“ย้อนรอยวิกฤตต้มยำกุ้ง : เศรษฐกิจไทยแกร่งพอหรือยัง!!”


         “วิกฤติต้มยำกุ้งในเวลานั้นใหญ่โตและเจ็บปวด เปรียบเสมือนเราเป็นไข้ในยามที่เรายังหนุ่ม-สาว ฟื้นกลับมามีแรงได้ แต่ถ้าเทียบกับวิกฤติโควิดหรือปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากรสูงวัยมากขึ้น เศรษฐกิจแก่ตัวลง ศักยภาพต่ำลง ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ”


         “ปรัชญ์อร ประหยัดทรัพย์ บรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจ ไทยพีบีเอส” ให้มุมมอง “27 ปี วิกฤติต้มยำกุ้ง ส่องเศรษฐกิจไทย ปี67 เสี่ยงซ้ำรอย ? หรือไม่” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า
“ไฟลามทุ่งจากภาคการเงิน ทำ ธุรกิจปิดกิจการอื้อ”
         วิกฤติต้มยำกุ้งเกิดเมื่อ ปี 2540 เหตุการณ์ลุกลามจากภาคธุรกิจการเงิน ซึ่งเป็นภาคแรกๆที่ได้รับผลกระทบ และส่งผลเหมือนไฟลามทุ่งไปยังธุรกิจอื่นๆ  มีประชาชน แห่ไปถอนเงิน , ธุรกิจปิดกิจการ , 56 ไฟแนนซ์ปิดกิจการ และหลายธนาคารเริ่มมีกระแสว่าจะปิด จึงมีคนไปที่ธนาคารสาขาต่างๆและบริษัทเงินทุนต่างๆ เพื่อที่จะไปถอนเงินเพราะรู้สึกถึงความไม่มั่นคง
“อัตราแลกเปลี่ยน ทำหนี้ต่างประเทศเพิ่ม”
         ปรัชญ์อร บอกว่า  ปัญหาจากภาคการเงิน ลามไปสู่อสังหาริมทรัพย์และภาคการผลิต เพราะธนาคารไม่มีเงิน จึงเรียกคืนจากลูกหนี้ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนมีความเปลี่ยนแปลง เงินซึ่งเคยกู้มาในสกุลต่างประเทศ เมื่อแปลงเป็นเงินบาทก็ กลายเป็นว่ามีหนี้เพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว หรือว่ามากกว่านั้นในหลายธุรกิจ ทำให้กลายเป็นหนี้มากเกินกว่าที่จะหาได้ แม้จะทำธุรกิจต่อก็ยังไม่สามารถที่จะจ่ายได้  เมื่อบริษัทเป็นหนี้มาก  เกิดการลดต้นทุนหรือปิดกิจการ ส่งผลกับพนักงาน กับคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน หรือ แม้กระทั่ง เจ้าของธุรกิจโรงเหล็กขนาดใหญ่ อย่าง “สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง” ก็มีวลีเด็ดออกมาในช่วงเวลานั้นว่า “ไม่มี-ไม่หนี-ไม่จ่าย”
“คนแห่กลับต่างจังหวัด ผันตัวไปทำเกษตร-เปรียบต้มยำกุ้ง เกิดตอนคนยังหนุ่ม-สาว ทำให้ฟื้นตัวเร็ว ต่างจากโควิด”
         ปรัชญ์อร บอกว่า ตอนที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ภาคการเกษตรหรือเศรษฐกิจภูมิภาคยังเข้มแข็งอยู่ หลายคนกลับบ้านไปทำนาทำสวน ช่วงนั้นภาคเกษตรยังรองรับคนหนุ่มสาวได้  จึงเป็นที่มาว่าทำไมบางคนสามารถหลุดพ้นจากวิกฤติและกลับมายืนได้ในวันนี้ เพราะเขาเปลี่ยนอาชีพหรือพลิกตัวเองไปทำอย่างอื่น
         “วิกฤติต้มยำกุ้งในเวลานั้นใหญ่โตและเจ็บปวด เปรียบเสมือนเราเป็นไข้ในยามที่เรายังหนุ่ม-สาว เราฟื้นกลับมามีแรงได้ แต่ถ้าเทียบกับวิกฤติโควิดหรือปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากรสูงวัยมากขึ้น เศรษฐกิจแก่ตัวลง ศักยภาพก็ต่ำลง ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ”
“หลายมาตรการรัฐ ทำหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูง”
