รายงานกิจกรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ประจำปี 2548

คณะกรรมการบริหาร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมัยที่ 6 ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 5 มีนาคม 2548-4 มีนาคม 2549 ได้ร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางการบริหารงานโดยในปีนี้จะเน้นประเด็นการปฏิรูปสมาคม ส่วนการทำงานของฝ่ายงานด้านต่างๆ ยังคงใช้รูปของคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆเช่นเดิม แต่มีการปรับกระบวนการทำงานให้เกิดระบบการจัดการแบบบูรณาการในทุกข่ายงานมากขึ้น และเนื่องจากคณะกรรมการบริหาร สมาคมฯ มีแนวคิดเรื่องการปฏิรูปสมาคมฯ จึงได้มีการตั้งคณะทำงานปฏิรูปสมาคมฯ ขึ้นมาอีก 1 ฝ่าย

1. คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ แบ่งการจัดทำกิจกรรมต่าง ๆ ออกเป็น 2 แผนงาน ดังนี้

1.1 แผนงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างสมาคมฯกับองค์กรต่างประเทศในระดับนานาชาติ

1.1.1 การประชุมใหญ่ของ IFEX สมาคมฯ ได้มอบหมายให้นายอนุชา เจริญโพธิ์ อนุกรรมการฝ่ายต่าง ประเทศ สมาคมฯ เข้าร่วมการประชุมใหญ่ของ International Freedom of Expression Exchage –IFEX เมื่อวันที่ 17-25 กุมภาพันธ์ 2549 ณ เมืองบัลเซส ประเทศเบลเยี่ยม ในฐานะที่สมาคมนักข่าวฯเป็นสมาชิกก่อตั้งของ IFEX ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรด้านสื่อมวลชนที่ทำงานรณรงค์ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศแคนาดา ในประเด็น ACTING TOGETHER TO DEFEND FREE EXPRESSION

1.1.2. การสัมมนาเรื่อง Credit Facilities : Opportunities for Media Development สมาคมฯ ได้มอบหมาย ให้นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษา สมาคมฯ เข้าร่วมการสัมมนาเรื่อง Credit Facilities : Opportunities for Media Development ณ กรุงอัมสเตอร์ดรัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตามคำเชิญของ Free Voice เมื่อวันที่ 8-9พฤศจิกายน 2548

1.1.3 การประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่15 ของสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งอาเซียน (Confederation of Asian Journalists-CAJ) ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 4 – 8 สิงหาคม 2548 ณ กรุงเทพ ประเทศไทย เนื้อหาการประชุมเน้นเรื่อง “ข่าวเอเชียในมุมมองสื่อมวลชนอาเซียน” ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร CAJ ชุดใหม่ โดยนางผุสดี คีตวรนาฏ ประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธาน CAJ ส่วนเลขาธิการ CAJ ได้แก่นายบุตรดา ศรีเลิศชัย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและเลขาธิการสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งอาเซียน ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2518 โดยมีนักหนังสือพิมพ์ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งจาก 5 ประเทศ คือ ไทย, อินโดนีเซีย, สิงค์โปร์, มาเลเซียและฟิลิปปินส์ เพื่อร่วมกันสร้างความเป็นธรรมในสังคมและสันติภาพในภูมิภาคนี้ภายใต้หลักการของปฏิญญาอาเซียน

1.2 แผนงานด้านความสัมพันธ์กับสมาคมนักข่าวต่างประเทศ

1.2.1.โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อไทย-กัมพูชา สมาคมฯ ตระหนักว่าจากเหตุการณ์ความไม่เข้าใจ กันระหว่างประชาชนไทยกับประชาชนชาวกัมพูชา ซึ่งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงบริเวณสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2546 นั้น สื่อมวลชนมีส่วนอย่างมากต่อการเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ดังกล่าว จึงได้ริเริ่มโครงการสร้างความสัมพันธ์กับสื่อมวลชนกัมพูชาอีกครั้ง โดยการเชิญผู้แทนสื่อมวลชนกัมพูชาจำนวน 6 คนมาเยือนสื่อมวลชนไทย พร้อมทั้งจัดให้มีการสัมมนาร่วมกันในหัวข้อ Role of Media in Enhancing Thai-Cambodia Relation เมื่อ 16-22 สิงหาคม 2547 จากการสัมมนาดังกล่าว มีข้อเสนอสำคัญว่า สื่อมวลชนไทยและกัมพูชา ควรมีการไปมาหาสู่เพื่อส่งเสริมความเข้าใจที่ดีระหว่างกันทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมทั้งพยายามหาหนทางที่จะพัฒนาความร่วมมือกันในด้านอื่นๆ เพื่อช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชา พัฒนาไปสู่ความร่วมมือกันมากขึ้น ทั้งในระดับประชาชนและระดับรัฐบาล ในปีนี้ สมาคมฯ จึงได้ส่งผู้แทนสมาคมฯจำนวน 6 คน นำโดยนางผุสดี คีตวรนาฏ นายกสมาคมฯ ไปเยือนกัมพูชาเมื่อวันที่ 9-14 ตุลาคม 2548 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

