รายงานกิจกรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยสมัยที่ ๒๑ ประจำปี ๒๕๖๔

คณะกรรมการบริหาร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมัยที่ ๒๑ ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๓ - ๔ มีนาคม ๒๕๖๕ ได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานไว้ ๒ ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์หลักที่ ๑ พัฒนาศักยภาพสื่อมวลชน ให้เห็นโอกาส เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในวิชาชีพด้วยการเพิ่มทักษะและองค์ความรู้ที่หลากหลาย ทันกับภูมิทัศน์สื่อและเทคโนโลยี รองรับอุตสาหกรรมสื่อที่เปลี่ยนแปลง  แต่ไม่ทิ้งหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และการใช้เสรีภาพให้อยู่บนความรับผิดชอบ  ยุทธศาสตร์หลักที่ ๒ พัฒนาและสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อแสวงหาความร่วมมือ องค์ความรู้ รูปแบบต่างๆที่เหมาะสมกับภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลง เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพร่วมกัน

ในปี ๒๕๖๔ คณะกรรมการบริหาร สมาคมฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ ทำหน้าที่ในการดำเนินกิจกรรมตามยุทธศาสตร์ข้างต้น โดยแบ่งออกเป็น ๖ คณะอนุกรรมการ ดังนี้

๑) คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ

๒) คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ

๓) คณะอนุกรรมการฝ่ายสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์

๔) คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ

๕) คณะอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ

๖) คณะอนุกรรมการฝ่ายกิจกรรมพิเศษ

๑. คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ

ในปี ๒๕๖๔ คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ ดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่ในการปกป้อง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน โดยมุ่งเน้นเรื่อง เสรีภาพสื่อ คือ เสรีภาพประชาชน ทำให้สื่อมวลชนและ ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน ภายใต้กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปสื่อสารมวลชน โดยยึดหลักการกำกับดูแลกันเอง ปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการสร้างเครือข่าย และแนวร่วมของภาคีสื่อมวลชนและภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนร่วมกัน  โดยในปี ๒๕๖๔ แบ่งงานออกเป็น ๒ กลุ่มงานดังนี้

๑.๑ กลุ่มงานรณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพ

๑.๑.๑ โครงการวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) เป็นโครงการต่อเนื่องที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกวันที่ ๓ พฤษภาคม เนื่องจากเป็นวันที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้เสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ ประกาศให้วันที่ ๓ พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก ซึ่งก็คือเสรีภาพในการแสดงออก ตั้งแต่เมื่อปี ๒๕๔๓ โดยในปี ๒๕๖๔ สมาคมฯ ร่วมรณรงค์ภายใต้หัวข้อ “เสรีภาพสื่อ เสรีภาพประชาชน” (Media Freedom is Our Freedom)   และเนื่องจากประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด ๑๙  สมาคมฯจึงจัดกิจกรรม ๓ รูปแบบคือ ๑. ประกวดภาพถ่ายภายใต้หัวข้อ “เสรีภาพสื่อไทย ในสถานการณ์ปัจจุบัน” โดยแบ่งการประกวดออกเป็น ๒ ประเภท คือ ๑.ประเภทสื่อมวลชน ๒.ประเภทประชาชนทั่วไป  ๒.รณรงค์ใช้กรอบรูปโปรไฟล์ #MediaFreedomsIsOurFreedom ในเฟซบุ๊ค และ ๓. ออกแถลงการณ์ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

๑.๑.๒ ศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม (ศปสช.)   ปีที่ ๒   สมาคมฯ ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย จัดตั้งศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม   เพื่อทำหน้าที่ประสานงาน ด้านการรักษาความปลอดภัยและด้านอื่น ๆ ที่จำเป็น และเพื่อให้การประสานงานระหว่างสื่อมวลชนกับฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ได้มีการปรับปรุง  "ปลอกแขนสื่อมวลชน" ให้ใช้งานได้อย่างสะดวก และสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน แจกจ่ายให้กับองค์กรสื่อที่ต้องส่งบุคคลากรไปลงพื้นที่ทำข่าว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการกำหนดเกณฑ์และกติกา

โดยเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ที่ประชุมคณะกรรมการ ๖ องค์กรสื่อมีมติแต่งตั้ง นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นผู้อำนวยการ ศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม แทนนายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการ สมาคมฯ  ที่ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯคนแรก

๑.๑.๓ จัดทำรายงานสถานการณ์สื่อประจำปี ในปี ๒๕๖๔ เน้นการสะท้อนภาพการทำงานของนักข่าวภาคสนามในการทำหน้าที่ในสถานการณ์การชุมนุม ภายใต้วิกฤติการระบาดของโคโรน่าไวรัสที่ และความพยายามของรัฐบาลในการจำกัดเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน 

๑.๑.๔ การออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อสถานการณ์ต่างๆที่คุกคามการทำหน้าที่สื่อมวลชน

๑.๑.๕ เสวนาวิชาการในหัวข้อ “ปรากฎการณ์ ‘ม็อบปฏิรูป’ กับขอบเขตการรายงานข่าวของสื่อมวลชน” เป็นการเสวนาผ่านโปรแกรมซูม เมื่อวันที่ ๘ ธ.ค. ๖๔  วิทยากรจากหลากหลายวิชาชีพ ประกอบด้วย นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ (อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ) ดร. พรรษาสิริ กุหลาบ (อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม (นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย) และนายทัศไนย ไชยแขวง (อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์) ดำเนินรายการโดยนายธีรนัย จารุวัสตร์  (อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ)

