รายงานกิจกรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯสมัยที่ ๒๒ ประจำปี ๒๕๖๖

คณะกรรมการบริหาร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมัยที่ ๒๒ ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๕ - ๔ มีนาคม ๒๕๖๗ ได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานไว้ ๒ ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์หลักที่ ๑ พัฒนาศักยภาพสื่อมวลชน ให้เห็นโอกาส เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในวิชาชีพด้วยการเพิ่มทักษะและองค์ความรู้ที่หลากหลาย ทันกับภูมิทัศน์สื่อและเทคโนโลยี รองรับอุตสาหกรรมสื่อที่เปลี่ยนแปลง  แต่ไม่ทิ้งหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และการใช้เสรีภาพให้อยู่บนความรับผิดชอบ  ยุทธศาสตร์หลักที่ ๒ พัฒนาและสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อแสวงหาความร่วมมือ องค์ความรู้ รูปแบบต่างๆที่เหมาะสมกับภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลง เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพร่วมกัน

ในปี ๒๕๖๖ คณะกรรมการบริหาร สมาคมฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ ทำหน้าที่ในการดำเนินกิจกรรมตามยุทธศาสตร์ข้างต้น โดยแบ่งออกเป็น ๖ คณะอนุกรรมการ ดังนี้

๑) คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ

๒) คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ

๓) คณะอนุกรรมการฝ่ายสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์

๔) คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ

๕) คณะอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ

๖) คณะอนุกรรมการฝ่ายกิจกรรมพิเศษ

๑. คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ

ในปี ๒๕๖๖ คณะอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ได้กำหนดแผนงานและภารกิจประจำปี ๒๕๖๖ โดยรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้

๑. ปกป้องสิทธิเสรีภาพสื่อ

 เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ที่กระทบต่อเสรีภาพสื่อมวลชน เพื่อหารือและกำหนดแนวทางดำเนินการในวาระต่างๆ ตามช่องทางและระดับขั้นที่เหมาะสม ทั้งในพื้นที่ส่วนกลางและภูมิภาค, รณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพสื่อซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามหลักการ “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน”, พิจารณาเปิดช่องทางการร้องเรียนสำหรับสื่อมวลชนที่พบเห็นการละเมิดสิทธิหรือริดรอนเสรีภาพสื่อ

๒. ยกระดับวิชาชีพสื่อมวลชน

สื่อสารไปยังสำนักข่าวต่างๆ ให้ใส่ใจสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในภาคสนาม ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาอุปกรณ์เซฟตี้ที่เหมาะสม อบรมความปลอดภัยในการทำข่าว ดูแลผลกระทบที่เกิดจากการทำงานไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต ฯลฯ, จัดการอบรมและโครงการต่างๆ ที่เพิ่มพูนความรู้ความสามารถของสื่อมวลชนไทย ขณะเดียวกันก็ชี้แนะแนวทางการรายงานข่าวที่ยึดมั่นหลักจริยธรรม เป็นธรรม และเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนส่วนรวม

๓. แสวงหาพันธมิตรหลากหลายองค์กร

รุกเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ เอ็นจีโอ องค์กรระหว่างประเทศ สถานทูต ตลอดจนกลุ่มสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เพื่อทำโครงการอบรมหรืออีเวนต์ร่วมกัน ขอคำปรึกษา ขอทุนสนับสนุนสำหรับกิจกรรม ฯลฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาวิชาชีพสื่อ และเสริมสร้างภาพลักษณ์ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯในฐานะตัวกลางระหว่างสื่อมวลชนกับภาคส่วนต่างๆของสังคม

โดยในปี ๒๕๖๖ แบ่งงานออกเป็น ๓ กลุ่มงานดังนี้

๑.๑ ปกป้องสิทธิเสรีภาพสื่อ

๑.๑.๑ โครงการวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) เป็นโครงการต่อเนื่องที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกวันที่ ๓ พฤษภาคม เนื่องจากเป็นวันที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้เสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ ประกาศให้วันที่ ๓ พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก ซึ่งก็คือเสรีภาพในการแสดงออก ตั้งแต่เมื่อปี ๒๕๔๓ โดยในปี ๒๕๖๖ สมาคมฯ ร่วมรณรงค์ภายใต้หัวข้อ“เสรีภาพสื่อ เสรีภาพประชาชน” (Media Freedom is Our Freedom  โดยจัดกิจกรรมเนื่องวันดังกล่าวประกอบด้วย

๑. ประกวดภาพถ่ายและวิดีโอสั้น แบ่งการประกวดออกเป็น ๒ ประเภท คือ ๑.ประกวดภาพถ่าย หัวข้อ “เสรีภาพสื่อ เสรีภาพประชาชน” และ  ๒.วิดีโอสั้นบนแพลตฟอร์ม Tiktok หัวข้อ “#ชีวิตคนทำงานสื่อ” 

๒. จัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกร่วมกับ UNESCO และองค์กรวิชาชีพสื่อ ภายใต้ธีม “เสรีภาพสื่อ เสรีภาพประชาชน” ในวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ณ ห้องบอลรูม ชั้น ๗ อาคารบางซื่อจังชั่น 

กิจกรรมในงานประกอบด้วย การกล่าวสุนทรพจน์จากผู้แทนจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) การเสวนาในหัวข้อ “สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ในมุมมองพรรคการเมืองไทย” พิธีมอบรางวัลผลการประกวดภาพและการประกวดคลิป TikTok รวมทั้งการออกแถลงการณ์ “เสรีภาพในการแสดงออก คือบ่อเกิดแห่งสิทธิมนุษยชนทั้งปวง”(Freedom of expression as a driver for all other human rights)  ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์

๑.๑.๒ ศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม (ศปสช.)   ปีที่ ๔ (ก่อตั้งเมื่อกันยายน ๒๕๖๓)  สมาคมฯ ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย จัดตั้งศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม (ศปสช.)  เพื่อทำหน้าที่ประสานงาน ด้านการรักษาความปลอดภัยและด้านอื่น ๆ ที่จำเป็น และเพื่อให้การประสานงานระหว่างสื่อมวลชนกับฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ได้มีการปรับปรุง  "ปลอกแขนสื่อมวลชน" ให้ใช้งานได้อย่างสะดวก และสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน แจกจ่ายให้กับองค์กรสื่อที่ต้องส่งบุคคลากรไปลงพื้นที่ทำข่าว โดยเริ่มแจกจ่ายตั้งแต่วันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕  ปัจจุบัน นายชำนาญ ไชยศร อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมฯ เป็นผู้อำนวยการ  ต่อจากนายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ที่ลาออกจากตำแหน่งเมื่อ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๖

๑.๑.๓ จัดทำรายงานสถานการณ์สื่อประจำปี ในปี ๒๕๖๖ สมาคมฯให้นิยามว่าเป็น  “ปีแห่งการปรับตัวของสื่อ”  เป็นปีที่สื่อมวลชนยังตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ “ปรับเปลี่ยน: ปรับตัว” จากการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  โดยในปีนี้ นับเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรอบ ๙ ปี จากรัฐบาล “พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” มาเป็นรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ซึ่งเป็นผลจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ทำให้สื่อมวลชนหลายสำนักค่อยๆ ปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเน้นเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์และเฉพาะเจาะจงเพื่อเข้าให้ตรงถึงกลุ่มเป้าหมายผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งของตัวเองและโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้และความอยู่รอด

๑.๑.๔ การออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อสถานการณ์ต่างๆที่คุกคามการทำหน้าที่สื่อมวลชน โดยครอบคลุมการข่มขู่หรือคุกคามสื่อในรูปแบบต่างๆ และทำหน้าที่เฝ้าระวังให้แก่สื่อทุกประเภท ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลัก สื่อกระแสรอง หรือสื่อฟรีแลนซ์ 

ตัวอย่างเหตุการณ์คุกคามสื่อที่อนุกรรมการฝ่ายสิทธิ์ฯได้เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสอบสวนและชี้แจง เช่น แถลงการณ์ให้หยุดข่มขู่คุกคามจากการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน และเรียกร้องให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เร่งติดตามจับกุมคนร้ายมาลงโทษตามกฎหมายโดยเร็ว จากเหตุการณ์ที่นายเฉลิมชัย ศิรินันทวิทยา บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์รายวันทันหุ้น ถูกคนร้ายไม่ทราบจำนวนนำกล่องพัสดุส่งมายัง “บริษัททันหุ้น” จ่าหน้าถึงนายเฉลิมชัย ศิรินันทวิทยา บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์รายวันทันหุ้น เมื่อเปิดกล่องพัสดุภายในกล่องพบมีรูปบุตรชายของนายเฉลิมชัย ศิรินันทวิทยา พร้อมด้วยกระสุนปืนไม่ทราบชนิด/ขนาด และระบุข้อความข่มขู่ เมื่อ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๖ 

นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับ ๗ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย และสมาพันธ์สื่อมวลชนแห่งประเทศไทย แสดงจุดยืนต่อสาธารณะกรณีที่รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่ามีการจ่ายเงินให้สื่อมวลชนเพื่อเป็นค่าข่าว และช่วยเหลือด้านต่างๆ เนื่องจากเห็นว่านักข่าวเงินเดือนน้อย ๗ องค์กรวิชาชีพสื่อเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเรียกร้องให้ต้นสังกัดตรวจสอบข้อเท็จจริง และแสดงจุดยืนว่าสื่อมวลชนที่รับเงินจากแหล่งข่าวเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการใดๆ ถือเป็นเรื่องที่ละเมิดจริยธรรมวิชาชีพอย่างร้ายแรง ไม่สามารถยอมรับได้

กรณีนักข่าวสำนักข่าวประชาไท และช่างภาพอิสระ ถูกตำรวจจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาลงวันที่ ๒๒พฤษภาคม ๒๕๖๖ ในข้อหาเป็นผู้สนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหายจากการขีดเขียนข้อความ และถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ แสดงความกังวลถึงการตั้งข้อกล่าวหาว่า “ร่วมสนับสนุนการกระทำผิดในคดีอาญา” จะเป็นการบั่นทอนต่อสิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปทำหน้าที่รายงานข่าวทั้งในเหตุการณ์ที่เป็นเชิงบวกและเชิงลบต่อสังคม ทำให้โอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงได้

นอกจากนี้ ยังได้แสดงท่าทีต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนมีความสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดจริยธรรมของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติที่ระบุว่า “สื่อมวลชนพึงละเว้นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เว้นแต่กรณีเพื่อประโยชน์สาธารณะ” ในกรณีที่สื่อมวลชนหลายสำนักเกาะติดรายงานข่าว “ชายพิการวัย ๔๘ ปีโดนตัดสิทธิเบี้ยคนพิการ” โยกรถสามล้อจาก จ.สุโขทัย เข้ากรุงเทพฯเพื่อยืนยันสิทธิ์ที่กรมบัญชีกลาง จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิความเป็นตัวส่วนตัวของแหล่งข่าวที่ยืนยันว่าขอพื้นที่ความเป็นส่วนตัวเพราะไม่ต้องการเป็นข่าว

๑.๑.๕ กสม. ชี้ กรณีเจ้าหน้าที่ คฝ. ใช้ความรุนแรงสกัดกั้นผู้ชุมนุม “ราษฎรหยุด APEC 2022” เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม และกระทบการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน (เมื่อ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๖) ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ ผู้แทนจาก ๖ องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เข้าพบ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อยื่นหนังสือให้ กสม. ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสื่อมวลชนอย่างน้อย ๔ คน ได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมกลุ่ม “ราษฎรหยุด APEC” บริเวณถนนดินสอ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕

๑.๑.๖ ร้องเรียน ‘ผบ.ตร.’  ในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ๒ จำนวนเรื่องด้วยกัน เรื่องที่หนึ่ง  ติดตามคืบหน้าจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล เรื่องขอให้เปิดเผยผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตลอดจนมาตรการเยียวยาต่อสื่อมวลชนที่ได้รับบาดเจ็บ จากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในช่วงเหตุการณ์ปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกลุ่ม “ราษฎรหยุด APEC 2022” กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ  และเรื่องที่สอง ขอให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง สมาคมนักข่าวฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพข่าวจากสื่อออนไลน์ 'Space Bar’ ระบุว่า ตนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งนำกำลังมาเฝ้าสะกดรอบตามและสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดถึงที่คอนโดมิเนียมที่พัก  โดยเร็ว เพื่อให้เกิดความกระจ่างและโปร่งใสต่อทุกฝ่าย โดยมีพ.ต.อ.อุรัมพร ขุนเดชสัมฤทธิ์ ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ ๕ กองบังคับการอำนวยการตำรวจนครบาล เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน  ( เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๖)

๑.๑.๗ ตรวจสอบกรณีสำนักข่าวต่างประเทศในช่องทางโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกช่องหนึ่งถูกระงับสัญญาณ ตามที่ปรากฎในสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียจำนวนหนึ่งว่าช่องรายการของสถานีโทรทัศน์ที่เป็นสำนักข่าวต่างประเทศในช่องทางโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกช่องหนึ่งถูกระงับสัญญาณเป็นบางช่วง โดยเฉพาะการรายงานข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งในประเทศไทย พบว่าสถานีข่าวของต่างประเทศที่ออกอากาศ อย่างน้อย ๕ สำนัก ถูกระงับสัญญาณขณะรายงานข่าวการเลือกตั้งในประเทศไทย ได้แก่ CNN, BBC, Al Jazeera, NHK และ ABC Australia นอกจากนี้ ยังพบว่าสัญญาณภาพข่าวของสื่อดังกล่าวบนช่องดังกล่าว มีการล่าช้า (ดีเลย์) ประมาณ ๔-๕  นาทีอีกด้วย จึงขอเสนอให้ดำเนินการตรวจสอบและชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะ เพื่อสร้างความกระจ่างโดยเร็ว

๑.๒ ยกระดับวิชาชีพสื่อมวลชน

๑.๒.๑ เสวนาวิชาการ “มรรยาททนาย และข้อควรระวังต่างๆ ที่สื่อมวลชนพึงทราบ” สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ พร้อมด้วยสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ และสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ  เล่งเห็นว่าในปัจจุบัน ผู้ประกอบอาชีพทนายความและผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นทนายความจำนวนหนึ่ง ได้รับพื้นที่และความสนใจจากสื่อมวลชนจำนวนมาก โดยเฉพาะในธุรกิจโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ ทำให้เส้นแบ่งระหว่างอาชีพทนายความและ “ผู้มีอิทธิพลทางความคิด (influencer)” เริ่มจางหายไป ในหลายกรณีหมิ่นเหม่ที่จะกลายเป็นการละเมิดมรรยาททนายความ และกระทบต่อจริยธรรมของสื่อมวลชนเสียเอง จึงได้มีมติร่วมกันจัดเสวนาวิชาการ “มรรยาททนาย และข้อควรระวังต่างๆ ที่สื่อมวลชนพึงทราบ”   เมื่อ ๖ เมษายน  ๒๕๖๖  ณ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ 

๑.๒.๒ อบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างจริยธรรมและพัฒนาศักยภาพ สำนักข่าวขนาดเล็กเพื่อความยั่งยืน”: Media Entrepreneur Workshop ๑๐๑” รุ่นที่ ๒  จัดเมื่อ ๒๖-๒๘  มกราคม ๒๕๖๗  ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัสแวนด้าแกรนด์ โดยการจัดอบรมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของสื่อขนาดเล็กให้มีความแข็งแกร่งทั้งด้านเนื้อหาและด้านทุนทางเศรษฐกิจ  เพื่อเป็นแหล่งบ่มเพาะความหลากหลายและนวัตกรรมให้งอกงามในภูมิทัศน์สื่อไทย ภายใต้กลไกตลาดและการควบรวมของสื่อขนาดใหญ่ในศตวรรษที่ ๒๑

ตลอดการอบรมทั้ง ๓ วัน ผู้เข้ากิจกรรมได้เรียนรู้ทักษะและประสบการณ์ต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการทำงานด้านสื่อมวลชน และหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนสำนักข่าวของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น จริยธรรมและจรรยาบรรณสื่อตามหลักสากล, การผลิตข่าวอย่างมีคุณภาพเบื้องต้น, ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมสื่อ, ที่มาของแหล่งรายได้ และการเข้าถึงแหล่งทุนในรูปแบบต่างๆ  มีสื่อมวลชนเข้าร่วมการอบรมจำนวน ๑๘ คน 

๑.๒.๓ อบรมเชิงปฏิบัติการ “การปฏิบัติงานข่าว : กรณีการชุมนุมทางการเมือง จัดเมื่อ ๒๖-๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๗  ณ โรงแรมไมด้าแกรนด์ ทวารวดี จ.นครปฐม เป็นการจัดร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญในความปลอดภัยและสวัสดิภาพของสื่อมวลชน ที่ต้องเข้าพื้นที่รายงานข่าวในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่มีแนวโน้มขัดแย้งรุนแรงนำไปสู่ภาวะวิกฤต ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีองค์ประกอบจากหลายฝ่าย มีความเสี่ยงที่จะได้รับความสูญเสียทั้งร่างกาย และทรัพย์สิน รวมทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันมีสาธารณภัยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และให้สื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและจัดการกับข่าวปลอม (Fake News)  สกัดกั้นวาทกรรมที่เพิ่มความขัดแย้งให้กับสังคม ด้วยวิธีการนำเสนอข่าวอย่างมืออาชีพภายใต้กรอบจริยธรรม จรรยาบรรณ อีกทั้งในขณะที่วงการสื่อสารมวลชนเข้าสู่ยุคดิจิทัลมีเกิดสื่อใหม่ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ขณะที่สื่อดั้งเดิม ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ต้องปรับตัวสู่ออนไลน์ไปในรูปแบบการหลอมรวมสื่อ

๑.๒.๔ อบรมหลักสูตรการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งและภัยพิบัติ หรือ Safety Training รุ่นที่ ๑๒  ระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๕ ตุลา ๒๕๖๖ ณ Montoro Resort หนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี  เพื่อการเตรียมตัวและวางแผนก่อนลงพื้นที่ปฏิบัติงานข่าวอย่างปลอดภัย  รวมทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันมีสาธารณภัยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และให้สื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและจัดการกับข่าวปลอม (Fake News) จึงมีการเพิ่มหลักสูตรการรายงานข่าวในสถานการณ์ภัยพิบัติ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นข่าวที่มีความขัดแย้งแฝงอยู่ด้วย เพื่อให้นักขาวสามารถมองลงพื้นที่ทำข่าวภัยพิบัติได้อย่างปลอดภัย รายงานได้รอบด้าน มีองค์ความรู้ในการรายงานเพื่อช่วยเตือนภัยและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงช่วยให้สังคมได้เห็นประเด็นความขัดแย้งที่ซ่อนอยู่ในภัยพิบัติได้มากขึ้น สกัดกั้นวาทกรรมที่เพิ่มความขัดแย้งให้กับสังคม ด้วยวิธีการนำเสนอข่าวอย่างมืออาชีพภายใต้กรอบจริยธรรม 

ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย บมจ.วิริยะประกันภัย สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย และสร้างสรรค์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทีมกู้ชีพทางน้ำ ใจถึงใจ และสถานีโทรทัศน์ PPTV ช่อง ๓๖ ที่นำเสื้อชูชีพของสถานีมาสนับสนุนการอบรมทางน้ำ มีสื่อมวลชนทุกแขนงทั้งจากส่วนกลางและภูมิภาคเข้าร่วมอบรม ๓๐ คน 

๑.๓ แสวงหาพันธมิตรหลากหลายองค์กร

๑.๓.๑ เข้าพบรองโฆษกประจำสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พร้อมด้วยทีมงาน นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ และนายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพสื่อ สมาคมฯ เข้าพบนายสเปนเซอร์ แอนเดอร์สัน (Spencer Anderson) รองโฆษกประจำสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พร้อมด้วยทีมงาน  ณ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ถนนวิทยุ  เพื่อแนะนำตัวและหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างทั้งสององค์กร ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิเสรีภาพสื่อในประเทศไทย โดยเฉพาะภาพรวมการทำงานของสื่อมวลชนในช่วงการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะจัดโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อยกระดับศักยภาพทางวิชาชีพของสื่อมวลชนไทย และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เมื่อ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๖  

๑.๓.๒ หารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับองค์กรต่างๆ ในรูปแบบไม่เป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ภาครัฐ กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในด้านต่างๆ ตลอดจนหน่วยงานระหว่างประเทศที่ประจำในประเทศไทย และเจ้าหน้าที่การทูต เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูล กระชับความสัมพันธ์ ศึกษาความเป็นไปได้ในความร่วมมือ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์หรือปัญหาสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในประเทศไทย 

๒. คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ

ในปี ๒๕๖๖  คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมฯ แบ่งงานออกเป็น ๕  กลุ่มงาน คือ

๒.๑. ด้านการอบรม สมาคมฯ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ๑  หลักสูตร คือ

๒.๑.๑ การอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพิราบน้อยรุ่นที่ ๒๖ เป็นโครงการต่อเนื่องจัดขึ้นเป็นปีที่ ๒๖ ซึ่งหากนับถึงปัจจุบันมีนักศึกษาที่ผ่านการอบรมกว่า ๑,๐๐๐ คนแล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพสื่อสารมวลชน (Professional Development) ความรับผิดชอบต่อจริยธรรมในวิชาชีพ (Ethics Responsibility)  และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะองค์กรเพื่อสังคม (Organizational Social Responsibility) ซึ่งนักศึกษาที่เข้าร่วมอบรมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งกับเพื่อนนักศึกษาจากต่างสถาบันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักข่าวรุ่นพี่ที่ทำงานทั้งในภาคสนาม และสร้างประสบการณ์ในวิชาชีพสื่อและ เป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มนักศึกษาด้านสื่อมวลชน  อันเป็นการเตรียมพร้อมในการเข้าสู่วิชาชีพ นอกจากนี้ยังเป็นกระบวนการปลูกฝังอุดมคติให้กับนักศึกษาด้วย 

โดยในรุ่นที่ ๒๖  มีนักศึกษาที่เรียนด้านนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชนและสาขาวิชาอื่นๆ จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วมอบรมจำนวน ๓๖ คน จาก ๑๗ สถาบัน จัดเมื่อ ๑ - ๓ กุมภาพันธ์  ๒๕๖๗   โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

๒.๒ กลุ่มงานเสวนาและสื่อสารสาธารณะ ได้มีการจัดทำโครงการในกลุ่มงานเสวนาและสื่อสารสาธารณะ จำนวน ๔ กิจกรรม ดังนี้

๒.๒.๑ ราชดำเนินเสวนา เป็นโครงการที่ดำเนินงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ ๒๕  ซึ่งเป็นความริเริ่มจากสมัยที่นายกวี จงกิจถาวร เป็นนายก สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย (พ.ศ. ๒๕๔๒) มีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพการทำงานข่าวให้มีคุณภาพและอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง  โดยมีการเชิญแหล่งข่าวมาพบปะพูดคุยและตอบคำถามนักข่าว เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ระหว่างนักข่าวกับแหล่งข่าวในประเด็นต่าง ๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในปี พ.ศ.  ๒๕๖๖  ได้จัดราชดำเนินเสวนาไปจำนวน ๒  ครั้ง สามารถติดตามเนื้อหาราชดำเนินเสวนาได้ที่ www.tja.or.th

๑. ราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “การบ้าน ครม.เศรษฐา๑ แก้วิกฤตประเทศ”  ครั้งที่ ๑/๒๕๖๖ เมื่อ ๓ กันยายน  ๒๕๖๖ ณ ห้อง Meeting A ชั้น ๗ ที่ทำการชั่วคราวสมาคมนักข่าวฯ อาคารบางซื่อจังชั่น (ตึกแดง) ถนนกำแพงเพชร๒  วิทยากรประกอบด้วย  ดร. ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย   ดร. นณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่าย We Fair  ดำเนินรายการโดย นางสาวอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ผู้ดำเนินรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand

๒. ราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ ๒/๒๕๖๖ หัวข้อ " “ปฏิรูปตำรวจ” กู้วิกฤตศรัทธาหรือดิ่งเหว?"ครั้งที่๒/

๒๕๖๖ เมื่อ ๑๗  กันยายน ๒๕๖๖ ณ ห้อง Meeting A ชั้น๗ ที่ทำการชั่วคราวสมาคมนักข่าวฯ อาคารบางซื่อจังชั่น (ตึกแดง) ถนนกำแพงเพชร๒ วิทยากรประกอบด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร  เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) ดำเนินรายการโดย นางสาวพรทิพย์ โม่งใหญ่  สถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์ ๒๓

๒.๒.๒. รายการวิทยุช่วยกันคิดทิศทางข่าว เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กับสำนักข่าวไทยและบริษัท อสมท. จำกัด มหาชน ออกอากาศทางสถานีวิทยุ อสมท.  FM ๑๐๐.๕ Mhz ทุกวันอาทิตย์เวลา ๑๑.๐๐-๑๒.๐๐น. เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักข่าวรุ่นใหม่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมกับสมาคมฯ รวมทั้งเป็นเวทีในการสื่อสารเรื่องราวที่เกี่ยวกับสื่อมวลชนให้สาธารณชนได้ รับทราบ รวมทั้งการวิเคราะห์ถึงทิศทางข่าวในสัปดาห์ต่อไป โดยเน้นความหลากหลายของประเด็นข่าว ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศ และอื่นๆที่เป็นประเด็นร้อนในขณะนั้น

สำหรับนักจัดรายการประจำปี  ๒๕๖๖  มีจำนวน ๗  คนคือ ๑. นายคัชฑาพงศ์ ลีลาพงศ์ฤทธิ์ ๒.นางสาวดารากาญจน์  ทองลิ่ม   ๓.นางสาวนันทพร  ทาวะระ   ๔.นายบัญชา  จันทร์สมบูรณ์   ๕.นางสาวดารินทร์  หอวัฒนกุล  ๖. นางสาวณิชชนันทน์ แจ่มดวง  ๗. นางสาวพรทิวา กันธิยาใจ  บรรณาธิการรายการวิทยุจำนวน ๓ คน ประกอบด้วย คือ ๑.นางสาวดารินทร์  หอวัฒนกุล  ๒. นายวสวัตต์ โอดทวี และ ๓. นายคัชฑาพงศ์ ลีลาพงศ์ฤทธิ์  โดยมีนายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการ สมาคมฯ เป็นที่ปรึกษา ติดตามฟังรายการวิทยุย้อนหลังได้ที่  www.tja.or.th  

