เสียงเตือนถึงรัฐบาลแทรกแซงสื่อ…ผิดพลาดตั้งแต่ต้น

รายงานพิเศษ 

โดย จุลสารราชดำเนินฯ 

..................................................

รัฐบาลเพื่อไทยทำงานได้ 2 เดือนเศษเริ่มมีเสียงเตือนว่ากำลังเข้ามาแทรกแซงสื่อรัฐ ห้ามคนเห็นต่างออกรายการวิจารณ์ ยังมีคำวิจารณ์ถึงการที่นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธตอบคำถามสื่อทำเนียบรัฐบาลถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต แต่เลือกใช้วิธีเดินสายชี้แจงเฉพาะสื่อใหญ่บางค่ายแทน พร้อมกับที่รัฐบาลเตรียมปัดฝุ่นใช้  NBT ชี้แจงผลงาน ฟื้นรายการนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรี พบประชาชน

ตัวอย่างที่สะท้อนชัด กรณี “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตกรรมการเลือกตั้งโพสต์เฟสบุ๊ควันที่ 11 พ.ย.ว่า มีโทรศัพท์มานัดหมาย ขอสัมภาษณ์เรื่องการแจกเงินดิจิทัลผ่านสื่อของ อสมท จึงตอบ ยินดีแต่ต่อมามีโทรศัพท์มายกเลิกสัมภาษณ์เพราะผู้ใหญ่ใน อสมท เห็นว่ารัฐบาลโดนวิจารณ์เรื่องนี้เยอะ เกรงว่าจะทำให้เกิดความสับสนอีก สิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรครัฐบาลที่ดูแล อสมท ด้วยข้อหาปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของคนที่เห็นต่าง”

ขณะที่ “ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์”  อดีตรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟสบุ๊คเมื่อ 3 พ.ย.ว่า วันก่อนได้ประชาสัมพันธ์ว่าจะรายการ"คุยตามข่าว" แต่ปรากฏว่า กลับไม่มีการออกอากาศในประเด็น"ทักษิณ :ระเบิดเวลารัฐบาล?"  เพราะได้รับแจ้งว่าผู้บริหารช่อง อสมท พิจารณาแล้วเสี่ยงที่จะทำให้รัฐบาลไม่พึงพอใจจึงสั่งงดออกอากาศ  ก่อนที่ธีรภัทร์จะระบุว่า “สมัยผมเป็นรัฐมนตรีกำกับดูแล อสมท และกรมประชาสัมพันธ์ ยุครัฐประหารเมื่อปีที่ 2549 ไม่เคยสั่งงดรายการใดๆแม้แต่เพียงครั้งเดียวตรงข้ามผมมีนโยบายให้สื่อมวลชนมีอิสระเสรีภาพและสามารถวิพากษ์วิจารณ์เต็มที่”

มีการจับตาว่า รัฐบาลเพื่อไทยยุคเศรษฐา จะตามรอยรัฐบาลทักษิณในอดีตที่มีการแทรกแซง แทรกซึมสื่ออย่างรุนแรงหรือไม่??

“ห้ามวิจารณ์ ระวังผู้ใหญ่ไม่ชอบ”

“สุทธิชัย หยุ่น” สื่อมวลชนอาวุโส กล่าวในรายการ suthichai live หัวข้อ "ท่านนายกฯ: มีคนอ้างรัฐบาลแทรกแซงสื่อรัฐครับ! ออกอากาศวันที่ 13 พ.ย. ว่า เป็นห่วงรัฐบาล และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพราะเริ่มมีคนอ้างชื่อผู้ใหญ่ในรัฐบาลพยายามแทรกสื่อของรัฐว่า อย่าไปสัมภาษณ์คนที่วิจารณ์รัฐบาลโดยเฉพาะประเด็นนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต และ เริ่มมีโทรศัพท์มาพูดคุยกับคนของสื่อรัฐ วิทยุ ทีวี NBT ให้เตือนพิธีกรรายการวิทยุ ทีวี ในสื่อของรัฐ กรมประชาสัมพันธ์  อสมท อย่าเอาคนที่ชอบวิจารณ์รัฐบาลมาออกอากาศ ระวังผู้ใหญ่ไม่ชอบ 