หมายเหตุ เชิญ กสทช. ให้มาร่วมงานเสวนาด้วย แต่ กสทช. ไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วม

คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิ์ฯ จัดเสวนาครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการชุมนุมของกลุ่มเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ดำเนินมาตั้งแต่วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๓  ซึ่งเป็นประเด็นที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน สื่อจำนวนมากไม่แน่ใจว่าสามารถรายงานข่าวได้มากน้อยแค่ไหน อะไรบ้างที่รายงานได้หรือไม่ได้ ต่อมาในวันที่ ๑๐ พ.ย. ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในประเด็นการชุมนุมปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าสุ่มเสี่ยงเข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง ทำให้สื่อยิ่งกังวลอีกว่าจะสามารถรายงานการชุมนุมในประเด็นดังกล่าวโดยไม่เข้าข่ายกระทำผิดซ้ำได้หรือไม่ และล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๖ พ.ย. มีรายงานข่าวว่าคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เชิญผู้แทนสื่อจำนวนหนึ่ง เพื่อขอความร่วมมือให้งดหรือละเว้นการรายงานข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

๑.๑.๖ หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับ สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย (DemAll)  เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๔ โดยมีนายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายวัสยศ งามขำ อุปนายกฝ่ายกิจกรรมพิเศษ และนายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อสมาคมฯ  นายณรรธราวุธ เมืองสุข และนายฤกษ์ อุปมัย ตัวแทนคณะทำงานจากสมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย (DemAll) เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในสถานการณ์ปัจจุบัน บทบาทของนักข่าวพลเมือง และทำความเข้าใจภารกิจของทั้งสององค์กร ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

๑.๑.๗ เข้าพบผู้แทน บชน. เพื่อหารือสถานการณ์การทำข่าว ของสื่อมวลชนในการชุมนุม แสดงออกทางการเมือง  โดยเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๔  ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน นำโดยนายชวรงค์  ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ  นายมงคล  บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  นายระวี  ตะวันธรงค์  นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์  เข้าพบ พล.ต.ต.ยิ่งยศ  เทพจำนงค์ โฆษกสํานักงานตํารวจแห่งชาติ  พล.ต.ต.ปิยะ  ต๊ะวิชัย  รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล  ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล  เพื่อหารือสถานการณ์การทำข่าว ของสื่อมวลชนในการชุมนุม แสดงออกทางการเมือง  และร่วมกันหาวิธีให้สื่อมวลชนสามารถปฏิบัติหน้าที่ และลดความเสี่ยงจากการปะทะระหว่างมวลชนกับตำรวจ มีมติให้องค์กรสื่อเป็นหลักในการออกปลอกแขนสื่อมวลชน

๑.๑.๘ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)เข้าพบเพื่อหารือเรื่องความร่วมมือทางวิชาการและงานอบรม เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๔ ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อและเลขาธิการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายสุเมธ สมคะเน เลขาธิการสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย หารือเรื่องความร่วมมือทางวิชาการและงานอบรมกับ นายกุลวรรธน์ ชิตรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)และนางสาวธนาภา ทุยเที่ยงสัตย์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) โดยตัวแทนทั้ง ๓ องค์ ได้มีความเห็นตรงกันในเบื้องต้น ในการจัดโครงการอบรมให้กับสื่อมวลชนของไทย

๑.๒. กลุ่มงานเสริมสร้างศักยภาพสื่อ

๑.๒.๑ จัดหาวัคซีนป้องกันเชื้อโรคไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID๑๙) ให้กับสื่อมวลชนภาคสนาม  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ร่วมกับ ๕ องค์กรวิชาชีพสื่อประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย  ได้รับความอนุเคราะห์วัคซีน Sinovac จากกระทรวงสาธารณสุข นำมาจัดสรรให้กับสื่อมวลชนภาคสนามจำนวน ๕๒๓ คน คนละ ๒ เข็ม แบ่งการรับวัคซีนเป็นสองรอบ รอบแรก ๑๐๓ คน (รับวัคซีนเมื่อ ๑๙ พฤษภาคม และ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๔) และรอบที่สอง ๔๒๐ คน (รับวัคซีนเมื่อ ๒๗ พฤษภาคมและ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๔)  และได้รับความอนุเคราะห์จากโรงพยาบาลวชิรพยาบาล คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ทำหน้าที่ฉีดวัคซีนให้

๑.๒.๒ ลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ” เรื่อง การรับความช่วยเหลือด้านการดำเนินอรรถคดีและการส่งเสริมทางวิชาการ” ระหว่างสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ กับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๔  ณ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

๒. คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ

ในปี ๒๕๖๔  คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมฯ ดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ ภราดรภาพ ความร่วมมือ สวัสดิการ และการเพิ่มพูนความรู้ด้านวิชาชีพแก่มวลสมาชิก ส่งเสริมทักษะ วิชาชีพ (ติดอาวุธ) ให้นักข่าว ภายใต้นโยบายประหยัด ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรสื่ออื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ และติดตาม มีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปสื่อ เฝ้าระวังปรากฎการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพสื่อมวลชน ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุนการใช้เสรีภาพสื่อมวลชนบนความรับผิดชอบ แบ่งงานออกเป็น ๕  กลุ่มงาน คือ

๒.๑. กลุ่มงานส่งเสริมทักษะวิชาชีพข่าว สมาคมฯ ได้จัดทำโครงการด้านการฝึกอบรม  ๒  หลักสูตร คือ

๒.๑.๑ อบรมนักจัดรายการวิทยุช่วยกันคิดทิศทางข่าว จัดเมื่อวันเสาร์ที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๔  ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมกันพัฒนาการจัดรายการวิทยุให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมที่เป็นนักจัดรายการวิทยุ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว”

