“มองมุมต่าง รัฐบาล VS แบงก์ชาติ ประสานจุดร่วม ดีกว่าตั้งป้อมขัดแย้ง!!”

            “เป้าของรัฐบาลกับธนาคารกลางทั่วโลกแตกต่างกันอยู่แล้ว รัฐบาลมุ่งไปที่การเติบโตของจีดีพี ส่วน ธปท.มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางการเงิน ไม่ให้เงินเฟ้อสูงจนเกินไป หากเงินเฟ้อไม่สูงเกินไปก็จะส่งผลดีต่อการบริหารเศรษฐกิจ”

            นครินทร์ ศรีเลิศ  หัวหน้าข่าวเศรษฐกิจในประเทศ  กรุงเทพธุรกิจ  วิเคราะห์ “รอยร้าวรัฐบาล-ธนาคารแห่งประเทศไทย” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”ว่า หากดูในภาพใหญ่ ความจริงแล้วไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แม้แต่ คุณคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ยังบอกว่าในธนาคารทั่วโลกตอนนี้ มีแรงกดดันเยอะจากรัฐบาล ที่จะให้ผ่อนคลายนโยบายการเงิน-ลดดอกเบี้ย หรือเปิดโอกาสให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น 

IMF ส่งแมสเสจสื่อสาร รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกกับบทบาทหน้าที่”

            นครินทร์ บอกว่า คุณคริสตาลินา เขียนบทความระบุว่า “ธนาคารกลางกับรัฐบาลสามารถรักษาบทบาทหน้าที่ของตัวเองได้ ก็จะเห็นการควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ดี มีการเติบโตทั้งการจ้างงาน ความเสี่ยงทางด้านเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจลดลง” ตรงนี้เป็นแมสเสจที่สื่อสารออกมาจาก IMF ไปยังรัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งเราก็คงจะเห็นภาพแบบนี้ว่าไม่ใช่แต่ประเทศไทย ที่มีความขัดแย้งกัน และถึงอย่างไรก็ต้องทำงานร่วมกัน เพราะเครื่องมือทางเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายทางการเงินและนโยบายการคลังก็จำเป็น อาจจะจำเป็นในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน แต่หากสอดประสานในทิศทาง ที่ผลักดันเศรษฐกิจไปข้างหน้าพร้อมกัน ดีกว่ามาตั้งป้อมว่าขัดแย้งกัน

รบ.-ธปท.ทั่วโลก มีเป้าหมายต่างทำหน้าที่เหมือนกัน ”     

            “เป้าของรัฐบาลกับธนาคารกลางทั่วโลกแตกต่างกันอยู่แล้ว รัฐบาลมุ่งไปที่การเติบโตของจีดีพี ส่วน ธปท.มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางการเงิน ไม่ให้เงินเฟ้อสูงจนเกินไป หากเงินเฟ้อไม่สูงเกินไปก็จะส่งผลดีต่อการบริหารเศรษฐกิจ เพราะถ้าเศรษฐกิจโตมากก็จริง แต่ถ้าเงินเฟ้อขึ้นสูงจนเกินความสามารถ ในการหารายได้  สุดท้ายก็จะกระทบการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลอยู่ดี  ฉะนั้นทั้งสองฝ่ายมีหน้าที่ดูเป้าหมาย เพียงแค่เป็นคนละเป้าหมายกัน โดยทำหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งการทำหน้าที่ร่วมกันตามกรอบของกฎหมาย  มีการพูดคุยกันในหลายระดับ เพื่อที่จะให้ทั้งสองเป้าหมายดำเนินไปด้วยกันได้”

“รบ.-ธปท.เห็นต่าง มุมดิจิทัลวอลเล็ต-ปรับลดอัตราดอกเบี้ย” 

         นครินทร์ บอกว่า ตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐาเข้ามาบริหารประเทศ มีเรื่องหลักๆที่ธนาคารแห่งประเทศไทย กับรัฐบาลคุยกันคือ ดิจิทัลวอลเล็ตกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย กรณีดิจิทัลวอลเล็ตนั้น รัฐบาลอยากจะทำ 50 ล้านคน แต่ในมุมของ ธปท.บอกว่า ถ้ากระตุ้นเศรษฐกิจ 5แสนล้านบาท - 50 ล้านคน ไม่มีความจำเป็นขนาดนั้น อยากให้ทำแค่เฉพาะกลุ่มเปราะบาง15 - 20 ล้านคน จึงทำให้แนวคิดแตกต่างกัน เมื่อดิจิทัลวอลเล็ตเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก็มีความเห็นของ ธปท.เป็นเอกสาร เสนอที่ประชุม ครม.ยาวถึง 5 หน้า โดยระบุว่า 5 แสนล้าน รัฐบาลควรที่จะไปทำเรื่องอื่น เป็นการลงทุนที่ยั่งยืนมากกว่า ไม่ควรที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นแบบนี้

