รายงานพิเศษ
โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
---
สมาชิกวุฒิสภา 200 คนชุดใหม่ เข้าทำงานอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางข้อร้องเรียนการคัดเลือกกันเองเพื่อมาเป็น สว. เกิดปัญหามากมาย โดยเฉพาะคุณสมบัติผู้สมัครไม่ตรงปก ไม่สะท้อนเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ “ราชดำเนิน”พูดคุยกับ สว.กลุ่ม 18 สายสื่อสารมวลชนถึงมุมมองปัญหาสื่อและสิ่งที่อยากผลักดันเมื่อได้เข้าเป็น สว. ตลอดจนเสียงวิจารณ์ว่า สว.กลุ่มสื่อ 10 คน บางรายไม่ได้เป็นสื่ออาชีพ ไม่ได้เป็นตัวแทนสาขาวิชาชีพอย่างแท้จริง
อย่าทิ้งสตริงเกอร์ตามยถากรรม
ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สมาชิกวุฒิสภา วัย 68 ปี นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สว.สายสื่อที่ได้รับเลือกมีความหลากหลาย ยอมรับบางส่วนอาจไม่ตรงปก แต่เท่าที่ได้คุยกับบางคนก็ทำหน้าที่สื่อชาวบ้าน มีความรู้ มองเห็นปัญหาสื่อเหมือนกันเพียงแต่ไม่ได้ทำหน้าที่สื่ออาชีพอย่างเรา แต่จะมองว่าเขามาแบบไม่รู้เรื่องเลยไม่ได้ เพราะอย่างน้อยเขาก็เคยเป็นสื่อมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประชาสัมพันธ์โรงพยาบาล เขาอาจมีความรู้ในบางเรื่องที่เราไม่มี แต่ในฐานะเป็น สว.สายสื่อสารมวลชนที่อาวุโสสุดจะทำหน้าที่เชื่อมประสานให้ สว.สายสื่อ มีทิศทางที่ไปด้วยกัน
เป้าหมายของไชยยงค์ที่จะผลักดัน คือ การเป็นปากเสียงสะท้อนปัญหาของสื่อภูมิภาค ที่เขามองว่า องค์กรต้นสังกัดส่วนกลาง ทอดทิ้ง ไม่ดูแล สวัสดิการ รายได้ ปล่อยให้สื่อภูมิภาคอยู่อย่างยถากรรม
“อาชีพผู้สื่อข่าวภูมิภาคของเราเหมือนคนทำงานจิตอาสา ถ้าคนไหนไม่มีอาชีพเสริม คนนั้นก็อยู่ไม่ได้ และอาจออกนอกลู่นอกทางเกิดปัญหาจริยธรรม จรรยาบรรณ ปัญหาตอนนี้มาจากส่วนกลางตัดลดงบค่าใช้จ่าย สตริงเกอร์แทบทั้งหมด”
การทำงานของสื่อภูมิภาค ปัจจุบัน 95% ทำหน้าที่เป็นสตริงเกอร์ให้กับสำนักข่าวหลักในกรุงเทพ ถ้าข่าวไหนทำแล้วออกอากาศวิทยุ ทีวี หรือตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ก็จะได้ค่าตอบแทน ส่วนข่าวไหนที่ทำไปแล้ว แต่ถ้าส่วนกลางไม่ให้ความสนใจเท่ากับจะไม่ได้ค่าตอบแทน ยกเว้นข่าวที่ส่วนกลางกำหนดให้ทำจริงๆ ซึ่งก็น้อยมาก ทำให้สื่อภูมิภาคของประเทศเป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่พอเลี้ยงตนเอง ทั้งที่มีความรับผิดชอบที่ค่อนข้างมากเพราะไม่สามารถรู้ได้ว่า ข่าวไหนที่ตัวเองส่งไปแล้วจะได้รับความสนใจจากส่วนกลางที่ตัวเองเป็นต้นสังกัดอยู่