๒.๒.๓ www.tja.or.th เว็บไซต์ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ  ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมข่าวสารต่างๆ ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ทั้งประชาสัมพันธ์กิจกรรม,รายงานกิจกรรม,เผยแพร่กฎหมายที่เกี่ยวข้อง,ประวัติความเป็นมา แสดงจุดยืนและท่าทีของสมาคมฯต่อสถานการณ์ต่างๆของบ้านเมือง รวมทั้งการบันทึกผลงานข่าวที่ได้รับรางวัลประเภทต่างๆ  และเป็นชุมชนออนไลน์ของนักวิชาการและวิชาชีพสื่อสารมวลชน ในการแลกเปลี่ยนทัศนะของนักวิชาการและนักวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน และนำเสนอข่าวสารความเคลื่อนไหวในแวดวงสื่อสารมวลชน

๒.๒.๔ เพจจุลสารราชดำเนินออนไลน์ https://www.facebook.com/rajdamnernbook/  มีวัถตุประสงค์  เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการข่าว  และวิชาการสื่อมวลชนรวมถึงวิชาชีพสื่อที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน  เพื่อเป็นกลไกสร้างความเข้าใจระหว่าง นักวิชาชีพสื่อ นักวิชาการด้านสื่อและประชาชนผู้บริโภคสื่อ เป็นการตรวจสอบซื่งกันและกัน   เพื่อเผยแพร่กิจกรรมของสมาคม และข่าวสารการปรับตัวของสื่อในประเทศและต่างประเทศ

๒.๓ กลุ่มงานหนังสือในปี   ๒๕๖๖  ฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดทำหนังสือ ๑  เล่ม ดังนี้

๒.๓.๑ หนังสือวันนักข่าว เนื้อหาหลักเรื่อง “การใช้ประโยชน์จาก ChatGPT และ AI กับงานสื่อมวลชน” ตลอดจนรายงานกิจกรรมของสมาคม  และทำเนียบรายชื่อนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่เป็นสมาชิกสมาคม  มีนางสาวน.รินี  เรืองหนู  เป็นบรรณาธิการ และนางหทัยรัตน์  ดีประเสริฐ เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ เผยแพร่ภายในเดือนมีนาคม ๒๕๖๗

๒.๔. กลุ่มงานเครือข่ายวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน จัดงานสัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์  ครั้งที่ ๑๘  หัวข้อ หัวข้อ แนวโน้มใหม่และเทคนิคในโลกคอนเทน - New Trend New Tech in Content Industries  เมื่อ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๗ ชั้น๑๖ ห้องAuditorium อาคาร CP All Academy สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โดยความร่วมมือของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในงานดังกล่าวมีกิจกรรมประกอบด้วยการปาฐถาพิเศษ หัวข้อ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  จะมีส่วนสนับสนุนคอนเทนอินดัสตรีอย่างไร โดย ดร. ชำนาญ งามมณีอุดม             รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และการเสวนาทางวิชาการหัวข้อ  “แนวโน้มใหม่และเทคนิคในโลกคอนเทน - New Trend New Tech in Content Industries” วิทยากรประกอบด้วย คุณชัชวาล สังคีตตระการ         นักวิจัย กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค สวทช. นายจุมพล ลิขิตวงศ์ Strategic Planning Associate Director, MBCS Thailand  ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม  คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย คุณอศินา พรวศิน  The Story Thailand       

ปิดท้ายด้วยการ แยกห้อง Executive Talk จำนวน ๓ ห้อง ประกอบด้วย  ห้องที่ ๑ เครื่องมือ การค้นหาข้อมูล งานเขียน และรวบรวมข้อมูล (Monitor) และตรวจสอบข่าวสาร (Factcheck)  โดยมีนายสุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล  ผู้ก่อตั้ง บ. Brand Baker Co., Ltd. เป็นวิทยากร ห้องที่ ๒ เครื่องมือ สร้างเครือข่าย ดาต้า สร้างผู้ติดตาม (แฟน)  โดยมีนายณัฐพล ม่วงทำ  เจ้าของแฟนเพจ "การตลาดวันละตอน” เป็นวิทยากร และห้องที่ ๓ เครื่องมือ เทคโนโลยีในการเพิ่มรายได้ โดยมีดร. เอกลักษณ์ ยิ้มวิไล ผู้สร้าง Mandala AI  ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอเชี่ยน สกาย เน็ตเวิร์ค จำกัด  เป็นวิทยากร

การจัดกิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  สะท้อนมุมมองเชิงวิชาชีพและวิชาการด้านสื่อมวลชน ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสื่อใหม่ และเพื่อให้เกิดการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันระหว่างภาควิชาการและวิชาชีพ

๒.๕. กลุ่มงานประกวดข่าว

๒.๕.๑ การประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทข่าวและภาพข่าวยอดเยี่ยม ประจำปี ๒๕๖๖  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ได้รับมอบหมายจากมูลนิธิอิศรา อมันตกุล ให้ดำเนินการจัดการประกวดข่าวและภาพข่าวยอดเยี่ยม รางวัลอิศรา อมันตกุล เพื่อเป็นการรำลึกถึงนายอิศรา อมันตกุล นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรกและนักหนังสือพิมพ์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ภาย ใต้กรอบจริยธรรม โดยดำเนินการจัดการประกวดมาตั้งแต่ ปี ๒๕๑๕ 

สำหรับในปี ๒๕๖๖ มีการแบ่งประเภทรางวัลรวมเป็นทั้งสิ้น ๔ ประเภทรางวัลคือ ๑. ข่าวยอดเยี่ยมสำหรับสื่อหนังสือพิมพ์  ๒. ภาพข่าวยอดเยี่ยมสำหรับสื่อหนังสือพิมพ์  ๓.ข่าวออนไลน์ยอดเยี่ยมสำหรับสื่อออนไลน์  ๔.ภาพข่าวออนไลน์ยอดเยี่ยมสำหรับสื่อออนไลน์  มีผลงานข่าวส่งเข้าประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล ประเภทข่าวหนังสือพิมพ์จำนวน ๕  ข่าว จากหนังสือพิมพ์ ๓  ฉบับ และส่งผลงานข่าวออนไลน์จำนวน ๓๓ ข่าว จากสำนักข่าวออนไลน์ ๑๐ แห่ง  ภาพข่าวหนังสือพิมพ์ จำนวน ๔๔ ภาพ จากหนังสือพิมพ์ ๔ ฉบับ ภาพข่าวออนไลน์ ๑๕๖ ภาพ จากสำนักข่าวออนไลน์ จำนวน ๑๓ แห่ง

๒.๕.๒ การประกวดรางวัลข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๖ ของ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมฯ ได้มอบหมายให้ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ดำเนินการจัดการประกวด ข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ซึ่งจัดการประกวดมาตั้งแต่ปี  ๒๕๓๒ สำหรับในปี ๒๕๖๖ ได้เปิดให้สื่อออนไลน์สามารถส่งผลงานร่วมประกวดรางวัลได้ด้วย มีผลงานข่าวส่งเข้าประกวดจำนวน  ๒๒ ข่าว จากสื่อสิ่งพิมพ์และออนไลน์ จำนวน ๑๐ แห่ง 

๓. คณะอนุกรรมการฝ่ายสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์

ในปี ๒๕๖๖ คณะอนุกรรมการฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ  ดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมพัฒนาและปรับปรุงสวัสดิการสมาชิก และขยายเครือข่ายความสัมพันธ์ไปยังองค์กรวิชาชีพสื่ออื่น ๆ แบ่งงานออกเป็น ๓ กลุ่มงาน คือ

๓.๑ กลุ่มงานสมาชิกสัมพันธ์

๓.๑.๑ ท่องเที่ยวศึกษาเชิงประวัติศาสตร์เมืองอยุธยามรดกโลก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ร่วมกับชมรมนักข่าวอาวุโสฯ จัดกิจกรรมท่องเที่ยวศึกษาเชิงประวัติศาสตร์เมืองอยุธยามรดกโลก ศึกษาดูงานเชิงอนุรักษ์เครื่องทอง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ “วัดมหาธาตุ” ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ใจกลางพระนคร  โดยมีสมาชิกชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโสฯ ๓๐ คน ร่วมเดินทาง เมื่อ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๖

กิจกรรมครั้งนี้เป็นการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้แก่สมาชิกชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโสฯ บุคคลผู้ทรงคุณค่า ทุ่มเท เสียสละ เพื่องานข่าวสร้างสรรค์ส่งเสริมต่อประเทศชาติมาอย่างมากมายให้ได้มีโอกาสร่วมพบปะแลกเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติ แนวความคิด แนวทางการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อทำให้เกิดการขับเคลื่อนเพื่อสังคม สิ่งสำคัญคือเป็นการร่วมตัวของนักข่าวอาวุโสถ้านับอายุรวมกันแล้วมากกว่า ๑,๔๔๙ ปี โดยนักข่าวอาวุโสอายุมากที่สุด ๙๑ ปี 