 “รบ.เชื่อ ลดอัตราดอกเบี้ยช่วยขับเคลื่อน ศก. เกิดผลดีตามมาอื้อ

            นครินทร์ บอกว่า หากดูเรื่องของอัตราอัตราดอกเบี้ย เข้าใจว่าการวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นอิสระของ ธปท.ขณะนี้ เริ่มจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) ที่ผ่านมา  ดอกเบี้ยจะถูกคงอยู่ที่ 2.5% ซึ่งนายกรัฐมนตรีหรือคนในรัฐบาลจะพูดในทิศทางเดียวกันว่า  อัตราดอกเบี้ย 2.5% ไม่เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ จึงอยากให้ ธปท.ปรับลดลงมา 

            ในมุมของรัฐบาลมองว่าเป็นปัญหา เพราะถ้าลดอัตราดอกเบี้ยลง เศรษฐกิจน่าจะโตได้มากกว่านี้ และทำให้คนที่มีภาระต่อการใช้จ่ายลดลง เกิดการบริโภคมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโตขึ้น  ขณะที่การลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็จะมีเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้อง ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากขึ้น จะช่วยในเรื่องของการท่องเที่ยวและส่งออก เท่ากับมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยอัตโนมัติ

“ธปท. มองมุมระยะยาว” 

            นครินทร์ บอกว่า ในมุมของ ธปท.มองอะไรที่เป็นเรื่องระยะยาวมากกว่า ถ้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้วค่าเงินบาทอ่อน ก็จะกระทบกับอัตราเงินเฟ้อได้ เพราะประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจแบบเปิด  ต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ถ้าดูภาพใหญ่จะเห็นว่ากองทุนน้ำมัน เข้าไปอุดหนุนราคาพลังงานจนขาดทุนเป็นแสนล้าน ซึ่ง ธปท.คงกังวลเรื่องนี้ด้วย  รวมทั้งเรื่องของเงินทุนที่จะไหลออก  ก็จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง ตอนนี้อยู่ที่ 37 บาทกว่าๆ ต่อ 1ดอลลาร์สหรัฐ ต่อไปถ้าเอาไม่อยู่ ก็จะเกิดผลกระทบตามมา ในเรื่องของเงินเฟ้อ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการบริหารเป้าหมายของ ธปท.ที่ต้องการรักษาไม่ให้เงินเฟ้อสูงจนเกินไป

“ห่วง บรรยากาศระหว่าง 2 ฝ่าย” 

            ส่วนกรณีที่คนในรัฐบาลระบุว่า ธปท.ไม่ใช่สถาบันหรือองค์กรที่จะวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้  นครินทร์ ยอมรับว่า ค่อนข้างเป็นห่วง เพราะถ้าเราดูตอนนี้บรรยากาศเดือดก็จริง แต่การมาให้ข่าวที่บอกว่าวิพากษ์วิจารณ์ได้ มาจากฝั่งรัฐบาลอย่างเดียว ขณะที่ ธปท.จะไม่ได้ออกมาตอบโต้ผ่านสื่อ แต่จะมีวิธีชี้แจง  เช่น ผู้ว่าฯ ธปท.อาจจะให้สัมภาษณ์ ผ่านสื่อต่างประเทศ หรือการแถลงข่าวในแต่ละครั้งที่ตอบคำถามสื่อมวลชน

            ความจริงแล้วกลไกในการทำงานร่วมกัน ระหว่าง ธปท.กับรัฐบาลไม่ใช่ไม่มี คือการกำหนดกรอบเงินเฟ้อ หรือเป้าหมายนโยบายทางการเงินร่วมกันทุกปี ซึ่งกระทรวงการคลังกับ ธปท.จะต้องมาคุยกัน ว่ากรอบควรที่จะอยู่เท่าไหร่ ซึ่งถ้าเป็นบรรยากาศแบบนี้ กรอบตามกฎหมายไม่พอ ซึ่งผมเชื่อว่าการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการนอกรอบ เป็นทางออกมากกว่า

“กรรมการ กนง.มี 7 เสียงโหวต-มีอิสระในการตัดสินใจ ชี้ รบ.กดดันผ่านสื่อไม่ใช่เรื่องดี”