ไชยยงค์ยังเป็นนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยอีกตำแหน่งและหัวหน้าศูนย์ข่าวเดลินิวส์ภาคใต้ตอนล่างมีความเชี่ยวชาญงานด้านความมั่นคงใน 3 จังหวัดภาคใต้ สะท้อนด้วยว่า สวัสดิการสื่อท้องถิ่นวันนี้เหมือนย้อนกลับสมัยเมื่อเขาเป็นนักข่าวใหม่ๆ ปี 2517 ตอนนั้นค่าข่าวเดือนหนึ่งได้ประมาณ 250 บาท สูงสุดไม่เกิน 700 บาท แต่ปัจจุบันค่าตอบแทนที่ควรเป็นคือ 15,000- 20,000 บาทต่อเดือน วันนี้เหลือแค่หลักพัน สตริงเกอร์คนนึงจึงต้องทำให้หลายสำนัก เช่น ทำข่าวทีวีหลายช่อง บางคนเป็นผู้สื่อข่าวทีวีดิจิตัล 6 ช่อง หรือ 3 ช่อง ได้ข่าวมาข่าวเดียว แต่ใช้เวลาตัดต่อและส่งเกือบครึ่งวัน เพราะถ้าส่งข่าวแล้ว แต่บางช่องไม่ออก อีกช่องอาจจะออกก็ได้ อย่างน้อยก็วัน 500 บาทก็พออยู่ได้ ปัญหาวันนี้ต้นสังกัดหยิบข่าวพลเมืองไปเล่น ไม่ต้องให้สตริงเกอร์ไปหาข่าว เพื่อลดค่าใช้จ่ายของส่วนกลางลง ซึ่งการดูแลนักข่าวในสังกัดเป็นเรื่องสำคัญ อาจไม่เท่าผู้สื่อข่าวส่วนกลางไม่เป็นไร ขอเพียงครึ่งเดียวก็ยังดี อย่าปล่อยเขาตามลำพัง โดยไม่รับผิดชอบ
อีกปัญหาที่ส่วนกลางไม่ให้ความสนใจ คือ การพัฒนาวิชาชีพของผู้สื่อข่าวในสังกัดตัวเอง
“ผมอยู่ในวงการนี้มา 40 ปี มีแต่ว่า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ หรือ สมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์ภาคใต้ที่ผมเป็นนายกสมาคมฯอยู่ ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากสถาบันต่างๆ ผ่านทางสภาการหนังสือพิมพ์บ้าง หรือ มูลนิธิต่างๆ บ้าง เพื่อนำมาพัฒนาวิชาชีพให้กับคนข่าวภูมิภาค ขณะที่ส่วนกลางไม่ได้สนใจพัฒนาคนของตัวเองให้มีความรู้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวิชาชีพ
...นอกจากนี้ ต้นสังกัดส่วนกลาง ไม่ได้มองถึงสวัสดิการของผู้สื่อข่าวในพื้นที่ เช่น ใน 3 จังหวัดภาคใต้ เช่น เมื่อผู้สื่อข่าวได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ได้รับผลกระทบจากการไปทำข่าวสถานการณ์ที่เกิดความรุนแรง แต่บริษัทก็ช่วยเหลือบ้างเล็กน้อย เป็นการช่วยลักษณะทำประกันชีวิตกับบริษัท ไม่ให้ให้ความสนใจสวัสดิการของนักข่าว หรือ ครอบครัวเขา”
กอ.รมน.จ่ายเงินเดือนนักข่าว
เขาย้ำว่า สื่อภูมิภาคกำลังกลับไปสู่ยุค 40-50 ปีที่แล้ว คือ ทำงานหนักแต่ได้เงินน้อย ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ ก็หนีไม่พ้นที่ผู้สื่อข่าวของพวกเราจะไปทำมาหากินในสิ่งที่ไม่เป็นปกติ อาจไปรับเงินจากหน่วยงานรัฐ เช่น ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าจะช่วยเหลือผู้สื่อข่าวที่เสนอข่าวทางบวก หรือประชาสัมพันธ์ให้กับ กอ.รมน. ด้วยการจ่ายเงินเดือนให้ 4,500 บาท ซึ่งเงินนี้ก็มาจากราชการที่จ่ายให้กับหน่วยข่าวในพื้นที่
