รายงานกิจกรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมัยที่ ๑๗/๒๕๕๙

รายงานกิจกรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมัยที่ ๑๗/๒๕๕๙

คณะกรรมการบริหาร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมัยที่ ๑๗ ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๙ – ๔ มีนาคม ๒๕๖๐  ได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานไว้ ๒ ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์หลักที่ ๑  “สิทธิเสรีภาพสื่อ” เน้นการสร้างภาคีสื่อและเครือข่ายในการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริม ปกป้องสิทธิเสรีภาพสื่อ และยุทธศาสตร์หลักที่ ๒ การพัฒนาสื่อสู่ความเป็นมืออาชีพ เน้นกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิก ดูแลสวัสดิการ  ส่งเสริมสวัสดิภาพสมาชิก พัฒนาคุณภาพและศักยภาพนักข่าวภายใต้เสรีภาพบนความรับผิดชอบ และสร้างเครือข่ายเพื่อส่งเสริมนักข่าวภาคสนามให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของสมาคมนักข่าวฯ

ในปี ๒๕๕๙  คณะกรรมการบริหาร สมาคมฯ  ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ ทำหน้าที่ในการดำเนินกิจกรรมตามยุทธศาสตร์ข้างต้น  โดยแบ่งออกเป็น ๖ คณะอนุกรรมการ ดังนี้

๑) คณะอนุกรรมการฝ่ายพิจารณาบทบาทสมาคมในสถานการณ์เร่งด่วน

๒) คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ

๓) คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ

๔) คณะอนุกรรมการฝ่ายสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์

๕) คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ

๖) คณะกรรมการอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ

๑. คณะอนุกรรมการฝ่ายพิจารณาบทบาทสมาคมในสถานการณ์เร่งด่วน

คณะอนุกรรมการ ชุดนี้จะทำหน้าที่ในการรวบรวมทั้งความเห็นและข้อเสนอต่างๆ จากบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องในการนำมาพิจารณาบทบาทสมาคมฯ ในสถานการณ์เร่งด่วน ทั้งในรูปแบบของการออกแถลงการณ์, การออกจดหมายเปิดผนึก และการเผยแพร่คำชี้แจงในเรื่องต่างๆ รวมทั้งทำความเข้าใจและสื่อสารกับสังคมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ต่างๆ ของสื่อ (ดูเอกสารแถลงการณ์ในเล่ม)

๒. คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ

ในปี ๒๕๕๙  คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมฯ แบ่งงานออกเป็น ๕  กลุ่มงาน คือ

๒.๑. ด้านการอบรม สมาคมฯ ได้จัดทำโครงการด้านการฝึกอบรมจำนวน ๓ หลักสูตร คือ

๒.๑.๑ การอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพิราบน้อยรุ่น ๑๙ เป็นโครงการต่อเนื่องจัดขึ้นเป็นปีที่ ๑๙ ซึ่งหากนับถึงปัจจุบันมีนักศึกษาที่ผ่านการอบรมกว่า ๑,๐๐๐ คนแล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพสื่อสารมวลชนด้านสิ่งพิมพ์  (Professional Development) ความรับผิดชอบต่อจริยธรรมในวิชาชีพ (Ethics Responsibility)  และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะองค์กรเพื่อสังคม (Organizational Social Responsibility) ซึ่งนักศึกษาที่เข้าร่วมอบรมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งกับเพื่อนนักศึกษาจากต่างสถาบันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักข่าวรุ่นพี่ที่ทำงานทั้งในภาคสนาม และในส่วนของผู้บริหารงานข่าว อันเป็นการเตรียมพร้อมในการเข้าสู่วิชาชีพ นอกจากนี้ยังเป็นกระบวนการปลูกฝังอุดมคติให้กับนักศึกษาด้วย ในรุ่นที่ ๑๙  มีนักศึกษาที่เรียนด้านหนังสือพิมพ์จากสถาบันอุดมศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วมอบรมจำนวน ๗๒  คน จาก  ๓๐  สถาบัน จัดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓ - วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน  ๒๕๕๙ ณ โรงแรมเทาทอง มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี    ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท ทรู คอปอร์เรชั่น จำกัด มหาชน

ในการอบรมครั้งนี้ได้เพิ่มกระบวนการฝึกฝนนักศึกษาในการเขียนข่าวเพิ่มขึ้นอีกขั้นตอนหนึ่ง โดยนักศึกษาทุกคนจะ ต้องส่งผลงานข่าวเข้าร่วมโครงการ TJA  Cyber Reporter อย่างน้อยคนละ ๒  ชิ้นงาน และจะมีการประกาศผลรางวัลในวันที่ ศุกร์ที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๐

๒.๑.๒  การอบรมเชิงปฏิบัติการ “อินโฟกราฟิกสำหรับสื่อมวลชน ปี ๒๕๕๙”  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

เพื่อเป็นการพัฒนาและส่งเสริมให้บุคลากรในวิชาชีพสื่อมวลชน มีความพร้อมรับมือกับบริบทใหม่ของสังคมทั้งในด้านความรู้ทั่วไป ความรู้เฉพาะทาง ตลอดจนเทคนิคด้านคอมพิวเตอร์กราฟิก เพื่อให้ผู้สื่อข่าวทำหน้าที่นักสื่อสารมวลชนที่ดีเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และเป็นการเสริมทักษะที่จะช่วยให้การทำงานของผู้สื่อข่าวในปัจจุบันง่ายขึ้น สะดวกขึ้น จัดเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖  พฤศจิกายน  ๒๕๖๐ ณ   ตึกสำนักงานอธิการบดี  มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี มีสื่อมวลชนเข้าร่วมอบรม ๒๒ คน