สิ่งที่ตนได้รับทราบมาทำให้ไม่สบายใจ เพราะนายกฯเศรษฐาพูดตลอดว่ารัฐบาลโปร่งใส ตรวจสอบได้ ฟังความเห็นต่าง อยากจะเตือนว่า ในสมัย 14 ตุลา 2516 กรมประชาสัมพันธ์ถูกมองว่า เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลทหารที่เอาข่าวเชียร์รัฐบาลอย่างเดียวมาออก  ไม่เปิดโอกาสให้ข้อมูลอีกด้านกับประชาชน  เมื่อนักศึกษาประท้วงรัฐบาล  กรมประชาสัมพันธ์ที่ถนนราชดำเนินจึงถูกเผาไปด้วย แล้วถูกขนานนามภายหลังว่า “กรมกร๊วก” เพราะนำเสนอข่าวที่ประชาชนไม่อยากรู้  

ทั้งนี้ อสมท อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หลายคนสร้างชื่อให้ อสมท มีมาตรฐานพอสมควร รัฐบาลใหม่ รมต.ประจำสำนักนายก เดินทางไปมอบนโยบาย อสมท ให้ทำงานอย่างมีมืออาชีพ แต่ในทางปฏิบัติ นักการเมืองจะส่งคนเข้าไปในบอร์ด อสมท เป็น ผอ.อสมท หรือ เป็นอธิบดี รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งวันนี้ก็เริ่มได้ยินมา มีการเตรียมตั้งคนของรัฐบาลเข้าไปในบอร์ด ตำแหน่งสำคัญๆ ที่จะกำหนดนโยบายได้ เพราะนักการเมืองคิดสั้นๆแบบฉวยโอกาสว่า จะเอาคนของรัฐไปคุมข่าว และก็จะบอกพิธีกรข่าว รายการต่างๆ จะเอาเนื้อหาตามที่ต้องการ  แต่คนที่ อสมท และกรมประชาสัมพันธ์ คงคิดว่า รัฐบาลมาแล้วเดี๋ยวก็ไป เขาจะไม่ขัดขวางแต่จะไม่สนับสนุน เพราะเขาต้องการรักษาศักดิ์ศรี หลายคนอยู่มายาวนาน เกือบตลอดชีวิตของอาชีพ เขาก็หวังว่าจะประคองรักษาชื่อเสียง ความน่าเชื่อของ อสมท ไว้ในฐานะสื่ออาชีพ แต่คนไหนฝีมือดีจริงๆ ทนไม่ไหวก็จะลาออก อสมท ก็จะสูญเสียมืออาชีพไปทำสื่อออนไลน์ที่อื่นที่มีโอกาสมากกว่า  

เขายกตัวอย่างว่า การที่นายกฯแถลงผลงาน 60 วันที่ NBT ก็เพราะรู้สึกสบายใจ มีพิธีกรที่ท่านเลือกและเชื่อว่า จะชงคำถามหวานๆ ไม่มีคำถามที่ประชาชนสนใจ ไม่มีคำถามแย้ง หรือ จี้เพื่อให้เกิดความกระจ่าง สุดท้ายรายการนั้นก็จะเจ๊ง ขาดความเชื่อถือ ประชาชนก็จะไม่ฟัง NBT  ดังนั้น รายการใหม่ของ NBT ที่สัมภาษณ์รัฐมนตรีจากนี้ก็เป็นช่องที่ทางการจะออกข่าวข้างเดียว พิธีกรจะถูกเตรียมไว้ ไม่ใช่พิธีกรมืออาชีพที่เป็นอิสระที่จะไม่ยอมให้ถามตามที่รัฐมนตรีต้องการ นี่คือ หายนะของการสื่อสารที่จะเกิดขึ้น

นายกฯ ต้องกล้าไปทุกสื่อ ตอบทุกคำถาม 

“ถ้านายกฯเริ่มด้วยสูตรนี้ถือว่าผิดพลาดตั้งแต่ต้น นายกฯยังมีโอกาสปรับแก้  ผมแนะนำว่า ถ้านายกฯจะแถลงอะไรก็ตาม สื่อทุกสื่อ ออนไลน์ ทีวี พร้อมให้ท่านไปออกรายการอยู่แล่ว  เพียงแต่ท่านต้องพร้อมตอบคำถามที่มืออาชีพเขาตั้งไว้ ซึ่งอาจมีคำถามยากๆ ที่รัฐบาลไม่อยากตอบ เป็นคำถามที่รัฐบาล ต้องอธิบายความสงสัยของประชาชน เช่น นโยบายดิจิทัล ที่ประชาชนอยากรู้ว่า จะไปอย่างไรต่อ  ท่านต้องตอบ  และหลายเรื่องที่ท่านยังทำไม่สำเร็จเพราะอะไร  ซึ่งมันเป็นโอกาสที่ท่านจะได้ชี้แจงว่าไม่สำเร็จเพราะอะไร   

