รายงานกิจกรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมัยที่ ๑๖/๒๕๕๘

รายงานกิจกรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมัยที่ ๑๖

คณะกรรมการบริหาร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมัยที่ ๑๖ ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๘ – ๔ มีนาคม ๒๕๕๙  ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายในการดำเนินไว้ภายใต้แนวคิด “ปฏิวัติคนข่าว อภิวัฒน์สื่อ” โดยมุ่งหวังให้  “คนข่าว” ต้องปรับตัวเป็นคนข่าวที่มีคุณภาพ มีจิตวิญญาณของคนข่าว ต้องพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง มีองค์ความรู้รอบตัว ต้องมีสวัสดิการที่เหมาะสม และรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นสื่อมวลชนมีเป้าหมายในการทำหน้าที่สื่อมวลชนเพื่อรักษาไว้ซึ่งความถูกต้องและผลประโยชน์สาธารณะ โดยได้กำหนดการยุทธศาสตรฬนการทำงานไว้ ๕ ยุทธศาสตร์ คือ  ๑.สิทธิเสรีภาพสื่อ ๒. พัฒนาศักยภาพนักข่าว ๓.ดูแลสวัสดิการ ส่งเสริมสวัสดิภาพ กระชับความสัมพันธ์กับนักข่าว ๔. สร้างภาคีสื่อและเครือข่ายในการขับเคลื่อนเพื่อหาทางออกในปัญหาสังคม และ ๕. หาทุนเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ข้างต้น

ในปี ๒๕๕๘  คณะกรรมการบริหาร สมาคมฯ  ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ ทำหน้าที่ในการดำเนินกิจกรรมตามยุทธศาสตร์ข้างต้น  โดยแบ่งออกเป็น ๖ คณะอนุกรรมการ ดังนี้

๑) คณะอนุกรรมการฝ่ายพิจารณาบทบาทสมาคมในสถานการณ์เร่งด่วน

๒) คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ

๓) คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ

๔) คณะอนุกรรมการฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์

๕) คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ

๖) คณะกรรมการอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ

 

๑. คณะอนุกรรมการฝ่ายพิจารณาบทบาทสมาคมในสถานการณ์เร่งด่วน

คณะอนุกรรมการ ชุดนี้จะทำหน้าที่ในการรวบรวมทั้งความเห็นและข้อเสนอต่างๆ จากบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องในการนำมาพิจารณาบทบาทสมาคมฯ ในสถานการณ์เร่งด่วน ทั้งในรูปแบบของการออกแถลงการณ์, การออกจดหมายเปิดผนึก และการเผยแพร่คำชี้แจงในเรื่องต่างๆ รวมทั้งทำความเข้าใจและสื่อสารกับสังคมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ต่างๆ ของสื่อ (ดูเอกสารแถลงการณ์ในเล่ม)

 

๒. คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ

ในปี ๒๕๕๘  คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมฯ แบ่งงานออกเป็น ๕  กลุ่มงาน คือ

๒.๑. ด้านการอบรม สมาคมฯ ได้จัดทำโครงการด้านการฝึกอบรมจำนวน ๓ หลักสูตร คือ

๒.๑.๑ การอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าว ประจำปี ๒๕๕๘ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ๔สถาบันอิศรา จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าว ประจำปี ๒๕๕๘  ขึ้นระหว่าง วันศุกร์ที่ ๒๔ ถึงวันอาทิตย์ที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๘  ณ ชลพฤกษ์ รีสอร์ท จังหวัดนครนายก  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรในวิชาชีพสื่อมวลชน โดยเชิญวิทยากรผู้มีประสบการณ์และได้รับการยอมรับจากกลุ่มวิชาชีพและผู้แทนจากกลุ่มนักวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถ่ายทอดทักษะและปลูกฝังจริยธรรมให้กับผู้สื่อข่าวที่เข้ารับการอบรม มีนักข่าวเข้าร่วมการอบรมจำนวน ๓๐  คน  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านทางสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

หัวข้อการอบรมประกอบด้วย  กรณีศึกษา ข่าวสืบสวน รางวัลอิศรา อมันตกุล การต่อยอดประเด็นข่าว ด้วยการทำ Mind Map การสืบค้นข้อมูลและจริยธรรม เทคนิคการสัมภาษณ์ และ เทคนิคการเล่าเรื่องผ่านแพลทฟอร์ม ต่างๆ

 

๒.๑.๒ การอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพิราบน้อยรุ่น ๑๘ เป็นโครงการต่อเนื่องจัดขึ้นเป็นปีที่ ๑๘ ซึ่งหากนับถึงปัจจุบันมีนักศึกษาที่ผ่านการอบรมกว่า ๑,๐๐๐ คนแล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพสื่อสารมวลชนด้านสิ่งพิมพ์  (Professional Development) ความรับผิดชอบต่อจริยธรรมในวิชาชีพ (Ethics Responsibility)  และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะองค์กรเพื่อสังคม (Organizational Social Responsibility) ซึ่งนักศึกษาที่เข้าร่วมอบรมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งกับเพื่อนนักศึกษาจากต่างสถาบันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักข่าวรุ่นพี่ที่ทำงานทั้งในภาคสนาม และในส่วนของผู้บริหารงานข่าว อันเป็นการเตรียมพร้อมในการเข้าสู่วิชาชีพ นอกจากนี้ยังเป็นกระบวนการปลูกฝังอุดมคติให้กับนักศึกษาด้วย ในรุ่นที่ ๑๘  มีนักศึกษาที่เรียนด้านหนังสือพิมพ์จากสถาบันอุดมศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วมอบรมจำนวน ๖๙  คน จาก  ๓๐  สถาบัน จัดอบรมระหว่างวันพฤหัสบดีที่  ๒๙ ตุลาคม  – วันอาทิตย์ที่ ๑ พฤศจิกายน  ๒๕๕๘    ณ ชลพฤกษ์ รีสอร์ท จังหวัดนครนายก   ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท ทรู คอปอร์เรชั่น จำกัด มหาชน

 

ในการอบรมครั้งนี้ได้เพิ่มกระบวนการฝึกฝนนักศึกษาในการเขียนข่าวเพิ่มขึ้นอีกขั้นตอนหนึ่ง โดยนักศึกษาทุกคนจะ ต้องส่งผลงานข่าวเข้าร่วมโครงการ TJA  Cyber Reporter อย่างน้อยคนละ ๒  ชิ้นงาน และจะมีการประกาศผลรางวัลในวันที่ ศุกร์ที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๙

 

