อัพเดท(20เม.ย.)ร่าง กม.คุมสื่อฯ กมธ.สื่อ สปท.
(ยังมีประเด็นปรับปรุง เรื่อง กก.ตั้งสภาวิชาชีพชั่วคราว (ส่วน กก.จากสื่อภูมิภาค)
ภาคผนวก ก
ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม
และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ....
ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน
ที่เสนอต่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)
บันทึกวิเคราะห์
สรุปสาระสำคัญร่างพระราชบัญญัติ
การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
พ.ศ. ....
๑. เหตุผลและความจำเป็นในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ
โดยที่เห็นสมควรให้มีการปฏิรูปด้านการสื่อสารมวลชน เนื่องจากการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
มีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างสรรค์และพัฒนาสังคม อีกทั้งสามารถส่งผลกระทบต่อสาธารณชน
อย่างกว้างขวาง ทั้งในมิติของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนความมั่นคงของประเทศ แต่ด้วยภูมิทัศน์สื่อ
ที่เปลี่ยนไปกอปรเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีพัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว และด้วยพัฒนาการของสื่อที่กลายเป็นอุตสาหกรรมอันมีเป้าหมายในเชิงธุรกิจมากกว่าอุดมการณ์และความรับผิดชอบต่อสังคมอีกประการหนึ่ง
การกำกับดูแลสื่อจากการกำกับดูแลตัวเองแต่เพียงประการเดียวในปัจจุบันจึงไม่เพียงพอ ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ภายใต้กรอบจริยธรรม ก็จำเป็นต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระ เสรีภาพที่จะรายงานข่าวบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง อย่างถูกต้อง ครบถ้วนและ รอบด้านซึ่งสมควรต้องมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้สื่อมวลชนได้ทำหน้าที่ตามวิชาชีพนั้นด้วยความเที่ยงธรรมไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของนายจ้าง หรือหน่วยงานใด ในส่วนภาคประชาชน ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ควรมีบทบาทและส่วนร่วมในการกำกับดูแลสื่อมากว่าการใช้มาตรการทางสังคม เพียงประการเดียว
เพื่อให้การปฏิรูปการกำกับดูแลสื่อมีประสิทธิภาพ มีสภาพบังคับที่เพียงพอและเหมาะสม
จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการด้วยระบบและกลไกทางกฎหมาย ซึ่งรวมทั้งการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ
ของสื่อ ตลอดจนการสนับสนุนให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการกำกับ ดูแลสื่อด้วย
จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
๒. สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
๒.๑ สาระสำคัญโดยภาพรวมของร่างพระราชบัญญัติ
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดโครงสร้างของกฎหมาย โดยมุ่งเน้นให้มีการจัดตั้ง “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” เป็นองค์การหลักที่จะทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชนส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพ และให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้
เสรีภาพของสื่อมวลชน โดยมีหลักการสำคัญให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเป็นองค์การกลางในการส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนในทุกลำดับชั้นอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการกำกับดูแลตนเองของผู้ประกอบวิชาชีพโดยองค์กรสื่อมวลชนในระดับชั้นที่ ๑ การกำกับการดูแลกันเอง โดยองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนในระดับชั้นที่ ๒ และการกำกับดูแลร่วม โดยสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ในระดับชั้นที่ ๓
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกซึ่งเป็นองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนที่สมัครใจเข้าเป็นสมาชิกและต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ใน
ร่างพระราชบัญญัตินี้ โดยสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติจะเป็นผู้ออก “ใบรับรองสมาชิกสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” ให้แก่องค์การวิชาชีพสื่อมวลชนดังกล่าวเมื่อได้จดแจ้งเป็นสมาชิกแล้ว ดังนั้น
การดำเนินมาตรการตามร่างพระราชบัญญัตินี้ จะครอบคลุมคุ้มครององค์การวิชาชีพสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิกรวมถึงผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและองค์กรสื่อมวลชนที่ได้จดแจ้งและรวมตัวกันเป็นสมาชิกขององค์การวิชาชีพสื่อมวลชนนั้นเท่านั้น
ดังนั้น หากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน หรือองค์กรสื่อมวลชน ที่มีความประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ จะต้องรวมกลุ่มจดแจ้งเป็นองค์กรสื่อมวลชน ตามมาตรา ๖ เพื่อจดแจ้งเป็นองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน และเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ทั้งนี้ จะต้องปรากฏคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ แห่งร่างพระราชบัญญัตินี้ กล่าวคือ ต้องมีการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนบังคับใช้เป็นการภายใน มีหลักฐาน
เชิงประจักษ์ในการบังคับใช้มาตรฐานจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และมีการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและองค์กรสื่อมวลชนในแขนงต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค หรือจังหวัด และส่งเสริมกลไกการกำกับดูแลกันเองทางจริยธรรมสื่อมวลชนให้มีความเข้มแข็ง โปร่งใส มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน
๒.๒ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติตามโครงสร้างทางกฎหมาย
เพื่อให้การดำเนินงานของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและ
ยกมาตรฐานทางวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นที่เชื่อถือเช่นเดียวกับสภาวิชาชีพอื่นๆ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
ได้กำหนดระบบมาตรการกลไกที่สำคัญ ดังนี้
๑. องค์กรสื่อมวลชน
ร่างพระราชบัญญัตินี้มีเจตนารมณ์ที่สำคัญ ต้องการให้มีกลไกการกำกับดูแลกันเองทางจริยธรรมสื่อมวลชนเป็นลำดับชั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนของระบบกลไกการกำกับดูกันเองที่ชัดเจน
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงกำหนดให้ “องค์กรสื่อมวลชน” เป็นกลไกการกำกับดูแลตนเอง ซึ่งเป็นการกำกับดูแล ในระดับชั้นที่ ๑ โดยกำหนดให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายยื่นเรื่องร้องเรียนต่อองค์กรสื่อมวลชนได้ภายใน ๑๕ วัน และเมื่อองค์กรสื่อมวลชน พิจารณาและวินิจฉัยเป็นประการใดแล้ว ผู้ได้รับความเสียหายมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อองค์การวิชาชีพสื่อที่องค์กรสื่อมวลชนนั้นเป็นสมาชิกได้ ภายใน ๓๐ วัน (มาตรา ๖ ถึง มาตรา ๑๒)
๒. องค์การวิชาชีพสื่อมวลชน
ร่างพระราชบัญญัตินี้ กำหนดให้องค์การวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นสมาชิกสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ฉะนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรสื่อมวลชน ที่มีความประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ จะต้องรวมตัวกัน เพื่อจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน โดยต้องมีการยื่นหลักฐานและมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด
กฎหมายกำหนดให้ “องค์การวิชาชีพสื่อมวลชน” เป็นกลไกการกำกับดูแลตนเอง ซึ่งเป็นการกำกับดูแล ในระดับชั้นที่ ๒ มีหน้าที่กำกับดูแลองค์กรสื่อมวลชนซึ่งเป็นสมาชิกกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งสังกัดอยู่ ให้ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานและแนวปฏิบัติด้านจริยธรรมที่กำหนด รวมทั้ง จะต้องดำเนินการพิจารณารับเรื่องร้องเรียนและกำหนดบทลงโทษให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้ เมื่อผู้ได้รับความเสียหาย ได้ร้องเรียนมายังองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนแล้ว ให้องค์การวิชาชีพสื่อมวลชน รีบดำเนินการส่งเรื่องไปยังองค์กรสื่อมวลชนซึ่งเป็นสมาชิกขององค์การ ดำเนินการตามกระบวนการ ขั้นตอนการพิจารณาและวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนตามข้อบังคับที่ได้จดแจ้งไว้แล้ว หากองค์กรสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิกดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด องค์การวิชาชีพสื่อมวลชน มีสิทธิที่จะพิจารณาเรื่องร้องเรียนแทนสมาชิกหรือ พิจารณาไปฝ่ายเดียวได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน มีคำวินิจฉัยประการใดแล้ว หากผู้ที่ได้รับความเสียหายไม่พอใจ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติได้ ภายในกำหนด ๓๐ วัน ซึ่งเป็นไปตามระบบกลไกการกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมสื่อมวลชน ตามที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดไว้ (มาตรา ๑๓ ถึง มาตรา ๒๗)
๓. สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดโครงสร้างของกฎหมายโดยมุ่งเน้นให้มีการจัดตั้ง “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” เป็นองค์การหลักหรือองค์การกลางที่จะทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชนส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพ และให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพของสื่อมวลชนกฎหมายกำหนดให้“สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” เป็นกลไกการกำกับดูแลร่วม ซึ่งเป็นการกำกับดูแลในระดับชั้นที่ ๓ มีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชน ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพของสื่อมวลชน และกำกับดูแล ส่งเสริม สนับสนุน ให้เกิดการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนในทุกลำดับชั้นอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการกำกับดูแลตนเองของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยองค์กรสื่อมวลชนในระดับชั้นที่ ๑ และการกำกับดูแลกันเองโดยองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน ในระดับที่ชั้นที่ ๒ โดยกำหนดให้สภาวิชาชีพแห่งชาติ เป็นกลไกกำกับดูแลในระดับชั้นที่ ๓ ซึ่งเป็นการกำกับดูแลร่วมโดยกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่
๑. รับขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพกำหนด
๒. รับจดแจ้งองค์กรสื่อมวลชนตามมาตรา ๖ หรือองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนตามมาตรา ๑๓ และเพิกถอนการจดแจ้งสมาชิกภาพของสมาชิกสภาวิชาชีพตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพกำหนด
๓. รับพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ที่ผู้เสียหายหรือผู้ร้องเรียนอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการพิจารณาวินิจฉัยขององค์การวิชาชีพสื่อมวลชนตามมาตรา ๑๘
๔.กำกับดูแลและวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนที่ผู้เสียหายหรือผู้ร้องเรียนมีต่อผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน หรือองค์กรสื่อมวลชน หรือองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนที่ไม่ได้จดแจ้งตามพระราชบัญญัตินี้ หรือที่ถูกเพิกถอนสมาชิกสภาพ ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานกลางหรือข้อบังคับที่สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติประกาศกำหนด
๕.ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติและอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
ทั้งนี้ กลไกการดำเนินงานของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้มีการดำเนินงานโดยผ่านกลไกของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ คณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน
๑. คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
ร่างพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” จำนวน ๑๓ คน ประกอบด้วย ผู้แทนสมาชิกสภาวิชาชีพ จำนวนห้าคน
ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
ปลัดกระทรวงการคลัง และกรรมการอื่นอีกจำนวนสี่คน โดยกำหนดให้เพิ่มสัดส่วนของผู้แทนภาครัฐ
จำนวน ๔ คน ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการและภาคประชาชน จำนวน ๔ คน เป็นกรรมการสภาวิชาชีพสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจและความหลากหลาย
อำนาจหน้าที่ที่สำคัญของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
(๑) บริหารกิจการของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
ในมาตรา ๒๙
(๒) กำหนดมาตรฐานกลางและพัฒนามาตรฐานกลางให้มีพัฒนาการทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
(๓) พิจารณากำหนดโทษตามมาตรา ๘๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ในกรณีที่มีการร้องเรียนว่า องค์การวิชาชีพสื่อมวลชนไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
(๔) เผยแพร่ผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการสภาวิชาชีพตามพระราชบัญญัตินี้ต่อสาธารณชน
(๕) กำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่รวมถึงการบริหารงานทั่วไป การบริหารงานบุคคล การเงิน การพัสดุ และการจัดการทรัพย์สิน และการอื่นใด ที่จำเป็นในการบริหารงานของสภาวิชาชีพสื่อมวลแห่งชาติ
(๖) พิจารณาเรื่องร้องเรียน ในกรณีมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตามมาตรา ๗๙ หรือกรณีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชนตามมาตรา ๑๘ และมีการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการองค์การวิชาชีพมายังคณะกรรมการสภาวิชาชีพ
(๗) กำกับดูแลการดำเนินงานและการบริหารงานทั่วไปของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
(๘) ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น
๒. คณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน
ร่างพระราชบัญญัตินี้ กำหนดให้มีคณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน ประกอบด้วย
ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการจริยธรรมจากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและ กรรมการจริยธรรมที่เป็นผู้แทนอื่นอีกจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสี่สิบของจำนวนกรรมการทั้งหมด เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการกำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมสื่อมวลชน ให้ความคุ้มครองและเป็นธรรมแก่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนโดยฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชน โดยเฉพาะสัดส่วนกรรมการจริยธรรมที่เป็นผู้แทนอื่นอีก ได้กำหนดให้มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสี่สิบของจำนวนกรรมการทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความหลากหลาย และการถ่วงดุลอำนาจของคณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน ซึ่งจะเป็นการสร้างความน่าชื่อถือและเป็นที่ยอมรับให้กับสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
๓. อำนาจหน้าที่ที่สำคัญของคณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน
(๑) พิจารณาเสนอต่อคณะกรรมการสภาวิชาชีพให้มีการส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมสื่อมวลชนขององค์การสมาชิก ปรับปรุงและพัฒนามาตรฐานจริยธรรมสื่อมวลชน
(๒) พิจารณาอุทธรณ์ที่คัดค้านคำวินิจฉัยขององค์การวิชาชีพสื่อมวลชนจากผู้ได้รับความเสียหายหรือผู้ร้องเรียนอันเกิดจากการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนโดยฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชนตามที่บัญญัติไว้ใน หมวด ๒
(๓) พิจารณาเรื่องที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพเห็นว่าเป็นการกระทำอันฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชน หรือลงโทษสมาชิกที่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชนตามพระราชบัญญัตินี้
(๔) นำเสนอข้อวินิจฉัย หรือยกข้อร้องเรียน หรือสั่งให้ดำเนินการเยียวยาหรือลงโทษสมาชิก ที่ถูกร้องเรียนอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตามมาตรา ๘๖ ต่อคณะกรรมการสภาวิชาชีพเพื่อพิจารณา
๔. การประชุมใหญ่ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
กำหนดให้มีการประชุมใหญ่ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยเฉพาะการกำหนดจำนวนของสมาชิกที่จะร้องขอเพื่อให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ซึ่งกำหนดให้สมาชิกมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่ง
ในห้าขององค์การ มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ทั้งนี้ เพื่อให้มีการจัดประชุมใหญ่วิสามัญสามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้น และเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
ได้มีโอกาสติดตาม ตรวจสอบ การดำเนินงานของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
๕. มาตรฐานจริยธรรมสื่อมวลชน
กำหนดมุ่งเน้นให้องค์การวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพแห่งชาติต้องกำกับดูแลให้องค์กรสื่อมวลชนกำกับดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพที่ปฏิบัติงานให้แก่องค์กรสื่อมวลชนประพฤติตน
ตามมาตรฐานจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนหรือไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติกำหนด มิฉะนั้น หากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามให้ถือเสมือนหนึ่งว่าองค์กรสื่อมวลชน หรือสมาชิกสภาวิชาชีพเป็นผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานและต้องรับโทษตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้ง กำหนดมาตรฐานกลางของจริยธรรมสื่อมวลชน ที่สมาชิกจะต้องยึดถือ และปฏิบัติตาม เพื่อให้การประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอยู่บนหลักจริยธรรม จรรยาบรรณและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อให้องค์กรเป็นที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของสังคม
๖. การส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
กำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน โดยคณะกรรมการสภาวิชาชีพต้องส่งเสริมจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพให้แก่สมาชิก เผยแพร่มาตรฐานจริยธรรมสื่อหรือมาตรฐานกลางตามร่างพระราชบัญญัตินี้ให้ประชาชนได้รับทราบ ตลอดจนติดตามประเมินผลการปฎิบัติตามมาตรฐานกลาง
การกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมสื่อมวลชนและยกย่องสมาชิกที่เป็นแบบอย่างที่ดี
๗. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
กำหนดให้มีมาตรการการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่ได้กำหนดบทยกเว้นให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน เช่น กรมประชาสัมพันธ์ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ผ่านประชามติ มาตรา ๓๕ วรรคหก ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ แต่ให้คำนึงถึงวัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดอยู่
๘. มาตรการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
กำหนดให้มีมาตรการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ มีสิทธิยื่นเรื่องร้องเรียนให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพ เพื่อพิจารณาและให้ความเป็นธรรมและเยียวยาความเสียหายได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักการเดิมตามร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ (ฉบับ สปท.)
๙ .มาตรการคุ้มครองประชาชนจากการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
กำหนดให้มีมาตรการคุ้มครองประชาชนจากการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้สอดคล้องกับกลไกการกำกับดูแลตามที่ร่างพระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้
(๑) กำหนดหลักเกณฑ์กระบวนการพิจารณาและวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนซึ่งเป็นมาตรการคุ้มครองประชาชนจากการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับระบบกลไกกำกับดูแลทางจริยธรรมสื่อมวลชน ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินี้ ได้กำหนดไว้ ๓ ระดับชั้น ได้แก่
- ระดับชั้นที่ ๑ การกำกับดูแลตนเอง ขององค์กรสื่อมวลชน
- ระดับชั้นที่ ๒ การกำกับดูแลกันเอง ของ องค์การวิชาชีพสื่อมวลชน
- ระดับชั้นที่ ๓ การกำกับดูแลร่วม ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
(๒) กระบวนการร้องเรียนและดำเนินการสอบสวนการละเมิดจรรยาบรรณวิชาชีพของสื่อมวลชน เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย หากคู่กรณีมีการใช้สิทธิทางศาลและศาลยุติธรรมรับเรื่องเพื่อพิจารณาคดีแล้วก็ควรให้สภาวิชาชีพสื่อสารมวลชนแห่งชาติ สามารถดำเนินการพิจารณาคู่ขนานไปได้ ไม่ควรยุติกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนไว้หรือรอการพิจารณาของศาลเพียงอย่างเดียว ควรดำเนินการเพื่อให้ได้ผลสรุปโดยเร็ว
ทั้งนี้ เพราะกระบวนการพิจารณาของศาลมีความล้าช้า ฉะนั้น จึงไม่ควรตัดสิทธิหรือช่องทางของผู้ร้องเรียนหรือไม่ควรจำกัดอำนาจของคณะกรรมการในการที่จะดำเนินกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียน
๑๐. บทกำหนดโทษ
กำหนดบทลงโทษผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรสื่อมวลชน หรือองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ได้รับโทษตามมาตรา ๘๖ (๑) (๒) (๓) แต่ไม่ปฏิบัติตาม ด้วยการกำหนดมาตรการบังคับทางปกครอง เป็นโทษปรับทางปกครองออกเป็น ๓ ระดับชั้น โดยใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก
๑๑. บทเฉพาะกาล
กำหนดกระบวนการเตรียมความพร้อมเพื่อการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติโดยกำหนดให้มีคณะทำงานเพื่อเตรียมการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ จำนวน ๑๓ คน ประกอบด้วย ผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนองค์กรอิสระ ผู้แทนองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน ผู้แทนสภาวิชาชีพ และภาคประชาชน ทำหน้าที่ดำเนินกิจการใดๆให้เป็นไปตามที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งสภาวิชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยมีกำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมให้แล้วเสร็จภายในกำหนดสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้
กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในองค์กรสื่อมวลชนต่างๆ ต้องขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต่อสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา ๓๐ (๑) ที่กำหนดให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ในการรับจดทะเบียน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
บันทึกหลักการและเหตุผล
ประกอบร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม
และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ....