            นครินทร์ บอกว่า การที่รัฐบาลไปขอ กนง.ให้ลดอัตราดอกเบี้ย แต่ถ้าพิจารณาองค์ประกอบคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน มีคนที่โหวตได้จริงๆ 7 คน ซึ่ง 4 ใน 7 เป็นกรรมการอิสระจากข้างนอก อีก 3 คนเป็นคนจาก ธปท. ฉะนั้นถึงคุณจะกดดัน ธปท.ให้ลดอัตราดอกเบี้ยคุณก็จะไม่ได้เสียงทั้งหมด เพราะว่าต่อให้ ธปท.เห็นด้วยกับรัฐบาล แต่เขาก็มีวิธีการตัดสินใจจากข้อมูลที่เป็นอิสระอยู่แล้ว ก็อาจจะไม่ได้เสียงคณะกรรมการทั้งหมด จึงเป็นที่มาของเสียงที่ยังมี 5/2

            ฉะนั้นคนที่เห็นด้วยกับการลดอัตราดอกเบี้ยตอนนี้มี 2 คนในกรรมการ ฉะนั้นการกดดันให้ลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีนัก โดยเฉพาะการกดดันออกสื่อ แต่ผมก็ยังเชื่อว่าแนวทางที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังคนใหม่ ระบุจะหาช่องทางไปคุยกับ ธปท. เป็นช่องทางที่ดี 

คงไม่ได้เห็นภาพนายกฯ ถก ผว.ธปท.แล้ว – สังคมอยากเห็น รบ.-ธปท.นำข้อมูลมาคุยกัน” 

            นครินทร์ บอกว่า ขณะที่นายกรัฐมนตรีบอกว่า ให้รัฐบาลคุยผ่านสำนักงานนโยบาย เศรษฐกิจการคลัง ก็แสดงว่าเวทีที่จะเห็นนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าฯธปท.มานั่งคุยกันอย่างที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ คงไม่มีแล้ว  เพราะฉะนั้นต้องมีกลไกที่จะคุยกัน เพราะถ้าจะรอให้กำหนดกรอบนโยบายการเงินร่วมกัน ซึ่งคงจะเป็นช่วงปลายปีนี้ก็อาจจะไม่ทัน ซึ่งหลายคนก็อยากเห็นบรรยากาศการคุยกันระหว่าง ธปท.กับรัฐบาลมากขึ้น จะเป็นเวทีสาธารณะหรือหรือไม่ก็ตาม แต่ให้เอาข้อมูลที่ทั้งสองฝ่ายมีมาคุยกัน 

            เช่น รัฐบาลบอกว่าอยากให้เศรษฐกิจโตมากกว่านี้ 3 % ไม่พอ แต่ ธปท.บอกว่าปีนี้ 2% กว่า ปีหน้า 3% ก็โอเค ก็ยังจะเห็นว่าเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ตรงกันระหว่าง 2ฝ่าย  จึงต้องมาคุยกันและดูว่าเครื่องมือนโยบายทางการเงินกับการคลัง จะช่วยซัพพอร์ตกันได้อย่างไร

“ในอดีต รบ.-ธปท.ขัดแย้งดุเดือดกว่านี้” 

            นครินทร์ บอกว่า ถ้าย้อนไปดูในอดีตรัฐบาลกับ ธปท.มีความเห็นที่ไม่ตรงกันเยอะ เช่น สมัยประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าฯธปท. กับกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีความเห็นต่างเรื่องนโยบายดอกเบี้ย ยังดุเดือดกว่าช่วงนี้  ซึ่งผมคิดว่าแต่ละคนอยากจะทำหน้าที่ของตัวเอง รัฐบาลชุดนี้บอกว่าอยากให้เศรษฐกิจโต5% เป็นเป้าที่รัฐบาลประกาศตั้งแต่ตอนหาเสียงเลือกตั้ง ขณะที่ ธปท.อยากเห็นเศรษฐกิจโต แต่ถ้าโตเพื่อแลกกับการกระตุ้นในระยะสั้น จนอาจจะมีปัญหาเงินเฟ้อ หรือเสถียรภาพด้านราคาตามมา ธปท.ก็บอกว่าไม่เอาด้วย ตรงนี้จึงต้องมาหาช่องทางร่วมกัน

“ไม่ควรแก้กฎหมาย ลดทอนความเป็นอิสระของ ธปท.-กนง.”

