ยุทธศาสตร์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๖

ยุทธศาสตร์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๖

การสื่อสารในยุคไร้พรมแดนได้พลิกโฉมหน้า ไม่เพียงสื่อสารระหว่างกันของผู้คนจะไร้ข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่เท่านั้น แต่สื่อมวลชนก็กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ท้าทาย จากการทำงานที่กำลังก้าวเข้าสู่ภาวะ“ไร้พรมแดน”อย่างแท้จริง นักข่าวหลายคนเริ่มถูกเรียกร้องจากต้นสังกัดให้นำเสนอข่าวครอบคลุมหลากหลายสื่อ ไม่จำกัดเฉพาะการเขียนข่าวเพื่อลงหนังสือพิมพ์เช่นเดิมอีกต่อไป การเสนอข่าวข้าม platform ในสถานการณ์ Media Convergence กำลังจะกลายเป็นสถานการณ์ปกติที่นักข่าวทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ต้องเผชิญ ไม่ช้าก็เร็ว

ที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์หลายฉบับพยายามดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด โดยเปิดช่องทางการสื่อสารให้กว้างขวางขึ้น ทั้งหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ข่าวสั้นผ่านมือถือ วิทยุออนไลน์ การสร้างแอพลิเคชั่น และหาช่องทางการประมูลทีวีดิจิตอล ขณะที่แนวโน้มการเพิ่มบุคลากรเพื่อรองรับภาระงานเหล่านั้นกลับสวนทาง สื่อหลายค่ายไม่มีนโยบายเพิ่มพนักงาน เป็นสัญญาณบ่งบอกชัดเจนว่านักข่าวที่จะดำรงหน้าที่ของตนไว้ได้ จำเป็นต้องปรับทักษะการทำงานให้สามารถนำเสนอข่าวได้หลากหลายประเภท ซึ่งสื่อแต่ละประเภทย่อมมีลักษณะเฉพาะ ทั้งเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างกันไป

ไม่เพียงความต้องการในด้านทักษะการนำเสนอข่าวผ่านสื่อต่างๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น แต่นักข่าวในฐานะที่เคยมีบทบาทหลักในการเสนอข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชน กำลังต้องเผชิญกับความท้าทายจากสถานการณ์การสื่อสารบนโลกออนไลน์ ซึ่งผู้ใช้สามารถเป็นทั้งผู้ส่งสาร และผู้รับสารได้ในคราวเดียว นักข่าวภาคพลเมือง(Media Citizenship) เกิดขึ้นแทบจะทุกวินาที หลายเหตุการณ์ทั่วโลก ประชาชนทั่วไปที่มีสมาร์ทโฟน สามารถรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้อย่างละเอียดและรวดเร็วก่อนที่นักข่าวภาคสนามจะไปถึงเหตุการณ์เสียอีก

สถานการณ์เช่นนี้มีนัยที่ชัดเจนว่า นักข่าวไม่สามารถดำรงอยู่ด้วยการรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบวันต่อวันได้อีกต่อไป สาธารณชนคาดหวังให้นักข่าวนำเสนอ“ข่าวเชิงลึก” ที่สะท้อนเบื้องลึกเบื้องหลังได้อย่างถึงแก่น ขณะเดียวกันก็ต้องการการวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ครอบคลุมทั้งมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมุ่งหวังให้สื่อแสดงบทบาทนำในการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จนนำไปสู่การหาทางออกในปัญหาต่างๆ ร่วมกันในสังคม

สื่อมวลยังทำหน้าที่ที่มีความท้าทายในทุกๆด้าน ทั้งด้านความขัดแย้ง ความแตกแยกในสังคมและการเมืองยังคงดำรงอยู่และยังไม่มีใครรู้ว่าความขัดแย้งดังกล่าวจะคลี่คลายตัวไปในทิศทางใด เช่นเดียวกันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทำให้เครือข่ายทางสังคมบนโลกอินเตอร์เน็ตขยายตัวอย่างรวดเร็ว เกิดสื่อใหม่ๆทั้งวิทยุชุมชน ทีวีดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี ทีวีดิจิตัล ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสิ่งพิมพ์และสื่อดั้งเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ส่งผลให้ความเป็นเจ้าของสื่อที่เคยผูกขาดโดยรัฐและทุนขนาดใหญ่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย ที่สำคัญสังคมไทยได้ยอมรับให้กลุ่มการเมืองต่างๆหรือพรรคการเมืองสามารถเป็นเจ้าของประเภทสื่อต่างๆไปโดยปริยาย