“วันนี้การออกไปทำข่าวของผู้สื่อข่าวนสพ. วิทยุ โทรทัศน์ จะต้องได้รับการสนับสนุนจะต้องได้รับการสนับสนุนจากเจ้าของงาน เช่น กอ.รมน. มีงานแถลงข่าว เขาก็ต้องแจกซองให้ค่าน้ำมันกับผู้สื่อข่าว มิฉะนั้น ผู้สื่อข่าวก็จะไม่ไปแล้ว เพราะต้นสังกัดวันนี้ตัดเงินค่าใช้จ่ายของผู้สื่อข่าวภูมิภาคหมดแล้ว ต่างจากแต่ก่อนที่จะมีการดิสรัปในวงการนสพ. เขาก็มีเงินจ่ายค่าน้ำมัน เบี้ยเลี้ยง ค่าข่าว ยิ่งหลังโควิด ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป ค่าน้ำมันรถสำหรับข่าวในพื้นที่ที่ทำงานหนัก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บางคน บางสำนัก จากที่เคยได้ค่าน้ำมันรถเดือนละ 4,000 บาท ก็เหลือแค่ 1,000 บาท
...ขณะที่เหตุการณ์ความไม่สงบยังเกิดต่อเนื่อง ผู้สื่อข่าวต้องใช้รถ ใช้น้ำมันไปที่เกิดเหตุ และไปโดยที่ไม่รู้ข่าวข่าวที่นำเสนอได้ออกอากาศหรือตีพิมพ์หรือไม่ และถ้าได้ออกอากาศ เช่น สตริงเกอร์ทีวี ก็ได้ค่าข่าวชิ้น 300 บาท แต่ถ้าทำแล้วไม่ได้ออกก็ไม่ได้ค่าอะไรเลยทั้งค่าเสียเวลา ค่าน้ำมันรถ เป็นการทำแล้วศูนย์เปล่า ฉะนั้นวันนี้ เวลาส่วนราชการเชิญผู้สื่อข่าว เขาก็ต้องช่วยเหลือค่าน้ำมันให้ผู้สื่อข่าวด้วย ถ้าอยู่พื้นที่ใกล้ๆ ก็ครั้งละ 500 บาท ถ้าพื้นที่ไกล 1,000 บาท มิฉะนั้นผู้สื่อข่าวก็ไม่ไป นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น”
ไม่แต่ส่วนราชการที่แจกซอง ไชยยงค์ บอกว่า การเมืองท้องถิ่นก็เช่นกันถ้าเรียกผู้สื่อข่าวไปทำข่าว เขาก็จะใส่ซองเป็นค่าน้ำมันรถให้ ส่วนตัวเคยสั่งห้ามผู้สื่อข่าวอย่ารับเงินเพราะรับแล้วเราก็ไม่อิสระ แต่มายุคหลังที่ต้นสังกัดตัดเงินผู้สื่อข่าวแทบหมด ก็ไม่สามารถไปห้ามปรามได้ยกเว้นผู้สื่อข่าวที่เขามีอาชีพอื่นเป็นอาชีพหลักและเลี้ยงตัวได้ เขาอาจปฏิเสธไม่รับเงินช่วยเหลือ และก็สามารถเลือกงานที่จะไปได้
หาโฆษณายาก/พึ่งธุรกิจสีเทา
ไชยยงค์ กล่าวว่า ปัจจุบัน นสพ.ท้องถิ่น แปรสภาพเป็น นสพ.ออนไลน์ไปหมดแล้ว นี่เป็นพัฒนาการที่ดีสำหรับคนนสพ.ท้องถิ่น เพราะเขาสามารถปรับตัวจากนสพ. มาเป็นออนไลน์ อย่างน้อยก็รายงานได้ทันเหตุการณ์ ต่างจากอดีต นสพ.ท้องถิ่นออกรายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน แต่ก็มีข้อเสีย เพราะไม่มีใครมาพัฒนาวิชาชีพให้เขา ปัญหาคือ สิ่งที่เขาทำในสื่อออนไลน์ไม่ตอบโจทย์เหมือนกับเอาข่าวในนสพ.ท้องถิ่น หรือ ข่าวแจกราชการ มาลงในออนไลน์ตัวเองมันไม่มีอะไรที่น่าสนใจ ทันสมัย
แล้วสื่อท้องถิ่นหารายได้จากโฆษณาของส่วนราชการ หรือเอกชนได้มากน้อยแค่ไหน? …ไชยยงค์ ตอบว่า ในภูมิภาคหาโฆษณายากและอยู่ไม่ค่อยรอด เพราะภูมิภาคเป็นธุรกิจครอบครัว ไม่ต้องพึ่งพาการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่เขาช่วยเหลือ เพราะสนิทสนมส่วนตัว ไม่ได้เห็นความสำคัญกับการเป็นสื่อ ซึ่งมันทำให้เราไม่มีคุณค่าในสายตาสังคม