            ส่วน ธปท.ควรจะเป็นอิสระจากการเมืองหรือไม่ นครินทร์ ตั้งคำถามว่า อิสระของ ธปท.คืออะไร ถ้าไปดูก็บอกว่าจะแก้ไขกฎหมายให้ ธปท.เป็นอิสระน้อยลง ก็ต้องถามว่าคืออะไร อิสระของ ธปท.ตอนนี้ คือ อิสระในการตัดสินใจเรื่องนโยบายดอกเบี้ย โดยไม่มีการเมืองแทรกแซง ก็หมายความว่าเวลาคุณพิจารณาโดยคณะกรรมการ กนง. ซึ่งมีอยู่ 7 คน เวลารับฟังข้อมูลทางเศรษฐกิจ  ก็ต้องตัดสินใจบนข้อมูลนั้น หรือความเชี่ยวชาญประสบการณ์ของแต่ละคน การเมืองก็อาจจะอาจจะกดดันได้ แต่ไม่มีการแก้ไขกฎหมาย ที่บอกว่าต้องให้ กนง. มาปรึกษากับรัฐบาลก่อน ตรงนี้ไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว

            นครินทร์ บอกว่า หรือความเป็นอิสระของ ธปท.มากเกินไป กระทบกับเรื่องของการดำเนินนโยบายที่จะต้องมีการใช้นโยบายทางการมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาดอกเบี้ยอาจจะอยู่ในระดับต่ำกว่านี้ แต่ใช้เงินของรัฐบาลเข้าไปในนโยบายการคลังต่อเนื่อง รัฐบาลไม่ได้มาใช้เงิน นโยบายทางการคลัง จนระดับหนี้สาธารณะสูงขึ้น ในช่วงที่ดอกเบี้ยสูงอย่างเดียว เพราะหนี้สาธารณะเป็นเรื่องของการสะสม และขาดดุลงบประมาณ 

“ทุกปีงบลงทุนก็ต้องตั้งตามกฎหมาย 20% ของงบประมาณ”

            นครินทร์ บอกว่า การที่ประเทศไทยขาดดุลงบประมาณเยอะมาจาก เรื่องของค่าใช้จ่ายรายจ่ายประจำ ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และงบลงทุนก็ต้องตั้งตามกฎหมาย 20% ของงบประมาณทุกปี ซึ่งเรายังไม่มีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ตรงนี้ไม่ใช่การมาแก้ความเป็นอิสระของ ธปท.  ส่วนหนี้สาธารณะจะลดลงได้ ก็ต้องไปปรับลดรายจ่ายประจำ ทำให้เศรษฐกิจโตเพิ่ม โดยวิธีการต่างๆ ซึ่งแบบนี้ไม่ใช่นโยบายข้างใดข้างหนึ่งได้

            “เพราะฉะนั้นไม่ใช่มาลดความเป็นอิสระของ ธปท.ลง จนหลายฝ่ายรู้สึกไม่สบายใจ เพราะถ้าลดความเป็นอิสระลง กลับไปเป็นเหมือนเดิม ให้ผู้ว่าฯ ธปท.ถูกปลดได้ง่าย ก็จะมีคำถามจากต่างประเทศว่า เรากำลังทำอะไรกับธนาคารกลางของประเทศเราหรือไม่”

“นักข่าวเข้าใจบริบทการทำงานทั้ง 2 ฝ่าย หนุน พูดคุยหาทางออกร่วมกัน” 

                        นครินทร์ บอกว่า ภาพที่เห็นอาจเป็นรอยร้าวหรือปมความขัดแย้ง คนที่ทำนโยบายให้เศรษฐกิจเติบโต กับคนที่ทำนโยบายเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ เป็นคนละองค์กรกัน แต่สำหรับผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ รู้สึกว่าต่างคนต่างอยากทำหน้าที่ของตัวเอง รัฐบาลอยากให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากๆ ส่วน ธปท.อยากให้เศรษฐกิจขยายตัว แต่ต้องขยายตัวมีเสถียรภาพด้วย ซึ่งผู้สื่อข่าวก็รายงานข้อเท็จจริง ไปตามสถานการณ์ แต่เวลาเขียนวิเคราะห์หรือคุยเพิ่มเติม ควรที่จะหาทางให้ทั้ง 2 ฝ่ายทำงานร่วมกันได้ นอกจากว่าคุณคุยกันในแนวทาง ตามกรอบระยะเวลาของกฎหมายที่กำหนด จะมีใครที่เป็นตัวกลางเข้าไปคุย และเป็นคนที่ทำให้สังคมเลิกแบ่งฝ่าย ซึ่งผมสนับสนุนให้มีการพูดคุยกัน น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ที่จะขัดแย้งไปเรื่อยๆ

 

            ติดตาม รายการ“ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ 11.00-12.00 น. โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5