_____________
หลักการ
ให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
เหตุผล
โดยที่เห็นสมควรให้มีการปฏิรูปด้านการสื่อสารมวลชน เนื่องจากการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างสรรค์และพัฒนาสังคม อีกทั้งสามารถส่งผลกระทบต่อสาธารณชน
อย่างกว้างขวาง ทั้งในมิติของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนความมั่นคงของประเทศ แต่ด้วยภูมิทัศน์สื่อ
ที่เปลี่ยนไป ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารประการหนึ่ง ด้วยพัฒนาการของสื่อที่กลายเป็นอุตสาหกรรม
อันมีเป้าหมายในเชิงธุรกิจมากกว่าอุดมการณ์และความรับผิดชอบต่อสังคมอีกประการหนึ่ง การกำกับดูแลสื่อ
จากการกำกับดูแลตัวเองแต่เพียงประการเดียวในปัจจุบันจึงไม่เพียงพอ ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ทัน
ต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ภายใต้กรอบจริยธรรม ก็จำเป็นต้องมีหลักประกัน
ความเป็นอิสระ เสรีภาพที่จะรายงานข่าวบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง อย่างถูกต้อง ครบถ้วนและ รอบด้าน
ซึ่งสมควรต้องมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้สื่อมวลชนได้ทำหน้าที่ตามวิชาชีพนั้นด้วยความเที่ยงธรรม
ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของนายจ้าง หรือหน่วยงานใด ในส่วนภาคประชาชน ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
จากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ควรมีบทบาทและส่วนร่วมในการกำกับดูแลสื่อมากว่าการใช้มาตรการ
ทางสังคม เพียงประการเดียว
เพื่อให้การปฏิรูปการกำกับดูแลสื่อมีประสิทธิภาพ มีสภาพบังคับที่เพียงพอและเหมาะสม จำเป็น
อย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการด้วยระบบและกลไกทางกฎหมาย ซึ่งรวมทั้งการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อ ตลอดจนการสนับสนุนให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการกำกับ ดูแลสื่อด้วย จึงจำเป็น
ต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ร่าง
พระราชบัญญัติ
การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
พ.ศ. ....
_____________
...............................
...............................
...............................
.................................................................................................................................................................................................................
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
.................................................................................................................................................................................................................
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ....”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“สื่อมวลชน” หมายความว่า สื่อกลางหรือช่องทางที่ใช้เพื่อการนำข่าวสาร สาร และเนื้อหาสาระเพื่อประโยชน์สาธารณะทุกประเภทไปสู่มวลชน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง
วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปแบบใดตามพัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสารที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป”
“ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพเป็นสื่อกลาง เพื่อนำข่าวสาร สาร และเนื้อหาเพื่อประโยชน์สาธารณะทุกประเภทไปสู่มวลชนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดอย่างเป็นปกติธุระหรือทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนเป็นประจำจากเจ้าของสื่อ หรือมีรายได้จากการงาน
ที่กระทำนั้น ไม่ว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม
“จริยธรรมสื่อมวลชน” หมายความว่า การประพฤติปฏิบัติทางวิชาชีพสื่อมวลชนที่สังคมยอมรับตามที่สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติกำหนดสำหรับผู้เป็นสมาชิก หรือตามที่คณะกรรมการกำหนดตาม
มาตรา ๔๕ (๒)
“องค์กรสื่อมวลชน” หมายความว่า คณะบุคคลไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม หรือผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นและได้จดแจ้งตามพระราชบัญญัตินี้
“องค์การวิชาชีพสื่อมวลชน” หมายความว่า กลุ่ม หรือคณะบุคคล สมาคม สมาพันธ์ หรือเรียกชื่ออื่นใด ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรสื่อมวลชน และได้จดแจ้งตามพระราชบัญญัตินี้
“มาตรฐานกลาง” หมายความว่า มาตรฐานกลางของจริยธรรมสื่อมวลชนตามมาตรา ๕๗
แห่งพระราชบัญญัตินี้
“ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติออกให้แก่
ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตามพระราชบัญญัตินี้
“คณะกรรมการองค์การวิชาชีพ” หมายความว่า คณะกรรมการองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน
“สมาชิกองค์การวิชาชีพ” หมายความว่า สมาชิกองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน
“คณะกรรมการสภาวิชาชีพ” หมายความว่า คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
“สมาชิกสภาวิชาชีพ” หมายความว่า สมาชิกสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
“นายทะเบียน” หมายความว่า นายทะเบียนสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รับจดแจ้งองค์กรสื่อมวลชน และองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔ บทบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
มาตรา ๕ ให้นายกรัฐมนตรี รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมวด ๑
องค์กรสื่อมวลชน
มาตรา ๖ องค์กรสื่อมวลชน ต้องจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๗ การจดแจ้งต้องยื่นแบบการจดแจ้งและหลักฐานซึ่งต้องมีรายการดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อสัญชาติถิ่นที่อยู่ของผู้เป็นเจ้าของกิจการ หรือผู้รับใบอนุญาต หรือผู้จดทะเบียนการอนุญาตให้ใช้โครงข่าย หรือช่องทาง หรือ ช่องทางการสื่อสารทางอิเล็คทรอนิคส์ แล้วแต่กรณี
(๒) ชื่อขององค์กรสื่อมวลชน
(๓) วัตถุประสงค์ของการประกอบกิจการ
(๔) สถานที่ที่ใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจการและสาขา
(๕) ประกาศ หรือ คำสั่ง แต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรมขององค์กร ที่ประกอบไปด้วยตัวแทนภาคประชาชนและผู้ทรงคุณวุฒิ อย่างน้อยร้อยละสี่สิบของจำนวนกรรมการทั้งหมด
(๖) มาตรฐานข้อกำหนดและแนวปฏิบัติด้านจริยธรรมขององค์กรสื่อมวลชน
(๗) ข้อบังคับว่าด้วยกระบวนการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียน ซึ่งประกอบไปด้วย
ก. ช่องทางการรับเรื่องที่ต้องประชาสัมพันธ์ให้สาธารณะทราบอย่างแพร่หลายและต่อเนื่อง
ข. ขั้นตอนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่โปร่งใส ชัดเจน ตรวจสอบได้ และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
ค. บทลงโทษที่ชัดเจนแน่นอน มีสภาพบังคับที่เหมาะสม เป็นที่ยอมรับและสามารถบังคับใช้ได้
(๘) ทะเบียนรายชื่อของผู้ประกอบวิชาชีพที่สังกัดในองค์กรสื่อมวลชน
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแบบการจดแจ้งและหลักฐานตามวรรคสองแล้ว ให้รับจดแจ้งและออกหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งให้แก่ผู้ยื่นจดแจ้งโดยไม่ชักช้า เว้นแต่ผู้ยื่นจดแจ้งยังดำเนินการไม่ถูกต้องหรือครบถ้วน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แนะนำให้ผู้ยื่นจดแจ้งดำเนินการให้ถูกต้องและครบถ้วนทุกเรื่องในคราวเดียวกันภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแบบการจดแจ้งและหลักฐานการจดแจ้ง เมื่อได้ดำเนินการถูกต้องและครบถ้วนให้รับจดแจ้งพร้อมออกหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งให้แก่ผู้แจ้งโดยพลัน หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นจดแจ้ง การจดแจ้งการเปลี่ยนรายการ หลักฐานการจดแจ้ง การยกเลิกหลักฐานการจดแจ้ง การกำหนดแบบการจดแจ้งและอัตราค่าธรรมเนียมการจดแจ้ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพประกาศกำหนด
มาตรา ๘ เจ้าของกิจการ หรือผู้รับใบอนุญาต หรือผู้จดทะเบียนการอนุญาต เป็นองค์กรสื่อมวลชนตามมาตรา ๗ (๑) มีหน้าที่กำกับดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพในองค์กรสื่อมวลชน ดำเนินการ
ตามมาตรา ๓๐ (๑) และปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามมาตรฐานและแนวปฏิบัติด้านจริยธรรมที่กำหนด
รวมตลอดถึงมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินกระบวนการพิจารณารับเรื่องร้องเรียนและกำหนดบทลงโทษให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามที่จดแจ้งไว้
มาตรา ๙ ผู้ได้รับความเสียหายจากการนำเสนอข่าวสาร สาร และเนื้อหาที่ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรม
ขององค์กรสื่อมวลชนใด มีความประสงค์จะได้รับความคุ้มครองหรือเยียวยาความเสียหายให้ยื่นหนังสือร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรต่อองค์กรสื่อมวลชนนั้นภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่รู้หรือถือว่าได้รู้ถึงการกระทำที่ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมที่องค์กรสื่อมวลชนกำหนด
มาตรา ๑๐ เมื่อองค์กรสื่อมวลชนได้รับเรื่องร้องเรียนตามมาตรา ๙ แล้ว ให้ดำเนินกระบวนการไปตามข้อบังคับว่าด้วยกระบวนการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่ได้จดแจ้งไว้ขององค์กรสื่อมวลชนและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องเรียนทราบภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องเรียน
มาตรา ๑๑ ผู้ได้รับความเสียหายหรือผู้ร้องเรียนที่ไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาขององค์กรสื่อมวลชน
มีสิทธิยื่นคำอุทธรณ์ต่อองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน ตามมาตรา ๑๕ (๕) ที่องค์กรสื่อมวลชนสังกัดอยู่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบผลการพิจารณา
มาตรา ๑๒ องค์กรสื่อมวลชนมีหน้าที่รายงานและเปิดเผยผลการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนในแต่ละปีปฏิทินให้องค์การวิชาชีพสื่อมวลชนที่สังกัดและสาธารณชนทราบ
หมวด ๒
องค์การวิชาชีพสื่อมวลชน
ส่วนที่ ๑
บททั่วไป
มาตรา ๑๓ ให้องค์กรสื่อมวลชนตามมาตรา ๖ ไม่น้อยกว่าสิบองค์กรและมีผู้ประกอบวิชาชีพรวมกัน
ไม่น้อยกว่าห้าร้อยคน ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่ม หรือคณะบุคคล สมาคม สมาพันธ์ หรือที่เรียกชื่ออื่นใด
ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม เพื่อกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรม ต้องจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนตามประเภทของการกำกับดูแลกันเองที่สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
ประกาศกำหนด
มาตรา ๑๔ การจดแจ้งต้องยื่นแบบการจดแจ้งและหลักฐานซึ่งต้องมีรายการดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อที่ประสงค์จะใช้เป็นชื่อขององค์การวิชาชีพสื่อมวลชน
(๒) ชื่อและรายละเอียดขององค์กรสื่อมวลชนที่แสดงความจำนงรวมตัวกันเป็นสมาชิก
(๓) วัตถุประสงค์ขององค์การวิชาชีพสื่อมวลชน
(๔) สถานที่ที่ใช้เป็นสถานที่ตั้งหรือสาขา
(๕) ประกาศ หรือคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรมขององค์การวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ประกอบไปด้วยตัวแทนภาคประชาชนและผู้ทรงคุณวุฒิ อย่างน้อยร้อยละสิบของจำนวนกรรมการ
(๖) มาตรฐานข้อกำหนดและแนวปฏิบัติด้านจริยธรรมขององค์การวิชาชีพสื่อมวลชนที่องค์กรสื่อ
