มองทะลุปัญหาป่าทับลาน ใครได้ประโยชน์!!

“ในอดีต 50,000 กว่าไร่ ไม่มีแนวขอบเขตไม่มีรั้วรอบขอบชิด หรือแบ่งเป็นโซนชัดเจน ทุกคนรู้ว่าโซนนี้ๆๆๆ แต่ไม่รู้ว่าเอาเข้าจริง 50,000 กว่าไร่ ครอบคลุมถึงพื้นที่ใคร แปลงไหนอย่างไร เมื่ออุทยานแห่งชาติประกาศเป็นเขตอุทยาน จึงมีพื้นที่บางส่วนทับซ้อนกับ ส.ป.ก. เเละกลายเป็นปัญหา”

“มนตรี อุดมพงษ์ ผู้สื่อข่าวรายการข่าว 3 มิติ ช่อง 3” ให้มุมมอง “ความจริงอีกด้าน ปมปัญหา “Saveทับลาน” 2.6 ล้านไร่” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”ว่า ถ้าพูดถึงที่มาของ #SAVEทับลาน 2.6 ล้านไร่ ต้องยอมรับว่าที่ดินแปลงนี้มีความซับซ้อนระดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับพื้นที่ของการจัดตั้งอุทยานทั่วไป แต่ถ้ามีการทำความเข้าใจดีๆ และหาข้อมูลย้อนหลัง พูดคุยกับทั้งตัวบุคคลและข้อมูลที่เป็นเอกสารราชการ สิ่งที่ซับซ้อนก็จะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น 

“ป๋าเปรม ต้องการปลดล็อคปลดคนที่อยู่ในป่า วางอาวุธออกมาพัฒนาประเทศ”

            มนตรี บอกว่า เรื่องนี้เกี่ยวพันกับนโยบายของรัฐมาตั้งแต่ต้น ในการจัดตั้งและพัฒนาพื้นที่วังน้ำเขียว เสิงสาง ปักธงชัย ซึ่งเป็นพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี ของจังหวัดปราจีนบุรี หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองของไทยเมื่อ 40 ปีที่แล้ว คือปี 2518 มีปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในขณะนั้น ที่กำลังคุกคามบีบเข้ามาในสังคมไทย และสิ่งที่ทุกคน คุ้นชินอย่างดีก็คือนโยบาย  66 / 2523

            มนตรี บอกว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีนโยบายปลดล็อคที่ให้ประชาชน ซึ่งเคยต่อสู้กับรัฐไทยในอดีตออกมาต่อสู้ทางความคิด สู่การพัฒนาบ้านเมืองมากกว่าที่จะมาใช้อาวุธปืน  เป็นนโยบายที่ปลดคนที่อยู่ในป่าให้วางอาวุธออกมา ซึ่งเสิงสาง วังน้ำเขียว นาดี สระแก้ว เป็นพื้นที่เคยถูกแนวความคิด ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยรุกคืบเข้ามา เป็นการต่อสู้ทางความคิด

“ใช้ยุทธวิธี แยกปลาออกจากน้ำ-ดึงคนจากพรรคคอมมิวนิสต์”

            มนตรี บอกว่า ฉะนั้นรัฐไทยจึงพยายามต่อสู้เอาชนะ พื้นที่ไหนเหมือนเป็นพื้นที่ห่างไกล ที่รัฐเข้าไปไม่ถึงก็จะถูกสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ เข้ามาปลุกระดมและมีการชักจูงโน้มน้าว ให้ไปเป็นพันธมิตรเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งรัฐไทยก็บอกว่ายอมไม่ได้ที่จะให้ทำแบบนั้น จึงต้องเร่งให้มีการพัฒนาโดยดึงมวลชนกลับมา โดย “แยกปลาออกจากน้ำ

             มนตรี บอกว่า เป็นเหตุผลหนึ่งของการดึงเอาชาวบ้าน 2-3 หมู่บ้านที่เคยอยู่ในพื้นที่ อิทธิพลทางความคิดของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งอยู่อาศัยในพื้นที่ของคนที่มีอิทธิพล มีอำนาจทางความคิดของพรรคคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันคือ“หมู่บ้านไทยสามัคคี”ที่ตำบลไทยสามัคคีที่เราเห็นเป็นประเด็นข่าวอยู่ริมถนนสาย 304 ปักธงชัย-นาดี เส้นอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี 

“นโยบายรัฐในอดีต ดึงมวลชนออกจากป่า” 

