สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ดำเนินกิจกรรมมาเป็นปีที่ 4 แล้วหลังจากการรวมกันระหว่างสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งภายหลังการรวมกันเมื่อ 2 มีนาคม 2543 เป็นต้นมา คณะกรรมการบริหารสมาคมฯในแต่ละชุดก็ได้มุ่งมั่นในการเสริมสร้างความเป็นเอกภาพในองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน ให้สามารถทำหน้าที่ผดุงไว้ซึ่งมาตรฐานทางวิชาชีพ และจริยธรรมของสื่อมวลชนไทยได้อย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดมา
การดำเนินงานของคณะกรรมการบริหาร สมาคมฯ ชุดปัจจุบัน ได้ยึดหลักนโยบายในการ ส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ยึดมั่นในจริยธรรมและความเป็นกลาง เพื่อให้เกิดการยอมรับและน่าเชื่อถือใน วิชาชีพต่อสังคม พัฒนาการประกอบวิชาชีพ โดยเน้นการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้นำทางความคิด และสร้างและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาคมฯ สมาชิก องค์กรผู้ประกอบธุรกิจสื่อมวลชน และองค์กรวิชาชีพในต่างประเทศ โดยการทำงานผ่านคณะอนุกรรมการจำนวน 6 คณะ ดังนี้
คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ ประกอบด้วยอนุกรรมการ 5 คน และที่ปรึกษา 2 คน คือ คุณสนิทสุดา เอกชัย (ประธาน) คุณบุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์ คุณสฤษฎ์เดช มฤคทัต คุณกุลชาดา ชัยพิพัฒน์ คุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี คุณกวี จงกิจถาวร (ที่ปรึกษา)และคุณเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ (ที่ปรึกษา)
คณะอนุกรรมการพิจารณาบทบาทสมาคมฯ ในสถานการณ์เร่งด่วนประกอบด้วยอนุกรรมการ 8 คน และที่ปรึกษา 2 คน คือ คุณวีระ ประทีปชัยกูร (ประธาน) คุณดำฤทธิ์ วิริยะกุล คุณก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ คุณเสาวรส รณเกียรติ คุณสุรศักดิ์ จิรวัสตร์มงคล คุณประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ คุณธีรเดช เอี่ยมสำราญ คุณบากบั่น บุญเลิศ คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ (ที่ปรึกษา) และคุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี (ที่ปรึกษา)
คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ ประกอบด้วยอนุกรรมการ 7 คน และที่ปรึกษา 2 คน คือ คุณเสาวรส รณเกียรติ (ประธาน) ดร. วิลาสินี พิพิธกุล คุณอรุณี เอี่ยมศิริโชค คุณมงคล บางประภา คุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี คุณธีรเดช เอี่ยมสำราญ คุณประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ คุณบรรยงค์ สุวรรณผ่อง(ที่ปรึกษา) และคุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ (ที่ปรึกษา)
คณะอนุกรรมการฝ่ายส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ ประกอบด้วยอนุกรรมการ 7 คน และที่ปรึกษา 2 คน คือ คุณก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ (ประธาน) คุณสนิทสุดา เอกชัย คุณสุรศักดิ์ จิรวัสตร์มงคล คุณภัทระ คำพิทักษ์ คุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี คุณมงคล บางประภา คุณธีรเดช เอี่ยมสำราญ คุณกวี จงกิจถาวร (ที่ปรึกษา) และคุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ (ที่ปรึกษา)
คณะอนุกรรมการฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ ประกอบด้วยอนุกรรมการ 8 คน และที่ปรึกษา 2 คน คือ คุณดำฤทธิ์ วิริยะกุล (ประธาน) คุณปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ คุณวรพจน์ แสนประเสริฐ คุณบากบั่น บุญเลิศคุณวรุตม์ ลิ้มเฉลิม คุณเกรียงไกร บัวศรี คุณสุกัญญา แซ่ลิ่ม คุณพรภัสสร สุขะวัฒนะ คุณสมเจตน์ วัฒนาธร (ที่ปรึกษา) และนายเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ (ที่ปรึกษา)