๒.๒ กลุ่มงานเสวนาและสื่อสารสาธารณะ ได้มีการจัดทำโครงการในกลุ่มงานเสวนาและสื่อสารสาธารณะ จำนวน ๓ กิจกรรม ดังนี้

๒.๒.๑ ราชดำเนินเสวนา เป็นโครงการที่ดำเนินงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ ๑๘  ซึ่งเป็นความริเริ่มจากสมัยที่นายกวี จงกิจถาวร เป็นนายก สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย (พ.ศ. ๒๕๔๒) มีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพการทำงานข่าวให้มีคุณภาพและอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง  โดยมีการเชิญแหล่งข่าวมาพบปะพูดคุยและตอบคำถามนักข่าว เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ระหว่างนักข่าวกับแหล่งข่าวในประเด็นต่าง ๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

ในปี พ.ศ.  ๒๕๕๙   ได้จัดราชดำเนินเสวนาไปจำนวน ๔  ครั้ง สามารถติดตามเนื้อหาราชดำเนินเสวนาได้ที่ www.tja.or.th

๑. "ประชามติ" อะไรทำได้-ไม่ได้”  เมื่อวันจันทร์ที่  ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙

๒. “เสรีภาพออนไลน์ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์” เมื่อวันจันทร์ที่  ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๙

๓. “โมเดลเศรษฐกิจ : ดับไฟใต้?” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๙

๔ “ศาลเตี้ยออนไลน์...คนโพสต์จ่อคุก...เหยื่อทุกข์ระทม”  จัดโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์  เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๙  ณ อาคารสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ (บางเขน)

๒.๒.๒. รายการวิทยุช่วยกันคิดทิศทางข่าว เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กับสำนักข่าวไทยและบริษัท อสมท. จำกัด มหาชน ออกอากาศทางสถานีวิทยุ อสมท.  FM ๑๐๐.๕ Mhz ทุกวันอาทิตย์เวลา ๑๑.๐๐-๑๒.๐๐น. เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักข่าวรุ่นใหม่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมกับสมาคมฯ รวมทั้งเป็นเวทีในการสื่อสารเรื่องราวที่เกี่ยวกับสื่อมวลชนให้สาธารณชนได้ รับทราบ รวมทั้งการวิเคราะห์ถึงทิศทางข่าวในสัปดาห์ต่อไป โดยเน้นความหลากหลายของประเด็นข่าว ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศ และอื่นๆที่เป็นประเด็นร้อนในขณะนั้น

สำหรับนักจัดรายการประจำปี  ๒๕๕๙ มีจำนวน ๑๒  คนคือ ๑. นายมงคล  บางประภา ๒.นายราม อินทรวิจิตร ๓.นายจีรพงษ์  ประเสริฐพลกรัง ๔.นางสาวดารากาญจน์  ทองลิ่ม ๕.นายสิทธิชน  กลิ่มหอมอ่อน ๖.นางสาวณัฐินี  จันทร์เอียด ๗.นางสาวพิมพ์นารา  ประดับวิทย์ ๘.นางสาวนันทพร  ทาวะระ ๙.นายบัญชา  จันทร์สมบูรณ์ ๑๐.นางสาวดารินทร์  หอวัฒนกุล

๑๑.นายบัญชา  จันทร์สมบูรณ์ และ ๑๒.นางรัชดาภรณ์  ม่วงทำ  ติดตามฟังรายการวิทยุย้อนหลังได้ที่  www.tja.or.th

๒.๒.๓ www.tja.or.th เป็นเวบไซต์ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมข่าวสารต่างๆ ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ทั้งประชาสัมพันธ์กิจกรรม,รายงานกิจกรรม,กฎหมายที่เกี่ยวข้อง,ประวัติความ เป็นมา จุดยืนและท่าทีของสมาคมฯต่อสถานการณ์ต่างๆของบ้านเมือง รวมทั้งการบันทึกผลงานข่าวที่ได้รับรางวัลประเภทต่างๆ  และเป็นชุมชนออนไลน์ของนักวิชาการและวิชาชีพสื่อสารมวลชน ในการแลกเปลี่ยนทัศนะของนักวิชาการและนักวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน และนำเสนอข่าวสารความเคลื่อนไหวในแวดวงสื่อสารมวลชน

๒.๓ กลุ่มงานหนังสือ ในปี   ๒๕๕๙ ฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดทำหนังสือรวม ๒  เล่ม ดังนี้

๒.๓.๑ จุลสารราชดำเนิน ในปี ๒๕๕๙  สมาคมฯ ได้จัดทำวารสารราชดำเนินโดยออกเป็นรายสามเดือนจำนวน ๒   ฉบับ

ฉบับที่ ๓๑ เนื้อหาหลักคือ  “ชะตากรรมหนังสือพิมพ์”  มีนายวรพล กิตติรัตวรางกูร เป็นบรรณาธิการ และฉบับที่  ๓๒ เนื้อหาหลักคือ “ในหลวง ร.๙”   มีนายวรพล กิตติรัตวรางกูร เป็นบรรณาธิการ

อ่านเนื้อหาจุลสารราชดำเนินฉบับย้อนหลังได้ที่ www.tja.or.th

๒.๓.๒ หนังสือวันนักข่าว  “คุณูปการของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ต่อวงการสื่อสารมวลชนไทย”หนังสือวันนักข่าวเป็นหนังสือรายงานประจำปีที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการข่าวและหนังสือพิมพ์  ตลอดจนรายงานกิจกรรมของสมาคม  และทำเนียบรายชื่อนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่เป็นสมาชิกสมาคม  เนื้อหาหลักในปีนี้เน้นเรื่อง  ““สนามข่าวที่ไร้การแข่งขัน ” มีนางสาว น.รินี เรืองหนู เป็นบรรณาธิการ มีการแจกจ่ายหนังสือวันนักข่าวถึงมือสมาชิก สมาคมฯ ในวันที่ ๔ มีนาคม  ๒๕๖๐  ซึ่งเป็นวันประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมฯ

๒.๔. กลุ่มงานเครือข่ายวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน เป็น เครือข่ายที่นักวิชาการและนักวิชาชีพสื่อสารมวลชนร่วมกันก่อตั้งขึ้นเพื่อ เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน โดยในปี ๒๕๕๙ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ๑ กิจกรรม  ดังนี้

๒.๔.๑ ประชุมเครือข่ายนักวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นเครือข่ายที่นักวิชาการและนักวิชาชีพสื่อสารมวลชนร่วมกันก่อตั้งขึ้นเพื่อ เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างและประสบการณ์ระหว่างด้านวิชาชีพและวิชาการด้านสื่อสารมวลชน โดยนำเอาประเด็นทางวิชาการและวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่น่าสนใจและมีผลกระทบต่อ ประโยชน์สาธารณะมาแลกเปลี่ยนกัน ภายใต้การจัดสัมมนายุทธศาสตร์วารศาสตร์แห่งอนาคต  โดยในปี ๒๕๕๙ จัด  สัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ ๑๒  ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวข้อ “ปฏิรูปสื่อ : ทางออกสังคมไทย?”  (๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙)

 

๒.๕. กลุ่มงานประกวดข่าว

๒.๕.๑ การประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทข่าวและภาพข่าวยอดเยี่ยม ประจำปี ๒๕๕๙ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ได้รับมอบหมายจากมูลนิธิอิศรา อมันตกุล ให้ดำเนินการจัดการประกวดข่าวและภาพข่าวยอดเยี่ยม รางวัลอิศรา อมันตกุล เพื่อเป็นการรำลึกถึงนายอิศรา อมันตกุล นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรกและนักหนังสือพิมพ์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ภาย ใต้กรอบจริยธรรม โดยดำเนินการจัดการประกวดมาตั้งแต่ ปี ๒๕๑๕ สำหรับในปี ๒๕๕๙ มีผลงานงานข่าวส่งเข้าประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทข่าวยอดเยี่ยมจำนวน ๙ ข่าว จากหนังสือพิมพ์ ๔  ฉบับ และส่งผลงานภาพข่าวเข้าประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทภาพข่าวยอดเยี่ยมจำนวน  ๙๑ ภาพ จากหนังสือพิมพ์  ๘ ฉบับ

๒.๕.๒ การประกวดรางวัลข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๙ ของ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมฯ ได้มอบหมายให้ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ดำเนินการจัดการประกวด ข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ซึ่งจัดการประกวดมาตั้งแต่ปี  ๒๕๓๒ สำหรับในปี ๒๕๕๘ มีผลงานข่าวส่งเข้าประกวดจำนวน ๙ ข่าว จากหนังสือพิมพ์ ๔ ฉบับ

๒.๕.๓ การประกวดรางวัลพิราบน้อย ประจำปี ๒๕๕๙ เป็นการประกวดผลงานฝึกปฏิบัติของนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่มีการทำ หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ โดยแบ่งการประกวดออกเป็น ๒ รางวัล ๕ ประเภท คือ รางวัลพิราบน้อย ประกอบด้วย  ๑.ประเภทหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ ๒. ประเภทข่าวฝึกปฏิบัติ ๓.ประเภทข่าวสิ่งแวดล้อมฝึกปฏิบัติ ๔.ประเภทข่าวออนไลน์ฝึกปฏิบัติ และรางวัลริต้า ปาติยะเสวี คือประเภทสารคดีเชิงข่าวฝึกปฏิบัติ  เริ่มจัดการประกวดตั้งแต่ปี พ.ศ.   ๒๕๓๖ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการจัดทำหนังสือพิมพ์และการทำข่าวของ นิสิตนักศึกษาวิชานิเทศศาสตร์ และวารสารศาสตร์  ในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันการศึกษา  กับสมาคมฯ    ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท ทรู คอปอร์เรชั่น จำกัด มหาชน ในปี ๒๕๕๙ มีผลงานส่งเข้าประกวดดังนี้  ๑. หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ ๑๖ ฉบับ ๒. ข่าวฝึกปฏิบัติ ๔๐ ข่าว ๓. ข่าวสิ่งแวดล้อม ๑๙ ข่าว ๔. ข่าวออนไลน์ ๑๓ ข่าว  และ ๕. สารคดีเชิงข่าว ๒๔ ชิ้น

 

๒.๖ ความร่วมมือกับองค์กรภายนอก ในปี ๒๕๕๙ คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมฯ ร่วมกับเอสซีจี มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงาน “Thailand Sustainable Water Management Forum ๒๐๑๖”  โดยเป็นการประสานความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ส่งเสริมการเรียนรู้และความจำเป็นของการบริหารจัดการน้ำ สู่หนทางป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างยั่งยืน พร้อมเรียนรู้แนวทางการบริหารจัดการน้ำจาก ๓ ประเทศต้นแบบ ได้แก่ อิสราเอล สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์ ส่งต่อองค์ความรู้ระดับโลกสู่ชุมชน เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๙

 

๓. คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ

ในปี  ๒๕๕๙  คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมฯ ดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมส่งเสริมและปกป้องมีสิทธิเสรีเสรีภาพของสื่อมวลชน โดยนักข่าวจะต้องมีอิสรภาพ เสรีภาพ ในการทำงาน ไม่ถูกคุกคาม แทรกแซงทั้งจากกลุ่มทุน รัฐ และผู้มีอิทธิพล  โดยมีกิจกรรมดังนี้