         ปรัชญ์อร บอกว่า ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ประเทศไทยโดนโจมตีภาคการเงินมากๆ  ทำให้เกิดการฟื้นฟู ,แก้ไขและวางมาตรการที่เข้มงวด จนทำให้ภาคการเงินของไทยแข็งแรง แต่ในทางกลับกันช่วงเวลาปี 2540 มาจนถึงปัจจุบัน หลายมาตรการของรัฐบาลทุกช่วงที่ผ่านมา เอื้ออำนวยพอสมควรให้คนเป็นหนี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถคันแรก , โครงการบ้านหลังแรก 
         ทำให้ปัจจุบันหนี้ภาคครัวเรือนสูง ประมาณ 90% ของ GDP ซึ่งถือว่าเยอะมาก ให้หนี้ภาคครัวเรือนอ่อนแอ เวลาเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา ความสามารถในการรับมือกับวิกฤติแย่ลง ไม่แข็งแรงเหมือนในอดีต ที่เคยเจอวิกฤติครั้งแรกๆ อย่างที่บอกตอนเป็นหนุ่มเป็นสาว เวลาเป็นไข้วันเดียวก็ฟื้น แต่ตอนนี้อายุมาก ถ้าเป็นไข้ก็อาจจะต้องใช้เวลาพักฟื้นนานหน่อย
“วิกฤติต้มยำกุ้ง ทำคนหันมาเปิดท้ายขายของ-ขายของออนไลน์ไม่ง่ายเหมือนก่อน”
         ปรัชญ์อร บอกว่า ยุควิกฤติต้มยำกุ้ง คนเปิดท้ายขายของตามตลาดนัด แต่ตอนนี้ช่องทางทำมาหากิน และหรือการปรับตัวอาจจะเปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกันคู่แข่งขันทางการค้าก็แตกต่างไป เพราะสมัยนี้จะเห็นได้ว่าสินค้าจากต่างประเทศ  อาทิ ประเทศจีนหลั่งไหลเข้ามา  ฉะนั้นการค้าขายออนไลน์ในสมัยนี้ ไม่ง่ายเหมือนในอดีต เพราะเราต้องแข่งขันกับหลายคน ซึ่งทุกคนมีโอกาสเท่ากันและที่สำคัญเพื่อนบ้านเรา หรือคู่แข่งของเรา มีต้นทุนที่ต่ำกว่า ก็อาจเป็น โจทย์ที่ยากขึ้นมาอีก
“หากวิกฤติเศรษฐกิจกลับมา คนไทยปรับตัวได้ หรือไม่”
         ปรัชญ์อร  มองว่า หากเศรษฐกิจกลับมาเกิดเหตุการณ์ คล้ายกับวิกฤติต้มยำกุ้งอีกครั้ง คิดว่าคนไทยจะเริ่มปรับตัว ได้เพราะประเทศไทยมีต้นทุนที่ดีขึ้น คือ โครงสร้างพื้นฐานหรือสิ่งต่างๆที่สามารถรองรับได้ แต่ขณะเดียวกันนโยบายเศรษฐกิจต่างๆของรัฐบาล ต้องช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( SME) หรือคนกลุ่มเปราะบาง ที่อาจจะฟื้นตัวได้ยาก เพราะอาจมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการฟื้นตัว
“รบ. เร่งเข็น นโยบายให้ได้ตามที่หาเสียง” 
          สำหรับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ปรัชญ์อร บอกว่า มีความพยายามตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ  ที่จะดำเนินมาตรการต่างๆซึ่งเคยหาเสียงไว้ เช่น ขึ้นค่าแรง 400 บาท , เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ฯลฯ หลายอย่างรัฐบาลเดินหน้าที่จะทำตามนั้น แต่เงื่อนไขหรือข้อจำกัดต่างๆ  ต้องมอง 2 ด้านด้วยว่ามีอะไร รัฐบาลคงเห็นว่า การบริโภคของประเทศเปราะบางจริงๆ จำเป็นต้องมีเงินเข้าไปช่วย เพื่อบรรเทาปัญหา
         ขณะที่ค่าแรงต้องรอเดือนตุลาคม ( รัฐบาลตั้งธงจะปรับค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาท ในเดือน ต.ค.67)  ส่วนภาคอุตสาหกรรมมีการเรียกร้องค่อนข้างเยอะ เช่น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน  ( กกร.) พยายามส่งเสียงมาตลอดว่า ทำอย่างไรรัฐบาลจะเพิ่มเรื่องของเงินลงทุน ซึ่งภาครัฐและเอกชนเห็นว่าปัญหา คือ เรื่องของงบประมาณรายจ่ายที่ติดขัดอยู่  แต่ตอนนี้เรียบร้อยแล้ว ก็หวังว่าเงินส่วนต่างๆที่ค้างท่อ ในส่วนของงบประมาน คงจะไหลลงไปยังฐานรากของเศรษฐกิจ
“เม็ดเงินลงทุนยังไม่เห็นภาพชัด แม้เซลแมน โรดโชว์ ตปท.”