รายการวิทยุช่วยกันคิดทิศทางข่าว  เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กับ คลื่นข่าว FM ๑๐๐.๕ MCOT News Network จัดเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ ระหว่างเวลา ๑๑.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนกับประชาชนและเป็นการประชาสัมพันธ์เผยแพร่กิจกรรมของสมาคมฯ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ซึ่งโครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๐ ซึ่งคณะกรรมการการบริหารชุดนี้ ได้ดำเนินการสานต่อโครงการนี้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา ๒๕ ปี

๒.๑.๒ อบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพิราบน้อยรุ่น ๒๔ เป็นโครงการต่อเนื่องจัดขึ้นเป็นปีที่ ๒๔  ซึ่งหากนับถึงปัจจุบันมีนักศึกษาที่ผ่านการอบรมกว่า ๑,๐๐๐ คนแล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพสื่อสารมวลชนด้านสิ่งพิมพ์  (Professional Development) ความรับผิดชอบต่อจริยธรรมในวิชาชีพ (Ethics Responsibility)  และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะองค์กรเพื่อสังคม (Organizational Social Responsibility)

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ๑๙ คณะทำงานจึงจัดการอบรมในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบซูม(Zoom) และไลน์(Line) ซึ่งเป็นครั้งแรกของอบรมแบบออนไลน์

ในรุ่นที่ ๒๔  มีนักศึกษาที่เรียนด้านหนังสือพิมพ์จากสถาบันอุดมศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วมอบรมจำนวน ๕๖ คน จาก  ๑๑  สถาบัน จัดเมื่อวันเสาร์ที่ ๘  เสาร์ที่ ๑๕  เสาร์ที่ ๒๒ และเสาร์ที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๕  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสนับสนุน จาก บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR , บริษัท วิริยะ ประกันภัยจำกัด (มหาชน) บริษัท ซิน คิมปานี จำกัด และ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

๒.๒ กลุ่มงานเสวนาและสื่อสารสาธารณะ ได้มีการจัดทำโครงการในกลุ่มงานเสวนาและสื่อสารสาธารณะ จำนวน ๔ กิจกรรม ดังนี้

๒.๒.๑ ราชดำเนินเสวนา เป็นโครงการที่ดำเนินงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ ๒๓  ซึ่งเป็นความริเริ่มจากสมัยที่นายกวี จงกิจถาวร เป็นนายก สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย (พ.ศ. ๒๕๔๒) มีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพการทำงานข่าวให้มีคุณภาพและอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง  โดยมีการเชิญแหล่งข่าวมาพบปะพูดคุยและตอบคำถามนักข่าว เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ระหว่างนักข่าวกับแหล่งข่าวในประเด็นต่าง ๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

ในปี พ.ศ.  ๒๕๖๔ ไม่มีการจัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา

๒.๒.๒. รายการวิทยุช่วยกันคิดทิศทางข่าว  เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กับ คลื่นข่าว FM ๑๐๐.๕ MCOT News Network ออกอากาศทางสถานีวิทยุ อสมท.  FM ๑๐๐.๕ Mhz ทุกวันอาทิตย์เวลา ๑๑.๐๐-๑๒.๐๐น. เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักข่าวรุ่นใหม่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมกับสมาคมฯ รวมทั้งเป็นเวทีในการสื่อสารเรื่องราวที่เกี่ยวกับสื่อมวลชนให้สาธารณชนได้ รับทราบ รวมทั้งการวิเคราะห์ถึงทิศทางข่าวในสัปดาห์ต่อไป โดยเน้นความหลากหลายของประเด็นข่าว ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศ และอื่นๆที่เป็นประเด็นร้อนในขณะนั้น

สำหรับนักจัดรายการประจำปี  ๒๕๖๔  มีจำนวน ๘  คนคือ ๑.นายวสวัตต์ โอดทวี  ๒.นายนพฤทธิ์ กมลสุวรรณ ๓.นางสาวดารากาญจน์  ทองลิ่ม   ๔.นางสาวพิมพ์นารา  ประดับวิทย์   ๕.นางสาวนันทพร  ทาวะระ   ๖.นายบัญชา  จันทร์สมบูรณ์  ๗.นางสาวดารินทร์  หอวัฒนกุล  และ ๘. นางสาวณิชชนันทน์ แจ่มดวง  โดยมีนายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เป็นบรรณาธิการรายการ  ติดตามฟังรายการวิทยุย้อนหลังได้ที่  www.tja.or.th 

๒.๒.๓ www.tja.or.th เป็นเวบไซต์ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมข่าวสารต่างๆ ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ทั้งประชาสัมพันธ์กิจกรรม,รายงานกิจกรรม,กฎหมายที่เกี่ยวข้อง,ประวัติความ เป็นมา จุดยืนและท่าทีของสมาคมฯต่อสถานการณ์ต่างๆของบ้านเมือง รวมทั้งการบันทึกผลงานข่าวที่ได้รับรางวัลประเภทต่างๆ  และเป็นชุมชนออนไลน์ของนักวิชาการและวิชาชีพสื่อสารมวลชน ในการแลกเปลี่ยนทัศนะของนักวิชาการและนักวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน และนำเสนอข่าวสารความเคลื่อนไหวในแวดวงสื่อสารมวลชน 