1.2.2 โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนไทย-จีน เป็นโครงการที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี 2542 โดยผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพต้อนรับคณะสื่อมวลชนของแต่ละประเทศปีละ 1 คณะ ในปี 2549 คณะสื่อมวลชนไทยจำนวน 9 คน นำโดยนางผุสดี คีตวรนาฏ นายก สมาคมฯ เป็นฝ่ายไปเยือนเมื่อวันที่ 3-12 มกราคม 2549 ณ เมืองฮาร์บิน, ปักกิ่งและแมนจูเรีย ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

1.2.3 โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์สื่อมวลชนไทย-ลาว นับเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดของประเทศไทย ที่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนด้วยกันเป็นระยะเวลาต่อเนื่องมากว่า 10 ปี ในปีนี้คณะสื่อมวลชนจากประเทศไทยนำโดยนางผุสดี คีตวรนาฏ นายก สมาคมฯ ได้ไปเยือนประเทศลาวและเมืองต่างๆ ทางตอนเหนือ เมื่อวันที่ 11-15 กุมภาพันธ์ 2549

2. คณะอนุกรรมการพิจารณาบทบาทสมาคม ฯ ในสถานการณ์เร่งด่วน สมาคมฯ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการชุดนี้ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาบทบาทของสมาคมฯ เมื่อเกิดสถานการณ์เร่งด่วนเฉพาะหน้า โดยในปีที่ผ่านมาได้มีการออกแถลงการณ์และจดหมายเตือนในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

2.1 แถลงการณ์ร่วมระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กับสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่ง ประเทศไทย เรื่องประณามการสังหารนักข่าวท้องถิ่น (นายพงษ์เกียรติ แซ่ตั้ง บรรณาธิการหนังสือพิมพ์หาดใหญ่โพสต์) เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2548

2.2 แถลงการณ์กรณีนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงกล่าวหานักข่าวเต้าข่าวและนั่งเทียนเขียนข่าว เมื่อ 27 เมษายน 2548

2.3 การจัดทำรายงานสถานการณ์สื่อมวลชนไทยในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ยุคแห่งการบั่นทอนความน่าเชื่อถือสื่อมวลชนไทย เมื่อ 3 พฤษภาคม 2548

2.4 แถลงการณ์ กรณีที่นายกรัฐมนตรีวิจารณ์การพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ เมื่อ 12 พฤษภาคม 2548

2.5 จดหมายเปิดผนึกกรณีรายการ “นายกฯทักษิณคุยกับประชาชน เรื่องแถลงการณ์สมาคมนักข่าวฯ” เมื่อ 14 พฤษภาคม 2548

2.6 ข่าวประณามการลอบยิงนายมานพ รัตนจรุงพร ผู้สื่อข่าวท้องถิ่น เครือมติชน ประจำจังหวัดพังงา และประธานชมรมสื่อมวลชน จังหวัดพังงา เมื่อ 2 มิถุนายน 2548

2.7 จดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนสื่อมวลชนกรณีถูกกล่าวหาว่าไม่รักชาติ เมื่อ 11 กรกฎาคม 2548

2.8 ข่าวความเห็นของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยกรณีการออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อ 15 กรกฎาคม 48

2.9 แถลงการณ์ร่วมระหว่างสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรื่องคัดค้านพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อ 23 สิงหาคม 2548

2.10 แถลงการณ์ร่วมระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ สมาคม นักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และกลุ่มพันธมิตรสื่อมวลชน กรณี บริษัท จี เอ็ม เอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อหุ้นของบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และบริษัทโพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เมื่อ 15 กันยายน 2548

