น

แต่เจตนาในการออกกฏหมายในประเทศไทยนั้นมักจะออกให้กว้างเอาไว้  ข้าราชการประจำ ข้าราชการการเมืองทุกคน ต้องการจะมีอำนาจที่กว้าง และอำนาจที่เจาะจงลงไปเพื่อดำเนินการอย่างไร มักจะออกเป็นอนุบัญญัติตามมา และกระบวนการคอร์รัปชั่นก็เริ่มตั้งแต่จุดนั้น ซึ่งค่อยๆคลืบคลานไป มีการออกพระราชกำหนด ไม่ใช่พระราชบัญญัติซึ่งมันเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารอย่างน้อยในขั้นต้น ออกพระราชกำหนดขึ้นมาเพื่อให้ประโยชน์กับบางฝ่าย อันนั้นเป็นกรณีบางกรณีที่เกิดขึ้น

การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายจึงไปอีกระดับหนึ่งคือ สามารถอ้างได้ว่าที่ทำนั้นไม่ผิดกฏหมาย คือในทางปฏิบัติแล้วสิ่งที่เรียกว่าฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้นมันมีเคสที่ศาลใช้ก็คือว่า ทำผิดกฏหมายหรือเปล่า ซึ่งศาลก็ต้องใช้อย่างนั้น แต่ทันทีที่คนมีอำนาจใช้นิติบัญญัติหรือระดับกฏหมายที่รองลงมา แต่เหล่านี้สามารถดำเนินการในทำนองที่เรียกว่าคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย เป็นการให้ประโยชน์แก่บางคนหรือไม่ให้ประโยชน์แก่บางคนได้

 

พลตำรวจเอกวสิษฐ์ เดชกุญชร

ต่อจากที่อ.อัมมารพูดมีอีกคำหนึ่งทีคือคำว่า "ทุจริต" แต่ว่าทุจริตที่นำมาใช้นั้นค่อนข้างจะมีความหมายกว้างขวาง ซึ่งถ้าพูดกันจริงๆ แล้ว คอร์รัปชั่นคือการทุจริตรูปแบบหนึ่งเท่านั้นเอง จะเรียกว่าคอร์รัปชั่นหรือทุจริตก็ตามถ้าหากว่าเป็นโรค มันก็เป็นโรคระบาดร้ายแรงแล้วก็เรื้อรังด้วย ที่ผมยังไม่เห็นว่าจะมีแพทย์คนไหนที่จะยับยั้งได้ รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยรวม ถึงรัฐบาลชุดนี้ด้วยที่จะต้องร่วมกันปราบปรามคอร์รัปชั่น  แต่แล้วคนในรัฐบาลนั่นๆ ที่คอร์รัปชั่นเสียเอง

จะเห็นว่ามาตรการของรัฐบาลมักจะหนักไปในทางปราบปรามมากกว่าป้องกัน รัฐบาลนี้หลังจากแถลงนโยบายเอาไว้แล้ว ยังออกมาประกาศด้วยว่าจะปราบปรามกันให้ถึงพริกถึงขิง ซึ่งผมเองคอยดูมาจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เห็น  เห็นแต่การโชว์ตัวขึ้นเวที แต่ไม่เห็นว่าจะมีการป้องกันและปราบปรามที่น่าตื้นเต้น แม้แต่อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขที่เพิ่งจับได้ ก็ไม่ได้เป็นมือของทางเจ้าหน้าที่ปราบปราม แต่เป็นความตาไวของชาวบ้านคนหนึ่งที่ไปเห็นแล้วจำได้

การปราบปรามนั้นจะเห็นว่ามักจะได้ผลช้า ท่านจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือข้าราชการที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต สิ่งแรกที่จะเริ่มขึ้นก็คือกรรมวิธีสอบสวน ซึ่งยาว ยืดเยื้อ และในการสอบสวนลงโทษทางวินัยมักจะเป็นที่สังเกตว่า มักจะทำโดยกรรมการที่เป็นเจ้าหน้าที่เดียวกัน หรือสังกัดหน่วยราชการเดียวกัน เพราะฉะนั้นอาจจะเกิดการสงสาร เห็นใจกัน หรืออาจจะไดรับของกำนัล ผลประโยชน์ต่างๆจากผู้ถูกสอบสวน ร้ายยิ่งกว่านั้นอาจจะเคยร่วมทุจริตกันด้วยโดยที่คนยังไม่รู้ ดังนั้นมักจะเห็นว่าการสอบสวนเป็นไปด้วยความรอมชอมหรือหาทางออกให้ และในบางกรณีก็จะเสนอให้ลงโทษในสถานเบา สุดท้ายเมื่อมีการตัดสินว่ามีความผิดก็ไม่ได้เป็นข่าว แรงกระทบมันเบาแผ่วลง