๒.๑.๓  การอบรมเชิงปฏิบัติการ “เทคนิคการจัดรายการวิทยุอย่างสร้างสรรค์ภายใต้กรอบจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ  “เทคนิคการจัดรายการวิทยุอย่างสร้างสรรค์ภายใต้กรอบจริยธรรม”    โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับนักข่าวทั่วไปในสื่อประเภทต่างๆ ที่สนใจต้องการพัฒนาทักษะการจัดรายการวิทยุ หรือนักจัดรายการวิทยุรุ่นใหม่ที่สนใจพัฒนาตนเองเพื่อสามารถจัดรายการวิทยุอย่างสร้างสรรค์ภายใต้กรอบจริยธรรม เป็นเวทีแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรียนรู้ซึ่งกันและกันในการผลิตรายการวิทยุ และพัฒนาทักษะการถ่ายทอดข่าวสารหรือการสื่อสารไปยังผู้ฟังอย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อสร้างทัศนคติและความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณชน  เพื่อสร้างภาคีเครือข่ายนักจัดรายการวิทยุให้เข้มแข็งขึ้น  และฝึกปฏิบัติจริงหลังจากผ่านการอบรม จัดระหว่างวันเสาร์ที่ ๑๔– วันอาทิตย์ที่ ๑๕ พฤศจิกายน  ๒๕๕๘     ณ  คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น ๑๐ มีสื่อมวลชนเข้าร่วมอบรมจำนวน ๒๑ คน

โดยเนื้อหาในการอบรมประกอบด้วย  ๑. คุณสมบัติการเป็นนักจัดรายการวิทยุที่ดีและประสบความสำเร็จ       ๒. เทคนิคการจัดรายการวิทยุในรูปแบบต่าง ๆ   ๓.บอกเล่าประสบการณ์มาตราฐานนักจัดรายการวิทยุ    ๔.การเขียนบทวิทยุ     ๕. ทักษะการจัดรายการพูดคุย (Straight Talk) และสนทนา และ  ๖. ฝึกปฏิบัติจริง ผลิตรายการ

ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านทางสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

 

๒.๒ กลุ่มงานเสวนาและสื่อสารสาธารณะ ได้มีการจัดทำโครงการในกลุ่มงานเสวนาและสื่อสารสาธารณะ จำนวน ๓ กิจกรรม ดังนี้

๒.๒.๑ ราชดำเนินเสวนา เป็นโครงการที่ดำเนินงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ ๑๗  ซึ่งเป็นความริเริ่มจากสมัยที่นายกวี จงกิจถาวร เป็นนายก สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย (พ.ศ. ๒๕๔๒) มีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพการทำงานข่าวให้มีคุณภาพและอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง  โดยมีการเชิญแหล่งข่าวมาพบปะพูดคุยและตอบคำถามนักข่าว เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ระหว่างนักข่าวกับแหล่งข่าวในประเด็นต่าง ๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

ในปี พ.ศ.  ๒๕๕๘  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ(สสส.) ผ่านทางสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย  ได้จัดราชดำเนินเสวนาไปจำนวน ๗ ครั้ง สามารถติดตามเนื้อหาราชดำเนินเสวนาได้ที่ www.tja.or.th

 

๒.๒.๒. รายการวิทยุช่วยกันคิดทิศทางข่าว เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กับสำนักข่าวไทยและบริษัท อสมท. จำกัด มหาชน ออกอากาศทางสถานีวิทยุ อสมท.  FM ๑๐๐.๕ Mhz ทุกวันอาทิตย์เวลา ๑๑.๐๐-๑๒.๐๐น. เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักข่าวรุ่นใหม่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมกับสมาคมฯ รวมทั้งเป็นเวทีในการสื่อสารเรื่องราวที่เกี่ยวกับสื่อมวลชนให้สาธารณชนได้ รับทราบ รวมทั้งการวิเคราะห์ถึงทิศทางข่าวในสัปดาห์ต่อไป โดยเน้นความหลากหลายของประเด็นข่าว ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศ และอื่นๆที่เป็นประเด็นร้อนในขณะนั้น

 

สำหรับนักจัดรายการประจำปี  ๒๕๕๘  มีจำนวน ๑๓  คนคือ ๑.นางสาวณัฐินี  จันทร์เอียด (ฐานเศรษฐกิจ) ๒. นายณัฐวุฒิ  กรัณยโสภณ  (ประชาชาติ)  ๓.นายอานุภาพ  เงินกระแชง (ไทยรัฐ) ๔.นางสาวดารากาญจน์  ทองลิ่ม (สำนักข่าวไทย อสทม.) ๕. นางสาวนันทพร  ทาวะระ (ไทยรัฐทีวี) ๖.นายสิทธิชน  กลิ่มหอมอ่อน (แนวหน้า) ๗.นายราม อินทรวิจิตร (นักข่าวอิสระ) ๘.นางสาวดารินทร์  หอวัฒนกุล (ไทยรัฐทีวี) ๙. นางสาวรัชดาภรณ์  ม่วงทำ (สปริงนิวส์)  ๑๐. นายจีรพงษ์  ประเสริฐพลกรัง (สำนักข่าวเนชั่น) ๑๑.นายวรพล กิตติรัตวรางกูล (ไทยโพสต์) ๑๒.นางสาวเลอลักษณ์ จันทร์เทพ (โพสต์ทูเดย์) และ ๑๓.นางสาวประนอม บุญล้ำ (ทีเอ็นเอ็น)

ติดตามฟังรายการวิทยุย้อนหลังได้ที่  www.tja.or.th

 

๒.๒.๓ www.tja.or.th เป็นเวบไซต์ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมข่าวสารต่างๆ ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ทั้งประชาสัมพันธ์กิจกรรม,รายงานกิจกรรม,กฎหมายที่เกี่ยวข้อง,ประวัติความ เป็นมา จุดยืนและท่าทีของสมาคมฯต่อสถานการณ์ต่างๆของบ้านเมือง รวมทั้งการบันทึกผลงานข่าวที่ได้รับรางวัลประเภทต่างๆ  และเป็นชุมชนออนไลน์ของนักวิชาการและวิชาชีพสื่อสารมวลชน ในการแลกเปลี่ยนทัศนะของนักวิชาการและนักวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน และนำเสนอข่าวสารความเคลื่อนไหวในแวดวงสื่อสารมวลชน

 

๒.๓ กลุ่มงานหนังสือ ในปี   ๒๕๕๘ ฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดทำหนังสือรวม ๒  เล่ม ดังนี้

๒.๓.๑ จุลสารราชดำเนิน ในปี ๒๕๕๘  สมาคมฯ ได้จัดทำวารสารราชดำเนินโดยออกเป็นรายสามเดือนจำนวน ๒   ฉบับ

ฉบับที่ ๒๙ เนื้อหาหลักคือ  “Marketing is King”  มีนายธนวัฒน์ เพชรล่อเหลียน  เป็นบรรณาธิการ และฉบับ ๓๐ เนื้อหาหลักคือ “อนาคตสื่อไทยบนเส้นทาง (แพร่ง) สายปฏิรูป”   มีนายมานพ ทิพย์โอสถ  เป็นบรรณาธิการ

อ่านเนื้อหาจุลสารราชดำเนินฉบับย้อนหลังได้ที่ www.tja.or.th

 