ได้รับการสนับสนุนจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด มหาชน และผลิตภัณฑ์จากอภัยภูเบศร

 ๓.๑.๒  ท่องเที่ยวศึกษาเชิงวัฒนธรรม ชื่นชมงานศิลป์แผ่นดินและเยี่ยมชมวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ร่วมกับชมรมนักข่าวอาวุโสฯ จัดกิจกรรมท่องเที่ยวศึกษาเชิงวัฒนธรรม ชื่นชมงานศิลป์แผ่นดินและเยี่ยมชมวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร โดยมีนักข่าวอาวุโส ผู้ติดตามและคณะทำงานของสมาคมฯ เข้าร่วมจำนวน ๒๕ คน ได้รับการสนับสนุนจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)  เมื่อ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๖ 

 ๓.๑.๓  สนับสนุนปูพื้นกระเบื้องอาคารเอนกประสงค์แก่ ร.ร.ตชด.บ้านคลองน้อย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ร่วมกับภาคเอกชน ๖ องค์กร ประกอบด้วย บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)  ธนาคารออมสิน บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพีแรม จำกัด บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) และมูลนิธิปอเต็กตึ้ง ได้เดินทางไปร่วมกิจกรรมปูพื้นกระเบื้องอาคารอเนกประสงค์ และปรับปรุงเปลี่ยนรางน้ำใหม่ รวมถึงมอบอุปกรณ์เครื่องเขียน น้ำดื่ม ขนม ให้นักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านคลองน้อย ม.๗  ต.ห้วยสัตว์ใหญ่  อ.หัวหิน  จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมี พ.ต.อ.อภิรัตน์  เปี่ยมพูล  ผกก.๑ (รบพิเศษ ) กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ  พ.ต.ท.สุวิทย์ มณีวงษ์ รอง ผกก.๑ รบพิเศษ กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนและคณะผู้อำนวยโรงเรียน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชน และนักเรียนให้การต้อนรับ และร่วมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันอย่างอบอุ่น เมื่อ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๖  

๓.๒ กลุ่มงานเสริมสร้างศักยภาพสื่อ

๓.๒.๑ อบรมสร้างอาชีพสำหรับสื่อมวลชนหลักสูตร “ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น และเครื่องดื่ม Peach Passion Cold Brew”  เป็นหลักสูตรที่ได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักบริหารการสื่อสารองค์กร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)  และ PIM Food Academy  

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อมวลชน และส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสที่ดีในด้านต่าง ๆ แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ผ่านการให้องค์ความรู้และทักษะในการทำอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปต่อยอดพัฒนาเป็นอาชีพเสริม หรืออาชีพสำรองของครอบครัวในอนาคต โดยหลักสูตรก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น ได้รับเกียรติจากอาจารย์เสาวกิจ ปรีเปรม เชฟผู้มีประสบการณ์การทำงานระดับมืออาชีพ อุปนายกสมาคมเชฟแห่งประเทศไทยคนแรก และเป็นผู้บริหารร้านอาหาร Chef’s Kitchen เป็นวิทยากร จัดเมื่อวัน ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๖ ณ  PIM Food Academy  ถนนแจ้งวัฒนะ

๓.๓ กลุ่มงานสวัสดิการสมาชิก

๓.๓.๑ ทุนการศึกษา สมาคมฯ มอบทุนการศึกษาให้กับบุตร-ธิดา สมาชิก โดยแบ่งทุนการศึกษาออกเป็น ๒ ประเภท คือ ๑) ทุนส่งเสริมการศึกษา เป็นการให้ทุนแบบรายปี โดยใช้งบประมาณจากกองทุนการศึกษาเพื่อบุตร-ธิดา สมาชิกสมาคมฯ มีผู้ได้รับการอนุมัติทุนการศึกษาจำนวน ๖๑ ทุน ทุนละ ๕,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๓๐๕,๐๐๐ บาท มีการจัดพิธีมอบเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๕ และ ๒) ทุนต่อเนื่อง เป็นทุนที่มอบให้แบบต่อเนื่องตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-ระดับปริญญาตรี โดยได้รับการอนุเคราะห์ทุนการศึกษาจากมูลนิธิเอสซีจี ปีละ ๑๐ ทุน ต่อเนื่องเป็นปีที่ ๑๕ ปัจจุบันมีผู้รับทุนแล้ว ๑๖๔ คน

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ได้มีการมอบสวัสดิการทุนการศึกษามาตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ นับตั้งแต่มีการก่อตั้งสมาคมฯ ต่อมาในปี ๒๕๕๑ มูลนิธิเอสซีจี ได้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษา จึงได้เข้ามาสร้างโอกาสให้บรรดาลูกหลานสมาชิกสมาคมฯ โดยมอบทุนต่อเนื่องแบบให้เปล่าปีละ ๑๐ ทุน โดยมีเงื่อนไขเกรดเฉลี่ยต้องไม่ต่ำกว่า ๒.๕ ขึ้นไป เป็นปีที่ ๑๗ 

สำหรับผู้สนับสนุนอาหาร เครื่องดื่มและของที่ระลึกสำหรับลูกหลานนักข่าวในพิธีมอบทุนการศึกษา ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) Zen Restaurant Holding บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (Snack Box) ธนาคารออมสิน บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด Krispy Kreme Thailand ธนาคารไทยพาณิชย์ มูลนิธิปอเต็กตึ้ง บริษัท วิริยะประกันภัย จํากัด (มหาชน) และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร)

๓.๓.๒  ทุนการศึกษาซีพีเพื่อยุวชนครอบครัวคนข่าว ประจำปี ๒๕๖๖ เป็นทุนการศึกษาที่มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์มอบให้กับ ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ   สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ  และสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย  จำนวน ๑๐๐ ทุน ทุนละ ๑๐,๐๐๐ บาท อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ ๒ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของครอบครัวคนข่าว ควบคู่ไปกับการปลูกฝัง “ความกตัญญู” แก่เด็กและเยาวชนไทย โดยมีเงื่อนไขว่าผู้สมัครต้องอยู่ระหว่างการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงอุดมศึกษา และต้องวาดรูปหรือเขียนเรียงความเรื่องความกตัญญู จัดพิธีมอบทุนเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๖

๓.๒.๓  ทุนการศึกษาสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นปีที่ ๕ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และคณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มอบทุนการศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสารเชิงนวัตกรรมเพื่อองค์กรสมัยใหม่ จำนวน ๑ ทุน (ทุนเต็มจำนวน) ให้แก่ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิกของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สำหรับสมาชิกสมาคมฯ ที่ได้รับทุนดังกล่าวมีจำนวน ๕ คน ดังนี้ รับทุนปี ๒๕๖๒  ได้แก่นางสาวนันทพร ทาวะระ และนายจักรพงษ์ โกไศยกานนท์ (ทำวิทยานิพนธ์เรื่องการออกแบบจุดสัมผัสผู้ชมรายการเมืองไทยใหญ่อุดม) รับทุนปี ๒๕๖๓ ได้แก่นางสาวกมลพร วรกุล และนายอรรถชยา โทนุศิษย์ รับทุนปี ๒๕๖๔ นางสาวพีระพรรณ พิสิฐชัยรักษ์ ปี ๒๕๖๕  ไม่มีผู้ใดได้รับทุน และปี ๒๕๖๖  ไม่มีผู้ใดได้รับทุน

๓.๒.๔ การมอบสินไหมมรณกรรมและการร่วมเป็นเจ้าภาพงานสวดพระอภิธรรมศพ สมาคมฯ ได้จัดทำประกันชีวิตกลุ่ม ให้กับ สมาชิกที่ชำระเงินค่าบำรุงประจำปีกับบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด  ในปี ๒๕๖๖ มีทายาทของสมาชิกได้รับสินไหมมรณกรรมจาก บมจ. เมืองไทยประกันชีวิต ๔ คน โดยได้รับคนละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท (เสียชีวิตจากการเจ็บไข้ได้ป่วย) รวมเป็นเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท  เป็นสมาชิกอาวุโสทั้ง ๔ ท่านประกอบด้วย ๑.คุณประสัยห์ จารุรัตน์ ๒.คุณไกรสีห์ พุทธรักษา ๓.คุณจักรพันธ์ วงศ์สลับสี  และ ๔. คุณสุรพล ล่อใจ           

๓.๒.๕ สวัสดิการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก สมาคมฯมอบสวัสดิการผู้ป่วยในเป็นเงิน ๙,๕๐๐ บาท สวัสดิการผู้ป่วยนอกเป็นเงิน ๔๖,๘๙๕ บาท สวัสดิการผู้ป่วยในสำหรับสมาชิกอาวุโสเป็นเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท และสวัสดิการผู้ป่วยนอกสำหรับสมาชิกอาวุโสเป็นเงิน ๓๘,๒๐๙ บาท

