คณะกรรมการบริหาร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมัยที่ ๒๒ ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๕ - ๔ มีนาคม ๒๕๖๗ ได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานไว้ ๒ ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์หลักที่ ๑ พัฒนาศักยภาพสื่อมวลชน ให้เห็นโอกาส เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในวิชาชีพด้วยการเพิ่มทักษะและองค์ความรู้ที่หลากหลาย ทันกับภูมิทัศน์สื่อและเทคโนโลยี รองรับอุตสาหกรรมสื่อที่เปลี่ยนแปลง แต่ไม่ทิ้งหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และการใช้เสรีภาพให้อยู่บนความรับผิดชอบ ยุทธศาสตร์หลักที่ ๒ พัฒนาและสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อแสวงหาความร่วมมือ องค์ความรู้ รูปแบบต่างๆที่เหมาะสมกับภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลง เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพร่วมกัน
ในปี ๒๕๖๕ คณะกรรมการบริหาร สมาคมฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ ทำหน้าที่ในการดำเนินกิจกรรมตามยุทธศาสตร์ข้างต้น โดยแบ่งออกเป็น ๖ คณะอนุกรรมการ ดังนี้
๑) คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ
๒) คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ
๓) คณะอนุกรรมการฝ่ายสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์
๔) คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ
๕) คณะอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ
๖) คณะอนุกรรมการฝ่ายกิจกรรมพิเศษ
๑. คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ
ในปี ๒๕๖๕ คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ได้กำหนดแผนงานและภารกิจประจำปี ๒๕๖๕ รายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
๑. ปกป้องสิทธิเสรีภาพสื่อ
เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ที่กระทบต่อเสรีภาพสื่อมวลชน เพื่อหารือและกำหนดแนวทางดำเนินการในวาระต่างๆ ตามช่องทางและระดับขั้นที่เหมาะสม ทั้งในพื้นที่ส่วนกลางและภูมิภาค, รณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพสื่อซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามหลักการ “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน”, พิจารณาเปิดช่องทางการร้องเรียนสำหรับสื่อมวลชนที่พบเห็นการละเมิดสิทธิหรือริดรอนเสรีภาพสื่อ
๒. ยกระดับวิชาชีพสื่อมวลชน
สื่อสารไปยังสำนักข่าวต่างๆ ให้ใส่ใจสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในภาคสนาม ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาอุปกรณ์เซฟตี้ที่เหมาะสม อบรมความปลอดภัยในการทำข่าว ดูแลผลกระทบที่เกิดจากการทำงานไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต ฯลฯ, จัดการอบรมและโครงการต่างๆ ที่เพิ่มพูนความรู้ความสามารถของสื่อมวลชนไทย ขณะเดียวกันก็ชี้แนะแนวทางการรายงานข่าวที่ยึดมั่นหลักจริยธรรม เป็นธรรม และเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนส่วนรวม
๓. ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ
ผลักดันให้สื่อมวลชนเสนอข่าวสารอย่างเหมาะสมและเข้าใจเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ ความเสมอภาคทางเพศ และบทบาทของผู้หญิงในสังคม, ส่งเสริมให้สาขาอาชีพสื่อมวลชนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง ปราศจากวัฒนธรรมการเหยียดหยามหรือล่วงละเมิดทางเพศ, สนับสนุนให้ผู้หญิงและบุคคลหลากหลายทางเพศ มีบทบาทมากขึ้นในวงการสื่อมวลชน
๔. แสวงหาพันธมิตรหลากหลายองค์กร
รุกเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ เอ็นจีโอ องค์กรระหว่างประเทศ สถานทูต ตลอดจนกลุ่มสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เพื่อทำโครงการอบรมหรืออีเวนต์ร่วมกัน ขอคำปรึกษา ขอทุนสนับสนุนสำหรับกิจกรรม ฯลฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาวิชาชีพสื่อ และเสริมสร้างภาพลักษณ์ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯในฐานะตัวกลางระหว่างสื่อมวลชนกับภาคส่วนต่างๆของสังคม
โดยในปี ๒๕๖๕ แบ่งงานออกเป็น ๔ กลุ่มงานดังนี้
๑.๑ ปกป้องสิทธิเสรีภาพสื่อ
๑.๑.๑ จัดกิจกรรม “First Meet: พบปะนอกแนวปะทะ” เพื่อสัมพันธ์ระหว่างองค์กรวิชาชีพสื่อ ผู้สื่อข่าวภาคสนามและผู้สื่อข่าวพลเมือง โดยเป็นความร่วมมือกับมูลนิธิ Friedrich Naumann ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๖ ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ กิจกรรมประกอบด้วย “Thinking Round” ซึ่งให้เวลาคนละ ๒ นาทีในการแนะนำตัว และบอกเล่าถึงความภูมิใจในการทำงานสื่อมวลชนของตัวเอง การจับคู่กัน ระหว่างสื่อกระแสหลัก กับสื่อพลเมือง-สื่ออิสระ ผลัดเปลี่ยนกันบอกเล่า อุปสรรคปัญหาในการทำงานของกันและกัน เพื่อนำปัญหาของทุกคนมาหาทางออก และการทำกิจกรรม “World cafe” ที่ให้ผู้ร่วมกิจกรรมตั้งวงพูดคุยแบบแยกโต๊ะ โดยให้แต่ละโต๊ะมีผู้นำการสนทนาทำหน้าที่จดบันทึกข้อเสนอมุมมอง โดยทุกคนต้องสลับเปลี่ยนวงไปเรื่อยๆเมื่อมีการเปลี่ยนประเด็นคำถาม ๓ คำถาม คือ ๑.มีความคิดเห็นอย่างไร กับ ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อ ๒.สิ่งที่ต้องการเห็นในบทบาทชององค์กรสื่อต่อสื่อกระแสหลัก และสื่อพลเมือง และ ๓. ข้อเสนอในการทำกิจกรรมครั้งต่อไปของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ
๑.๑.๒ โครงการวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) เป็นโครงการต่อเนื่องที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกวันที่ ๓ พฤษภาคม เนื่องจากเป็นวันที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้เสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ ประกาศให้วันที่ ๓ พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก ซึ่งก็คือเสรีภาพในการแสดงออก ตั้งแต่เมื่อปี ๒๕๔๓ โดยในปี ๒๕๖๕ สมาคมฯ ร่วมรณรงค์ภายใต้หัวข้อ “เสรีภาพสื่อ เสรีภาพประชาชน” (Media Freedom is Our Freedom) และเนื่องจากประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด ๑๙ สมาคมฯจึงจัดกิจกรรม ๓ รูปแบบคือ
๑.๑.๒.๑ ประกวดภาพถ่าย โดยแบ่งการประกวดออกเป็น ๒ ประเภท คือ ๑.ประเภทสื่อมวลชน หัวข้อ “กว่าจะมาเป็นข่าว” ๒.ประเภทประชาชนทั่วไป หัวข้อ “อยากเห็นภาพนี้เป็นข่าว”
๑.๑.๒.๒. จัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกร่วมกับ UNESCO และคณะนิเทศศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภายใต้ธีม Journalism Under Digital Siege ในวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ผ่านระบบซูม กิจกรรมในงานประกอบด้วย การปาฐกถาหัวข้อแนวโน้มสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออกและการพัฒนาของสื่อทั่วโลก หัวข้อสื่อดิจิทัลและการควบคุมอินเตอร์เน็ดในประเทศไทย และการเสวนาความอยู่รอดและความปลอดภัยของสื่อไทยในวงล้อมดิจิทัล
๑.๑.๒.๓. จัดกิจกรรมแจกปลอกแขนสื่อมวลชน ศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม” (ศปสช.) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของ ๖ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน แจกปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อมวลชนให้กับสำนักข่าวทั้งหมด ๓๘ แห่งที่ผ่านเกณฑ์การขอปลอกแขนและได้ส่งเอกสารยืนยันตัวเองครบถ้วนตามที่กำหนด โดยเริ่มส่งมอบวันที่ ๓ พฤษภาคม เป็นต้นไป