            มนตรี บอกว่า ตั้งแต่ปี 2518 รัฐที่มีนโยบายจะดึงมวลชนออกจากป่า โดยปี 2519ให้เข้ามามีการพัฒนาชุมชนอย่างหลากหลาย ซึ่งนโยบายการตั้งอุทยานแห่งชาติเป็นหนึ่งในนั้น ในปี 2524 มีการตั้งอุทยานแห่งชาติทับลาน เพื่อให้ผู้คนได้ดูแลผืนป่าตรงนี้ และให้หน่วยงานรัฐเข้าไปถึง แต่ก่อนที่จะมีการตั้งอุทยาน สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือส.ป.ก. ได้จัดสรรให้ชาวบ้านไปอยู่แล้วราว 50,000 กว่าไร่ โดยให้ชาวบ้านกลุ่มนี้เป็นหลักตรงนี้ส่วนหนึ่ง กับกลุ่มที่มาอยู่เพราะมีการโยกย้ายในนโยบายผิดกฎหมาย ให้มาอยู่โดยส.ป.ก. เป็นฝ่ายจัดสรรที่ดินทำกินแล้วจัดสรรให้ประมาณ 50,000 กว่าไร่ครอบคลุม พื้นที่ตำบลไทยสามัคคี

“ปัญหาเกิดจากพื้นที่ทับซ้อน-ตราเป็นกฎหมาย ต้องเป็นพระราชกฤษฎีกา ” 

            “ในอดีต 50,000 กว่าไร่ ไม่มีแนวขอบเขตไม่มีรั้วรอบขอบชิด หรือแบ่งเป็นโซนชัดเจน ทุกคนรู้ว่าโซนนี้ๆๆๆแต่ไม่รู้ว่าเอาเข้าจริง 50,000 กว่าไร่ ครอบคลุมถึง พื้นที่ของฉันหรือไม่ หรือครอบคลุมของพื้นที่ใคร แปลงไหนอย่างไร เมื่ออุทยานแห่งชาติมาประกาศเป็นเขตอุทยาน จึงมีพื้นที่บางส่วนทับซ้อนอยู่กับส.ป.ก. ตรงนี้เลยกลายเป็นปัญหา แต่มีการพยายามที่จะรังวัดแนวเขตใหม่ระหว่าง ส.ป.ก.กับอุทยานให้ชัดเจน ทำมาแล้วหลายปีก่อนหน้าที่จะเป็น “One Map” ก็มีการสำรวจรังวัดมาแล้วหลายรอบ

            มนตรี บอกว่า ส่วนขบวนการทางกฎหมาย ต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ว่าที่สำรวจกันมา ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายจนตราเป็นกฎหมาย จึงจะเรียกว่าได้รับการยอมรับที่แท้จริง แต่ที่ผ่านมายังไม่ถึงขั้นตอนสุดท้าย ใบสำรวจรังวัดก็เก็บไว้ในแฟ้ม และในระหว่างที่เก็บอยู่ในแฟ้ม เพื่อรอขั้นตอนเป็นช่วงที่คนภายนอก เข้าไปอยู่ในตำบลไทยสามัคคีและพื้นที่ใกล้เคียงมากยิ่งขึ้น พื้นที่ที่เคยเป็นข้อพิพาทรื้อสำรวจรังวัดไปแล้ว แต่ยังไม่ถูกตราเป็นกฎหมาย ก็ถูกบุกรุกเพิ่มเติมจาก 50,000 กว่าไร่กลายเป็นนับแสนไร่ในทันที  ฉะนั้นที่สำรวจรังวัดกันไว้จึงถือว่าใช้ไม่ได้แล้วเพราะไม่ update แล้ว

“ให้ยึดแผนที่ปี 2543 เป็นหลัก -ปมมาจากถือแผนที่คนละฉบับ” 

            มนตรี บอกว่า จนกระทั่งการสำรวจล่าสุดปี 2543 เป็นปีที่ทุกฝ่ายลงไปสำรวจร่วมกัน แต่ก็มีการร้องเรียนกันเป็นจำนวนมาก ปี 2543 จึงไปสำรวจใหม่ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ ( สคทช.) โดยคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ บอกว่าประเทศไทยมีปัญหาเยอะมากเรื่องที่ดิน เพราะต่างฝ่ายต่างถือแผนที่คนละฉบับ เช่นห้วยปลากั้ง ที่ฝั่งเขาใหญ่ในอำเภอปากช่อง เมื่อต้นปีซึ่งส.ป.ก.พยายามจะออกโฉนดมา แต่มีข้อทับซ้อนหรือมีข้อพิพาทกับกรมอุทยาน ตรงนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่ามีปัญหาเรื่องแผนที่ เพราะทหารก็ถือแผนที่ฉบับหนึ่ง , ส.ป.ก.ถือแผนที่ฉบับหนึ่ง ,กรมที่ดินก็ถือแผนที่อีกฉบับหนึ่ง , ป่าไม้ถืออีกฉบับหนึ่ง , อุทยานฉบับหนึ่ง One Map จึงบอกว่าถ้ายังงั้นรวมกันให้มาเป็นหนึ่ง ทั้งประเทศถือแผ่นเดียวกัน 