“ภูมิภาคไม่มีสปอนเซอร์เจ้าใหญ่เหมือนในเมือง มันจึงกลับสู่รูปแบบเดิมๆ ไปสวัสดียกมือไหว้ขอให้เขาสนับสนุนเป็นรายเดือน สุดท้ายหนีไม่พ้นต้องไปประชาสัมพันธ์กับผู้ที่อยู่ในเครือธุรกิจสีเทา นี่คือเรื่องน่าหนักใจสำหรับนักข่าวภูมิภาค ผมเป็นผู้นำองค์กรก็จริงแต่พูดอะไร ไม่ได้ อยู่แบบน้ำท่วมปาก ถ้าพูดมาก ออกระเบียบมาก แต่เราก็ไม่ได้ช่วยให้เขามีกิน เขาต้องเอาตัวรอดของเขาในยุคที่เศรษฐกิจอย่างนี้ด้วย”
ข้อเรียกร้องอยู่อย่างมีเกียรติ
สว.สายสื่อฯ สรุปข้อเรียกร้อง 1. อยากให้ต้นสังกัดส่วนกลางให้ความสำคัญกับการคัดเลือกคนมาเป็นสื่อ ไม่ใช่ส่งให้เขาลงมาสัมภาษณ์อย่างเดียว เพราะเขาไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น 2.ส่งเสริมพัฒนาอาชีพเพื่อให้เขารู้ว่า อาชีพนี้มีเกียรติ ศักดิ์ศรี 3. เรื่องสวัสดิการต้องปรับปรุงดูแลให้วิชาชีพสื่อเป็นสัมมาอาชีวะที่เลี้ยงตัวได้ มิฉะนั้นเราจะพูดเรื่องยกระดับผู้สื่อข่าวหรือจรรยาบรรณไม่ได้เลยเพราะตราบใดที่ท้องเขาหิว จรรยาบรรณก็ไม่มี
“แม้ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป แต่ทุกวันนี้ผู้สื่อข่าวภูมิภาคไม่ได้ลดจำนวน มีสื่อใหม่เกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะสื่อออนไลน์หลายคนผันตัวไปทำออนไลน์เป็นช่องของตัวเอง ไม่ก็ทำให้คนอื่น แต่มันต้องใช้ความรู้ แต่งานที่เขาผลิตออกมาวันนี้ ส่วนหนึ่งไม่มีคุณภาพ เป็นข่าวดาษๆ ไม่มีจุดน่าสนใจ
... วันนี้ผู้สื่อข่าวรุ่นใหม่ ทำข่าวด้วยหน้าที่ที่จะต้องทำ รายงานข่าวผิวๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เขาจะไม่รับรู้ เช่น ผมดูพัฒนาการของนักข่าว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายคนอยู่ในสนามข่าวมา 20 ปี แต่ก็ไม่รู้ว่า บีอาร์เอ็นเป็นอย่างไร โครงสร้างของขบวนการแบ่งแยกดินแดนเป็นอย่างไร ความล้มเหลวของ กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้าที่แก้ปัญหาชายแดนภาคใต้คืออะไร เขาไม่ได้สนใจเลย สนแต่ว่า เหตุเกิดวันนี้มีคนตาย เจ็บกี่คน มีระเบิดตรงไหน รายงานเสร็จก็จบ ถ้าชวนเขาคุยเรื่องปัญหาที่เป็นรากเหง้าในการดับไฟใต้เขาตอบไม่ได้ เขาบอกว่า ไม่รู้จะสนใจทำไม เพราะต้นสังกัดไม่ได้สนใจเรื่องอย่างนี้”
ไชยยงค์ ยืนยันว่า แม้อุตสาหกรรมสื่อจะเปลี่ยนไปอย่างก้าวกระโดด แต่ยังมีความจำเป็นที่ต้องมีสื่อภูมิภาค เขาคือ ไฟฉายที่ส่องไปยังซอกหลืบในสังคมที่คนมองไม่เห็นและเป็นซอกหลืบแห่งความอัปลักษณ์ ที่สำคัญข่าวที่ออกจากข่าวพลเมืองเป็นข่าวที่ยังไม่ได้กรองไม่รู้เท็จจริงเป็นอย่างไร และข่าวที่ส่วนกลางต้องการ บางเรื่องหาไม่ได้จากนักข่าวพลเมือง
ดันกม.สกัดฟ้องปิดปาก