๑.๑.๓ ศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม (ศปสช.) ปีที่ ๓ สมาคมฯ ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย จัดตั้งศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม เพื่อทำหน้าที่ประสานงาน ด้านการรักษาความปลอดภัยและด้านอื่น ๆ ที่จำเป็น และเพื่อให้การประสานงานระหว่างสื่อมวลชนกับฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ได้มีการปรับปรุง "ปลอกแขนสื่อมวลชน" ให้ใช้งานได้อย่างสะดวก และสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน แจกจ่ายให้กับองค์กรสื่อที่ต้องส่งบุคคลากรไปลงพื้นที่ทำข่าว โดยเริ่มแจกจ่ายตั้งแต่วันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ปัจจุบัน นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เป็นผู้อำนวยการ ศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม
๑.๑.๔ จัดทำรายงานสถานการณ์สื่อประจำปี ในปี ๒๕๖๕ “ปีแห่งการเปลี่ยนผ่าน” เป็นปีที่มีการปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่บริบทใหม่ๆ หลังจากที่รัฐบาลยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน และการระบาดของโรคไวรัสโควิด-๑๙ ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปสู่การปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติใหม่ (New Normal) ไม่ว่าจะเป็นในด้านเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร และการกำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรม รวมถึงความปลอดภัยในการรายงานข่าว
๑.๑.๕ สานต่อ “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ” เรื่อง การรับความช่วยเหลือด้านการดำเนินอรรถคดีและการส่งเสริมทางวิชาการ” ระหว่างสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ กับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยซึ่งลงนามไว้เมื่อ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๔ โดยมีการเข้าพบกับกรรมการ สภาทนายความชุดใหม่ เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ผลจากการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนำไปสู่การปฏิบัติโดยสภาทนายความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดอบรมความรู้เรื่องมรรยาททนายความแก่สื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติเสนอการร่วมกันร่างแนวทางปฏิบัติการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เสนอให้สภาทนายความช่วยทำรายชื่อทนายความผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในคดีต่างๆ ที่พร้อมจะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เพื่อให้ผู้มีความรู้ด้านกฎหมายเฉพาะด้านจริงๆ เป็นผู้ให้ข่าวต่อสาธารณะ และเสนอให้มีช่องทางขอความช่วยเหลือทางทนายความเช่นกรณีให้การประกันตัวนักข่าวที่ถูกจับกุมในยามวิกาล
๑.๑.๖ เสนอถอน"ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน" ออกจากการพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ตามที่มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่๘ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เมื่อวันที่๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ โดยมีการบรรจุวาระเร่งด่วนเพื่อพิจารณา "ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …." ตามที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอบรรจุอยู่ในวาระ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เสนอให้ถอนร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวฯ ออกจากการพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพราะร่างฎหมายนี้ดำเนินการร่างและผ่านขั้นตอนยาวนาน ขณะที่บริบทและสังคมสื่อเปลี่ยนแปลงไปมาก ยังมีเนื้อหาที่อาจไม่เหมาะกับยุคสมัย และมีสื่อใหม่ๆเกิดขึ้นไม่เข้าใจที่มาและหลักคิด แนวทางของกฎหมายฉบับนี้ และเสนอให้จัดเวทีเพื่อชี้แจงต่อสาธารณะ ตอบคำถามและรับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะแวดวงสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายโดยตรง เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖
๑.๑.๗ การออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อสถานการณ์ต่างๆที่คุกคามการทำหน้าที่สื่อมวลชน โดยครอบคลุมการข่มขู่หรือคุกคามสื่อในรูปแบบต่างๆ และทำหน้าที่เฝ้าระวังให้แก่สื่อทุกประเภท ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลัก สื่อกระแสรอง หรือสื่อฟรีแลนซ์
ตัวอย่างเหตุการณ์คุกคามสื่อที่อนุกรรมการฝ่ายสิทธิ์ฯได้เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสอบสวนและชี้แจง เช่น กรณีกลุ่มบุคคลรุมทำร้ายร่างกายช่างภาพข่าวอิสระ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กทม. วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๕ กรณีกลุ่มบุคคลแสดงพฤติกรรมข่มขู่ผู้สื่อข่าวภูมิภาค ในพื้นที่เทศบาลนครตรัง จังหวัดตรัง วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕ กรณีกลุ่มบุคคลคุกคามและบังคับให้ผู้สื่อข่าว “เนชั่นทีวี” ขณะปฎิบัติหน้าที่รายงานข่าวคดี “ตู้ห่าว” ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ กทม. วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๖ กรณีทำร้ายร่างกายผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการ “หนังสือพิมพ์ชาวไทเพชรบูรณ์” ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๖ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้มีท่าทีแสดงความกังวลและเรียกร้องให้ตรวจสอบกรณีที่มีรายงานว่าผู้ปฏิบัติงานสื่อของสำนักข่าว “TNN” เสียชีวิตจากการทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖
๑.๑.๘ ยื่นหนังสือให้ กสม. ตรวจสอบตำรวจ กรณีสื่อบาดเจ็บจากเหตุปะทะม็อบ APEC ผู้แทนจาก ๖ องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เข้าพบ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อยื่นหนังสือให้ กสม. ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสื่อมวลชนอย่างน้อย ๔ คน ได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมกลุ่ม “ราษฎรหยุด APEC” บริเวณถนนดินสอ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ และสื่อมวลชน
๑.๑.๙ ร้องเรียน ‘ผบ.ตร.’ ให้เร่งสอบกรณีนักข่าวเจ็บในเหตุปะทะม็อบ APEC ตัวแทนจาก ๕ องค์กรวิชาชีพสื่อ อันประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีสื่อมวลชนอย่างน้อย ๔ คนบาดเจ็บจากการกระทำจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะเกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุมกลุ่ม “ราษฎรหยุด APEC” โดยมีพล.ต. อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รับหนังสือแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
สำหรับเนื้อหาของหนังสือที่ยื่นให้ทางตำรวจประกอบด้วย ๓ ข้อเรียกร้อง ๑. ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ๒. ขอให้มีการเยียวยาสื่อมวลชนผู้ได้รับบาดเจ็บ และ ๓. ขอให้ผู้บังคับบัญชากำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ชุมนุมให้ปฏิบัติหน้าที่โดยอยู่ในกรอบและขั้นตอนตามหลักยุทธวิธีที่เหมาะสม เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๕ ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขตปทุมวัน
๑.๑.๑๐ เข้าพบปะหารือร่วมกันกับคณะผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีสื่อมวลชน ๔ คน ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในเหตุปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมกลุ่ม “ราษฎรหยุด APEC” ตามที่ได้เคยยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการให้กับทางตำรวจเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และพูดคุยหารือเกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยสำหรับสื่อมวลชนในสถานการณ์ชุมนุม เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๖ ณ ห้องประชุมชั้น ๒ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขตปทุมวัน
๑.๒ ยกระดับวิชาชีพสื่อมวลชน
๑.๒.๑ สัมมนาออนไลน์สำหรับสื่อมวลชนหัวข้อ “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเพื่อการรายงานข่าว (Introduction to Basic Elements of International Humanitarian Law (IHL) for Journalists)" เป็นงานสัมมนาที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ร่วมกับ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ICRC สำนักงานภูมิภาคกรุงเทพฯ จัดเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๕ เพื่อปูพื้นความรู้ให้สื่อมวลชนเข้าใจหลักการด้านมนุษยธรรม และ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือ “กฎแห่งสงคราม” ที่เกี่ยวข้อง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการรายงานข่าว วิเคราะห์ และนำเสนอเหตุการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศยูเครน ที่กำลังเผชิญกับวิกฤติและต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่ ปัจจุบันมีพลเรือนเสียชีวิตนับพันราย และประชาชนอีกกว่า ๔ ล้านชีวิตกลายเป็นผู้ลี้ภัยสงคราม (ข้อมูลในขณะนั้น)
๑.๒.๒ อบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยในโลกดิจิทัลกับ TikTok (Creating Digital White Space by TikTok) โดยความร่วมมือกับ TikTok เพื่อให้สื่อมวลชนทำความรู้จักและเข้าใจ TikTok และจะได้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย รู้จักวิธีปกป้องความเป็นส่วนตัวของตนและหลีกเลี่ยงการถูกคุกคามต่างๆ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕ ๖๕ ที่โรงแรม Marriott Bangkok Sukhumvit สุขุมวิท ๕ ๗ มีสื่อมวลชนเข้าร่วมงานจำนวน ๒๑ คน
๑.๒.๓ อบรมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพสำนักข่าวขนาดเล็กเพื่อความยั่งยืน: Media Entrepreneur Workshop ๑ ๐๑” ด้วยความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และมูลนิธิ Friedrich Naumann เมื่อ ๑๖-๑๘ กันยายน ๒๕๖๕ ณ โรงแรม Siam@Siam ปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยการจัดอบรมครั้งนี้เป็นผลมาจากการจัดเวทีพบปะพูดคุยกับสื่อภาคพลเมืองเมื่อ ๓ เมษายน ๒๕๖๕ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของสื่อขนาดเล็กให้มีความแข็งแกร่งทั้งด้านเนื้อหาและด้านทุนทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นแหล่งบ่มเพาะความหลากหลายและนวัตกรรมให้งอกงามในภูมิทัศน์สื่อไทย ภายใต้กลไกตลาดและการควมรวมของสื่อขนาดใหญ่ในศตวรรษที่ ๒๑
ตลอดการอบรมทั้ง ๓ วัน ผู้เข้ากิจกรรมได้เรียนรู้ทักษะและประสบการณ์ต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการทำงานด้านสื่อมวลชน และหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนสำนักข่าวของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น จริยธรรมและจรรยาบรรณสื่อตามหลักสากล, การผลิตข่าวอย่างมีคุณภาพเบื้องต้น, ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมสื่อ, ที่มาของแหล่งรายได้ และการเข้าถึงแหล่งทุนในรูปแบบต่างๆ
๑.๒.๔ อบรมเสริมทักษะป้องกัน ‘ข่าวลวง-ข่าวเท็จ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ โดยความร่วมมือกับ Google News Initiative จัดกิจกรรมอบรมเสริมสร้างทักษะการยืนยันข้อมูล สำหรับสื่อมวลชน เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลเท็จในโลกออนไลน์ และพัฒนาทักษะในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารด้วยเครื่องมือต่างๆ โดยมี Google News Initiative เป็นผู้อนุเคราะห์ด้านวิทยากร การอบรม และสถานที่ เมื่อวันพุธที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๕ ณ สำนักงาน Google
๑.๒.๕ เผยแพร่แนวทางการรายข่าวที่มีจริยธรรม ในเหตุการณ์ข่าวที่มีความสำคัญ ๒ เรื่องด้วยกัน คือ ๑. แนวทางการรายงานข่าวสงครามยูเครน สืบเนื่องมาจากการรุกรานยูเครนโดยกองทัพรัสเซียเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ และ ๒. แนวทางการรายงานข่าวกราดยิง-สังหารหมู่ สืบเนื่องมาจากโศกนาฏกรรมสังหารหมู่ในจังหวัดหนองบัวลำภูเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๕ เพื่อแนะแนวให้สื่อมวลชนรายงานเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวได้อย่างมีจริยธรรม และคำนึงถึงผลกระทบในแง่ต่างๆ
๑.๓ ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ
๑.๓.๑ อบรมเชิงปฏิบัติการ "การนำเสนอข่าวการเมืองด้วยมุมมองความยุติธรรมทางเพศ" ร่วมกับ Westminster Foundation for Democracy ประเทศไทย และคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและทักษะในการรายงานข่าวด้วยมุมมองความยุติธรรมทางเพศโดยเฉพาะข่าวที่เกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง สนับสนุนให้ผู้ทำงานด้านสื่อสามารถสร้างเครือข่ายกับผู้หญิงที่มีความตื่นตัวทางการเมือง ทั้งในรูปแบบทางการและไม่เป็นทางการจากทั่วประเทศ และ ๓) จัดทำคู่มือสำหรับสื่อในการรายงานข่าวด้วยมิติความเท่าเทียมทางเพศผ่านกระบวนการวิจัย สังเคราะห์ข้อมูลจากการอบรมเชิงปฏิบัติการ
นอกจากนี้คณะผู้จัดเล็งเห็นว่า การรายงานข่าวด้วย มิติความเท่าเทียมทางเพศนี้มีความสำคัญยิ่งที่นำ ไปสู่เป้าหมายในการรายงานข่าวรูปแบบต่าง ๆ ที่มีพื้นที่ที่เปิดกว้างให้กับผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศทำให้การรายงานข่าวมีคุณภาพและมีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้นต่อไป
การอบรมจะประกอบด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการจำนวน ๕ ครั้ง ครั้งละ ๑ วัน (๑๘ กุมภาพันธ์ ๔ มีนาคม ๑ เมษายน ๒๐ พฤษภาคม และ ๑๐ มิถุนายน) ณ โรงแรมชาเทรียม เรสซิเดนซ์ สาทร กรุงเทพฯ
๑.๓.๒ ปฏิรูปโครงสร้างอนุกรรมการฝ่ายสิทธิ์ฯ เพื่อปรับปรุงสัดส่วนทางเพศภายในคณะทำงาน ให้สอดคล้องกับหลักความเสมอภาคทางเพศ และเป็นแบบอย่างให้กับวงการวิชาชีพสื่อมวลชน ด้วยการเชิญชวนให้ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ และผู้ทรงคุณวุฒิในวงการสื่อเพศหญิง เข้ามามีบทบาทและขับเคลื่อนภารกิจของอนุกรรมการฝ่ายสิทธิ์ฯ ทำให้ปัจจุบันสัดส่วนทางเพศภายในอนุกรรมการฝ่ายสิทธิ์ฯ เกือบจะเท่ากันระหว่างหญิงกับชาย ถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี
๑.๔ แสวงหาพันธมิตรหลากหลายองค์กร
๑.๔.๑ เข้าพบตัวแทนองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ณ สำนักงานประจำประเทศไทย นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ และนายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพสื่อ สมาคมฯ เข้าพบตัวแทนองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ณ สำนักงานประจำประเทศไทย เพื่อทำความรู้จักซึ่งกันและกัน พร้อมกับหารือความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือระหว่างสองหน่วยงาน โดยมีนาย Miko Alazas เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารมวลชนและคณะทำงาน ให้การต้อนรับ เมื่อวันที่๘ สิงหาคม ๒๕๖๕
๑.๔.๒ ฟื้นฟูพันธมิตรกับเครือข่ายเสรีภาพสื่อสากล ‘IFEX’ เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๕ ได้มีการประชุมร่วมกันทางออนไลน์ระหว่างอนุกรรมการฝ่ายสิทธิ์ฯ อนุกรรมการต่างประเทศ กับนาย Milad Monfared ผู้ประสานงานเครือข่ายแลกเปลี่ยนเสรีภาพสากล หรือ “IFEX” ซึ่งมีที่ทำการอยู่ ณ ประเทศแคนาดา โดยการหารือมีขึ้นเพื่อสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างสมาคมนักข่าวฯ กับ IFEX หลังจากห่างเหินกันไปหลายปี เนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาดโคโรน่าไวรัส ซึ่งกระทบต่อการเดินทางและติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศ และมีการเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารของสมาคมนักข่าวฯ มาแล้วหลายชุดด้วยกัน
ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นสมควรรื้อฟื้นความสัมพันธ์อันดีระหว่างสององค์กร เพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมเสรีภาพสื่อ และบรรลุภารกิจต่างๆที่ทั้งสององค์กรมีจุดร่วมกัน
๑.๔.๓ หารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับองค์กรต่างๆ ในรูปแบบไม่เป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ภาครัฐ กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในด้านต่างๆ ตลอดจนหน่วยงานระหว่างประเทศที่ประจำในประเทศไทย และเจ้าหน้าที่การทูต เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูล กระชับความสัมพันธ์ ศึกษาความเป็นไปได้ในความร่วมมือ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์หรือปัญหาสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในประเทศไทย
๒. คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ
ในปี ๒๕๖๕ คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมฯ ดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ ภราดรภาพ ความร่วมมือ สวัสดิการ และการเพิ่มพูนความรู้ด้านวิชาชีพแก่มวลสมาชิก ส่งเสริมทักษะ วิชาชีพ (ติดอาวุธ) ให้นักข่าว ภายใต้นโยบายประหยัด ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรสื่ออื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ และติดตาม มีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปสื่อ เฝ้าระวังปรากฎการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพสื่อมวลชน ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุนการใช้เสรีภาพสื่อมวลชนบนความรับผิดชอบ แบ่งงานออกเป็น ๕ กลุ่มงาน คือ
๒.๑. กลุ่มงานส่งเสริมทักษะวิชาชีพข่าว สมาคมฯ ได้จัดทำโครงการด้านการฝึกอบรม ๒ หลักสูตร คือ
๒.๑.๑ อบรมนักจัดรายการวิทยุช่วยกันคิดทิศทางข่าว จัดเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกสมาคมฯ ที่สนใจจัดรายการวิทยุเข้ามาเสริมทีมงานนักจัดรายการ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมกันพัฒนาการจัดรายการวิทยุให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมที่เป็นนักจัดรายการวิทยุ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว”
รายการวิทยุช่วยกันคิดทิศทางข่าว เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ กับ คลื่นข่าว FM ๑๐๐.๕ MCOT News Network จัดเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ ระหว่างเวลา ๑๑.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนกับประชาชนและเป็นการประชาสัมพันธ์เผยแพร่กิจกรรมของสมาคมฯ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ซึ่งโครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๐ ซึ่งคณะกรรมการการบริหารชุดนี้ ได้ดำเนินการสานต่อโครงการนี้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา ๒๖ ปี
๒.๑.๒ อบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพิราบน้อยรุ่น ๒๕ เป็นโครงการต่อเนื่องจัดขึ้นเป็นปีที่ ๒๕ ซึ่งหากนับถึงปัจจุบันมีนักศึกษาที่ผ่านการอบรมกว่า ๑,๐๐๐ คนแล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพสื่อสารมวลชนด้านสิ่งพิมพ์ (Professional Development) ความรับผิดชอบต่อจริยธรรมในวิชาชีพ (Ethics Responsibility) และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะองค์กรเพื่อสังคม (Organizational Social Responsibility)
ในรุ่นที่ ๒๕ มีนักศึกษาที่เรียนด้านนิเทศศาสตร์จากสถาบันอุดมศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วมอบรมจำนวน ๓๒ คน จาก ๑๒ สถาบัน จัดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๙ ถึงวันเสาร์ที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสนับสนุน จาก ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
๒.๒ กลุ่มงานเสวนาและสื่อสารสาธารณะ ได้มีการจัดทำโครงการในกลุ่มงานเสวนาและสื่อสารสาธารณะ จำนวน ๔ กิจกรรม ดังนี้
๒.๒.๑ ราชดำเนินเสวนา เป็นโครงการที่ดำเนินงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ ๒๓ ซึ่งเป็นความริเริ่มจากสมัยที่นายกวี จงกิจถาวร เป็นนายก สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย (พ.ศ. ๒๕๔๒) มีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพการทำงานข่าวให้มีคุณภาพและอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง โดยมีการเชิญแหล่งข่าวมาพบปะพูดคุยและตอบคำถามนักข่าว เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ระหว่างนักข่าวกับแหล่งข่าวในประเด็นต่าง ๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
ในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ไม่มีการจัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา
๒.๒.๒. รายการวิทยุช่วยกันคิดทิศทางข่าว เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ กับ คลื่นข่าว FM ๑๐๐.๕ MCOT News Network ออกอากาศทางสถานีวิทยุ อสมท. FM ๑๐๐.๕ Mhz ทุกวันอาทิตย์เวลา ๑๑.๐๐-๑๒.๐๐น. เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักข่าวรุ่นใหม่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมกับสมาคมฯ รวมทั้งเป็นเวทีในการสื่อสารเรื่องราวที่เกี่ยวกับสื่อมวลชนให้สาธารณชนได้ รับทราบ รวมทั้งการวิเคราะห์ถึงทิศทางข่าวในสัปดาห์ต่อไป โดยเน้นความหลากหลายของประเด็นข่าว ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศ และอื่นๆที่เป็นประเด็นร้อนในขณะนั้น
สำหรับนักจัดรายการประจำปี ๒๕๖๕ มีจำนวน ๑๐ คนคือ ๑.นายวสวัตต์ โอดทวี ๒.นายนพฤทธิ์ กมลสุวรรณ ๓.นางสาวดารากาญจน์ ทองลิ่ม ๔.นางสาวพิมพ์นารา ประดับวิทย์ ๕.นางสาวนันทพร ทาวะระ ๖.นายบัญชา จันทร์สมบูรณ์ ๗.นางสาวดารินทร์ หอวัฒนกุล ๘. นางสาวณิชชนันทน์ แจ่มดวง ๙. นางสาวจิรพรรณ บุญหนุน ๑๐. นายคัชฑาพงศ์ ลีลาพงศ์ฤทธิ์ โดยมีบรรณาธิการสับเปลี่ยนรายเดือนคือ นายจีรพงศ์ ประเสริฐพลกรัง นายวสวัตต์ โอดทวี นางสาวดารินทร์ หอวัฒนกุล และนายคัชฑาพงศ์ ลีลาพงศ์ฤทธิ์ ติดตามฟังรายการวิทยุย้อนหลังได้ที่ www.tja.or.th
๒.๒.๓ www.tja.or.th เป็นเวบไซต์ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมข่าวสารต่างๆ ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ทั้งประชาสัมพันธ์กิจกรรม,รายงานกิจกรรม,กฎหมายที่เกี่ยวข้อง,ประวัติความ เป็นมา จุดยืนและท่าทีของสมาคมฯต่อสถานการณ์ต่างๆของบ้านเมือง รวมทั้งการบันทึกผลงานข่าวที่ได้รับรางวัลประเภทต่างๆ และเป็นชุมชนออนไลน์ของนักวิชาการและวิชาชีพสื่อสารมวลชน ในการแลกเปลี่ยนทัศนะของนักวิชาการและนักวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน และนำเสนอข่าวสารความเคลื่อนไหวในแวดวงสื่อสารมวลชน
๒.๒.๔ เพจจุลสารราชดำเนินออนไลน์ https://www.facebook.com/rajdamnernbook/ มีวัถตุประสงค์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการข่าว และวิชาการสื่อมวลชนรวมถึงวิชาชีพสื่อที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อเป็นกลไกสร้างความเข้าใจระหว่าง นักวิชาชีพสื่อ นักวิชาการด้านสื่อและประชาชนผู้บริโภคสื่อ เป็นการตรวจสอบซื่งกันและกัน เพื่อเผยแพร่กิจกรรมของสมาคม และข่าวสารการปรับตัวของสื่อในประเทศและต่างประเทศ