...ท่านนายก ถ้าจะออกสื่อทีวี ท่านก็อาจบอกให้ รัฐมนตรี รองนายกฯ มาออกทีวี 10 กว่าช่อง แล้วเอาพิธีกรของแต่ละช่องนั้นมาถาม ผมเชื่อว่า ทุกช่องจะยินดี  ออนไลน์ของแต่ละช่องก็พร้อมถ่ายทอดสดด้วย คนดูจะเยอะกว่า NBT นี่คือ สัจธรรมสื่อสารการเมืองวันนี้  เว้นแต่ท่านจะคิดแบบนักการเมืองเดิมๆ  ต้องช่อง 11 อสมท  เพราะบังคับ คุมได้ แต่ประชาชนจะไม่วางใจ ท่านต้องกล้าไปทุกสื่อ ตอบทุกคำถาม  ถ้าไม่พร้อมก็อย่าออกแม้กระทั่ง 11 ซึ่งเป็นภาษีประชาชน ถ้าท่านใช้ช่อง 11 ท่านจะทำลาย ความน่าเชื่อถือของช่อง 11 กลายเป็นกรมกร๊วกเป็นสื่อเครื่องโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ใช่สื่อที่ประชาชนจะเชื่อได้แล้วใครมาเป็นอธิบดี รองอธิบดี ก็จะรับใช้นักการเมืองทั้งหมด 

“สุทธิชัย หยุ่น”กล่าวว่า นายกฯต้องให้ความมั่นใจกับคนทำงาน 2 แห่ง ว่าจะไม่มีการแทรกแซง หรือ สั่งห้ามคนที่วิจารณ์ รัฐบาลมันจะสร้างความน่าเชื่อถือกลับมายังรัฐบาล แล้วจะทำให้คน อสมท กรมประชาสัมพันธ์ มีความภูมิใจในการเป็นเจ้าหน้าที่ คนสื่อ เพราะสิ่งที่เป็นคุณค่าที่สุดของคนทำสื่อ คือ ความเชื่อถือ ที่เราทำข่าว รายงานเรื่องนี้ ปราศจากการข่มขู่ กดดันเราและความรับผิดชอบที่มีต่อประชาชน เพราะเขากินภาษีประชาชน เขาไม่ใช่ลูกจ้างนักการเมือง ที่ต้องไปทำงานให้กับพรรค ตั้งทีมพีอาร์ส่วนตัว  

“นโยบาย แจกเงินหมื่น นายกฯต้องเปิดเวทีสาธารณะให้ประชาชนฟัง  ตอนนี้เหลือประเด็นเดียว เศรษฐกิจไทยวิกฤตหรือไม่ นายกฯบอกวิกฤตต้องแจกเงิน ต้องปั๊มหัวใจ แต่ธปท.บอกศก.ยังพอไปได้ ยังไม่ต้องใส่เงินถึง 5 แสนล้านบาท ดังนั้นเรื่องนี้ต้องสร้างความตื่นตัวให้ประชาชนถึงปัญหาเศรษฐกิจ ต้องถกแถลงถึงมีข้อยุติ โดยใช้สื่อ อสมท กรมประชาสัมพันธ์ ออกอากาศให้เกิดบรรยากาศถกแถลงอย่างกว้างขวาง  เช่น อสมท เปิดสองชั่วโมงให้ชาวบ้าน กระทรวงคลัง ฑปท. ทีดีอาร์ไอ สื่อ มาตั้งคำถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ นี่คือการบริหารประเทศแบบประชาธิปไตยที่สื่อทุกสื่อจะได้ช่วยกัน เอาข้อมูลความรู้ต่างๆ มา รัฐบาลก็จะรู้มุมต่างๆ มากขึ้น”  

จับตาจัดงบอีเว้นท์ช่วยสื่อหนุนรัฐ 

 “สุทธิชัย หยุ่น” ยังได้พูดตอนหนึ่งในรายการ “คุยให้คิด” ทางไทยพีบีเอส ชำแหละ เบื้องลึก เบื้องหลัง เงินดิจิทัล เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ด้วยว่า มีเด็กของนายกฯโทรมาหาตน พยายามชี้แจงว่า เรื่องที่นายกฯไม่ตอบคำถามสื่อหลังแถลงชี้แจงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต และไปหาสื่อเจ้าเดียวนั้นไม่จริง ความจริงวันนั้น นายกฯไปหาสื่อ 3 เจ้า อันนี้ก็เป็นปัญหาการบริหารงานของนายกฯอย่างหนึ่ง  

