ข้อบังคับ
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
พุทธศักราช 2543
(แก้ไขเพิ่มเติม 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557)
**************
หมวด 1 ข้อความทั่วไป ข้อ 1. สมาคมนี้มีชื่อว่า "สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย" ใช้ชื่อย่อว่า "สขนท." เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า " Thai Journalists Association" และใช้ชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า "TJA" ข้อ 2 เครื่องหมายของสมาคมเป็นรูปนกพิราบและปากกา มีข้อความชื่อสมาคมเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษล้อม ข้อ 3 สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ ณ อาคารเลขที่ 538/1 ถนนสามเสน แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ข้อ 4 ข้อบังคับนี้แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเป็นต้นไป หมวด 2 วัตถุประสงค์ ข้อ 5. สมาคมนี้มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ (1) ปกป้องคุ้มครองสมาชิกของสมาคมผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ (2) ส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบวิชาชีพนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์ให้มีเสรีภาพในการแสวงหาข้อมูลข่าวสาร การพิมพ์ การโฆษณา และการแสดงออก ส่งเสริมสิทธิการรับรู้ของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย (3) ผดุงไว้ซึ่งมาตรฐานอันดีงามของสมาชิกโดยให้ยึดจริยธรรมแห่งวิชาชีพและความรับผิดชอบเป็นหลักปฏิบัติอันสำคัญยิ่ง (4) ส่งเสริมสวัสดิการและความสามัคคีระหว่างสมาชิก ส่งเสริมการทำตนให้เป็นประโยชน์ ส่งเสริมการบำเพ็ญสาธารณกุศล ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างเพื่อนร่วมวิชาชีพทั้งภายในและนอกประเทศ (5) ส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างชนในชาติ ความเข้า ใจอันดีระหว่างประเทศ เพื่อยังสันติสุข ภราดรภาพ ความเคารพในสิทธิมนุษยชน ตลอดจนความอยู่ดีกินดีให้เกิดขึ้นในโลก หมวด 3 ประเภทและคุณสมบัติของสมาชิก ข้อ 6. สมาชิกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ก. สมาชิกสามัญ ได้แก่ ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์มาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี มีตำแหน่งและรายได้ประจำ ทำงานอยู่ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่เสนอช่าวสารเป็นสาระสำคัญและพิมพ์ออกจำหน่ายต่อสาธารณชนเป็นประจำสม่ำเสมอ ข. วิสามัญสมาชิก ได้แก่ (1) ผู้เคยมีคุณสมบัติตามข้อ ก. และได้พ้นตำแหน่งหน้าที่มาแล้ว โดยมิได้ถูกลงโทษด้วยการภาคฑัณฑ์ ให้ออก ปลดออกหรือไล่ออก หรือถูกวินิจฉัยโดยองค์กรวิชาชีพว่าประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพ (2) ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนในฝ่ายข่าวของสถานีวิทยุกระจายเสียงสถานีวิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อสารมวลชนประเภทอื่นที่เสนอข่าวต่อสาธารณชนสม่ำเสมอตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร และมีคุณสมบัติอื่นเหมือนสมาชิกสามัญโดยอนุโลม(แก้ไขเพิ่มเติม 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557)
(3) สมาชิกใหม่ ที่ได้รับความเห็นชอบและได้แสดงตัวต่อคณะกรรมการบริหาร ให้คงสถานะไว้เพียง 2 ปี เมื่อสมาชิกดังกล่าวได้แสดงตัวต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี และได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากที่ประชุมฯ แล้วจึงจะมีสถานะเป็นสามัญสมาชิก หมวด 4 หน้าที่และสิทธิของสมาชิก ข้อ 7. สมาชิกมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์และเกียรติคุณของสมาคมกับต้องสนับสนุนช่วยเหลือกิจกรรมของสมาคม ชำระค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมอื่น ตามที่คณะกรรมการบริหารสมาคมกำหนด ปฏิบัติตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพและปฏิบัติตามข้อบังคับหรือระเบียบของสมาคมทุกประการ ข้อ 8. สมาชิกมีสิ ทธิ (1) เข้าร่วมประชุมและใช้สถานที่ของสมาคมตามระเบียบที่สมาคมกำหนด (2) ประดับเครื่องหมายของสมาคมในโอกาสอันควร (3) เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมของสมาคม (4) ตรวจดูรายงานการประชุมของคณะกรรมการบริหารและบัญชีงบดุลของสมาคม (5) ได้รับสวัสดิการและบริการต่าง ๆ ที่สมาคมจัดขึ้น ทั้งนี้เป็นไปตามระเบียบที่สมาคมกำหนด ข้อ 9. สามัญสมาชิกมีสิทธิ (1) เลือกและรับเลือกตั้งเป็นนายกและกรรมการบริหารสมาคม (2) สมาชิกที่ได้ชำระค่าบำรุงติดต่อกันไม่ต่ำกว่าสามปี เข้าชื่อกันจำนวนไม่น้อยกว่าห้าสิบคนให้คณะกรรมการบริหารจัดประชุมใหญ่วิสามัญโดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อคณะกรรมการบริหาร และในหนังสือนั้นจะต้องระบุด้วยว่าจะให้ประชุมพิจารณาญัตติเรื่องใด เมื่อคณะกรรมการบริหารได้รับหนังสือแล้ว ให้ตรวจสอบความถูกถ้วน แล้วดำเนินการตามคำร้องขอภายในกำหนดสามสิบวัน นับแต่วันได้รับคำร้องขอ หมวด 5 สมาชิกภาพ ข้อ 10. ผู้ประสงค์สมัครเป็นสมาชิกให้ยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อเลขาธิการ เมื่อเลขาธิการได้รับใบสมัครแล้วให้ตรวจสอบคุณสมบัติและความถูกถ้วนก่อนเสนอต่อคณะกรรมการบริหารพิจารณาในการประชุมคราวถัดไป หากเลขาธิการเห็นว่าไม่สมควรรับผู้ใดเข้าเป็นสมาชิกให้แจ้งให้ผู้นั้นทราบโดยไม่ชักช้า และให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อนายกสมาคมภายในกำหนดเวลาสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับคำปฏิเสธและให้นายกสมาคมนำเรื่องเข้าหารือในการประชุมคณะกรรมการบริหารในคราวถัดไป มติในการรับสมาชิกจะต้องเป็นเอกฉันท์ เมื่อคณะกรรมการบริหารมีมติรับผู้ใดเป็นสมาชิกแล้ว ให้ผู้นั้นไปแสดง ตัวต่อที่ประชุมใหญ่ของสมาคมตาม ข้อ 29 พร้อมทั้งนำเงินค่าสมัครและค่าบำรุงมาชำระให้เสร็จสิ้น จึงจะมีผลให้ผู้นั้นเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ ข้อ 11. สมาชิกภาพย่อมสิ้นสุดลงเมื่อ (1) ตาย หรือสาบสูญตามคำสั่งของศาล (2) ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อเลขาธิการ และเลขาธิการได้รับหนังสือนั้นแล้ว (3) เป็นบุคคลไร้ความสามารถ เสมือนไร้ความสามารถ หรือเป็นบุคคลล้มละลายตามคำสั่งศาล (4) ถูกลบชื่อออกจากทะเบียน ตามข้อ 12 ข้อ 12. สมาชิกอาจถูกลบชื่อออกจากทะเบียนด้วยเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ (1) ละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และสมาคมนี้ หรือสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน จนปรากฎความผิดชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยแล้ว (2) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เหตุที่ให้ต้องจำคุกนั้นเป็นความผิดอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับวิชาชีพโดยชอบ ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท (3) ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของสมาคม หรือประพฤติตนเป็นที่เสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพหรือกระทำการให้แกตสามัคคีในหมู่เพื่อร่วมวิชาชีพ (4) ไม่ชำระค่าบำรุงติดต่อกันตั้งแต่สามปีขึ้นไป ข้อ 13. กระบวนการลบชื่อสมาชิกออกจากทะเบียน ให้เสนอเป็นญัตติโดยกรรมการบริหารจำนวนไม่น้อยกว่า ห้าคน หรือโดยสมาชิกสมามัญที่ได้ชำระค่าบำรุงติดต่อกันไม่ต่ำกว่า สามปี จำนวนไม่น้อยกว่าสิบห้าคน ต่อคณะกรรมการบริหาร การลงมติให้ลบชื่อให้ลงคะแนนลับ และต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการบริหารทั้งหมด แต่ก่อนที่จะลงมติต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อคณะกรรมการบริหารเว้นแต่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาชี้แจงโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องอันสมควร