๒.๓ กลุ่มงานหนังสือ ในปี ๒๕๖๕ ฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ได้จัดทำหนังสือวันนักข่าว ประจำปี ๒๕๖๖ เป็นหนังสือรายงานประจำปีที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการข่าวและหนังสือพิมพ์ ตลอดจนรายงานกิจกรรมของสมาคม เนื้อหาหลักในปีนี้เน้นเรื่อง “๖๘ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ กับความท้าทายใหม่” มีนางสาวน.รินี เรืองหนู เป็นบรรณาธิการ และนายวรพล กิตติรัตวรางกูร เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ
๒.๔. กลุ่มงานเครือข่ายวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน ได้จัดสัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ ๑๗ ประจำปี ๒๕๖๕ เป็นการจัดรูปแบบอบรมเชิงปฏิบัติการวิชาการวิชาชีพสื่อสารมวลชน เพื่อสร้างสรรค์หลักสูตรวารสารศาสตร์แห่งอนาคต มีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งที่เป็นนักวิชาการและนักวิชาชีพสื่อมวลชนจำนวน ๔๐ คน โดยการจัดงานดังกล่าวเป็นแบบDesign thinking วิทยากรหลักคือ ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อาจารย์อภิสิทธิ์ ศุภกิจเจริญ คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ระดมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างวิชาชีพและวิชาการด้านสื่อมวลชน เพื่อหาแนวทางการพัฒนาหลักสูตรวารสารศาสตร์แห่งอนาคต สรุปเนื้อหาโดย ดร.สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล ที่ปรึกษาอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ
๒.๕. กลุ่มงานประกวดข่าว
๒.๕.๑ การประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทข่าวและภาพข่าวยอดเยี่ยม ประจำปี ๒๕๖๕ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ได้รับมอบหมายจากมูลนิธิอิศรา อมันตกุล ให้ดำเนินการจัดการประกวดข่าวและภาพข่าวยอดเยี่ยม รางวัลอิศรา อมันตกุล เพื่อเป็นการรำลึกถึงนายอิศรา อมันตกุล นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรกและนักหนังสือพิมพ์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ภาย ใต้กรอบจริยธรรม โดยดำเนินการจัดการประกวดมาตั้งแต่ ปี ๒๕๑๕ สำหรับในปี ๒๕๖๕ ถือเป็นปีที่ ๒ ที่ได้มีการเพิ่มประเภทการประกวดอีก ๒ ประเภท คือข่าวจากสื่อออนไลน์ และภาพข่าวจากสื่อออนไลน์
ในปี ๒๕๖๕ จึงมีการประกวด ๔ ประเภทรางวัลคือ ๑. ข่าวยอดเยี่ยมสำหรับสื่อหนังสือพิมพ์ ๒. ภาพข่าวยอดเยี่ยมสำหรับสื่อหนังสือพิมพ์ ๓.ข่าวออนไลน์ยอดเยี่ยมสำหรับสื่อออนไลน์ ๔.ภาพข่าวออนไลน์ยอดเยี่ยมสำหรับสื่อออนไลน์ มีผลงานข่าวส่งเข้าประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทข่าวหนังสือพิมพ์จำนวน ๓ ข่าว จากหนังสือพิมพ์ ๒ ฉบับ และส่งผลงานข่าวออนไลน์จำนวน ๓๓ ข่าว จากสำนักข่าวออนไลน์ ๗ แห่ง ภาพข่าวหนังสือพิมพ์ จำนวน ๒๗ ภาพ จากหนังสือพิมพ์ ๒ ฉบับ ภาพข่าวออนไลน์ ๑๐๙ ภาพ จากสำนักข่าวออนไลน์ จำนวน ๙ แห่ง
๒.๕.๒ การประกวดรางวัลข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๕ ของ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ สมาคมฯ ได้มอบหมายให้ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ดำเนินการจัดการประกวด ข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ซึ่งจัดการประกวดมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ สำหรับในปี ๒๕๖๕ ได้เปิดให้สื่อออนไลน์สามารถส่งผลงานร่วมประกวดรางวัลได้ด้วย มีผลงานข่าวส่งเข้าประกวดจำนวน ๑๔ ข่าว จากสื่อสิ่งพิมพ์และออนไลน์ จำนวน ๑๐ แห่ง
๒.๕.๓ การประกวดรางวัลพิราบน้อย ประจำปี ๒๕๖๕ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ มีมติให้งดการประกวดออกไปก่อน
๓. คณะอนุกรรมการฝ่ายสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์
ในปี ๒๕๖๕ คณะอนุกรรมการฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมพัฒนาและปรับปรุงสวัสดิการสมาชิก และขยายเครือข่ายความสัมพันธ์ไปยังองค์กรวิชาชีพสื่ออื่น ๆ แบ่งงานออกเป็น ๒ กลุ่มงาน คือ
๓.๑ กลุ่มงานสมาชิกสัมพันธ์
๓.๑.๑ โครงการบริจาคโลหิต สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ จัดกิจกรรมการบริจาคโลหิตขึ้นเป็นประจำทุกสามเดือน โดยในปี ๒๕๖๔ จัดเมื่อวันอังคารที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๕ (ครั้งที่ ๒๕) วันอังคารที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕ (ครั้งที่ ๒๖) และวันอังคารที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๕ (ครั้งที่ ๒๗) ณ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล
๓.๑.๒ เสวนา "สอนประวัติศาสตร์อย่างไรในวันที่เราบอกเด็กไทยให้มองไปข้างหน้า" สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ร่วมกับบริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรมเที่ยวชมสถานที่สำคัญรอบเกาะรัตนโกสินทร์ (แพร่งสรรพศาสตร์ วัดสุทัศน์ วัดราชบพิตร เสาชิงช้า) และเสวนา“สอนวิชาประวัติศาสตร์อย่างไร ในวันที่เราบอกเด็กไทยให้มองไปข้างหน้า” โดยมี คุณตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) และ ดร. วิทย์ สิทธิเวคิน วิทยากรผู้เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์ และเศรษฐกิจโลกมาร่วมเสวนา เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๕
๓.๑.๓ ท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อการศึกษาวิถีวัฒนธรรม ชุมชน เชิงประวัติศาสตร์(ตามรอยขุนช้างขุนแผน) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯร่วมกับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อการศึกษาวิถีวัฒนธรรม ชุมชน เชิงประวัติศาสตร์(ตามรอยขุนช้างขุนแผน)จังหวัดสุพรรณบุรี ไหว้พระ ๔ วัดสำคัญในจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมและเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคณะกรรมการ อนุกรรมการและคณะทำงานต่างๆของสมาคมฯ และเพื่อกระตุ้นส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศ เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖
๓.๒ กลุ่มงานเสริมสร้างศักยภาพสื่อ
๓.๒.๑ อบรมหลักสูตร “กัญชง-กัญชา ก้าวสู่เส้นทางสายเขียว” เป็นหลักสูตรที่ได้รับความอนุเคราะห์จาก “นางฟ้ากัญชา” เปิดโอกาสให้สมาชิกสมาคมฯเข้าร่วม กับนางฟ้ากัญชาและผู้เชี่ยวชาญ ในวันเสาร์ที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๕ ณ แคนนาบิซ เวย์ วัลเลย์ ต.คลองเรือ อ.วิหารแดง จ.สระบุรี
เนื้อหาหลักสูตรประกอบด้วย การขออนุญาตและข้อกฏหมายที่ควรรู้ ปลูกอย่างไรให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ลงมือปลูกกัญชงและกัญชาด้วยตนเอง ชิมสารพัดเมนูอาหารจากกัญชงและกัญชา และสร้างโอกาสทางธุรกิจจากกัญชงและกัญชา
๓.๒.๒ อบรมสร้างอาชีพสำหรับสื่อมวลชนหลักสูตร “ข้าวหมูแดงและชาเย็น” สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ โดยความร่วมกับ CPALL จัดอบรมสร้างอาชีพสำหรับสื่อมวลชนหลักสูตร “ข้าวหมูแดงและชาเย็น”เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพเสริมและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๕ ณ PIM Food Academy ถนนแจ้งวัฒนะ โดยอาจารย์เสาวกิจ ปรีเปรม เชฟผู้มีประสบการณ์การทำงานระดับมืออาชีพ อุปนายกสมาคมเชฟแห่งประเทศไทยคนแรก และเป็นผู้บริหารร้านอาหาร Chef’s Kitchen ให้เกียรติเป็นวิทยากร
๓.๒.๓ อบรมหลักสูตร “ครบเครื่องเรื่องการออมและลงทุน” และ หลักสูตร “ลงทุนหุ้นออนไลน์ด้วย Settrade Streaming” สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ โดยความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อบรมหลักสูตร “ครบเครื่องเรื่องการออมและลงทุน”และหลักสูตร “ลงทุนหุ้นออนไลน์ด้วย Settrade Streaming” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานด้านสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์ตามวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสร้างทักษะความรู้การออมและลงทุนหุ้น เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปบริหารการเงิน เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๕ ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