            “สำหรับฝั่งทับลานได้ข้อสรุปว่า เราจะเอาแผนที่ที่สำรวจปีไหน เพราะมีการสำรวจหลายครั้ง ที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดินก็เคยลงไป หลายหน่วยงานก็เคยลงไป ทุกคนเสนอว่าให้เอาแผนที่ที่สำรวจใหม่ในปี 2543 เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.) รับทราบว่าเราจะยึดแผนที่ปี 2543 นี้ แผนที่ฉบับก่อนหน้านี้หรือหลังจากนี้เราไม่เอา ซึ่งที่ประชุม ครม.วันที่1 มีนาคม 2562 จึงรับรองและเห็นชอบให้ใช้แผนที่ ที่สำรวจเมื่อปี 2543 เพราะ ครม.ถือว่ามีอำนาจชัดเจนทางกฎหมาย

“ให้ทุกฝ่ายยึดมติครม.ปี 43 เป็นหลัก”

            มนตรี บอกว่า เวลาพูดถึงเรื่องนี้ต้องพูด 2 ประเด็นคือ 1.การสำรวจ 2543 เป็นประเด็นสำคัญเพราะเป็นต้นน้ำ และที่ประชุม ครม.รับรองการสำรวจปี 2543 เพราะถ้า ครม.ไม่รับรองก็ใช้ไม่ได้ จึงเกิดการทักท้วงของฝั่งอุทยานว่า โดยกฎหมายแล้วอุทยานไม่มีสิทธิ์ทำอะไรได้ เพราะ ครม.มีมติแล้ว ส่วนสิ่งที่อุทยานต้องทำ คือ รับฟังความคิดเห็นเพราะการแบ่งแผ่นดิน หรือการประกาศเขตอุทยานใหม่ ตามภาษากฎหมายไม่ว่าจะกี่ตารางเมตรก็ตาม แต่ตรงนี้พื้นที่ 2.6 แสนไร่ที่จะหายไป มีพื้นที่อุทยาน 1,000,000 กว่าไร่ 

            มนตรี บอกว่า อุทยานจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็ต้องทำตามมติ ครม. คือ มีการรับฟังความคิดเห็น เพราะ ครม.มีมติไปแล้ว จึงเกิดประเด็นที่ว่าคนก็คิดว่า 2.6 แสนไร่ ต้องมีสภาพเป็นป่าเป็นภูเขาป่าทึบทั้ง 200,000 กว่าแปลง แต่ในความเป็นจริง 200,000 กว่าไร่ มีบ้านไทยสามัคคีอยู่ด้วย และมีแปลงที่ ส.ป.ก.ออกโฉนดรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกันก็มีแปลงที่บุกรุกใหม่เกือบ 100,000 ไร่รวมอยู่ด้วย

“กระแส Saveทับลาน มี 2 มุม” 

            มนตรี บอกว่า กระแสเซฟอุทยานกลายเป็น 2 มุมคือ เซฟทับลานเพราะไม่ต้องการที่จะออกจาก 2.6 แสนไร่ ทั้งหมดทุกแปลง ขณะเดียวกันปฏิกิริยาอีกฝั่งหนึ่งบอกว่า การที่คุณไปเซฟทับลานดูให้ดี อุทยานก็ไปทับที่เขาเหมือนกัน เรื่องนี้ไม่สามารถคุยแบบแยกส่วนได้ เวลาจะพูดว่าเซฟทับลาน แล้วหมายถึงเซฟทับลานทั้งหมดอย่างนี้ ไม่ได้รับความเป็นธรรมแน่ สำหรับชาวบ้านที่อยู่มาก่อน คือ ตำบลไทยสามัคคี