เมื่อไปดูประมวลกฏหมายอาญาจะเห็นว่าบทที่ 2 ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการนั้น วางโทษฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่เอาไว้ในบางกรณีแรงถึงขั้นประหารชีวิต ไปดูมาตรา 148-149 แต่ก็จนถึงวันนี้ยังไม่เคยปรากฏว่า คนที่คอร์รัปชั่นหรือทุจริตศาลจะลงโทษแรงถึงขั้นประหารชีวิต

แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังเชื่อว่าการปราบปรามก็จะต้องดำเนินการต่อไป ไม่ว่าจะได้ผลช้าผลเร็ว โทษหนักโทษเบาแค่ไหน แต่ว่าพร้อมๆกับการปราบปราม สิ่งที่รัฐบาลทุกรัฐบาลควรดำเนินการพิจารณาอย่างจริงจังคือ"การป้องกัน"ป้องกันด้วยการขึ้นเงินเดือนอย่างที่ทำกันอยู่นั้น บางคนคิดว่าอาจจะยับยั้งหรือบรรเทาคอร์รัปชั่นได้ อาจจะเป็นความจริงสำหรับข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ทุจริตเพื่อที่จะหาเงินจำนวนน้อยๆ มาแก้ปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลังในครอบครัว คือปัญหาส่วนตัวในชีวิตประจำวัน แต่สำหรับเจ้าหน้าที่ระดับ "บิ๊ก" ที่ออกแบบวิมารในอากาศเอาไว้อย่างใหญ่โตหรูหรา ซึ่งกระหายและก็ต้องการเงินจำนวนหาศาลเอามาเพื่อที่จะสร้างวิมารในอากาศนั้นให้สำเร็จ เงินเดือนที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่มีความหมายอะไรเลย ไม่สามารถที่จะยับยั้งความกระหาย ความตะกละได้

ในการป้องกันอีกอย่างหนึ่งที่นำไปใช้กันแล้วและก็ยังทำกันอยู่คือ "การฟื้นฟูจริยธรรม"ของเจ้าหน้าที่ เป็นการยอมรับว่าจะมีจริยธรรมนั้นเป็นเกราะป้องกันการทุจริต เพราะจริยธรรมเสื่อมหรือตกต่ำจึงมีคอร์รัปชั่นอย่างรุนแรงและกว้างขวาง แต่การฟื้นฟูที่ทำไปแล้ว ก็ยังไม่ปรากฏว่าได้ผลชัดเจนด้วยเหตุผล 2-3 ประการ

ประการแรก ในการอบรมฟื้นฟูจริยธรรมนั้น มักจะเป็นการแสดงธรรมเทศนาซึ่งมีลักษณะเป็นการทอล์กโชว์ของวิทยากรชั่วครั้งชั่วคราว จบแล้วก็แล้วกัน บางทีมีการประเมินผลระหว่างการอบรมเท่านั้น หลังอบรมไม่มีการตามไปประเมินว่า ที่ผ่านการอบรมไปแล้วจริยธรรมมันดีขึ้นหรือเปล่า หรือยังเสื่อมต่ำลงไป

อีกอันนึงที่ยังไม่ได้ผลเพราะเหตุว่า เขาเลือกฟื้นฟูกันเฉพาะผู้น้อย ผู้ใหญ่ได้รับการยกเว้น ผมเคยได้รับเชิญให้ไปพูดเรื่องเกี่ยวกับจริยธรรมหลายครั้ง แล้วผมก็พูดแล้วพูดอีกว่า คนที่ควรต้องได้รับการฟื้นฟูนั้นต้องเอามาตั้งแต่รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี แต่ข้อเท็จจริงนั้นคนพวกนี้ไม่เคยได้รับการฟื้นฟูจริยธรรมเลย เพราะฉะนั้นจริยธรรมของท่านเหล่านั้นจะอยู่ในระดับไหน ก็สุดแล้วแต่จะคิด