๓.๑ งานรณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพสื่อ

๓.๑.๑. โครงการฉลองวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day – ๓ MAY) เป็นโครงการต่อเนื่องที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกวันที่ ๓ พฤษภาคม เนื่องจากเป็นวันที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก้ ได้เสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ ๓ พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก ซึ่งก็คือเสรีภาพในการแสดงออก  ตั้งแต่เมื่อปี  ๒๕๔๓  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก็ได้ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และเครือข่ายส่งเสริมสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียอาคเนย์ จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในโอกาสดังกล่าวมาโดยตลอด

ในปี ๒๕๕๙  สมาคมฯ ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) ซึ่งตรงกับวันที่ ๓ พฤษภาคมของทุกปี เพื่อเป็นการร่วมกันปลุกจิตสำนึก พิจารณาพัฒนาข้อคิดข้อเสนอต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชน รวมทั้งการสร้างความตระหนักในสังคมถึงความสำคัญของเสรีภาพสื่อ ซึ่งคือเสรีภาพของประชาชน โดยการจัดเสวนาหัวข้อ “เสรีภาพสื่อ...ประชาชนได้อะไร?” เมื่อวันอังคารที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๙

การรณรงค์ในปีนี้จะใช้ธีม “ถูกต้อง รอบด้าน หลักประกันเสรีภาพ” เป็นเนื้อหาหลักในการรณรงค์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ข้อมูลอย่างถูกต้อง รอบด้าน รัฐต้องไม่ปิดกั้นข้อเท็จจริง

 

๓.๑.๒ สนับสนุนการดำเนินการของสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย เพื่อเป็นกลไกในการ ขับเคลื่อนด้าน สวัสดิการนักข่าว โดยได้มีการจัดเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดสวัสดิการสื่อ โดยได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงานเลขทะเบียนที่ กธ.๑๑๑๔  เมื่อ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๕ โดยมีนายสุเมธ สมคะเน หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นประธาน

 

๓.๒ งานส่งเสริมทักษะวิชาชีพข่าว ในปี ๒๕๕๙ คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพสื่อและการปฏิรูปสื่อ  สมาคมฯ ได้จัดการอบรมขึ้น ๒ หลักสูตร

๓.๒.๑ การอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง รุ่น ๗ (Safety Training for Thai Journalists)” สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การรายงานข่าวในสถานการณ์ความรุนแรง (Safety Training)”  ขึ้นเพื่อให้ผู้สื่อข่าวและช่างภาพจากสื่อหนังสือพิมพ์  สถานีโทรทัศน์และวิทยุ  ได้เรียนรู้เรื่องการทำข่าวอย่างปลอดภัยในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง โดยเนื้อหาการอบรมประกอบด้วย ๑. การเตรียมตัวและวางแผนก่อนลงพื้นที่ปฏิบัติงานข่าว ๒. การเข้าทำข่าวพื้นที่ที่มีความขัดแย้งในแต่ละสถานการณ์ ภาษาที่ใช้ในการรายงานข่าว . การปฐมพยาบาล  ๖.แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำข่าวในสถานการณ์ขัดแย้ง  เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓๐ มิถุนายน - วันอาทิตย์ที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๙   ณ  ไมด้า รีสอร์ท ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย,  มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (Friedrich-Ebert-Stiftung Thailand : FES),  สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.),  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ( สพฉ.),  สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง ๗,  สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี,  สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี  และเครือข่ายสมาคมผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือซีป้า (SEAPA)

 

๓.๒.๒ การอบรมหลักสูตร “กฎหมายเพิ่มศักยภาพสื่อ รุ่นที่ ๔ ภาคกฎหมายความมั่นคง ” สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรม จัดการอบรมหลักสูตร “กฎหมายเพิ่มศักยภาพสื่อ รุ่นที่ ๔ ภาคกฎหมายความมั่นคง ”   เพื่อให้สื่อมวลชนได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องระบบกฎหมายของประเทศ เพื่อการวิเคราะห์และกำกับทิศทางข่าวให้มีความโดดเด่นขึ้น  น่าเชื่อถือ  ที่สำคัญคือทำให้สื่อมวลชนรู้ถึงสิทธิเสรีภาพที่ตนมีอยู่ ขณะเดียวกันก็ต้องมีความระมัดระวัง ไม่ไปละเมิดบุคคลอื่นจากการทำหน้าที่ของตนเอง จัดระหว่างวันอาทิตย์ที่ ๔ ถึงวันอาทิตย์ที่ ๒๖  กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐   ณ  สถาบันพัฒนาข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม (ถนนรัชดาภิเษก) รวมทั้งมีการดูงานนอกสถานที่ ณ ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

 

๓.๓ หนังสือเล่มเบื้องแรกประชาธิปตัย

หนังสือเล่ม “เบื้องแรกประชาธิปตัย” เป็นหนังสือที่ดำเนินการจัดทำโดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๖ หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีการพิมพ์เผยแพร่อีกมาเป็นระยะเวลา ๔๐ ปีมาแล้ว ด้วยเนื้อหาที่เต็มไปด้วยเบื้องหลังของสถานการณ์ทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิ์ฯร่วมกับคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเพื่อเผยแพร่ให้ผู้สนใจได้มีโอกาสทำความเข้าใจสถานการ์ณการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่าน ได้มีการจัดเสวนาหัวข้อ “๒๔๗๕ เบื้องแรกประชาธิปตัย บทเรียนในสถานการณ์เปลี่ยนผ่าน"  เพื่อเป็นการเปิดตัวหนังสือไปเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๐ ได้มอบหมายให้สำนักพิมพ์มติชนทำหน้าที่จัดจำหน่ายราคาชุดละ ๗๐๐ บาท

 