๒.๓.๒ หนังสือวันนักข่าว “สนามข่าวที่ไร้การแข่งขัน ” หนังสือวันนักข่าวเป็นหนังสือรายงานประจำปีที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการข่าวและหนังสือพิมพ์  ตลอดจนรายงานกิจกรรมของสมาคม  และทำเนียบรายชื่อนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่เป็นสมาชิกสมาคม  เนื้อหาหลักในปีนี้เน้นเรื่อง  ““สนามข่าวที่ไร้การแข่งขัน ” มีนางสาว น.รินี เรืองหนู เป็นบรรณาธิการ มีการแจกจ่ายหนังสือวันนักข่าวถึงมือสมาชิก สมาคมฯ ในวันที่ ๔ มีนาคม  ๒๕๕๙  ซึ่งเป็นวันประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมฯ

 

๒.๔. กลุ่มงานเครือข่ายวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน เป็น เครือข่ายที่นักวิชาการและนักวิชาชีพสื่อสารมวลชนร่วมกันก่อตั้งขึ้นเพื่อ เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน โดยในปี ๒๕๕๘ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ๒ กิจกรรม ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ(สสส.) ผ่านทางสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย  ดังนี้

 

๒.๔.๑ ห้องเรียนสาธารณะ เป็นกิจกรรมที่เน้นการถ่ายทอดความรู้ และเทคนิค ทางวิชาชีพสื่อมวลชน แก่นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดกระบวนการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และเป็นแรงจูงใจในการกระตุ้นให้นิสิต นักศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ เข้ามาทำงานสื่ออย่างเป็นระบบภายใต้กรอบการทำงานเชิงวิชาการ และเป็นการร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระหว่างนิสิต นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และนักวิชาชีพสื่อทั้งระดับประเทศและท้องถิ่น โดยในปี ๒๕๕๘ จัดกิจกรรมหัวข้อ "นักข่าว Gen Zใส่ใจจริยธรรม " ร่วมกับ ๒  สถาบันการศึกษาได้แก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  (๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๘) และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙)

๒.๔.๒ ประชุมเครือข่ายนักวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นเครือข่ายที่นักวิชาการและนักวิชาชีพสื่อสารมวลชนร่วมกันก่อตั้งขึ้นเพื่อ เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างและประสบการณ์ระหว่างด้านวิชาชีพและวิชาการด้านสื่อสารมวลชน โดยนำเอาประเด็นทางวิชาการและวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่น่าสนใจและมีผลกระทบต่อ ประโยชน์สาธารณะมาแลกเปลี่ยนกัน ภายใต้การจัดสัมมนายุทธศาสตร์วารศาสตร์แห่งอนาคต  โดยในปี ๒๕๕๘ จัด ๓ ครั้ง ดังนี้

สัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ ๙  จัดร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม หัวข้อ “ปฏิวัติคนข่าว: ทิศทางการพัฒนาบุคลากรสื่อ”   (๓ เมษายน ๒๕๕๘)  สัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ ๑๐ จัดร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต หัวข้อ  “ปฏิวัติคนข่าว ทุน-อุดมการณ์ การปรับตัวของนักนิเทศศาสตร์ยุคดิจิทัล” (๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘)    และครั้งที่ ๑๑ จัดร่วมกับ ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หัวข้อ ‘ถอดบทเรียนคอนเวอร์เจ้นท์ จากอดีต สู่อนาคต (๒๗  พฤศจิกายน ๒๕๕๘)

 

๒.๕. กลุ่มงานประกวดข่าว

๒.๕.๑ การประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทข่าวและภาพข่าวยอดเยี่ยม ประจำปี ๒๕๕๘ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ได้รับมอบหมายจากมูลนิธิอิศรา อมันตกุล ให้ดำเนินการจัดการประกวดข่าวและภาพข่าวยอดเยี่ยม รางวัลอิศรา อมันตกุล เพื่อเป็นการรำลึกถึงนายอิศรา อมันตกุล นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรกและนักหนังสือพิมพ์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ภาย ใต้กรอบจริยธรรม โดยดำเนินการจัดการประกวดมาตั้งแต่ ปี ๒๕๑๕ สำหรับในปี ๒๕๕๗ มีผลงานงานข่าวส่งเข้าประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทข่าวยอดเยี่ยมจำนวน ๑๐ ข่าว จากหนังสือพิมพ์ ๔  ฉบับ และส่งผลงานภาพข่าวเข้าประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทภาพข่าวยอดเยี่ยมจำนวน  ๗๖ ภาพ จากหนังสือพิมพ์  ๑๐ ฉบับ

 

๒.๕.๒ การประกวดรางวัลข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๘ ของ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมฯ ได้มอบหมายให้ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ดำเนินการจัดการประกวด ข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ซึ่งจัดการประกวดมาตั้งแต่ปี  ๒๕๓๒ สำหรับในปี ๒๕๕๘ มีผลงานข่าวส่งเข้าประกวดจำนวน ๙ ข่าว จากหนังสือพิมพ์ ๔ ฉบับ

 

๒.๕.๓ การประกวดรางวัลพิราบน้อย ประจำปี ๒๕๕๘ เป็นการประกวดผลงานฝึกปฏิบัติของนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่มีการทำ หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ โดยแบ่งการประกวดออกเป็น ๒ รางวัล ๕ ประเภท คือ รางวัลพิราบน้อย ประกอบด้วย  ๑.ประเภทหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ ๒. ประเภทข่าวฝึกปฏิบัติ ๓.ประเภทข่าวสิ่งแวดล้อมฝึกปฏิบัติ ๔.ประเภทข่าวออนไลน์ฝึกปฏิบัติ และรางวัลริต้า ปาติยะเสวี คือประเภทสารคดีเชิงข่าวฝึกปฏิบัติ  เริ่มจัดการประกวดตั้งแต่ปี พ.ศ.   ๒๕๓๖ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการจัดทำหนังสือพิมพ์และการทำข่าวของ นิสิตนักศึกษาวิชานิเทศศาสตร์ และวารสารศาสตร์  ในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันการศึกษา  กับสมาคมฯ    ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท ทรู คอปอร์เรชั่น จำกัด มหาชน ในปี ๒๕๕๘ มีผลงานส่งเข้าประกวดดังนี้ ๑. หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ ๑๔ ฉบับ ๒. ข่าวฝึกปฏิบัติ ๓๗ ข่าว ๓. ข่าวสิ่งแวดล้อม ๒๖ ข่าว ๔. ข่าวออนไลน์ ๑๗ ข่าว  และ ๕. สารคดีเชิงข่าว ๒๕ ชิ้น

 

 

๓. คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ

ในปี  ๒๕๕๘  คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมฯ ดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมส่งเสริมและปกป้องมีสิทธิเสรีเสรีภาพของสื่อมวลชน โดยนักข่าวจะต้องมีอิสรภาพ เสรีภาพ ในการทำงาน ไม่ถูกคุกคาม แทรกแซงทั้งจากกลุ่มทุน รัฐ และผู้มีอิทธิพล  โดยมีกิจกรรมดังนี้

๓.๑ งานรณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพสื่อ

๓.๑.๑. โครงการฉลองวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day – ๓ MAY) เป็นโครงการต่อเนื่องที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกวันที่ ๓ พฤษภาคม เนื่องจากเป็นวันที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก้ ได้เสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ ๓ พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก ซึ่งก็คือเสรีภาพในการแสดงออก  ตั้งแต่เมื่อปี  ๒๕๔๓  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก็ได้ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และเครือข่ายส่งเสริมสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียอาคเนย์ จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในโอกาสดังกล่าวมาโดยตลอด

