วันที่ 18 พ.ย. 2565 นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ ได้รับรายงานกรณีมีสื่อมวลชนบาดเจ็บอย่างน้อย 2 คน ขณะปฏิบัติหน้าที่รายงานเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ชุมนุม “ราษฎรหยุด APEC” เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 โดยมีรายละเอียดดังนี้
กรณีที่หนึ่ง มีคลิปวิดิโอเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่ง ใช้โล่กระแทกผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว The Matter จนล้มลงกับพื้น ขณะกำลังรายงานสดเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม โดยที่ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวแสดงตนว่าเป็นสื่อมวลชน พร้อมกับสวมปลอกแขนแสดงสัญลักษณ์สื่อมวลชน ต่อมา มีรายงานด้วยว่าผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวถูกเจ้าหน้าที่ใช้กระบองฟาด และเตะเข้าที่ศีรษะ จนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย
คลิปเหตุการณ์กรณีที่หนึ่ง:
The Matter
https://www.facebook.com/thematterco/videos/1331180424290098/
The Standard
https://www.facebook.com/thestandardth/videos/496985079073121
The Reporter
https://www.facebook.com/TheReportersTH/videos/1230717807506966
เดลินิวส์
https://www.facebook.com/dailynewsonlinefan/videos/525845562743449
กรณีที่สอง มีคลิปวิดิโอแสดงจังหวะที่ช่างภาพจากสำนักข่าว Reuters กำลังบันทึกภาพแนวตำรวจใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และได้มีการเขวี้ยงวัตถุของแข็งเข้าใส่ใบหน้าของช่างภาพคนดังกล่าว จนได้รับบาดเจ็บบริเวณลูกตา
คลิปเหตุการณ์กรณีที่สอง:
ViralPress
https://twitter.com/ViralPressCoLtd/status/1593493898562744320
สำหรับกรณีที่หนึ่ง นายธีรนัยกล่าวว่า ตนขอเรียกร้องให้ทางการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือรัฐบาล เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วนทุกประเด็น เช่น การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคลิปที่ปรากฏเป็นข่าว เหมาะสมหรือไม่ เป็นการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุหรือไม่ เป็นไปตามหลักปฏิบัติของหน่วยงานหรือไม่ ฯลฯ และถ้าหากผลการตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดจริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีบทลงโทษหรือดำเนินการอย่างไร และจะมีการชดใช้ความเสียหายต่อนักข่าวที่ถูกกระทำอย่างไรบ้าง
นายธีรนัยตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ศาลแพ่งเคยมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ในคดีหมายเลขดำที่ พ3683/2564 ซึ่งศาลระบุไว้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจต้อง ‘...ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมและสลายการชุมนุม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชน ภายใต้หลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน…’ ดังนั้น ตนจึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล และเป็นไปตามคำสั่งศาลแพ่งข้างต้นอีกด้วย
“ฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ จะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจะมีการพิจารณามาตรการในลำดับต่อไป หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิกเฉยที่จะตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น” นายธีรนัยกล่าว
สำหรับกรณีที่สอง นายธีรนัยกล่าวว่า ตนขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเร่งตรวจสอบที่มาที่ไปของเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นกัน โดยเฉพาะทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จำนวนมาก และมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการควบคุมดูแลการชุมนุมโดยตรง จึงต้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ใครเป็นผู้ขว้างปาวัตถุของแข็งในคลิปวิดิโอ มีเจตนาจงใจทำร้ายสื่อมวลชนหรือไม่ และจะมีการดำเนินมาตรการทางกฎหมายกับผู้ก่อเหตุหรือไม่ อย่างไร
นายธีรนัยกล่าวด้วยว่า ภาครัฐต้องชี้แจงทั้งสองกรณีกับสังคมอย่างเร่งด่วนและโปร่งใส เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทั้งสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน และสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน ซึ่งได้รับการคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามที่ฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ ได้ย้ำว่ามาตลอดว่า “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน”
ทั้งนี้ สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปที่พบเห็นการใช้ความรุนแรง หรือพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อสื่อมวลชนในพื้นที่การชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการกระทำจากฝ่ายใดก็ตาม สามารถติดต่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ ได้ที่อีเมล์ tjareporter@gmail.com (กรุณาเขียนระบุในหัวข้ออีเมลล์ว่า “เรียน ฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ”)
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ฝ่ายสิทธิ์ฯ TJA ร่วมกับ 6 องค์กรสื่อ หารือ ‘ผบช.น.’ ย้ำต้องคุ้มครองเสรีภาพนักข่าวในพื้นที่ชุมนุม