๒.๒.๔ เพจจุลสารราชดำเนินออนไลน์ https://www.facebook.com/rajdamnernbook/  มีวัถตุประสงค์  เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการข่าว  และวิชาการสื่อมวลชนรวมถึงวิชาชีพสื่อที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน  เพื่อเป็นกลไกสร้างความเข้าใจระหว่าง นักวิชาชีพสื่อ นักวิชาการด้านสื่อและประชาชนผู้บริโภคสื่อ เป็นการตรวจสอบซื่งกันและกัน   เพื่อเผยแพร่กิจกรรมของสมาคม และข่าวสารการปรับตัวของสื่อในประเทศและต่างประเทศ

๒.๓ กลุ่มงานหนังสือ ในปี   ๒๕๖๔  ฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดทำหนังสือวันนักข่าว ประจำปี ๒๕๖๕  เป็นหนังสือรายงานประจำปีที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการข่าวและหนังสือพิมพ์  ตลอดจนรายงานกิจกรรมของสมาคม  เนื้อหาหลักในปีนี้เน้นเรื่อง  “อุตสาหกรรมสื่อยุคโควิด๑๙ การปรับตัวอย่างไร และพฤติกรรมการบริโภคสื่อในยุคปัจจุบัน” มีนางสาวน.รินี  เรืองหนู  เป็นบรรณาธิการ และนายวรพล กิตติรัตวรางกูร เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ

๒.๔. กลุ่มงานเครือข่ายวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน  ได้จัดสัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ ๑๖  ประจำปี ๒๕๖๔  ในรูปแบบเสวนาออนไลน์  หัวข้อ  “สื่อไทยในวิกฤติโควิด-๑๙ เข้าใจ เรียนรู้ ปรับตัว”  โดยจัดทุกวันเสาร์ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ เผยแพร่ผ่านเพจ(facebook) และช่องยูทูป(youtube) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีหัวข้อย่อยและวิทยากรดังนี้

๑.  “๒ ปี โควิด" New Normal กับสื่อสารฉากทัศน์อนาคต” วันเสาร์ที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๔  วิทยากรประกอบด้วย ศ.นพ.ประสิทธิ์  วัฒนาภา (คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล) นายนิมิตร์  เทียนอุดม (คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)  นายเกษมสันต์ วีรกุล (บรรณาธิการบริหาร เพื่อวางกลยุทธ์สื่อสาร ศบค.) นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์  (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป THG) ดำเนินรายการโดย  นางสาวสุชาดา  นิ่มนวล  (ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี)              

๒.  “การนำเสนอข่าวของสื่อ ในช่วงโควิด-๑๙”  วันเสาร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔  วิทยากรประกอบด้วย

นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ (ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์  สำนักข่าวไทย อสมท.) นายนิรันดร์ เยาวภาร์  (ผู้จัดการออนไลน์) ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์  (มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย) นายจักร์กฤษ  เพิ่มพูล (กรรมการนโยบาย  สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส) ดำเนินรายการโดย  นายบรรยงค์   สุวรรณผ่อง (กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ  สมาคมฯ)

๓. "วิธีการทำ ข่าวแบบ Data J ในช่วงโควิด-๑๙"  วันเสาร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ วิทยากรประกอบด้วยนายธนพล  บางยี่ขัน (อิสระ) นางสาวชนิตา  งามเหมือน (www.onlinenewstime.com) นายกิตตินันท์  นาคทอง (ผู้จัดการ ๓๖๐ องศา) นายกานต์  อุ่ยวิรัช (Data Craftsman & Technical Coach, ODDS)

นายประเมศฐ์  ศตประสิทธิ์ชัย (นักวิจัย อิสระ) นายพุทธศักดิ์  ตันติสุทธิเวท  (Data Research Manager)

ดำเนินรายการโดย นางสาวอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ (รายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand) และ ดร.พรรณี อมรวิพุธพนิช (ชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย)

๔. "เล่า(แชร์)เรื่องราวการทำข่าวโควิดด้วย Data J ผ่านกรณีศึกษา" วันเสาร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ วิทยากรประกอบด้วย นางสาวอรพิณ ยิ่งยงพัฒนา (บรรณาธิการบริหาร ไทยรัฐออนไลน์) นายพงศ์พิพัฒน์  บัญชานนท์ (บรรณาธิการอาวุโส The Matter)  นางสาวอรุชิตา อุตมะโภคิน (บรรณาธิการข่าว ThaiPBS -The Active) นายนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ (บรรณาธิการบริหารข่าว  WorkpointToday) ดำเนินรายการโดย นางสาวภัทราวดี  ธีเลอร์  (คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์)

๕. "โควิด" ข้อมูลที่ประชาชนอยากรู้ VS ข่าวที่สื่ออยากทำ” วันเสาร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ วิทยากรประกอบด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง (เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค) ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์     (ที่ปรึกษาโครงการ Media Alert TMF) ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต  (ที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศบค.) นางสาวกนกพร  ประสิทธิ์ผล (ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส) ดำเนินรายการโดย นางสาวสุชาดา  นิ่มนวล  (ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี)              

๒.๕. กลุ่มงานประกวดข่าว

๒.๕.๑ การประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทข่าวและภาพข่าวยอดเยี่ยม ประจำปี ๒๕๖๔  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ได้รับมอบหมายจากมูลนิธิอิศรา อมันตกุล ให้ดำเนินการจัดการประกวดข่าวและภาพข่าวยอดเยี่ยม รางวัลอิศรา อมันตกุล เพื่อเป็นการรำลึกถึงนายอิศรา อมันตกุล นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรกและนักหนังสือพิมพ์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ภาย ใต้กรอบจริยธรรม โดยดำเนินการจัดการประกวดมาตั้งแต่ ปี ๒๕๑๕ สำหรับในปี ๒๕๖๔  ได้มีการเพิ่มประเภทการประกวดอีก ๒ ประเภท คือข่าวจากสื่อออนไลน์ และภาพข่าวจากสื่อออนไลน์