2.11 แถลงการณ์ร่วมระหว่างสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยเรื่องผิดหวังกับการเลือกกสช.ของวุฒิสภา ยืนยันเดินหน้าตรวจสอบการทำงานของกสช.ต่อไป เมื่อ 28 กันยายน 2548

2.12 แถลงการณ์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเรื่องประณามการสังหารนายสันติ ลำมณีนิลนักข่าวท้องถิ่นผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี บรรณาธิการหนังสือพิมพ์พัทยาโพสต์ และผู้สื่อข่าวพิเศษหนังสือพิมพ์ข่าวสด เมื่อ 3 พฤศจิกายน 2549

2.13 แถลงการณ์ร่วมระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรื่องขอให้เร่งติดตามคนร้ายที่ลงมือขว้างระเบิดสำนักงานหนังสือพิมพ์ผู้จัดการมาลงโทษโดยเร็ว เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2548

2.14 แถลงการณ์ร่วมระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยกรณีผู้บัญชาการกองพลที่1รักษาพระองค์ประกาศนำนายทหารบุกสำนักงานหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2548

2.15แถลงการณ์ร่วมระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยกรณีการคุกคามและปิดกั้นการถ่ายทอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรทางเคเบิลทีวี เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2548

2.16 แถลงการณ์ร่วมระหว่างสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยกรณี คัดค้านการแก้กฎหมาย พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯ โอนอำนาจ กสช. ให้ กทช.และเรียกร้องกรรมการสรรหาลาออก แสดงความรับผิดชอบกรณี กสช. เมื่อ 25 พฤศจิกายน 2548

2.17 แถลงการณ์ร่วมระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ ไทย สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)และสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กรณี คัดค้านการแปรสภาพกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อ 23 ธันวาคม 2548

2.18แถลงการณ์ร่วมระหว่างสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เรื่องการใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหาชาติ เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2548

3. คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ ได้แบ่งการจัดทำกิจกรรมต่าง ๆ ออกเป็น 3 แผนงาน คือ

3.1. แผนงานด้านการอบรม ต่าง ๆ ในปีนี้มีการจัดอบรมเพื่อการเพิ่มพูนทักษะจำนวน 4 ครั้ง

3.1.1 การอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพิราบน้อยรุ่น 8 เป็นกิจกรรมที่สมาคมฯ จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพสื่อสารมวลชนด้านสิ่งพิมพ์ (Professional Development) ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อจริยธรรมในวิชาชีพ (Ethics Responsibility) และเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะองค์กรเพื่อสังคม (Organizational Social Responsibility) โดยมีนักศึกษาที่เรียนด้านวิชาการหนังสือพิมพ์จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วมการอบรมจำนวน 80 คน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2548 ณ วังยางริเวอร์พาร์ครีสอร์ท อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท ทรู คอปอร์เรชั่น จำกัด มหาชน

3.1.2 การอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวใหม่ สมาคมฯ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวใหม่ขึ้นเพื่อ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการทำข่าวของสื่อมวลชน โดยเนื้อหาการอบรมประกอบด้วยคือส่วนที่เป็นการฟังบรรยายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และในส่วนของการปฏิบัติจริง ซึ่งการปฏิบัติจริงนั้นได้ใช้เทคนิคหลากหลายรูปแบบ ทั้งเทคนิคการลงพื้นที่ทำงานจริง การแบ่งกลุ่มระดมสมอง การใช้กิจกรรมกลุ่ม บทบาทสมมติ การสัมภาษณ์ เป็นต้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเน้นการมีส่วนร่วม ให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรมต่างๆ ที่กำหนดไว้ในแผนการอบรม เมื่อ 15-17 กรกฎาคม 2548 ณ จุลดิสเขาใหญ่รีสอร์ท จังหวัดนครราชสีมา ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มีนักข่าวรุ่นใหม่เข้าร่วมการอบรม 29 คน

3.1.3 การอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น สมาคมฯได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่องควบคู่กับไปการจัดการประกวดข่าวยอดเยี่ยมของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น โดยในปีนี้ ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจำนวน 2 ครั้ง คือการสัมมนานักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคกลาง-ภาคตะวันออก (3-5 มิถุนายน 2548 ณ โรงแรมริเวอร์ วิว เพลส จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) และการสัมมนานักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคใต้ (25-27 พฤศจิกายน 2548 ณ โรงแรมซีเอส จังหวัดปัตตานี) เรื่อง “การทำข่าวในสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้” ซึ่งในส่วนของภาคใต้ได้เปิดโอกาสให้นักข่าวจากภูมิภาคอื่นๆ ส่งผู้แทนเข้าร่วมการสัมมนาด้วย สนับสนุนงบประมาณโดยมูลนฺฟรีดริค เอแบร์ท

3.2 แผนงานด้านวิชาการสาธารณะ

3.2.1 โครงการพัฒนาแนวทางการนำเสนอข่าวประเด็นผู้หญิง สมาคมฯ ร่วมกับมูลนิธิสร้างความ เข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) จัดทำเพื่อรวบรวมและวิเคราะห์สภาพปัญหาที่พบในการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ผู้หญิง ภายใต้กรอบคิดเรื่องเพศและสิทธิมนุษยชน พัฒนาแนวทางการนำเสนอข่าวประเด็นผู้หญิงที่ละเอียดอ่อนต่อมิติเพศและสิทธิมนุษยชนและผลิตคู่มือการนำเสนอข่าวประเด็นผู้หญิงที่มีความละเอียดอ่อนต่อมิติเพศและสิทธิมนุษยชน โดยได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาแนวทางการเสนอข่าวประเด็นผู้หญิงทำหน้าที่ในการพิจารณารูปแบบและคำศัพท์วาทกรรมเรื่องเพศในหนังสือ พิมพ์, ความรุนแรงต่อผู้หญิง,การเสนอข่าว “ข่มขืน”,“ความรุนแรงในครอบครัว”, “การให้บริการทางเพศ”,“การทำแท้ง”,“ร่างกายผู้หญิง ความงาม” ,"คนรักเพศเดียวกันและการเลือกปฎิบัติ" และจัดทำโครงการสำรวจความคิดเห็นของผู้อ่านหนังสือพิมพ์ต่อพาดหัวข่าวประเด็นผู้หญิง ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ซึ่งมีการแถลงผลภายในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2549

3.2.2 โครงการร่วมรำลึก 100 ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ 2548 : อุดมการณ์ไม่มีวันตาย เนื่องจากปี 2548 เป็นปีที่ครบรอบ 100 ปี ท่านกุหลาบ สายประดิษฐ์ “ศรีบูรพา” สมาคมฯ จึงได้ร่วมกับโครงการรำลึก 100 ปี ศรีบูรพาจัดทำโครงการขึ้นเพื่อรำลึกและเชิดชู “กุหลาบ สายประดิษฐ์” ในฐานะนักหนังสือพิมพ์ และเพื่อถ่ายทอดอุดมการณ์นักหนังสือพิมพ์สู่คนรุ่นใหม่ให้ตระหนักถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ โดยมีการจัดกิจกรรมเสวนทางวิชาการเรื่อง ดู“ศรีบูรพา” ด้วยแว่นขาว และเรื่อง “แลไปข้างหน้า (ภาคปัจจุบัน) อุดมการณ์นักข่าวหายไปไหน” เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2548 รวมทั้งได้มีการจัดพิมพ์หนังสือเล่มเล็กชื่อ “สัมผัส “ศรีบูรพา” เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์นักหนังสือพิมพ์สู่คนรุ่นใหม่ แบบ “ศรีบูรพาสอนน้อง” โดยในส่วนของการจัดพิมพ์หนังสือได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด(มหาชน)

3.2.3 โครงการเวทีนโยบายสาธารณะสื่อมวลชนกับยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ สมาคมฯ จัดทำโครงการเวทีนโยบายสาธารณะฯขึ้นเพื่อให้องค์กรสื่อมวลชนทุกประเภท ทั้งประเภทสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ทั้งของรัฐและเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนายุทธศาสตร์ ส่งเสริมความเป็นเอกภาพในยุทธศาสตร์ของภาครัฐ และกระบวนการทางสังคม โดยได้มีการเวทีดังกล่าวไป 1 ครั้งในหัวข้อเรื่อง สื่อสันติภาพ : บทสนทนาอุษาคเนย์ เมื่อ 15 ธันวาคม 2548 โดยได้เชิญสื่อมวลชนที่มีประสบการณ์การรายงานข่าวความรุนแรงจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย และศรีลังกา มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสื่อมวลชนไทย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

3.3 แผนงานราชดำเนินเสวนา ได้มีการจัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนาต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 จากเดิมที่เรียกชื่อ กิจกรรมว่า “เสาร์เสวนา” เนื่องจากหลายครั้งที่การจัดกิจกรรมมิได้เป็นการจัดในวันเสาร์ แต่เป็นวันอื่นๆ ตามความจำเป็นของเนื้อหาและความสะดวกของผู้ร่วมรายการ จึงนำชื่อถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นถนนแห่งการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพอีกทั้งยังเป็นถนนที่ตั้งของสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ด้วย มาใช้เรียกกิจกรรมนี้ว่า “ราชดำเนินเสวนา” โดยในปีนี้ยังคงเน้นเนื้อหา ที่จะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ของนักข่าว รวมทั้งการติดตามสถานการณ์ประเด็นปัญหาเฉพาะหน้าเช่นเดิม โดยได้จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนาไปจำนวน 32 ครั้ง

3.3 แผนงานจัดรายการวิทยุช่วยกันคิดทิศทางข่าว สมาคมนักข่าวฯ ร่วมกับสำนักข่าวไทยและบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) จัดรายการวิทยุ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทางสถานีวิทยุ อสมท. FM 100.5 Mhz ทุกวันอาทิตย์ เวลา 15.00-16.00 น. โดยแนวคิดหลักที่วางกันไว้อย่างสม่ำเสมอคือการจัดเวลาสำหรับการประมวลเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับแวดวงสื่อ เรื่องราวกิจกรรมของสมาคมฯกับสาธารณะ และการประมวลสถานการณ์และชี้แนวโน้มอนาคต โดยมีนักจัดรายการที่เป็นกรรมการ อนุกรรมการ สมาคมฯ รวมทั้งนักข่าวที่อยู่ในสนามข่าว และได้มีการปรับเปลี่ยนเวลาในการออกอากาศจากเดิมเป็นทุกวันอาทิตย์เวลา 10.00-11.00 น. ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549

4. คณะอนุกรรมการฝ่ายส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ แบ่งการทำกิจกรรมออกเป็นด้านต่าง ๆ 3 แผนงาน คือ

4.1 แผนงานด้านกฎหมาย สมาคมฯ จัดทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องด้านกฎหมาย ดังนี้

4.1.1 โครงการศึกษาวิจัยกลไกตามมาตรา 41 ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาวิจัยกลไกตาม มาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 โดยจะมีการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามมาตราดังกล่าวจาก 3 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศสและเยอรมัน และจะมีการจัดประชุมเพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็นต่อผลการศึกษาดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การจัดทำกลไกที่สอดคล้องกับมาตรา 41 ต่อไป ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอจากนักวิชาชีพและนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์

4.2 แผนงานด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ สมาคมฯ มีกิจกรรมด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ดังนี้

4.2.1 โครงการสัมมนาเนื่องในวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) สมาคมฯ ร่วมกับ SEAPA และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดการสัมมนาเนื่องในวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เมื่อ 3 พฤษภาคม 2548 โดยในปีนี้เน้นเนื้อหาเรื่อง “ปฏิรูปสื่ออย่างไร ให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด: จากรัฐธรรมนูญสู่ความเป็นจริง” มีการประชุมระดมความคิดเห็น

4.2.2 โครงการจัดทำ Alert สมาคมฯ จัดทำโครงการ Alert ขึ้นเพื่อเผยแพร่ปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพสื่อในประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก South East Asian Press Aliance

4.2.3 โครงการศึกษาสภาพปัญหาในเขต ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดี สมาคม ฯร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้จัดทำโครงการศึกษาสภาพปัญหาในเขต ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดี เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและรอบด้านแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในระดับบริหาร ซึ่งจะนำไปสู่การนำเสนอข่าวสารสถานการณ์ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกต้องแม่นยำ และเกิดความสมานฉันท์ระหว่างประชาชนคนไทยทั้งประเทศ โดยมีการนำบรรณาธิการทั้งหนังสือพิมพ์,วิทยุและโทรทัศน์ ร่วมศึกษาปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดปัตตานี,จังหวัดยะลาและจังหวัดนราธิวาส) เมื่อวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2548 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