            มนตรี บอกว่า ถ้าใครที่บอกว่าคัดค้านนโยบายเซฟทับลาน ยังไง 2.6 แสนไร่ ก็ต้องกันออกให้เป็น One Map ทั้งหมด ประชาชนจึงจะได้ประโยชน์ ต้องไม่ลืมว่าคนที่ไม่ใช่เป็นประชาชนดั้งเดิม แต่มีคนที่เป็นนายทุนไปอยู่ภายหลัง ฉะนั้นต้องแยกสัดส่วนกันเวลาเราพูดถึงนายทุน เราคงไม่ได้หมายถึงตัวลูกหลานของเกษตรกร ที่ทำไร่นาสวน มีการศึกษาเติบโตมามีรายได้ มีเงินมากพอที่จะไปสร้างบ้าน คงไม่มีใครอยากให้พ่อแม่อยู่กระท่อมกลางนา อากาศร้อนไม่มีแอร์ เขาก็อยากสร้างบ้านใหญ่โตสมกับฐานะของเขา

  “บอร์ดกรมอุทยานฯรู้ข้อมูล แต่ไม่มีสิทธิ์ชี้ขาด เหตุ เป็นมติ ครม.ไปแล้ว - ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมี 3 กลุ่ม”       มนตรี บอกว่า ขณะที่ต้องไม่มองว่า เกษตรกรเป็นคนยากจนเท่านั้น ตำบลไทยสามัคคีต้องมีคนที่เป็นกระท่อมชาวนาเท่านั้น เพราะ 40 ปีมาแล้ว ชาวบ้านก็ควรจะพัฒนาขึ้น จะมองเฉพาะภาพลักษณ์ภายนอกไม่ได้ เราก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นไปไล่เรียงเรื่องที่มาที่ไปได้หรือไม่ ซึ่งกรมอุทยานมีข้อมูลอยู่แล้ว ที่คุณจับชาวบ้านไปแล้ว 400 หรือ 500 หรือ 1,000 กว่าคดี มีใครบ้างและนำข้อมูลเหล่านั้นมา defend กัน 

            มนตรี บอกว่า ขณะนี้เป็นขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งดำเนินการโดยกรมอุทยาน ยังมีอยู่อีกหลายขั้นตอนโดยเฉพาะขั้นตอนสำคัญคือ นับจากนี้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ จะต้องนำเสนอข้อมูลว่าผลการรับฟังข้อมูลจากประชาชน มีประชาชนไม่เห็นด้วยอย่างไร ซึ่งคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ มีความคิดเห็นแบ่งออกเป็น 3กลุ่ม คือ 1.ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง คือ ชาวบ้านไทยสามัคคีและกลุ่มคนที่อยู่ในข่ายได้รับการอนุญาตจัดสรรที่ดินให้

            มนตรี บอกว่า 2. กลุ่มชุมชนที่เกี่ยวข้อง เช่น อาศัยอยู่ในตำบลไทยสามัคคี แต่ไม่ได้อยู่ในประเด็นข้อพิพาท ว่าอยู่นอกเขตหรือในเขตมีส่วนได้เสีย แต่เกี่ยวข้องในทางอ้อมคืออยู่ในเขตพื้นที่เดียวกัน 3.ประชาชนทั่วไปอาจมีส่วนแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำเสนอต่อบอร์ดของกรมอุทยาน และอุทยานก็นำข้อมูลเหล่านี้ไปเสนอต่อ คณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ ( คทช.) ว่ายังจะเดินหน้าอยู่หรือไม่ 

            มนตรี บอกว่า โดยนัยยะการพิจารณาน่าจะแตกต่างกัน เพราะเป็นความเห็นของคนทั่วไป กับความเห็นของคนในพื้นที่ และเรื่องนี้มีความซับซ้อน ฉะนั้นคนที่อยู่ในพื้นที่ย่อมมีความเข้าใจ และได้รับผลกระทบไม่ว่าบวกหรือลบ มากกว่าคนที่อยู่นอกพื้นที่ ซึ่งบอร์ดอุทยานแห่งชาติ ไม่มีสิทธิ์ชี้เป็นชี้ขาดเพราะเป็นมติ ครม.แล้ว แต่อุทยานมีน้ำหนักที่จะนำเสนอหากเห็นด้วย ก็อาศัยจำนวนคนที่โหวต หรือถ้าไม่เห็นด้วยก็อาศัยจำนวนคนที่โหวตไปชั่งน้ำหนักเป็น Black up ให้ตัวเองแล้วเสนอ คทช. ซึ่งนับจากเที่ยงคืนของ วันที่ 12ก.ค.เป็นต้นมา ซึ่งโจทย์จะไปอยู่ที่ คทช.ว่าจะเอาอย่างไร แล้วจะนำเสนอข้อมูลนี้เดินหน้าต่อ ครม.หรือไม่ หรือจะเสนอเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ ซึ่งทิศทางที่ชัดเจน คือ รอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับอธิบดีกรมอุทยานจะนำข้อมูลนี้ เข้าบอร์ดกรมอุทยานภายใน 30 วัน