๓.๔ งานติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพและสถานการณ์สื่อ

ในปี ๒๕๕๙ เป็นปีที่คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อและเพื่อนสื่อมวลชน ยังคงต้องทำงานภายใต้ข้อจำกัดของประกาศ คำสั่งอำนาจพิเศษ ตามมาตรา 44 ตลอดจนท่าทีและทัศนคติของนายกรัฐมนตรีที่มีต่อการทำงานของสื่อมวลชน อีกทั้งกรณีที่ คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ได้ยกร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ให้มีช่องทางที่จะให้นักการเมือง ข้าราชการ สามารถใช้อำนาจแทรกแซง ควบคุมการทำหน้าที่ของนักข่าวมืออาชีพ ผ่านสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติได้ ซึ่งเป็นการคุมสื่อแบบเบ็ดเสร็จ ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ที่กำหนดเอาไว้ชัดเจนว่าให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ จึงร่วมกับเพื่อนสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อ ประกาศจุดยืนคัดค้านทุกรูปแบบให้ถึงที่สุดต่อแนวคิดดังกล่าวของสปท.(ดูแถลงการณ์ท้ายเล่ม)

 

๔. คณะกรรมการอนุกรรมการฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์

ในปี   ๒๕๕๙  คณะอนุกรรมการฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แบ่งงานออกเป็น ๒ กลุ่มงาน คือ

๔.๑ งานด้านสมาชิกสัมพันธ์

๔.๑.๑ กิจกรรม พิราบ Fit & Firm รุ่น ๗  ดูแลสุขภาพกายและใจ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมโครงการดูแลห่วงใย ใส่ใจสุขภาพ เพื่อสุขภาวะสื่อมวลชน  พิราบ Fit & Firm รณรงค์ดูแลด้านสุขภาพทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต   ตอน.. คนข่าว เรียนรู้เทคนิค พิชิตออฟฟิศซินโดรม วันอาทิตย์ที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๙  ณ    สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

๔.๑.๒ อบรมอาชีพเสริม “เลี้ยงไส้เดือน- จิ้งหรีด” สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดอบรมอาชีพเสริม “เลี้ยงไส้เดือน- จิ้งหรีด” เพื่อให้สมาชิกได้ศึกษาขั้นตอนของการเลี้ยงไส้เดือนและจิ้งหรีด รวมทั้งแนวทางในการประกอบอาชีพเสริมด้วยการเลี้ยงไส้เดือน หรือจิ้งหรีดจำหน่าย เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๙    ณ Unclereefarm (การเลี้ยงไส้เดือน) และ นนท์ปวิธ ฟาร์ม จังหวัดนครปฐม (การเลี้ยงจิ้งหรีด)

๔.๑.๓ อบรมอาชีพเสริม หัวข้อ “ขายออนไลน์อย่างไร? ให้ปัง!!!”  เพื่อให้สมาชิกฯ ได้มีโอกาสเรียนรู้เทคนิคการขายสินค้าในสื่อออนไลน์อย่างมืออาชีพและสามารถใช้ในการเสนอขายสินค้าผ่านสื่อโซเซียลมีเดียช่องทางต่างๆที่ตัวเองมีอยู่ อาทิ ไลน์ หรือ เฟซบุ๊ค เพื่อเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ โดยวิทยากรชื่อดัง สืบศักดิ์ ลิ่วลักษณ์ เจ้าของธุรกิจออนไลน์ ที่สามารถสร้างรายได้ ๑๐๐ ล้านให้กับตนเองตั้งแต่อายุไม่ถึง ๒๘  ปี  รวมทั้งการบรรยาย”เปิดประตูการเรียนรู้สู่ธุรกิจบนสื่อออนไลน์”ให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการทำการตลาดออนไลน์และฝึกปฏิบัติการทำอย่างไรให้สินค้าขายดีขายได้เพียงใช้โทรศัพท์เพียงเครื่องเดียว โดยนางสาวกุลชา ตั้งมหาศุกร์ นักข่าวทีเอ็นเอ็น  เมื่อวันเสาร์ที่  ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๙ ณ  อาคารซีพี ทาวเวอร์ 1 (สีลม)

๔.๑.๔  ค่ายกระจิบ กระจาบพิราบน้อยรุ่น ๑๐ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดค่ายกระจิบ กระจาบพิราบน้อยรุ่น ๑๐   ให้กับบุตร-ธิดาสมาชิกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เวิลด์  เพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวให้สมาชิกฯและบุตรหลานได้มีโอกาสเรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตสัตว์ป่าชนิดต่างๆ แบบธรรมชาติในสวนสัตว์เปิดขนาดใหญ่อย่างใกล้ชิดร่วมกัน  นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมให้อาหารยีราฟด้วยตัวเอง และชมโชว์ความน่ารักของสัตว์แสนรู้ เมื่อวันอาทิตย์ที่  ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

 

๔.๒ งานด้านสวัสดิการสมาชิก

๔.๒.๑ ทุนการศึกษา สมาคมฯ ได้มอบทุนการศึกษาให้กับสมาชิกสมาคมฯ โดยแบ่งเป็นทุนการศึกษาที่มอบให้กับสมาชิกสมาคมฯ และทุนการศึกษาที่มอบให้กับบุตร-ธิดา สมาชิก ดังนี้

๑) ทุนการศึกษาที่มอบให้กับบุตร-ธิดา สมาชิก สมาคมฯ แบ่งทุนการศึกษาออกเป็น ๒ ประเภท คือ ๑) ทุนส่งเสริมการศึกษา เป็นทุนแบบรายปี ๒) ทุนต่อเนื่อง เป็นทุนที่มอบให้แบบต่อเนื่องตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ -ระดับปริญญาตรี โดยได้รับการอนุเคราะห์ทุนการศึกษาจากมูลนิธิเอสซีจี ปีละ ๑๐ ทุน ปัจจุบันมีผู้รับทุนแล้ว ๙๐ คน