“ที่นักข่าวโกรธเพราะนายกฯ ไม่ตอบคำถามนโยบาย  แต่เดินเลี่ยงแทน แล้วบอกว่า อยู่ในใบแถลงข่าวแล้ว นักข่าวไม่ต้องจด คุณฟังผมให้รู้เรื่องอย่างเดียว ดังนั้น วิธีการที่นายกฯพูดกับนักข่าวอย่างนี้เพราะคิดว่า นักข่าวจะมั่ว ฉะนั้นเอาตามเอกสารที่ผมแจกให้นี่แหละ จะได้ไม่มั่ว ความจริงถ้านายกฯไม่ตอบคำถาม ก็ควรให้รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ที่นั่งเรียงอยู่ตอบแทนก็ได้ แสดงว่า ตอบข้อสงสัยเรื่องนโยบายนี้ไม่ได้ 

...ถ้านายกฯ จะตอบคำถามให้ โปร่งใส กรุณาอย่านึกว่า สื่อไหนเป็นฝ่ายตน หรือไม่ใช่ฝ่ายตน เพราะขณะนี้สื่อเริ่มมีปฏิกิริยาว่า กำลังใช้จะ NBT มาโปรโมทงานรัฐบาลว่า จะมีนายกฯมาตอบคำถาม ก็จะบอกว่า ทุกรัฐบาลล้มเหลวเรี่องนี้มาตั้งนาน ตั้งแต่สมัยรัฐบาล 6 ตุลา 2519 ตอนนั้นมีรายการสนทนาปัญหาบ้านเมือง ออกช่อง 5 รัฐบาลบอกประชาชนว่า ต้องฟังรายการนี้อย่างนี้ และทุกช่องก็ถ่ายทอดสด แต่ประชาชนปิดทีวีหมดเลย และถ้านายกฯตอบโต้ใครใน X (ทวิตเตอร์) ตลอดเวลา ลูกน้องนายกฯก็จะนึกว่า  นายกฯอยากจะซัดคนนั้น คนนี้ ฉะนั้นอาการนี้เป็นอาการนับถอยหลังของนักการเมืองทุกคน 

บทเรียนที่มีค่ามาก คือ ตอนทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ตอนแรกก็ดีกับสื่อทุกคน มาตอนหลังก็แบ่งสื่อ นี่พวกเรา นี่ไม่ใช่ เวลาแถลงข่าว ทักษิณจะชูป้ายถูกให้กับคำถามที่ถูกใจ และป้ายผิดกับคำถามที่ไม่ถูกใจและไม่ตอบคำถาม สื่อที่ทักษิณไม่ชอบ เขาจะไม่เชิญไปทำข่าวภารกิจนายกฯที่ต่างจังหวัดด้วย อันตรายกว่านั้น คือ สั่งรัฐวิสาหกิจ สั่งเอกชน สั่งหน่วยราชการ ห้ามไปลงโฆษณากับสื่อที่วิจารณ์รัฐบาล  

“ผมเชื่อว่าจะมีคนแนะนำอย่างนี้ให้กับรัฐบาล และต่อไปนี้รัฐบาลชุดนี้จะมีการจัด อีเว้นท์เยอะมากและก็จะมีออร์กาไนซ์เซอร์วิ่งมาหาสื่อบางสื่อว่า เราจะจับมือกันเพื่อร่วมกันจัด  ขณะเดียวกันจะมีการเทงบมาให้สื่อที่ได้จัดอีเว้นท์ หรือ ตัดงบมาจากสื่อที่ไม่ชอบรัฐบาลมาทางนี้ นี่คือ อาการคอรัปชั่นที่จะเกิดขึ้น และรัฐบาลนั้นก็จะเริ่มพัง เตือนไว้ก่อนเพราะว่า มันมีอาการอย่างนี้เห็นชัดเจนมาก”  สุทธิชัย หยุ่น ทิ้งท้าย

