พิษ “โควิด” สแกนสึนามิเขย่า “สื่อ”

 

พิษ "โควิด" สแกนสึนามิเขย่า "สื่อ"

 

กองบรรณาธิการจุลสารราชดำเนิน

 

ท่ามกลางการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลายภูมิภาคทั่วโลกส่งผลกระทบทุกธุรกิจในวงกว้างสาหัสรุนแรง ยังไม่มีแนวคลี่คลายลง ไม่เว้นแต่อุตสาหกรรมสื่อมวลชน ได้รับผลกระทบเข้ามาซ้ำเติมโดยตรง จากที่เคยรับแรงปะทะคลื่น "ดิสรัปชั่น" รวมไปถึงการถดถอยของรายได้ก่อนหน้านี้ ทำให้หลายองค์กรเริ่มอยู่ในภาวะโคม่าหนักขึ้น

 

"จุลสารราชดำเนิน" สำรวจความเคลื่อนไหวของสื่อแต่ละสำนักต่อการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในครั้งนี้

 

เริ่มที่  Business Today  หนังสือพิมพ์น้องใหม่ มีประกาศเมื่อ 27 มี.ค.2563 หยุดตีพิมพ์เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน โดยฉบับวันที่ 28 มี.ค.2563 เป็นฉบับสุดท้ายก่อนจะพักการผลิตชั่วคราว แต่ในกองบรรณาธิการส่วนอื่นๆ ยังดำเนินการต่อไป  เฟซบุ๊คแฟนเพจ Business Today Thai ได้โพสต์ข้อความว่า “เรียนท่านผู้อ่านและผู้สนับสนุน Business Today ทุกท่าน สถานการณ์ปัจจุบันทำให้เราต้องตัดสินใจ และเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก ด้วยช่องทางการจัดจำหน่ายที่ถูกปิด และเงื่อนไขการทำงานที่ทุกๆ คนต้องปรับตัว ทำให้เราต้อง “พัก” การตีพิมพ์ Business Today เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน ถึงแม้ส่วนสิ่งพิมพ์ต้องพัก แต่ส่วนอื่นๆ ยังคงทำงานอย่างขะมักเขม้น และเตรียมพบกัน Content ในรูปแบบใหม่ๆ และแตกต่างของ Business Today ต่อไป

 

ขณะที่ "อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ" ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ บิสซิเนส ทูเดย์ โพสต์เฟซบุ๊ค ว่า เศร้าใจอย่างที่สุด หนังสือพิมพ์ธุรกิจรายสัปดาห์ Business Today ฉบับที่ 30 วางร้านซีเอ็ดและร้านนายอินทร์เฉพาะในจังหวัดใหญ่ๆ ที่ไม่ได้ถูก Lockdown  ที่เหลืออยู่ไม่กี่จังหวัด ตอนเช้าวันเสาร์ที่ 28 มี.ค.เป็นฉบับสุดท้าย พักหลบไวรัส covid19

 

จากนั้นวันที่ 31 มี.ค.2563 "ฉาย บุนนาค" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ลงนามประกาศ เรื่อง มาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้บริษัทฯไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ จึงมอบให้ผู้บริหารสูงสุดแต่ละหน่วยธุรกิจปรับมาตรการตาม 5 แนวทาง

 

1.พิจารณาปรับลดเงินเดือนพนักงานทุกคนของแต่ละหน่วยธุรกิจ 2.ให้พนักงานลางานโดยไม่รับเงินค่าจ้าง เป็นการชั่วคราว โดยพิจารณาค่าจ้างตามวันที่ปฏิบัติงานจริง 3.ให้ทุกหน่วยธุรกิจบริหารจัดการกำลังคนและปฏิบัติงานในเวลาทำงานปกติให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ให้มีการทำงานล่วงเวลา 4.ยกเลิกสวัสดิการต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและการปฏิบัติงานโดยตรง เช่น คำรักษาพยาบาลของสมาชิกในครอบครัวของพนักงาน ทุนช่วยเหลือการศึกษาบุตรของพนักงาน 5.ยกเลิกค่าตอบแทนอื่นที่นอกเหนือจากเงินเดือนประจำ เช่น ค่าพาหนะ ค่าโทรศัพท์ ค่าตำแหน่ง ค่าประสบการณ์ แต่เมื่อสถานกาณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVD 19 คลี่คลายลง บริษัทฯอาจจะพิจารณายกเลิกหรือผ่อนคลายมาตรการข้างต้นเป็นลำดับ

