รายงานกิจกรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ประจำปี 2545

ครบรอบ 3 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

วางรากฐานสู่สมาคมวิชาชีพมาตรฐานสากล

เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาทุกปี เมื่อถึงวันที่ 4 มีนาคม ซึ่งเป็นวันประชุมใหญ่สามัญประจำปีของ “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” จะต้องรายงานผลการดำเนินงานในรอบปีของคณะกรรมการบริหารของสมาคมไว้ในหนังสือรายงานประจำปีที่เพื่อนสมาชิกสมาคมตลอดจนผู้สนใจใคร่ติดตามกิจกรรมของสมาคมทั้งหลาย กำลังถืออยู่ในมือขณะนี้

ปีที่ผ่านมา นับเป็นสมัยที่ 3 ของคณะกรรมการบริหารสมาคมและเป็นสมัยแรกของนายกสมาคมคนที่ 2 คือ “วีระ ประทีปชัยกูร” ตั้งแต่ที่ได้มีการรวมสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยและสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเข้าด้วยกันเมื่อเดือน มีนาคม 2543

ดังนั้น เป้าหมายและนโยบายการทำงานของคณะกรรมการบริหารสมาคมชุดนี้จึงไม่ได้แตกต่างไปจากคณะกรรมการบริหาร 2 ชุดแรกมากนักโดยนอกจากจะเน้นความต่อเนื่องของนโยบายในเรื่องส่งเสริม การปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกให้เป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ยึดมั่นในจริยธรรมและเป็นกลางเพื่อให้เกิดการยอมรับและน่าเชื่อถือในวิชาชีพต่อสังคมการพัฒนาการประกอบวิชาชีพด้านการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่ความเป็นผู้นำ ทางความคิดและสร้างและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาคมฯ สมาชิกองค์กรผู้ประกอบธุรกิจ สื่อมวลชน และองค์กรวิชาชีพในต่างประเทศแล้ว

ที่เน้นกันเป็นพิเศษในปีนี้คือการสร้างความสามัคคี ในหมู่สมาชิกและผู้ปฏิบัติงานในหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ ด้วยการริเริ่มโครงการกีฬาสื่อมวลชนชิงถ้วยพระราชทานขึ้นโดยจัดให้มีการแข่งขันกีฬาฟุตบอลชายระหว่างหนังสือพิมพ์รายวันรวม 13 ทีม ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมงกุฎราชกุมาร และบาสเก็ตบอลหญิงรวม 8 ทีม ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามมงกุฎราชกุมารี เริ่มแข่งขันกันไปตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมาเป็นการแข่งขันแบบพบกันหมด

อย่างไรก็ตามเพื่อให้การอธิบายถึงภาพรวมของงานกิจกรรมสมาคมในรอบปีที่ผ่านมา มีความชัดเจน จึงจะขอแจกแจงกิจกรรมต่าง ๆ เป็นด้าน ๆ ดังต่อไปนี้

ปรับปรุงอาคารสมาคมใหม่ : รองรับการขยายตัว

การปรับปรุงอาคารที่ทำการของสมาคม ฯ ที่ถนนสามเสนถือเป็นภารกิจหลักซึ่งต่อเนื่องมาจาก คณะกรรมการบริหารชุดที่แล้ว โดยได้ว่าจ้างบริษัท ปวช.ลิขิตการสร้างดำเนินการปรับปรุงในวงเงินงบประมาณ 7.7 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมไปเสร็จสิ้นเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2545 และมีพิธีทำบุญอาคารที่ซ่อมแซมใหม่ไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545

อาคารที่ทำการใหม่นี้นอกจากจะใช้เป็นที่ทำการของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยแล้วยังใช้เป็นที่ทำการของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยเครือข่ายสนับสนุนสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียอาคเนย์ หรือ SEAPA ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศมูลนิธิอินเทอร์เน็ตเพื่อโรงเรียนและชุมชน และ ในเร็ว ๆ นี้จะยังเป็นที่ทำการของสถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านการฝึกอบรมและวิจัยภายใต้การดูแลของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ แห่งประเทศไทย