๓.๒ กลุ่มงานสวัสดิการสมาชิก
๓.๒.๑ ทุนการศึกษา สมาคมฯ มอบทุนการศึกษาให้กับบุตร-ธิดา สมาชิก โดยแบ่งทุนการศึกษาออกเป็น ๒ ประเภท คือ ๑) ทุนส่งเสริมการศึกษา เป็นการให้ทุนแบบรายปี โดยใช้งบประมาณจากกองทุนการศึกษาเพื่อบุตร-ธิดา สมาชิกสมาคมฯ มีผู้ได้รับการอนุมัติทุนการศึกษาจำนวน ๕๖ ทุน ทุนละ ๕,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๒๘๐,๐๐๐ บาท มีการจัดพิธีมอบเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕ และ ๒) ทุนต่อเนื่อง เป็นทุนที่มอบให้แบบต่อเนื่องตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-ระดับปริญญาตรี โดยได้รับการอนุเคราะห์ทุนการศึกษาจากมูลนิธิเอสซีจี ปีละ ๑๐ ทุน ต่อเนื่องเป็นปีที่ ๑๕ ปัจจุบันมีผู้รับทุนแล้ว ๑๕๔ คน
๓.๒.๒ ทุนการศึกษาซีพีเพื่อยุวชนครอบครัวคนข่าว ประจำปี ๒๕๖๕ เป็นทุนการศึกษาที่มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์มอบให้กับ ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ และสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย จำนวน ๑๐๐ ทุน ทุนละ ๑๐,๐๐๐ บาท โดยมีเงื่อนไขว่าผู้สมัครเข้ารับทุนต้องเขียนบทความเกี่ยวกับความกตัญญู จัดพิธีมอบทุนเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
๓.๒.๓ การมอบสินไหมมรณกรรมและการร่วมเป็นเจ้าภาพงานสวดพระอภิธรรมศพ สมาคมฯ ได้จัดทำประกันชีวิตกลุ่ม ให้กับ สมาชิกที่ชำระเงินค่าบำรุงประจำปีกับบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ในปี ๒๕๖๕-๒๕๖๖ มีทายาทของสมาชิกได้รับสินไหมมรณกรรมจาก บมจ. เมืองไทยประกันชีวิต ๓ คน โดยได้รับคนละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท (เสียชีวิตจากการเจ็บไข้ได้ป่วย) รวมเป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท
๓.๒.๔ สวัสดิการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก สมาคมฯมอบสวัสดิการผู้ป่วยในเป็นเงิน ๒๗,๐๐๐ บาท สวัสดิการผู้ป่วยนอกเป็นเงิน ๕๓,๕๘๑ บาท สวัสดิการผู้ป่วยในสำหรับสมาชิกอาวุโสเป็นเงิน ๒๖,๓๙๙ บาท และสวัสดิการผู้ป่วยนอกสำหรับสมาชิกอาวุโสเป็นเงิน ๔๐,๔๒๑ บาท
๓.๒.๕ โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสื่อมวลชนสำหรับสมาชิกสมาคมฯ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯได้รับความสนับสนุนจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ จัดทำโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสื่อมวลชนสำหรับสมาชิกสมาคมฯ ที่มีความประสงค์จะกู้เงินซื้อบ้าน ผ่อนคอนโด รีไฟแนนซ์ กับธอส. ในอัตราดอกเบี้ย ๒ ปีแรก ร้อยละ ๑.๙๙ ต่อปี
๓.๒.๖ แก้ไขระเบียบสวัสดิการสมาชิก มีการแก้ไขระเบียบสวัสดิการสมาชิกให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ครั้งที่ ๒ สมัยที่ ๒๒ ประจำวันอังคารที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ มีมติให้แก้ไขนิยามให้ชัดเจนขึ้นจากเดิมเป็น “สมาชิก” หมายความถึง สมาชิกสามัญหรือสมาชิกวิสามัญของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ที่ยังประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอยู่
๔. คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ
ในปี ๒๕๖๕ คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ดำเนินงานภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ๑๙ ทำให้กิจกรรมด้านการเยี่ยมเยือนต้องชะงักลง แต่มีบางกิจกรรมที่ได้ดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ ดังนี้
๔.๑ กลุ่มงานสร้างเครือข่ายวิชาชีพต่างประเทศ
๔.๑.๑ ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับเครือข่ายเสรีภาพสื่อสากล IFEX คณะผู้แทนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ประกอบด้วย นายมงคล บางประภา นายกสมาคมฯ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาคมฯ นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ และนส.วศินี พบูประภาพ อนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ เข้าร่วมการหารือทางออนไลน์กับนาย Milad Monfared ผู้ประสานงานเครือข่ายแลกเปลี่ยนเสรีภาพสากล หรือ “IFEX” ซึ่งมีที่ทำการอยู่ ณ ประเทศแคนาดา เพื่อสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ กับ IFEX หลังจากห่างเหินกันไปหลายปี เนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาดโคโรน่าไวรัส ซึ่งกระทบต่อการเดินทางและติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศ และมีการเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ มาแล้วหลายชุดด้วยกัน
สำหรับ IFEX ก่อตั้งขึ้น ณ ประเทศแคนาดาในปี ๒๕๓๕ เป็นความร่วมมือของเครือข่ายสื่อมวลชนและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศเป็นหนึ่งในองค์กรผู้ก่อตั้งรุ่นแรกด้วย ปัจจุบัน IFEX มีสมาชิกเครือข่ายกว่า ๑๐๐ องค์กรทั่วโลก มีภารกิจในการส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกและให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของเพื่อนสมาชิก
๔.๑.๒ ต้อนรับคณะสื่อมวลชนจาก สปป.ลาว สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว ให้การต้อนรับคณะสื่อมวลชนจาก สปป.ลาว จำนวน๗ คนนำโดยนายสะหวันคอน ราชมนตรี ประธานสมาคมนักข่าวแห่ง สปป. ลาว ในโอกาสมาเยือนไทยระหว่างวันที่ ๑๓-๑๗ กันยายน ๒๕๖๕ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และปรึกษาหารือถึงความร่วมมือต่างๆที่จะเป็นการช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนทั้งสองประเทศ
๔.๑.๒ ส่งสารแสดงความเสียใจต่อการจากไปของท่านสมสนุก มีไซ อดีตอุปนายกสมาคมนักข่าวแห่ง สปป.ลาว และผู้ตั้งหนังสือพิมพ์ Vientiane Times ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลของวงการสื่อมวลชนและอีกหลายๆ วงการของลาว อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญในการประกอบสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนลาว-ไทย ที่มีความแน่นแฟ้นมาจนทุกวันนี้ ผ่านท่านสะหวันคอน ราซมนตรี นายกสมาคมนักข่าวแห่ง สปป. ลาว เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๖
๔.๒. กลุ่มงานพัฒนาศักยภาพนักข่าว ในปี ๒๕๖๕ คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมฯ ได้จัดการอบรมขึ้น ๒ หลักสูตร
๔.๒.๑ อบรมหลักสูตร “มองจีนยุคใหม่ ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้” ครั้งที่ ๔ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) มีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้สื่อมวลชนไทยมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับจีนยุคใหม่และความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ได้อย่างครบถ้วน รอบด้าน อันจะนำไปสู่การรายงานข่าวให้สาธารณะรับทราบอย่างถูกต้อง กระชับความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนไทยกับหน่วยงานต่าง ๆที่เกี่ยวข้องระหว่างไทย-จีน และสร้างเครือข่ายระหว่างสื่อมวลชนไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มีสื่อมวลชนทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าร่วมอบรมจำนวน ๒๑ คน
แบ่งการจัดกิจกรรมในโครงการเป็น ๓ รูปแบบคือ
๑. เวทีสาธารณะ (Public Forum) การเสวนาสาธารณะหัวข้อ “สงครามการค้าจีน-สหรัฐ: ผลกระทบต่อไทยและอาเซียน” เป็นกิจกรรมเปิดตัวโครงการในวันแรกของการอบรม จัดเมื่อวันอังคารที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๕ ณ โรงแรมวี กทม.
๒. การรับฟังบรรยายจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในมิติต่าง ๆ ทั้งประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัจจุบัน วัฒนธรรม เศรษฐกิจ นวัตกรรม ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี BRI นโยบายของจีนที่ส่งผลกระทบต่อไทยและโลก ฯลฯ จัดเมื่อวันอังคารที่ ๒๑ - วันพุธที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๕ ณ โรงแรมวี กทม.
๓. การเดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (เวียงจันทน์ หลวงพระบาง) เพื่อศึกษาดูงานและทดลองนั่งรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางที่เชื่อมไปยังจีน พร้อมการนัดหมายพบปะพูดคุยกับผู้รับผิดชอบโครงการทั้งตัวแทนจากลาวและจีน และศึกษาดูงานองค์กรสื่อ จัดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๘ – วันพุธที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๕
๔.๒.๒ อบรมอบรมหลักสูตรเรียนภาษาจีนเบื้องต้น (ไม่มีพื้นฐาน) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมประเทศจีนเปิดการอบรมหลักสูตรเรียนภาษาจีนเบื้องต้น (ไม่มีพื้นฐาน) โดยเป็นการเรียนออนไลน์ผ่านระบบซูม ทุกวันเสาร์ เวลา ๑๐.๐๐-๑๒.๐๐ น. อาจารย์จากศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ ชื่ออาจารย์จาง หรือจางเหล่าซือ เป็นอาจารย์ผู้สอนเริ่มเรียนครั้งแรกวันเสาร์ที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๕
รวมทั้งได้มีพิธีมอบใบประกาศนียบัตรให้กับสื่อมวลชนที่จบการอบรมหลักสูตรภาษาจีนชั้นสูงสำหรับผู้สื่อข่าวไทยจำนวน ๑๒ คน เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๖ ณ ร้านอาหารจีน "เฉาเซียง" โรงแรมเดอะทราเวลเลอร์
๕. คณะกรรมการอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ
ในปี ๒๕๖๕ คณะอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ สมาคมฯ ได้จัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่เป็นการประสานความร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพสื่อและกิจกรรมที่ประสานความร่วมมือกับองค์กรภายนอก แบ่งงานออกเป็น ๒ กลุ่มงานดังนี้
๕.๑ กลุ่มงานระดมทุน
๕.๑.๑ งาน TJA Talk สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ จัดงาน TJA Talk ขึ้นเป็นประจำในวันที่ ๕ มีนาคมของทุกปีมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด ๑๙ จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบงานจากงานดินเนอร์ทอล์ค เป็นงาน TJA Talk(จัดช่วงเช้า ไม่มีการบริการอาหาร) โดยจัดรูปแบบนี้ขึ้นเป็นปีที่ ๒ เมื่อวันเสาร์ที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๕ ณ ห้องคอนเวนชั่น ฮอลล์ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส) หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ สี จิ้น ผิง เขย่าโลก : ไทยจะอยู่อย่างไร?” โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย(APRC) และกรรมการการประชุมโบอ่าวแห่งเอเชีย(Boao Forum for Asia)
๕.๑.๒ หนังสือวันนักข่าว สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ จัดทำหนังสือวันนักข่าว ซึ่งเป็นหนังสือรายงานประจำปีเผยแพร่ทุกวันที่ ๔ มีนาคม นอกจากจะเป็นการรายงานผลการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมฯ แล้ว ยังได้รวบรวมผลการประกวดข่าวประเภทต่างๆ ของสมาคมฯ เอาไว้ด้วย ในปี ๒๕๖๕ สมาคมฯ ได้มอบหมายให้บริษัท นักทุ่งเที่ยว จำกัด เป็นผู้ดำเนินการการจัดหาโฆษณา โดยเนื้อหาหลักในปีนี้เน้นเรื่อง “๖๘ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ การดำรงอยู่ภายใต้ความท้าทายใหม่”
๕.๒ กลุ่มงานบริหารจัดการ
๕.๒.๑ สัมนายุทธศาสตร์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯภายใต้ธีม TJA Team Building เมื่อวันเสาร์ที่ ๙ - วันอาทิตย์ที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ณ โรงแรมนครริมขอบฟ้า เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ โดยการสนับสนุนด้านที่พักอาหารและการเที่ยวชมเมืองโบราณ จากบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด ผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยคณะกรรมการบริหาร อนุกรรมการ และคณะทำงานฝ่ายต่างๆของสมาคมฯจำนวน ๓๐ คน
๕.๒.๒ การจัดระบบการเงิน สมาคมฯ ได้นำระบบ Digital Banking Platform มาใช้เพื่อจัดระบบการเงินของสมาคมฯผ่านบริการ SCB Business Anywhere เพื่อความสะดวกในการจ่ายเงินและตรวจสอบรายการจ่าย เป็นปีที่ ๒
๕.๒.๓ การสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ สถานีวชิรพยาบาลที่กระทบต่อการดำเนินงานในอาคารสมาคมฯ
ตามที่ได้มีประกาศใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่...เขตตุสิต ... กรุงเทพมหานครฯ พ.ศ. ๒๕๖๓ เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้การเข้าครอบครองและใช้อสังหาริมทรัพย์ก่อนการเวนคืน ในกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน
ปรากฏว่าพื้นที่บริเวณด้านหน้าอาคารสมาคมฯ จากแนวริมฟุตปาธเข้ามาจนติดตัวอาคารจะถูกเวนคืนเพื่อก่อสร้าง๑ ใน ๔ ทางออกของสถานีรถไฟฟ้าสถานีวชิรพยาบาล ระหว่างก่อสร้างจะถอดหน้ากากอาคาร (Facade) ออกเป็นการชั่วคราว รวมทั้งกิจการร่วมค้าซีเคเอสที-พีแอล (ประกอบด้วย บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ขอเข้าใช้พื้นที่อาคารสมาคมฯ ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ ๒-๓ ปี องค์กรวิชาชีพสื่อจึงจำเป็นต้องย้ายออกจากอาคารสมาคมฯ เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ ๓ มกราคม ๒๕๖๖ เป็นต้น โดยแต่ละองค์กรมีอาคารที่ทำการชั่วคราว ดังนี้
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ย้ายไปที่ อาคารบางซื่อจังชั่น ชั้น ๗ (ศูนย์นวัตกรรมและความรู้ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี) เลขที่ ๕๑๑ ถนนกำแพงเพชร ๒ แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐ โทรศัพท์ ๐-๒๖๖๘-๙๔๒๒ อีเมล tjareporter@gmail.com
สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ย้ายไปที่ ห้องบุษบงกช ซี โรงแรมรอยัลริเวอร์ (สะพานกรุงธน) เลขที่ ๒๑๙ ซอยจรัญสนิทวงศ์ ๖๖/๑ ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทรศัพท์ ๐-๒๖๖๘-๙๙๐๐ และ ๐๘-๘๒๕๔-๓๔๓๔ อีเมล info@presscouncil.or.th เพจเฟซบุ๊ก สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และสำนักข่าวอิศรา ย้ายไปที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ (สะพานกรุงธน) เลขที่ ๒๑๙ ซอยจรัญสนิทวงศ์ ๖๖/๑ ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ สถาบันอิศรา โทรศัพท์ ๐-๒๒๔๑-๓๙๐๕ และ ๐-๒๒๔๑-๓๙๐๖ สำนักข่าวอิศรา โทรศัพท์ ๐-๒๒๔๑-๓๑๖๐ และ ๐-๒๒๔๑-๓๑๖๑
สำหรับการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ ๑๑ ของสถาบันอิศรา จะใช้ห้องบงกชรัตน์ B ชั้น ๒ โรงแรมรอยัลริเวอร์ (สะพานกรุงธน)
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ย้ายไปที่ สันนิบาตสหกรณ์ โทรศัพท์ ๐๘-๖๕๒๒-๔๒๘๘
ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำงานแบบ Work From Home โทรศัพท์ ๐-๒๒๔๓-๘๙๘๘
ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ย้ายไปที่ย่านพหลโยธิน ๓๕ โทรศัพท์ ๐๙-๖๓๕๘-๗๙๙๓
๕.๓ กลุ่มงานประสานความร่วมมือกับองค์กรภายนอก
๕.๓.๑ จัดงาน TALKS “Streaming ให้โปรและปังด้วยพลัง content” ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ และศูนย์ศึกษาสื่อและการสื่อสารอาเซียน (AMSAR) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕ ๖๕ ณ ห้อง ๙๗๐๑ อาคาร ๙ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยในงานมี content creator ระดับแนวหน้าของเมืองไทยมาร่วมพูดคุย อาทิ ดร.เจล CEO น้อยร้อยล้าน, Powerpuff Gay และ พี่เฮง หนังหน้าโรง
๕.๓.๒ เวทีสนทนากลุ่ม (Focus group) หัวข้อ "การสร้างเครือข่ายความร่วมมือสื่อมวลชนระดับผู้บริหารเพื่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย Thailand Data Journalism Network (TDJ) หรือ ดาต้าเจ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) จัดเวทีสนทนากลุ่ม (Focus group) หัวข้อ "การสร้างเครือข่ายความร่วมมือสื่อมวลชนระดับผู้บริหารเพื่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” ที่ห้องอิศรา อมันตกุล ชั้น ๓ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕
บรรยากาศการสนทนาเป็นการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สะท้อนปัญหาและแนวทางแก้ไขในสถานการณ์ปัญหาความรุนแรง การโจมตีไซเบอร์ (cyber–attack) ของทั่วโลกและประเทศไทยในมิติต่างๆ รวมทั้งในองค์กรสื่อมวลชนเองที่ประสบปัญหาจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วยเช่นกัน
๕.๓.๓ อบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะการเพิ่มรายได้ผ่าน Online Platform สำหรับสื่อมวลชนลาว โดยความร่วมมือกับสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์และสมาคมนักข่าวแห่ง สปป.ลาว เพื่อให้สื่อมวลชนลาวมีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจการหารายได้ผ่านออนไลน์แพลตฟอร์ม ตลอดจนเข้าใจวิธีการผลิตเนื้อหาที่สามารถสร้างรายได้ในแต่ละแพลตฟอร์ม รูปแบบการอบรมเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้สื่อมวลชนลาวมีโอกาสในการแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยน พัฒนาทักษะได้อย่างเต็มที่ สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปปรับใช้ได้กับการปฏิบัติงานจริง จัดเมื่อวันที่ ๒๔- ๒ ๖ กรกฎาคม ๒๕ ๖๕ ณ เมืองวังเวียง แขวงเวียงจันทร์ สปป.ลาว มีสื่อมวลชนลาวเข้าร่วมอบรมจำนวน ๓ ๐ คน
๕.๓.๔ กิจกรรม “เรียนรู้อิสราเอล ผ่านวัฒนธรรมอาหารอิสราเอล” หรือ “Israel’s Diversity: Stories Behind the Dishes” สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ โดยความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย จัดกิจกรรม “เรียนรู้อิสราเอล ผ่านวัฒนธรรมอาหารอิสราเอล” หรือ “Israel’s Diversity: Stories Behind the Dishes” ณ ร้านอาหาร Helena ซอยสุขุมวิท ๔๙ มีคณะสื่อมวลชน, ผู้แทนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ และคณะทำงานจากสถานทูตอิสราเอล เข้าร่วมกว่า ๔๐ คน เมื่อวันศุกร์ที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๕ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมความเข้าใจประเทศอิสราเอลด้วยการเริ่มต้นที่ “อาหาร” เพราะอาหารอิสราเอลสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และเรื่องราวต่างๆของชาวอิสราเอลได้เป็นอย่างดี
๕.๓.๕ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในนาม ๗ องค์กรวิชาชีพสื่อกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาวิชาชีพ ส่งเสริมจริยธรรมสื่อ และสร้างระบบนิเวศสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕ ๖๕ ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ
๗ องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สถาบันอิศรา สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย
๕.๓.๖ อบรมเชิงปฏิบัติการ “การรายงานข่าวเพื่อช่วยลดการกระทำความผิดซ้ำ” สมาคมฯ ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย TIJ จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การรายงานข่าวเพื่อช่วยลดการกระทำความผิดซ้ำ”รุ่นที่ ๒ โดยมีวัตถุประสงค์ให้สื่อมวลชนที่เข้าร่วมกิจกรรม ได้ทราบ ตระหนัก และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันถึงความสำคัญจำเป็นและหลักการของการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่อาจจะมีส่วนช่วยลดการกระทำความผิดซ้ำ และนำไปสู่การบรรเทาปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ และปัญหาที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ทั้งภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ และการตีตราทางสังคมต่อผู้พ้นโทษต่อไป มีสื่อมวลชนเข้าร่วมอบรม ๑๕ คน จัดระหว่างวันศุกร์ที่ ๑๖ - วันอาทิตย์ที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๕ ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ไซต์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หลังจากการอบรม มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่สนใจประเด็น “การรายงานข่าวเพื่อช่วยลดการกระทำผิดซ้ำ” นำเสนอแนวคิดเพื่อรับทุนในการผลิตผลงานเผยแพร่ จำนวน ๕ ทุน
๖. คณะกรรมการอนุกรรมการฝ่ายกิจกรรมพิเศษ
๖.๑ พิธีการลงนามความร่วมมือด้าน “การขับเคลื่อนนวัตกรรมและกำลังคนเพื่อสื่อสร้างสรรค์” เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดย บพค. กับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) และ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์เเห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยด้วยกำลังคน การวิจัยและนวัตกรรม โดยการสนับสนุนการพัฒนาสมรรถนะของบุคลากร นวัตกรรม และระบบนิเวศเพื่อสื่อสร้างสรรค์ สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์และอุตสาหกรรมสื่อ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและผลักดันความเป็นไทยสู่สากล เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๕ ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม (Impact Forum) เมืองทองธานี