๓.๒.๖ โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสื่อมวลชนสำหรับสมาชิกสมาคมฯ  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯได้รับความสนับสนุนจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ จัดทำโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสื่อมวลชนสำหรับสมาชิกสมาคมฯ ที่มีความประสงค์จะกู้เงินซื้อบ้าน ผ่อนคอนโด รีไฟแนนซ์ กับธอส. ในอัตราดอกเบี้ย ๒ ปีแรก ร้อยละ ๓.๖๐ ต่อปี  โดยต้องได้รับการอนุมัติและทำนิติกรรมภายใน ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๖  (เริ่มโครงการปีแรกเมื่อสิงหาคม ๒๕๖๓) 

๔. คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ

ในปี ๒๕๖๖ กิจกรรมของคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ โดยเฉพาะด้านการเยี่ยมเยือนซึ่งเคยหยุดชะงักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ๑๙ ได้กลับมาดำเนินการตามปกติอีกครั้ง  โดยแบ่งงานออกเป็น ๒ กลุ่มงานดังนี้

๔.๑ กลุ่มงานสร้างเครือข่ายวิชาชีพต่างประเทศ

๔.๑.๑ เยือนจีน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ โดยนางผุสดี คีตวรนาฏ อดีตนายกสมาคมฯ ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนสมาคมฯนำคณะสื่อมวลชนจำนวน ๖ คนไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำเชิญของสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศจีน (All China Journalists Association-ACJA) เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน - ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๖ โดยไปเยือนเมืองปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเจ้อเจียง  เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองการทำงานของสื่อมวลชนระหว่าง ๒ ประเทศ​ท่ามกลางโลกการสื่อสารที่เปลี่ยนเป็นการรับข้อมูลข่าวสารผ่านโลกออนไลน์​ ทั้งยังเป็นยกระดับการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี​ต่อกันให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น 

การไปเยือนครั้งนี้ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เป็นการต้อนรับสมาคมนักข่าวจากต่างประเทศเป็นแห่งแรกนับตั้งแต่การระบาดของเชื้อโควิด ๓ ปีที่ผ่านมา​ และยิ่งกว่านั้นในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ​ ยังถือเป็นวันครบรอบ ๑๐๒ ปีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ชาวจีน​ให้ความสำคัญ​กันมาอย่างยาวนาน มีเรื่องราวประวัติศาสตร์การขับเคลื่อนพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านเศรษฐกิจ​ ความมั่นคง และความเป็นอยู่ของประชาชนอันมีความมั่งคั่งมาจนถึงปัจจุบันนี้

รายชื่อคณะผู้แทนประกอบด้วย ๑.นางผุสดี คีตวรนาฏ อดีตนายกสมาคมฯ (หัวหน้าคณะ) ๒.นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ ๓. นายชำนาญ ไชยศร อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ ๔.นายวรพล เพชรสุทธิ์ นายทะเบียน ๕.นางสาวธนิตา อิศรา กรรมการบริหาร และ ๖. นางสาวขนิษฐา สุโกมล ผู้ช่วยผู้จัดการ สมาคมฯ 

๔.๑.๒ เยือนกัมพูชา  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยนายมงคล บางประภา นายกสมาคมฯ ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนสมาคมฯนำคณะสื่อมวลชนจำนวน ๖ คนไปเยือนราชอาณาจักรกัมพูชา ตามโครงการแลกเปลี่ยนเยี่ยมเยือนของสื่อมวลชนระหว่างสองประเทศ เมื่อวันที่ ๑๘-๒๒ ตุลาคม  ๒๕๖๖  โดยได้รับการสนับสนุนบัตรโดยสารจากสายการบินแอร์เอเชีย และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเครือ SCG

การไปเยือนครั้งนี้มีการลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) ที่มีเนื้อหาส่งเสริมความร่วมมือกันเพื่อพัฒนาบทบาทเชิงสร้างสรรค์ร่วมกันในกรอบภูมิภาค การประสานความร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีของสื่อมวลชนสองประเทศ การจะเดินหน้าสานต่อช่องทางการสื่อสารสายด่วนที่ได้จัดตั้งไว้เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารก่อนนำเสนอ หรือเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อสังคม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การจะแลกเปลี่ยนคณะเยี่ยมเยือนระหว่างกันเป็นประจำทุกปี เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ มุ่มมองความคิด และสร้างความแน่นแฟ้น  การจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อส่งเสริมศักยภาพสื่อมวลชนของสองประเทศ และ การจะร่วมมือกันเพื่อการมีส่วนร่วมต่างๆ ในกรอบของสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งอาเซียน

รายชื่อคณะผู้แทนประกอบด้วย ๑.นายมงคล บางประภา นายกสมาคมฯ  (หัวหน้าคณะ) ๒.นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาคมฯ ๓. นายวรพล เพชรสุทธิ์ นายทะเบียน  ๔.นางสาวธนิตา อิศรา กรรมการบริหาร ๕.นางสาวเพ็ญโสภา สุคนธรักษ์ อนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ และ ๖.นายพีรพัฒน์ ดิลกกัลยากุล หัวหน้าศูนย์ข้อมูล สมาคมฯ  

๔.๑.๓ เยือน สปป.ลาว   สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยนายวัสยศ งามขำ อุปนายกฝ่ายกิจกรรมพิเศษสมาคมฯ ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนสมาคมฯนำคณะสื่อมวลชนจำนวน ๗ คนไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ตามโครงการแลกเปลี่ยนเยี่ยมเยือนของสื่อมวลชนระหว่างสองประเทศ เมื่อวันที่ ๕-๙  พฤศจิกายน 2566 โดยไปเยือนเมืองบ่อแก้ว หลวงน้ำทา บ่อเต็น และนครหลวงเวียงจันทน์ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)

รายชื่อคณะผู้แทนประกอบด้วย ๑.นายวัสยศ งามขำ อุปนายกฝ่ายกิจกรรมพิเศษสมาคมฯ(หัวหน้าคณะ) ๒.นายชำนาญ ไชยศร อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อสมาคมฯ ๓. นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมฯ ๔.นายสมศักดิ์ ศรีกำเนิด เหรัญญิก ๕.นางสาววัชรินทร์ เศรษฐกุดั่น อนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมฯ ๖.ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร อนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมฯ และ ๗.นางสาวณัฐชา บุญเมือง     เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร  สมาคมฯ 

นอกจากนี้ในช่วงสัมมนาความร่วมไทย-ลาวที่นครหลวงเวียงจันทน์ ยังมี ๑.นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาคมฯ ๒.นายมงคล บางประภา นายกสมาคมฯ  และ ๓.นายวัฒนะชัย ยะนินทร อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์ สมาคมฯ ตามไปสมทบเพิ่มเติม 

๔.๑.๔ ต้อนรับคณะสื่อมวลชนจากเวียตนาม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ให้การต้อนรับคณะสื่อมวลชนจาก สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม จำนวน๗ คนนำโดยนายเหงียน ดึ๊ก ลี (NGUYEN DUC LOI)   รองประธานสมาคมนักข่าวเวียดนาม (Vietnam Journalists Association VJA)  ในโอกาสมาเยือนไทย เมื่อ ๒๑-๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๖  เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และปรึกษาหารือถึงความร่วมมือต่างๆที่จะเป็นการช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนทั้งสองประเทศ และหารือถึงทิศทางความร่วมมือในอนาคตที่จะเกิดขึ้นในหลากหลายมิติเพิ่มเติมจากที่มีบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ที่เคยลงนามร่วมกัน อาทิ การจัดฝึกอบรมนักข่าวทางด้านการทำข่าวภัยพิบัติร่วมกัน การอบรมภาษาเวียดนามให้สื่อไทย และกิจกรรมอื่นๆเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์   และได้มีการลงนามในบันทึกความร่วมมือผ่านระบบ Zoom เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๗

โดยการมาเยือนครั้งนี้ได้รับความสนับสนุนจาก บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ 

๔.๑.๕ เปิดโลกวัฒนธรรมเกาหลี  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมมือกับศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี  จัดงาน “เปิดโลกวัฒนธรรมเกาหลี” แก่สื่อมวลชนไทย ๓๐ ท่านจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  เมื่อ ๑๐สิงหาคม ๒๕๖๖ ณ ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี ประจำประเทศไทย เพื่อให้สมาชิกของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมสัมผัสวัฒนธรรมเกาหลีที่หลากหลาย อาทิ วัฒนธรรมเกาหลีพื้นบ้าน อาหารเกาหลี และเคป็อป

โดยก่อนหน้านี้เมื่อ ๑๒  มิถุนายน ๒๕๖๖  นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ และอุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อสมาคมฯ และนายเสกสรร อานันทศิริเกียรติ อนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ ได้เข้าพบผู้แทนจาก “ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี” ถนนสุขุมวิท โดยมีคุณ Jaeil Cho ทูตวัฒนธรรม พร้อมด้วยคุณ Jooyoung Son และคุณ Jihyeon Bang ผู้จัดการฝ่ายวัฒนธรรม ให้การต้อนรับ 

จุดประสงค์การของการพูดคุยครั้งนี้คือเพื่อทำความรู้จักระหว่างสมาคมฯ กับศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการส่งเสริมวัฒนธรรมเกาหลีของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีในประเทศไทย และหารือเกี่ยวกับการทำกิจกรรมร่วมกันในอนาคต โดยเฉพาะในการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม

๔.๑.๖ พบผู้แทนสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  พร้อมด้วยนางสาววัชรินทร์  เศรษฐกุดั่น อนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศสมาคมนักข่าวฯ  เข้าพบนางคาวามูระ  มากิ (Kawamura Maki) ผู้อำนวยการสำนักข่าวสารญี่ปุ่น และ นางสาวไซกะ โมริยะ (Saika Moriya) นักการทูตตรี ฝ่ายการเมือง สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ณ สถานทูตญี่ปุ่นถนนวิทยุ  เมื่อ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๖

มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรสื่อในประเทศไทย  ทั้งรูปแบบสมาคม สมาพันธ์และสภาการสื่อ อธิบายโครงสร้างการทำงานของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รวมทั้งบทบาทและความร่วมมือต่างๆ ที่สมาคมนักข่าวมีกับองค์กรหน่วยงาน สถานทูตหรือสมาคมของสื่อต่างประเทศ

๔.๒. กลุ่มงานพัฒนาศักยภาพนักข่าว ในปี ๒๕๖๖ คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมฯ ได้จัดการอบรมขึ้น ๒ หลักสูตร

๔.๒.๑  อบรมหลักสูตร “มองจีนยุคใหม่ ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้” ครั้งที่ ๕  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้สื่อมวลชนไทยมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับจีนยุคใหม่และความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ได้อย่างครบถ้วน รอบด้าน อันจะนำไปสู่การรายงานข่าวให้สาธารณะรับทราบอย่างถูกต้อง กระชับความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนไทยกับหน่วยงานต่าง ๆที่เกี่ยวข้องระหว่างไทย-จีน และสร้างเครือข่ายระหว่างสื่อมวลชนไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มีสื่อมวลชนซึ่งเป็นผู้ที่เคยผ่านการอบรมรุ่นที่ ๓ และ ๔ เข้าร่วม ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าร่วมอบรมจำนวน ๒๐ คน ลงพื้นที่ในมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อ ๒๔-๒๗  กรกฎาคม ๒๕๖๖ 

แบ่งการจัดกิจกรรมในโครงการเป็น ๒ รูปแบบคือ

๑. การปฐมนิเทศโครงการ “มองจีนยุคใหม่ สิ่งที่สื่อไทยควรรู้ รุ่นที่ ๕” ได้รับเกียรติจากนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มาร่วมในพิธีปฐมนิเทศ และได้แสดงความชื่นชมโครงการ “มองจีนยุคใหม่ สิ่งที่สื่อไทยควรรู้” ว่า อกจากจะเป็นสะพานเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสื่อไทยกับสื่อจีนแล้ว ยังเปิดโอกาสให้สื่อไทยได้เข้าใจจีนลึกซึ้งยิ่งขึ้น เนื่องจากจะได้มีโอกาสเห็นสถานการณ์จริงทั้งในเรื่องดีและประเด็นที่ยังคงเป็นปัญหา จัดเมื่อ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ณ ที่ทำการชั่วคราวสมาคมฯ ชั้น ๗ อาคารบางซื่อจังชั่น  

๓. การเดินทางไปยังประเทศจีน (นครคุนหมิง) ศึกษาดูงาน ณ มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเวลา ๔ วัน เมื่อ ๒๔-๒๗  กรกฎาคม ๒๕๖๖ การเดินทางรอบนี้  มุ่งสู่มณฑลยูนนานอันเป็นประตูเส้นทาง รถไฟ จีน - ลาว - ไทย ตามนโยบาย  BRI   เพื่อไปศึกษาจุดเริ่มต้นของเส้นทางสำคัญทางเศรษฐกิจ  และวัฒนธรรมระหว่าง ๓ ประเทศ  อีกทั้งดูความเปลี่ยนแปลงของมณฑลที่อยู่ห่างไกลความเจริญมณฑลหนึ่งของประเทศจีนเพื่อให้เห็นวิธีการแก้ปัญหาและสถานการณ์ในจีนหลังการระบาดของโควิด ๑๙  รวมทั้งการไปเรียนรู้แบบแผนความพยายามต่อสู้กับความยากจนของรัฐบาลจีน

กิจกรรมการศึกษาดูงานประกอบด้วย เข้าเยี่ยมคารวะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนางสาวภาวีวรรณ นรพัลลภ กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิงและคณะ ณ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง เยี่ยมชม ฟังบรรยายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้แทนศูนย์การสื่อสารระหว่างประเทศเอเชียใต้ – เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งยูนนาน Yunnan International Communication Center for South and Southeast Asia (YICC)  เยี่ยมชมเขตการค้าเสรีนำร่องคุนหมิง ศึกษาดูงานอำเภอสือหลิน (การคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมที่สามารถบรรเทาความยากจน)  เยี่ยมชมศูนย์ประมูลดอกไม้นานาชาติโต่วหนานและตลาดค้าส่งดอกไม้โต่วหนาน เยี่ยมชมสถาบันพฤกษศาสตร์คุนหมิง สถาบันวิทยาศาสตร์จีน

๔.๒.๒  Training the Trainers  สำหรับสื่อมวลชนลาว สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวแห่ง สปป.ลาว และกรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกันจัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “Training the Trainers” สำหรับสื่อมวลชนลาวจำนวน ๑๒ คน  เมื่อ ๓๐ ตุลาคม - ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ณ สถาบันการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ กรุงเทพฯ

เพื่อให้องค์กรสื่อมวลชนใน สปป.ลาว สามารถพัฒนาบุคคลากรในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพ

มีความรู้ และทักษะในการเป็นวิทยากรเพื่อพัฒนาบุคคลากรด้านข่าว ให้เข้าใจกระบวนการจัดการฝึกอบรมและพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมบุคคลากรด้านข่าว และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาชีพระหว่างสื่อมวลชนไทยและสื่อมวลชนลาวให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

โดยเนื้อหาการอบรมที่สื่อฯสปป.ลาวได้เรียนรู้ ประกอบด้วย ๑. กระบวนการและขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรการจัดฝึกอบรม ๒. การบริหารจัดการการฝึกอบรม ๓. การร่างหลักสูตรและการกำหนดหัวข้อในการฝึกอบรม ๔. เทคนิคการบริหารจัดการการฝึกอบรม ๕. เทคนิคการใช้เครื่องมือประกอบการสอนและวิธีการนำเสนอให้น่าสนใจ

และ ๖. การฝึกปฏิบัติการเป็นวิทยากร

ทั้งนี้ผู้เข้าอบรมทั้ง 12 ได้ทำการนำเสนอผลงานจริง ให้กับนักศึกษาสปป.ลาว ที่ศึกษาอยู่ที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้รับฟังและมีข้อเสนอแนะกับผู้เข้าอบรมอย่างตรงไปตรง พร้อมกับรับฟังข้อเสนอแนะจากวิทยากร

ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท ช.การช่าง จำกัด มหาชน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและกรมประชาสัมพันธ์ และได้รับการสนับสนุนห้องทดลองปฏิบัติการสอนจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์และบริษัทบริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน)

๕. คณะกรรมการอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ

ในปี ๒๕๖๖ คณะอนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ สมาคมฯ ได้จัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่เป็นการประสานความร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพสื่อและกิจกรรมที่ประสานความร่วมมือกับองค์กรภายนอก แบ่งงานออกเป็น ๒ กลุ่มงานดังนี้

๕.๑ กลุ่มงานระดมทุน

๕.๑.๑ TJA Dinner Talk สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ จัดงาน TJA Dinner Talk ขึ้นเป็นประจำในวันที่ ๕ มีนาคมของทุกปีมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙  โดยในช่วงระยะเวลาของการะบาดไวรัสโควิด ๑๙  การปรับเปลี่ยนรูปแบบงานจากงานดินเนอร์ทอล์ค เป็นงาน TJA Talk(จัดช่วงเช้า ไม่มีการบริการอาหาร) ต่อเนื่อง ๒ ปี แต่เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จึงได้กลับมาจัดในรูปแบบ sit down dinner อีกครั้งเมื่อ ๕ มีนาคม ๒๕๖๖   ห้องบอลรูม โรงแรมเดอะ แลนด์มาร์ค กรุงเทพ หัวข้อ  การพัฒนาที่ยั่งยืนกับทางรอดประเทศไทย "Sustainable development and the future of Thailand" โดยคุณกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal)ผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทย ส่วนในปี ๒๕๖๗ จัดหัวข้อ “ทุนมนุษย์” ยุค ๕.๐ สร้างไทยยั่งยืน ขจัดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ” โดยดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ณ ห้อง Phayathai Grand Ballroom ชั้น ๖ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท เมื่อ ๕ มีนาคม ๒๕๖๗