คณะอนุกรรมการฝ่ายหารายได้และการบริหารการเงิน ประกอบด้วยอนุกรรมการจำนวน 5 คน และที่ปรึกษา จำนวน 2 คน คือ คุณดำฤทธิ์ วิริยะกุล(ประธาน) คุณเสาวรส รณเกียรติ คุณสุรศักดิ์ จิรวัสตร์มงคล คุณนาตยา เชษฐ์โชติรส คุณธานี ลิมปนารมณ์ คุณผุสดี คีตวรนาฏ (ที่ปรึกษา) และคุณบรรยงค์ สุวรรณผ่อง (ที่ปรึกษา)
โดยแต่ละคณะอนุกรรมการได้มีการดำเนินกิจกรรม ปรากฎผล ดังนี้
งานด้านต่างประเทศ คุณสนิทสุดา เอกชัย อุปนายก สมาคมฯ เป็นหัวหน้าคณะ นำสื่อมวลชนไทยจำนวน 10 คน ไปเยือนประเทศลาวในโครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ไทย-ลาว เมื่อวันที่ 16 – 23 พฤศจิกายน 2546 โดยได้มีการสัมมนาร่วมกันเรื่อง "สื่อมวลชนลาวไทยกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม" และได้มีข้อตกลงเบื้องต้นใน 3 ประเด็น คือ 1. การจัดทำคู่มือการทำข่าวความสัมพันธ์ไทย-ลาว 2. การเพิ่มความร่วมมือทางด้านวิชาการโดยจะจัดการอบรมร่วมกัน 3 หลักสูตรคือการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านการใช้ IT ในงานข่าว การสัมมนาเชิงปฏิบัติการทำข่าวสิ่งแวดล้อมและการสัมมนาเชิงปฏิบัติการสำหรับนักข่าวโทรทัศน์ ซึ่งในแต่ละหลักสูตรสมาคมฯ ได้ประสานงานความร่วมมือกับชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ตามลำดับ และ 3. การริเริ่มโครงการใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักข่าวไทย-ลาว รวมทั้งในปีนี้คุณดำฤทธิ์ วิริยะกุล อุปนายก สมาคมฯ เป็นหัวหน้าคณะนำสื่อมวลชนไทยจำนวน 4 คน ไปเยือนประเทศจีนตามคำเชิญของสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 9 – 18 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นครั้งที่ 4 ของการไปเยือนได้มีการหารือเรื่องแนวทางการเชื่อมความสัมพันธ์นักข่าวไทย-จีน
สำหรับการประสานงานกับเครือข่ายสื่อมวลชนในต่างประเทศ สมาคมฯทำกิจกรรมผ่านการ ทำงานร่วมกับ เครือข่ายส่งเสริมสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเซียอาคเนย์ หรือ SEAPA โดยมีผู้แทนสมาคมฯ เป็นกรรมการในเครือข่ายดังกล่าวจำนวน 3 คน คือนายกวี จงกิจถาวร(ประธาน SEAPA) นางสนิทสุดา เอกชัย และนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ซึ่งที่ในปีที่ผ่านมาก็มีการจัดกิจกรรมด้านสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์มาตลอด เช่น การส่งนักข่าวไทยเข้าร่วมโครงการ SEAPA Fellowship การจัดสัมมนา “Self-Regulartory for poadcast Media in Southeast Asia” และการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “Media and Human Rights” เป็นต้น
นอกจากนี้สมาคมฯ ยังได้มีการต้อนรับหน่วยงานด้านต่างประเทศที่มาแลกเปลี่ยนและดูงานที่ สมาคมฯ อีกเป็นระยะ ๆ
งานด้านวิชาการ สมาคมฯ ได้จัดกิจกรรมอบรมและสัมมนาตลอดปี ในกลุ่มเป้าหมายที่มี ความหลากหลาย เช่น นักข่าวรุ่นใหม่ นักข่าวรุ่นกลาง นักศึกษาที่เรียนด้านนิเทศศาสตร์ อาจารย์ผู้สอนด้านนิเทศศาสตร์ และนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นทั่วประเทศไทย โดยเริ่มจาก
การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ กระบวนทัศน์ใหม่กับงานวิจัยนิเทศศาสตร์ ” (22-24 มกราคม 2546) เพื่อเป็นการทบทวน วิเคราะห์ งานวิจัยที่ผ่านมา และส่งเสริมให้มีการทำวิจัยในประเด็นใหม่ๆ ที่เอื้ออำนวยให้เกิดประโยชน์ต่อนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์
การอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพิราบน้อยรุ่นที่ 6 (26-29 มิถุนายน 2546) เพื่อเป็นการส่ง เสริมการพัฒนาวิชาชีพสื่อสารมวลชนด้านสิ่งพิมพ์ มีนักศึกษาที่เรียนด้านนิเทศศาสตร์เข้าร่วมอบรมจำนวน 80 คน และได้มีการประชุมระดมความคิดเห็นกับอาจารย์ผู้สอนวิชาการหนังสือพิมพ์จำนวน 10 คน เรื่องปัญหาและอุปสรรคด้านการเรียน-การสอนวิชาการหนังสือพิมพ์ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนจากบริษัท เทเลคอมเอเซียคอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชนและองค์การยูนิเซฟประเทศไทย
การสัมมนาเชิงปฏิบัติการนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นปีที่ 4 ได้สัญจรจัดสัมมนาใน 4 ภูมิภาค ทั่วประเทศไทย โดยเริ่มจากภาคเหนือจัดร่วมกับเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคเหนือ (26-27 กรกฎาคม 2546) ภาคใต้จัดร่วมกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย (23-24 สิงหาคม 2546) ภาคกลางจัดร่วมกับเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคตะวันออก (24-25 ตุลาคม 2546) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดร่วมกับสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดอุบลราชธานี (22-23 พฤศจิกายน 2546) ซึ่งการจัดสัมมนาในแต่ละครั้งนอกจากจะได้เพิ่มพูนทักษะและความรู้ให้กับนักข่าวท้องถิ่นแล้วยังได้มีการสนทนากันในประเด็นกฎหมายและจริยธรรมของนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นด้วย และปรากฎว่าหลังจากที่สมาคมฯ ได้ทำงานกับนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี ทำให้ในปีนี้ได้มีการจัดตั้งเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ในแต่ละภาคขึ้นเพื่อเป็นองค์กรประสานงานในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในแต่ละ โดยการสัมมนาทั้ง 4 ภาคได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท
การอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวใหม่ (18-20 กรกฎาคม 2546) หลังจากที่แวดวงหนังสือพิมพ์ไม่มีนักข่าวใหม่มาเป็นเวลาหลายปี เนื่องจากตกอยู่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ สมาคมนักข่าวฯ ได้เริ่มจัดการ อบรมนักข่าวใหม่อีกครั้ง มีนักข่าวใหม่จำนวน 32 คน จาก 19 องค์กรสื่อเข้าร่วมการอบรมซึ่งเน้นเนื้อหาการพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐานให้กับนักข่าวใหม่ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด และธนาคารกสิกรไทย จำกัด มหาชน
การอบรมเชิงปฏิบัติการการทำข่าวสืบสวนสอบสวน จากนโยบายที่ส่งเสริมให้มีการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน (Investigative Reporting) ทำให้สมาคมฯ ได้มีการจัดอบรมในประเด็นการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนมาโดยตลอด และในปีนี้สมาคมฯ ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน (ข่าวเจาะ)”หลักสูตรเข้มข้นขึ้นจำนวน 2 รุ่น โดยมีนักข่าวเข้าร่วมอบรมรุ่นละ 12 คน (15-19 และ 22-26 กันยายน 2546) ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับความร่วมมือจากสมาคมนักข่าวแคนาดา (CJFE) โดยการสนับสนุนของ Canadian International Development Agency (CIDA) โดยมีวิทยากรเป็นนักข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนที่มีชื่อเสียงชาวแคนาดา และนักข่าวอาวุโสด้านการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนของไทย นอกจากนี้สมาคมฯ ยังได้ส่งนักข่าวไทยอีก 7 คน ไปร่วมอบรมการทำข่าวแบบสืบสวนสอบสวน Workshop on Investigative Reporting (9–13 กรกฎาคม 2546) ซึ่งจัดโดยเครือข่ายส่งเสริมสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเซียอาคเนย์ หรือ SEAPA (South East Asian Press Alliance) ร่วมกับ ศูนย์ส่งเสริมการทำข่าวสืบสวนสอบสวนแห่งประเทศฟิลิปปินส์ หรือ PCIJ (Philippines Center for Investigative Journalism ) ณ เมืองเดนปาซาร์ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