ในปี ๒๕๕๘  สมาคมฯ ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) ซึ่งตรงกับวันที่ ๓ พฤษภาคมของทุกปี เพื่อเป็นการร่วมกันปลุกจิตสำนึก พิจารณาพัฒนาข้อคิดข้อเสนอต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชน รวมทั้งการสร้างความตระหนักในสังคมถึงความสำคัญของเสรีภาพสื่อ ซึ่งคือเสรีภาพของประชาชน โดยการจัดเสวนาหัวข้อ  “สื่อไทยในสถานการณ์เปลี่ยนผ่าน;เสรีภาพหรือครอบงำ”  และบรรดาสื่อมวลชนภาคสนามและผู้ประกาศข่าวของสถานีโทรทัศน์ร่วมกันสวมเสื้อรณรงค์“เสรีภาพ บนความรับผิดชอบ” ซึ่งเป็นเสื้อคอปกสีน้ำตาล ปักตราสัญลักษณ์สีส้ม

 

๓.๑.๒ สนับสนุนการดำเนินการของสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย เพื่อเป็นกลไกในการ ขับเคลื่อนด้าน สวัสดิการนักข่าว โดยได้มีการจัดเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดสวัสดิการสื่อ โดยได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงานเลขทะเบียนที่ กธ.๑๑๑๔  เมื่อ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๕ โดยมีนายสุเมธ สมคะเน หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นประธานก่อตั้ง  และได้มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการ สหภาพชุดที่ ๒  เมื่อ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ มีนายสุเมธ สมคะเน หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสหภาพฯต่อ

๓.๒ งานส่งเสริมทักษะวิชาชีพข่าว ในปี ๒๕๕๘ คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพสื่อและการปฏิรูปสื่อ  สมาคมฯ ได้จัดการอบรมขึ้น ๒ หลักสูตร

 

๓.๒.๑ การอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง รุ่น ๖ (Safety Training for Thai Journalists)” สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การรายงานข่าวในสถานการณ์ความรุนแรง (Safety Training)”  ขึ้นเพื่อให้ผู้สื่อข่าวและช่างภาพจากสื่อหนังสือพิมพ์  สถานีโทรทัศน์และวิทยุ  ได้เรียนรู้เรื่องการทำข่าวอย่างปลอดภัยในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง โดยเนื้อหาการอบรมประกอบด้วย ๑. การเตรียมตัวและวางแผนก่อนลงพื้นที่ปฏิบัติงานข่าว ๒. การเข้าทำข่าวพื้นที่ที่มีความขัดแย้งในแต่ละสถานการณ์ ภาษาที่ใช้ในการรายงานข่าว . การปฐมพยาบาล  ๖.แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำข่าวในสถานการณ์ขัดแย้ง  จัดขึ้นระหว่างวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ พฤษภาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤษภาคม  ๒๕๕๘  ณ คำแสด ริเวอร์แคว รีสอร์ท จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี สถานีโทรทัศน์ช่อง ๗ สี และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (เอฟอีเอส)

๓.๒.๒ การอบรมหลักสูตร “กฎหมายเพิ่มศักยภาพสื่อระดับสูง” เพื่อให้สื่อมวลชนได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องระบบกฎหมายของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายหมิ่นประมาท  พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เพื่อการวิเคราะห์และกำกับทิศทางข่าวให้มีความโดดเด่นขึ้น  น่าเชื่อถือ  ที่สำคัญคือทำให้สื่อมวลชนรู้ถึงสิทธิเสรีภาพที่ตนมีอยู่ ขณะเดียวกันก็ต้องมีความระมัดระวัง ไม่ไปละเมิดบุคคลอื่นจากการทำหน้าที่ของตนเอง จัดระหว่างวันอาทิตย์ที่ ๔ ถึงวันอาทิตย์ที่ ๑๘  ตุลาคม  ๒๕๕๘  ณ  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้รับสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

๓.๓ หนังสือเล่มเบื้องแรกประชาธิปตัย

หนังสือเล่ม “เบื้องแรกประชาธิปตัย” เป็นหนังสือที่ดำเนินการจัดทำโดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๖ หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีการพิมพ์เผยแพร่อีกมาเป็นระยะเวลา ๔๐ ปีมาแล้ว ด้วยเนื้อหาที่เต็มไปด้วยเบื้องหลังของสถานการณ์ทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิ์ฯ จึงมีโครงการจัดพิมพ์อีกครั้งเพื่อเผยแพร่ให้ผู้สนใจได้มีโอกาสทำความเข้าใจสถานการ์ณการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่าน  ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมต้นฉบับโดยมีนายมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมฯ เป็นบรรณาธิการ

๓.๔ งานติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพและสถานการณ์สื่อ

ในปี ๒๕๕๘ เป็นปีที่คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิ์แฯต้องทำงานภายใต้แรงกัดดันและข้อจำกัดในการแสดงออก ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สื่อมวลชนต้องเผชิญหน้ากับการถูกกดดันในการทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐรูปแบบต่างๆ ประกอบกับท่าทีของผู้นำรัฐบาลที่มีทัศนคติเชิงลบต่อสื่อมวลชน ใช้ถ้อยคำรุนแรงในการตอบโต้การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง  จึงมีหลายครั้งที่ต้องทำหน้าที่ชี้แจงกรณีต่างๆผ่านการออกข่าว แถลงการณ์ จดหมายเปิดผนึก การเข้าคณะทำงานสื่อของ คสช. และพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) เพื่อทำความเข้าใจในประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับการทำงานของสื่อมวลชน

ในส่วนของการร่างรัฐธรรมนูญและการแก้ไขกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่สื่อ ก็ได้มีการตั้งคณะทำงาน ๔ องค์กรวิชาชีพในการติดตาม รวบรวมและนำเสนอข้อคิดเห็นต่าง ๆ (ดูจากแถลงการณ์ท้ายเล่ม)

๔. คณะกรรมการอนุกรรมการฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์

ในปี   ๒๕๕๘  คณะอนุกรรมการฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แบ่งงานออกเป็น ๒ กลุ่มงาน คือ

๔.๑ งานด้านสมาชิกสัมพันธ์

๔.๑.๑ อบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาบุคลิกภาพเพื่อภาพลักษณ์ของนักข่าว” สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาสันติราษฏร์ ในพระอุปถัมภ์ฯ    จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาบุคลิกภาพเพื่อภาพลักษณ์ของนักข่าว”  เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม  ๒๕๕๘  ณ ห้องประชุม SIBA Convention วิทยาลัยอาชีวศึกษาสันติราษฏร์ ในพระอุปถัมภ์ฯ