เทวฤทธิ์ มณีฉาย สว.สายสื่อ อายุ 40 ปี อยู่ในวงการสื่อมา 12 ปีกับสำนักข่าวประชาไท เริ่มด้วยการเป็นนักข่าวพลเมือง และตำแหน่งสุดท้ายก่อนสมัคร สว. คือ บรรณาธิการบริหารของสำนักข่าวแห่งนี้ เขามองเสียงวิจารณ์ สว.ไม่ตรงปกว่า เมื่อ รธน.และกฎหมายเลือกสว. ออกแบบมาว่า “กลุ่มสาขาสื่อสารมวลชน วรรณกรรม และอื่นๆ” คำว่า “อื่นๆ” จึงเปิดช่องให้ คนที่สมัครเป็น สว. ไม่ใช่ดูแค่เรื่องวิชาชีพสื่อโดยตรง แต่สามารถใช้คุณสมบัติ ประสบการณ์ การทำงานที่อาจจะเกี่ยวข้องสื่อเข้ามาได้หมด จึงไม่สามารถตอบโจทย์ได้ว่า เป็นตัวแทนอาชีพได้ แต่ส่วนตัวไม่มีปัญหากับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม คิดว่า คงเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ที่ใช้ระบบที่มา สว.แบบนี้ อาจต้องแก้รธน. หรือไม่ก็แก้ กฎหมายเลือก สว.ในอนาคต
เทวฤทธิ์ บอกว่า อยากเข้าไปทำงานในคณะกรรมาธิการสามัญวุฒิสภา (กมธ.) 2 ชุด คือ กมธ.พัฒนาการเมืองการมีส่วนร่วม และ กมธ.สิทธิมนุษยชน ซึ่งน่าจะตรงภารกิจปัญหาการทำงานของสื่อ
เป้าหมาย คือ ผลักดันออกฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก (Anti-SLAPP Law) เพราะที่ผ่านมา ฝ่ายรัฐและทุน บริษัทพลังงาน บริษัทด้านอาหารสัตว์ มักฟ้องปิดปากผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เช่น สื่อรายเล็ก สื่อพลเมืองเพื่อกลั่นแกล้งเรียกค่าเสียหายแพงเกินจริง โดยฟ้องเอาผิดตามพรบ.คอมพิวเตอร์ เพื่อให้ไปเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในพื้นที่ห่างไกล เราพบว่า คดีฟ้องปิดปากมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อยากถามผู้เกี่ยวข้องร่างกฎหมายตรงนี้ติดขัดตรงไหนถึงยังเข้าสภาไม่ได้ เพราะหลังจากรัฐบาลที่แล้วยุบสภาก็ไม่มีความคืบหน้าอีก
ร่างกฎหมายดังกล่าว มีชื่อเต็มคือ “ร่างพรบ.มาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ” เป็นกฎหมายที่สำนักงาน ป.ป.ช. ขับเคลื่อนเพื่อเป็นกฎหมายคุ้มครองประชาชนที่เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะอันจะนำไปสู่การตรวจสอบการทุจริต เช่น การแจ้งเบาะแสการทุจริต รวมถึง การให้ข้อมูลการบุกรุกสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน มักจะถูกผู้สูญเสียประโยชน์นำกระบวนการยุติธรรมมาเป็นเครื่องมือโดยมิชอบ ด้วยการฟ้องปิดปาก (Strategic Lawsuit Against Public Participation: SLAPP) รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ได้อนุมัติหลักการ และผ่านความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว
ปัญหาสวัสดิการสื่อ/ตั้งสหภาพไม่ได้
