กรรมการจริยธรรม สมาคมนักข่าวฯ ซัดกรรมาธิการ สปท.ใช้โทษจำคุกขู่สื่อไม่มีใบอนุญาต ทั้งที่ร่างกฎหมายผิดหลักรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิมนุษยชน

กรรมการจริยธรรม สมาคมนักข่าวฯ ซัดกรรมาธิการ สปท.ใช้โทษจำคุกขู่สื่อไม่มีใบอนุญาต ทั้งที่ร่างกฎหมายผิดหลักรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิมนุษยชน   ย้ำยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความแน่นอน เสนอ สนช.ทบทวนกฎหมายอำนาจนิยม เป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ขัดแย้งรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ประเด็นกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพ

นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล  กรรมการควบคุมจริยธรรมและที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  กล่าวถึงกรณีพล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้สัมภาษณ์ยืนยันหลักการในร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน  ว่ายังคงมีตัวแทนของรัฐในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ และคงหลักการการออกและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนว่า เป็นเรื่องน่าเสียใจที่คณะกรรมาธิการไม่ยอมเปิดใจรับฟังความเห็นต่าง และยังคงยืนยันใช้แนวคิดแบบ “อำนาจนิยม” ควบคุมสื่อ ซึ่งไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลกมีแนวคิดและกฎหมายในลักษณะเช่นนี้

นายจักร์กฤษ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่น่าตกใจก็คือ การกำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้ที่ประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งในร่างเดิมที่มีการร่างกันมาราว 5- 6 ฉบับ ประเด็นเรื่องการกำหนดโทษนั้น แม้แต่โทษปรับทางปกครอง ก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันว่า สมควรหรือไม่ ที่จะกำหนดโทษทางอาญา ดังนั้น ร่างกฎหมายทุกฉบับ ยกเว้นร่างของกรรมาธิการจึงไม่มีโทษทางอาญา ร้ายแรงที่สุดก็เป็นโทษปรับทางปกครอง ซึ่งก็ยังมีข้อเสนอให้ตัดออกไป และหากดูกฏหมายที่เกี่ยวกับสื่อแม้ในยุคเผด็จการก็ไม่ได้มีบทบังคับโดยตรงกับผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความเห็นของบุคคลเช่นนี้  ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย

“ผมบอกได้แล้วว่า ถ้าจะต้องติดคุก เพราะทำหน้าที่สื่อโดยไม่มีใบอนุญาต ก็ยินดี สื่อมวลชนไม่ใช่อาชญากรรมแต่สื่อมวลชนทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนสังคม เป็นหมาเฝ้าบ้าน และเป็นการทำหน้าที่บนพื้นที่สาธารณะ ซึ่งกฏหมายรัฐธรรมนูญให้การรับรอง ส่วนการที่สื่อมวลชนกระทำความผิดตามกฎหมาย ซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสื่อกว่า 10 ฉบับ และบางฉบับก็มีโทษทางอาญา เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายคุ้มครองเด็ก กฎหมายเหล่านี้สามารถจัดการกับสื่อที่ละเมิดได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีก”

นายจักร์กฤษ กล่าวและว่า 30 องค์กรสื่อภายใต้คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป คงเคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด  และเชื่อว่าจะมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมตีความในประเด็น ใบอนุญาตสื่อมวลชน อันขัดแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสื่อมวลชนและประชาชน นอกจากนั้น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งจะเป็นผู้ตรากฎหมาย จะต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้ผ่านขั้นตอนของรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่กำหนดให้รัฐออกกฎหมายเท่าที่จำเป็น ไม่เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพอีกทั้งเป็นการใช้ระบบอนุญาตและคณะกรรมการเกินความจำเป็นหรือไม่  มิฉะนั้น สนช.ก็อาจจะมีส่วนในการผลักดันกฏหมายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย