“เปิดโอกาสประเทศไทย ผ่านการยอมรับความหลากหลายทางเพศ”

            “ตอนนี้สังคมไทยและประเทศไทยเป็นมิตรกับเพศที่ 3 มากขึ้นกว่าในอดีตมาก เพราะอดีตในโรงเรียน คนที่เป็น LGBTQ+ อาจจะต้องอยู่แบบหลบๆซ่อนๆ แต่ปัจจุบันเปิดเผยมากขึ้น ทำให้สังคมไทยเข้าใจวิถีของเพศที่ 3 ว่ามีความเป็นมาอย่างไร”

.

“ดร.อนุชา เจริญโพธิ์ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์” ให้มุมมอง “การขับเคลื่อนความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า ความหลากหลายทางเพศในแง่ของรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศวิถี หรือ Gender Identity เป็นประเด็นที่สังคมหลายประเทศ ให้การยอมรับมากขึ้นกว่าในอดีต  

37 ประเทศทั่วโลกรองรับแต่งงานเพศเดียวกัน - ไทยลุ้น ปท.แรกในอาเซียน”      

            ดร.อนุชา บอกว่า  ปัจจุบันประเทศที่มีการรองรับให้คนเพศเดียวกัน แต่งงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายมีทั้งหมด 37 ประเทศ แถบยุโรป 21 ประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ กรีก เบลเยียม สเปน นอร์เวย์ สวีเดน ไอซ์แลนด์ โปรตุเกส อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นต้น โดยเฉพาะเนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด มีการรับรองให้การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน ถูกต้องตามกฎหมาย ตั้งแต่เดือนเมษายนในปี 2001 รวมทั้งอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกัน รับอุปการะบุตรได้ ก่อนที่แต่ละประเทศทั่วโลก จะเริ่มทยอยผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม

นอกจากในยุโรป 21 ประเทศแล้ว ยังมีประเทศในฝั่งอเมริกา 11 ประเทศ ส่วนเอเชียมี 2 ประเทศ คือ เนปาล กับเขตบริหารพิเศษไต้หวันแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนไทยกำลังจะเป็นประเทศที่ 3หากกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านทุกขั้นตอน ส่วนดินแดนที่เรียกว่า Oceania  กลุ่มประเทศและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก มีประเทศนิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ส่วนในทวีปแอฟริกาก็มีแอฟริกาใต้ 

            ดร.อนุชา บอกว่า เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการถกเถียง ผลักดันให้มีการแก้ไขข้อกฎหมาย ให้รองรับคู่สมรสที่เป็นเพศเดียวกัน ซึ่งประเทศไทยหลายภาคส่วนได้มีการอภิปรายถกเถียง ในวงกว้างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และเมื่อไม่นานมานี้ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวาระ 3 ไปแล้ว ด้วยมติ 400 ต่อ 10 เสียง ฉะนั้น การผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทำให้ประเทศไทย กำลังจะเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชียและเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเชียงใต้ หรือ อาเซียน ที่มีกฎหมายแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกัน ขั้นตอนจากนี้ ต้องดูว่า หลังที่ประชุมสภาสภาผู้แทนราษฎร ส่งร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ให้กับวุฒิสภาพิจารณา หากได้รับความเห็นชอบ นายกรัฐมนตรีก็จะนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ต่อไป ทั้งหมดนี้คือการยอมรับทิศทางเพศที่ 3 ในประเทศไทย

“สังคมไทยเป็นมิตร-ยอมรับ LGBTQ+ ทุกกลุ่มมากขึ้น”

            ดร.อนุชา บอกว่า  สำหรับประเทศไทยนั้น ปัจจุบันเปิดกว้างต้อนรับกลุ่มคนLGBTQ+ ในสังคมทุกกลุ่มทุกสาขา เพราะมีพรสวรรค์ มีความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ ในการสร้างสรรค์งาน เช่น ศิลปะ กีฬา และนักมวย ฯลฯ โดยเฉพาะกลุ่มนักแสดงในภาพยนตร์ในละคร จะมีตัวละครที่เป็น LGBTQ+ มากขึ้นอย่างกว้างขวางในประเด็นต่าง ๆ เพราะมีหลายมิติมาก เช่น ภาพยนตร์หลายเรื่องที่นำเสนอแนวซีรีส์วายเป็นตัวชูรส เพราะว่ากลุ่ม LGBTQ+ มีภาพลักษณ์ที่สนุกสนาน เป็นคนเก่ง ดูเฮฮา และไม่เครียด ทำให้ LGBTQ+ ออกสู่สังคมไทยมากขึ้น และมีการยอมรับมากขึ้นในวงกว้าง

            “ตอนนี้สังคมไทยและประเทศไทยเป็นมิตรกับเพศที่ 3 มากขึ้นกว่าในอดีตมาก เพราะอดีตในโรงเรียน คนที่เป็น LGBTQ+ อาจจะต้องอยู่แบบหลบๆซ่อนๆ แต่ปัจจุบันเปิดเผยมากขึ้น ทำให้สังคมไทยเข้าใจวิถีของเพศที่ 3 ว่ามีความเป็นมาอย่างไร”

“เชื่อโอกาส ‘ไทย’ ดึงเงินเข้าประเทศผ่านกลุ่ม LGBTQ+”

            ส่วนการเปิดรับสิทธิเสมอภาคทางเพศแล้ว จะเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทยอย่างไรนั้น ดร.อนุชา มองว่า ก่อนที่รัฐบาลจะออกมาทำอะไร หรือมีโครงการอะไร คงได้ข้อมูลมาอย่างเต็มที่แล้วว่า จะต่อยอดเรื่องนี้ได้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องดีและสร้างสรรค์ คงต้องดูต่อไปในอนาคตว่า จะสามารถดึงเม็ดเงินจากกลุ่มคนเหล่านี้ ได้มากน้อยขนาดไหน เพราะรัฐบาลตั้งเป้าการจับจ่ายของกลุ่มคนเหล่านี้ ที่จะดึงเงินเข้าประเทศหลายพันล้านบาท ซึ่งรัฐบาล ให้คุณค่าความเท่าเทียมกันของกลุ่มคน LGBTQ+ เป็นเรื่องน่ายินดี และแสดงถึงการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ เห็นได้จากการที่นายกรัฐมนตรีไปเปิดงาน BANGKOK PRIDE FESTIVAL 2024 และรัฐบาลได้ประกาศเฉลิมฉลองสิทธิพื้นฐานของ LGBTQ+ มากมาย พร้อมทั้งจะเดินหน้าไปกับทุกคนโดยไม่หยุดยั้ง ไม่เฉพาะกฎหมายสมรสเท่าเทียมเท่านั้น แต่จะช่วยผลักดันเรื่องคำนำหน้าชื่อว่าด้วย

            ดร.อนุชา ยังเห็นว่า ประเด็น LGBTQ+ เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และดึงคนที่มีความหลากหลายโดยเฉพาะกลุ่มดังกล่าว เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และใช้เงินในประเทศไทย เพราะคนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อมากกว่าปกติ เพราะฉะนั้นเรื่อง LGBTQ+ น่าจะเป็นบวก เพราะประเทศไทยต้องเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของคนทั่วโลก

“ข้อมูลเว็บไซต์สังคมธุรกิจ การันตี กลุ่ม LGBTQ+ มีกำลังซื้ออู้ฟู่” 

            ดร.อนุชา ยังอ้างอิง ข้อมูลของเว็บไซต์ทางสังคมธุรกิจ เรื่องของการเผยแพร่อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งรายงานไว้ปีกว่าแล้ว โดยยืนยันเป็นที่ยอมรับว่า LGBTQ+ มีกำลังซื้อสูง และคาดการณ์ว่ากลุ่ม LGBTQ+ ทั่วโลกมีถึง 486 ล้านคน อยู่ในแถบเอเชีย 288 ล้านคน ในประเทศไทยประมาณ 4 ล้านคน เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพทางการเงิน และมีความสามารถในการใช้จ่ายมากที่สุด และมีรายได้มากกว่าชาย-หญิง เมื่อเทียบกับคนวัย เดียวกัน โดยมีรายได้ประมาณ 50,000 - 85,000 บาท/เดือน ในสัดส่วนมากกว่า 9% และมีรายได้มากกว่า 85,000 บาท/เดือนขึ้นไป ในสัดส่วนที่มากกว่า 4% คนกลุ่มเหล่านี้มีรสนิยมเรียบหรูแต่ดูแพง เน้นแบรนด์และความน่าเชื่อถือเป็นหลัก โดยไม่เน้นตามเทรนด์เหมือนคนทั่วไป ฉะนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่ม LGBTQ+ เป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจซื้อสูง นับเป็นโอกาสทางการตลาดที่สำคัญ

“เชื่อไทยพร้อมนั่งเจ้าภาพ Bangkok World Pride 2030”

สำหรับเป้าหมายของไทยในการ เป็นเจ้าภาพจัดงาน BangkokWorldPride2030 นั้น ดร.อนุชา บอกว่า  สังเกตเห็นว่าทุกภาคส่วนตอบรับ ประเด็นในเรื่องของ Pride LGBTQ+มากอยู่แล้ว เห็นได้ว่าการที่นายกรัฐมนตรีเปิดงาน BANGKOK PRIDE FESTIVAL 2024ด้วยตัวเอง มีผู้ใหญ่ในรัฐบาล และรัฐมนตรีหลายท่านไปร่วมงานนี้ด้วย เพื่อเฉลิมฉลองสิทธิพื้นฐานก็แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมีความพร้อม ที่จะเดินหน้าไปกับทุกคน และไม่ใช่แต่เรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่ยังช่วยผลักดันในเรื่องของ คำนำหน้า และการทำให้ LGBTQ+ของประเทศไทยดังกระฉ่อนไปทั่วโลกได้อย่างไร เพราะเขามีแผนไว้ว่า ในวันที่ 31พฤษภาคม - 4 มิถุนายน มีการจัดงานใหญ่ในกรุงเทพ แต่หลังจากนั้นจะมีการจัดงานลักษณะนี้ ที่ต่างจังหวัดด้วยอีกหลายงาน จะเรียกเรียกว่า ตลอดทั้งปีเลยก็ว่าได้ เพื่อที่จะสร้างการยอมรับให้กลุ่ม LGBTQ+ ทั่วโลก เข้าใจว่าประเทศไทยมีความพร้อม ที่จะเสนอคุณสมบัติผลักดันเป็นเจ้าภาพจัดงาน Bangkok World Pride 2030 ได้สำเร็จ

            ดร.อนุชา ยังเห็นว่า ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นทั้งภาครัฐเอกชนและกลุ่มความหลากหลายทางเพศต่างๆ , ภาคประชาชน, เยาวชน จะต้องออกมามีส่วนร่วมกันให้มากกว่าเดิม ให้เครือข่ายผู้จัดงาน Pride ทั่วประเทศได้นำเสนอความพร้อมและคุณสมบัติต่าง ๆ โดยจัดงานกระจายไปหลายพื้นที่ เป็น festival ตามหัวเมืองใหญ่ ๆ ที่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวของไทย เพื่อผลักดันสู่การจัดงาน Inter Pride Worlds Conference ในปี 2025 ซึ่งแผนงานก็จะไปทีละ Step จากนั้น ก็นำไปสู่การเตรียมความพร้อม เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน BangkokWorld Pride 2030 ที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรม ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ฯลฯ 

“แนะสื่อต้องมีหน้าที่นำเสนอข้อเท็จจริง LGBTQ+ ที่ถูกต้องแก่ ปชช.” 

            ดร.อนุชา บอกว่า สื่อมวลชนต้องมีหน้าที่ให้ความรู้และข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้องกับประชาชน  ซึ่งการนำเสนอจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การให้ข้อเท็จจริง ทั้งข่าว และการทำข่าว กองบรรณาธิการต่าง ๆหรือผู้ที่สามารถตัดสินใจในการนำเสนอแต่ละวัน ควรจะให้ความสำคัญ และเปิดพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับ Pride Month, การเปิดรับการแสดงความคิดเห็น หรือมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ ถ่ายทอดเรื่องราวของกลุ่มคนเหล่านี้สม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมเสรีภาพความเท่าเทียมกันของมนุษย์ เพราะเกี่ยวข้องกับหลายมิติ สื่อต้องให้ความรู้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องเรื่อย ๆ รวมถึงการให้ข้อมูลในแนววิเคราะห์ของคอลัมนิสต์ ที่หลากหลายมิติ เช่น การใช้จ่ายเศรษฐกิจ สังคม สิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่การบูลี่-ไม่บูลี่ และการยอมรับของสังคม ซึ่งสื่อมวลชน จะสามารถรายงาน ข้อมูล ข้อเท็จจริง ตรงนี้ได้ องค์กรความหลากหลายทางเพศต่างๆ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการจัดงาน Pride Month ควรต้องมีการจัดอีเวนท์ หรือแถลงข่าวต่อเนื่อง เพื่อให้ติดอยู่ในกระแส หรือสื่อสังคมออนไลน์ ตามโซเชียลต่างๆ เท่าที่เห็นมีการติด “แท็กสีรุ้ง” แสดงออกถึงการยอมรับความแตกต่าง หากทำเรื่องนี้เป็นกิจจะลักษณะ หรือนำเสนอบ่อย ๆ การที่เราจะไปสู่งาน Bangkok World Pride2030 ก็คิดว่าคงจะไม่ยาก 

“หนุนเพิ่มหลักสูตรความหลากหลายทางเพศในสถานศึกษา”

            ส่วนการมีหลักสูตรความหลากหลายทางเพศในสถานศึกษานั้น ดร.อนุชา สนับสนุน ที่จะให้มีการสอนเรื่องนี้ในโรงเรียน แต่ต้องไปร่วมกันคิดกันว่า จะมีวิธีนำเสนอหลักสูตร หรือถ่ายทอดเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างไร ใช้เทคนิคแบบไหนในการสอนเด็กให้เข้าใจ โดยเริ่มจากง่ายไปสู่ยาก อาจจะมีการเรียนการสอนในระดับประถมก่อน เพราะเรื่องนี้มีความซับซ้อน

            “ผมมองว่าเรื่องนี้มีความจำเป็นและสำคัญ ควรจะต้องให้ผู้รู้มาช่วยกันคิดว่า ควรจะเข้าถึงเด็กได้ง่ายอย่างไร เพราะโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สุดของเด็ก หากมีการสอนเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก จะทำให้เด็กแต่ละคนยอมรับความแตกต่างได้ดี ไม่เฉพาะเฉพาะเรื่องของปัญหาความ หลากหลายทางเพศ แต่ควรเคารพในความแตกต่างของความเป็นมนุษย์ เป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่นักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ หากเริ่มจากโรงเรียนได้ก็จะยิ่งดี เป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกันในความเป็นมนุษย์” ดร.อนุชา ระบุ

            ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น. โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5