มีการจัดพิธีมอบทุนการศึกษาบุตร-ธิดานักข่าว เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๔ เมษายน  ๒๕๕๘ ได้แบ่งให้ทุนการศึกษาออกเป็น ๒ ประเภท  คือ ๑. ทุนส่งเสริมการศึกษา เป็นการให้ทุนแบบรายปี โดยใช้งบประมาณจากกองทุนการศึกษาเพื่อบุตร-ธิดา สมาชิกสมาคมฯ มีผู้ได้รับการอนุมัติทุนการศึกษาจำนวน ๙๕  ทุน ทุนละ ๔,๐๐๐ บาท เป็น เงิน ๓๘๐,๐๐๐ บาท และ ๒. ทุนต่อเนื่อง ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิซิเมนต์ไทย โดยในปี  ๒๕๕๙ ได้รับการสนับสนุนเพิ่มอีก ๑๐ ทุน  รวมเป็น ๙๐ ทุน

๔.๒.๒ การมอบสินไหมมรณกรรมและการร่วมเป็นเจ้าภาพงานสวดพระอภิธรรมศพ สมาคมฯได้จัดทำประกันชีวิตกลุ่มให้กับสมาชิกที่ชำระเงินค่าบำรุงประจำปีกับ บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ในปี  ๒๕๕๙  สมาคมฯ ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพงานสวดพระอภิธรรมศพและส่งหรีดเคารพศพสมาชิกจำนวน ๔ ราย ดังนี้  ๑.นายประพันธ์  เหตระกูล (หนังสือพิมพ์เดลินิวส์) ๒.นายวิเชียร  อินจนา (วิสามัญสมาชิก) ๓.นายศานะ  ศิริลาภ (หนังสือพิมพ์เดลินิวส์) ๔.นายสมิต มานัสฤดี (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)

๔.๒.๓ การจัดทำโครงการสวัสดิการผู้ป่วยนอกร่วมกับโรงพยาบาลเอกชน เพื่อเป็นการดูแลสวัสดิการด้านสุขภาพให้กับสมาชิก สมาคมฯได้จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับโรงพยาบาลเอกชน ๒ โรงพยาบาลคือ โรงพยาบาลเวชธานีและโรงพยาบาลพญาไท โดยสมาชิกสามารถเข้ารับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายครั้งละ ๑,๕๐๐ บาท ต่อคน คนละ ๖ ครั้งต่อไป และมีนโยบายที่จะประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆในลักษณะเดียวกันนี้ให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯทั้ง ๔ มุมเมือง

 

๕. คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ

ในปี  ๒๕๕๙  คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  แบ่งงานออกเป็น ๓กลุ่มงาน คือ

๕.๑ กลุ่มงานสร้างเครือข่ายวิชาชีพต่างประเทศ

๕.๑.๑ โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนลาว-ไทย  ท่านสะหวันคอน ราดซะมนตรี รองรัฐมนตรีกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรมและท่องเที่ยว เป็นหัวหน้าคณะนำผู้แทนสื่อมวลชนลาวรวมจำนวน ๗ มาเยือนประเทศไทย ระหว่างวันเสาร์ที่ ๒ – วันศุกร์ที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๙

โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนลาว-ไทยนี้ เป็นโครงการที่สลับกันเป็นเจ้าภาพต้อนรับคณะสื่อมวลชนจากแต่ละประเทศ เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างสื่อมวลชนของทั้งสองประเทศอีกทั้งยัง เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ

๕.๑.๒  โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนไทย-จีน  นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมเป็นหัวหน้าคณะนำผู้แทนจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจำนวน ๗ คน ไปเยือนสาธารณรัฐประชนชนจีน   ตามคำเชิญของ สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งสาธารณรัฐประชนชนจีน ( All China Journalists Association – ACJA ) ระหว่างวันเสาร์ที่ ๑๘-วันศุกร์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๙  โดยไปเยือนปักกิ่ง เทียนสิน และอินเนอร์มองโกลเรีย

โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนไทย-จีน นี้เป็นโครงการที่สลับกันเป็นเจ้าภาพต้อนรับคณะสื่อมวลชนจากแต่ละประเทศ เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี  ๒๕๔๒ เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างสื่อมวลชนของทั้งสองประเทศอีกทั้งยัง เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ

๕.๑.๓  โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนไทย-กัมพูชา  นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมเป็นหัวหน้าคณะนำผู้แทนจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจำนวน ๗ คน ไปเยือนตามคำเชิญของสมาคมนักข่าวกัมพูชา Club of Cambodian Journalists)  ระหว่างวันพุธที่ ๗ ถึง วันอาทิตย์ที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๙  โดยเยือนพนมเปญและสีหนุวิลล์   ซึ่งนอกจากจะได้กระชับความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนทั้งสองประเทศแล้ว ยังได้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกันอีกด้วย

๕.๑.๔  โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนเวียดนาม-ไทย   Mr.Mai Duc Loc  รองประธานสมาคมนักหนังสือพิมพ์เวียดนาม (Vietnam Journalists Association) เป็นหัวหน้าคณะนำคณะสื่อมวลชนจากประเทศเวียดนามมาเยือนไทย ระหว่างวันที่จันทร์ที่ ๓ ตุลาคม ถึง วันอาทิตย์ที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๙

โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนจีน-ไทยนี้เป็นโครงการที่สลับกันเป็นเจ้าภาพต้อนรับคณะสื่อมวลชนจากแต่ละประเทศ เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี  ๒๕๕๘  เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างสื่อมวลชนของทั้งสองประเทศอีกทั้งยัง เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ

๕.๒ ความสัมพันธ์กับสื่อมวลชนนานาชาติ

๕.๒.๑ SEAPA หรือ สมาคมสื่อมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นเหรัญญิก

๕.๒.๒ IFEX - International Freedom of Expression Exchange สมาคมฯเป็นสมาชิกของ IFEX มีการเข้าร่วมประชุมใหญ่ทุกปี

๕.๒.๓  สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  นายเทพชัย  หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นประธานสมาพันธ์ฯ  มีนายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นรองประธานคนที่ ๑   นางสาวนิภาวรรณ แก้วรากมุกข์  เลขาธิการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นเลขาธิการสมาพันธ์ฯ

๕.๓. กลุ่มงานพัฒนาศักยภาพนักข่าว ในปี ๒๕๕๙   คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมฯ ได้จัดการอบรมขึ้น ๒ หลักสูตร

๕.๓.๑ อบรมความรู้พื้นฐานภาษาเมียนมาร์สำหรับสื่อมวลชน  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดอบรมหลักสูตรความรู้พื้นฐานภาษาเมียนมาร์สำหรับสื่อมวลชนขึ้นระหว่างวันอาทิตย์ที่ ๓ กรกฎาคม  – วันอาทิตย์ที่  ๑๘ กันยายน  ๒๕๖๐    โดยมีเวลาเรียนรวม ๓๐ ชั่วโมง ภายในระยะเวลา ๑๐ สัปดาห์ เน้นทักษะการอ่านและการสนทนา สอนโดยอาจารย์พิสิฐ  อำนวยเงินตรา หัวหน้าสาขาวิชาภาษาอาเซียน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับผู้เข้าร่วมอบรมที่จบหลักสูตรและผ่านการสอบวัดผลที่ได้คะแนนสูงสุด ๒ คน และได้รับทุนเดินทางไปศึกษาดูงานและปฏิบัติงานข่าวในองค์กรสื่อมวลชนในประเทศเมียนมาร์ เป็นระยะเวลา ๗  วัน  ได้แก่ นางสาวทิพย์สุดา ชาดี ผู้สื่อข่าว สถานีโทรทัศน์ช่อง ๙  ศึกษาดูงานและปฏิบัติงานข่าว ณ  Central News Bureau  และนางสาวพัชร์สุรางค์  เดชาพุทธรังสี  ผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวี  ศึกษาดูงานและปฏิบัติงานข่าว ณ Democratic Voice of Burma (DVB)  กรุงย่างกุ้ง สหภาพเมียนมาร์ โดยสมาคมฯจะรับผิดชอบค่าที่พัก ค่าเดินทางและเบี้ยเลี้ยงให้  โดยมีครูผู้สอนเป็นชาวเมียนมาร์จากมูลนิธิมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน  จำนวน ๒ คน ได้แก่ครูสุรชัย  มินทุน   Min Tun  และครูยีมอนอู  Yee Mon Oo

 

๕.๓.๒ การอบรมหลักสูตร “ความรู้เรื่องการเป็นประชาคมอาเซียน รุ่นที่ ๕  :วัฒนธรรมอันหลากหลายกับข้อท้าทายอัตลักษณ์อาเซียน”” สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดการอบรมขึ้นเพื่อเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจแก่สื่อมวลชนถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในและนอกภูมิภาค ภายหลังการเปิดประชาคมอาเซียน ในด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม  และสนับสนุนและส่งเสริมให้สื่อมวลชนที่สนใจมีโอกาสได้ศึกษาค้นคว้า ผลิตและเผยแพร่ผลงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงที่ิเกิดขึ้นภายในและนอกภูมิภาค อันเนื่องมาจากการเปิดประชาคมอาเซียน  แบ่งการอบรมออกเป็น ๒ ส่วนคือ ภาคทฤษฎี (ฟังบรรยาย/อภิปราย/การสรุปโครงการและพิธีปิดการอบรมเป็นเวลา ๕ วัน) และการศึกษาดูงานต่างประเทศ  (แบ่งเป็น ๔ เส้นทาง เส้นทางละ ๓ วัน ได้แก่ ๑.บรูไนดารุสซาลาม   ๒.สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ๓.สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และ ๔. สาธารณรัฐสิงคโปร์) รวมระยะเวลาการอบรมทั้งสิ้น ๘ วัน

ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เมืองไทยประกันชีวิตจำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

๕.๓.๓ อบรมความรู้พื้นฐานภาษาไทยสำหรับสื่อมวลชนกัมพูชา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมนักข่าวกัมพูชา (Club of Cambodian Journalists: CCJ)  จัดอบรมความรู้พื้นฐานภาษาไทยสำหรับสื่อมวลชนกัมพูชา โดยจะเรียนทั้งสิ้น ๑๐ สัปดาห์ รวม ๓๐ ชั่วโมง ระหว่างวันเสาร์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ ถึง ๘ เมษายน ๒๕๖๐ และจะมีการทดสอบหาผู้ที่ได้รับคะแนนดีที่สุด ๒ คน เพื่อรับทุนมาฝึกปฏิบัติงานกับองค์กรสื่อในประเทศไทยเป็นเวลา ๗ วัน สนับสนุนงบประมาณโดย เอสซีจี ครูผู้สอนคือนายจันดารา ดวง (ชาวกัมพูชา)