 

เป็นที่มาของกระแสการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ในเครือเนชั่น โดยให้ยุติการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ "คมชัดลึก" อย่างถาวร ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. 2563 เป็นต้นไป พร้อมยุบกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คมชัดลึก เว็บไซต์เนชั่นสุดสัปดาห์ และสำนักข่าวเนชั่น ซึ่งอยู่ในสังกัดบริษัท คมชัดลึก มีเดีย จำกัด รวมถึงให้พนักงานบางส่วนที่ไม่ได้ถูกเลย์ออฟไปอยู่กับบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NBC แต่ยังมีพนักงานของกองบรรณาธิการส่วนใหญ่ถูกให้เลิกจ้างทันที โดยมีผลวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา

 

ด้านพนักงานเครือเนชั่นรายหนึ่ง ระบุว่า เข้าใจจากสถานการณ์ไวรัสโควิดที่กระทบกับกิจการบริษัท ซึ่งไม่ใช่กระทบกับสื่อในเครือเนชั่นเพียงอย่างเดียว แต่ได้กระทบกับธุรกิจสื่อเจ้าอื่นๆ ไปด้วย แต่ในมาตรการลดเงินเดือนของพนักงานเนชั่นนั้น ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าจะถูกลดเงินเดือนไปถึงเมื่อใด แต่หากสถานการณ์กลับมาปกติ อยากปรับขึ้นเงินเดือนของพนักงานให้กลับมาเหมือนเดิมโดยเร็ว หรือได้รับเงินส่วนต่างจากการถูกลดเงินเดือนเพื่อคืนให้กับพนักงานเช่นกัน

 

ขณะที่ "หนังสือพิมพ์เดลินิวส์" โดยบริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด ได้ออกประกาศ เรื่อง "โครงการสมัครใจเกษียณอายุก่อนกำหนด" เพื่อปรับปรุงโครงสร้างองค์กร โดยเปิดทางให้พนักงานบริษัทฯ ทุกระดับ ที่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ ที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ ให้ส่งรายชื่อพนักงานไปให้หัวหน้าฝ่าย เพื่อรวบรวมแล้วนำส่งมาที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ภายในวันที่ 31 พ.ค. เพื่อเสนอต่อบริษัทฯ ให้พิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ก่อนแจ้งผลการพิจารณาให้พนักงานทราบ

 

สำหรับเงินชดเชยจะได้รับตามอายุงาน ตั้งแต่วันที่เข้าทำงานกับบริษัทฯ จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 ในอัตราตั้งแต่ 30-400 วัน โดยหลักสำคัญของ "โครงการสมัครใจเกษียณอายุก่อนกำหนด" บริษัทฯ จะพิจารณาเห็นชอบพนักงานที่ขอลาออกตามโครงการเป็นความต้องการและสมัครใจร่วมกัน "ทั้งสองฝ่าย" ระหว่างบริษัทฯ กับพนักงาน เป็นสิทธิฝ่ายเดียวของบริษัทฯ ในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้พนักงานลาออกตามโครงการ

 

ส่วนกรณีที่มีผู้เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก บริษัทฯ สงวนสิทธิ์จะพิจารณาคัดเลือกตามเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนด โดยพนักงานที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติ จะมีผลในวันที่ 1 ก.ค.2563 และรับเงินค่าจ้างเดือนสุดท้ายพร้อมเงินชดเชยเป็นเช็ค ในวันที่ 30 มิ.ย.2563

 