“อุทยาน ลั่น ไม่มีปัญหากับชาวบ้านไทยสามัคคี” 

            มนตรี บอกว่า พื้นที่ใหม่ที่กันออก 2.6 แสน ไร่จะมีทั้งคนที่มี ส.ป.ก. มีเอกสารสิทธิ์ที่อยู่ในมืออยู่แล้ว และบางคนก็บอกว่ามี สค.1 บางคนก็บอกว่ามี ภ.บ.ท.5 และบางคนก็บอกว่ามี ส.ป.ก.เหมือนกัน แต่อุทยานบอกว่าเป็น ส.ป.ก.ปลอม รวมถึงไม่มีเอกสารอะไรเลย ดังนั้น 2.6 แสนไร่ ถ้าเกิดว่าเป็นไปตามมติ ครม. สมมุติว่าการเซฟทับลานคัดค้านไม่เป็นผล เดินหน้าต่อไปในการกัน 2.6 แสนไร่เป็นพื้นที่ One Map ชาวบ้านก็ทำกินต่อไป อุทยานจะเสียพื้นที่ดังกล่าวนี้ออกไป

            มนตรี บอกว่า อำนาจขอบเขตกฎหมาย อุทยานจะไม่สามารถนำมาบังคับใช้ ใน 2.6 แสนไร่นี้ได้แล้ว ถ้าหาก One Map เดินหน้าต่อ ซึ่งอุทยานฯบอกว่าไม่มีปัญหากับชาวบ้านไทยสามัคคี ที่อยู่มาแล้ว 50,000 กว่าไร่ แต่อุทยานฯมีปัญหากับคนมาภายหลังและ 2.6แสนไร่ก็เป็นที่อุทยานด้วย เขาเรียกว่า “ส.ป.ก.บวม” หรือ “ส.ป.ก.ลอย”หรือ “ส.ป.ก.บิน” มีข้อตกลงกันอยู่เรื่องนี้ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าใครมองภาพต่อไป 2.6แสนไร่ Save ไม่สำเร็จก็กลายเป็นพื้นที่ที่คนอื่นทำกิน ซึ่งคนอื่นนี้ก็จะอยู่ในกลุ่มที่กล่าวมาข้างต้น คือ ราษฎรที่ส่วนหนึ่ง ชาวบ้านแท้ๆส่วนหนึ่ง บุกรุกส่วนหนึ่งที่อยู่ในแปลง 2.6 แสนไร่ และสิ่งที่หายไปก็คือพื้นที่อุทยาน

“แนะทางออก ไม่สำรวจใหม่ทั้งหมด-ยึดมติ ครม.43” 

            ทางออกของปัญหาเรื่องนี้ มนตรี บอกว่า มุมส่วนตัวของผมคิดว่าเรื่องนี้วิธีคิดของผมค่อนข้างที่จะใช้กำลังคน และกำลังทรัพย์และเวลา คือถ้าปี 2543 เป็นแผนที่ที่ยึดถือไว้แล้ว ครม.รองรับไปแล้ว เหลือแค่เพียงทำข้อมูลให้ชัดเจน ผมคิดว่าต้องสำรวจใหม่ตามแผนที่ 2543 ซึ่ง ครม.เห็นชอบ 2.6 แสนไร่ ที่จะกันออกแท้ๆ เป็นที่ของหมู่บ้านไทยสามัคคีจริงกี่แสนไร่ และเป็นพื้นที่บุกรุกใหม่กี่ไร่ แล้วที่บุกรุกก็คืนอุทยาน ส่วนที่เป็นของชาวบ้านก็ยังคงอยู่ในOne Map ต่อไป 

            มนตรี บอกว่า ฉะนั้น 2.6 แสน ไร่ก็จะลดจำนวนลง เช่น จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะ กันออกเป็น One Map ก็อาจจะเหลือ 100,000 กว่าไร่ อีก 100,000 กว่าไร่ ก็เป็นอุทยานไป วิธีนี้จะทำให้ยอมรับได้ แต่วิธีดังกล่าวของผมนี้ต้องใช้เวลา เพราะ 1. ใครจะมาเดินสำรวจได้ครบ 2. งบประมาณมาจากไหนในการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ แบบนี้จะทำให้แม้ใช้เวลา แต่ก็ชัดเจนกว่า

            ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2567 เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ร่วมกับ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5​