การประกวดข่าวประเภทต่าง ๆ ในปีนี้สมาคมฯ ได้จัดการประกวดข่าวประเภทต่าง ๆ ถึง 11 ประเภท มีเงินรางวัลที่จะมอบให้กับผลงานข่าวต่าง ๆ ถึง 27 รางวัล โดยเริ่มจากรางวัลอิศรา อันตกุลที่แบ่งเป็นประเภทรางวัลข่าวยอดเยี่ยม และ รางวัลภาพข่าวยอดเยี่ยม, รางวัลข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ทำหน้าที่ในการดำเนินการประกวด, รางวัลข่าวยอดเยี่ยมของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น, รางวัลพิราบน้อย ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ การประกวดหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษา การประกวดข่าวฝึกปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษา การประกวดข่าวสิ่งแวดล้อมฝึกปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษา รางวัลพิราบน้อย การประกวดข่าวส่งเสริมสิทธิเด็กในสถาบันอุดมศึกษา รางวัลยูนิเซฟ, รางวัลริต้า ปาติยะเสวี ซึ่งเป็นการประกวดผลงานสารคดีเชิงข่าวฝึกปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษา จัดการประกวดขึ้นเป็นปีแรก เพื่อเป็นที่ระลึกแด่นางสาวริต้า ปาติยเสวี อดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง รางวัลข่าวส่งเสริมสิทธิเด็กดีเด่น ขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย จัดขึ้นเป็นปีแรกเช่นกันและ รางวัลข่าวทุจริตเชิงสืบสวนสอบสวนยอดเยี่ยม ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่สอง โดยการประกวดข่าวแต่ละประเภทต่างจุดม่งหมายเดียวกันก็คือเพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณหนังสือพิมพ์และผู้เป็นเจ้าของผลงาน อันจะยังผลต่อการพัฒนาวิชาชีพและการสร้างเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมสืบไป
ส่วนงานวิชาการโครงการสุดท้ายของคณะกรรมการบริหารชุดนี้ก็คือการประชุมวิชาการประจำปี2546-2547 เรื่อง “สื่อมวลชน : คน และรัฐบาล” (29-30 มกราคม 2547) ซึ่งเป็นการประชุมวิชาการประจำปีที่จัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 5 แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอสถานการณ์ด้านวิชาชีพสื่อมวลชนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักวิชาการและนักวิชาชีพสื่อสารมวชนและเสนอแนะทางออกของสื่อมวลชนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการจัดร่วมกันระหว่างสมาคมฯ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
นอกจากงานอบรม สัมมนาและการจัดประชุมวิชาการประจำปีข้างต้นแล้ว งานด้านวิชาการที่สมาคมฯ ยังคงจัดให้มีอย่างสม่ำเสมอคือการจัดกิจกรรม เสาร์เสวนา ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาคุณภาพการทำงานข่าวให้มีคุณภาพและอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง โดยจะเชิญแหล่งข่าวมาพบปะพูดคุยและตอบคำถามนักข่าว เป็นประจำเดือนละ 1 ครั้ง ในปีนี้สมาคมฯ ได้จัดกิจกรรมเสาร์เสวนาไปจำนวน 8 เรื่อง มีนักข่าวให้ความสนใจเข้าร่วมฟังและนำเนื้อหาจากการเสวนาไปรายงานข่าวอย่างต่อเนื่อง และได้มีการปรับปรุงห้องสมุดสมาคม ฯ โดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นห้องสมุดที่รวมหนังสือ เอกสาร สิ่งพิมพ์และสื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนให้มากที่สุด ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อหนังสือและอุปกรณ์จากมูลนิธิแสง - ไซ้กี่ เหตระกูล เป็นเงิน 300,000 บาท