เทวฤทธิ์ กล่าวว่า เสรีภาพสื่อเป็นโจทย์ใหญ่ ขณะที่ ปัญหา สวัสดิภาพ สวัสดิการของสื่อมวลชนก็สำคัญไม่น้อย เพราะมีเสียงร้องเรียนในวิชาชีพมาก เช่น ปัญหาสิทธิในการรวมกลุ่ม บางองค์กรไม่สามารถตั้งสหภาพได้อย่างในไทยพีบีเอส ซึ่งตรงนี้อาจต้องแก้กฎหมายไทยพีบีเอส เพราะเรื่องนี้เป็นการกำจัดสิทธิในการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรอง ขณะที่คนทำงานภาคเอกชนจัดตั้งสหภาพได้จึงเกิดความไม่เสมอภาคขึ้น
“ปัจจุบัน สื่อ ช่างภาพ ทำงานภาคสนามหนัก บางคนทำงานเกินกว่ากฎหมายกำหนด เกิดปัญหาสุขภาพ ปัจจัยหนึ่งที่บีบผู้สื่อข่าว คือ ค่าแรงที่น้อย แต่เราในฐานะสว. สามารถศึกษาปัญหาสวัสดิภาพสื่อมวลชนได้ อาจตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณา หาบทสรุปเสนอต่อกระทรวงแรงงานหรือนายจ้าง หรือ เราอาจหารือในที่ประชุมวุฒิสภาได้ถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับสื่อมวลชนเพื่อแจ้งไปยังหน่วยงานรัฐได้”
การทำหน้าที่สื่อในการชุมนุมทางการเมืองในอนาคตที่อาจเกิดขึ้น อาจมีปัญหาคดีความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเหมือนที่ผ่านมาจะรับมืออย่างไร เทวฤทธิ์ กล่าวว่า ต้องติดตามสถานการณ์ในอนาคต
เทวฤทธิ์ ในฐานอดีต บก.ประชาไท ยังมีความเห็น กรณี คดีพ่นสีกำแพงวังที่มีการฟ้องเอาผิดกฎหมายหมิ่นสถาบัน มาตรา 112 และมีการออกหมายจับผู้สื่อข่าวประชาไท และอดีตช่างภาพของspacebar ข้อหาให้การสนับสนุนการทำลายโบราณสถาน ทั้งคู่ปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา และกลายเป็นข่าวครึกโครมเมื่อเดือนก.พ. 2567 ว่า คงต้องทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่เรื่องการทำงานของสื่อมวลชน ตำรวจอาจมองว่า ผู้ก่อเหตุมากันน้อย นักข่าวที่ทำข่าววันนั้นก็เข้าแผนสมคบคิดกรณีอย่างนี้ ก็มีคำถามทำไมตำรวจไม่ออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาก่อน แต่กลับออกมาหมายจับซึ่งเหตุเกิดมาแล้ว 1 ปี เป็นประเด็นที่คิดต่างกัน เพราะนักข่าวไปทำข่าววันนั้นอาจได้ประเด็นซีฟมาก่อนจึงได้ไปทำข่าว เราไม่รู้มาก่อนว่าเขาจะพ่นสี เรารู้แต่ว่า เขาจะไปแสดงออก แต่กลับกลายว่า นักข่าวประชาไทไปร่วมสมคบคิดกับเขา
“ถ้าหลักคิดของตำรวจและมีการออกหมายจับแบบนี้ มันอาจทำให้ในอนาคต สื่อต้องเซ็นเซอร์ตัวเองโดยอัตโนมัติเพราะเจ้าหน้าที่ตั้งประเด็นถ้านักข่าวรู้ประเด็นก่อนแล้วไปทำข่าว ทำให้ถูกเหมารวมว่า เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมนั้น อาจต้องรับผิดทางกฎหมายไปด้วย ตรงนี้ถ้าเราได้เป็นกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของวุฒิสภา ก็อาจเชิญตำรวจมาทำความเข้าใจสภาพการทำงานของนักข่าวโดยเฉพาะนักข่าวพลเมือง นักข่าวฟรีแลนซ์ที่อาจจะทำงานเร็วกว่านักข่าวที่มีสังกัดชัดเจน” เทวฤทธิ์ กล่าว