4.2.4 การให้ความช่วยเหลือนักข่าวท้องถิ่น จากกรณีที่นายมานพ รัตนจรุงพร นักข่าวท้องถิ่นเครือหนังสือพิมพ์มติชนที่ได้รับบาดเจ็บถูกลอบยิงซึ่งเป็นผลมาจากการทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชน สมาคมฯได้ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นโดยการนำกระเช้าดอกไม้และมอบเงินจำนวนหนึ่งให้กับนายมานพ รัตนจรุงพร เมื่อ 14 มิถุนายน 2548

4.3 โครงการรณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพสื่อ “ต้านฮุบสื่อ” จากกรณีที่ บริษัท จี เอ็ม เอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อหุ้นของบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และบริษัทโพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) สมาคมฯพิจารณาเห็นเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของสาธารณะและการกำหนดนโยบายการเสนอข่าวสารของสื่อในบริษัททั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ระดับชาติถึง 5 ฉบับ นับเป็นเรื่องที่อันตรายยิ่ง จึงได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเคลื่อนไหวกรณีแกรมมี่ฮุบสื่อ โดยมี 3 พันธะกิจสำคัญคือ 1.รักษาความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการ (editorial independence), 2. คัดค้านการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ (freedom of expression)และ 3. ป้องกันการเป็นเจ้าของกิจการข้ามสื่อ (cross media ownership) ผ่านการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ทั้งการจัดประชุมบรรณาธิการ,การเสวนา, การออกแถลงการณ์, การจัดพิมพ์หนังสือ “ต้านฮุบสือ่” และการผลิตเสื้อยืดรณรงค์

5. คณะอนุกรรมการฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ แบ่งการทำกิจกรรมออกเป็นด้านต่าง ๆ 3 ด้าน คือ

5.1 แผนงานด้านสมาชิกสัมพันธ์ สมาคมฯ ให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมด้านสมาชิกสัมพันธ์มาก เนื่อง จากต้องการเห็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างสมาชิกทุกรุ่น ทุกวัย ในปีนี้จึงได้จัดกิจกรรมสมาชิกสัมพันธ์ ดังนี้

5.1.1 โครงการค่ายกระจิบ กระจาบ พิราบน้อย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ จัดทำโครงการค่าย กระจิบ กระจาบ พิราบน้อย รุ่น 2 ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้บุตร - หลานของสมาชิกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ผ่านการทำกิจกรรมหลากหลาย โดยแทรกทักษะทางด้านการอ่าน เพื่อกระตุ้นและปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน ให้เห็นคุณค่าของหนังสือ เน้นการเรียนรู้และเชื่อมโยงกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านกระบวนการกลุ่มอย่างสนุกสนาน โดยมีบุตรหลานนักข่าวจำนวน 40 คนเข้าร่วม ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-7 พฤษภาคม 2548 ณ อาคารยูนิลีเวอร์ แฟมิลี่ เลิร์นนิ่ง เซ็นเตอร์, เมืองจราจรจำลอง, อุทยานผีเสื้อและแมลง, พิพิธภัณฑ์เด็ก และ Underwater World Pattaya โดยการจัดทำโครงการครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด ดำเนินการจัดกิจกรรมโดย บริษัท รักลูก ดิสคัฟเวอรรี่ เลิร์นนิ่ง จำกัด

5.2 แผนงานด้านการประชาสัมพันธ์ สมาคมฯ ทำกิจกรรมด้านการประชาสัมพันธ์ผ่าน 2 กิจกรรม

5.2.1 จุลสารราชดำเนินราย 3 เดือน เป็นจุลสารราย 3 เดือน ที่ปีนี้มีการปรับปรุงเนื้อหา ให้มีความเป็นวิชาการมากขึ้น โดยจะเน้นการสรุปองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ในการทำงานข่าว ให้มีหลักวิชาการที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึง และเข้าใจได้อย่างง่าย โดยในปีที่ผ่านมาได้จัดทำจุลสารราชดำเนิน 5 ฉบับ เนื้อหาหลักเน้นเรื่องนักข่าวติดเกมส์,บทบาทสื่อในการตรวจสอบทุจริต,การทวงคืนเสรีภาพสื่อ,ปัญหาการฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาทสื่อและการต่อสู้ของหนังสือพิมพ์ออนไลน์