ส่วนการจัดตั้งมูลนิธิสถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นองค์กรด้านวิชาการของวงการสื่อสารมวลชนนั้น ก็ได้มีการสรรหาคณะกรรมการบริหารครบชุดแล้ว มีนายมานิจ สุขสมจิตรเป็นประธานมูลนิธิ รศ. ดร. ดรุณี หิรัญรักษ์ (รองประธาน) นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง (เลขาธิการ) นางสาวเสาวรส รณเกียรติ (เหรัญญิก) นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี (กรรมการ) อาจารย์สิริทิพย์ ขันสุวรรณ (กรรมการ) รศ. มาลี บุญศิริพันธ์(กรรมการ) นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร (กรรมการ) ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (กรรมการ) นายสุรศักดิ์ จิรวัสตร์มงคล (กรรมการ) นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์(กรรมการ) และนายสมเจตน์ วัฒนธร(กรรมการ) ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนดำเนินงานและการหาทุน
งานด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมฯ ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนมาโดยตลอดรวมทั้งได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้เกิดการปฏิรูปสื่อในรูปแบบที่หลากหลายในปีที่ผ่านมา โดยผ่านการจัดกิจกรรมดังนี้
การสัมมนาเนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) โดยองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้กำหนดให้วันที่ 3 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) นับตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมาและสมาคมได้ร่วมจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ในปีนี้เป็นครั้งที่ 3 เพื่อรณรงค์ให้รัฐและสังคม ตระหนักถึงความสำคัญของการให้สื่อมวลชนมีเสรีภาพ และอิสรภาพในทางวิชาชีพ และยกคุณค่าการใช้เสรีภาพแห่งวิชาชีพ ด้วยความมีจรรยาบรรณและรับผิดชอบต่อสังคม
การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านการคุกคามสื่อมวลชน - Alert Workshop (2-3 สิงหาคม 2546) เนื่องจากสมาคมฯ เห็นว่าท่ามกลางเสรีภาพของสื่อมวลชนนั้นยังคงมีปัญหาการข่มขู่คุกคามสื่อมวลชนในทุกรูปแบบ และพบว่าสื่อมวลชนในท้องถิ่นเป็นกลุ่มสื่อมวลชนที่ถูกข่มขู่คุกคามมากกว่าสื่อมวลชนในส่วนกลาง ทั้งนี้เป็นเพราะสื่อมวลชนท้องถิ่นอยู่ใกล้ชิดกับสถานการณ์ปัญหาและเนื่องจากวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นวิชาชีพที่ต้องทำงานอย่างเปิดเผยทำให้ผู้มีอิทธิพลที่ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าวของสื่อท้องถิ่น สามารถติดตามและข่มขู่คุกคามสื่อมวลชนท้องถิ่นได้มากกว่า จึงได้จัดการสัมมนาดังกล่าวให้กับนักข่าวท้องถิ่นเพื่อกระตุ้นให้มีการเผยแพร่และการจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านสื่อมวลชนอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ความถี่และความรุนแรงในการข่มขู่คุกคามสื่อมวลชนลดลง
การสัมมนาในโครงการติดตามการปฏิรูปสื่อ “สังคมที่ไร้ความคิดแตกต่าง ทิศทางสื่อในอนาคต” (1 – 2 พฤศจิกายน 2546) เป็นโครงการสัมมนาที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อเป็นการประเมินความคืบหน้าการปฏิรูปสื่อ วิเคราะห์สถานการณ์สื่อกับสภาพสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และหาทางออก ของสื่อมวลชนที่ควรจะเป็น เพื่อทำหน้าที่รายงานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง โดยเป็นการจัดร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
การจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน สมาคมฯ ได้จัดทำรายงานสถาน การณ์ด้านสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนมาเป็นปีที่ 3 เพื่อเป็นการบันทึกและเผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้เกิดความตระหนักต่อเสรีภาพและหน้าที่ความรับผิดชอบของสื่อมวลชนที่มีต่อสังคม โดยในปี 2546 สมาคมฯ ได้ จัดทำรายงานพิเศษสถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนขึ้นโดยได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ 1 ซึ่งเป็นการจัดทำรายงานพิเศษสถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพและพัฒนาการของสื่อมวลชนไทย ได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2546 และส่วนที่ 2. การจัดทำรายงานสถานการณ์สื่อฯ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้มอบหมายให้ ดร. วิลาสินี พิพิธกุล คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าคณะทำงานจัดทำโดยมีนักศึกษาในวิชาวิพากษ์สื่อ เป็นคณะทำงานเก็บข้อมูล โดยเครือข่ายส่งเสริมสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเซียอาคเนย์ หรือ SEAPA เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ คาดว่าจะเสร็จภายในปลายเดือนมีนาคม 2547 และจะเผยแพร่ในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม 2547
การสร้างเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์4ภาค จนถึงขณะนี้ได้มีการจัดตั้งเครือข่ายบรรณาธิ การหนังสือพิมพ์เสร็จแล้วทั้ง 4 ภาค โดยเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคเหนือมีนายมนต์ชัย เทศะแพทย์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ (จังหวัดเชียงใหม่) เป็นประธาน, เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคตะวันออก มีนายจักรกฤชณ์ แววคล้ายหงษ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชามติ (จังหวัดตราด) เป็นประธาน, เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีนายสุนทร จันทร์รังสี บรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์โคราชรายวัน (จังหวัดนครราชสีมา) เป็นประธาน, และเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้ มีนายสกลธ์ สินชัย บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ตรังนิวส์ (จังหวัดตรัง) เป็นประธาน
ผู้แทนของทั้ง 4 เครือข่ายจะมีการประชุมเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาคต่อไป โดยเครือข่ายจะมีบทบาทในการทำกิจกรรมด้านการพัฒนาคุณภาพการรายงานข่าวต่าง ๆ และดูแลสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนด้วย
นอกจากการจัดสัมมนาต่าง ๆ แล้ว สมาคมฯ ยังได้ทำหน้าที่ในการปกป้องและคุ้มครองศักดิ์ศรีและสวัสดิภาพของนักข่าวผู้ซึ่งประกอบวิชาชีพโดยสุจริตในปีที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการพิจารณาบทบาทสมาคมฯ ในสถานการณ์เร่งด่วน ได้ ออกจดหมายเตือน แถลงการณ์ และแนวปฏิบัติต่าง ๆ จำนวน 9 เรื่อง เป็นทั้งแถลงการณ์ที่ออกเพื่อปกป้องสวัสดิภาพของนักข่าว การตักเตือนให้เพื่อนร่วมวิชาชีพยึดมั่นในจริยธรรมแห่งวิชาชีพและสร้างแนวทางปฏิบัติตัวในฐานะสื่อมวลชน และการเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งปฏิรูปสื่ออย่างเป็นรูปธรรม
งานด้านสมาชิกสัมพันธ์ หลังจากที่ห่างหายจากการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับ สมาชิกที่มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สารทุกข์สุกดิบกันเพียงปีละ 1 ครั้งในวันประชุมใหญ่สามัญประจำปีทุก 4 มีนาคมเท่านั้น สมาคมฯ ก็ริเริ่มการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับสมาชิกในทุกระดับอีกครั้ง โดยในปีนี้ได้ให้ความสำคัญกับบรรดาพี่ ๆ อาวุโสและน้อง ๆที่เป็นนักข่าวในสนามข่าวมากขึ้น ผ่านการจัดกิจกรรมดังนี้