ในปี ๒๕๖๔ จึงมีการประกวด ๔ ประเภทรางวัลคือ ๑. ข่าวยอดเยี่ยมสำหรับสื่อหนังสือพิมพ์  ๒. ภาพข่าวยอดเยี่ยมสำหรับสื่อหนังสือพิมพ์  ๓.ข่าวออนไลน์ยอดเยี่ยมสำหรับสื่อออนไลน์  ๔.ภาพข่าวออนไลน์ยอดเยี่ยมสำหรับสื่อออนไลน์  มีผลงานข่าวส่งเข้าประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทข่าวหนังสือพิมพ์จำนวน ๕  ข่าว จากหนังสือพิมพ์ ๒  ฉบับ และส่งผลงานข่าวออนไลน์จำนวน ๑๒ ข่าว จากสำนักข่าวออนไลน์  ๔ แห่ง  ภาพข่าวหนังสือพิมพ์ จำนวน ๖๒ ภาพ จากหนังสือพิมพ์ ๕ ฉบับ ภาพข่าวออนไลน์ ๑๑๔ ภาพ จากสำนักข่าวออนไลน์ จำนวน ๘ แห่ง

๒.๕.๒ การประกวดรางวัลข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๔ ของ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมฯ ได้มอบหมายให้ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ดำเนินการจัดการประกวด ข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ซึ่งจัดการประกวดมาตั้งแต่ปี  ๒๕๓๒ สำหรับในปี ๒๕๖๔ ได้เปิดให้สื่อออนไลน์สามารถส่งผลงานร่วมประกวดรางวัลได้ด้วย มีผลงานข่าวส่งเข้าประกวดจำนวน ๒๗ ข่าว จากสื่อสิ่งพิมพ์และออนไลน์ จำนวน ๑๒ แห่ง

๒.๕.๓ การประกวดรางวัลพิราบน้อย ประจำปี ๒๕๖๔ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ มีมติให้งดการประกวดเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙  ทำให้หลายสถาบันการศึกษาไม่สามารถผลิตผลงานได้

๓. คณะอนุกรรมการฝ่ายสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์

ในปี ๒๕๖๔ คณะอนุกรรมการฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ สมาคมนักข่าวฯ  ดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมพัฒนาและปรับปรุงสวัสดิการสมาชิก และขยายเครือข่ายความสัมพันธ์ไปยังองค์กรวิชาชีพสื่ออื่น ๆ แบ่งงานออกเป็น ๒ กลุ่มงาน คือ

๓.๑ กลุ่มงานสมาชิกสัมพันธ์

๓.๑.๑ โครงการบริจาคโลหิต สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมการบริจาคโลหิตขึ้นเป็นประจำทุกสามเดือน โดยในปี ๒๕๖๔  จัดเมื่อวันพุธที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๔ (ครั้งที่ ๒๑) วันพุธที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ (ครั้งที่ ๒๒) และวันพุธที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๔ (ครั้งที่ ๒๓) และ วันพุธที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๔ (ครั้งที่ ๒๔) ณ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล

๓.๒ กลุ่มงานสวัสดิการสมาชิก

๓.๒.๑ ทุนการศึกษา สมาคมฯ มอบทุนการศึกษาให้กับบุตร-ธิดา สมาชิก โดยแบ่งทุนการศึกษาออกเป็น ๒ ประเภท คือ ๑) ทุนส่งเสริมการศึกษา เป็นการให้ทุนแบบรายปี โดยใช้งบประมาณจากกองทุนการศึกษาเพื่อบุตร-ธิดา สมาชิกสมาคมฯ มีผู้ได้รับการอนุมัติทุนการศึกษาจำนวน ๖๙ ทุน ทุนละ ๔,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๒๗๖,๐๐๐ บาท มีการจัดพิธีมอบเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๔ และ ๒) ทุนต่อเนื่อง เป็นทุนที่มอบให้แบบต่อเนื่องตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-ระดับปริญญาตรี โดยได้รับการอนุเคราะห์ทุนการศึกษาจากมูลนิธิเอสซีจี ปีละ ๑๐ ทุน ต่อเนื่องเป็นปีที่ ๑๔ ปัจจุบันมีผู้รับทุนแล้ว ๑๔๔ คน

๓.๒.๒  ทุนการศึกษาซีพีเพื่อยุวชนครอบครัวคนข่าว ประจำปี ๒๕๖๔ เป็นทุนการศึกษาที่มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์มอบให้กับ ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย   สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ  และสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย  จำนวน ๑๐๐ ทุน ทุนละ ๑๐,๐๐๐ บาท โดยมีเงื่อนไขว่าผู้สมัครเข้ารับทุนต้องเขียนบทความเกี่ยวกับความกตัญญู จัดพิธีมอบทุนเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

๓.๒.๓ การมอบสินไหมมรณกรรมและการร่วมเป็นเจ้าภาพงานสวดพระอภิธรรมศพ สมาคมฯ ได้จัดทำประกันชีวิตกลุ่ม ให้กับ สมาชิกที่ชำระเงินค่าบำรุงประจำปีกับบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด  ในปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ มีทายาทของสมาชิกได้รับสินไหมมรณกรรมจาก บมจ. เมืองไทยประกันชีวิต  ๘ คน โดยได้รับคนละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท (เสียชีวิตจากการเจ็บไข้ได้ป่วย) รวมเป็นเงิน ๘๐๐,๐๐๐ บาท