หมวด 6 การบริหารสมาคม ข้อ 14. ให้มีกรรมการบริหารคณะหนึ่งจำนวนสิบห้าคน ประกอบด้วย นายกสมาคมคนหนึ่ง อุปนายกสมาคมจำนวนตามความจำเป็น เลขาธิการ เหรัญญิก และนายทะเบียน ตำแหน่งละหนึ่งคน กับกรรมการเจ้าหน้าที่อื่นตามที่เห็นสมควร ข้อ 15. กรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งเมื่อ ก. ถึงคราวออกตามวาระ ข. ตายหรือสาบสูญตามคำสั่งของศาล ค. ลาออกโดยยื่นหนังสือต่อนายกสมาคมและนายกสมาคมได้รับหนังสือนั้นแล้ว ง. ขาดจากสมาชิกภาพตาม ข้อ 11 จ. ขาดประชุมคณะกรรมการบริหารสามครั้ง ติดต่อกันโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้นายกสมาคมทราบ ข้อ 16. คณะกรรมการบริหารมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้ ก. บริหารกิจการตามวัตถุประสงค์และข้อบังคับของสมาคม ข. วางระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อดำเนินการตาม ข้อ ก. โดยไม่ขัดกับข้อบังคับนี้ ค.กำหนดตำแหน่งกรรมการเจ้าหน้าที่ตาม ข้อ 14 วรรคหนึ่ง และตั้งอนุกรรมการเพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งของสมาคม ง. แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้มีเกียรติคุณเป็นที่ปรึกษาสมาคม โดยให้ที่ปรึกษาเข้าร่วมและออกความเห็นในการประชุม แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน ข้อ 17. กรรมการบริหารอยู่ในตำแหน่งสมัยละสิบสองเดือน เริ่มต้นและสิ้นสุดในวันปรเชุมใหญ่สามัญประจำปี ในระหว่างที่คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ยังไม่ได้รับตำแหน่งให้คณะกรรมการบริหารชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่อันเป็นงานปกติไปพลางก่อน ข้อ 18. คณะกรรมการบริหารต้องประชุมอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง ในการประชุมต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงถือเป็นองค์ประชุม ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้อุปนายกสมาคมเป็นประธานที่ประชุม และถ้าอุปนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ข้อ 19. นายกสมาคม เป็นผู้แทนสมาคมในการติดต่อกับบุคคลภายนอก นายกสมาคมมีหน้าที่อำนวยการบริหารกิจการของสมาคมให้เป็นไปตามข้อบังคับและวัตถุประสงค์ของสมาคม อุปนายกสมาคม เป็นผู้ช่วยเหลือนายกสมาคม ทำการแทนเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือปฏิบัติงานตามที่นายกสมาคมมอบหมาย เลขาธิการ มีหน้าที่เป็นผู้นัดประชุมคณะกรรมการบริหาร นัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี นัดประชุมใหญ่อื่น ๆ บันทึกการประชุม ดูแลรักษาเอกสารอื่นรวมทั้งทรัพย์สินต่าง ๆ ของสมาคม ติดต่อกับสมาชิกและปฏิบัติหน้าที่อย่างอื่นที่มิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ควบคุมดูแลจัดการกิจการของสมาคม ควบคุมพนักงานเจ้าหน้าที่ของสมาคม แต่การรับบุคคลเข้าทำงาน หรือให้ออกจากงาน เลขาธิการจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร เหรัญญิก มีหน้าที่เก็บรักษาเงิน ทำบัญชี, งบดุล และดูแลผลประโยชน์อันเกี่ยวเนื่องกับเงินและทรัพย์สินอื่นของสมาคม นายทะเบียน มีหน้าที่จัดทำและเก็บรักษาไว้ซึ่งทะเบียนของสมาชิกให้ตรงตามความเป็นจริง ข้อ 20. เงินรายได้ทั้งหมดของสมาคมให้ฝากไว้ที่ธนาคารที่มีความมั่นคง หรือซื้อตราสารทางการเงินที่ออกหรือรับรองโดยรัฐบาล ทั้งนี้ให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการบริหาร การเบิกจ่ายเงินของสมาคมให้นายกสมาคม เลขาธิการและเหรัญญิกของสมาคม ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของสมาคมเป็นสำคัญ ข้อ 21. นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้ไม่เกินครั้งละหนึ่งหมื่นบาท หรือรวมแล้วไม่เกินสองหมื่นบาทภายในหนึ่งเดือน หากจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินเกินกว่านี้ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร การอนุมัติจ่ายเงินทุกครั้งตามวรรคหนึ่ง นายกสมาคมต้องแจ้งให้คณะกรรมการบริหารทราบในการประชุมคราวถัดไป ข้อ 22. เหรัญญิกมีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้ไม่เกินครั้งละห้าพันบาท หรือรวมแล้วไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทภายในเวลาหนึ่งเดือนเหรัญญิกจะเก็บเงินสดไว้ได้ไม่เกินห้าพันบาท เหรัญญิกต้องจัดทำงบดุลแสดงฐานะการเงินของสมาคมทุกเดือนปิดแสดงไว้ ณ ที่ทำการสมาคมและต้องทำงบดุลทุกวันที่ 31 ธันวาคม เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี หมวด 7 การเลือกตั้งนายกและกรรมการบริหารสมาคม ข้อ 23. นายกสมาคมและกรรมการบริหารให้เลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี โดยที่ประชุมเลือกสามัญสมาชิกจำนวนห้าคนขึ้นทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการเลือกตั้ง ให้สามัญสมาชิกเสนอชื่อผู้ที่อยู่ในที่ประชุมผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสมาคมจากสามัญสมาชิกด้วยกันต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง โดยมีสามัญสมาชิกรับรองอย่างน้อยห้าคน การเลือกตั้งให้กระทำโดยให้สามัญสมาชิกลงคะแนนลับ ผู้ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมถ้าได้คะแนนเท่ากัน ให้ใช้วิธีจับสลาก ผู้ใดจะดำรงตำแหน่งนายกสมาคมติดต่อกันเกินกว่าสองสมัยไม่ได้ การเลือกตั้งกรรมการบริหารสมาคม ให้สามัญสมาชิกเสนอชื่อสามัญสมาชิกผู้ที่อยู่ในที่ประชุมผู้ที่สมควรเป็นกรรมการจากหนังสือพิมพ์ที่สามัญสมาชิกสังกัดฉบับละไม่เกินสองคน โดยมีสามัญสมาชิกรับรองอย่างน้อยห้าคน และเลือกตั้งโดยให้สามัญสมาชิกลงคะแนนลับ ผู้ได้คะแนนสูงสุดตั้งแต่อันดับหนึ่งถึงอันดับสิบสี่ ถือว่าเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหาร ถ้าได้คะแนนเท่ากันให้ใช้วิธีจับสลาก ผู้ได้รับคะแนนรองลงมาให้เป็นสำรองกรรมการและให้เลื่อนขึ้นมาเป็นกรรมการแทนเมื่อกรรมการผู้ได้รับเลือกตั้งพ้นจากหน้าที่ตาม ข้อ 15 โดยให้กรรมการที่เข้ามาแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของคนที่ตนแทน กรรมการบริหารที่ไม่ใช่นายกสมาคมจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าสามสมัยไม่ได้ ให้คณะกรรมการบริหารชุดที่สิ้นสุดลงตามวาระมอบงานให้คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ภายในเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งเรียบร้อยแล้ว หมวด 8 การควบคุมความประพฤติของสมาชิก ข้อ 24. จริยธรรมของวิชาชีพตาม ข้อ 7 ที่สมาชิกทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติได้แก่ (1) ส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพของการเสนอข่าวและความคิดเห็น (2) ให้ประชาชนได้ทราบข่าวเฉพาะที่เป็นจริง การเสนอข่าวสารใด ๆ ออกพิมพ์โฆษณาเผยแพร่ ถ้าปรากฎว่าไม่ตรงต่อความเป็นจริง ต้องรีบจัดการแก้ไขให้ถูกต้องโดยเร็ว (3) ในการได้มาซึ่ง ข่าว ภาพ หรือข้อมูลอื่นใด มาเป็นของตน ต้องใช้วิธีการที่สุภาพและซื่อสัตย์เท่านั้น (4) เคารพในความไว้วางใจของผู้ให้ข่าว และรักษาไว้ซึ่งความลับของแหล่งข่าว (5) ปฏิบัติหน้าที่ของตน โดยมุ่งหวังต่อสาธารณประโยชน์ ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว หรือหมู่คณะโดยไม่ชอบธรรม (6) ไม่กระทำการอันเป็นการบั่นทอนเกียรติคุณของวิชาชีพ หรือความสามัคคีของเพื่อนร่วมวิชาชีพ ข้อ 25. ให้ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี เลือกคณะกรรมการควบคุมจริยธรรมวิชาชีพ จากสามัญสมาชิกผู้มีความประพฤติดีขึ้นคณะหนึ่ง มีจำนวนไม่เกินห้าคน ที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับบุคคลในข้อ 9 (2) และให้ใช้วิธีการเลือกตั้งเช่นเดียวกับการเลือกตั้งนายกและกรรมการบริหารโดยอนุโลม ข้อ 26. คณะกรรมการควบคุมจริยธรรมมีอำนาจหน้าที่ (1) สอดส่องและควบคุมความประพฤติของสมาชิกให้เป็นไปตามข้อบังคับและจริยธรรมของวิชาชีพ (2) สอบสวนสมาชิกที่ถูกกล่าวหาว่าประพฤติผิดจริยธรรม เมื่อได้รับคำขอจากคณะกรรมการบริหาร (3) สอบสวนคุณสมบัติ และความประพฤติของผู้สมัครเป็นสมาชิกใหม่ตามที่คณะกรรมการบริหารร้องขอ ในกรณีที่คณะกรรมการควบคุมจริยธรรมวิชาชีพดำเนินการสอบสวนแล้ว ให้เสนอความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการบริหารเพื่อดำเนินการต่อไป ข้อ 27 คณะกรรมการควบคุมจริยธรรมมีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับอายุของคณะกรรมการบริหารในปีนั้น หมวด 9 การประชุมใหญ่ ข้อ 28. การประชุมใหญ่ของสมาคมมีได้ 2 กรณี คือ (1) การประชุมใหญ่สามัญ (2) การประชุมใหญ่วิสามัญ ข้อ 29 ให้มีการประชุมใหญ่สามัญปีละหนึ่งครั้งภายในวันที่ 5 มีนาคม เพื่อ (1) ให้คณะกรรมการบริหารแถลงผลงานในรอบปี (2) ให้ผู้สมัครสมาชิกใหม่แสดงตัวต่อที่ประชุมใหญ่ (3) รับรองงบดุลประจำปี (4) ตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี / ที่ปรึกษากฎหมาย (5) เลือกตั้งนายกสมาคมและกรรมการบริหาร (6) เลือกตั้งกรรมการควบคุมจริยธรรม (7) เรื่องอื่น ๆ ข้อ 30 การประชุมใหญ่วิสามัญกระทำได้เมื่อ (1) คณะกรรมการบริหารเห็นสมควรเมื่อมีปัญหาที่จะต้องหารือ หรือให้ที่ประชุมใหญ่วินิจฉัย (2) สามัญสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าห้าสิบคนร้องขอให้เรียกประชุมตาม ข้อ 9 (2) ข้อ 31 การประชุมใหญ่ตาม ข้อ 29 และ 30 ต้องมีสามัญสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสามัญสมาชิกทั้งหมด หรือจำนวนไม่น้อยกว่าห้าสิบคนจึงจะเป็นองค์ประชุม ข้อ 32 การนัดประชุมใหญ่ตาม ข้อ 29 และ 30 ให้เลขาธิการแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และให้ปิดประกาศไว้ ณ ที่ทำการสมาคม หมวด 10 การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ ข้อ 33 การเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับนี้จะกระทำได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่และมติให้แก้ไขข้อบังคับต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม ข้อ 34 ญัตติขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับต้องมาจากคณะกรรมการบริหารหรือมาจากสามัญสมาชิกที่ได้ชำระค่าบำรุงติดต่อกันไม่ต่ำกว่าสามปีจำนวนไม่น้อยกว่าห้าสิบคน โดยให้ทำเป็นหนังสือและให้เลขาธิการทำสำเนาแจกจ่ายแก่สมาชิกก่อนการประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่เลขาธิการได้รับญัตติดังกล่าว ข้อ 35 ให้เลขาธิการนำข้อบังคับที่แก้ไขหรือเพิ่มเติมนั้นไปจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานภายในสิบห้าวันนับแต่ที่ประชุมใหญ่มีมติให้เปลี่ยนแปลงแก้ไข หมวด 11 การเลิกสมาคม ข้อ 36 สมาคมเลิก โดย (1) ที่ประชุมใหญ่สามัญมีมติให้เลิก ในการประชุมให้เลิกสมาคมนั้นต้องมีสามัญสมาชิกไปประชุมไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด (2) เลิกตามกฎหมาย ข้อ 37 เมื่อสมาคมต้องเลิกไปไม่ว่าโดยสาเหตุใดๆ ให้ทรัพย์สินของสมาคมตกเป็นขององค์กรที่เกี่ยวกับวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ตามมติของที่ประชุมใหญ่ หมวด 12 บทเฉพาะกาล ข้อ 38 ให้ผู้ที่เป็นสมาชิกสามัญหรือสมาชิกวิสามัญของสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย และไม่ขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับของสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เป็นสมาชิกของสมาคมแต่ละประเภทโดยอัตโนมัติ มีสิทธิและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้เท่าที่จะพึงมีพึงได้ทุกประการ ข้อ 39 ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมและคณะกรรมการบริหารมาก่อนที่ข้อบังคับนี้จะมีผลใช้บังคับ ไม่ตกอยู่ในบทบังคับแห่ง ข้อ 23 ว่าด้วยข้อห้ามการดำรงตำแหน่ง ข้อ 40 ในวาระเริ่มแรก หลังจากจดทะเบียนแก้ไขข้อบังคับแล้ว ให้ดำเนินการเลือกตั้งตาม ข้อ 14 ภายในกำหนดเวลาสามสิบวัน