การแข่งขันกีฬาสื่อมวลชนชิงถ้วยพระราชทาน เพรสคัพครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิดเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีในองค์กรสื่อมวลชนทั้งหลาย สมาคมฯ ได้จัดการแข่งขันกีฬาสื่อมวลชนชิงถ้วยพระราชทานขึ้นเป็นปีที่2 โดยแบ่งการแข่งขันกีฬาออกเป็น 2 ประเภทคือการแข่งขันฟุตบอลสื่อมวลชน(ชาย)ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฏราชกุมาร มีองค์กรสื่อเข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 30 องค์กรทั้งหนังสือพิมพ์วิทยุ และโทรทัศน์ และการแข่งขันบาสเก็ตบอลสื่อมวลชน(หญิง) ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีองค์กรสื่อมวลชนเข้าร่วมจำนวน 12 องค์กร คิดเป็นจำนวนนักกีฬาที่เข้าร่วมในโครงการกว่า 1,000 คน
การจัดกิจกรรมสังสรรค์สื่อมวลชนอาวุโส “สานสายใย คนใจเดียวกัน”(7 กุมภาพันธ์ 2547) สมาคมฯ ตระหนักดีว่าหนทางการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพนั้นเป็นหนทางแห่งความยากลำบาก หากไม่มีผู้อาวุโส รุ่นบุกเบิก วงการสื่อมวลชนก็คงไม่สามารถหยัดยืนได้อย่างสง่างามเช่นทุกวันนี้ จึงได้จัดกิจกรรมสังสรรค์สื่อมวลชนอาวุโส “สานสายใย คนใจเดียวกัน” เพื่อให้บรรดาพี่ ๆ ผู้อาวุโส ได้มีโอกาสมาพบปะสังสรรค์ระหว่างกันและให้สื่อมวลชนรุ่นน้องได้มาซึมซับประสบการณ์การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประสบการณ์ชีวิตจากผู้อาวุโส
การสนับสนุนกิจกรรมนักข่าว จากการที่มีนักข่าวรวมตัวกันในสายข่าวต่าง ๆ ทั้งในกลุ่มที่รวมตัวกันแบบหลวม ๆ และในกลุ่มที่มีการรวมตัวกันอย่างเป็นระบบ สมาคมฯ ก็ได้มีส่วนสำคัญในการหนุนช่วยกลุ่มนักข่าวต่าง ๆ อย่างเข้มข้นเสมอมา เช่น สนับสนุนกิจกรรมของชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการแข่งขันกีฬาจตุรมิตรและสนับสนุนอุปกรณ์ในการทำงานให้กับนักข่าวประจำรัฐสภา เป็นต้น
การจัดสวัสดิการสมาชิก สมาคมฯ ยังคงดูแลสารทุกข์สุขดิบของสมาชิกอย่างต่อเนื่อง โดยได้ให้ สวัสดิการสมาชิก ทั้งสวัสดิการคลอดบุตรคนแรก(ในปีนี้ให้สวัสดิการสมาชิกจำนวน 8 คน เป็นเงิน 24,000บาท) สวัสดิการรักษาพยาบาลผู้ป่วยใน (จำนวน 3 คน เป็นเงิน 5,500 บาท) และผู้ป่วยนอก (จำนวน 2 คน เป็นเงิน 920 บาท) สวัสดิการทุนการศึกษา (จำนวน 121 คน ทุนละ 4,000 บาท เป็นเงิน 484,000 บาท) และสวัสดิการมรณกรรม ซึ่งแบ่งเป็นการทำประกันชีวิตให้กับสมาชิกจำนวน 660 คน (ในปีนี้มีสมาชิกถึงแก่มรณกรรม ได้รับสินไหมมรณกรรมจำนวน 3 คน คนละ 100,000 บาท เป็นเงิน 300,00 บาท) และได้เป็นเจ้าภาพและนำพวงหรีดเคารพศพสมาชิกจำนวน 11 คน ซึ่งคณะกรรมการ สมาคม ฯ จะพยายามปรับปรุงระเบียบสวัสดิการให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการของสมาชิกให้มากขึ้นต่อไป
ส่วนการประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้สมาชิกและบุคคลผู้สนใจได้รับทราบ สมาคมฯ ได้ยังคงผลิตจุลสารราชดำเนินซึ่งเป็นจุลสารราย 3 เดือนและจดหมายข่าวรายเดือนออกเผยแพร่ และในปีนี้สมาคมฯ ได้แต่งตั้งกรรมการทำหน้าที่เป็นโฆษกสมาคมฯ ขึ้นอีกตำแหน่งหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ในการสื่อสารข่าวสารและเนื้อหาต่าง ๆ จากสมาคมฯ ไปสู่สมาชิกและสาธารณชน โดยนายบากบั่น บุญเลิศ กรรมการสมาคมฯ สังกัดหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ได้ทำหน้าที่นี้เป็นคนแรก และในส่วนของการจัดทำเวบไซต์ www.tja.or.th ก็ยังคงมีให้สมาชิกเข้าไปเยี่ยมชมและรับทราบข่าวสารได้แม้ว่าการปรับปรุงข้อมูลจะล่าช้าไปบ้าง