ข้ามมาที่ "เครือโพสต์" ซึ่งมีสื่อหลักในมือประกอบ นสพ.บางกอกโพสต์ และเว็บไซด์โพสต์ทูเดย์ นิตยสารฟอร์บส์ หลังจากปิดหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์เมื่อเดือน มี.ค.2562  ทว่า สถานการณ์โควิดครั้งนี้กระทบกับบริษัทอย่างเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน ได้มีประกาศจากผู้บริหารลดรายจ่ายพนักงานกับนโยบายลาไม่ได้รับค่าจ้าง (Leave without pay) โดยมีผลตั้งแต่เดือน เม.ย.ถึงเดือน มิ.ย.เป็นเวลา 3 เดือน โดยกำหนดเป็น 3 ระดับ 1. ระดับสูง เช่น ผู้บริหาร ,บรรณาธิการให้ลาโดยไม่รับค่าจ้าง 5 วัน ต่อเดือน 2. รองลงมา เช่น หัวหน้าข่าว บรรณาธิกการข่าว รวมถึงนักข่าวอาวุโส และพนักงานในระดับเดียวกัน ให้ลาโดยไม่รับค่าจ้าง 4 วันต่อเดือน และ 3.พนักงานระดับรองลงมาอีก ให้ลาโดยไม่ได้รับค่าจ้าง 3 วันต่อเดือน

 

อย่างไรก็ตามนโยบายระบุด้วยว่า หากการแพร่ระดับของโรคไวรัสโควิดยังลุลาม เลวร้ายลงอีก บริษัทอาจทบทวนนโยบาย เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

 

พนักงานบริษัทโพสต์ รายหนึ่งระบุว่า เข้าใจถึงการตัดสินใจของผู้บริหารในสถานการณ์ขณะนี้บริษัทได้รับผลกระทบหนักหน่วง พนักงานก็จำเป็นต้องถูกลดรายจ่าย เพื่อช่วยเหลือบริษัทในภาวะวิกฤตเช่นเดียวกัน แต่ในสภาพความเป็นจริง นโยบาย Leave without pay แม้พนักงานจะได้วันหยุดเพิ่ม และรายได้ลดลงตามวันหยุด แต่งานก็ไม่ได้ลดตามวันหยุดไปด้วย เพราะเมื่อคนในทีมหยุด คนในส่วนที่เหลือที่ยังต้องทำงานก็ต้องแบกรับงานที่ถือว่าเพิ่มขึ้น

 

ด้าน "เครือมติชน" ไม่มีโครงการลดจำนวนคน แต่ให้ทำงานที่บ้านบางส่วน จุดสำคัญยังต้องมาทำงานที่บริษัท โดยตั้งแต่มีสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด มติชนได้ใช้วิธีประหยัดค่าน้ำค่าไฟ ประหยัดค่ากระดาษต่างๆ การถ่ายเอกสาร ซึ่งก่อนหน้านี้มีการประหยัดมาต่อเนื่องแล้ว แต่พอถึงช่วงโควิดก็เข้มข้นมากขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบกับรายได้พนักงาน แต่มีบางส่วนมีการปรับลดค่าอยู่เวรและลดค่าเขียนงานลง  โดยไม่แตะต้องตัวเลขที่เป็นเงินเดือนของพนักงาน แต่สถานการณ์ของมติชนยังมีการปันผลให้ผู้ถือหุ้นจากผลประกอบการ 1/2563 เมื่อกลางเดือน พ.ค.

 

ปิดท้ายที่ "ไทยรัฐ" หลังจากมีสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด บริษัทได้ทำ "ประกันโควิด" ให้กับพนักงาน รวมถึงมีมาตรการให้พนักงานเข้าโรงพิมพ์น้อยที่สุด โดยเฉพาะมาตรการคัดกรองบุคคลภายนอกที่เข้ามา ส่วนเรื่องสวัสดิการ เงินเดือนของพนักงานยังเหมือนเดิม แต่มีเพิ่มเรื่องสวัสดิการให้โรงพยาบาบมาตรวจโควิดพนักงานทั้งเครือด้วย