จริยธรรมนั้นสำคัญและเป็นเกราะการทุจริตอย่างแน่นอน แต่จะฟื้นฟูเป็นครั้งเป็นคราว เป็นโปรแกรมคงจะไม่พอและไม่ได้ผล จะต้องทำด้วยการปลูกฝัง แล้วไม่ใช่มาเริ่มเอาตอนโตเป็นผู้ใหญ่ ต้องเริ่มตั้งแต่ยังเด็ก ตั้งแต่ที่บ้านตั้งแต่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูอาจารย์ก็รับไปปลูกฝังต่อที่โรงเรียน ที่มหาวิทยาลัย วิชาศีลธรรมและจริยธรรมจะต้องเป็นวิชาบังคับตั้งแต่ชั้นประถมไปจนถึงอุดมศึกษา และรัฐจะต้องมีโครงการตามกำกับจริยธรรมให้เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลต้องทำจริยธรรมให้เป็นนโยบายหลัก เป็นวาระแห่งชาติ ไม่ว่ารัฐบาลไหนพรรคไหน ต้องทำเมืองไทยให้เป็นเมืองจริยธรรมให้ได้ จะด้วยการปลูกฝัง ปลุกระดม ปฏิรูป ปฏิวัติ ในที่นี้หมายถึงปฏิรูปความคิด ปฏิวัติความคิด ต้องเดินตามรอยพระยุคลบาท พระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ทศพิธราชธรรม นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องตามเสด็จและใช้ด้วยทศพิธราชธรรมนั้นชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ามี 10 ข้อ แต่ผมจะยกบางข้อขึ้นมาพูด อย่างข้อ 3 คือศีลไม่ต้องพูดถึงเลย

คนไทยทุกวันนี้ ผมขอพูดในฐานะชาวพุทธ ศีลต่ำกันมากหรือหายไปเลย ชาวพุทธต้องถือศีล 5 เป็นอย่างต่ำ ของเรานั้นเหลือ 3 มั้ง 2 มั้ง และผมเชื่อว่าไม่มีเลยก็เยอะ มีผู้ใหญ่หลายคนพูดว่าอาจจะใกล้วิกฤตในความเป็นจริยธรรมของเมืองไทย เพราะปัญหาคอร์รัปชั่นก็ได้

ข้อที่ 4 คือ อาชชวะแปลว่าความซื่อตรง ทรงศักดิ์ ไร้มายา ทำหน้าที่โดยสุจริตจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน แก้คอร์รัปชั่นได้แน่นอน ถ้าหากว่าใช้ธรรมมะข้อนี้

ทศพิธราชธรรมข้อ 6 คือ"ตัปปะ"หรือ"ตะบะ" แปลว่า การทรงไว้ที่จะเผากิเลสตัณหาไม่ให้ครอบงำตัวเอง ไม่หมกมุ่นหลงไหลอยู่ในสุขสำราญและความปรนเปรอ พูดอย่างนี้คงสะดุ้งกันไปทั้งคณะ คือต้องมีความเป็นอยู่อย่างสามัญ สม่ำเสมอและมุ่งแต่จะทำหน้าที่ให้บริบูรณ์ ไม่ใช่มุ่งหาประโยชน์ให้กับตัวเอง เพื่อญาติพี่น้องหรือพรรคพวก อีกข้อที่จะยกมากล่าวคือข้อ 8 อวิหิงสา หมายความว่า ไม่เบียดเบียน ไม่บีบคั้นกดขี่ ไม่หลงอำนาจ ไม่ขาดกรุณา ไม่หาเหตุลงโทษ เพราะอาฆาต

แค่ 4 ข้อที่ยกมากล่าวนี้ถ้าเผื่อว่า จะรับเอาไปเป็นหลักปฏิบัติ ผมเชื่อเหลือเกินว่า ผลกระทบมันจะกว้างแล้วก็แรงด้วย เพราะเมื่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทำเป็นตัวอย่าง เจ้าหน้าที่ระดับรองลงมาก็จะปฏิบัติตาม ในสังคมไหนก็ตามถ้าหัวส่ายหางก็จะกระดิก หัวหยุดส่ายหางมันก็จะหยุดกระดิกตามไปด้วย เป็นข้อเท็จจริงที่ยอมรับกันมานานแล้ว ถ้าทำได้จริยธรรมจะกลายเป็นปฏิชีวนะที่จะสามารถจะยับยั้งทุจริตหรือคอร์รัปชั่น ไม่ให้ระบาดกว้างขวางออกไปอย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้

จริยธรรมอย่างเดียวเท่านั้นที่จะต่อสู้กับทุจริตหรือคอร์รัปชั่นได้ ลงไปจนถึงรากของมัน เราอาจจะดูถูกหรือไม่เห็นความสำคัญของจริยธรรม การป้องกันและปราบปรามทุจริตหรือคอร์รัปชั่นก็คงจะเป็นไปอย่างป้อแป้ ไร้ผลอย่างที่เห็นกันอยู่ และถ้าเป็นเช่นนั้นในอนาคตอันไม่ไกลนี้ ประเทศไทยอาจจะได้รับการกำหนดให้อยู่ในอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่ทุจริตหรือคอร์รัปชั่นที่สุดในโลก