การปรับปรุงอาคารของสมาคมฯ ดังกล่าว จะไม่สามารถสำเร็จได้เลยหากปราศจากการสนับสนุน ด้านการเงินจากมูลนิธิ Freedom Forum (2.2 ล้านบาท) ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ (1.5 แสนบาท) ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม (5 หมื่นบาท) หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ (2 แสนบาท) หนังสือพิมพ์มติชน (1 ล้านบาท) หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (1 ล้านบาท) และมูลนิธิแสงชัยสุนทรวัฒน์ (2.6 แสนบาท)

นอกจากนี้ สมาคมยังมีกิจกรรมหาทุนอื่น ๆ อีก ได้แก่ โครงการวิ่งมินิมาราธอน ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 15 กันยายน และโครงการคอนเสิร์ตการกุศล เพื่อทุนการศึกษาบุตร – ธิดา นักข่าวเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2545

ต้านการแทรกซึมสื่อ : ภารกิจหลักที่ยังท้าทาย

กิจกรรมอีกด้านหนึ่งที่ถือเป็นภารกิจหลักของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ คือ กิจกรรมส่งเสริมสิทธิเสรีภาพซึ่งตั้งแต่ก้าวแรกที่คณะกรรมการบริหารสมาคมชุดนี้ เข้ามารับงานก็เกิดเหตุการณ์การอาศัยช่องว่างที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้านการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ยังไม่เกิดขึ้น ใช้อำนาจบีบผู้รับสัมปทานสถานีวิทยุให้ถอดรายการข่าวของวิทยุเนชั่นทางคลื่น FM 90.5 ไปหลายรายการ

ต่อมาอีกเพียงวันเดียวกระแสข่าวกรณีที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือ ปปง. ถูกมือมืดสั่งการให้ตรวจสอบบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้บริหารหนังสือพิมพ์หลายฉบับรวมทั้งนักการเมือง นักธุรกิจและผู้ปฏิบัติงานในองค์กรพัฒนาเอกชนอีกหลายคนก็แพร่สะพัดไปทั่ว แต่ในมี่สุดรัฐบาลก็ลอยตัว อีกเช่นเคยด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงข้าราชการประจำเท่านั้น

สมาคมฯ จึงได้ผนึกกำลังกับสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และกลุ่มนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนจัดการเวทีสาธารณะ “เสรีภาพสื่อเสรีภาพทางวิชาการ” เมื่อวันที่ 9 มีนาคมเพื่อสะท้อนปัญหาการที่รัฐบาลพยายามใช้อำนาจรัฐ เข้ามาแทรกแซงและคุกคามการทำงานของสื่อมวลชน พร้อมกันนี้ ได้มีการรวบรวมรายชื่อผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจำนวน 1,195 คน ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภาและประธานคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อการคุกคามสื่อมวลชนของรัฐบาล

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ได้พยายามที่จะเปิดโอกาสให้รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แสดงออกถึงความจริงใจ ในคำกล่าวอ้างที่ว่า “เคารพสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน” ด้วยการเชิญชวนบุคคลระดับรองนายกรัฐมนตรีมาร่วมแถลงข่าวแสดงจุดยืนของสื่อมวลชนไทยต่อปัญหาสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลเช่นที่ปฏิบัติมาครั้งหนึ่งในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำรัฐบาลแต่กลับถูกปฏิเสธจากรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย อย่างกะทันหันทั้ง ๆ ที่ได้ตกลงกันในหลักการก่อนหน้านั้นแล้ว