คุม อสมท /ช่อง 11 ไม่ได้ผล

บรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถ้าจะให้พูดๆตรงตอนนี้คือ รัฐบาลกำลังแทรกแซงสื่อ สิ่งที่รัฐบาลจะทำได้คือ สื่อของรัฐ คือ กรมประชาสัมพันธ์ซึ่งมีหน้าที่ในการเผยแพร่ผลงานของรัฐอยู่แล้ว ส่วน อสมท ตอนนี้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฉะนั้น การแทรกแซงอะไรก็จะไม่สะดวก ประเด็นคือ แม้จะเป็นกรมประชาสัมพันธ์ หรือ  วิทยุแห่งประเทศไทย แต่รัฐธรรมนูญระบุชัดเรื่องเสรีภาพของสื่อ ก็มีข้อยกเว้น "เว้นแต่"  ตรงนี้จึงเป็นช่องว่างสีเทา เช่น ถ้าจะให้วิทยุหรือโทรทัศน์ประเทศไทยถ่ายทอดเป็นอำนาจของรัฐ ก็ทำได้ ขณะเดียวกัน ถ้ามาสู่ตัวรายการว่า ถ้าให้คนที่สัมภาษณ์นายกฯ แล้วให้คำถามว่า ต้องถามอย่างนี้ อันนี้คือ การแทรกแซงสิทธิเสรีภาพ ส่วน อสมท มีลักษณะที่รัฐบาลขอร้องเนื่องจากเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่รัฐสามารถแทรกแซงเอาคนของรัฐมาเป็นกรรมการได้ ตรงนี้รอดูอยู่  ผู้บริหารก็ไม่อยากมีปัญหา ระดับนักข่าวก็ไม่อยากมีปัญหาตามไปด้วย 

“สิ่งที่อยากจะบอก อยากให้รัฐบาลคิดใหม่ อย่าแทรกแซงเพราะไม่ได้ช่วยอะไรเพราะมันไม่ใช่เมื่อก่อนที่มีช่อง 3  5   7  9   11  แต่ปัจจุบันมี 24 ช่องดิจิทัล และ นี่ทำให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างระหว่างรัฐบาลประยุทธ์ กับ รัฐบาลเศรษฐา ใครกันแน่ที่แทรกแซงสื่อ หลังเลือกตั้งปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ไม่ได้เข้ามาแทรกแซงสื่อ เพราะถ้าแทรกแซงมันเป็นข่าวแน่ ปิดพวกเราไม่ได้ แต่รัฐบาลเศรษฐายังไม่ทันไร แค่ 2 เดือนก็เข้ามาแทรกแซง ผลที่เกิดขึ้นรัฐบาลติดลบ”  

บรรยงค์ กล่าวว่า นายกฯจะไปชี้แจงกับสื่อใหญ่บางสำนักก็ไม่ว่าไรและก็ไม่ได้ช่วยอะไรได้  เช่น นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต สื่อก็ไม่สามารถเปลี่ยนทุกอย่างให้รัฐบาลได้  ไม่สามารถฝืนกระแส หรือ ทำให้นโยบายนี้กลับมาถูกต้องได้ อีกอย่าง ไม่ใช่คนในสื่อใหญ่ทุกคนจะเชียร์รัฐบาล เขามีคนเก่าคนแก่ มีสองฝ่าย  คำถามคือ นักข่าวที่เป็นลูกจ้างจะทำอย่างไร ก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด และสื่อมวลชน พวกเราต้องจับมือกันทำสิ่งที่ถูกต้อง

นายกฯเศรษฐาเข้าใจโลกออนไลน์ ตอบโต้ชี้แจงใน X ทวิตเตอร์ตลอด แต่ทำไมถึงเลือกใช้วิธีคุมทิศทางข่าวอย่างที่เห็น ? บรรยง ตอบว่า นายกฯ ยังคิดว่า ตัวเองเป็นซีอีโอของบริษัทอสังหาที่ตัวเป็นเจ้าของอยู่ จึงใช้วิธีการเดิมในการบริหาร สิ่งที่เห็นได้ชัด ตอนที่เศรษฐาบินไปเมืองนอก เขาเกรี้ยวกราดใส่ข้าราชการ กล้องที่ออกอากาศตรงนี้ มันสะท้อนบุคลิกภาพของนายเศรษฐา 

“สิ่งที่เขาถูกเพ่งเล็งว่าจะทำ คือ ซื้อคนสื่อที่เป็นส่วนตัว แต่ประชาชนก็ดูออกจากการรายงานข่าวของสังกัดต่างๆ ว่า เป็นอย่างไร เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นในอดีตแล้ว ถึงขนาดที่ เวลาใครไปเตะนายกฯ  นักข่าวถึงขั้นออกมาปกป้อง ในที่สุดนักข่าวคนนั้นก็ต้องออกจากสื่อใหญ่ และก็อยู่ไม่ได้ เพราะเขาไปเต็มตัว” บรรยงค์ กล่าว