5.2.2 www.tja.or.th สมาคมฯ ได้พัฒนาสื่อเวบไซด์ www.tja.or.th โดยให้มีข้อมูลกิจกรรมของ สมาคมฯ ให้มีความทันสมัย และได้พยายามเพิ่มเติมเนื้อหาพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับวงการสื่อสารมวลชนให้มากที่สุด โดยเฉพาะในส่วนเนื้อหาจากการเสวนา-สัมนาต่างๆ ได้มีการสรุปลงในเวบของสมาคมฯอย่างต่อเนื่องและครบถ้วน

5.3 แผนงานด้านสวัสดิการสมาชิก สมาคมฯ ยังคงมอบสวัสดิการด้านต่างๆ ให้กับสมาชิกมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมาได้จัดสวัสดิการด้านต่างๆ ให้กับสมาชิกตามระเบียบสวัสดิการสมาชิก 6 ประเภท ดังนี้

5.3.1 สวัสดิการคลอดบุตรคนแรก สมาคมฯ มอบสวัสดิการคลอดบุตรคนแรกเป็นเงินช่วยเหลือ จำนวน 3,000 บาท โดยในปีที่ผ่านมาได้มอบสวัสดิการคลอดบุตร จำนวน 7 ราย รวมเป็นเงิน 21,000 บาท

5.3.2 สวัสดิการทุนการศึกษาบุตร – ธิดาสมาชิก ในปีนี้สมาคมฯ ได้มอบทุนการศึกษาให้กับบุตร – ธิดาสมาชิกที่ยื่นขอรับทุนครอบครัวละ 1 ทุน จำนวน 131 ทุน ทุนละ 4,000 บาท รวมเป็นเงิน 524,000 บาท โดยมีพิธีมอบทุนเมื่อ 23 เมษายน 2548

5.3.3สวัสดิการรักษาพยาบาล สมาคมฯ มอบสวัสดิการรักษาพยาบาลให้กับสมาชิกทั้งการรักษา พยาบาลแบบผู้ป่วยในและการรักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยนอก โดยในปีนี้สมาคมฯ ได้มอบสวัสดิการผู้ป่วยในให้กับสมาชิกจำนวน 4 ราย รวมเป็นเงิน 17,016 บาทและสวัสดิการผู้ป่วยนอกจำนวน 5 ราย รวมเป็นเงิน 9,615 บาท

5.3.4 สวัสดิการมรณกรรม สมาคมมอบสวัสดิการมรณกรรมให้กับสมาชิกโดยแบ่งเป็น 2 กรณีคือ การจัดทำประกันชีวิต ซึ่งในปีนี้สมาคมฯ ได้จัดทำประกันชีวิตให้กับสมาชิกจำนวน 649 คน รวมเป็นเงิน 371,943.04 บาท และยังมีสวัสดิการสวดอภิธรรมศพจำนวน 7 ราย รวมเป็นเงิน 17,500 บาท

5.3.5 สวัสดิการรักษาต้อกระจก สมาคมฯ ร่วมกับโรงพยาบาลจักษุรัตนินจัดทำโครงการรักษาต้อกระจกฟรีภายใต้ชื่อ “เพื่อดวงตาสดใส....จากใจรัตนิน” โดยจะให้การรักษาต้อกระจกฟรีแก่สมาชิกของสมาคมจำนวน 2 ดวงตาต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งในปีแรกนี้สมาคมฯ ได้ส่งนางสาวพรจิต แก้วไพรศรี สามัญสมาชิกสมาคม สังกัดกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจไปรับการรักษา 1 ดวงตา

5.3.6 สวัสดิการกองทุนเหยี่ยวปีกหัก เป็นกองทุนสำหรับให้ความช่วยเหลือนักข่าวอาวุโสโดยในปีนี้สมาคมฯ ได้บริจาคเงินเข้ากองทุนไปจำนวน 200,000 บาท

6.คณะอนุกรรมการฝ่ายกิจกรรมพิเศษ เป็นคณะอนุกรรมการที่ทำหน้าที่ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อหารายได้ และจัดกิจกรรมพิเศษในวาระต่าง ๆ โดยในปีที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรม ดังนี้