งานด้านการหารายได้และการบริหารการเงิน สมาคมฯ แบกรับภาระการปรับปรุงอาคารถนน สามเสนซึ่งมีมูลค่าการปรับปรุงเป็นเงิน 7.5 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายบางส่วนได้รับความอนุเคราะห์จาก หนังสือพิมพ์มติชน 1 ล้านบาท หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 1 ล้านบาท หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ 200,000 บาท ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ 150,000 บาท ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม 50,000 บาท และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ 500,000 บาท รวมทั้งได้รับการอนุเคราะห์งบประมาณเพื่อจัดซื้อเครื่องเสียงจากมูลนิธิแสงชัย 300,000 บาท และงบประมาณจัดซื้อหนังสือและอุปกรณ์เพื่อเข้าห้องสมุดจากมูลนิธิแสง - ไซ้กี่ เหตระกูล เป็นเงิน 300,000 บาท สมาคมฯ ได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อจัดหารายได้มาชำระค่าปรับปรุงอาคารซึ่งปัจจุบันได้ชำระค่าก่อสร้างหมดเรียบร้อยแล้ว แต่ยังคงมีค่าใช้จ่ายในด้านการบำรุงรักษาที่เป็นค่าใช้จ่ายประจำที่ต้องดูแล โดยได้ทำกิจกรรมด้านหารายได้ ดังนี้
การจัดตลาดนัด สมาคมฯ ได้ให้นางสาวเกษญาภรณ์ พงษ์สวัสดิ์ อดีตนักข่าวสังกัดเครือวัฏจักรประมูลเช่าพื้นที่บริเวณลานจอดรถสมาคมฯ เพื่อจัดทำตลาดนัด โดยเริ่มจากการจัดตลาดนัดทุกวันอังคารและได้มีการปรับรูปแบบเป็นการจัดตลาดนัดเดือนละ 1 สัปดาห์ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
การให้บริการที่จอดรถ นอกเหนือจากการจัดตลาดนัดแล้ว สมาคมฯ ได้บริหารพื้นที่จอดรถโดยเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาเช่าพื้นที่จอดรถซึ่งมีทั้งแบบรายเดือน และจอดเป็นชั่วโมง อัตราการจอดคิดชั่วโมงละ 20 บาท ชั่วโมงต่อไป 10 บาท โดยพนักงานรักษาความปลอดภัยของบริษัท ดี ที เค โปรเทคชั่น แอนด์เซอร์วิส จำกัด ซึ่งสมาคมฯ จัดจ้างให้ดูแลอาคารสถานที่ของสมาคม ฯ ได้ช่วยในการอำนวยความสะดวกในการให้บริการที่จอดรถ ทำให้สมาคมฯ และเริ่มมีรายได้เป็นที่น่าพึงพอใจ
การให้บริการที่ประชุม เนื่องจากสมาคมฯ มีห้องประชุมทั้งขนาดความจุ 40 คน และขนาดความจุ 200 คน อยู่ในทำเลที่เดินทางสะดวก สถานที่จอดรถกว้างขวาง มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่พร้อมเพรียง ทำให้มีหน่วยงานต่าง ๆ สนใจมาเช่าห้องประชุมของสมาคมฯ ในการจัดกิจกรรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมทางด้านวิชาการ โดยในปีที่ผ่านมามีรายได้ประมาณ 160,000 บาท โดยสมาคมฯ ก็จะพัฒนาการหารายได้จากการให้บริการห้องประชุมให้อยู่ในอัตราที่จะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ต่อไป
รวมทั้งได้มีความคิดริเริ่มในการจัดกิจกรรมกาล่าดินเนอร์ และการจัดงานวันนักข่าวออนแอร์ ซึ่งได้มีความพยายามศึกษารายละเอียดและเตรียมการในด้านต่างๆ คาดว่าในปีต่อไป คณะกรรมการบริหาร สมาคมฯ คงจะได้นำแนวคิดและรายละเอียดต่าง ๆ ที่ศึกษาไว้แล้วไปปรับใช้ และในปีนี้คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนาย Nick Fillmore เจ้าหน้าที่อาวุโสจากสมาคมนักข่าวแคนาดา เรื่องการหาทุน และได้มอบหมายให้นางสาวเทียมใจ ทองเมือง ผู้จัดการสมาคม ฯ เข้าอบรมหลักสูตรการเขียนโครงการหาทุน ซึ่งนาย Nick Fillmore เป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ให้ พร้อมทั้งได้มีการพูดคุยประสานความร่วมมือกับองค์กรทุนต่างประเทศทั้งจากองค์การยูนิเซฟประเทศไทย และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท เป็นต้น ในประเด็นการสนับสนุนทุนในการดำเนินกิจกรรมของสมาคมฯ จากองค์กรดังกล่าว
กิจกรรมที่ได้รายงานมาข้างต้น เป็นกิจกรรมที่คณะกรรมการบริหาร สมาคม ฯ หวังว่าจะนำไปสู่การพัฒนาวงการสื่อมวลชนให้มีความเข้มแข็ง และมีความเป็นนักวิชาชีพมากขึ้น