สำหรับหัวข้อการอบรมประกอบด้วย  หัวข้อ “บุคลิก คลิกความสำเร็จ” โดยอาจารย์ขนิษฐา คงเพิ่มพูน หัวข้อ “มารยาทในการร่วมโต๊ะอาหารในวาระต่างๆ” (ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ) โดยอาจารย์นพ ลิมปนะพฤกษ์ เพื่อสร้างความรู้ ความมั่นใจในการใช้อุปกรณ์บนโต๊ะอาหาร ลักษณะอาหาร การใช้ผ้าเช็ดปาก การดื่มไวน์ให้เหมาะสมกับอาหาร ตลอดจนการแต่งกายให้เหมาะสมกับงานเลี้ยงในรูปแบบต่างๆ และ หัวข้อ “งานสัมฤทธิ์ กับทัศนคติเชิงบวกในวิชาชีพ” โดย อาจารย์สนิท หฤหรรษวาสิน ซึ่งจะเป็นการทำกิจกรรมกลุ่มประกอบการบรรยาย “Group Dynamics” เพื่อปรับทัศนคติเชิงบวกในอาชีพ มีความพร้อมในการพัฒนาตนเอง และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

๔.๑.๒ กิจกรรม พิราบ Fit & Firm รุ่น ๘ ดูแลสุขภาพกายและใจ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมโครงการดูแลห่วงใย ใส่ใจสุขภาพ เพื่อสุขภาวะสื่อมวลชน  พิราบ Fit & Firm รณรงค์ดูแลด้านสุขภาพทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต  ระหว่างวันเสาร์ที่ ๑๙ - วันอาทิตย์ที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๘ ณ  โรงเรียนนายร้อย จปร. จังหวัดนครนายก  กิจกรรมในโครงการเน้นการดูแลสุขภาพทั้งกายและใจ เพื่อให้นักข่าวมีประสบการณ์ตรงในการบริโภคอาหารที่ถูกหลักโภชนาการและมีทักษะในการบริหารร่างกาย รวมทั้งมีโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันและระหว่างรุ่นพี่และ รุ่นน้อง จะนำมาซึ่งนักข่าวที่มีสุขภาวะที่ดี ซึ่งจะส่งผลต่อการรายงานข่าวและการปฏิบัติหน้าที่ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท  ซาโนฟี่-อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด

๔.๑.๓  อบรมหลักสูตร “ กาแฟสร้างอาชีพ สำหรับสื่อมวลชน” สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ บมจ.ซีพี ออลล์ และ บริษัท รีเทลลิงค์ (ไทยแลนด์) จำกัด จัดอบรมหลักสูตร “ กาแฟสร้างอาชีพ สำหรับสื่อมวลชน” เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๘   ณ บริษัท รีเทลลิงค์(ไทยแลนด์)จำกัด วิภาวดี ๖๒

หลักสูตรการอบรมประกอบด้วยการบรรยายหัวข้อ “ทำร้านกาแฟให้ยั่งยืน” โดย คุณนริศ ธรรมเกื้อกูล รองกรรมการผู้จัดการ  บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด และเรียนรู้อุปกรณ์ในการชงกาแฟและเครื่องชงกาแฟ และ Work Shop กาแฟร้อน / กาแฟเย็น  พร้อมทั้งเยี่ยมชมร้านกาแฟสร้างอาชีพต้นแบบ สำหรับผู้เข้าร่วมการอบรมที่อยู่เข้าร่วมอบรมจนจบหลักสูตรจะได้รับมอบใบประกาศนียบัตร

 

๔.๑.๔  ค่ายกระจิบ กระจาบพิราบน้อยรุ่น ๙ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดค่ายกระจิบ กระจาบพิราบน้อยรุ่น ๙   ให้กับบุตร-ธิดาสมาชิกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เพื่อให้ลูกหลานสมาชิกฯ ได้มีโอกาสสัมผัสกับ เมืองโบราณ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งขนาดใหญ่ที่สุดในโลก  โดยย่อส่วนสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆทั่วประเทศไทยมารวมไว้ในที่เดียว เป็นการส่งเสริมให้เด็กไทยได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมไทยที่แตกต่างกันไปตามภูมิภาค  นอกจากจะได้ทัศนศึกษาสถานที่สำคัญของประเทศไทยแล้ว ยังได้พัฒนาทักษะด้านการวาดภาพการ์ตูน โดยมีวิทยากรจากสมาคมการ์ตูนไทยมาอบรมการวาดการ์ตูนเบื้องต้นสำหรับเด็กโดยสีไม้ให้ด้วย เมื่อวันอาทิตย์ที่  ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท วิริยะประกันภัย  จำกัด มหาชน และเมืองโบราณ

๔.๑.๕  หนังสือเส้นทางคนหนังสือพิมพ์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดทำหนังสือเส้นทางคนหนังสือพิมพ์   ขึ้นเนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ ๖๐ ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ตรงกับวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๙  โดยการรวบรวมชีวประวัติ ผลงานและเรื่องราวการต่อสู้ ความยากลำบากในชีวติการทำงาน รวมไปถึงแนวทางการฟันฝ่าปัญหาต่างๆ จนประสบความสำเร็จของนักหนังสือพิมพ์ โดยการถอดบทเรียนจากบรรดาผู้อาวุโสในวงการหนังสือพิมพ์ หนังสือเล่มนี้จะประกอบด้วย รายงานที่สะท้อนภาพการทำงานของนักหนังสือพิมพ์อาวุโสในอดีตจนถึงปัจจุบันจำนวน ๑๗ คน โดยมีนายเปี่ยมศักดิ์ คุณากรประทีป ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาการเขียน  อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจและเป็นเจ้าของผลงานการเขียนแนวสามก๊ก เป็นบรรณาธิการ

๔.๒ งานด้านสวัสดิการสมาชิก

๔.๒.๑ ทุนการศึกษา สมาคมฯ ได้มอบทุนการศึกษาให้กับสมาชิกสมาคมฯ โดยแบ่งเป็นทุนการศึกษาที่มอบให้กับสมาชิกสมาคมฯ และทุนการศึกษาที่มอบให้กับบุตร-ธิดา สมาชิก ดังนี้

๑) ทุนการศึกษาที่มอบให้กับบุตร-ธิดา สมาชิก สมาคมฯ แบ่งทุนการศึกษาออกเป็น ๒ ประเภท คือ ๑) ทุนส่งเสริมการศึกษา เป็นทุนแบบรายปี ๒) ทุนต่อเนื่อง เป็นทุนที่มอบให้แบบต่อเนื่องตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ -ระดับปริญญาตรี โดยได้รับการอนุเคราะห์ทุนการศึกษาจากมูลนิธิเอสซีจี ปีละ ๑๐ ทุน ปัจจุบันมีผู้รับทุนแล้ว ๘๐ คน