ที่เป็นสมาชิกให้การรับรอง
(๗) ข้อบังคับว่าด้วยการสรรหาคัดเลือกคณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการจริยธรรม การประชุมใหญ่และการลงมติ ขององค์การวิชาชีพสื่อมวลชน
(๘) ข้อบังคับว่าด้วยกระบวนการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนประกอบไปด้วย
ก. ช่องทางการรับเรื่องที่ต้องประชาสัมพันธ์ให้สาธารณะทราบอย่างแพร่หลายและต่อเนื่อง
ข. ขั้นตอนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่โปร่งใส ชัดเจน ตรวจสอบได้ และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
ค. บทลงโทษที่ชัดเจนแน่นอน มีสภาพบังคับที่เหมาะสม เป็นที่ยอมรับและสามารถบังคับใช้ได้ในระหว่างองค์กรสื่อมวลชน
ง. ทะเบียนรายชื่อขององค์กรวิชาชีพที่สังกัดในองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนที่รวมตัวกัน
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแบบการจดแจ้งและหลักฐานตามวรรคสองแล้ว ให้นำมาตรา ๗ วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๕ องค์การวิชาชีพสื่อมวลชนต้องมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานดังนี้
(๑) ส่งเสริม สนับสนุนและกำกับดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนของสมาชิก สามารถปฏิบัติงานภายใต้มาตรฐานจริยธรรมแห่งวิชาชีพตามที่ประกาศกำหนด
(๒) คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนของสมาชิกควบคู่ไปกับความรับผิดชอบ และคุ้มครองสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชนรวมถึงการป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่ไม่เป็นธรรมแก่ผู้รับข้อมูลข่าวสาร
(๓) ส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานจริยธรรมของสมาชิกให้มีความครบถ้วน ครอบคลุมทุกด้านและสอดคล้องกับพัฒนาการความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
(๔) พิจารณาทบทวนและปรับปรุงข้อบังคับและมาตรฐานด้านจริยธรรมของสมาชิกให้มีความทันสมัยเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการพิจารณาเรื่องร้องเรียนแก่ผู้เสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(๕) ทบทวนคำวินิจฉัย หรือคำสั่ง ของสมาชิก กรณีผู้เสียหายร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ได้รับการเยียวยาจากสมาชิก
(๖) ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงรักษาไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนของสมาชิก
(๗) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันสื่อ
(๘) ติดตามตรวจสอบการทำงานของสมาชิก
มาตรา ๑๖ องค์การวิชาชีพสื่อมวลชนมีหน้าที่กำกับดูแลให้สมาชิกกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานและแนวปฏิบัติด้านจริยธรรมที่กำหนด รวมตลอดถึงหน้าที่ที่จะต้องดำเนินกระบวนการพิจารณารับเรื่องร้องเรียนและกำหนดบทลงโทษให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามที่จดแจ้งไว้ในมาตรา ๖
มาตรา ๑๗ นอกจากการดำเนินการตามมาตรา ๙ ผู้ได้รับความเสียหายจากการนำเสนอข่าวสาร สาร และเนื้อหาที่ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมของสมาชิก มีสิทธิยื่นหนังสือร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรต่อองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนที่องค์กรสื่อมวลชนนั้นสังกัดภายในกำหนดสิบห้าวัน นับแต่วันที่รู้หรือถือว่าได้รู้ถึงการกระทำที่ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมที่สมาชิกกำหนด เมื่อองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ให้ส่งเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไปยังสมาชิกเพื่อให้ดำเนินกระบวนการไปตามข้อบังคับว่าด้วยกระบวนการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่ได้จดแจ้งไว้ของสมาชิก และแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องเรียนทราบภายในกำหนดสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องเรียนหากพ้นกำหนดดังกล่าวแล้วสมาชิกยังไม่ดำเนินการให้เสร็จสิ้น องค์การวิชาชีพสื่อมวลชนมีสิทธิที่จะพิจารณาเรื่องร้องเรียนนั้นแทนสมาชิกหรือพิจารณาเรื่องร้องเรียนไปฝ่ายเดียวได้โดยชอบด้วยกฎหมาย คำวินิจฉัยขององค์การวิชาชีพสื่อมวลชนผูกพันให้สมาชิกต้องปฏิบัติตาม
มาตรา ๑๘ ผู้เสียหายหรือผู้ร้องเรียนที่ไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาขององค์การวิชาชีพสื่อมวลชน
มีสิทธิยื่นคำอุทธรณ์ต่อสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติตามมาตรา ๔๕ (๖) ภายในกำหนดสามสิบวัน นับแต่วันที่ทราบผลการพิจารณาคำวินิจฉัยของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติให้ถือเป็นที่สุด
มาตรา ๑๙ องค์การวิชาชีพสื่อมวลชนมีหน้าที่รายงานและเปิดเผยผลการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนในแต่ละปีปฏิทินของสมาชิกและองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติและสาธารณชนทราบ
มาตรา ๒๐ องค์การวิชาชีพสื่อมวลชนอาจมีรายได้ดังต่อไปนี้
(๑) ค่าธรรมเนียมสมาชิกสภาพ
(๒) เงินอุดหนุนจากสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
(๓) รายได้จากทรัพย์สินหรือกิจการอื่น
(๔) ทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์
ส่วนที่ ๒
สมาชิก
มาตรา ๒๑ สมาชิกองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ องค์กรสื่อมวลชนตามมาตรา ๖
มาตรา ๒๒ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก มีดังนี้
(๑) แสดงความเห็นเป็นหนังสือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ขององค์การวิชาชีพสื่อมวลชน โดยส่งไปยังคณะกรรมการองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนและในกรณีที่สมาชิกร่วมกันตั้งแต่สองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องใดที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ขององค์การวิชาชีพสื่อมวลชน คณะกรรมการองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนต้องพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้เสนอทราบโดยไม่ชักช้า
(๒) ซักถามเกี่ยวกับการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของกรรมการหรือเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปขององค์การวิชาชีพสื่อมวลชนในการประชุมใหญ่ขององค์การวิชาชีพสื่อมวลชน
(๓) เลือกหรือรับเลือกตั้งเป็นประธานหรือกรรมการองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน
(๔) ผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพและปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๒๓ สมาชิกสภาพของสมาชิกย่อมสิ้นสุดลงเมื่อ
(๑) ขาดคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งของการเป็นองค์กรสื่อมวลชนตามมาตรา ๗
(๒) ได้รับโทษให้เพิกถอนจากการเป็นสมาชิกตามข้อบังคับที่องค์การวิชาชีพสื่อมวลชนประกาศกำหนด
ส่วนที่ ๓
คณะกรรมการองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน
มาตรา ๒๔ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน” มาจากการเลือกกันเองของสมาชิก และการแต่งตั้งกรรมการอื่นที่เป็นตัวแทนของผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และภาคประชาชนในสัดส่วนที่ไม่น้อยกว่าร้อยละสี่สิบของจำนวนกรรมการตามข้อบังคับว่าด้วยคณะกรรมการขององค์การวิชาชีพสื่อมวลชน โดยให้สมาชิกแต่งตั้งบุคคลที่ถือว่าเป็นตัวแทนสมาชิกเข้ารับตำแหน่งเป็นคณะกรรมการโดยให้ถือว่าเป็นการกระทำต่าง ๆ แทนสมาชิก
มาตรา ๒๕ ให้คณะกรรมการองค์การวิชาชีพที่มาจากการเลือกกันเองแต่งตั้งกรรมการคนหนึ่งคนใด
เป็นประธานคณะกรรมการองค์การวิชาชีพ และให้ประธานคณะกรรมการองค์การวิชาชีพแต่งตั้งกรรมการอื่นตามมาตรา ๒๔ เป็นรองประธาน เหรัญญิก ประชาสัมพันธ์ และตำแหน่งอื่นตามความเหมาะสมด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการองค์การวิชาชีพตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในข้อบังคับ
มาตรา ๒๖ ให้คณะกรรมการองค์การวิชาชีพมีวาระการดำรงตำแหน่งสามปี แต่จะดำรงตำแหน่งเกินกว่าสองวาระติดต่อกันมิได้
มาตรา ๒๗ นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระ ประธานหรือกรรมการองค์การวิชาชีพพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) สมาชิกที่เป็นตัวแทนสิ้นสุดสภาพลง
(๒) สมาชิกที่เป็นตัวแทนได้รับโทษให้เพิกถอนจากการเป็นสมาชิก
(๓) ตาย
(๔) ลาออก
(๕) ต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่ความผิดฐานหมิ่นประมาทและโดยประมาท
(๖) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๗) มีพฤติการณ์และต้องคำวินิจฉัยว่าประพฤติจนฝ่าฝืนจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
(๘) เป็นผู้มีกายทุพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
หมวด ๓
สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
_____________
ส่วนที่ ๑
บททั่วไป
มาตรา ๒๘ ให้มีสภาขึ้นสภาหนึ่งเรียกว่า “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประกอบด้วยคณะกรรมการและสมาชิกที่เป็นองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนตามมาตรา ๑๓ มีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่
ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเป็นนิติบุคคลและไม่เป็นหน่วยงานของรัฐ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการสภาวิชาชีพ
มาตรา ๒๙ สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑) ส่งเสริม สนับสนุนและกำกับดูแลให้สมาชิกสภาวิชาชีพกำกับดูแลองค์กรสื่อมวลชน
ให้มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่ามาตรฐานกลางที่สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติประกาศกำหนด
(๒) คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
(๓) ส่งเสริม สนับสนุนพัฒนาและฝึกอบรมผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้มีความรู้ ความรับผิดชอบคุณธรรม จริยธรรม และมีพัฒนาการทันต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
(๔) ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา ให้คำแนะนำ และฝึกอบรมเพื่อให้กลไกและกระบวนการกำกับดูแลกันเองขององค์กรสื่อมวลชนและองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
(๔) ส่งเสริม สนับสนุน ดูแลให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพของสื่อมวลชน
(๕) ส่งเสริมการรวมกลุ่ม และการกำกับดูแลกันเองขององค์กรสื่อมวลชนและองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนในทุกระดับและทุกสาขาวิชาชีพ
(๖) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำกับดูแลสื่อมวลชนและการรู้เท่าทันสื่อมวลชน
(๗) ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของสื่อมวลชนให้มีบทบาทในการสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้
(๘) เสนอความเห็นหรือให้คำแนะนำต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน และมาตรการคุ้มครองประชาชนจากการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน หรือปัญหาสื่อมวลชนของประเทศ
(๙) เป็นตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนไทย
(๑๐) ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น
มาตรา ๓๐ สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) รับขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ตามหลักเกณฑ์
ที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพกำหนด
(๒) รับจดแจ้งองค์กรสื่อมวลชนตามมาตรา ๖ หรือองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนตามมาตรา ๑๓ และเพิกถอนการจดแจ้งสมาชิกภาพของสมาชิกสภาวิชาชีพตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพกำหนด
(๓) รับพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ที่ผู้เสียหายหรือผู้ร้องเรียนอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการพิจารณาวินิจฉัยขององค์การวิชาชีพสื่อมวลชนตามมาตรา ๑๘
(๔) กำกับดูแลและวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนที่ผู้เสียหายหรือผู้ร้องเรียนมีต่อผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน หรือองค์กรสื่อมวลชน หรือองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนที่ไม่ได้จดแจ้งตามพระราชบัญญัตินี้ หรือที่ถูกเพิกถอนสมาชิกสภาพ ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานกลางหรือข้อบังคับที่สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติประกาศกำหนด
(๕) ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติและอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
ให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพ จัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการการขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันที่มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
ให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ยื่นขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต่อสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติภายในกำหนดสองปี นับแต่วันที่หลักเกณฑ์และวิธีการ
การขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตามวรรคหนึ่ง ประกาศใช้บังคับ
การขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาต การรับจดทะเบียนและออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการขอบอกเลิกจากการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพกำหนด
มาตรา ๓๑ สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติอาจมีรายได้และทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
(๑) ค่าธรรมเนียมสมาชิกสภาพและการจดแจ้งตามพระราชบัญญัตินี้
(๒) รายได้และผลประโยชน์อันได้มาจากการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการและสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
(๓) เงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้
(๔) ค่าปรับทางปกครอง
มาตรา ๓๒ รายได้ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติตามมาตรา ๓๑ นอกจากการใช้เพื่อกิจการของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติแล้วให้จัดสรรเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้แก่องค์การวิชาชีพสื่อมวลชนตามมาตรา ๒๐ ในอัตราและวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับ
มาตรา ๓๓ ในกิจการของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ประธานกรรมการเป็นผู้แทนของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เพื่อการนี้ ประธานกรรมการจะมอบหมายให้กรรมการ หรือเลขาธิการ หรือพนักงานของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้
ตามระเบียบที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพกำหนด
มาตรา ๓๔ ให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติมีเลขาธิการคนหนึ่ง โดยมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ควบคุมรับผิดชอบในการบริหารงานธุรการทั่วไปของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
(๒) เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
(๓) รับผิดชอบในการดูแลรักษาทะเบียนสมาชิก
(๔) เป็นเลขานุการคณะกรรมการสภาวิชาชีพ
การปฏิบัติหน้าที่ของเลขาธิการต้องรับผิดชอบต่อประธานกรรมการและคณะกรรมการสภาวิชาชีพ
มาตรา ๓๕ คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การสรรหา วาระการดำรงตำแหน่ง ประโยชน์ตอบแทนและการพ้นจากตำแหน่งของเลขาธิการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพประกาศกำหนด
มาตรา ๓๖ ให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติจัดทำงบดุล งบการเงิน และบัญชีทำการส่งผู้สอบบัญชีภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ
ในทุกรอบปีงบประมาณ ให้ผู้สอบบัญชีอิสระที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพแต่งตั้งเป็นผู้สอบบัญชีและประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยให้แสดงความคิดเห็นเป็นข้อวิเคราะห์ การใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด และได้ผลตามเป้าหมายเพียงใดและให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติจัดทำรายงานประจำปีและเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ
นอกจากรายงานประจำปีตามวรรคสอง ให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพแห่งชาติจัดทำรายงานจำนวนเรื่องร้องเรียนและผลการพิจารณารับเรื่องร้องเรียนเผยแพร่ให้ประชาชนทราบด้วยรายงานดังกล่าวให้รวมถึงรายงานของผู้สอบบัญชีตามวรรคสองด้วย
ส่วนที่ ๒
สมาชิก
_____________
มาตรา ๓๗ สมาชิกสภาวิชาชีพ ได้แก่ องค์การวิชาชีพสื่อมวลชนตามมาตรา ๑๓
มาตรา ๓๘ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกมีดังต่อไปนี้
(๑) รับใบรับรองการเป็นสมาชิก
(๒) เลือกหรือรับเลือกตั้งเป็นประธานหรือกรรมการสภาวิชาชีพ
(๓) แสดงความเห็นเป็นหนังสือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ หรืออำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยส่งไปยังคณะกรรมการสภาวิชาชีพและในกรณีที่สมาชิกสภาวิชาชีพร่วมกันตั้งแต่สองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเสนอให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพพิจารณาเรื่องใดที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ คณะกรรมการสภาวิชาชีพต้องพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้เสนอทราบโดยไม่ชักช้า
(๔) สอบถามเป็นหนังสือ หรือซักถาม แสดงความเห็นในที่ประชุมใหญ่ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเกี่ยวกับการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสภาวิชาชีพหรือเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ คณะกรรมการสภาวิชาชีพต้องชี้แจงข้อสอบถามให้ผู้สอบถามทราบเป็นหนังสือโดยไม่ชักช้า
(๕) ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณและอื่น ๆ ตามที่กำหนดในข้อบังคับ
(๖) กำกับดูแลให้องค์กรสื่อปฏิบัติตามมาตรฐานกลางเป็นขั้นต้นตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้
(๗) ผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพและปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๓๙ สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อ
(๑) ขาดคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งของการเป็นองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติตามมาตรา ๑๔
(๒) ได้รับโทษให้เพิกถอนจากการเป็นสมาชิก
ส่วนที่ ๓
คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
_____________
มาตรา ๔๐ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประกอบด้วย ผู้แทนสมาชิกสภาวิชาชีพ จำนวน เจ็ด คน ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกรรมการอื่นอีกจำนวนสี่คน
ให้สมาชิกสภาวิชาชีพแต่งตั้งบุคคลเป็นตัวแทนสมาชิกเพื่อสมัครเข้ารับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการสภาวิชาชีพโดยให้ถือว่าเป็นการกระทำต่าง ๆ แทนสมาชิก
ให้กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนสมาชิกสภาวิชาชีพ ผู้แทนภาครัฐและองค์กรอิสระ ตามวรรคหนึ่ง คัดเลือกกรรมการอื่นประกอบด้วยตัวแทนของผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และภาคประชาชนเป็นกรรมการ
การกำหนดคุณสมบัติ วิธีการคัดเลือกกรรมการตามวรรคสาม ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับที่จัดทำขึ้นเพื่อขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และผลงานเป็นที่ประจักษ์ด้านการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมสื่อสารมวลชน ด้านนิเทศศาสตร์วารสารศาสตร์ และด้านกฎหมาย
ให้เลขาธิการปฏิบัติหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการสภาวิชาชีพ
มาตรา ๔๑ ให้กรรมการตามมาตรา ๔๐ คัดเลือกกันเองเพื่อแต่งตั้งกรรมการคนหนึ่งจากกรรมการในสัดส่วนที่เป็นตัวแทนของสมาชิกสภาวิชาชีพเป็นประธานกรรมการ และแต่งตั้งกรรมการอื่นเป็นรองประธาน นายทะเบียน เหรัญญิก ประชาสัมพันธ์ และตำแหน่งอื่นตามความเหมาะสม ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการสภาวิชาชีพตามที่กำหนดในข้อบังคับ
มาตรา ๔๒ ให้กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งสามปี แต่จะดำรงตำแหน่งเกินกว่าสองวาระติดต่อกันมิได้
มาตรา ๔๓ บุคคลซึ่งเป็นตัวแทนสมาชิกสภาวิชาชีพที่สมัครเข้ารับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสภาวิชาชีพ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
ก. คุณสมบัติ
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีและไม่เกินกว่า ๗๐ ปีบริบูรณ์
ข. ลักษณะต้องห้าม
(๑) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรวมตลอดทั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น
(๒) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของพรรคการเมือง
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน
ไม่สมประกอบ
(๔) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ
(๕) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๖) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(๗) เป็นผู้เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันที่ได้รับการเสนอชื่อ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
(๘) เป็นผู้เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือเพราะประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
(๙) เป็นผู้เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากงานเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือเพราะประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในการปฏิบัติงาน
(๑๐) เป็นผู้เคยถูกถอดถอนจากตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
(๑๑) เป็นผู้เคยถูกคณะกรรมการสภาวิชาชีพมีมติให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๔๔ (๖)
(๑๒) เป็นผู้เคยถูกวินิจฉัยอันถึงที่สุดว่ากระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๔๔ (๗) หรือเป็นผู้ฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชน
มาตรา ๔๔ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ประธานกรรมการ หรือ กรรมการ พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) สมาชิกที่เป็นตัวแทนสิ้นสุดสภาพลง
(๒) สมาชิกที่เป็นตัวแทนได้รับโทษให้เพิกถอนจากการเป็นสมาชิก
(๓) ตาย
(๔) ลาออก
(๕) ต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่ความผิดฐานหมิ่นประมาทและโดยประมาท
(๖) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๗) มีพฤติการณ์และต้องคำวินิจฉัยว่าประพฤติตนผิดจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
(๘) เป็นผู้มีทุพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
มาตรา ๔๕ คณะกรรมการสภาวิชาชีพมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารกิจการของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
ในมาตรา ๒๙
(๒) กำหนดมาตรฐานกลางและพัฒนามาตรฐานกลางให้มีพัฒนาการทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