นับจากวันนั้นเป็นต้นมาปัญหาการแทรกแซงการทำงานของสื่ออย่างโจ่งแจ้งมีให้เห็นน้อยลงสวนทางกับกระแสเสียงสะท้อนของเพื่อนหนังสือพิมพ์ฉบับกลางถึงเล็กเรื่องการแทรกแซงสื่อในรูปแบบใหม่ด้วยการนำงบประมาณโฆษณาทั้งจากบริษัทของคนในเครือข่ายพรรครัฐบาลและงบของหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ มาใช้ในการต่อรองกับการนำเสนอข่าวไม่ให้มีลักษณะของการโจมตีรัฐบาลที่รุนแรงเกินไป

อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวจะยากต่อการหาหลักฐานมากล่าวหาเอาผิดกับฝ่ายใดจึงเรียกพฤติกรรมที่รัฐบาลกระทำกับสื่อมวลชนในลักษณะนี้ว่า “การแทรกซึมสื่อ” เพราะเป็นการคุกคามสื่อมวลชนด้วยวิธีการที่ซับซ้อน แยบยลและเบ็ดเสร็จกว่าในยุคใด ๆ

นอกจากนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ ฯ ยังได้ร่วมมือกับสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์ แห่งประเทศไทยและสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจัดการประชุม “รวมพลคนสื่อมวลชนเพื่อความยุติธรรม ในการประกอบวิชาชีพ” เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2545 ตามด้วยการจัดสัมมนาพิเศษเรื่อง “สิทธิเสรีภาพในการเสนอข่าวของสื่อมวลชนกับกระบวนการยุติธรรม” เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2545 ซึ่ง 2 งานนับเป็นจุดเริ่มต้นในการทบทวนปัญหาอุปสรรคในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนทั้งในด้านกฎหมายที่ล้าหลัง การไม่เคารพกฎหมายรัฐธรรมนูญและกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำหน้าที่การใช้อำนาจในทางที่มิชอบของนักการเมือง และข้าราชการประจำ

และสุดท้ายได้ร่วมมือกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยจัดการสัมมนา เพื่อติดตามผล “การปฏิรูปสื่อมวลชน” เมื่อวันที่ 7 – 8 ธันวาคม 2545

ในช่วงส่งท้ายปี 2545 ต่อต้นปี 2546 สมาคมฯ ได้นำเสนอรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนเพื่อสะท้อนให้เห็นภาพการทำงานของสื่อมวลชนในรอบปี 2545 แก่สาธารณชน

ปิดท้ายด้วยกิจกรรมเสวนาวิชาการ “สำรวจองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ” เนื่องในโอกาส วันนักข่าว 5 มีนาคม 2546

เติมเข้มงานวิชาการ : รองรับการปฏิรูปสื่อ

ในด้านกิจกรรมทางวิชาการของสมาคมฯ ในปีที่ผ่านมาถือว่ามีความเข้มข้นขึ้นกว่าปีก่อน ๆ เริ่มจากการอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพิราบน้อย รุ่นที่ 5 ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัทเทเลคอมเอเชียมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 28 – 30 มิถุนายน มีนักศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์เข้าร่วม 80 คน จาก 40 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ

ก่อนหน้านี้ สมาคมฯ ได้ร่วมกับมูลนิธิอิศรา อมันตกุล จัดการปาฐกถาประจำปีเรื่อง “เสรีภาพของสื่อมวลชนในระบอบรัฐนิยมกับทุนนิยม” เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 ตามด้วยการร่วมมือกับสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดการเสวนาเรื่อง “5 ปีรัฐธรรมนูญใหม่ : ปฏิรูปสื่อมวลชนไปถึงไหน” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2545 เนื่องในโอกาสครบรอบ 22 ปีของสมาพันธ์ฯ