มีการจัดพิธีมอบทุนการศึกษาบุตร-ธิดานักข่าว เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๖ เมษายน  ๒๕๕๘ ได้แบ่งให้ทุนการศึกษาออกเป็น ๒ ประเภท  คือ ๑. ทุนส่งเสริมการศึกษา เป็นการให้ทุนแบบรายปี โดยใช้งบประมาณจากกองทุนการศึกษาเพื่อบุตร-ธิดา สมาชิกสมาคมฯ มีผู้ได้รับการอนุมัติทุนการศึกษาจำนวน ๑๐๑ ทุน ทุนละ ๔,๐๐๐ บาท เป็น เงิน ๔๐๔,๐๐๐ บาท และ ๒. ทุนต่อเนื่อง ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิซิเมนต์ไทย เป็นปีที่ ๖ โดยในปี  ๒๕๕๖ ได้รับการสนับสนุนเพิ่มอีก ๑๐ ทุน  รวมเป็น ๘๐ ทุน

๒.) ทุนการศึกษาในระดับปริญญาโท ในปีนี้มหาวิทยาลัยมอบทุนการศึกษาในระดับปริญญาโทให้กับสมาชิกสมาคมฯจำนวน ๒ ทุนคือ มหาวิทยาลัยศรีปทุม จำนวน ๑ ทุน โดยคณะกรรมการบริหาร สมาคมฯได้คัดเลือกให้ นายพีรพัฒน์ ดิลกกัลยากุล หัวหน้าศูนย์ข้อมูล  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ  เข้ารับทุน และคัดเลือกให้นายธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน ผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และนายเอกราช สัตตะบุรุษ  ผู้สื่ออาวุโส หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เข้ารับทุนจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

๔.๒.๒ การมอบสินไหมมรณกรรมและการร่วมเป็นเจ้าภาพงานสวดพระอภิธรรมศพ สมาคมฯได้จัดทำประกันชีวิตกลุ่มให้กับสมาชิกที่ชำระเงินค่าบำรุงประจำปีกับ บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ในปี  ๒๕๕๘ สมาคมฯ ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพงานสวดพระอภิธรรมศพและส่งหรีดเคารพศพสมาชิกอีก ๗  รายคือ ๑.  นายสมโชค  ปรีชากุล (ไทยรัฐ)            ๒.  นายกิจจา  ปูรนัน (วิสามัญสมาชิก)  ๓. นายระเวียงศักดิ์  ศรีเจริญ(วิสามัญสมาชิก)  ๔.  นายนพพร  ตุงคะรักษ์          (วิสามัญสมาชิก) ๕.  นายประเวทย์  บูรณะกิจ (ไทยรัฐ)  ๖.  นายธนดล  มีถม (ไทยรัฐ) ๗. นายชัชวาล  พวงเดช (สยามรัฐ)

๔.๒.๓ การจัดทำโครงการสวัสดิการผู้ป่วยนอกร่วมกับโรงพยาบาลเอกชน เพื่อเป็นการดูแลสวัสดิการด้านสุขภาพให้กับสมาชิก สมาคมฯได้จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับโรงพยาบาลเอกชน ๒ โรงพยาบาลคือ โรงพยาบาลเวชธานีและโรงพยาบาลพญาไท โดยสมาชิกสามารถเข้ารับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายครั้งละ ๑,๕๐๐ บาท ต่อคน คนละ ๖ ครั้งต่อไป และมีนโยบายที่จะประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆในลักษณะเดียวกันนี้ให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯทั้ง ๔ มุมเมือง

 

๕. คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ

ในปี  ๒๕๕๘  คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  แบ่งงานออกเป็น ๓กลุ่มงาน คือ

๕.๑ กลุ่มงานสร้างเครือข่ายวิชาชีพต่างประเทศ

๕.๑.๑ โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนไทย-เวียตนาม เป็นโครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ ที่คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมฯ มีความประสงค์ในการจัดตั้งความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรสื่อในภูมิภาคเดียวกันขึ้น โดยครั้งนี้เป็นครั้งแรกของการที่คณะผู้แทนจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเป็นฝ่ายไปเยือนตามคำเชิญของสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศเวียดนาม   (Vietnam Journalists Association)  ระหว่างวันจันทร์ที่ ๒๒ – วันอาทิตย์ที่๒๘  มิถุนายน ๒๕๕๘  โดยมีนายมานพ ทิพย์โอสถ  อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมฯ   เป็นหัวหน้าคณะพร้อมด้วยผู้แทนสื่อมวลชนเวียตนามอีกจำนวน ๙ คน โดยเยือนฮานอย เดียนเบียนฟูและฮานอย ซึ่งนอกจากจะได้กระชับความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนทั้งสองประเทศแล้ว ยังได้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกันอีกด้วย

๕.๑.๒ โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนไทย-ลาว นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  เป็นหัวหน้าคณะนำผู้แทนสื่อมวลชนไทยรวมจำนวน ๗ คนไปเยือน สปป.ลาว ตามคำเชิญของ สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่ง สปป.ลาว ( Laos Journalists Association – LJA )  ระหว่างวันจันทร์ที่๑๔-วันอาทิตย์ที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๘

โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนไทย-ลาวนี้ เป็นโครงการที่สลับกันเป็นเจ้าภาพต้อนรับคณะสื่อมวลชนจากแต่ละประเทศ เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างสื่อมวลชนของทั้งสองประเทศอีกทั้งยัง เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ

๕.๑.๒ โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนจีน-ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพในการต้อนรับ คณะสื่อมวลชนจีนจากสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งสาธารณรัฐประชนชนจีน ( All China Journalists Association – ACJA ) โดยมี Mr. Tang Yuanjie  ประธานหนังสือพิมพ์ชาวนารายวัน เป็นหัวหน้าคณะพร้อมด้วยคณะผู้แทนสื่อมวลชนจีนอีก ๖ คน ในโอกาสมาเยือนประเทศไทยตามคำเชิญของสมาคมนักข่าวฯในโครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนไทย-จีน ระหว่างวันพุธที่  ๑๗ –  วันจันทร์ที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๘

โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนจีน-ไทยนี้เป็นโครงการที่สลับกันเป็นเจ้าภาพต้อนรับคณะสื่อมวลชนจากแต่ละประเทศ เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี  ๒๕๔๒ เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างสื่อมวลชนของทั้งสองประเทศอีกทั้งยัง เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ

๕.๒ ความสัมพันธ์กับสื่อมวลชนนานาชาติ

๕.๒.๑ SEAPA หรือ สมาคมสื่อมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นายวันชัย วงศ์มีชัย นายก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะนายก สมาคมฯ ทำหน้าที่เป็นเหรัญญิก

๕.๒.๒ IFEX - International Freedom of Expression Exchange สมาคมฯเป็นสมาชิกของ IFEX มีการเข้าร่วมประชุมใหญ่ทุกปี

๕.๒.๓  สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ ได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี เมื่อ ๑๗  มิ.ย. ๒๕๕๘ ประธานสมาพันธ์ฯ ได้แก่  นายเทพชัย  หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยโดยมี นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นรองประธานคนที่ ๑   นายปราเมศ  เหล็กเพ็ชร์  อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นเลขาธิการสมาพันธ์ฯ

๕.๓. กลุ่มงานพัฒนาศักยภาพนักข่าว ในปี ๒๕๕๘  คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมฯ ได้จัดการอบรมขึ้น ๒ หลักสูตร