(๓) พิจารณากำหนดโทษตามมาตรา ๘๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ในกรณีที่มีการร้องเรียนว่า องค์การวิชาชีพสื่อมวลชนไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
(๔) เผยแพร่ผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการสภาวิชาชีพตามพระราชบัญญัตินี้ต่อสาธารณชน
(๕) กำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่รวมถึงการบริหารงานทั่วไป การบริหารงานบุคคล การเงิน การพัสดุ และการจัดการทรัพย์สิน และการอื่นใด ที่จำเป็นในการบริหารงานของสภาวิชาชีพสื่อมวลแห่งชาติ
(๖) พิจารณาเรื่องร้องเรียน ในกรณีมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตามมาตรา ๗๘ หรือกรณีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชนตามมาตรา ๑๘ และมีการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการองค์การวิชาชีพมายังคณะกรรมการสภาวิชาชีพ
(๗) กำกับดูแลการดำเนินงานและการบริหารงานทั่วไปของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
(๘) ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น
มาตรา ๔๖ การประชุมคณะกรรมการสภาวิชาชีพ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าไม่มีประธานกรรมการหรือประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
วิธีการประชุม การลงมติ และการปฏิบัติงานของคณะกรรมการหรือกรรมการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพประกาศกำหนด
ในการประชุม ถ้ามีการพิจารณาเรื่องที่กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสีย กรรมการผู้นั้นไม่มีสิทธิเข้าประชุม
มาตรา ๔๗ คณะกรรมการสภาวิชาชีพอาจมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการด้านต่าง ๆ ตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสภาวิชาชีพได้
ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการสภาวิชาชีพอาจขอให้หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใด มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง มาให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาได้
มาตรา ๔๘ คณะกรรมการสภาวิชาชีพมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน
เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย โดยอย่างน้อยต้องมีคณะอนุกรรมการกำกับดูแลสื่อโดยภาคประชาชนและการรู้เท่าทันสื่อ
การประชุมและการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพกำหนด
มาตรา ๔๙ ให้ประธานกรรมการ กรรมการ อนุกรรมการ และคณะทำงาน ตามมาตรา ๔๘ ได้รับค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพกำหนด
ส่วนที่ ๔
การประชุมใหญ่ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
_____________
มาตรา ๕๐ การประชุมใหญ่ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้แก่ การประชุมใหญ่สามัญประจำปีและการประชุมใหญ่วิสามัญ
มาตรา ๕๑ คณะกรรมการสภาวิชาชีพต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีปีละหนึ่งครั้งภายในเดือนเมษายนของทุกปี
มาตรา ๕๒ เมื่อมีเหตุอันสมควร คณะกรรมการสภาวิชาชีพจะจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใด ก็ได้เมื่อสมาชิกมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าขององค์การ เข้าชื่อร้องขอเป็นหนังสือให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญโดยทำเป็นหนังสือระบุให้ชัดแจ้งว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องใดและด้วยเหตุผลอันสมควรอย่างใด
คณะกรรมการสภาวิชาชีพต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ เว้นแต่คณะกรรมการสภาวิชาชีพเห็นว่าเรื่องที่ขอให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อพิจารณานั้นเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติหรือไม่มีเหตุอันสมควรที่จะได้รับการพิจารณาโดยที่ประชุมใหญ่ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
มาตรา ๕๓ ในกรณีที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพไม่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อคณะกรรมการสภาวิชาชีพได้รับคำร้องขอตามมาตรา ๕๒ วรรคสอง คณะกรรมการสภาวิชาชีพต้องแจ้งเหตุผลของการไม่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวโดยชัดแจ้งไปยังสมาชิกองค์กรใดองค์กรหนึ่งซึ่งร่วมเข้าชื่อร้องขอภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ในกรณีเช่นนี้สมาชิกที่ร่วมเข้าชื่อร้องขอนั้นทั้งหมดมีสิทธิร่วมเข้าชื่อคัดค้านการไม่จัดการประชุมใหญ่วิสามัญนั้นต่อประธานกรรมการได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพกำหนด
คำวินิจฉัยของประธานกรรมการให้เป็นที่สุด และในกรณีที่ประธานกรรมการมีคำวินิจฉัยเห็นชอบด้วยกับคำคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยจากประธานกรรมการ
มาตรา ๕๔ ในการประชุมใหญ่ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ต้องมีสมาชิกหรือตัวแทนสมาชิกที่ได้รับมอบหมายอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่จึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าการประชุมคราวใดประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานและรองประธานไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้สมาชิกที่มาประชุมเลือกผู้แทนจากสมาชิกองค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น
มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก สมาชิกองค์การวิชาชีพหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด มติของที่ประชุมใหญ่ผูกพันให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมตินั้น
มาตรา ๕๕ ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ การประชุมใหญ่ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับ
ส่วนที่ ๕
มาตรฐานจริยธรรมสื่อมวลชน
_____________
มาตรา ๕๖ สมาชิกสภาวิชาชีพต้องกำกับดูแลให้องค์กรสื่อมวลชนกำกับดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพที่ปฏิบัติงานให้แก่องค์กรสื่อมวลชนประพฤติตนตามมาตรฐานจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนหรือไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติกำหนด ผู้ประกอบวิชาชีพใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามให้ถือเสมือนหนึ่งว่าองค์กรสื่อมวลชน หรือสมาชิกสภาวิชาชีพเป็นผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานและต้องรับโทษตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕๗ มาตรฐานกลางที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๔๕ (๒) อย่างน้อยต้องมีเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การนำเสนอเนื้อหาและข้อมูลข่าวสาร จะต้องถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
(๒) การนำเสนอเนื้อหาและข้อมูลข่าวสาร จะต้องตระหนักถึงผลกระทบต่อบุคคลอื่น และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นส่วนตัว และการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเยาวชนและผู้ด้อยโอกาสในสังคม ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประสบเคราะห์กรรม รวมทั้งหลีกเลี่ยงการนำเสนอเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างกลุ่มคนในชาติหรือศาสนา หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน
(๓) การนำเสนอเนื้อหาและข้อมูลข่าวสาร จะต้องเป็นไปอย่างอิสระ ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของบุคคล หน่วยงานรัฐ เอกชน หรือองค์กรใดๆในทางที่มิชอบ
(๔) การนำเสนอเนื้อหาและข้อมูลข่าวสาร จะต้องเป็นไปโดยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่เรียกรับ หรือยอมรับผลประโยชน์ใด ๆ อย่างมิชอบ
(๕) การนำเสนอเนื้อหาและข้อมูลข่าวสาร จะต้องมีผู้รับผิดชอบในผลกระทบที่เกิดขึ้น ในกรณีที่เสนอเนื้อหาและข้อมูลข่าวสารที่ผิดพลาดหรือก่อให้เกิดผลกระทบ จะต้องแสดงความรับผิดชอบและประกาศการแก้ไขข้อบกพร่องต่อสาธารณชนในทันที
(๖) การนำเสนอเนื้อหาและข้อมูลข่าวสาร จะต้องเป็นไปตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ ไม่ขัดต่อหลักศีลธรรมของสังคม ไม่ก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับและคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะเหนือกว่าสิ่งใด
ส่วนที่ ๖
การส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
_____________
มาตรา ๕๘ คณะกรรมการสภาวิชาชีพต้องส่งเสริมจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้แก่สมาชิก โดยการจัดฝึกอบรม หรือสัมมนา หรือศึกษาดูงาน หรือดำเนินการอื่นใด เพื่อให้สมาชิกมีอุดมการณ์ร่วมกันในการประกอบวิชาชีพโดยคำนึงถึงจริยธรรม จรรณยาบรรณและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
มาตรา ๕๙ คณะกรรมการสภาวิชาชีพต้องส่งเสริมให้สมาชิกสภาวิชาชีพจัดการฝึกอบรม หรือสัมมนา หรือศึกษาดูงาน หรือดำเนินการอื่นใด ให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานทั้งด้านจริยธรรมและด้านวิชาชีพ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
สมาชิกสภาวิชาชีพต้องจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน เกี่ยวกับการกำกับดูแลกันเองทางจริยธรรมสื่อมวลชน เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน
มาตรา ๖๐ คณะกรรมการสภาวิชาชีพต้องเผยแพร่ให้ประชาชนทราบถึงมาตรฐานกลางตามพระราชบัญญัตินี้ และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรสื่อมวลชน และไม่กระทำการอันเป็นการส่งเสริมให้มีการฝ่าฝืนมาตรฐานกลาง และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
มาตรา ๖๑ คณะกรรมการสภาวิชาชีพต้องติดตามประเมินผลการปฏิบัติตามมาตรฐานกลาง มาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน และการกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมสื่อมวลชนอย่างสม่ำเสมอ
มาตรา ๖๒ คณะกรรมการสภาวิชาชีพต้องส่งเสริม เผยแพร่และยกย่องสมาชิกที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมสื่อมวลชน และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
ส่วนที่ ๗
คณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน
_____________
มาตรา ๖๓ ให้มีคณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน ประกอบด้วย ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการจริยธรรมจากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและ กรรมการจริยธรรมที่เป็นผู้แทนอื่นอีกจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสี่สิบของจำนวนกรรมการทั้งหมด
มาตรา ๖๔ ให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพแต่งตั้งกรรมการจริยธรรมจากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(๑) ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี
(๒) ไม่เคยถูกลงโทษฐานประพฤติผิดจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
การแต่งตั้งกรรมการจริยธรรมที่เป็นผู้แทนอื่น ให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพแต่งตั้งจากหน่วยงานหรือองค์กรดังนี้
(๑) ผู้แทนจากสภาทนายความ
(๒) ผู้แทนจากองค์กรด้านการเฝ้าระวังสื่อ
(๓) ผู้แทนจากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค
(๔) ผู้แทนจากสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน
(๕) ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน
มาตรา ๖๕ คณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชนมีวาระการดำรงตำแหน่งสองปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินกว่าสองวาระติดต่อกันมิได้