ความหลากหลายของสื่อทำให้เส้นแบ่งระหว่างสื่อมวลชนกับสื่อทั่วๆไปคลุมเครือ สื่อมวลชนที่เคยทำหน้าที่รายงานข่าวสาร ข้อมูล ข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน นำความจริงไปสู่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเที่ยงตรง เพื่อประโยชน์สาธารณะ(Public Interest)นั้น กลับมีบทบาทน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด แม้ในยามที่สื่อต้องดิ้นรนอย่างเต็มที่เพื่อความอยู่รอด แต่ในฐานะผู้ดำรงวิชาด้านงานข่าว นักข่าวไม่อาจปฏิเสธการดำเนินงานภายใต้กรอบจริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ จึงควรมีการทบทวนมาตรการตรวจสอบกันเองของสื่ออย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อให้การตรวจสอบการทำงานของสื่อมีพลังที่เข้มแข็ง

จึงมีเป้าหมาย“พัฒนาศักยภาพ ดูแลสวัสดิการ ส่งเสริมสวัสดิภาพ กระชับความสัมพันธ์กับนักข่าว”

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ พัฒนาศักยภาพนักข่าว

ยุทธศาสตร์ที่ ๒ ดูแลสวัสดิการ ส่งเสริมสวัสดิภาพ กระชับความสัมพันธ์กับนักข่าว

ยุทธศาสตร์ที่ ๓ เสรีภาพสื่อบนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคม

ยุทธศาสตร์ที่ ๔ สร้างภาคีสื่อในการขับเคลื่อนเพื่อหาทางออกในปัญหาสังคม

ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การสร้างเครือข่าย: วิชาชีพ วิชาการและ ภาคประชาชน

 

////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ พัฒนาศักยภาพนักข่าว

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสื่อในยุค Media Convergence นักข่าวจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ ด้วยการพัฒนาทักษะการทำข่าว ดังนี้

- การพัฒนาทักษะการเขียนข่าว/รายงานข่าว ผ่านสื่อใน platform ต่างๆ ครอบคลุมทั้งข่าวออนไลน์ และการรายงานข่าวโทรทัศน์/วิทยุ

- การทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ข่าวเชิงลึก ข่าวเชิงวิเคราะห์ รอบด้านทั้งมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

- การพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำข่าวที่ในบริบทที่กว้างขึ้น เช่น การทำข่าวในภูมิภาคอาเซียน

- ส่งเสริมให้นักข่าวมีเว็บไซต์ข่าวของตัวเอง โดยจะจัดให้มีโครงการอบรมการสร้างเว็บไซต์สำหรับสมาชิกและนักข่าวที่สนใจ

 

ยุทธศาสตร์ที่ ๒ ดูแลสวัสดิการ ส่งเสริมสวัสดิภาพ กระชับความสัมพันธ์กับนักข่าว

ท่ามกลางความท้าทายจากภาระหน้าที่ที่เพิ่มมากขึ้น นักข่าวหลายคนเริ่มต้องปฏิบัติงานหลายด้าน (Multi-tasks) ผ่านสื่อหลากหลายประเภท สวัสดิการและผลตอบแทนก็ควรได้รับการพิจารณาอย่างสมเหตุสมผลควบคู่ไปด้วย ขณะเดียวกันนักข่าวก็ควรมีสวัสดิภาพในการทำงานด้วย กล่าวคือ ขณะที่มีการเรียกร้องให้นักข่าวนำเสนอข่าวเชิงลึก วิเคราะห์วิจารณ์ และสะท้อนความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในสังคม ตัวนักข่าวเองก็ควรได้รับการปกป้องไม่ให้ถูกข่มขู่ คุกคาม ทั้งต่อร่างกายและจิตใจ เช่นเดินหน้าทำโครงการโครงการสวัสดิการรักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยนอกกับโรงพยาบาลต่างๆ การส่งเสริมให้สมาชิกสมาคมฯทำประกันสุขภาพ , อาจมีโครงการทำบัตรสมาชิกของสมาคมฯเป็น ที่มีสิทธิของสมาชิกปรากฎอยู่ในบัตร

ทั้งนี้ต้องให้การสนับสนุนสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นตัวกลางในการหารือกับองค์กรสื่อ เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายด้านผลตอบแทนและสวัสดิการแก่นักข่าวได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอต่อการดำรงชีพในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้จำเป็นต้องมีโครงการที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักข่าวภาคสนามกับสมาคนักข่าวฯ เป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสให้นักข่าวเข้ามาร่วมกิจกรรมกับสมาคมนักข่าวฯหรือเปิดช่องทางให้นักข่าวภาคสนามเสนอโครงการที่สอดคล้องกับความต้องการของนักข่าวในแต่ละพื้นที่และเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์อันดีของคนในวิชาชีพสื่อ โดยสมาคมนักข่าวฯให้การสนับสุนกิจกรรมดังกล่าวด้วยความจริงจัง