ต่อด้วยการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการสำหรับนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเป็นปีที่ 5 ซึ่งพิเศษกว่าปีก่อนตรงที่ไม่ได้จัดเพียงครั้งเดียว แต่เป็นการจัดแยกไปตามภาคต่าง ๆ เพื่อให้หลักสูตรสอดคล้องกับความต้องการของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคนั้น ๆ ได้แก่ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางตะวันตก มีสถานศึกษาและองค์กรวิชาชีพในท้องถิ่นร่วมเป็นเจ้าภาพในทุกภาคโดยได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิฟรีดริช เอแบร์ทและเครือบริษัทเครือซิเมนต์ไทยมีนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเข้าร่วมการสัมมนากว่า 130 คน

ด้านคณะกรรมการความร่วมมือทางวิชาการวิชาชีพสื่อสารมวลชน (กวส.) ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ร่วมมือกับคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดการประชุมวิชาการประจำปีเรื่อง “สื่อมวลชนภายใต้กระแสการปฏิรูป” เมื่อวันที่ 29 – 30 สิงหาคม 2545 โดยการสนับสนุนงบประมาณจากฝ่ายข่าวสารและประชาสัมพันธ์สถานเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกา และทบวงมหาวิทยาลัยมีนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนเข้าร่วมกว่า 100 คน

ขณะเดียวกัน กวส. ยังได้จัดการเสวนาทางวิชาการอีก 3 ครั้งได้แก่เรื่อง “อิทธิพลแฝงของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในสื่อมวลชน” ที่สถาบันราชภัฎสวนสุนันทา เรื่อง “ข่าวอาชญากรรม : อาชญากรรม บนแผ่นกระดาษ” (?) ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงและเรื่อง “ข่าวบันเทิงหรือโฆษณาบันเทิง” ที่มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

และล่าสุด กวส.ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “กระบวนทัศน์ใหม่ในงานวิจัยนิเทศศาสตร์” เมื่อวันที่ 22 – 24 มกราคม 2546 ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมให้นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ทำงานวิจัยมากขึ้น

ทั้งนี้ ยังไม่รวมเรื่องการส่งนักข่าวไทย 6 คน ไปร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านการทำข่าวสืบสวนสอบสวนที่ประเทศมาเลเซียจัดโดยเครือข่ายส่งเสริมสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียอาคเนย์ หรือ SEAPA และการอบรม “Training the Trainers” จัดโดยศูนย์การทำข่าวสืบสวนสอบสวนของประเทศฟิลิปปินส์ (PCIJ) ร่วมกับ SEAPA และ UNDP อีก 7 คน

เชื่อมสัมพันธ์นักข่าวทั่วโลก : ความร่วมมือแน่นแฟ้น

ในส่วนของกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรสื่อต่างประเทศและกิจกรรมเครือข่ายในประเทศในรอบปีที่ผ่านมา สมาคมฯได้ส่งนักข่าวจำนวน 4 คน ไปร่วมสัมมนาเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศของคนทำงานสื่อมวลชนและหลักสูตรผู้นำสหภาพแรงงานสื่อมวลชนเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2545 พร้อมกันนี้ยังได้ส่งคณะผู้แทนสื่อมวลชนไทยจำนวน 9 คน จากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์และชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนตามคำเชิญของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์จีนระหว่างวันที่ 9 – 18 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยเป็นการไปเยือนเขตปกครองตนเองทิเบต

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 – 13 กันยายน 2545 นายกสมาคมฯ ได้เป็นตัวแทนของสมาคมไปร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปีของ IFEX หรือ International Free Expression Exchange ที่ประเทศเซเนกัล ขณะที่วันที่ 15 – 18 กันยายน สมาคมฯได้ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์และ SEAPA ร่วมกันจัดสัมมนาระดับภูมิภาคเรื่อง “กลไกการควบคุมกันเองของสื่อมวลชน” มีผู้เข้าร่วมประชุม 40 คนจาก 7 ประเทศ

 

