หนังสือถึงประธานรัฐสภาจากกลุ่มองค์กรภาคประชาชน ๑๖ องค์กร

หนังสือถึงประธานรัฐสภาจากกลุ่มองค์กรภาคประชาชน ๑๖ องค์กร
เรื่องขอให้ใช้กลไกรัฐสภาแก้วิกฤติการเมือง


เหตุการณ์ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ที่ทำให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต ๑๖ คน เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต ๖ คน และมีผู้บาดเจ็บกว่า ๘๐๐ คนนั้น เป็นการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตที่ทำให้ประเทศไทยยิ่งถลำลึกลงไปสู่ วิกฤตการณ์ของความรุนแรงและความแตกแยกมากยิ่งขึ้น

ก่อนที่ประเทศไทยจะถลำลึกยิ่งไปกว่านี้ ซึ่งต้องยอมรับว่าในวันนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยยังคงดำรงอยู่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย ต้องร่วมใช้กลไกรัฐสภาในแนวทางที่สร้างสรรค์ร่วมหาทางออกให้กับวิกฤติของ ประเทศในครั้งนี้ แทนที่จะออกไปใช้แนวทางนอกรัฐสภา ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมวิกฤติของประเทศและอาจทำให้ประชาชนหมดศรัทธาต่อความ เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยได้

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มองค์กรภาคประชาชนจำนวน ๑๖ องค์กร ดังรายนามข้างท้าย ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ใช้กลไกรัฐสภาเป็นเวทีในการแก้ปัญหาและนำพาประเทศไทยออกจากวิกฤตและช่วยกัน เปลี่ยนเส้นทางของประเทศไทยที่กำลังเดินหน้าไปสู่หายนะ โดยใช้ “สันติวิธี” และ “การเจรจา”และมีข้อเรียกเรียกร้องดังต่อไปนี้

๑. ขอให้ประธานรัฐสภาในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้นำให้การประสานงานเพื่อ นำวิกฤติการเมืองนอกรัฐสภาเข้ามาสู่การแก้ปัญหาในรัฐสภาโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้มีความขัดแย้งในหลายระดับ ทั้งปัญหาโครงสร้างทางการเมือง ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมและปัญหาช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย รัฐสภาต้องร่วมกันวางแนวทางการปฏิรูปสังคมและการเมืองเพื่อนำประเทศออกจาก วิกฤติในระยะยาวให้ได้

๒. ในปัญหาเฉพาะหน้า ประธานรัฐสภา ต้องประสานงานกับพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีส.ส.ในรัฐสภาโดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยนั่งโต๊ะเจรจาเพื่อ ก็ช่วยหาทางออกให้กับวิกฤติของประเทศ เพราะมีความเห็นพ้องต้องกันในสังคมแล้วว่า วิกฤตการณ์ทางการเมืองและความขัดแย้งของคนในประเทศควรจบที่การเลือกตั้ง สิ่งที่แตกต่างกันมีแต่เพียงว่าเราควรมีการเลือกตั้งเมื่อไร ซึ่งเป็นประเด็นที่พรรคการเมืองควรทำการตกลงร่วมกัน หากตกลงกันได้จะเป็นหนทางที่ประเทศไทยควรเลือกมากกว่าวิถีทางที่มุ่งหน้าไป สู่การแตกหักและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้อีก

๓. ประธาน รัฐสภาควรประสานความร่วมมือกับพรรคการเมืองทุกพรรคจัดทำวาระของฝ่าย นิติบัญญัติ ที่จำเป็นในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขความแตกแยกในสังคมและต้องร่วมกัน ผลักดันกฎหมายแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

สุดท้ายนี้ในนาม ๑๖ องค์กรภาคประชาชนขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาพึงตระหนักว่า ประชาธิปไตย คือการอยู่ร่วมกันให้ได้ภายใต้ความแตกต่าง ไม่ใช่การทำลายล้างกันไปข้างหนึ่ง ถ้าสังคมไทยช่วยกันใช้สันติวิธีและวิถีทางประชาธิปไตย เราจะสามารถเปลี่ยนเส้นทางของประเทศไทยจากที่กำลังเดินไปสู่หายนะ ให้กลับมาสู่เส้นทางที่จะออกจากวิกฤตการณ์โดยไม่เสียเลือดเนื้อได้ ซึ่งกลไกรัฐสภามีความสำคัญยิ่งที่จะช่วยกันคลี่คลายวิกฤติในครั้งนี้

รายนามองค์กร เครือข่ายที่ร่วมลงนาม

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
ศูนย์สันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป. อพช.)
เครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทย ทุกฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรง
เครือข่ายสันติวิธี
กลุ่มประชาชนผู้ไม่เอาสงครามกลางเมือง
กลุ่มนักวิชาการประชาธิปไตยเห็นต่างกันได้ แต่อย่าใช้ความรุนแรง
เครือข่ายจิตอาสา
คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ๓๕
เครือข่ายพุทธิกา
กลุ่มนักศึกษาใส่ใจไทย
องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.)
กลุ่มเยาวชนศึกษาสันติวิธี
ศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มูลนิธิชุมชนไท
๒๑ เมษายน ๒๕๕๓