 

ยุทธศาสตร์ที่ ๓ เสรีภาพสื่อบนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคม

เมื่อสื่อมีการดำเนินงานในลักษณะหลอมรวม(Media Convergence) โดยที่ข่าวหนึ่งเรื่องอาจถูกนำเสนอผ่านช่องทางหลากหลาย การครอบงำทางความคิดโดยองค์รสื่อที่มีสื่อหลายประเภทในมือจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความระมัดระวัง การนำเสนอข่าวในยุคหลอมรวมนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกรอบจริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพกำกับ ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้จัดทำกรอบจริยธรรมและการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน ก้าวต่อไปควรมีการหามาตรการตรวจสอบกันเองของสื่ออย่างจริงจังและเห็นผลในทางปฏิบัติ ดังนี้

- การเปิดเวทีเสวนาร่วมกัน ระหว่างนักวิชาชีพ นักวิชาการ และองค์กรภาคประชาชน เพื่อวิพากษ์การทำงานของสื่อภายใต้กรอบจริยธรรมและกฎหมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างเส้นแบ่งของสื่อสารมวลชนที่ต้องทำหน้าที่ อาทิ การหาจุดสมดุลระหว่างความเป็นกลาง ความเป็นธรรม , การเลือกข้างของสื่อ, การครอบงำสื่อจากนายทุนและเจ้าของสื่อ, สื่อสารธารณะกับประเด็นอ่อนไหวในสังคม เป็นต้น

- การเปิดช่องทางสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการติดตามตรวจสอบการทำงานของสื่อภายใต้กรอบจริยธรรมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และต้องร่วมรณรงค์ให้สื่อมวลชนเห็นถึงจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ความถูกต้องเป็นธรรมอย่างแท้จริง ด้วยการกลั่นกรองข่าวที่จะนำเสนอด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและยึดประโยชน์สาธารณะ

- เฝ้าระวังไม่ให้เสรีภาพของสื่อทุกประเภทถูกละะเมิด แทรกแซงและคุกคาม

 

ยุทธศาสตร์ที่ ๔ สร้างภาคีสื่อในการขับเคลื่อนเพื่อหาทางออกในปัญหาสังคม

จากภาวะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม สื่อมวลชนถูกตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีส่วนจุดชนวนให้ความขัดแย้งยิ่งรุนแรงขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น สื่อควรแสดงบทบาทนำในการเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูล รับฟังเหตุผลที่แตกต่างหลากหลาย พร้อมร่วมกันคิด และหาทางออกให้กับสังคมด้วย เปิดเวทีสาธารณะผ่านโครงการราชดำเนินเสวนา สนับสนุนให้มีโครงการราชดำเนินสนทนา เพื่อนำนักข่าวที่มีประสบการณ์และมีความรู้ ความเข้าใจในปัญหาใดปัญหาหนึ่งมาแลกเปลี่ยนในเวทีเล็กๆกับนักข่าวด้วยกัน

รวมทั้งต้องให้ความสำคัญในการเข้าไปเรียนรู้การรายงานข่าวเพื่อสันติภาพในพื้นที่ในปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนใต้ มีโครงการสัมมนาร่วมกับนักข่าวในพื้นที่ โครงการพานักข่าวจากทุกสื่อลงไปในพื้นที่เพื่อร่วมเรียนรู้แลกเปลี่ยนปัญหากับประชาชนกลุ่มต่างๆในพื้นที่

 

 

ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การสร้างเครือข่าย: วิชาชีพ วิชาการและ ภาคประชาชน

จากสถานการณ์ของสื่อในยุคที่กำลัง ก้าวเข้าสู่การหลอมรวม (Media Convergence) ซึ่งมีการดำเนินงานข้ามสื่อ ดังนั้นองค์กรวิชาชีพด้านสื่อ ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และเครือข่ายนักวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน รวมทั้งองค์กรภาคประชาชน ควรมีการดำเนินกิจกรรมร่วมกันในลักษณะเครือข่าย เพื่อให้การจัดทำโครงการและกิจกรรมต่างๆ (ตามยุทธศาสตร์ ๑ – ๓) เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 

นอกเหนือจากเครือข่ายระดับประเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยยังควรสืบสานความสัมพันธ์ที่ดีต่อเครือข่ายองค์กรสื่อระดับนานาชาติ โดยเฉพาะองค์กรวิชาชีพสื่อในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญที่รองรับการทำงานร่วมกันในประชาคมอาเซียน.

 

///////////////////////////////////////////////////////

ดาวโหลด ยุทธศาสตร์ สมาคมนักข่าวฯ (doc)

ดาวโหลด ยุทธศาสตร์ สมาคมนักข่าวฯ (pdf)