ให้คณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชนซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชนใหม่เข้ารับหน้าที่ และให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพแต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชนใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชนพ้นจากตำแหน่งตามวาระ
มาตรา ๖๖ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการจริยธรรมสื่อมวลชนพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ครบวาระ
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๓
(๕) มีพฤติการณ์และต้องคำวินิจฉัยว่าประพฤติตนผิดจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ หรือถูก
ลงโทษฐานประพฤติผิดจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ
(๖) ต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่ความผิดฐานหมิ่นประมาทและโดยประมาท
(๗) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๘) เป็นผู้มีกายทุพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
มาตรา ๖๗ คณะกรรมการจริยธรรมมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) พิจารณาเสนอต่อคณะกรรมการสภาวิชาชีพให้มีการส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมสื่อมวลชนขององค์การสมาชิก ปรับปรุงและพัฒนามาตรฐานจริยธรรมสื่อมวลชน
(๒) พิจารณาอุทธรณ์ที่คัดค้านคำวินิจฉัยขององค์การวิชาชีพสื่อมวลชนจากผู้ได้รับความเสียหายหรือผู้ร้องเรียนอันเกิดจากการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนโดยฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชนตามที่บัญญัติไว้ใน หมวด ๒
(๓) พิจารณาเรื่องที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพเห็นว่าเป็นการกระทำอันฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชน หรือลงโทษสมาชิกที่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชนตามพระราชบัญญัตินี้
(๔) นำเสนอข้อวินิจฉัย หรือยกข้อร้องเรียน หรือสั่งให้ดำเนินการเยียวยาหรือลงโทษสมาชิก ที่ถูกร้องเรียนอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตามมาตรา ๘๕ ต่อคณะกรรมการสภาวิชาชีพเพื่อพิจารณา
มาตรา ๖๘ คณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน มีอำนาจหน้าที่ควบคุมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีมีผู้ได้รับความเสียหายจากการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนโดยฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชนให้เป็นไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรม และมีอำนาจหน้าที่อื่น ๆ ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพกำหนด
เมื่อประธานกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชนไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชนปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชนไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากประธานกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน
มาตรา ๖๙ คณะกรรมการจริยธรรมมีอำนาจแต่งตั้งผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นอนุกรรมการหรือคณะทำงาน ให้กระทำกิจการใดกิจการหนึ่งในขอบอำนาจของคณะกรรมการจริยธรรม เว้นแต่การนำเสนอคำวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรมต่อคณะกรรมการสภาวิชาชีพ
มาตรา ๗๐ กระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรมให้เป็นไปตามข้อบังคับของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ แต่ต้องไม่เกินกว่าสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องเรียน
มาตรา ๗๑ เมื่อคณะกรรมการจริยธรรมมีคำวินิจฉัยตามมาตรา ๖๗ (๔) แล้ว ให้คณะกรรมการจริยธรรมส่งคำวินิจฉัยพร้อมรายละเอียดไปยังประธานคณะกรรมการสภาวิชาชีพภายในกำหนดเจ็ดวัน นับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย ในกรณีเช่นนี้ให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพทำการพิจารณาและจะสั่งยืน แก้ หรือกลับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการจริยธรรมรวมทั้งสั่งให้ลงโทษสมาชิกหรือดำเนินการเยียวยาใดแก่ผู้เสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๘๕ ก็ได้ และก่อนที่จะมีคำสั่งดังกล่าวคณะกรรมการสภาวิชาชีพอาจสั่งให้คณะกรรมการจริยธรรมทำการสอบสวนเพิ่มเติมก็ได้ หากคณะกรรมการสภาวิชาชีพมิได้มีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยใดๆมายังประธานกรรมการจริยธรรมภายในกำหนดเจ็ดวัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ให้ถือว่าคณะกรรมการสภาวิชาชีพมีความเห็นยืนตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการจริยธรรม
คำสั่งและหรือคำวินิจฉัยใดๆของคณะกรรมการสภาวิชาชีพให้เป็นที่สุด
มาตรา ๗๒ บุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากการนำเสนอข่าวสาร สาร และเนื้อหาที่ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพที่ไม่สังกัดองค์กรสื่อใด หรือองค์กรสื่อมวลชนที่ไม่จดแจ้งตามมาตรา ๖ มีความประสงค์จะได้รับความคุ้มครองหรือเยียวยาความเสียหายให้ยื่นหนังสือร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่รู้หรือถือว่าได้รู้ถึงการกระทำที่ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมที่กำหนด
เมื่อคณะกรรมการสภาวิชาชีพได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ให้ดำเนินกระบวนการไปตามข้อบังคับว่าด้วยกระบวนการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียน และข้อบังคับมาตรฐานจริยธรรมตามที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพประกาศกำหนด แล้วแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องเรียนทราบภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องเรียน
มาตรา ๗๓ บุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากการนำเสนอข่าวสาร สาร และเนื้อหาที่ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยขององค์การวิชาชีพสื่อมวลชน ตามมาตรา ๑๘ ให้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือถือว่าได้รู้ถึงคำวินิจฉัยนั้น
เมื่อคณะกรรมการสภาวิชาชีพได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ให้ดำเนินกระบวนการไปตามข้อบังคับว่าด้วยกระบวนการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียน และแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องเรียนทราบภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องเรียน คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสภาวิชาชีพให้เป็นที่สุด
มาตรา ๗๔ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้กรรมการจริยธรรมเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ และอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙
มาตรา ๗๕ ให้นำความในมาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ และมาตรา ๔๙ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชนด้วยโดยอนุโลม
ส่วนที่ ๘
การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
_____________
มาตรา ๗๖ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการสื่อมวลชน หรือบุคคลอื่นใดจะสั่งการหรือกระทำการใดให้การเสนอข่าวผิดไปจากจริยธรรมสื่อมวลชน หรือจำกัดการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระมิได้ เว้นแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนมีหน้าที่ต้องประพฤติและปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน
ผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานของรัฐหรือนายจ้างจะกระทำการใดที่ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนได้รับผลร้ายในทางใด ๆ เพราะเหตุที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยสุจริตและชอบด้วยจริยธรรมสื่อมวลชนมิได้
มาตรา ๗๗ การกระทำใด ๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการเสนอข่าวหรือการแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ให้ถือว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือจริยธรรมสื่อมวลชน
ส่วนที่ ๙
มาตรการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
_____________
มาตรา ๗๘ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนถูกละเมิดเสรีภาพตามมาตรา ๗๖ หรือได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากมีการดำเนินการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๗๗ และประสงค์จะได้รับความคุ้มครองหรือได้รับการเยียวยา ให้ร้องเรียนเป็นหนังสือพร้อมด้วยพยานหลักฐานต่อคณะกรรมการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ถูกละเมิด หรือได้รับความเดือดร้อน แล้วแต่กรณี
การพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๗๙ ในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตามมาตรา ๗๘ คณะกรรมการสภาวิชาชีพจะพิจารณาวินิจฉัยเองหรือจะตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย เรื่องร้องเรียนดังกล่าวแทนคณะกรรมการสภาวิชาชีพก็ได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
คณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่งจะแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งมิได้เป็นกรรมการก็ได้ แต่อย่างน้อยต้องประกอบด้วยกรรมการซึ่งสรรหาจากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนหนึ่งคน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหนึ่งคน
มาตรา ๘๐ ให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องเรียน เว้นแต่มีเหตุขัดข้องที่ทำให้การพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว
ก็ให้ขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกินสองครั้ง โดยแต่ละครั้งต้องไม่เกินสามสิบวัน และให้บันทึกเหตุขัดข้อง
ให้ปรากฏไว้ด้วย
มาตรา ๘๑ ในระหว่างที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพยังมิได้วินิจฉัยเรื่องร้องเรียน คณะกรรมการสภาวิชาชีพจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ร้องเรียนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามที่เห็นสมควรก็ได้ ในกรณีที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพให้ความช่วยเหลือโดยไม่ใช่เป็นการให้กู้ยืม คณะกรรมการสภาวิชาชีพจะกำหนดเงื่อนไขให้ใช้คืนในภายหลังเมื่อผู้ร้องเรียนได้รับการชดใช้ค่าทดแทนหรือค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดแล้ว หรือกำหนดเงื่อนไขอื่นใดด้วยก็ได้
ในกรณีที่ความปรากฏในภายหลังว่าผู้ร้องเรียนจงใจแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ เพื่อให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพเชื่อว่าได้รับความเดือดร้อน เป็นเหตุให้ได้รับความช่วยเหลือตามวรรคหนึ่งให้คณะกรรมการ
สภาวิชาชีพมีอำนาจเรียกให้ผู้ร้องเรียนใช้คืนพร้อมดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละเจ็ดจุดห้าต่อปี
มาตรา ๘๒ ในกรณีที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนมาตรา ๗๖ หรือมาตรา ๗๗ ให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพมีคำวินิจฉัยให้ผู้กระทำการฝ่าฝืนดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่ง หรือชดใช้ความเสียหาย หรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อเป็นการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และแจ้งให้ผู้กระทำการ ฝ่าฝืน หน่วยงานที่กระทำการฝ่าฝืน หรือผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานดังกล่าว หรือนายจ้าง แล้วแต่กรณี ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสภาวิชาชีพ
ผู้ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่งผู้ใดไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสภาวิชาชีพ มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
มาตรา ๘๓ เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการว่ามีการฝ่าฝืนมาตรา ๗๖ หรือ มาตรา ๗๗ และการดำเนินการกับเรื่องดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ หรือส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน คณะกรรมการสภาวิชาชีพอาจดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการสื่อมวลชน หรือบุคคลอื่นใด เพื่อให้แก้ไขหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามควรแก่กรณีได้
ส่วนที่ ๑๐
มาตรการคุ้มครองประชาชนจากการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
_____________
มาตรา ๘๔ ผู้ใดได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอันเป็นการ
ฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชน และประสงค์จะได้รับความคุ้มครองหรือได้รับการเยียวยา ให้ร้องเรียนตามบทบัญญัติในมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๗ และ มาตรา ๑๘ แล้วแต่กรณี
ผู้ร้องเรียนผู้ใดไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสภาวิชาชีพ ไม่ตัดสิทธิคู่กรณีในการใช้สิทธิทางศาล
มาตรา ๘๕ ให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพ มีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) ตักเตือน หรือตำหนิเป็นลายลักษณ์อักษร
(๒) มีคำสั่งให้เยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบ
(๓) เผยแพร่คำวินิจฉัยต่อสาธารณะผ่านช่องทางสื่อสารมวลชนต่างๆ
(๔) เพิกถอนสมาชิกสภาพ
มาตรา ๘๖ การเผยแพร่ผลการพิจารณาและคำวินิจฉัยตามมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๙ และมาตรา ๔๕ (๔) ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องบุคคลใดหรือคณะกรรมการใด ๆ ทั้งในทางแพ่งและทางอาญามิได้
มาตรา ๘๗ เรื่องร้องเรียน ที่ผู้ถูกร้องเรียนไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์กรสื่อมวลชน องค์การวิชาชีพสื่อมวลชน หรือสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ให้คณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชนดำเนินการพิจารณาเรื่องร้องเรียนนั้น โดยพิจารณาตามมาตรฐานกลางที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๕๗ และให้นำความในมาตรา ๘๔ มาตรา ๘๕ มาตรา ๘๖ มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๘๘ ถ้าการฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชนนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนกระทำไปตามคำสั่งของเจ้าของกิจการสื่อมวลชนหรือผู้บังคับบัญชา ให้ถือว่าเจ้าของกิจการสื่อมวลชนที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนปฏิบัติงานอยู่ หรือผู้บังคับบัญชาของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนผู้นั้น กระทำการฝ่าฝืนและต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย
ส่วนที่ ๑๑
บทกำหนดโทษ
_____________
มาตรา ๘๙ ในกรณีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรสื่อมวลชน หรือองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้รับโทษตามมาตรา ๘๕ (๑) (๒) (๓) แต่ไม่ปฏิบัติตาม ให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติมีอำนาจปรับทางปกครอง ดังนี้
(๑) ฝ่าฝืนคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเป็นครั้งแรก ให้ลงโทษปรับทางปกครองชั้น ๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
(๒) ฝ่าฝืนคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเป็นครั้งที่สอง ให้ลงโทษปรับทางปกครองชั้น ๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
(๓) ฝ่าฝืนคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการในกรณีร้ายแรง ให้ลงโทษปรับทางปกครองชั้น ๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท และเพิกถอนสมาชิกสภาพ
มาตรา ๙๐ ในกรณีที่ถูกลงโทษตามมาตรา ๙๐ แต่ไม่ยอมชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนถูกต้อง ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๙๑ ผู้ใดปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยไม่ดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ตามมาตรา ๓๐ (๑) จากสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๙๒ องค์กรสื่อมวลชนใด ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๘ หรือ รับบุคคลซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลตามพระราชบัญญัตินี้เข้าปฏิบัติงานเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในองค์กรสื่อมวลชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือ
ทั้งจำทั้งปรับ
บทเฉพาะกาล
_____________
มาตรา ๙๓ ในวาระเริ่มต้นเมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้มี “คณะกรรมการ
เพื่อเตรียมการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ”ประกอบไปด้วย
(๑)ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
(๒) ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
(๓) เลขาธิการ กสทช.
(๔) ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
(๕) ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์
(๖) นายกสมาคมสมาพันธ์วิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
(๗) นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
(๘) ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
(๙) ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
(๑๐) ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
(.. ) ผู้แทนสื่อในส่วนภูมิภาค จำนวน ๒ ตำแหน่ง (สัดส่วนผู้แทนด้านวิทยุโทรทัศน์และด้านสื่อสิ่งพิมพ์)
(๑๑) ผู้แทนสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรรมการและเลขานุการ
มาตรา ๙๔ ให้คณะกรรมการเพื่อเตรียมการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพแห่งชาติและเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) รับจดแจ้งองค์กรสื่อมวลชน ตามมาตรา ๗ และองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน
ตามมาตรา ๑๔
(๒) ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มตามมาตรา ๑๓
(๓) ให้คำปรึกษาแนะนำแก่องค์กรสื่อมวลชน องค์การวิชาชีพ เพื่อการจดแจ้ง
ตามพระราชบัญญัตินี้
(๔) ดำเนินการเพื่อให้เกิดและจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
ตามมาตรา ๔๐
(๕) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่หรือการดำเนินการของ
คณะกรรมการเพื่อเตรียมการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
ให้คณะกรรมการเพื่อเตรียมการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้
มาตรา ๙๕ ให้คณะกรรมการเพื่อเตรียมการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดทำหลักเกณฑ์ต่าง ๆโดยออกเป็นประกาศดังนี้
(๑) การกำหนดการแบ่งกลุ่มสื่อมวลชนที่มีความจำเป็นต้องกำกับดูแล
(๒) การกำหนดขั้นตอน และวิธีการจดแจ้งตามมาตรา ๗ และมาตรา ๑๔
(๓) จัดทำข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศต่างๆเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามอำนาจหน้าที่
ทั้งนี้ ตำแหน่งพนักงานและลูกจ้างของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ จะมีจำนวนเท่าใดและ
เป็นตำแหน่งประเภทใด สายงานใด ระดับใด ให้เป็นไปตามที่หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการเพื่อเตรียมการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติกำหนด โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความคุ้มค่า ความไม่ซ้ำซ้อนและประหยัดเป็นหลัก
มาตรา ๙๖ ให้คณะกรรมการเพื่อเตรียมการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดไม่เกินสองปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้
ในวาระเริ่มแรกของการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ คณะกรรมการเพื่อเตรียมการจัดตั้ง
สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ยกเว้นบุคคลตาม (๑) และ (๒) ของมาตรา ๙๓ จะดำรงตำแหน่งใดๆ
ในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติมิได้ จนกว่าจะพ้นกำหนดสองปี นับแต่วันที่มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
มาตรา ๙๗ ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จัดสรรเงินของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ให้แก่คณะกรรมการเพื่อเตรียมการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ให้เพียงพอเพื่อใช้จ่ายตามหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพโดยให้จัดทำเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ให้ประธานกรรมการ คณะกรรมการ อนุกรรมการ ได้รับเบี้ยประชุมหรือประโยชน์ตอบแทนอื่น
ทั้งนี้ ตามระเบียบ หลักเกณฑ์ที่สำนักงาน กสทช. กำหนด
ให้โอนบรรดากิจการ เงิน ทรัพย์สิน ของคณะกรรมการเพื่อเตรียมการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติตามวรรคหนึ่ง ไปเป็นของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
ให้พนักงานและลูกจ้างของคณะกรรมการเพื่อเตรียมการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้ ที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นพนักงานและลูกจ้าง
ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ กับให้ถือว่าเวลาทำงานของบุคคลดังกล่าวเป็นเวลาทำงานในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ทั้งนี้ ให้ดำรงตำแหน่งและได้รับเงินเดือนค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ต่างๆ
ไม่น้อยกว่าที่ได้รับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๙๘ ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จัดสรรเงินของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ให้แก่สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
ให้เพียงพอเพื่อใช้ในการดำเนินงานตามภารกิจหรือวัตถุประสงค์ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
ที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ในกำหนดเวลาห้าปีแรก นับแต่วันที่มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติโดยให้จัดทำเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี
วิธีการงบประมาณการเบิกจ่ายของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ตามวรรคหนึ่งจะต้องใช้เพื่อการดำเนินงานและวัตถุประสงค์ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเท่านั้น จะนำไปอุดหนุนหรือจัดสรรให้หน่วยงาน หรือองค์กรอื่นไม่ได้
มาตรา ๙๙ ให้บุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน อยู่ก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ปฏิบัติหน้าที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต่อไปได้โดยให้ถือว่าเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ต้องไปดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต่อสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ภายในสองปีนับแต่วันที่มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
มาตรา ๑๐๐ ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการในการดำเนินการตาม
บทเฉพาะกาลนี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
..................................
นายกรัฐมนตรี