๕.๓.๔ อบรมความรู้พื้นฐานภาษาเวียดนามสำหรับสื่อมวลชน  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดอบรมหลักสูตรความรู้พื้นฐานภาษาเวียดนามสำหรับสื่อมวลชนขึ้นระหว่างวันอาทิตย์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ – วันอาทิตย์ที่  ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐    โดยมีเวลาเรียนรวม ๓๐ ชั่วโมง ภายในระยะเวลา ๑๐ สัปดาห์ เน้นทักษะการอ่านและการสนทนา สอนโดยอาจารย์พิสิฐ  อำนวยเงินตรา หัวหน้าสาขาวิชาภาษาอาเซียน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับผู้เข้าร่วมอบรมที่จบหลักสูตรและผ่านการสอบวัดผลที่ได้คะแนนสูงสุด ๒ คน จะได้รับทุนเดินทางไปศึกษาดูงานและปฏิบัติงานข่าวในองค์กรสื่อมวลชนในประเทศเวียดนามเป็นระยะเวลา ๗  วัน  โดยสมาคมฯจะรับผิดชอบค่าที่พัก ค่าเดินทางและเบี้ยเลี้ยงให้

 

๖. คณะกรรมการอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ

ในปี ๒๕๕๙  คณะอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ สมาคมฯ  ได้จัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่เป็นการประสานความร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพสื่อและกิจกรรมที่ประสานความร่วมมือกับองค์กรภายนอก ดังนี้

๖.๑ งานด้านการระดมทุน

๖.๑.๑ ดินเนอร์ทอล์ค สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานดินเนอร์ทอล์คขึ้นเป็นประจำในวันที่ ๕ มีนาคมของทุกปีมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙  งานดินเนอร์ทอล์คประจำปี ๒๕๕๙ จัดเมื่อวันเสาร์ที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๘   ณ  ณ ห้องภาณุรังษี  โรงแรมรอยัลริเวอร์  เชิงสะพานซังฮี้ ฝั่งธนบุรี   มีการปาฐกถา “ส่องโลก มองไทย การปรับตัวในสถานการณ์ท้าทาย”  โดยดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทยและอดีตเลขาธิการอาเซียน

๖.๑.๒ หนังสือวันนักข่าว สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดทำหนังสือวันนักข่าว ซึ่งเป็นหนังสือรายงานประจำปีเผยแพร่ทุกวันที่ ๔ มีนาคม นอกจากจะเป็นการรายงานผลการดำเนินกิจกรรมต่างๆของสมาคมฯแล้ว ยังได้รวบรวมผลการประกวดข่าวประเภทต่างๆของสมาคมฯเอาไว้ด้วย สมาคมฯได้มอบหมายให้บริษัท นักทุ่งเที่ยว จำกัด เป็นผู้ดำเนินการการจัดหาโฆษณา

 

๖.๒ งานด้านการบริหารจัดการ

๖.๒.๑ การบริหารบัญชีเงินฝาก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีกองทุนต่างๆอยู่จำนวน ๖ กองทุน ประกอบด้วย ๑.กองทุน ๖๐ ปี สมาคม ๒. กองทุนเพื่อสิทธิเสรีภาพสื่อ  ๓.กองทุนส่งเสริมจรรยาบรรณ ๔.กองทุนเหยี่ยวปีกหัก  ๕.กองทุนการศึกษาบุตรธิดานักข่าว และ ๖.กองทุนเงินสะสมพนักงาน เพื่อให้มีรายได้เพิ่มเติมจากแต่ละกองทุน จึงได้มีการบริหารกองทุน โดยการจัดสรรงบประมาณไปซื้อสลากออมสินและพันธบัตรที่มีความมั่นคง

 

๖.๒.๒ ปรับปรุงระบบบัญชีสมาคมฯ  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ได้ว่าจ้างสํานักงาน เอ็นแอนดเค การบัญชีและตรวจสอบ วางระบบบัญชีและจัดทำบัญชีของสมาคมฯ เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารงาน

 

๖.๓ โครงการบริจาคโลหิต  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  จัดกิจกรรมการบริจาคโลหิตขึ้นเป็นประจำทุกหกเดือน  โดยในปี ๒๕๕๙  จัดเมื่อวันพุธที่ ๑๒ ตุลาคม  ๒๕๕๙ (ครั้งที่ ๕) และเมื่อวันพุธที่  ๒๕ มกราคม ๒๕๖๐ (ครั้งที่ ๖)   เพื่อเป็นการบำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระราชกุศล ครบกำหนดศตมวาร (๑๐๐ วัน) พระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร  ณ สภากาชาดไทย

๖.๔ รวมใจคนสื่อน้อมเกล้าฯ แสดงความอาลัยถวาย “พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙”  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ร่วมกับ ๓๐ องค์กรวิชาสื่อ จัดกิจกรรม รวมใจคนสื่อน้อมเกล้าฯ แสดงความอาลัยถวาย “พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙” เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๙  ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการสื่อมวลชนไทยอย่างใหญ่หลวง

 

แม้สถานการณ์สื่อ จะอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากทั้งจากสภาพทางธุรกิจของสื่อ และต้องเผชิญกับความพยายามเข้ามาควบคุม”สื่อ”ผ่านขบวนการที่อ้างว่าเป็นการ”ปฏิรูป”โดยอำนาจรัฐ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยังคงยืนหยัดที่จะร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนต่างๆในการที่จะหาทาง”ปฏิรูปสื่อ”กันเอง เพื่อให้วิชาชีพสื่อ คนข่าว คนสื่อได้ทำหน้าที่บนหลักการที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของส่วนร่วม ตามที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เคยพระราชทานแนวทางไว้ และหวังว่าเพื่อนพ้องน้องพี่คนข่าว คนสื่อจะร่วมมือกัน”ปฏิรูป”ด้วยมือของพวกเรากันเอง

ขอเป็นกำลังใจให้คนข่าว-คนสื่อที่แท้จริง ที่จะร่วมกันจรรโลงวงการสื่อมวลชนต่อไป แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่มืดมิดเพียงใดก็ตาม