๕.๓.๑ การอบรมหลักสูตร “ความรู้เรื่องการเป็นประชาคมอาเซียนสำหรับสื่อมวลชน รุ่นที่ ๔: อาเซียนหลังปี ๒๐๑๕” สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดการอบรมขึ้นเพื่อเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจแก่สื่อมวลชนถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในและนอกภูมิภาค ภายหลังการเปิดประชาคมอาเซียน ในด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม  และสนับสนุนและส่งเสริมให้สื่อมวลชนที่สนใจมีโอกาสได้ศึกษาค้นคว้า ผลิตและเผยแพร่ผลงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงที่ิเกิดขึ้นภายในและนอกภูมิภาค อันเนื่องมาจากการเปิดประชาคมอาเซียน  กิจกรรมในโครงการนอกจากการฟังการบรรยายแล้วยังมีการศึกษาดูงานในประเทศและต่างประเทศ มีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน ๒๕  คน จัดตั้งแต่ ๑๖ มกราคม  – ๓ เมษายน  ๒๕๕๙  เป็นระยะเวลารวม ๑๑ สัปดาห์  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท ซีพีเอฟ  จำกัด มหาชน

๕.๓.๒  การอบรมหลักสูตร “การใช้ Social Media ในงานข่าวสำหรับสื่อมวลชนลาว” สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ ร่วมกับสมาคมนักข่าวแห่ง สปป.ลาว จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การใช้ Social Media ในงานข่าวสำหรับสื่อมวลชนลาว”

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการใช้ Social Media ในงานข่าว ระหว่างสื่อมวลชนไทยและลาว เรียนรู้การหาข้อมูลเพื่อการรายงานข่าว การเผยแพร่ข่าวไปสู่ผู้บริโภค และการตรวจสอบเนื้อหาของข่าวสารที่ถูกเผยแพร่ใน Social Media ของนักข่าว และเรียนรู้เทคนิคการบริหารจัดการ Social Media ขององค์กรสื่อมวลชน  เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ –  วันศุกร์ที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ณ ศูนย์ฝึกอบรมสื่อมวลชน กรมสื่อมวลชน  นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเครือเอสซีจี ธนาคารกรุงเทพ และบริษัท บิ๊กบลู เอเจนซี จำกัด

๕.๓.๓ Media Workshop และ Annual ASEAN Journalists Club Forum สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับชมรมนักข่าวอาเซียน ( ASEAN Journalists Club) และกระทรวงการต่างประเทศ  จัดทำโครงการ Media Workshop หัวข้อ “บทบาทของสื่อในการสร้างประชาคมอาเซียน” และ Annual ASEAN Journalists Club Forum หัวข้อ “ภูมิศาสตร์การเมืองใหม่ในภูมิภาค”  ขึ้นเมื่อวันพุธที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๘ ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ โดยมีสื่อมวลชนในประเทศอาเซียนเข้าร่วม ๓๐ คน ได้รับการสนับสนุงบประมาณจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เครือเอสซีจี  และตธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

 

๖. คณะกรรมการอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ

ในปี ๒๕๕๘  คณะอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ สมาคมฯ  ได้จัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่เป็นการประสานความร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพสื่อและกิจกรรมที่ประสานความร่วมมือกับองค์กรภายนอก ดังนี้

๖.๑ งานด้านการระดมทุน

๖.๑.๑ ดินเนอร์ทอล์ค สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานดินเนอร์ทอล์คขึ้นเป็นประจำในวันที่ ๕ มีนาคมของทุกปีมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙  งานดินเนอร์ทอล์คประจำปี ๒๕๕๘ จัดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๘   ณ  ห้องวอเตอร์เกท บอลรูม  โรงแรมวอเตอร์เกท ประตูน้ำ โดยมีการอภิปรายหัวข้อ “ปฏิวัติคนข่าว อภิวัฒน์สื่อ” วิทยากรประกอบด้วย นายมานิจ สุขสมจิตร  สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และอดีตนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย นายกวี จงกิจถาวร  สื่อมวลชนอิสระ และอดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

๖.๑.๒ หนังสือวันนักข่าว สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดทำหนังสือวันนักข่าว ซึ่งเป็นหนังสือรายงานประจำปีเผยแพร่ทุกวันที่ ๔ มีนาคม นอกจากจะเป็นการรายงานผลการดำเนินกิจกรรมต่างๆของสมาคมฯแล้ว ยังได้รวบรวมผลการประกวดข่าวประเภทต่างๆของสมาคมฯเอาไว้ด้วย สมาคมฯได้มอบหมายให้บริษัท นักทุ่งเที่ยว จำกัด เป็นผู้ดำเนินการการจัดหาโฆษณา

๖.๑.๓ คอนเสิร์ต “บทเพลงแห่งหวงเหอ”  ฉลอง ๔๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย คณะนักร้องประสานเสียงส่งเสริมศิลปิน และสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ จัดคอนเสิร์ต “บทเพลงแห่งหวงเหอ”  ฉลอง ๔๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน  เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๘  ณ โรงละครอักษรา  คิง เพาเวอร์    โดยมีคณะนักร้องและวงคอรัสทั้งจากจีนและไทยเข้าร่วมการแสดง     คณะนักร้องประสานเสียงส่งเสริมศิลปิน  คณะนักร้องหญิงเจียอิน ปักกิ่ง คณะนักร้องประสานเสียงปาสู เฉินตู คณะนักร้องประสานเสียงยวิ่นเหอ ปักกิ่ง คณะนักร้องประสานเสียงอ้ายเอี่ย ซานโถว และวงบางกอกซิมโฟนีออเคสตร้า (Bangkok Symphony Orchestra)   โดยการจัดคอนเสริต์ครั้งนี้เป็นการหารายได้เข้ากองทุน  ๖๐ ปี สมาคมฯ

๖.๒ งานด้านการบริหารจัดการ

๖.๒.๑ การบริหารบัญชีเงินฝาก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีกองทุนต่างๆอยู่จำนวน ๖ กองทุน ประกอบด้วย ๑.กองทุน ๖๐ ปี สมาคม ๒. กองทุนเพื่อสิทธิเสรีภาพสื่อ  ๓.กองทุนส่งเสริมจรรยาบรรณ ๔.กองทุนเหยี่ยวปีกหัก  ๕.กองทุนการศึกษาบุตรธิดานักข่าว และ ๖.กองทุนเงินสะสมพนักงาน เพื่อให้มีรายได้เพิ่มเติมจากแต่ละกองทุน จึงได้มีการบริหารกองทุน โดยการจัดสรรงบประมาณไปซื้อสลากออมสินและพันธบัตรที่มีความมั่นคง

๖.๒.๒ ปรับปรุงห้องสมุด พื้นที่ห้องสมุด สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นอกจากเป็นห้องสมุดแล้วยังเป็นที่ทำการของชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ใช้สำหรับต้อนรับแขกและใช้เป็นห้องประชุมด้วย จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พื้นที่มากขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