๕.๑.๒ หนังสือวันนักข่าว สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ จัดทำหนังสือวันนักข่าว ซึ่งเป็นหนังสือรายงานประจำปีเผยแพร่ภายในเดือนมีนาคม นอกจากจะเป็นการรายงานผลการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมฯ แล้ว ยังได้รวบรวมผลการประกวดข่าวประเภทต่างๆ ของสมาคมฯ เอาไว้ด้วย ในปี ๒๕๖๗ สมาคมฯ ได้มอบหมายให้บริษัท นักทุ่งเที่ยว จำกัด เป็นผู้ดำเนินการการจัดหาโฆษณา  โดยเนื้อหาหลักในปีนี้เน้นเรื่อง ““การใช้ประโยชน์จาก ChatGPT และ AI กับงานสื่อมวลชน”

๕.๑.๓ จัดทำโครงการเพื่อเสนอขอรับทุนจากหน่วยงานที่สนับสนุนการทำงานด้านสื่อมวลชน

๑. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  ในปี ๒๕๖๖  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เสนอขอรับทุนจากกองทุนสื่อฯ ผ่านสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จำนวน ๔ โครงการ  (๑. โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการวิชาการวิชาชีพสื่อสารมวลชนเพื่อสร้างสรรค์หลักสูตรวารสารศาสตร์แห่งอนาคต ๒.โครงการการอบรมเชิงปฏิบัติการจริยธรรมการสื่อสารในภาวะวิกฤตและสาธารณภัยในยุคดิจิทัล ๓.โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างจริยธรรมและพัฒนาศักยภาพสำนักข่าวขนาดเล็กเพื่อความยั่งยืน ๔.โครงการการอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพิราบน้อย) ได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวน ๑.๓ ล้านบาท  ได้จัดทำกิจกรรมทั้ง ๔ โครงการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนในปี ๒๕๖๗ ได้เสนอขอรับทุนไปยังกองทุนสื่อฯ อีก ๑ โครงการ ๙ กิจกรรม อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณา

๒. สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ในปี ๒๕๖๖  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ยื่นเสนอขอรับทุนจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้รับอนุมัติ จำนวน ๒ โครงการ  งบประมาณสนับสนุนจำนวน ๑.๔ ล้านบาท  (โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพิราบน้อยรุ่นที่ ๒๖ และโครงการอบรมเสริมทักษะสื่อมวลชน)

๕.๒ กลุ่มงานบริหารจัดการ

๕.๒.๑ สุนทรียสนทนา จัดกิจกรรมสุนทรียสนทนา  เมื่อ ๗ เมษายน  ๒๕๖๖  ณ เรือนสุนทรียสนทนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต   ผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยคณะกรรมการบริหาร อนุกรรมการ และคณะทำงานฝ่ายต่างๆของสมาคมฯจำนวน ๓๐ คน เพื่อทบทวนภารกิจที่ผ่านมาและวางแนวทางในการดำเนินกิจกรรมต่อไป

๕.๒.๒ การจัดระบบการเงิน สมาคมฯ ได้นำระบบ Digital Banking Platform มาใช้เพื่อจัดระบบการเงินของสมาคมฯผ่านบริการ SCB Business Anywhere เพื่อความสะดวกในการจ่ายเงินและตรวจสอบรายการจ่าย เป็นปีที่ ๓

๕.๒.๓ การสมัครสมาชิกสมาคมฯผ่านระบบ On Line   สมาคมฯ ได้เปิดระบบให้สมาชิกสมาคมฯ กรอกใบสมัครสมาชิกสมาคมผ่านระบบ On Line เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องการกรอกข้อมูล รวมทั้งสมาคมฯ จะได้มีระบบฐานข้อมูลสมาชิกที่มีความถูกต้อง ครบถ้วน แต่ในขั้นตอนของการลงลายมือชื่อต่างๆ สมาชิกยังคงต้องปริ้นท์ออกมาเพื่อลงนามเหมือนเดิม  

๕.๓ กลุ่มงานประสานความร่วมมือกับองค์กรภายนอก

๕.๓.๑ อบรมเชิงปฏิบัติการ “การรายงานข่าวเพื่อผลักดันกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice - RJ)” สมาคมฯ ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย TIJ จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ ““การรายงานข่าวเพื่อผลักดันกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice - RJ)”  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สื่อมวลชนทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อออนไลน์ และผู้ผลิตเนื้อหาในสื่อออนไลน์ มีความเข้าใจองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ และเพื่อให้สื่อมวลชนมีความเชี่ยวชาญในการรายงานข่าวทุกช่องทางโดยอธิบายถึงที่มาความสำคัญของปัญหา และแนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ตลอดจนการผลักดันให้สังคมนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปปรับใช้  มีสื่อมวลชนเข้าร่วมอบรม ๑๕ คน เมื่อ ๑ - ๓  เมษายน ๒๕๖๖ ณ ภูสักธารรีสอร์ท (ตำบลหินตั้ง) จังหวัดนครนายก

หลังจากการอบรม มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่สนใจประเด็น “การรายงานข่าวเพื่อผลักดันกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice - RJ)” นำเสนอแนวคิดเพื่อรับทุนในการผลิตผลงานเผยแพร่ จำนวน ๕ ทุน

๕.๓.๒ อบรมเชิงปฏิบัติการ “การรายงานข่าวเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด 

(Harm Reduction)” สมาคมฯ ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย TIJ จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การรายงานข่าวเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction)”โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เพื่อให้สื่อมวลชน มีความเข้าใจแนวทางการแก้ปัญหายาเสพติดทางเลือก Harm Reduction มากขึ้น สามารถนำไปเสนอออกสู่สังคมได้  และเพื่อให้สังคมไทยรู้จักทางเลือกใหม่ในการแก้ปัญหายาเสพติดที่ไม่ใช่เพียงการปราบปรามจับกุม เปิดมุมมองใหม่ และเปลี่ยนทัศนคติต่อผู้เสพยา  มีสื่อมวลชนเข้าร่วมอบรม ๑๙ คน เมื่อ ๑๙-๒๑  มกราคม ๒๕๖๗ ณ ห้องเลควิว บอลรูม ศักดิ์สยาม เลคไซด์ รีสอร์ท จังหวัดนนทบุรี

หลังจากการอบรม มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่สนใจประเด็น “การรายงานข่าวเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction)”  นำเสนอแนวคิดเพื่อรับทุนในการผลิตผลงานเผยแพร่ จำนวน ๕ ทุน

๕.๓.๓ ประชุมร่วมกับ INET คณะกรรมการบริการบริหาร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับและพูดคุยหารือกับ นางสาววทนพร ฉิมบรรเทิง และ นางสาวชนากานต์ จายะกัน Business Development ตัวแทน บมจ. อินเทอร์เน็ตประเทศไทย หรือ iNet ถึงการใช้ระบบดิจิทัล หรือ Digital Transformation ในงานด้านการสมัคร ต่ออายุสมาชิก การอบรม สัมมนา หลักสูตรต่างๆ ฯ เพื่อเป็นองค์ความรู้ในการยกระดับระบบงานของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ เมื่อ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๖ 

๕.๓.๔ วางพวงมาลาถวายราชสักการะล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ นายชำนาญ ไชยศร อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ เป็นผู้แทนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เข้าร่วมวางพวงมาลาถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ณ วชิรปาร์ค คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล  เมื่อ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ 

๖. คณะกรรมการอนุกรรมการฝ่ายกิจกรรมพิเศษ

๖.๑ ปรับปรุงอาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตามที่มีก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ทำให้พื้นที่บริเวณด้านหน้าอาคารสมาคมฯ จากแนวริมฟุตปาธเข้ามาจนติดตัวอาคารถูกเวนคืนเพื่อก่อสร้าง ๑ ใน ๔ ทางออกของสถานีรถไฟฟ้าสถานีวชิรพยาบาล รวมทั้งกิจการร่วมค้าซีเคเอสที-พีแอล (ประกอบด้วย บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ขอเข้าใช้พื้นที่อาคารสมาคมฯ ระหว่างการก่อสร้าง  ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ ๒-๓ ปี ซึ่งหากการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องมีการปรับปรุงอาคารสมาคมฯ ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก คณะกรรมการอนุกรรมการฝ่ายกิจกรรมพิเศษ จึงได้จัดประชุมที่ปรึกษาสมาคมฯ เพื่อระดมความเห็นเรื่องแนวทางการปรับปรุงและระดมทุน เมื่อ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