ส่วนเมื่อวันที่ 23 – 29 กันยายน 2545 ที่ผ่านมา ทางสมาคมฯได้เป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้แทนสมาคมนักข่าวแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวจำนวน 9 คน โดยระหว่างการเยือน มีการสัมมนาร่วมกัน 2 ครั้งในหัวข้อ “การส่งเสริมความร่วมมือผู้สื่อข่าวภูมิภาคไทย – ลาว” ที่กรุงเทพฯ และ จ. อุดรธานีทำให้สื่อมวลชนในส่วนภูมิภาคได้มีส่วนช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้ต้อนรับสื่อมวลชนในโครงการ Neiman Fellowฯ จากสหรัฐอเมริกา ผู้สื่อข่าวกัมพูชา และสื่อมวลชนจากฟิลิปปินส์และล่าสุดเมื่อวันที่ 17 – 26 กุมภาพันธ์ สมาคมฯได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพต้อนรับสื่อมวลชนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนอีกครั้ง

ดูแล – สื่อสารสมาชิก : หัวใจขับเคลื่อนสมาคมฯ

กิจกรรมด้านการดูแลสวัสดิการของสมาชิกนับว่ามีความสำคัญไม่น้อยกว่ากิจกรรมอื่น ๆ เพราะสมาคมจะดำเนินไปได้ด้วยดีต้องได้รับความร่วมมือจากสมาชิก ดังนั้น ในปี 2545 ที่ผ่านมาสมาคมได้มอบทุนการศึกษาจำนวน 109 ทุน เป็นเงิน 218,000 บาท ให้กับสมาชิก เมื่อวันเสาร์ที่ 27 เมษายน ส่วนการประกันชีวิตสมาชิก ก็ได้ดำเนินการต่อกรมธรรม์กับบริษัทเมืองไทยประกันชีวิตปีที่ 5 เรียบร้อยแล้วในปีนี้สมาชิกเสียชีวิต 3 ราย ได้รับค่าสินไหมทดแทนจำนวนรายละ 1 แสนบาทรวมเป็นเงิน 3 แสนบาท เช่นเดียวกัน พร้อมกันนี้ยังได้มอบเงินสวัสดิการแก่สมาชิกตามระเบียบอีก 15 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 250,992.50 บาท

ส่วนการสื่อสารกับเพื่อนสมาชิกและสาธารณชนนั้น ทางสมาคมฯยังได้รับความร่วมมือจากสำนักข่าวไทย อ.ส.ม.ท. จัดรายการวิทยุ “ช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ติดต่อกันมาเป็นปีที่ 4 ทางสถานีวิทยุ FM 100.5 แต่ต้องยอมรับว่าการจัดทำเอกสารเพื่อสื่อสารกับสมาชิกคือ จุลสารราชดำเนินและจดหมายข่าวรายเดือน ไม่สามารถออกมาได้อย่างสม่ำเสมอตามแผนที่วางไว้ เพราะกรรมการที่รับผิดชอบมีภารกิจมาก

ก้าวสู่สมาคมวิชาชีพมาตรฐานสากล

จากกิจกรรมในรอบปี 2545 ที่ยังไม่รวมถึงกิจกรรมตามปกติได้แก่การจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี และการจัดทำหนังสือรายงานประจำปีจะเห็นได้ว่าได้มีการขยายตัวไปทุก ๆ ด้านซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความยอมรับที่สังคมมีต่อสมาคมฯหรือวงการสื่อมวลชนไทยในภาพรวม

ภารกิจต่าง ๆ เล่านี้ล้านเดินไปสู่เป้าหมายการสร้างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้เป็นองค์กรวิชาชีพหลักทางด้านสื่อสารมวลชนในประเทศไทยและเป็นสมาคมวิชาชีพที่ได้รับความยอมรับว่ามีมาตรฐานอยู่ในระดับสากลซึ่งภารกิจในวันข้างหน้าของสมาคมฯ ย่อมสำเร็จไปไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากสมาชิก และองค์กรต่าง ๆ ที่ให้ความสนใจสนับสนุนกิจกรรมของสมาคมด้วยดีตลอดมา