๖.๒.๓ คืนอาคารสมาคม ถนนราชดำเนินกลาง ก่อนการรวมกันของสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในปัจจุบันนั้น  อาคารที่ทำการของสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย อยู่ที่ถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งเป็นอาคารเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ต่อมาเมื่อย้ายที่ทำการมาที่อาคาร ถนนสามเสน แล้ว จึงไม่ได้ใช้ประโยชน์จากอาคารที่ถนนราชดำเนินกลาง ประกอบการ

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เจ้าของอาคารมีแนวคิดในการขอคืนพื้นที่ โดยมีค่าขนย้ายให้เป็นกรณีพิเศษ สมาคมฯจึงได้คืนพื้นที่อาคารดังกล่าว โดยได้รับเงินค่าชดเชยละค่าขนย้ายจำนวน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท

๖.๓ งานด้านประสานงานกับองค์กรภายนอก

ในปีที่ผ่านมา ประเทศเพื่อนบ้านประสบปัญหาภัยพิบัติค่อนข้างรุนแรง สมาคมฯจึงได้จัดกิจกรรมบริจาคเงินเพื่อให้ความช่วยเหลือสื่อมวลชนในประเทศที่ประสบภัยพิบัติ จำนวน ๒ ประเทศ ดังนี้

๖.๓.๑ มอบเงินช่วยเหลือเพื่อนสื่อมวลชนเนปาลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ แผ่นดินไหวอย่างรุนแรงในประเทศเนปาลซึ่งเกิดขึ้นถึง ๒ ครั้งติดต่อกัน เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๘ และวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เป็นเงินจำนวน  ๑๖๘,๖๙๑ บาท ให้กับสหพันธ์นักหนังสือพิมพ์เนปาลเพื่อนำเงินไปให้ความช่วยเหลือ โดยได้จัดกิจกรรมเพื่อระดมเงินบริจาคด้วยการจัดงาน “For Friends in Nepal”  เมื่อวันที่ ๒๔  พฤษภาคม ๒๕๕๘

สำหรับรายนามผู้บริจาค มีดังนี้ ๑. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จำนวน ๓๐.๐๐๐  บาท  ๒ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  จำนวน ๑๐.๐๐๐  บาท  ๓.สถาบันอิศรา จำนวน ๑๐.๐๐๐  บาท  ๔. ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จำนวน ๓.๐๐๐  บาท  ๕.ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ จำนวน ๗.๐๐๐  บาท  ๖.ชมรมนักข่าวอาเซียน  จำนวน ๑.๐๐๐  บาท  ๗.สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จำนวน ๕.๐๐๐  บาท  ๘. นักข่าวสายทำเนียบรัฐบาล จำนวน ๑.๐๐๐  บาท  ๙.นักข่าวสายรัฐภา และ นักข่าวสายกระทรวงมหาดไทย จำนวน ๒,๒๙๐  บาท  ๑๐. นักข่าวประจำกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์แนวหน้า  จำนวน ๓,๕๐๐  บาท   ๑๑. หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ ๑  จำนวน ๗,๕๐๐  บาท   ๑๒. หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ ๒   จำนวน ๓๑.๑๐๐  บาท   ๑๓. หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ ๓   จำนวน ๑๐.๐๐๐  บาท  ๑๔. หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ ๔    จำนวน ๑๐.๐๐๐  บาท   ๑๕. หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ ๕   จำนวน ๑๕.๐๐๐  บาท   ๑๖.ดร.สุดารัตน์  ดิษยะวรรธนะ  จันทราวัฒนากุล คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์   จำนวน ๕.๐๐๐  บาท  ๑๗. นายวันชัย  วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ   จำนวน ๓.๐๐๐  บาท  ๑๘. ชวรงค์  ลิมป์ปัทมปาณี   จำนวน ๓.๐๐๐  บาท   ๑๙. นางสาวนาตยา  เชษฐโชติรส  จำนวน ๒.๐๐๐  บาท  ๒๐. นายสวิชย์  บำรุงสุข  จำนวน ๒.๐๐๐  บาท   ๒๑. นายปราเมศ  เหล็กเพ็ชร์  จำนวน ๒.๐๐๐  บาท   ๒๒. นางสาวสุมนชยา  จึงเจริญศิลป์  จำนวน ๕๐๐  บาท   ๒๓. นายสมาน  สุดโต    จำนวน ๕๐๐ รูเปียร์    ๒๔. นายบวร  โทศรีแก้ว   จำนวน ๑.๐๐๐  บาท  ๒๕. พล.ท. หญิง  พันธุ์ทิพย์  รักษาเสรี  จำนวน ๕๐๐  บาท   ๒๖. นางสาวภัสราภรณ์  มงคลพรอุดม  จำนวน ๓๐๐  บาท   ๒๗. นางสาวเทียมใจ  ทองเมือง   จำนวน ๑.๐๐๐  บาท   ๒๘. นายพีรพัฒน์  ดิลกกัลยากุล  จำนวน ๕๐๐  บาท    ๒๙. นายกนก  สิริกาญจน   จำนวน ๕๐๐  บาท ๓๐. นายวัสยศ  งามขำ  จำนวน ๑,๐๐๐ บาท

๖.๓.๒ มอบเงินช่วยเหลือเพื่อนสื่อมวลชนเมียนมาร์ ในกรณีที่เมียนมาร์ประสบภัยพิบัติอุทกภัย โดยมอบผ่านสมาคมนักข่าวแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เป็นเงินจำนวน ๑,๐๐๐ $US เมื่อ ๑ ก.ย. ๒๕๕๘

๖.๔ งานโครงการ ๖๐ ปี สมาคม

๖.๔.๑ โครงการรณรงค์รับบริจาคเลือด “๖๐ ปี ๖๐ คน” โดยเปิดรับบริจาครอบแรกเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๗ รอบสองในวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๘ และรอบที่ ๓ เมื่อ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๘  และรอบที่ ๔ ในวันพฤหัสบดีที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๙

ปี ๒๕๕๘  ซึ่งเป็นปีที่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ครบรอบ ๖๐ ปี และกำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ ๖๑ ยังคงเน้นการทำงานภายใต้แนวคิด “การปฏิวัติคนข่าว อภิวัฒน์สื่อ” ในขณะที่ผู้ปฏิบัติงานภาคสนามเองก็ยังต้องทำงานภายใต้

ข้อจำกัดในการแสดงออก ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เผชิญหน้ากับการถูกกดดันในการทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐรูปแบบต่างๆ  ขณะเดียวกันสถานการณ์การปฏิรูปสื่อก็ยังไม่เกิดความชัดเจนเพียงพอที่จะเป็นความหวังให้กับวงการสื่อมวลชนและสังคมไทยได้   สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ได้พยายามได้จัดทำโครงการต่างๆ ที่จะเอื้ออำนวยและสนับสนุนการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนทุกแขนง ภายใต้ความคาดหวังที่จะให้สื่อมวลชนสามารถรักษาบทบาทการทำหน้าที่ที่มีความเป็นกลางและเป็นธรรม ภายใต้หลักการแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน อย่างมั่นคงและเข้มแข็ง