๓.๒.๔ สวัสดิการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก สมาคมฯมอบสวัสดิการผู้ป่วยในเป็นเงิน ๒๖,๑๙๑ บาท สวัสดิการผู้ป่วยนอกเป็นเงิน ๔๘,๑๘๑.๕๐ บาท สวัสดิการผู้ป่วยในสำหรับสมาชิกอาวุโสเป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท และสวัสดิการผู้ป่วยนอกสำหรับสมาชิกอาวุโสเป็นเงิน ๖๒,๘๒๑ บาท

๓.๒.๕ สวัสดิการคลอดบุตรคนแรก สมาคมฯมอบสวัสดิการคลอดบุตรคนแรกให้สมาชิกจำนวน ๒ คน คนละ ๕,๐๐๐ บาท เป็น เงิน ๑๐,๐๐๐ บาท

๓.๒.๖ โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสื่อมวลชนสำหรับสมาชิกสมาคมฯ  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้รับความสนับสนุนจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ จัดทำโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสื่อมวลชนสำหรับสมาชิกสมาคมฯ ที่มีความประสงค์จะกู้เงินซื้อบ้าน ผ่อนคอนโด รีไฟแนนซ์ กับธอส. ในอัตราดอกเบี้ย ๒ ปีแรก ร้อยละ ๑.๙๙ ต่อปี

๓.๒.๗ ทุนการศึกษาระดับปริญญาโท สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาระดับปริญญาโทจำนวน ๑ ทุน จากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เป็นปีที่ ๓  โดยคณะกรรมการบริหาร สมาคมฯ ได้คัดเลือกนางสาวพีระพรรณ พิสิฐชัยรักษ์ (ผู้สื่อข่าวสายไอที ผู้จัดการออนไลน์)  สมาชิกสมาคมฯ เป็นผู้รับทุนการศึกษา  หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสารเชิงนวัตกรรมเพื่อองค์กรสมัยใหม่ คณะนิเทศศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

 ๓.๒.๘ มาตรการและแนวทางดูแลสมาชิกสมาคมฯ ในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด ๑๙

๑) มอบ “หน้ากากอนามัยและยาฟ้าทะลายโจร” ให้สื่อมวลชนใช้เพื่อป้องกันตัวเองและลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย โดยมีหน่วยงานต่างๆให้ความอนุเคราะห์หน้ากากอนามัย ดังนี้ ๑. เครือเจริญโภคภัณฑ์ ๒.บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)

๒) ออกระเบียบสวัสดิการช่วยเหลือ สมาชิกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด ๑๙  โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร สมาคมฯ พิจารณาเห็นว่าเพื่อเป็นการดูแลทุกข์สุขและแบ่งเบาภาระของสมาชิก จึงได้กำหนดระเบียบสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ ขึ้นโดยสมาชิกต้องมีผลการตรวจมายืนยันและต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นการติดเชื้อจากการทำงาน  โดยคณะกรรมการบริหาร สมาคมฯ เมื่อครั้งที่ ๖ สมัยที่ ๒๑ เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔  ได้กำหนดกรอบวงเงินในการให้ความช่วยเหลือสมาชิกไว้ไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน)

๔. คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ

ในปี ๒๕๖๔ คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ดำเนินงานภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ๑๙ ทำให้กิจกรรมด้านการเยี่ยมเยือนต้องชะงักลง แต่มีบางกิจกรรมที่ได้ดำเนินการผ่านระบบออนไลน์  ดังนี้

๔.๑ กลุ่มงานสร้างเครือข่ายวิชาชีพต่างประเทศ

๔.๑.๑ การประชุมทวิภาคีผ่านโปรแกรมซูมระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าวแห่ง สปป.ลาว (Lao Journalists Association) เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน  ๒๕๖๕ เพื่อติดตามการทำงานของสื่อมวลชนในสถานการณ์โควิดของแต่ละประเทศ และเพื่อระดมความคิดเห็นเรื่องการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่นการอบรมพัฒนาทักษะ การเยี่ยมเยือน และการส่งเสริมความร่วมมือในการทำข่าว

จะมีการประชุมทวิภาคีผ่านโปรแกรมซูมครั้งต่อไปกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์เวียตนาม (Vietnam Journalists Association) ในช่วงเดือนเมษายน ๒๕๖๕

๔.๑.๒ การลงนามในบันทึกข้อตกลงทําความเข้าใจ  ระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยกับสมาคมนักข่าวแห่ง สปป.ลาว ผ่านโปรแกรมซูม โดยมี ท่านสะหวันคอน ราซมนตรี ประธานสมาคมนักข่าวแห่ง สปป.ลาว เป็นผู้ลงนาม ร่วมกับนายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

๔.๑.๓ ส่งสารแสดงความยินดีไปยัง คุณ Maria Ressa และคุณ Dmitry Muratov ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๔

คุณMaria Angelita Ressa เป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ และนักเขียนชาวฟิลิปปินส์-อเมริกัน ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของสำนักข่าวแรปเปลอร์ ส่วนคุณ Dmitry Muratov  เป็นนักข่าว ชาวรัสเซีย เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์เพื่อประชาธิปไตยNovaya Gazeta

๔.๑.๔ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ นายมงคล บางประภานายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายธีรนัย จารุวัสตร์ กรรมการบริหาร สมาคมนักข่าวฯ นางสาวกรชนก รักษาเสรี อนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมนักข่าวฯ ได้พบปะทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนทัศนะกับคุณเฉิน อี้ จวิน (Jean Y.J. Chen) เลขานุการฝ่ายสารนิเทศ และคุณลาวัณย์ แซ่จู (หวา) ผู้ช่วยฝ่ายสารนิเทศ สนง.เศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๔

มีการหารือถึงความร่วมมือในอนาคตซึ่งอาจจะมีรูปแบบของการเสวนาหรือจัดอบรม ทำความรู้จักแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสื่อมวลชนไทยกับผู้แทน สนง.เศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ทั้งในแง่วัฒนธรรม สังคม วิทยาการ หรือการเมือง อีกด้วย

๔.๒. กลุ่มงานพัฒนาศักยภาพนักข่าว ในปี ๒๕๖๔ คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมฯ ได้จัดการอบรมขึ้น ๑หลักสูตร

๔.๒.๑  อบรมหลักสูตร “อเมริกายุคไบเดน: สิ่งที่สื่อไทยควรรู้ รุ่นที่ ๑” สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย จัดทำโครงการจัดการอบรมหลักสูตร “อเมริกายุคไบเดน: สิ่งที่สื่อไทยควรรู้ รุ่นที่ ๑”  ระหว่างวันอังคารที่ ๑๖ -  วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ณ VIE Hotel กรุงเทพ  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑. ให้สื่อมวลชนไทยมีความรู้และความเข้าใจที่รอบด้านเกี่ยวกับสหรัฐอมริกา ๒. ให้สื่อมวลชนไทยได้รับทราบเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และภารกิจต่างๆของสถานทูตสหรัฐฯในประเทศไทยที่สาธารณชนควรทราบ ๓. กระชับความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนไทยกับสถานทูตสหรัฐฯ และ ๔. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสมาคมฯกับสถานทูตสหรัฐฯในอนาคต มีสื่อมวลชนทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าร่วมอบรมจำนวน ๒๐ คน

๕. คณะกรรมการอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ

ในปี ๒๕๖๔ คณะอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ สมาคมฯ ได้จัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่เป็นการประสานความร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพสื่อและกิจกรรมที่ประสานความร่วมมือกับองค์กรภายนอก แบ่งงานออกเป็น ๒ กลุ่มงานดังนี้

๕.๑ กลุ่มงานระดมทุน

๕.๑.๑ งาน TJA Talk สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงาน TJA Talk  ขึ้นเป็นประจำในวันที่ ๕ มีนาคมของทุกปีมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙  แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด ๑๙  จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบงานจากงานดินเนอร์ทอล์ค เป็นงาน TJA Talk(จัดช่วงเช้า ไม่มีการบริการอาหาร) โดยจัดรูปแบบนี้ขึ้นเป็นปีที่ ๒ เมื่อวันเสาร์ที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๕ ณ ห้องคอนเวนชั่น ฮอลล์ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส) หัวข้อ  “ยุทธศาสตร์ สี จิ้น ผิง เขย่าโลก : ไทยจะอยู่อย่างไร?” โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย(APRC) และกรรมการการประชุมโบอ่าวแห่งเอเชีย(Boao Forum for Asia)

๕.๑.๒ หนังสือวันนักข่าว สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดทำหนังสือวันนักข่าว ซึ่งเป็นหนังสือรายงานประจำปีเผยแพร่ทุกวันที่ ๔ มีนาคม นอกจากจะเป็นการรายงานผลการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมฯ แล้ว ยังได้รวบรวมผลการประกวดข่าวประเภทต่างๆ ของสมาคมฯ เอาไว้ด้วย สมาคมฯ ได้มอบหมายให้บริษัท นักทุ่งเที่ยว จำกัด เป็นผู้ดำเนินการการจัดหาโฆษณา

๕.๒ กลุ่มงานบริหารจัดการ

๕.๒.๑ งานบริหารสำนักงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ๑๙  สมาคมฯ ได้ออกประกาศเรื่องการบริหารจัดการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในสถานการณ์ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ๒๐๑๙ โดยสาระสำคัญเน้นเรื่องความเป็นแบบอย่างและร่วมรับผิดชอบต่อสังคม โดยออกการทำงานที่บ้าน แทนการปฏิบัติงานที่สำนักงาน การงดและเลื่อนการประชุมกรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงาน ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกไปก่อน หรือ ใช้การประชุมผ่านช่องทางออนไลน์   และการปฏิเสธการขอเช่าใช้สถานที่จากองค์กรภายนอกในการจัดประชุม /เสวนา / สัมมนา ในปี ๒๕๖๔ ได้ให้พนักงานสมาคมฯ ทำงานที่บ้าน (Work from Home) ระหว่าง ๑ พฤษภาคม - ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ 

ในปี ๒๕๖๔ ได้กำหนดการมาตรการในการอบรมแบบ On Site โดยการอบรมของสมาคมฯ ทุกอบรมที่เป็นการจัดแบบ On Site ต้องทำภายใต้หลักการ “Bubble and Seal” และ “Covid free setting” ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด นอกจากสวมหน้ากาก วัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยอัลกอฮออล์ แล้ว ตรวจ ATK ก่อนหลังเข้าร่วมงาน

๕.๒.๒ การปรับเปลี่ยนตำแหน่งอุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ เนื่องจากนายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง ขอลาออกจากตำแหน่ง ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร สมาคมฯ  ครั้งที่ ๑๐ เมื่อวันพุธที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๔ จึงมีมติแต่งตั้งนายธีรนัย จารุวัสตร์  ดำรงตำแหน่งอุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ แทน

๕.๒.๓ การจัดระบบการเงิน สมาคมฯ ได้นำระบบ Digital Banking Platform มาใช้เพื่อจัดระบบการเงินของสมาคมฯผ่านบริการ SCB Business Anywhere เพื่อความสะดวกในการจ่ายเงินและตรวจสอบรายการจ่าย 

๕.๓ กลุ่มงานประสานความร่วมมือกับองค์กรภายนอก

๕.๓.๑ โครงการครัวปันอิ่ม สมาคมฯ และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับ กลุ่มทรู จัดทำ "โครงการครัวปันอิ่ม ซีพีร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด-๑๙"  ส่งมอบข้าวกล่องรวม ๔๖,๔๕๒ ชุด และหน้ากากอนามัยกว่า ๖๙,๐๐๐ ชิ้น ครอบคลุมกว่า ๑๓,๗๓๓  ครัวเรือน จาก ๖๖ ชุมชนในพื้นที่เขตดุสิต เขตบางซื่อและเขตบางบอน ดำเนินการตั้งแต่ วันที่ ๑๖ สิงหาคม  - วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๕ เป็นระยะเวลา ๔๗ วัน มีทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และผู้ที่กำลังกักตัว รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาล วชิรพยาบาลด้วย ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ

๕.๓.๒ อบรมเชิงปฏิบัติการ “การรายงานข่าวเพื่อช่วยลดการกระทำความผิดซ้ำ” สมาคมฯ ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย TIJ จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การรายงานข่าวเพื่อช่วยลดการกระทำความผิดซ้ำ” โดยมีวัตถุประสงค์ให้สื่อมวลชนที่เข้าร่วมกิจกรรม ได้ทราบ ตระหนัก และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันถึงความสำคัญจำเป็นและหลักการของการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่อาจจะมีส่วนช่วยลดการกระทำความผิดซ้ำ และนำไปสู่การบรรเทาปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ และปัญหาที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ทั้งภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ และการตีตราทางสังคมต่อผู้พ้นโทษต่อไป  มีสื่อมวลชนเข้าร่วมอบรม ๑๕ คน จัดระหว่าง ระหว่างวันศุกร์ที่ ๑๙ - วันอาทิตย์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

หลังจากการอบรม มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่สนใจประเด็น “การรายงานข่าวเพื่อช่วยลดการกระทำผิดซ้ำ” นำเสนอแนวคิดเพื่อรับทุนในการผลิตผลงานเผยแพร่ จำนวน ๕ ทุน

๕.๓.๓ TJA&Cofact   สมาคมฯ ร่วมมือกับ “COFACT Thailand” หรือ ภาคีโคแฟคประเทศไทย ภายใต้ชื่อ TJA&Cofact   ตั้งกองบรรณาธิการเฉพาะกิจ ที่ดึงนักข่าวมืออาชีพจากหลากหลายสายข่าว เข้ามาเป็น Fact-Checking ร่วมตรวจสอบ Fake news หรือ ข่าวลวง ข่าวปลอม ที่แพร่กระจายอยู่ในโซเชียลมีเดียด้วยวิธีการทำข่าวอย่างนักข่าวมืออาชีพ โดยจะมีการนำข่าวลวง ข่าวปลอม ไปสัมภาษณ์ขอข้อมูลจากบุคคลที่นักข่าวเรียกว่า “แหล่งข่าว” ในหน่วยงาน/องค์กร ที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อยืนยันว่าข่าวว่ามีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เริ่มโครงการวันที่ ๑ เมษายน และจบโครงการวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ มีผลงานที่เผยแพร่ผ่านเวบไซต์สมาคมฯจำนวน ๒๕ ชิ้น

๖. คณะกรรมการอนุกรรมการฝ่ายกิจกรรมพิเศษ

ในปี ๒๕๖๔ สมาคมฯ ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ขึ้นมาอีก ๑ คณะ โดยในปีนี้ได้ดำเนินกิจกรรม ๒ โครงการคือ

๖.๑ อบรมการขายให้ปัง! ด้วยพลัง content สมาคมฯ ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพ จัด

อบรมผ่านระบบออนไลน์ ในหัวข้อ “ขายให้ปัง! ด้วยพลัง content” เพื่อให้สื่อมวลชนที่เข้าร่วมอบรม มีความรู้ความเข้าใจถึงพลังของการนำ Content ที่สื่อมวลชนมี มาใช้เทคนิคการตลาดยุคดิจิทัลและสามารถนำไปใช้ในการทำอาชีพเสริมในภาวะที่โลกออนไลน์กำลังเติบโตได้อย่างดีอีกด้วย โดยการอบรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายปัณณวิชญ์ โชติเตชธรรมมณี หรือ ดร.เจล อายุน้อยร้อยล้าน นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว เจ้าของพ็อคเก็ตบุ๊ก “CEO น้อย ร้อยล้าน ความสำเร็จของเด็กหลังห้อง” และลูกรวยสอนพ่อ และ นายพยุงศักดิ์ เสริมสันติวาณิช เจ้าของแฟนเพจ "โปรดิวเซอร์ ยุง" อดีตโปรดิวเซอร์ทีวีช่องดัง เป็นวิทยากร มาร่วมเป็นวิทยากรด้วย เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๔

๖.๒ จัดหาวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับสื่อมวลชน สมาคมฯ ได้รับความอนุเคราะห์จากมูลนิธิการแพทย์สยามบรมราชกุมารี มอบวัคซีนโมเดอน่าป้องกันไวรัสโควิด-๑๙ เข็มกระตุ้นฉีดให้กับผู้สื่อข่าว เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๕  มีผู้สื่อข่าวจำนวน ๑๐๐ คน เข้ารับวัคซีนที่สถานีแอร์พอร์ทลิงค์มักกะสัน โดยโรงพยาบาลปิยะเวทอำนวยความสะดวกในการฉีดวัคซีน