         ปรัชญ์อร บอกว่า  สำหรับเรื่องของเงินลงทุน อาจจะมีการถูกตั้งคำถามเยอะ เช่น นายกรัฐมนตรีเดินทางโรดโชว์หลายประเทศ พยายามที่จะชักชวนให้คนมา ร่วมโครงการแลนด์บริด  แต่ยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่า มีเม็ดเงินที่เข้ามาแล้วจริงๆ  ฉะนั้นถ้ามองเรื่องของแต่ละภาคส่วน ก็มีการพยายามทำอยู่ แต่เงินที่เข้าระบบจริงๆอาจจะไม่เร็วอย่างใจกับคนที่รอ
         ธนาคารแห่งประเทศไทย เคยวิเคราะห์เฉพาะเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีของภาครัฐ  จะกระทบอยู่ประมาณ 20% ถ้าไม่รวมกับอื่นๆที่ซ้ำเข้ามาด้วย ก็อาจจะมากไปกว่านั้น แต่ตอนนี้เราพยายามที่จะตีกรอบตรงนี้ว่า 20% น่าจะพอ มีเงินเข้ามาผลักดัน
         ปรัชญ์อร บอกว่า  ขณะที่ด้านส่งออกหรือท่องเที่ยว ซึ่งเคยเป็นตัวขับเคลื่อนหลักก็บางลง เพราะไม่ใช่หน้าไฮซีซั่นเหมือนในอดีต แต่ตัวเลขที่รัฐบาลพยายามชี้แจง  ว่ายังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังเข้ามาจับจ่ายใช้สอย ในประเทศไทย แม้อาจจะไม่มากเหมือนในอดีต หรือก่อนช่วงโควิด ขณะที่การส่งออกยังขยายตัวในระดับต่ำ ยังไม่เพียงพอที่จะฟื้นภาพรวมทั้งหมด  ดังนั้นอาจจะต้องรอไตรมาส 4 ที่อาจจะได้เห็นการขับเคลื่อนต่างๆออกมาชัดเจนมากขึ้น แต่คนไทยรอได้หรือไม่ ก็ต้องถามกลับว่า เราอยู่ในสถานะไหน เพราะประเทศไทยก็หนี้เยอะเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นหนี้รัฐหรือหนี้ภาคครัวเรือน
“ดิจิทัลวอลเล็ตมีประโยชน์ ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ”
         ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต  ที่รัฐบาลจะนำมากระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ปรัชญ์อร บอกว่า ประโยชน์มีแน่ๆ มันไม่จมหายอยู่แล้ว เงินที่เข้ามาในระบบ ถึงอย่างไรก็ต้องหมุน เคยมีการวิเคราะห์กันว่า ผู้ที่มีรายได้น้อยถ้าได้รับเงินมาเขาไม่เก็บไว้  ถ้าได้มาเขาใช้ทันที  เพราะเชื่อว่าเงินดังกล่าวจะเข้าไปหล่อเลี้ยงในระบบ  ร้านค้าต่างๆที่อยู่ตามชุมชน ซึ่งรัฐบาลวางแผนไว้ชัดเจนว่า ให้ใช้ในชุมชนเป็นหลัก  แม้ว่าจะไม่ได้เคาะชัดเจนว่าจะนำไปใช้ซื้อมือถือได้หรือไม่  หรือนำไปซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้หรือไม่
“ร้านค้าชุมชนได้อานิสงส์แน่ สะท้อนจากได้จากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”
            ปรัชญ์อร บอกว่า ต่อให้อนุญาตซื้อมือถือได้ แต่ประชาชนคงไม่ซื้อมือถือกันทุกคน อาจจะมีเงินบางส่วนที่ไปซื้อ สินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นแบบนั้นร้านค้าที่อยู่ตามชุมชน ก็จะมียอดขายหรืออานิสงส์ตรงนี้ เคยเห็นจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ เวลาเงินเข้าทุกเดือน คนที่มีรายได้น้อย 14 ล้านคน ที่ได้บัตรดังกล่าว ก็ใช้จ่ายตามชุมชน  แม้อาจจะมีการตั้งคำถามว่า ไม่ได้โปร่งใสทั้งหมด  แต่อย่างน้อย 300 บาทต่อคน 14 ล้านคน เงินเข้าแน่ๆ  เงินก็จะใช้จ่ายอยู่ในร้านค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านธงฟ้าประชารัฐ  ที่อยู่ในชุมชนต่างๆก็พอหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจฐานรากไปได้ในระดับหนึ่ง  แต่ส่วนตัวก็มองว่ายังมีมุมมองในเชิงบวก

ติดตามรายการ "ช่วยกันคิดทิศทางข่าว" วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม 2567 เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ร่วมกับ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5​