6.1 การจัดงานวันนักข่าว 2549 Thai Press 50th Anniversary ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 รวมทั้งเนื่องในโอกาสวันที่ 5 มีนาคม 2549 ซึ่งเป็นวันนักข่าวและในวาระแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการบริหาร สมาคมฯ มีดำริให้มีการจัดงาน วันนักข่าว 2549 Thai Press 50th Anniversary ขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและประกาศเกียรติคุณแก่นักข่าวหนังสือพิมพ์ ที่ได้รับรางวัลจากผลการประกวดข่าวประเภทต่างๆ ประจำปี 2548 และเพื่อเป็นการหารายได้เพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีการแบ่งการจัดงานออกเป็น 2 วัน คือวันที่ 4 มีนาคม 2549 เป็นการประชุมใหญ่และสังสรรค์ในมวลหมู่สมาชิกสมาคมฯที่อาคารสมาคม ส่วนวันที่ 5 มีนาคม 2549 เป็นการจัดงานในรูปแบบของงานกาล่าดินเนอร์ซึ่งกิจกรรมประกอบด้วยพิธีมอบรางวัลข่าวประเภทต่างๆ พิธีประกาศการจัดตั้งสถาบันข่าว, การประกาศเกียรติคุณหน่วยงานและนักข่าวที่เข้าร่วมงานกับศูนย์ข่าวอิศรา และการปาฐกถาเรื่อง “ธรรมาภิบาล 3 ประสาน ทางออกสังคมไทย”

7.คณะทำงานปฏิรูปสมาคมฯ จากมติคณะกรรมการบริหาร สมาคมฯ ที่ได้แต่งตั้งคณะทำงานปฏิรูปสมาคมฯเพื่อทำ หน้าที่ในการแสวงหาแนวทางการทำงานที่สอดคล้องและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในภาวะที่การเติบโตของสมาคมฯ ซึ่งต้องแบกรับความคาดหวังของสังคม โดยมีเป้าหมายในการกำหนดยุทธศาสตร์ ทบทวนโครงสร้างสมาคมฯ รวมทั้งการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรต่าง ๆ ซึ่งในปีที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้มีการประชุมหารือกับบุคคลฝ่ายต่างๆ ทั้งนักวิชาการด้านสื่อมวลชน นักวิชาชีพสื่อทั้งในส่วนที่เป็นอดีตนายกหรือกรรมการสมาคมฯ และนักข่าวในภาคสนาม ทั้งจากแหล่งข่าวในภาคธุรกิจ สังคมและการเมือง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำข้อสรุปแนวทางการปฏิรูปสมาคมฯ อันจะได้มีการนำไปปรับใช้ในการทำงานปีต่อไป

โดยในเบื้องต้น สมาคมฯ ได้ทดลองนำร่องการปฏิรูปสมาคมฯ ผ่านการทำงานของศูนย์ข่าวอิศรา “โครงการสื่อสันติภาพ : โต๊ะข่าวภาคใต้” ซึ่งเป็นทั้งเครื่องมือที่สำคัญและเป็นหัวรถจักรในการขับเคลื่อนการปฏิรูปสื่อทั้งทางโครงสร้าง แนวคิด การปฏิบัติหน้าที่อย่างรับผิดชอบแก่ประชาชนมากขึ้น อีกทั้งเป็นพื้นที่ในการผลักดันข่าวที่จะสร้างสมดุลสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านแนวคิดความหลากหลายทางวัฒนธรรม และสันติวิธี ที่จะต้องก้าวพ้นเรื่องของเชื้อชาติ ซึ่งมีทั้งการทำงานผ่านเวบไซต์ศูนย์ข่าวอิศรา (www’tjanews.org), โครงการทัวร์ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการจัดทำคู่มือการรายงานข่าวความมั่นคงและการทอดผ้าป่าสมานฉันท์-งานบุญ 3 จังหวัดภาคใต้

จากกิจกรรมที่ได้รายงานมาข้างต้น สะท้อนถึงการทำงานที่หลากหลาย และครบถ้วนทุกแง่มุม ซึ่งนอกจากเป้าหมายในการพัฒนามาตรฐานทางวิชาชีพทั้งด้านทักษะวิชาชีพและมาตรฐานทางจริยธรรมแล้ว ในส่วนของการส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่ส่งผ่านการทำหน้าที่ของสื่อยังคงเป็นภารกิจสำคัญของสมาคมฯ ดังคำกล่าวว่า “เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพประชาชน” และทั้งยังมีความพยายามในการเดินหน้าปฏิรูปสมาคมฯซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปสื่อและธำรงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์และหลักการแห่งวิชาชีพต่อไป